- วิชาเอาชีวิตรอด เป็นการฝึกทักษะและสร้างไหวพริบการเอาตัวรอดให้แก่เด็กหากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ หรือติดอยู่ในรถเพียงลำพัง ซึ่งโรงเรียนควรสร้างทักษะนี้แก่เด็กๆ เพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง
- การสอนให้เด็กทุกคนมีทักษะทางด้านการว่ายน้ำเป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็ก โดยเป็นการเรียนรู้แบบเรียนปนเล่น เน้นการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น การทรงตัวในน้ำ และการลอยตัวเป็นหลัก
- นอกจากสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์จมน้ำ-ติดในรถ เด็กๆ ยังได้ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ให้แข็งแรง ได้ทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ สามารถเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ และทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
คำกล่าวที่ว่า “โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ” นอกจากจะหมายถึงพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้และเติบโตในแบบของตนเองแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเป็นพื้นที่ปลอดภัยในเชิงกายภาพและการติดตั้งทักษะที่ช่วยให้เด็กอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของเด็กไทยในอันดับต้นๆ อย่าง ‘การจมน้ำ’ และ ‘ติดในรถ’
‘การจมน้ำ’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี
ข้อมูลจากหลักสูตรผู้จัดแผนงานป้องกันการจมน้ำ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า แต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิต ปีละเกือบ 1,000 คน ส่วนในกลุ่มอายุเฉลี่ยปีละเกือบ 4,000 คน เนื่องจากเด็กไทยส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น ขาดทักษะการเอาชีวิตรอด ดังนั้นนอกจากมาตรการดูแลความปลอดภัยต่างๆ ที่มี เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือตัวเองยามคับขัน รวมไปถึงเรียนรู้การขอความช่วยเหลือกรณีติดอยู่ในรถเพียงลำพัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
The Potential พาขึ้นเหนือไปดูตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ ‘วิชาเอาชีวิตรอด’ ในเด็กเล็ก ของ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกศูนย์พัฒนาเด็กปี 2565 โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. มาปรับใช้ โดยการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และสร้างประสบการณ์พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม
ทักษะการเอาตัวรอด วัคซีนเข็มแรกที่เด็กๆ ควรได้รับ
จากข้อเสนอแนะของ สมศ. เพื่อหาแนวทางป้องกันและลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กลายเป็นโจทย์ในการพัฒนาผู้เรียน ส่งเสริมให้มีสมรรถนะสมวัย และมีสุขอนามัยที่ดี สร้างทักษะและไหวพริบในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันตราย เกิดเป็น ‘โครงการสอนว่ายน้ำ’ และ ‘ชั่วโมงเรียนรู้การขอความช่วยเหลือ’ โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลท่ากว้างด้วย
โครงการเรียนว่ายน้ำ เป็นการสอนการว่ายน้ำที่ถูกต้องจากครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถด้านพละศึกษา ส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกายกระตุ้นให้เกิดพัฒนาด้านร่างกายที่มีความเหมาะสมกับวัย อีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้และไหวพริบการเอาตัวรอดให้เด็กเล็กกรณีเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไปในชุมชนโดยรอบด้วย
“สำหรับกิจกรรมสอนว่ายน้ำ เรามีมา 5-6 ปี แล้ว เป็นกิจกรรมช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็ก มีว่ายน้ำ ฝึกขอความช่วยเหลือกรณีติดในรถ แล้วก็มีสนามเด็กเล่น เพิ่มทักษะด้านร่างกาย แล้วก็กิจกรรมดนตรีหน้าเสาธง ให้เด็กๆ มาเต้น ออกกำลังกายช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน” นพดล สร้อยนาค ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลตำบลท่ากว้าง พูดถึงการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาเด็กด้านร่างกายและสร้างทักษะการเอาตัวรอด
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ สืบเนื่องมาจากสภาพพื้นที่บริเวณชุมชนโดยรอบมีแหล่งน้ำหลายแห่ง และเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบเล่นน้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการจมน้ำ เพราะไม่รู้วิธีการเอาตัวรอดที่ถูกต้อง
“ดังนั้นการสอนให้เด็กทุกคนมีทักษะทางด้านการว่ายน้ำจึงเป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็ก โดยเป็นการเรียนรู้แบบเรียนปนเล่น เน้นการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น การทรงตัวในน้ำ และการลอยตัวเป็นหลัก”
‘เรียนปนเล่น’ กับกิจกรรมว่ายน้ำ
ในช่วงเช้าของทุกๆ วันพฤหัสบดี จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ต่างตั้งตารอ เพราะพวกเขาจะได้เรียนว่ายน้ำ ได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆ
อนุพงศ์ จินะ ครูสอนว่ายน้ำ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง เล่าว่า เด็กๆ จะเรียนว่ายน้ำกัน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำลังพอดีสำหรับร่างกายเด็ก โดยในเด็กเล็ก 4-7 ปี เริ่มจากพื้นฐาน อย่างการเป่าลมในน้ำ สร้างความคุ้นเคย ลดความตื่นกลัวเวลาอยู่ในน้ำ การตีขาตามน้ำ ฝึกการลอยตัว กลั้นหายใจ ไปจนถึงดำน้ำ เพราะสาเหตุหลักๆ ของการจมน้ำ นอกจากการว่ายน้ำไม่เป็นแล้ว อีกสาเหตุคือการกลัวน้ำ เพียงแค่น้ำตื้นๆ ก็สามารถจมได้ และไม่มีทักษะการเป่าน้ำ ซึ่งครูอนุพงศ์ย้ำว่า เป็นทักษะสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตกรณีที่เราตกน้ำได้
“อันดับแรกเราต้องฝึกให้เด็กเป่าลมในน้ำก่อน เพราะเวลาจะจมน้ำถ้าเราเป่าน้ำได้เราก็จะมีโอกาสรอดสูง ต่อไปก็จะเป็นการฝึกลอยตัว ท่าปลาดาวคว่ำและต่อด้วยท่าปลาดาวหงาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐาน ต่อไปคือท่าลูกหมาตกน้ำ ซึ่ง 3 ท่านี้เป็นท่าหลักที่เด็กต้องเรียนรู้และต้องใช้ควบคู่กันไป
บางครั้งปลาดาวหงายเราเหนื่อย เราก็กลับมาคว่ำบ้าง ถ้าคว่ำเราก็ต้องเป่าน้ำช่วยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าจะให้สบายก็คือนอนหงายท่าปลาดาวหงาย ส่วนท่าหมาน้อยตกน้ำก็ถือว่าพอเอาตัวรอดได้”
“ถ้าเราเป่าน้ำเก่ง สามารถดำน้ำได้เก่งร่างกายเด็กก็ใช้ได้คล่อง มันช่วยให้เราหายใจในน้ำได้นาน เพื่อรอความช่วยเหลือจากคนบนฝั่ง คนที่จะเข้าไปช่วยเหลือก็ต้องมองหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ขวดน้ำ ห่วงยาง เพื่อโยนไปให้จับก่อน”
ครูอนุพงศ์ เสริมว่า การสอนพื้นฐานเหล่านี้ เป็นการฝึกให้เด็กไม่กลัวน้ำ สามารถเอาตัวรอดและทรงตัวในน้ำในระดับที่ไม่ลึกเกินไปได้ โดยจะให้เด็กทรงตัวเดินตามเส้นของสระเป็นแถวต่อกันไป
หากถามว่า นอกจากจะสร้างทักษะการเอาตัวรอด ฝึกให้เด็กว่ายน้ำเป็น หรืออย่างน้อยๆ รู้วิธีการเป่าลมในน้ำ เด็กจะได้ทักษะอะไรอีกบ้าง? ครูอนุพงศ์ ตอบว่า อย่างแรกเลยคือ คลายเครียด ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ การว่ายน้ำช่วยบำบัดและผ่อนคลายความเครียด
“เด็กเล็กๆ ส่วนใหญ่ก็จะเรียนปนเล่นไปด้วย การให้เขาได้เล่นเขาจะใช้ทักษะโดยที่เขาไม่รู้ตัว ถ้าเราจะตั้งเป็นกฏตรงๆ หรือตั้งเป้าว่าเขาต้องว่ายน้ำเป็นมันไม่ได้ แล้วน้ำช่วยบำบัดหลายอย่างกล้ามเนื้อด้วย เราจะคลายกล้ามเนื้อ คลายเส้นหมดเลย ใช้การเดินในน้ำก็ช่วยบำบัดได้ การว่ายน้ำใช้ได้ทุกช่วงวัย นอกจากการเอาตัวรอดในการจมน้ำก็ยังช่วยบำบัดร่างกาย”
นอกจากนี้ การว่ายน้ำ เด็กจะได้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา
“ร่างกายก็คือเขาได้ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ร่างกายแข็งแรง ด้านสังคมเขาก็ได้รู้จักการเคารพกฎกติกา การเข้าแถว การรอ อย่างเป็นระเบียบ ด้านอารมณ์จากที่เห็นคือเด็กๆ เขาสนุก ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดี เพราะเขาสนุกที่ได้เล่น สนุกในการเรียนรู้ แล้วสติปัญญาครูก็จะสอนการนับเลข ครูจะสั่งว่าดีดขา 10 ครั้ง เด็กๆ เขาก็จะนับ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 นี่ก็คือสิ่งที่เด็กจะได้รับ ได้พัฒนาทั้ง 4 ด้าน ครับ” ผอ. นพดล เสริม
ฝึกไหวพริบการเอาตัวรอด เรียนรู้การขอความช่วยเหลือกรณีติดอยู่ในรถลำพัง
ข้อมูลจาก กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่าตั้งแต่ปี 2557-2563 มีเหตุการณ์ ‘เด็กติดในรถ’ ทั้งหมด 129 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิต 6 ราย โดยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 2- 6 ปี ส่วนสถานที่เกิดเหตุที่พบเด็กเสียชีวิตนั้น เป็นรถรับส่งนักเรียน 5 ราย และรถยนต์ส่วนบุคคล 1 ราย โดยเด็กทั้งหมดติดอยู่ในรถนานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป
แม้ตัวเลขสถิติจะดูไม่มากนัก แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะเมื่อเหตุเกิดบนรถรับส่งนักเรียน ดังนั้นนอกเหนือจากการเพิ่มมาตรการและความรัดกุมในการดูแลเด็กนักเรียนแล้ว การสร้างทักษะการเอาตัวรอดให้กับเด็กๆ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการสูญเสียในเบื้องต้น
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลท่ากว้าง ได้จัดชั่วโมงการเรียนรู้สำหรับการฝึกทักษะขอความช่วยเหลือหากเกิดกรณีติดอยู่ในรถเพียงลำพัง โดย ผอ.นพดล ให้รายละเอียดว่า อันดับแรกคือการสอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในการกดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เพื่อใหับุคคลภายนอกทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในรถ และสอนให้เด็กกดแตรเพื่อขอความช่วยเหลือจากคนภายนอก
“สำหรับเทคนิคการเอาตัวรอดกรณีติดในรถ เราจะฝึกให้เด็กออกจากรถทางด้านหน้าสุด หรือที่นั่งคนขับ อันดับแรกเขาต้องมีสติพาตัวเองไปเบาะหน้าให้ได้ก่อน เพราะกรณีที่เด็กติดในรถส่วนใหญ่เขาจะอยู่เบาะหลังเป็นจุดอับสายตา หลังจากนั้นเราก็สอนการกดสัญญาณเตือน ไฟฉุกเฉิน ไฟขอทางของรถ ซึ่งอยู่ด้านหน้ารถ เสร็จแล้วก็ให้บีบแตรส่งเสียงขอความช่วยเหลือ ให้คนข้างนอกรู้ว่ารถมีความผิดปกติ เกิดเหตุฉุกเฉินบริเวณนั้น”
นอกจากการสอนเทคนิคการเอาตัวรอดในสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ศูนย์พัฒนาเด็กฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสูญเสีย โดยเน้นย้ำให้รถตู้รับส่งทุกคัน เมื่อมาถึงศูนย์พัฒนาเด็กต้องเปิดกระจกและประตูด้านหลังเสมอ
“อันดับแรกเราจะทำให้พื้นที่รถบริเวณเบาะเป็นจุดอับสายตาน้อยที่สุด แล้วอีกส่วนก็คือกระจกหน้ารถหลังจากจอดรถเสร็จนอกจากเช็ดดูในรถแลัว ให้ลดกระจกลงเพื่อให้อากาศถ่ายเท และเผื่อว่ายังมีเด็กหลงเหลือในรถที่เล็ดลอดสายตาไป เขาจะได้มีอากาศหายใจ อย่างน้อยก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง”
จะเห็นว่า การจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างทักษะการเอาชีวิตรอดหรือการเอาตัวรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์จมน้ำ-ติดในรถ เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ให้แข็งแรง ได้ทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ สามารถเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ และทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย