- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ ๔. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
- ระบบความเชื่อของครูมีส่วนกำหนดมุมมองและท่าทีต่อความรู้ที่ครูได้รับ มากกว่าอิทธิพลของระบบการศึกษาหรือระบบการผลิตครู ความเชื่อของครูแสดงออกมาในรูปของปณิธานความมุ่งมั่น (aspiration)
- ความเชื่อนำสู่การกระทำ จึงเชื่อมสู่ความเป็นผู้ก่อการ หรือผู้กระทำการของครู ความเชื่อแสดงออกผ่านการกระทำ ณ ปัจจุบันขณะ โดยที่ความเชื่อนั้นสั่งสมมาแต่อดีต ผ่านประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์วิชาชีพ
- ความเชื่อในคุณค่าของครูมีหลายระดับ ในปัจจุบันความเชื่อของครูต่อคุณค่าของการศึกษา และต่อคุณค่าของตนเองยังแคบเกินไป และมุ่งเป้าหมายระยะสั้นเกินไป
บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency: An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย
บันทึกที่ ๔ นี้ ตีความจากบทที่ 2 Teacher Beliefs and Aspirations
ความเชื่อเป็นเรื่องฝังใจ มีอิทธิพลลึกล้ำต่อการทำหน้าที่ของครู และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก ท้าทายนักวิชาการด้านการพัฒนาครู และท้าทายนโยบายการศึกษา ที่จะเข้าไปเปลี่ยนความเชื่อนั้นๆ มีผู้กล่าวว่า “โรงเรียนเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษา พอๆ กันกับการปฏิรูปการศึกษาเปลี่ยนแปลงโรงเรียน”
ระบบความเชื่อของครูมีส่วนกำหนดมุมมองและท่าทีต่อความรู้ที่ครูได้รับ มากกว่าอิทธิพลของระบบการศึกษาหรือระบบการผลิตครู ความเชื่อของครูแสดงออกมาในรูปของปณิธานความมุ่งมั่น (aspiration) เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับความเป็นผู้ก่อการของครู มีประเด็นคำถามหลักๆ ๓ ประการคือ (๑) ความเชื่อสำคัญๆ ของครูมีอะไรบ้าง (๒) ความเชื่อเหล่านั้นมาจากไหน (๓) ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นเหล่านั้นมีผลต่อความเป็นครูผู้ก่อการอย่างไร
ทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยความเชื่อของครู
วรรณกรรมหรือผลงานตีพิมพ์ว่าด้วยความเชื่อของครูมีมากมาย ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency บอกว่าในภาพรวมวรรณกรรมเหล่านั้นยังมีข้อจำกัด ๓ ประการคือ (๑) ไม่มีการวิจัยตอบคำถามว่า ความเชื่อของครูเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอย่างไร (๒) มีงานวิจัยน้อยมากที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับความเป็นผู้ก่อการของครู และ (๓) งานวิจัยจำนวนมากใช้สมมติฐานว่าโรงเรียนมีความล้าหลัง จึงหวังให้การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเข้าไปกอบกู้ โดยต้องแก้ที่ความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ของครูในด้านต่างๆ เช่นด้านการสอนวิทยาศาสตร์ ด้านการสอนภาษา ด้านการนำเทคโนโลยีใหม่เข้าไปใช้ ด้านวิธีการประเมิน เป็นต้น
นิยามความเชื่อของครู
มีหลายนิยาม นิยามหนึ่งเสนอว่า เป็นผลรวมของข้อมูลความเป็นเหตุเป็นผลหลากหลายด้าน จากหลากหลายแหล่ง และเป็นการยากที่จะแยกระหว่างความเชื่อกับความรู้ โดยที่ความเชื่อเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างไร้ระเบียบ
อีกนิยามหนึ่งบอกว่าความเชื่อเป็นตัวช่วยเอื้อการฟื้นความจำและนำมาผสมใหม่ ช่วยให้ความหมายต่อกิจกรรม และการเลือกรับรู้ ส่งผลต่อการเลือกแสดงพฤติกรรม โดยที่ความเชื่อเป็นกระบวนการทางใจ (affective) มีธรรมชาติเป็นเรื่องเล่า เชื่อมโยงกับการตีความคุณค่าในอดีต เป็นเรื่องของการสั่งสมจากประสบการณ์ที่ประทับใจ หรือเป็นวิกฤติในอดีต และเสนอว่าความเชื่อมี ๖ มิติคือ (๑) มิติด้านมี-ไม่มี เช่นเชื่อว่านักเรียนขี้เกียจ (๒) มิติด้านทางเลือก เช่นเลือกสอนแบบถ่ายทอดความรู้ หรือจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) (๓) มิติด้านความรู้สึก-เหตุผล (๔) มิติด้านการสั่งสมตามกาลเวลา (๕) ไม่มีทางสร้างฉันทามติ หรือเห็นพ้องกัน (๖) ไม่มีขอบเขต
ความเชื่อของครูในเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ไม่สามารถแยกออกจากความเชื่อของครูในเรื่องทั่วๆ ไปได้
จำแนกกลุ่มความเชื่อของครู
มีผู้เสนอวิธีจำแนกไว้หลากหลายแบบ ได้แก่
- แยกเป็นกลุ่มความเชื่อเชิงอนุรักษ์ กับกลุ่มความเชื่อแนวก้าวหน้า
- แยกเป็น ๕ กลุ่มคือ (๑) เน้นที่ผลการดำเนินการ (๒) เน้นที่คุณวุฒิ (๓) เน้นสาระ (๔) เน้นสาขาวิชา (๕) ครูเป็นผู้กำหนด
- ความเชื่อที่ครูกำหนดตามข้อ (๕) ข้างบน จำแนกได้เป็น (๑) เชื่อในพัฒนาการส่วนบุคคล (๒) เชื่อในการจัดการเรียนรู้แบบเน้นการเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (๓) เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นการสร้างความรู้ใส่ตัว และผ่านการร่วมมือกัน (๔) เชื่อว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สู่ความคล่องแคล่ว หรือรู้จริง (mastery)
- มีความเชื่อที่เป็นคู่ตรงกันข้าม ที่ครูต้องมีความสามารถอยู่กับขั้วตรงกันข้ามเหล่านั้นได้ สามารถรับมือกับความเครียดจากความเชื่อที่เป็นขั้วตรงกันข้ามได้
- ครูต้องอยู่กับความไม่สอดคล้องระหว่างความเชื่อส่วนตัว กับความเชื่อเชิงวิชาชีพได้ หรือสามารถอยู่กับความไม่สอดคล้องระหว่างความเชื่อที่เป็นแกนกลางของกิจกรรม กับความเชื่อที่เป็นสภาพแวดล้อมได้
- สามารถจำแนกความเชื่อออกเป็น ความเชื่อเกี่ยวกับ…
- ความเชื่อของครู เป็นความเชื่อเกี่ยวกับ (๑) ขีดความสามารถของครู (๒) ธรรมชาติของความรู้ (๓) การเรียนของนักเรียน (๔) วิธีจัดการเรียนรู้ที่ให้ผลดีที่สุด
- จำแนกได้เป็น ความเชื่อเกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับบริบท เกี่ยวกับความรู้ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน เกี่ยวกับนักเรียน และเกี่ยวกับวิชา
- จำแนกความเชื่อได้เป็น ๓ ชนิดคือ (๑) ความเชื่อเชิงพฤติกรรม ที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม (๒) ความเชื่อว่าจะได้หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น และ (๓) ความเชื่อเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อปฏิบัติการนั้นๆ
ความเชื่อกับบริบท
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจว่าระบบนิเวศมีอิทธิพลต่อความเป็นผู้ก่อการของครูอย่างไร ทำได้โดยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบริบท (context) กับความเชื่อของครู เป็นที่รู้กันดี ว่าพฤติกรรมกับความเชื่อ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป ความไม่สอดคล้องนั้นเกิดจากอิทธิพลของบริบทด้านโครงสร้าง (structural) และด้านวัฒนธรรม (cultural)
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อพฤติกรรมของครู รวมทั้งต่อพฤติกรรมไม่สนองนโยบายด้านการศึกษา เช่น หากครูเชื่อว่านโยบายนั้นมีผลร้ายต่อนักเรียน ครูก็จะหาทางเลี่ยงไม่ร่วมมือกับนโยบายนั้น เป็นพฤติกรรมปกป้องนักเรียน และเมื่อมองจากนโยบายปฏิรูปการศึกษา พฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ร่วมมือเรียกว่าพฤติกรรมต่อต้านแบบไม่ร่วมมือ
นำไปสู่โจทย์วิจัยว่าครูที่มีความเชื่อด้านวิชาชีพสูง มีแนวโน้มจะมีความเป็นผู้ก่อการสูงกว่าครูที่มีความเชื่อด้านวิชาชีพต่ำหรือไม่ หรือถามว่าความเชื่อด้านวิชาชีพอย่างดื่มด่ำช่วยให้ครูกล้าแสดงพฤติกรรมที่ขัดกันกับกระแสในบริบทแวดล้อมหรือไม่ หรือช่วยให้ครูจัดการกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ง่ายขึ้นหรือไม่
บ่อเกิดความเชื่อของครู
ประเด็นของตอนนี้คือความเชื่อของครู (ในเรื่องอาชีพครู) เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงได้ไหม เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
เป็นที่เชื่อกันว่าความเชื่อ (ศรัทธา?) ในอาชีพครูของผู้เป็นครูส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ หรือก่อนเรียนเพื่อเป็นครู หรือเมื่อเริ่มเป็นครู มีนักวิชาการท่านหนึ่งถึงกับบอกว่าความเชื่อนี้เกิดขึ้นราวๆ อายุ ๕ ขวบ
นำมาสู่ข้อเสนอว่า สภาพดังกล่าวเป็นปัจจัยต้าน หรือเป็นปัจจัยลบ ต่อการปฏิรูประบบการศึกษา เพราะคนที่เป็นครูมักจะไม่ร่วมมือ เนื่องจากคนเป็นครูมีความเชื่อหรือศรัทธาในระบบการศึกษาในรูปแบบที่ตนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งผมมีความเห็นส่วนตัวว่า คำอธิบายนี้น่าจะเป็นจริง โดยผมขอแถมว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนความเชื่อยาก ก็เพราะการศึกษาโดยทั่วไป และเพื่อเป็นครูไม่ได้ฝึก เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)
หนังสือ Teacher Agency บอกว่า การที่ครูเปลี่ยนความเชื่อยากนี้ ทำให้ครูขาดความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นผู้ก่อการในวิชาชีพครูในสภาพที่ซับซ้อน หรือสภาพที่มีความขัดแย้งอยู่ในตัวเอง
ต่อประเด็นว่าความเชื่อของครูเปลี่ยนแปลงได้ไหม จากประสบการณ์การทำงาน และจากกระบวนการพัฒนาวิชาชีพครู มีผู้ให้ความเห็น (ที่เป็นที่เชื่อต่อๆ กันมา) ว่า ความเชื่อเกิดขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย และเปลี่ยนยาก แม้จะพบเหตุการณ์จากการศึกษาและประสบการณ์ที่บ่งชี้ว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ก็ไม่เปลี่ยนความเชื่อ นักวิชาการท่านนี้ (Pajares, 1992) ถึงกับบอกว่า การเปลี่ยนความเชื่อเกิดไม่บ่อยในวัยผู้ใหญ่ แต่ก็มีผู้บอกว่าครูที่มีจริตเอาใจใส่นักเรียน (Student-centred Orientation) จะรับแนวคิดใหม่และเปลี่ยนความเชื่อได้ง่ายกว่า และยังมีนักวิชาการท่านอื่นที่เชื่อว่าวิธีพัฒนาครูที่ดี จะช่วยให้ครูเปลี่ยนความเชื่อได้ ผมอยู่ในกลุ่มนี้ โดยอ้างอิงหนังสือ วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู ครูเปลี่ยนความเชื่อได้โดยการใคร่ครวญสะท้อนคิดความจริงที่พบเทียบกับความเชื่อที่ตนยึดถือ การเรียนเพื่อเปลี่ยนความเชื่อเรียกว่า การเรียนรู้ผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective learning) โดยที่การใคร่ครวญสะท้อนคิดนั้นต้องทำอย่างเอาจริงเอาจัง ที่เรียกว่า critical reflection
เจาะลึกความเชื่อของครู
ความเชื่อนำสู่การกระทำ จึงเชื่อมสู่ความเป็นผู้ก่อการ หรือผู้กระทำการของครู ความเชื่อแสดงออกผ่านการกระทำ ณ ปัจจุบันขณะ โดยที่ความเชื่อนั้นสั่งสมมาแต่อดีต ผ่านประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์วิชาชีพ ความเชื่อในระดับปณิธานความมุ่งมั่น มีเป้าหมายและความคาดหวัง ทำให้เกิดการกระทำในลักษณะเอาจริงเอาจังมุมานะ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
เราจะเจาะลึกทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อของครู โดยตอบคำถามหลักๆ ๓ ประการที่กล่าวแล้วในตอนต้น คือ (๑) ความเชื่อสำคัญๆ ของครูมีอะไรบ้าง (๒) ความเชื่อเหล่านั้นมาจากไหน (๓) ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นเหล่านั้นมีผลต่อความเป็นครูผู้ก่อการอย่างไร โดยตีความผ่านการทำความเข้าใจความเชื่อ ๓ ด้านของครู คือ ความเชื่อเรื่องเด็กและผู้เยาว์ ความเชื่อเรื่องบทบาทของครู และความเชื่อเรื่องเป้าหมายยิ่งใหญ่ของการศึกษา เป็นการเจาะลึกผ่านการตีความข้อมูลที่นักวิจัยในโครงการ Teacher Agency and Curriculum Change เก็บมาผ่านกระบวนการชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic) โดยในหนังสือยกเอาถ้อยคำของครูมาให้อ่าน เพื่อจะตีความหมายและให้ข้อสรุป แต่ผมจะยกมาเล่าเฉพาะข้อสรุปเท่านั้น
ความเชื่อเรื่องเด็กและผู้เยาว์
ครูทั้ง ๖ คนที่เป็นผู้ถูกวิจัยนี้ จัดเป็นครูที่ขยัน เอาใจใส่ทำงานเพื่อนักเรียน ใช้เวลาที่บ้านเตรียมตัวสอนเป็นอย่างดี และมีความเชื่อว่าปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับศิษย์ช่วยสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ครูจึงต้องเอาใจใส่สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่นักเรียนทุกคนรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นเพื่อการเรียนรู้ของตน โดยครูทุกคนมีความหวังว่า ตนจะช่วยให้นักเรียนทุกคนบรรลุการเรียนรู้เต็มศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน
แต่ส่วนหนึ่งของเจตนารมณ์ดังกล่าว ถูกบดบังโดยมุมมองเชิงลบต่อนักเรียนที่สะท้อนออกมาผ่านถ้อยคำของตัวครูเอง เช่นคำพูดเชิงแบ่งนักเรียนออกเป็นนักเรียนเรียนดี เรียนอ่อน หรือหัวดี หัวทึบ สะท้อนความเชื่อเรื่องการเรียนรู้ที่เน้นวิชาการ ความเชื่อเรื่องความสามารถของเด็กที่มองเฉพาะเรื่องการเรียนวิชา ไม่มีมุมมองหรือความเชื่อเรื่องพหุปัญญา และสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แต่ถ้อยคำของครูก็ขัดแย้งกันเอง กับเรื่องการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนเป็นรายคนตามที่นักเรียนเลือก และยังขัดแย้งกับถ้อยคำของครูเองที่บอกว่า ต้องให้นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง ให้นักเรียนได้ปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อการเรียนรู้
