- The Potential ชวนคุยกับ หยี- ศิรินนา รวยรินเสาวรส Co-Fouder เกมโค้ดดิ้ง Miimo.AI ฝีมือคนไทย ที่มีความตั้งใจที่จะทำให้เด็กไทยเข้าถึงการเรียนรู้โค้ดดิ้งในรูปแบบที่สนุก และเข้าถึงได้ง่าย
- เกมโค้ดดิ้ง ‘Miimo’ สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้พื้นฐานทักษะโค้ดดิ้งสำหรับเด็กไทยวัย 7-12 ปี โดยใส่บทเรียนโค้ดดิ้งของจริงลงไปในเกมและออกแบบให้เกมน่าดึงดูด รวมถึงสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบให้กับเด็กๆ
- การสร้างทักษะเพื่ออยู่ร่วมกับสังคมในปัจจุบันและอนาคต เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับเด็กๆ ยุคนี้ ดังนั้นการมี Soft Skills และ Mindset ที่ดีต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่จึงเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กในอนาคต
“จุดประสงค์หลักของเกม Miimo คือเราอยากให้เด็กมี Mindset ว่าการเรียนหรือการรับสิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่สนุก ฉะนั้นถ้าเขามีสิ่งนี้ติดตัวไป ในอนาคตที่เขาโตขึ้นก็จะมีความสุขในการสรรหาข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะเขาจะรู้สึกสนุกกับการลงมือทำ”
หยี- ศิรินนา รวยรินเสาวรส คนไทยเชื้อสายไต้หวัน และ Co-Fouder เกมโค้ดดิ้ง Miimo.AI ฝีมือคนไทย ที่สอนโค้ดดิ้งให้เด็กๆ ผ่านเกมใน iPad และสมาร์ทโฟน เล่าถึงความตั้งใจของเธอและทีม ที่จะทำให้เด็กไทยเข้าถึงการเรียนรู้โค้ดดิ้งในรูปแบบที่สนุก และเข้าถึงได้ง่าย
โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา คือช่วงหลังจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย และได้ย้ายกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยรัฐที่ไต้หวัน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะสังคมจริงนั้นใหญ่ และประกอบไปด้วยคนหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่เธอคิด จึงทำให้มองเห็นว่าความต่างของคนๆ หนึ่งนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก
จากความรู้สึกอยากช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นแนวคิดในการออกแบบเกม Miimo ที่สร้างเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้พื้นฐานทักษะโค้ดดิ้งสำหรับเด็กไทยวัย 7-12 ปี โดยใส่บทเรียนโค้ดดิ้งของจริงลงไปในเกมและออกแบบให้เกมน่าดึงดูด รวมถึงสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบให้กับเด็กๆ ผ่านการเล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะเธอเห็นว่า ‘ทักษะชีวิต’ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
The Potential ชวนคุยถึงแรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบเกม Miimo เกมโค้ดดิ้งที่ไม่มีเพียงแค่พัฒนาทักษะโค้ดดิ้งเท่านั้น แต่ยังแทรกทักษะด้านอื่นที่มีประโยชน์กับเด็กๆ ในอนาคตอีกด้วย
อยากให้ช่วยอธิบายรูปแบบของเกม Miimo ว่ามีฟังก์ชันอย่างไร?
Miimo เป็นสัตว์เลี้ยงเสมือนของเด็ก เวลาที่จะต้องให้อาหาร หรือทำความสะอาด แต่งห้อง เราต้องใช้เหรียญหรือดาวในการดูแล Miimo เพราะฉะนั้นพอเงินหมดเราก็ต้องแวะไปที่ ‘เกาะโค้ดดิ้ง’ เพื่อไปทำ Task (ภารกิจ) บทเรียนโค้ดดิ้ง ไปผ่านด่านโค้ดดิ้งต่างๆ เพื่อเก็บเหรียญและดาวมาดูแล Miimo หรือแต่งบ้านของตัวเอง
โดยในพาร์ทของเกมโค้ดดิ้ง เราใส่หลักสูตรจริงๆ ลงไปตามบทเรียน โดยเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ ในด่านแรกๆ ซึ่งก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ และตัวเกมก็จะปรับความช้าเร็วเข้ากับตัวเด็ก เพราะถ้าเด็กไม่ผ่านด่านหรือบทเรียนไหนเราก็จะไม่ปล่อยให้เขาข้ามไปบทเรียนถัดไป
เกมของเราจะมีการจับเวลา ถ้าใช้เวลานานเกินไปก็จะไม่ให้เขาผ่าน เพราะเราประเมินว่าน้องๆ อาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนรู้คอนเซ็ปต์ถัดไปที่ยากกว่า
พอเขาเรียนจบแต่ละด่านก็จะได้เหรียญ และได้คอนเซ็ปต์ใหม่ ที่เขาสามารถสร้างแอนิเมชันของตัวเองขึ้นมาใน Sand Box ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมาให้เขาทำอะไรก็ได้ อยากจะใส่ฉาก ตัวละคร หรืออัดเสียงอะไรลงไปก็ได้ตามสไตล์ของตัวเอง เป็นพื้นที่ที่ให้น้องๆ ได้แสดงความเป็นตัวเองและจินตนาการออกมาให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังทำให้เด็กศึกษาจากงานของเพื่อนได้ด้วย โดยดูงานของคนอื่นและนำมาลองประยุกต์ใช้กับของตัวเอง เพราะเราอยากให้น้องๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้โค้ดดิ้งสำหรับเด็ก?
คือจริงๆ แล้ว ตัวเราเองเป็นคนที่ชอบงานสอนมากเลยนะ และแฮปปี้กับการช่วยคนอื่นทำในสิ่งที่เขาต้องการจะทำ ก็เลยตัดสินใจว่าเราอยากลองทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาดู
ซึ่งพอเข้าไปทำแล้ว คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ เราจะทำยังไงให้เด็กที่ไม่ได้มีทุนมากพอ สามารถที่จะเข้าถึงการศึกษาได้เยอะที่สุดในราคาที่จับต้องได้
เพราะความคิดหลักของเราคือ ‘ทำยังไงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้’ ก็มาทำการบ้านและหาคำตอบว่า ‘ทำไมมันถึงแพง?’ ซึ่งเราก็ได้มาสองประเด็นคือ ‘ค่าคุณครู’ และ ‘ค่าสถานที่’
เราก็เลยพยายามหาทางที่จะตัดสองสิ่งนี้ออกไปให้ได้ ซึ่งเราก็ใช้วิธีคือ หนึ่งสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา และสองคือสร้างอะไรก็ได้ที่สามารถทดแทนคุณครู ก็เลยเกิดเป็นแอปพลิเคชันที่มีตัวสอนขึ้นมา เพราะว่าจุดประสงค์ของเราคือลดราคาลงให้ทุกคนเข้าถึงได้
แล้วเราก็มานั่งคิดต่อว่า ‘ทำไมคุณครูถึงสำคัญ?’ และ ‘คุณครูมีหน้าที่อะไร?’ คือเราเองก็เป็นครูมาก่อนเราก็รู้อยู่แล้วว่าครูมีหน้าที่ Motivate เด็ก ซึ่งก็มี Motivation 2 แบบ คือ Intrinsic Motivation และ Extrinsic Motivation
ส่วนของ Intrinsic คือเด็กจะแบบ ‘ฉันอยากเก่งขึ้น’ ‘ฉันอยากดีขึ้น’ เป็น Motivation ที่มาจากตัวของเด็กเอง ส่วน Extrinsic คืออย่างเช่น คุณแม่สั่งให้เรียน หรือคุณครูบังคับให้ทำการบ้าน ซึ่งเราคิดว่าหน้าที่ของครูคือการให้ Extrinsic Motivation เพราะพ่อแม่จ่ายค่าเรียนให้ตามโรงเรียน แล้วเด็กก็ต้องเรียนตามหน้าที่
เหตุผลที่ใช้ ‘เกม’ มาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดบทเรียน?
เรามาคิดว่าถ้าเกิดเราเอาครูออกไปแล้ว จะทำยังไงให้เด็กเขาอยากมาเรียนอยู่โดยไม่ต้องบังคับ คำตอบก็คือ ธรรมชาติของเด็กเขาก็ต้องอยากสนุก เลยคิดว่าคงต้องทำเป็นเกม ทำให้เขาอยากกลับมาเองและทำให้แอปนั้นดึงดูดมากพอที่เด็กจะกลับมาเองโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ซึ่งเราก็นำตัว ‘Miimo’ หรือสัตว์เลี้ยง มาเป็นตัวหลักของเกม
เราคิดว่าเด็กๆ เขาคงมีความรู้สึกชอบที่ได้ดูแลอะไรบางอย่าง เราก็เลยสร้าง Miimo ขึ้นมาเป็นสัตว์เลี้ยงของเด็กๆ ทำให้ต้องกลับมาดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ซึ่งวิธีดูแลคือการให้อาหาร ทำความสะอาด และซื้อของแต่งห้อง แล้วถามว่าแล้วเราจะเอาเงินในเกมมาซื้อสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ก็คือเราจะให้เด็กๆ ไปเล่นเกมที่มีบทเรียนเพื่อผ่านด่านและเก็บเงินจากด่าน
แต่เราจะออกแบบให้แต่ละด่านนั้นน่าเบื่อก็ไม่ได้ เพราะยังมีเกมอีกมากมายที่สนุกกว่าเกมของเรา เลยออกแบบให้ตัวบทเรียนเป็นเกมด้วยเหมือนกัน เพราะบทเรียนก็ต้องสนุกด้วยตัวมันเองเพื่อไม่ให้น้องๆ เล่นแล้วเบื่อ คือถ้าเกมนี้สนุกพอ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปบังคับ ให้เด็กเขาอยากเล่นด้วยตัวเอง
ทำไมต้องเป็น ‘โค้ดดิ้ง’ ?
เราดูปัจจุบันและเทรนด์ในอนาคต ปัจจุบันคือเรามองว่าการเรียนวิชาต่างๆ เช่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คณิต เนี่ยมันมีเยอะมากๆ เราเลยหาอะไรที่ตอนนี้ยังไม่มี แล้วก็อยากทำอะไรที่เด็กไทยสามารถเข้าถึงได้
คือแม้ว่าในอเมริกาจะมีแอปสอนโค้ดดิ้งค่อนข้างเยอะมากแล้ว แต่มันก็เป็นภาษาอังกฤษ ยังไม่มีใครทำเป็นภาษาไทยเลย ทีนี้เด็กที่ได้ภาษาเขาก็จะได้มากกว่า สามารถเข้าถึง Resource (ทรัพยากร) ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเด็กที่ไม่ได้ภาษาเขาก็จะไม่ได้สักที เราเลยสร้าง Miimo ขึ้นมาเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อที่เด็กไทยจะได้เข้าถึงบทเรียนโค้ดดิ้งได้ง่าย
ส่วนในอนาคตคือ เรามองว่าน้องๆ ตอนนี้ที่อายุ 7-12 เนี่ย เขายังมีเวลาอีก 10 กว่าปี กว่าเขาจะออกไปสู่ตลาดงาน แล้วตอนนั้นเขาจะต้องการอะไรล่ะ เพราะตอนนี้ภาษาอังกฤษกลายเป็นสิ่งที่ ‘จำเป็นต้องได้’ ไปแล้ว มันไม่ใช่
‘ถ้าได้ก็ดี’ อีกต่อไป ดังนั้นในอนาคตถ้าอยากให้เด็กคนนึงเก่งกว่าคนอื่นและตามทันอนาคต ทักษะที่ควรมีก็คือ ‘โค้ดดิ้ง’
ซึ่งการรู้โค้ดดิ้งก็ไม่ได้หมายความว่าโตไปเขาต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ด้วยความที่สังคมสมัยนี้ทุกคนมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือสื่อสารอย่างน้อย 1 เครื่อง ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องใช้ชีวิตไปกับมัน ไม่มีทางหายไปจากชีวิตแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องกลายเป็นสายไอที
เราควรมีทักษะเพื่ออยู่ร่วมกับสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้และกับสังคมในอนาคต เราต้องเข้าใจว่ามันทำงานยังไง และเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นอยู่คืออะไร แล้วก็มีสกิลในการแยกแยะ
เพราะโค้ดดิ้งเป็นการพัฒนา Logical Skills พัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน แยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด เป็นการช่วยฝึกกระบวนการคิดไปด้วย เลยคิดว่ามันเป็นทักษะที่ทุกคนควรมีไม่ว่าเขาจะอยู่ในสายงานอะไรก็ตาม เพราะเป็นทักษะที่ทำให้ชีวิตของเขาง่ายขึ้น
คาดหวังว่า Miimo จะสามารถพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งให้แก่เด็กๆ ได้แค่ไหน?
เราคิดว่ามันช่วยสร้างพื้นฐาน เพราะโค้ดดิ้งจะแบ่งเป็น Block-based (การเขียนโปรแกรมในลักษณะของการนำ Block ของคำสั่งมาต่อๆ กันคล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์) กับ Text-based (การเขียนโค้ดด้วยภาษาคอมพิวเตอร์)
ซึ่ง Miimo ของเราคือ Block-based จริงๆ มันคือการฝึกวิธีคิดก่อน ช่วยจัดระบบความคิดให้เป็นระบบระเบียบ เราจะสอนคอนเซ็ปต์ทั้งแบบ Conditional (การสร้างคำสั่งเพื่อการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ)
และ Loops (การสร้างคำสั่งให้วนซ้ำ) คือสอนคอนเซ็ปต์ก่อน แบบที่เขาไม่ต้องพิมพ์อะไรเลย ซึ่งถ้าในอนาคตที่อาจจะเรียนในระดับที่สูงขึ้นเป็น Text-based coding เขาก็จะสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกลับมาได้ว่านี่เป็นสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าเป็นการสร้างพื้นฐานความคิดมากกว่า
ข้อดีคือน้องๆ ไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าตัวเองจะพิมพ์ได้ถึงจะสามารถฝึกโค้ดดิ้ง เพราะมันสามารถฝึกตั้งแต่ตอนที่เขาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะบล็อกทุกอย่างเป็นภาพและตัวละคร สามารถเข้าใจได้เลยว่าแต่ละบล็อกหมายถึงอะไร
คิดว่าเด็กๆ จะได้รับทักษะอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากทักษะโค้ดดิ้งบ้าง?
มันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Computational Thinking (การคิดเชิงคำนวณ) ไอเดียของสิ่งนี้คือการสร้างระบบการคิด มีกระบวนการแก้ปัญหาแบบมีลำดับ
สมมติว่าวันนี้อยากทำเกม เขาจะสามารถคิดออกไหมว่าควรทำอะไรก่อนหลัง เพราะในแต่ละ Task ก็จะมีระบบระเบียบของมันเอง เป็นการฝึก Soft Skills ต่างๆ ทั้ง Logical Thinking, Problem Solving และ Creativity ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ควรพัฒนาตั้งแต่เด็ก ซึ่ง Computational Thinking นี้ก็จะแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ Decomposition (การแบ่งย่อยปัญหา), Pattern Recognition (การเข้าใจรูปแบบ), Abstraction(ความคิดเชิงนามธรรม) และ Algorithm Design (การออกแบบขั้นตอนวิธี )
ถ้าเกิดเขาได้เข้าถึงวิธีการคิดแบบนี้ตั้งแต่เด็กมันจะจัดระบบความคิดของเขาไปเลย เวลาเขาเจออะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากชีวิตจริง จากการเรียน หรือที่ทำงาน ถ้าคิดเป็นระบบระเบียบมากขึ้นก็จะทำให้เหนื่อยน้อยลงด้วย
คิดอย่างไรกับการที่หลายๆ คนมองว่า ‘เกมเป็นสิ่งไม่จำเป็น’ และกลัวว่าเด็กจะติดเกม ?
สำหรับเราเองคิดว่ามันไม่มีอะไรที่จำเป็นต้องทำ เพราะทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับตัวบุคคลคนนั้น แต่เราก็ดีใจที่ผู้ปกครองสมัยใหม่เขาเริ่มเห็นด้วยและเข้าใจกับสิ่งนี้มากขึ้น คือดูว่าน้องๆ ชอบอะไร เป็นสายไหน บางคนเรียนรู้ด้วยการ Hands on บางคนก็อ่านหนังสือ ซึ่งเราก็อยากแนะนำให้ผู้ปกครองพยายามสังเกตลูก ไม่ปิดกั้น และอยู่เป็นเพื่อนเขาดีกว่า
อย่างที่ว่าไม่มีถูกผิด หรือต้อง/ไม่ต้อง แบบเป๊ะๆ มันขึ้นอยู่กับตัวเด็ก และวิธีที่เขาเรียนรู้ ต้องสังเกตตัวเด็ก ถ้าเด็กมาแนวนี้ สิ่งที่ผู้ปกครองทำได้คือช่วยสกรีนเกมที่เด็กควร/ ไม่ควรเล่น คอย monitor เรื่อยๆ คุยกับเขา ดีกว่าไม่ให้เลย และอยากให้พยายามมองไปถึงอนาคต และเปิดใจลอง เพราะอะไรที่เราคิดว่าดี/ไม่ดีตอนนี้ อนาคตอาจจะไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปก็เป็นไปได้
แต่เห็นด้วยว่า ‘ไม่ควรให้เด็กติดเกม’ เป็นเรื่องจริงมาก แต่ถ้าเราห้ามเขาเลย เขาก็จะมองว่าเราเป็นศัตรู มองว่าไม่ใช่ทีมเดียวกันกับเขาแล้ว แต่เราคอยซัพพอร์ต คอยถาม จะทำให้เขามองว่าเราเป็นทีมเดียวกันอยู่ เวลาเราอยากแนะนำอะไรเขาก็ยังฟัง ช่วยเขาจำกัดเวลาการเล่น หรืออะไรต่างๆ แทน
เพราะการที่เราไม่ให้หรือห้ามเขาอาจจะไม่ใช่ทางออก สุดท้ายถ้าเด็กเขาอยากทำหรืออยากเล่นอะไรมากๆ เขาก็จะหาทางของเขาให้สำเร็จให้ได้ แต่ข้อเสียคือเขาก็จะไม่บอกหรือแอบเราทำแทน
Miimo เองก็มีฟังก์ชันสำหรับผู้ปกครองคือ Parents Dashboard จะทำให้เราดูได้ว่าลูกเล่นถึงไหนแล้ว ทำโปรเจ็กต์ไปกี่อันแล้ว ดูเวลาที่ลูกเข้าใช้ และสามารถจำกัด Screentime และตั้งเวลาที่สามารถเข้าเกมได้
มีอะไรอยากฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจหรือมีลูกที่อยากเรียนรู้โค้ดดิ้งบ้าง?
ถ้าเราเห็นแววลูกแล้วก็ควรสนับสนุนเขาให้ไปจนสุดทาง และพยายามเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก ก็เข้าใจว่าวิชานี้เป็นวิชาที่อาจจะยากสำหรับตัวพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะเราไม่ได้เกิดในยุคของสายนี้ แต่เราก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ และช่วยหา Resources ให้ลูกเพิ่ม ซึ่ง Miimo ก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็ยังมีอย่างอื่นอีกเยอะ ก็ลองดูว่าเขาจะไปทาง Robotics ด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าเขาชอบสายนี้อยู่แล้ว ก็พยายามหามาให้เพิ่ม
แต่ว่ามันก็จะมี 2 แบบ คือ น้องยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ซึ่งประเภทนี้เราก็จะแนะนำหาเยอะๆ ไม่ต้องหาลึกแต่เน้นหากว้างๆ โดยการพาไปทำกิจกรรมต่างๆ พอเราจับได้ว่าลูกชอบอะไรแล้วค่อยลงลึกกับสิ่งนั้น อย่าง Miimo เองเป็นแอปฟรีอยู่แล้ว ก็ให้น้องลองเล่นจนจบหรือเข้าเวิร์กช็อปของ Miimo ดู ถ้าชอบก็ไปต่อ หาอย่างอื่นเพิ่มให้เขาอีกในแนวเดียวกัน แต่ถ้าไม่ชอบก็ลองอย่างอื่นแทนค่ะ