- ชีวิตติดลบของเด็กที่เติบโตในครอบครัวนักพนันผู้เกือบไม่ได้เรียนต่อเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม และหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุแค่ 15 ปี
- ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกทางเดินชีวิตที่อาจผิดจนเกินแก้ไข โอกาสและพื้นที่ปลอดภัยจากครูมโนราห์ ช่วยให้ เค-วิชญะ เดชอรุณ เริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
- วันนี้ไม่เพียงความภูมิใจในฐานะผู้สอนมโนราห์ที่ส่งต่อกำลังใจและความหวังให้กับเด็กนอกระบบคนอื่นๆ เขายังได้กลับสู่ระบบการศึกษา และมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตในแบบของตัวเอง
การแสดงมโนราห์ของเยาวชนจากเสือรามจันทร์จบลงด้วยท่าไหว้อย่างอ่อนช้อยสวยงาม แต่ใครจะรู้ว่านิ้วมือที่สวมใส่เล็บปลอเรียวโค้งนั้นเคยผ่านอะไรมาบ้าง…
“ผมผ่านอะไรมาเยอะ เกิดมาในครอบครัวที่มีอาชีพเล่นการพนัน เราอยู่กับการพนันมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้โกรธหรือเกลียดในอาชีพที่พ่อแม่ทำ เห็นพ่อแม่ทำผมก็ทำด้วย เป็นนายมือครับ ตอนนั้นไม่คิดอะไร เพราะยังเด็กก็ทำๆ ไป คิดว่ามันถูกต้องและได้จุนเจือครอบครัว”
‘เค’ วิชญะ เดชอรุณ ในวัย 17 ปี เล่าเส้นทางชีวิตที่เริ่มจากติดลบของตัวเอง ก่อนจะมาเป็นแกนนำเครือข่ายเพื่อนเยาวชน (ใต้-บน) ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค.2565
เค-วิชญะบอกว่า แม้การพนันจะทำให้พอมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องแต่ก็ไม่มีความแน่นอน และที่แน่ๆ คือไม่มีความภูมิใจในตัวเอง ชีวิตที่เกือบจะเดินทางผิดมาถึงจุดพลิกผันเมื่อเขากำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ช่วงนั้นพ่อแม่เริ่มไม่มีเงินส่งเสียเพราะลูกเรียนพร้อมกันทั้งหมด 3 คน ทำให้ต้องติดค้างค่าเทอมไว้กับโรงเรียน
“ตอนที่ครูจะสรุปผลการศึกษาให้ เพื่อรับใบ ปพ. (เอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เขาบอกว่าต้องเคลียร์ยอดเงินก่อน เราก็ไม่ได้คิดว่าจะเยอะ พอถึงเทอมสุดท้ายเงินเป็นหลักหมื่น เราตกใจว่าจะหาเงินมาจากไหน ผมจึงเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้ได้เรียนต่อ ชอบการเรียนมาก ก็เลยหนีไปเกาะสมุยเพื่อที่จะได้เงินมาจ่ายค่าเทอม”
ทว่าด้วยวัยแค่ 15 ปี ไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ไม่มีใครรับเข้าทำงาน เวลานั้นเขารู้สึกมืดแปดด้านไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แต่แล้วเสียงโทรศัพท์จากอาจารย์ชานนท์ก็ดังขึ้น (ชานนท์ ปรีชาชาญ คณะทำงานเครือข่ายเพื่อนเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ‘โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา’ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.))
“ครูโทรไปบอกว่าให้กลับมานะ ด่วนเลย ครูควักเงินตัวเองให้ผมเป็นค่าเดินทางกลับมาบ้าน…”
‘โอกาส’ จับต้องไม่ได้ แต่ให้กันได้
ย้อนไปเมื่อสามปีที่แล้ว เค -วิชญะ เป็นหนึ่งในเยาวชนที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว หากว่าไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ให้ เขาอาจจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบ หรือตกอยู่วังวนของสิ่งผิดกฎหมาย หรืออื่นๆ ที่ยากจะคาดเดา
แต่จากการช่วยเหลือของอาจารย์ชานนท์ เคได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสืบสานมโนราห์บ้านปากลัด ทำให้เขามีโอกาสตั้งหลักใหม่ ได้ใช้ทักษะความสามารถของตัวเองประคับประคองความหวังและความฝันที่เกือบจะพังทลายลงไปแล้ว
“ผมเคยเรียนมโนราห์มาตั้งแต่ม.2 แต่ตอนอยู่ที่โรงเรียน(เวียงสระ) ถึงจะรำได้ก็ไม่สามารถออกงานได้ โดนบูลลี่ว่าหน้าตาไม่ได้ดี รูปร่างก็ไม่ดี ทำนองว่ารับไม่ได้หรอก การรำนาฏศิลป์มักจะเลือกคนสวยๆ หน้าตาดีขาวๆ ที่เห็นทั่วไป แต่พอเราได้มาทำงานกับอาจารย์ชานนท์ อาจารย์ไม่ได้เปรียบเทียบ มีการสอน มีการฝึกทักษะการใช้ชีวิต แกเป็นคนทำให้ผมเปลี่ยนความคิดตรงนี้ครับ
การบูลลี่ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นปมของผมนะ แต่พอความคิดสุดท้ายกลับกลายเป็นว่า…จะเอาอะไรมาสำคัญเหรอ”
การกลับมาครั้งนี้ นอกจากเคจะสามารถนำเงินมาจ่ายค่าเทอมให้กับโรงเรียน และได้กลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนเวียงสระในระดับมัธยมปลายแล้ว เขายังสะสมความมั่นใจและลบคำสบประมาทด้วยการปรึกษากับครูนาฏศิลป์เปิดชมรมมโนราห์ขึ้นในโรงเรียน และในส่วนของโครงการฯ เคได้ขยับบทบาทจากผู้ได้รับความช่วยเหลือมาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำแนะนำน้องๆ ที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
“พอเราย้ายเข้าระบบก็ผันตัวมาเป็นแกนนำ ครูผู้สอนให้น้องๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ ก็ทำหน้าที่พี่ดูแลน้องในคณะมโนราห์ สอนการรำ ร้อยลูกปัด และนำไปขาย เราอยู่กันแบบครอบครัว
เราผ่านช่วงที่เลวร้ายมาแล้ว ตอนนี้เหมือนกับเราไม่คิดลบแล้ว ความเป็นจริงเราคิดไกลมากนะ แต่แล้วเรายังอยู่ที่เดิม เอื้อมถึงไหมยังไม่รู้ แต่ตอนนี้ทำให้ดี กับตอนนี้ที่เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะได้เจออาจารย์ เหมือนได้เปิดโลกกว้างเลย เราสามารถเอาบทเรียนของตนเองมาสอนน้องๆ ได้เช่นกัน”
‘ความภูมิใจ’ ไม่ยิ่งใหญ่ แต่เติมเต็มชีวิตได้
ด้วยท่วงท่าการรำที่สวยงาม ใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุข การแสดงมโนราห์ของเคเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้เสมอ แน่นอนว่านอกจากความภาคภูมิใจ เขาสามารถหารายได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง เฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท ในจำนวนนี้นอกจากใช้จ่ายส่วนตัว เคยังแบ่งมาจุนเจือครอบครัวอีกด้วย
เคบอกว่าตอนนี้เขากำลังสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสาขาที่ชอบเพราะก่อนหน้านี้เคยไปแข่งขันด้านจิตวิทยามาตลอด แล้วเวลาอยู่ในศูนย์มโนราห์ก็มักจะมีน้องๆ ที่มีปัญหามาพูดคุยขอคำปรึกษาอยู่เสมอ
“แต่ละคนมีปัญหาต่างกัน จะทำยังไงให้น้องๆ คิดบวก เนื่องจากเราผ่านมาแล้ว เรามีการเล่าเรื่องของตนเองให้น้องๆ ฟัง แต่ความรู้ของเราไม่ได้มีเยอะ มีแต่ทักษะการใช้ชีวิต อยากจะทำอะไรก็ได้ที่สอดคล้องกับการทำงานและการใช้ชีวิต เพราะเราสามารถอยู่กับคนที่มีปัญหาได้”
เคถอดบทเรียนของตัวเองให้ฟังว่า เขาเติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกดูถูกตัวเอง ดูถูกพ่อแม่ แม้จะมีความคิดตั้งแต่เด็กว่า “ฉันจะไม่อยู่อย่างนี้” แต่ก็มองไม่เห็นหนทางว่าจะหลุดไปจากวงจรการพนันของครอบครัวได้อย่างไร กระทั่งมีคนหยิบยื่นโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ ได้รับการสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่รัก ทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองและมั่นใจที่จะเดินหน้าสู่อนาคตที่หวังไว้
“จากเมื่อก่อนที่เราต้องหารายได้จากพนัน และเราก็ไม่ได้ภูมิใจเลย แต่วันนี้ได้อยู่ต่อหน้าสังคม ทำให้เราพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตนเอง ครอบครัวด้วย อยากให้จบแค่เพียงรุ่นนี้
พี่น้องที่เป็นฝาแฝดมีความคิดแบบเดียวกันกับเรา ไม่ได้อยากให้พ่อเป็นแบบนี้ แม่สอนตลอดว่า “แม่ไม่มีอะไรให้นะ เธอต้องเรียนให้จบกันนะ” แต่ไม่เคยบังคับว่าจะเรียนอะไร หรือต้องเป็นอย่างนี้ๆ เรียนจบหรือเปล่าไม่เคยถาม เรายังรู้สึกอบอุ่นในครอบครัว เพียงแต่ขัดสนเรื่องเงินทองเท่านั้นเอง”
เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน จุดพลิกผันในชีวิตอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยปาฏิหาริย์หรือเหตุการณ์สำคัญอะไร เพียงแค่คนที่เข้าใจและแรงหนุนอีกนิดหน่อยก็ทำให้เขาสามารถลุกขึ้นและเดินต่อไปได้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ ‘โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา’ ที่พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้โอกาสและสร้างการเรียนรู้แก่เยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้เขาสามารถตั้งหลักและมีทางเลือกในการดำเนินชีวิต ซึ่งหมายรวมถึงการกลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
“พอได้เข้าร่วมโครงการของ กสศ. ทำให้เราได้เป็นแกนนำ และได้เห็นว่าสิ่งที่ภายนอกทำอยู่ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แล้วทำไมเรายังต้องคิดลบ จากนั้นทำให้เราเปลี่ยนมายเซ็ตได้ ตอนนี้เรามีอาชีพคือการรำมโนราห์ มีเงินที่จะส่งเสียตัวเองและพี่เรียนหนังสือ รู้ว่าทำเพื่อใคร มีความภาคภูมิใจมากว่าสิ่งที่ทำมีความสำคัญ”
ในวันนี้…ในวัย 17 ปี เค-วิชญะ เชื่อว่าตัวเองสามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างมั่นคงพอสมควร ซึ่งไม่เพียงความตั้งใจที่จะเรียนให้ได้สูงที่สุดอย่างที่หวัง เขาเลือกที่จะสานต่อความฝันให้กับน้องๆ ที่ยังขาดโอกาสเท่าที่ตัวเองจะทำได้
“ตอนนี้ก็ยังช่วยอาจารย์ชานนท์ต่อไป ดูแลน้องๆ ประมาณ 50 คน ทั้งที่ใช่และไม่ใช่เด็กรำมโนราห์ แต่เราจะอยู่ในพื้นที่ของการรำมโนราห์ …ก็อยากให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของเด็กที่ด้อยโอกาสด้วย”
เคฝากข้อความทิ้งท้ายจากประสบการณ์ของตัวเองว่า… “คนเราต้องมีโอกาส เหมือนกับผมในวันนี้ จากชีวิตคนๆ หนึ่ง คนที่คิดแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ จนมาคิดช่วยคนอื่นได้ เพราะเราผิดพลาดและได้แก้ไข ดังนั้นจึงไม่อยากให้ใครทำผิดแบบเราอีก”