นอกจากนั้น ยังมีถ้อยคำของครูที่สะท้อนความเชื่อว่า นักเรียน (และพ่อแม่) ต้องรับผิดชอบความเอาใจใส่เรียนของนักเรียนเอง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของครู เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนจึงได้รับคำตำหนิดุด่าจากครู แต่ก็มีครูที่มีพฤติกรรมตรงกันข้าม คือหาทางช่วยเหลือปกป้อง ว่าที่เด็กเป็นเช่นนั้นมาจากความผิดพลาดของระบบการศึกษา
จะเห็นว่า ความเชื่อเรื่องเด็ก เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องบทบาทหน้าที่ของครู
ความเชื่อเรื่องบทบาทของครู
ครูทั้ง ๖ คน ให้ความเห็นตรงกันว่าบทบาทของครูต้องเปลี่ยนจากผู้ถ่ายทอดความรู้ มาเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ของนักเรียน และเปลี่ยนจากสอนวิชามาเป็นสอนเด็ก ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพที่เห็นในสก็อตแลนด์ในขณะนั้น ที่ครู โดยเฉพาะครูมัธยมส่วนใหญ่ ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการเรียนการสอนตามที่กำหนดใน Curriculum for Excellence และไม่เห็นด้วยจากการเปลี่ยนจากการเรียนรายวิชาไปเป็นเรียนสหวิชา มีครูคนหนึ่งกล่าวเน้นความสำคัญของความรู้เชิงสาระ และแสดงความกังวลว่าวิชาที่ตนสอนถูกลากสู่การเรียนรู้เพื่อทำงาน ทำให้เนื้อหาที่เรียนอ่อนลง
ความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนบทบาทของครูนี้ รุนแรงไม่เท่ากันในครูทั้ง ๖ คน ในกรณีที่ครูเชื่อมาก จะเห็นการจัดการเรียนรู้แบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และเอาใจใส่ความแตกต่างกันของนักเรียนอย่างชัดเจน
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency สรุปข้อประทับใจในภาพรวมว่า น่าประหลาดใจมาก ที่ครูปฏิเสธความรับผิดชอบของตน และในขณะเดียวกันบ่นว่าตนเองไม่ได้รับการรับฟัง ผมขอเสริมว่าครูในที่นี้หมายถึงครู ๖ คนที่เป็นครูชั้นดี ในโครงการวิจัย แต่ก็ต้องตระหนักว่า นี่คือข้อสรุปจากข้อมูลจากกระบวนการ ethnography ที่คำพูดบางส่วนอาจมาจากอารมณ์ในขณะนั้น
ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ผสมผสานระหว่างวิชามากขึ้น เป็นที่ยอมรับในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติยังมีความสับสนอยู่มาก ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งของโรงเรียนริมทะเลสาบ ให้ความเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานวิชา ให้นักเรียนมีทางเลือกมากขึ้น ไปจนถึงการจัดการเรียนรู้เฉพาะตัว (personalized learning) เป็นเส้นทางของโรงเรียนคุณภาพสูง โดยที่ครูต้องกล้ารับความเสี่ยง และทดลองแนวทางใหม่ๆ แต่เมื่อฟังฝ่ายครู ครูทั้ง ๖ คนแสดงความกังวลในการทำงานตามแนวทางดังกล่าว ว่าหลักสูตรเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากเกินไป จนลิดรอนความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ของครู
ผมอ่านรายละเอียดของคำพูดของครูในหนังสือแล้ว ขอให้ข้อสรุปของผมเองว่า เมื่อมีหลักสูตรใหม่พร้อมคำสั่งจากหน่วยเหนือ ความรู้สึกแรกของครูคือต่อต้าน (อย่างน้อยในบางส่วน) เพราะคำสั่งเหล่านั้นมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตของการทำงานของครู แต่ครูเหล่านี้ก็ต่อต้านเงียบๆ ไม่แสดงออก แต่ก็เล่าว่าคำสั่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของตนในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ตนรับผิดรับชอบต่อผลงานยากขึ้น
ความเชื่อเรื่องเป้าหมายสูงส่งของการศึกษา
ข้อมูลจากการวิจัย และข้อวิเคราะห์ในตอนนี้มีความลึกมาก หากมองผิวเผิน ครูทั้ง ๖ คนนี้มีความเชื่อเรื่องเป้าหมายทางการศึกษาที่น่ายกย่องมาก คือมองเน้นที่ตัวศิษย์ มุ่งให้ศิษย์เรียนรู้ไม่แค่วิชาความรู้และทักษะเท่านั้น ยังมองที่การเอื้อให้นักเรียนได้ฝึกฝนปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และสมรรถนะอื่นๆ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency วิเคราะห์ว่า ครูทั้ง ๖ ท่านนี้ขาดมุมมองเป้าหมายการศึกษาที่ภาพระยะยาว และภาพใหญ่ของสังคม ที่มุ่งให้นักเรียนได้รับประสบการณ์เพื่อเติบโตออกไปมีส่วนสร้างสังคมประชาธิปไตย สังคมที่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งผมขอเพิ่มเติมมิติด้านสังคมที่มีความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ที่เราไม่ค่อยเห็นในประเทศที่เรารับถ่ายทอดระบบการศึกษามา แต่มีตัวอย่างในประเทศที่ระบบการศึกษามีคุณภาพสูงตามที่ระบุในหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก
มองใหม่ เป้าหมายยิ่งใหญ่ของการศึกษาควรมุ่งที่การสร้างสังคมที่ผู้คนไม่แค่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว แต่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะให้คุณค่าของระบบนิเวศทางสังคมและเศรษฐกิจ ว่ามีผลกระทบต่อชีวิตที่ดีของบุคคล
สรุป
ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติงาน เป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จของกิจการทุกประเภท รวมทั้งการศึกษา ในที่นี้เราพุ่งความสนใจที่ครู ที่มีความเป็นผู้มีพฤติกรรมรับผิดชอบสูงต่องานของตน เป็นผู้กำกับงานของตนเอง มีพฤติกรรมใช้ดุลยพินิจและการตัดสินใจเชิงวิชาชีพในงานประจำวันของครู ที่เรียกว่าความเป็นผู้ก่อการของครู (Teacher Agency) การดำเนินการริเริ่มสิ่งใหม่ (ในที่นี้คือหลักสูตรใหม่) ที่ต้องอาศัยบทบาทของครูเป็นหลัก หากดำเนินการแบบสั่งการจากเบื้องบน โอกาสที่จะได้ใช้พลังความเป็นครูที่ดีจะมีจำกัด เพราะความซับซ้อนของสถานการณ์ ซึ่งแก้ได้โดยการใช้บรรยากาศแนวราบ ให้โอกาสครูที่ดีเหล่านี้ร่วมเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” หลักสูตร (curriculum co-creator)
ความเชื่อในคุณค่าของครูมีหลายระดับ ในปัจจุบันความเชื่อของครูต่อคุณค่าของการศึกษา และต่อคุณค่าของตนเองยังแคบเกินไป และมุ่งเป้าหมายระยะสั้นเกินไป
ผมขอเพิ่มเติมจากมุมมองสังคมตะวันออก ว่าวงการศึกษาทางฝั่งตะวันตกยังให้คุณค่าต่อการพัฒนาด้านในของมนุษย์น้อยไป เวลานี้ในประเทศไทยมีหลายโรงเรียนนำเอาจิตศึกษา หรือจิตตปัญญาศึกษามาใช้พัฒนาคุณลักษณะด้านในหรือด้านจิตใจของนักเรียนและครู เกิดผลดีมาก เป็นประเด็นที่น่าจะมีการวิจัยผลกระทบของกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว
สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ได้ที่นี่
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential
เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential