- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ ๕. คลังคำและวาทกรรมของครู โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
- วาทกรรมและคำศัพท์ที่สั่งสมไว้ เป็นพลังสำคัญของการก่อเกิดความเป็นผู้กระทำการ โดยปัจจัยด้านประสบการณ์ชีวิตวัยเยาว์มีพลังมาก และปัจจัยด้านอายุ (age effect) และด้านรุ่น (generation effect) ก็เด่นชัด นี่คือทุนวัฒนธรรม (cultural resources) ของการเป็นผู้ก่อการของครู
- สำหรับครูและผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ความรู้เปรียบเสมือนตัวบ้าน ส่วนความสัมพันธ์เปรียบเสมือนฐานราก แม้จะมีความรู้ความสามารถสูงเพียงไร หากฐานความสัมพันธ์ไม่แข็งแรง โครงสร้างทั้งหมดก็พังได้โดยง่าย ความเก่งไม่สำคัญเท่าปฏิสัมพันธ์ เพราะความเชื่อหรือศรัทธาจะสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียน และนักเรียนจะหาทางฝึกทักษะหรือแก้ปัญหาได้เอง
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ ๕ นี้ ตีความจากบทที่ 3 Teacher Vocabularies and Discourses
สาระในหนังสือ Teacher Agency นี้มีข้อมูลจาก ๒ แหล่ง คือจากการทบทวนวรรณกรรม กับจากการศึกษาจากการสัมภาษณ์และการสังเกตการทำงานของครู ๖ คน และผู้บริหาร ๓ คน ใน ๓ โรงเรียน ในตอนท้ายของบันทึกที่ ๔ เป็นการตีความความเชื่อหรือมิติด้านในของครูจากถ้อยคำหรือวาทกรรมของครู ในบันทึกนี้จะนำเอาถ้อยคำและวาทกรรมที่หลากหลายของครูมาตีความทำความเข้าใจมิติด้านนอก เชื่อมโยงความคิดกับการกระทำของครู
หลักการสำคัญคือมนุษย์เราคิดผ่านภาษา “ถ้อยคำ” เป็นดั่งวัสดุที่คนเราใช้ช่วยการคิด คุณภาพของการคิดจึงขึ้นกับถ้อยคำและวาทกรรม วาทกรรมของครูจึงเป็นเสมือนหน้าต่างเปิดสู่ความคิดของครู ที่ทีมวิจัยนำมาเชื่อมกับการกระทำและความเป็นผู้ก่อการ ซึ่งหมายความว่า ความคิดของครูช่วยส่งเสริมหรือปิดกั้นความเป็นผู้ก่อการ
นี่คือที่มาของการเข้าไปศึกษาด้วยวิธีชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ในครู ๖ คน และผู้บริหาร ๓ คน ใน ๓ โรงเรียน เพื่อนำเอาถ้อยคำหรือวาทกรรมของครู และผู้บริหาร มาวิเคราะห์ว่าครูดำเนินการอย่างไรต่อหลักการ (concept), แนวความคิด (idea), ความเชื่อ (belief), และคุณค่า (values) ที่ตนมี และนำไปสู่การตีความว่าครูให้ความหมายต่อสถานการณ์ที่ตนดำเนินการอย่างไร โดยเน้นวิเคราะห์ครูเป็นรายคน
การวิเคราะห์ถ้อยคำของครูในที่นี้มีเป้าหมายเพื่อตอบคำถาม “อย่างไร” (how) ครูพูดเกี่ยวกับการศึกษาอย่างไร พูดในแนวทางไหนและการพูดนั้นช่วยส่งเสริมหรือปิดกั้นความเป็นผู้ก่อการ ซึ่งหมายความว่า ทีมวิจัยมองว่า คำศัพท์และวาทกรรมในการพูดของครูเป็น “ทรัพยากร” (resource) เพื่อการบรรลุความเป็นผู้กระทำการ โดยที่ทีมวิจัยไม่เพียงต้องการทำความรู้จักว่า “ทรัพยากร” (หมายถึงคลังคำและวาทกรรมของครู) นี้มีหน้าตาอย่างไร แต่ต้องการรู้ว่ามันทำหน้าที่อย่างไรในการดำเนินการประยุกต์ใช้หลักสูตรใหม่ คือ Curriculum for Excellence
ข้อเตือนใจคือ ทีมวิจัยศึกษาคำศัพท์และวาทกรรมของครูเป็นรายคน โดยต้องเข้าใจว่าครูไม่ได้สร้างคำศัพท์และวาทกรรมเหล่านั้นขึ้นเอง แต่คำศัพท์และวาทกรรมเหล่านั้นเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการให้ความหมายส่วนบุคคล (คือครู) กับคำศัพท์และวาทกรรมที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในแหล่งต่างๆ รวมทั้งวงการนโยบาย วิจัย และความเห็นของประชาชน ด้านการศึกษา
คำศัพท์หรือวาทกรรมบางชิ้นมีพลังมาก เพราะบรรจุอยู่ในเอกสารระบุหน้าที่ของครู เช่น “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และบางถ้อยคำก็เป็นแฟชั่น เช่น “การเรียนรู้เชิงรุก” (active learning)
ในบันทึกนี้ ท่านผู้อ่านจะได้เห็นว่า ทรัพยากรคลังคำและวาทกรรมที่ครูใช้คิดและพูดนั้นเป็นผลของการผสมผสานประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์วิชาชีพของครู กับวาทกรรมในสังคมวงกว้าง และจะได้เห็นว่า วาทกรรมในวงกว้างบางชิ้นช่วยส่งเสริมวิธีที่ครูหาความหมายจากการปฏิบัติงานของตน แต่บางวาทกรรมก็ขัดขวางหรือสร้างความสับสน
วาทกรรมเกี่ยวกับการศึกษาในโรงเรียนประถม
สาระตอนนี้ว่าด้วยครู ๒ คน และผู้บริหาร ๑ คน ในโรงเรียนประถมในเมือง ที่คนหนึ่งเป็นครูค่อนข้างใหม่ ทำงานมาเพียง ๖ ปี อีกคนเป็นครูเก่ามาก ทำงานมาถึง ๓๐ ปี (ดูบันทึกที่ ๓) จะเห็นว่าครูทั้งสองสนิทกันมาก เพราะความสัมพันธ์แบบ mentor – mentee แต่มีวาทกรรมเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ Curriculum for Excellence แตกต่างกันมาก เขาสรุปว่า ครูที่ประสบการณ์การทำงานสั้นกว่า ได้รับอิทธิพลจากนโยบายปัจจุบันมากกว่า และมีแนวโน้มจะมีมุมมองมิติเดียวรุนแรงกว่า
ทีมวิจัยมุ่งทำความเข้าใจว่า เมื่อครูพูดคุยกันเรื่องการศึกษา เขาพูดกันเรื่องอะไร ครูมองว่าโรงเรียนคืออะไร หน้าที่สำคัญของโรงเรียนคืออะไร ครูมองโครงการด้านการศึกษาอย่างไร
ข้อสรุปการศึกษาความคิดของครูประถมคือ ครูประถมมองการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิตในอนาคต โดยครูคนหนึ่งบอกว่า เพื่อ “การเติบโต การดำรงชีวิตที่ดี เพื่อชีวิต” ของนักเรียน
สาระในหนังสือ Teacher Agency นำเอาคำพูดของครู ๒ คน รวมทั้งคำพูดอีกหลายตอนของครูใหญ่ มาเสนอ พร้อมกับข้อสรุปของผู้เขียนแต่เพื่อความกระชับ ผมขอตีความมาเสนอเฉพาะส่วนข้อสรุปเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือครูท่านนี้ (คนสาว – ราเชล) มองว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกที่ และเกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งที่โรงเรียน โดยที่การเรียนรู้ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะการเรียนรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมการเรียนรู้มิติอื่นๆ ที่เราเรียกว่าการเรียนรู้บูรณาการ (holistic learning) ซึ่งผมขอขยายความว่า ในสมัยนี้กล่าวสั้นๆ ได้ว่าเป็นการเรียนรู้ด้าน ASKV คือด้านเจตคติ (attitude), ทักษะ (skills), ความรู้ (knowledge), และคุณค่า (values) โดยที่ไม่ใช่เรียนแยกกันเป็นด้านๆ แต่เรียนรู้ทุกมิติไปพร้อมๆ กัน
คำว่า “ชีวิต” ในที่นี้ ครูราเชลเน้นที่ชีวิตการทำงาน
ครูราเชลมองว่า หลักสูตร Curriculum for Excellence เป็นจุดเปลี่ยน เปลี่ยนจากการเน้นความรู้ มาเน้นทักษะซึ่งเธอเห็นด้วย โดยมองว่าทักษะในการทำสิ่งต่างๆ จะช่วยการดำรงชีวิตของศิษย์เมื่อออกจากโรงเรียนไปแล้ว ทั้งทักษะในการเรียน และทักษะในการทำสิ่งต่างๆ เธอบอกว่า ตัวเธอเองก็เปลี่ยนแปลงในช่วง ๖ ปีที่มาเป็นครู เดิมคิดว่าความรู้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แล้วค่อยๆ เห็นว่าในการเรียนรู้นั้น ต้องค่อยๆ บูรณาการความรู้เข้าด้วยกันเป็นทักษะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ตรงนี้ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency เห็นว่า เป็นมุมมองแบบแยกส่วน ไม่มองว่า ความรู้กับทักษะเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน อ่านจากถ้อยคำที่หนังสือคัดลอกมา ผมคิดว่าครูราเชลพูดเข้าใจยาก หรือคิดไม่ค่อยชัด คือมีคำศัพท์ด้านการศึกษาที่จำกัด
ครูไอดิด ผู้มีอาวุโสในอาชีพครู ๓๐ ปี โดยไม่มีวุฒิครู บอกว่าตนได้ปฏิบัติตามแนวทางของหลักสูตร Curriculum for Excellence มานานหลายปีแล้ว หลักสูตรนี้จึงไม่ใช่ของใหม่สำหรับเธอ และบอกว่าทางโรงเรียนได้กำหนดให้นักเรียนได้ฝึก ๑๒ ทักษะก่อนจบออกไป เพื่อไปเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเดิม ตัวอย่างทักษะเช่น ทักษะในการทำงาน ทักษะในการดำรงชีวิต ทักษะในการเรียนรู้
เธอบอกว่า ครูต้องสอนทั้งความรู้และทักษะ คำพูดของครูไอดิดมีรายละเอียดมากกว่า และระบุความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ได้ชัดเจนกว่า คงมาจากประสบการณ์การเป็นครูที่ยาวนาน โดยระบุว่าการสอนต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ระหว่างชั้นประถม ๑ ไปจนถึงประถม ๗ ในชั้นประถม ๑ เน้นที่การเลี้ยงดู และฝึกให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมเปลี่ยนจากความประพฤติผิดๆ ที่ติดมาจากบ้าน ซึ่งครูต้องแสดงให้เห็นว่าคนเราต้องเคารพซึ่งกันและกัน โดยครูก็แสดงต่อเด็กเป็นตัวอย่าง เมื่อถึง ป. ๗ เด็กก็จะได้รับการฝึกอย่างดี แต่ก็จะมีเด็กบางคนที่เกเร ต่อต้านสังคม ไม่ตั้งใจเรียน ตอนอายุ ๑๐ หรือ ๑๑ ขวบ ซึ่งครูต้องหาทางช่วยเด็กเหล่านั้น โดยชี้ให้เห็นว่าความรู้และทักษะเหล่านี้จะช่วยให้มีชีวิตที่ดีในภายหน้าอย่างไร
จะเห็นว่า ครูทั้งสองพูดเรื่องการศึกษากับอนาคตของเด็กเหมือนกัน แต่ครูไอดิดพูดลงรายละเอียดมากกว่า แถมยังเปรียบเทียบประสบการณ์ของตนเองตอนเป็นนักเรียนชั้นประถม กับสภาพในโรงเรียนในปัจจุบัน ว่าสภาพในปัจจุบันดีกว่ามาก มีการเรียนแบบบูรณาการมากกว่ามาก และนักเรียนที่ไม่เก่งวิชาการ มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนด้านอื่น เช่น ด้านกีฬา ศิลปะ แสดงว่าครูไอดิดสะท้อนคิดเรื่องการศึกษาของตนเอามาเปรียบเทียบกับสภาพในปัจจุบัน
หนังสือ Teacher Agency บอกว่าวาทกรรมที่แตกต่างกันของครูทั้งสอง มาจาก อิทธิพลของอายุ (age effect) และอิทธิพลของรุ่น (generation effect) โดยอิทธิพลของอายุแสดงออกมาชัดจากวาทกรรมของครูไอดิดว่า ตนได้เห็นการสอนแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง และบูรณาการมาก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นหลักสูตร five to fourteen (หลักสูตรเดิมที่เน้นวิชาการ ก่อนเปลี่ยนเป็นหลักสูตร Curriculum for Excellence) แล้ววนกลับมาใช้แนวทางเด็กเป็นศูนย์กลางและบูรณาการอีก เป็นวงจรวนซ้ำกลับมาที่เดิม โดยที่เมื่อเริ่มเป็นครูเธอสอนชั้น ป. ๑ ตอนนี้ก็วนกลับมาสอนชั้น ป. ๑ อีก แต่ตอนนี้มีประสบการณ์สูงขึ้นมาก ตอนแรกๆ ทำผิดไปเยอะเป็นข้อเรียนรู้ให้ได้พัฒนาเป็นครูที่ดีขึ้น
จะเห็นว่า ประสบการณ์ช่วยให้ครูไอดิดมองภาพใหญ่ได้ และไม่ยึดติดกับหลักสูตรมากเกินไป ในขณะที่ครูราเชลไม่มีสินทรัพย์นี้ จึงขึ้นกับข้อกำหนดของหลักสูตรมากกว่า
วาทกรรมเหล่านี้ไม่เพียงขึ้นกับประสบการณ์ส่วนตัว และประสบการณ์ในวิชาชีพครูเท่านั้น ยังขึ้นกับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศในการทำงานของครูด้วย โดยสะท้อนจากคำพูดของครูใหญ่ (ซึ่งเป็นผู้หญิงเหมือนกัน) ว่า ตนต้องรับผิดชอบทุกเรื่องทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย พัฒนาการด้านการศึกษาของนักเรียน รับผิดชอบตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเรื่องการปกป้องเด็ก การประเมินความเสี่ยง การประกันคุณภาพ หลักสูตร การรับเรื่องร้องเรียนจากพ่อแม่ เรื่องบุคลากร และทุกเรื่อง ระบบนิเวศในที่นี้คือกฎหมาย
ในวาทกรรมยังสะท้อนวิธีการและลำดับความสำคัญด้วย สาระของถ้อยคำ บ่งบอกความเป็นคนมีความรับผิดชอบของครูใหญ่ และที่น่าชื่นชมคือ ท่านพูดเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือครูในกรณีนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ และยิ่งน่าชื่นชมยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อครูใหญ่พูดเรื่องการศึกษามีหน้าที่ช่วยให้คนพ้นจากความยากจน ที่เราเรียกกันว่า ความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะตัวครูใหญ่เองเป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย โดยหนังสือ Teacher Agency ยกคำพูดของครูใหญ่มายืดยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ และผมตีความว่า ผู้เขียนหนังสือต้องการสื่อว่า
ระบบนิเวศทางสังคมโดยรอบโรงเรียนหรือของนักเรียนมีอิทธิพลต่อความเป็นผู้ก่อการของครูด้วย ที่ไม่เพียงต้องการหนุนให้นักเรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เท่านั้น แต่มุ่งผลระยะยาวและยิ่งใหญ่ คือปูพื้นฐานสู่ชีวิตที่ดี ซึ่งสะท้อนความเชื่อว่า การศึกษามีความหมายมากต่อชีวิตอนาคตของเด็ก
ครูใหญ่พูดถึงหลักสูตร Curriculum for Excellence ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะเธอดำเนินการอยู่แล้ว และ ความสามารถ (capacity) ๔ ด้าน ที่ระบุในหลักสูตร คือ ๑. เป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จ (successful learner) ๒. เป็นบุคคลที่มั่นใจตนเอง (confident individual) ๓. เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (responsible citizen) และ ๔. เป็นผู้ทำประโยชน์แก่สังคม (effective contributor) นั้นไม่ช่วยอะไรในทางปฏิบัติ เพราะมันเป็นคำกว้างๆ จับต้องไม่ได้ เธอต้องตีความทำเป็นแม่แบบ (template) สำหรับแนวทางดำเนินการเพื่อเป้าหมายดังกล่าว นี่คือวาทกรรมที่สะท้อนความเป็นครูผู้ก่อการของครูใหญ่
และยิ่งเห็นความเป็นครูผู้ก่อการของครูใหญ่มากขึ้นไปอีก เมื่อเธอพูดว่า หลักสูตร Curriculum for Excellence ดีมากที่ไม่ระบุรายละเอียดว่าต้องสอนคณิตศาสตร์กี่ชั่วโมง ภาษากี่ชั่วโมง ยกให้ทางโรงเรียนตัดสินใจเอง ทำให้มีความยืดหยุ่น
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency สรุปข้อค้นพบจากวาทกรรมของครู ๓ คน จากโรงเรียนประถมในเมืองว่า สะท้อนอิทธิพลของอายุ และอิทธิพลของรุ่น คือครูที่มีประสบการณ์ยาวนานมีการสั่งสมวาทกรรมผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้มีพลังมุ่งสู่อนาคตได้แข็งแรงกว่า มีอิทธิพลต่อพลังกระทำการในปัจจุบัน ส่งผลออกมาให้เห็นว่ามีความเป็นผู้ก่อการสูง ครูผู้ก่อการเหล่านี้ มีความเชื่อภายในตนไม่ตรงกับสัญญาณความต้องการจากภายนอก (หมายถึงหลักสูตร Curriculum for Excellence) เสียทีเดียว ผมขอแสดงความชื่นชมว่าครูสก็อตแลนด์มีวิญญาณครูและมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก
วาทกรรมเกี่ยวกับการศึกษาในโรงเรียนมัธยม
เริ่มจากวาทกรรมของผู้บริหารระดับสูง (เขาใช้คำว่า senior manager) คนหนึ่งของโรงเรียนมัธยมชายเขา ผู้เริ่มอาชีพครูในทศวรรษที่ 1970s ที่เมื่ออ่านวาทกรรมของท่านแล้วเห็นชัดว่า มีความลึกและสะท้อนอุดมการณ์ความเป็นครูที่สูงส่งมาก
ท่านบอกว่าคุณภาพการศึกษาของสก็อตแลนด์ตกต่ำลง สมัยก่อนคนเข้ามาเป็นครูด้วยอุดมการณ์ ด้วยความรักและเห็นคุณค่าของความเป็นครู แต่เวลานี้คนเข้ามาเป็นครูเพื่ออาชีพหรือการมีงานทำเพื่อหาเลี้ยงชีพเป็นหลัก กล่าวใหม่ว่าสมัยก่อนครูเข้าสู่อาชีพครูเพื่อเป็นครู แต่สมัยนี้ครูเข้าสู่อาชีพครูเพื่อเป็นลูกจ้าง สมัยก่อนการศึกษามุ่งพัฒนาความเป็นมนุษย์หรือมิติด้านในควบคู่ไปกับการเรียนวิชา แต่สมัยนี้เน้นเรียนวิชา ละเลยการพัฒนามิติด้านใน สมัยก่อนเชื่อกันว่าความก้าวหน้าของความเป็นครูเป็นกระบวนการบ่มเพาะที่เกิดขึ้นช้าๆ ค่อยๆ ยกระดับความรู้และประสบการณ์ไปเป็นขั้นตอนช้าๆ กว่าจะเป็นครูเต็มภาคภูมิใช้เวลาราวๆ ๗ ปี และอีก ๖ – ๗ ปี จึงมีความสามารถพอที่จะเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ แต่เวลานี้ใช้วิธีเรียนลัดโดยเข้าเรียนในหลักสูตร ๓ ปี เพื่อเป็นผู้บริหารฟังคุ้นๆ นะครับ
ท่านบอกว่าสมัยก่อนคนเข้าไปเป็นครูเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนครู หรือครอบครัวครู ในโรงเรียน ซึ่งหมายความว่า มุ่งหมายเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งมิติดังกล่าวจางลงไปมากในปัจจุบัน ทำให้ผมสงสัยว่ากระบวนการ PLC – professional learning community ได้รับการส่งเสริมแค่ไหน และมีการใช้งานแค่ไหน ในระบบการศึกษาของสก็อตแลนด์ ผมเพิ่งฟังเวทีเสวนาออนไลน์ “ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” บทเรียนการจัดการเรียนรู้จากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ จังหวัดระยอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม และจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๔ ได้เห็นคุณค่าของกระบวนการ PLC ของครูและผู้บริหารโรงเรียนไทยในการหาวิธีจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนในสถานการณ์โควิด ๑๙ ที่น่าชื่นชมมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้บริหารท่านนี้พูดถึงคือเรื่องการเรียนรู้ ท่านบอกว่าคนเราเรียนรู้เพราะมีความเจ็บปวด (pain) ที่เป็นความเจ็บปวดทางปัญญา (intellectual pain) ครูจึงต้องมีความกล้าหาญที่จะบอกศิษย์ว่าผลงานของเขายังไม่ดีพอ ครูจะช่วยเหลือให้เขาพัฒนาหรือปรับปรุงงานให้บรรลุคุณภาพของการเรียนรู้ระดับสูงให้จงได้ ทำให้ผมหวนระลึกถึงบทสนทนาของครูไทยกับวิทยากรอังกฤษเรื่องครูกับความสุขของนักเรียนในห้องเรียน ที่ผมบันทึกไว้ที่ www.gotoknow.org/posts/690252 ทั้งสาระของวาทกรรมของท่านผู้บริหารท่านนี้ และสาระในบล็อก Gotoknow ข้างต้น บอกตรงกันว่า ครูต้องมีวิธีการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากความยากลำบาก หรือจากการสู้สิ่งยาก สมัยผมหนุ่มๆ อายุเลย ๓๐ ไม่กี่ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว สอนผมว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” สำหรับท่านที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ที่เริ่มจากความน่าเบื่อ ไปสู่การเรียนรู้ที่สนุกเพลิดเพลิน ผมขอแนะนำให้อ่านบล็อก ที่ www.gotoknow.org/posts/692023 ตรงข้อ ๖ มีคำแนะนำสั้นๆ ให้ไปอ่านรายละเอียดจากหนังสือต้นเรื่องได้
ผู้บริหารท่านนี้พูดเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียน ว่าต้องหนุนให้เข้าสู่มิติที่ลึก เข้าไปถึงระดับจิตวิญญาณให้ได้ ต้องไม่หยุดอยู่แค่รู้ระดับผิวเผิน ซึ่งหมายความว่าต้องช่วยให้นักเรียนมีเป้าหมาย และมีความกล้าหาญและมุมานะเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
คำถามในหนังสือคือครูจะเลือกปล่อยให้นักเรียนได้เรียนรู้ระดับผิวเผิน พร้อมกับความรู้สึกว่าครูใจดี หรือจะเลือกเคี่ยวกรำนักเรียนให้บรรลุการเรียนรู้ในมิติที่ลึกให้ได้ คำตอบของผมคือ ครูสามารถเลือกทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ ซึ่งหมายความว่านักเรียนได้เรียนสนุกด้วย และบรรลุผลการเรียนรู้ในมิติที่ลึกได้ด้วย อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง (https://www.scbfoundation.com/stocks/14/file/16061988173lfnp14.pdf)และบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก (https://www.gotoknow.org/posts/tags/สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก)
จะเห็นว่า วาทกรรมของผู้บริหารของโรงเรียนมัธยมชายเขามีมิติที่ลึกมาก แต่วาทกรรมของครูในโรงเรียนนี้อีก ๒ คน ต่างออกไปมาก เมื่อถามว่าการศึกษามีไว้เพื่ออะไร ครูมอนิกาตอบว่า เพื่อการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ แต่การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียน แท้จริงแล้วคนเราเรียนรู้ในทุกที่ ทุกเวลา เมื่อเริ่มเป็นครูตนมุ่งสอนวิชา แต่ไม่ช้าก็ตระหนักว่าต้องให้นักเรียนได้เรียนทักษะทางสังคมด้วย รวมทั้งเรียนทักษะในการเรียนรู้ ครูต้องมีทักษะในการช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ ฝึกวิธีจัดระบบการเรียนของตัวเอง วิธีมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ให้มีมารยาท มีทักษะในการคิด
แต่ ครูเคท ให้คำตอบ (ต่อคำถามว่า การศึกษามีไว้เพื่ออะไร) ต่างออกไปมาก ว่าเป็นการเตรียมตัวเด็กให้สามารถทำในสิ่งที่เขาต้องการทำได้ เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือกทำสิ่งที่จะไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับการศึกษา ช่วยให้เด็กมีมุมมองที่กว้างขวางเกี่ยวกับชีวิตและผู้คน รวมทั้งมีมุมมองต่อสิ่งที่แตกต่างหลากหลายที่นักเรียนสามารถเลือกทำได้ในอนาคต
เมื่อถามว่าการศึกษามีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนผ่านการทดสอบใช่หรือไม่ ครูเคทตอบทันควันว่าไม่ใช่ การศึกษาต้องมีเป้าหมายกว้างกว่านั้น แต่การสอบก็มีความหมายเป็นเส้นทางสู่การศึกษาระดับสูงขึ้นไป ผู้เขียนหนังสือให้ข้อสังเกตว่า แม้ครูเคทจะพูดรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ในระบบการศึกษาของตนอย่างมากมาย แต่วาทกรรมของเธอไม่สะท้อนการใคร่ครวญสะท้อนคิดระดับลึกเกี่ยวกับวิชาชีพครูต่างจากวาทกรรมของผู้บริหารอย่างมาก
ข้อสังเกตสำคัญคือ ทั้งครูราเชลและครูเคท เข้ามาเป็นครูหลังจากทำงานอื่นมาก่อน ซึ่งในสก็อตแลนด์มีครูแบบนี้น้อยมาก ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency ให้ข้อสังเกตว่า ทีมวิจัยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนเลือกครูที่เอางานเอาการ เป็นตัวของตัวเอง มาเข้าโครงการ ได้ครูที่เข้ามาเป็นครูหลังผ่านประสบการณ์ทำงานอื่นมาก่อนถึง ๓ คน ทำให้เกิดคำถามว่า การได้ผ่านงานอื่นมาก่อน อาจช่วยสร้างความเป็นครูผู้ก่อการ
ครูซูซาน ที่โรงเรียนริมทะเลสาบ ก็เคยทำงานอื่นมาก่อนเป็นครู มีวาทกรรมผสมผสานระหว่างถ้อยคำแฟชั่นสมัยใหม่ ตามหลักสูตร Curriculum for Excellence (‘ส่งเสริมผู้เรียน’ ‘ให้ทางเลือก’ ‘ดูแลนักเรียนเป็นรายคน’ ‘ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก’ ‘ทักษะเพื่อการดำรงชีวิต’ ‘เพื่อพัฒนาเต็มศักยภาพ’) กับความเห็นว่าการศึกษาในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากประสบการณ์ในอดีตของตนเอง
เธอกล่าวว่า การศึกษาของสก็อตแลนด์ เอาใจใส่นักเรียนในฐานะปัจเจกน้อยลง มีความเป็นทางการ (bureaucratic) มากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายและบุคลาการด้านการบริหารระดับสูงเพิ่มขึ้น (top heavy) งบประมาณโดนตัดลดลงและเป็นการตัดงบประมาณผิดที่ ความต้องการงบประมาณอยู่ที่โรงเรียนและห้องเรียน ไม่ใช่ที่ระบบบริหารส่วนกลาง การศึกษาจะมีคุณภาพดีอยู่ที่การส่งเสริมให้เด็กเรียน และบทบาทนั้นอยู่ที่ครูธรรมดา ผู้มีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจต่อเด็ก ให้อยากเรียน หน้าที่ครูอยู่ที่การสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าที่การสอนวิชา
ครูซูซานมองว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แตกต่างจากทฤษฎีที่ระบุไว้ในหลักสูตร โดยระบุว่า การให้ทางเลือกและดูแลเป็นรายคนนั้นในทางปฏิบัติ ทางเลือกอยู่ที่ครู ไม่ใช่ที่นักเรียน นอกจากนั้น เธอยังแสดงข้อกังขา ว่าที่หลักสูตรระบุให้นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองนั้น ในความเป็นจริงนักเรียนรับผิดชอบได้หรือ ในเมื่อนักเรียนที่เรียนเก่งยังเรียกร้องให้ครูสอนแบบถ่ายทอดความรู้ ยิ่งนักเรียนที่เรียนอ่อนยิ่งไม่สามารถรับผิดชอบตนเองได้ เรื่องนี้ผมตีความว่า ครูซูซานเข้าใจผิด คิดว่าครูต้องปล่อยให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนทันที ไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความสามารถในการรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน (self-directed learning) ขึ้นมา สำหรับเป็นปัจจัยหนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียน มองอีกมุมหนึ่ง ครูซูซานมี fixed mindset เกี่ยวกับเรื่อง self-directed learning
ครูซูซานบอกว่า ตนสอนมากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อสอบ ข้อสอบจึงเป็นต้นเหตุให้นักเรียนได้เรียนรู้แคบ โดยที่ตัวเธอได้เห็นนักเรียนที่สอบไม่ได้เกรดเอ แต่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ดี โดยที่สิ่งที่เกื้อหนุนให้นักเรียนพัฒนาไปเป็นคนดี ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ปรากฏในตัววัดความสำเร็จของการศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่เอาใจใส่ผลการสอบของศิษย์ โดยที่ตัวเธอเองทำได้ ไม่มีปัญหา แต่วิถีปฏิบัติที่เน้นผลสอบมีผลต่อพฤติกรรมของครูโดยทั่วไปให้สอนเพื่อสอบ ส่งผลให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่แคบ
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency วิเคราะห์ว่า ครูซูซานมีบุคลิกส่วนตัว ที่ช่วยให้วิเคราะห์หลักสูตร ได้อย่างลึกซึ้งจริงจัง ว่าส่วนไหนสอดคล้องกับความเชื่อของตน ส่วนไหนขัดแย้ง มีทรัพยากรด้านวาทกรรมที่ช่วยให้นโยบายส่วนไหนที่เหมาะสม ส่วนไหนที่ไม่ รวมทั้งมีวาทกรรมที่ช่วยสร้างแรงขับดันภายในตนเอง สู่ความมีลักษณะของผู้ก่อการ และมีความสามารถประเมินสถานการณ์ที่กำลังเผชิญได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ไม่ชัดคือเธอได้วาทกรรมด้านการศึกษาเหล่านี้มาจากไหน
ครูซาร่า แห่งโรงเรียนริมทะเลสาบเช่นกัน เล่าที่มาที่ไปของความเป็นคนเอางานเอาการขยันขันแข็งว่าได้มาจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก โดยพ่อแม่สอนให้ขยันหมั่นเพียรในการเรียนหนังสือ ทั้งๆ ที่พ่อเป็นคนขับรถบรรทุกและแม่เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร แต่ส่งเสริมให้ลูกเรียน ครูซาร่านำเอาคุณค่าเหล่านี้มาสอนลูกศิษย์ของตนว่าให้ขยันเรียน อย่าลอก อย่าทุจริต หรือมีพฤติกรรมเบี้ยวๆ บูดๆ หากมีปัญหาอะไรให้บอกครู ครูจะช่วย แต่ก็มีนักเรียนที่ขอไม่ทำงานส่วนนั้นส่วนนี้ หรือหลบเลี่ยงงาน ครูก็ต้องเข้าไปเข็น และพูดชี้ชวนให้นักเรียนทำงานเก็บผลงานอย่างเป็นระเบียบ ถึงคราวต้องสอบเพื่อเข้าเรียนขั้นต่อๆ ไป ก็จะผ่านโดยง่าย
สะท้อนการมีทิศทางและเป้าหมายชัดเจนในการทำหน้าที่ครูของครูซาร่า เมื่อได้รับคำถามว่าประยุกต์แนวทางตามที่พูดในชั้นเรียนได้อย่างสบายใจใช่ไหม คำตอบคือใช่ และในทีมงานของวิชาที่สอนก็ใช่ แต่เมื่อถามขึ้นไปถึงระดับโรงเรียน เธอก็แสดงท่าทีลังเล และในที่สุดก็เล่าว่า บางเรื่องเธอไม่เห็นด้วยกับแนวทางของโรงเรียนแต่ก็ต้องประนีประนอม สะท้อนว่าการแสดงบทผู้ก่อการย่อมขึ้นกับระบบนิเวศที่แวดล้อมอยู่ด้วย
ทีมวิจัยได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งของโรงเรียนริมทะเลสาบ ที่เป็นครูมาแล้ว ๓๓ ปี ท่านเคยเป็นครูประจำวิชามาก่อน แล้วเลื่อนเป็นครูแกนนำ (principal teacher) ท่านบอกว่าการทำหน้าที่ครูกับผู้บริหารใช้หลักการเหมือนกันคือสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน โดยแสดงความเอาใจใส่ ไม่ว่ากับเพื่อนครูหรือกับนักเรียน เมื่อนักเรียนเชื่อถือ (trust) ครู เขาจะตั้งใจเรียน และเรียนได้ผลดี เรียนสนุก และเติบโตเป็นคนดี
ท่านผู้บริหารท่านนี้กล่าวเปรียบเทียบอย่างน่าฟังว่า สำหรับครูและผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร และความรู้อื่นๆ รวมทั้งงานที่ทำเปรียบเสมือนตัวบ้าน ส่วนความสัมพันธ์เปรียบเสมือนฐานราก แม้จะมีความรู้ความสามารถสูงเพียงไร หากฐานความสัมพันธ์ไม่แข็งแรง โครงสร้างทั้งหมดก็พังได้โดยง่าย
ความเก่งไม่สำคัญเท่าปฏิสัมพันธ์ เพราะความเชื่อหรือศรัทธาจะสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียน และนักเรียนจะหาทางฝึกทักษะหรือแก้ปัญหาได้เอง
วาทกรรมของผู้บริหารท่านนี้บอกความสำคัญของปัจจัยด้านคน ที่คน (ทั้งครูและนักเรียน) รู้สึกว่าตนมีคุณค่า ครูรู้สึกว่าตนมีคุณค่าในเรื่องการสอน สิ่งที่สอนจึงไม่สำคัญเท่ากับวิธีสอน และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันซึ่งโรงเรียนนี้มีบรรยากาศนี้มาเป็นเวลานาน
สรุป
ผลของการสัมภาษณ์พูดคุยและสังเกตการทำงานของครู ๖ คน ผู้บริหาร ๓ คน ยืนยันว่า วาทกรรมและคำศัพท์ที่สั่งสมไว้ เป็นพลังสำคัญของการก่อเกิดความเป็นผู้กระทำการ โดยปัจจัยด้านประสบการณ์ชีวิตวัยเยาว์มีพลังมาก และปัจจัยด้านอายุ (age effect) และด้านรุ่น (generation effect) ก็เด่นชัด นี่คือทุนวัฒนธรรม (cultural resources) ของการเป็นผู้ก่อการของครู นอกจากนั้น ทุนระบบนิเวศ ในโรงเรียนและในระบบการศึกษาก็มีอิทธิพลเช่นเดียวกัน
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 4 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential