- พระธรรมพัชรญาณมุนี หรือ พระอาจารย์ชยสาโร เป็นชาวอังกฤษที่สนใจในพุทธศาสนาตั้งแต่วัยรุ่น ท่านได้ออกเดินทางเพื่อหาความหมายของชีวิตในหลายประเทศ ก่อนจะเข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2521 เพื่อเตรียมอุปสมบท
- นอกจากชื่อเสียงเรื่องการเทศน์และการปฏิบัติธรรม พระอาจารย์ยังเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของโรงเรียนวิถีพุทธ โดยการนำหลักพุทธธรรมมาปรับใช้ในระบบการศึกษาโดยมุ่งเน้นวิชาชีวิตและความฉลาดทางอารมณ์
- พระอาจารย์มองว่าหนึ่งในทักษะสำคัญของเด็กในศตวรรษ 21 คือการมี ‘โยนิโสมนสิการ’ หรือกรอบความคิดอันแยบคาย ที่ช่วยให้สุขง่ายทุกข์ยาก และสามารถปรับตัวได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผัน
ตอนอายุ 13 ปี ผมเป็นเด็กแสบประจำบ้านที่ถูกคุณพ่อพาไปปฏิบัติธรรมขัดเกลานิสัยเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับ พระอาจารย์ชยสาโร หรือที่ใครหลายคนในเวลานั้นเรียกติดปากว่า ‘พระฝรั่ง’
ณ เวลานั้น ผมสงสัยว่าทำไมฝรั่งคนหนึ่งถึงต้องเดินทางดั้งด้นมาจากประเทศอังกฤษเพื่ออุปสมบทเป็นพระในประเทศไทย แถมสไตล์การเทศน์ของท่านก็เข้าใจง่าย มีการอุปมาให้เห็นภาพจนผมพอเข้าใจและสามารถนำคำสอนต่างๆ มาใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง
ด้วยความสงสัยต่างๆ ประกอบกับการเห็นบทบาทของท่านที่ไม่ใช่แค่พระนักเทศน์นักปฏิบัติ แต่รวมถึงบทบาทการเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนวิถีพุทธ วันนี้ผมจึงกลับมาขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ชยสาโรอีกครั้ง
‘เด็กชายฌอน’ ผู้สงสัยในชีวิต
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ประเทศอังกฤษ เด็กชายฌอน ชิเวอร์ตัน กำลังนั่งอ่านหนังสือคนเดียวในบ้านอย่างตั้งใจ ต่างกับเด็กวัยเดียวกันหลายคนที่กำลังเรียนหนังสือในโรงเรียนหรือไม่ก็เตะฟุตบอลอย่างสนุกสนาน เพียงเพราะเขาถูกโรคหอบหืดเล่นงานจนต้องขาดเรียนบ่อยครั้ง
แต่ในความโชคร้าย การอ่านหนังสือทำให้เขามีความคิดที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน รวมถึงการเป็นคนช่างคิดช่างค้นคว้าทำให้ผลการเรียนของฌอนโดดเด่นไม่แพ้นักเรียนเรียนดีคนอื่นๆ
วันเวลาผ่านไปพร้อมๆ กับร่างกายและความคิดที่เติบโตขึ้น ในที่สุด หนุ่มน้อยในวัย 12 ปี ก็เลิกขอเงินจากพ่อแม่ และรู้จักหาเงินค่าขนมให้ตัวเองนับจากนั้น ขณะเดียวกันประเภทของหนังสือที่เขาสนใจก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือแนวปรัชญาและความหมายของการมีชีวิต
“พอวัยรุ่น อาตมาก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดมาทำไม เกิดเป็นมนุษย์แล้วชีวิตที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร และเราจะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสิน ซึ่งนำไปสู่ความคิดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์
อาตมาสงสัยว่าในเมื่อทุกคนต้องการความสุข ไม่ต้องการเป็นทุกข์ แต่ทำไมคนที่กล้ายืนยันตัวเองว่าเจอความสุขแล้วน้อยมาก ทำไมความทุกข์มีเยอะเหลือเกิน
ทั้งการรบราฆ่าฟันกัน ความไม่ยุติธรรม เรื่องราวทุกอย่างทำไมโลกมันเป็นอย่างนี้ มันจำเป็นไหมที่จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่จำเป็นโลกจะดีกว่านี้ได้ไหม ถ้าโลกดีกว่านี้ได้แล้ว เราแต่ละคนต้องรับผิดชอบในการทำโลกให้ดีขึ้นอย่างไร สุดท้ายอาตมาเจอคำสอนของพระพุทธเจ้าและตอบโจทย์ของอาตมาทุกข้อ ก็เกิดสนใจในพุทธศาสนา”
นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มน้อยมุ่งมั่นที่จะหาประสบการณ์ในต่างแดนเพื่อค้นหาสัจธรรมชีวิต เขาพากเพียรเรียนหนังสืออย่างตั้งใจจนจบมัธยมปลายตั้งแต่อายุ 17 ปี จากนั้นก็เร่งหาเงินด้วยการทำงานในโกดังบ้าง ไซต์งานก่อสร้างต่างๆ บ้าง กระทั่งปลายปี พ.ศ. 2518 ฌอนจึงแบกเป้เดินทางไปยัง ‘อินเดีย’ ดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนาที่ชาวตะวันตกนิยมเรียกว่า ‘ศาสนาตะวันออก’
“ก่อนออกเดินทาง อาตมาจะมีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเรา มันจะมีความดึงดูดมาทางเอเชีย ก็เดินทางบนบกไปอินเดีย ส่วนมากใช้วิธีโบกรถ ใช้เวลาในอินเดีย 1 ปี (ประพฤติตนตามวิถีฤาษี) ใช้เวลาในอิหร่าน 3-4 เดือน ทั้งหมดกว่าจะกลับถึงอังกฤษก็เกือบสองปี”
พอกลับถึงอังกฤษ มิสเตอร์ฌอนตัดสินใจไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เพราะต้องการทุ่มเทเวลาให้กับการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมกับโค้ชชาวอังกฤษที่เพิ่งลาสิกขาจากเมืองไทย ซึ่งในการบรรยายธรรมแต่ละครั้ง โค้ชมักเล่าถึงประสบการณ์สมัยเป็นพระในเมืองไทย ทำให้เด็กหนุ่มตาเป็นประกายด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อรู้สึกได้ว่านี่คือสิ่งที่แสวงหาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
“พออาตมาตัดสินใจมาอุปสมบทที่เมืองไทย แต่ระหว่างหาสตางค์ซื้อตั๋วเครื่องบิน อาตมามีโอกาสไปกราบนมัสการหลวงพ่อสุเมโธ (พระฝรั่งองค์แรกที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง) ได้อยู่กับหลวงพ่อสุเมโธและคณะของท่านจนถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ออกพรรษาแล้วอาตมาจึงเดินทางมายังเมืองไทย แล้วก็ไปอุบลฯ ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชา (พระโพธิญาณเถร) และได้อยู่เมืองไทยตลอด”
‘พระช้อน’ แห่งวัดหนองป่าพง
จากมิสเตอร์ฌอนแห่งอังกฤษ ในที่สุดเขาได้รับการอุปสมบทจากพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา) เป็น ‘พระช้อน’ แห่งวัดหนองป่าพง โดยได้รับฉายาว่า ‘ชยสาโร’
สำหรับการปรับตัวในแง่ของภาษา วัฒนธรรม ระบบอาวุโส และวัตรปฏิบัติของพระป่า พระอาจารย์ชยสาโรมองว่าไม่ใช่ปัญหาเพราะท่านมีศรัทธาอันแรงกล้า อีกทั้งยังคุ้นชินกับการอยู่แบบง่ายๆ ทำให้ท่านมีความสุขนับตั้งแต่วันแรกและไม่รู้สึกว่าการปรับตัวเป็นเรื่องยาก
“อาตมามาเพื่ออุปสมบทโดยเฉพาะ ตรงไปที่วัดเลย (แต่ต้องนุ่งขาวห่มขาวก่อน เพื่อทดสอบว่าเป็นพระแล้วจะอยู่ได้ไหม) สำหรับอาตมาคือเราพอใจที่จะอยู่ตรงนี้และรู้สึกว่าเรามีบุญหนอที่จะได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา เพราะเชื่อมั่นตั้งแต่แรกว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นการจะอดทนปรับตัวก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ตรงนี้ ตอนนั้นอายุแค่ 20 ปี เราก็มีแรงบันดาลใจมากในเรื่องการเรียนภาษา ภายในหนึ่งปีกว่าๆ ก็พอสื่อสารเข้าใจ”
แม้จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่พระอาจารย์ก็ยอมรับว่า ‘ผิดคาดอยู่บ้าง’ กับความเป็นคนพุทธแบบไทยๆ
“ก่อนจะมาเข้าวัดอาตมาจะอ่านหนังสือเยอะ ทำให้ทฤษฎีพร้อมอยู่แล้ว ที่แปลกใจคือ อาตมาเข้าใจว่ามาตรฐานต่ำสุดของพุทธมามกะ(ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ) คือศีลห้า แต่พอมาเมืองไทย จะหาคนรักษาศีลห้านี่ยากพอสมควร นอกจากนี้ที่ผิดหวังจริงๆ คือเรื่องอิทธิพลของพุทธธรรมต่อการพัฒนาสังคมประเทศชาติซึ่งมีน้อยมาก”
อย่างไรก็ตาม พระอาจารย์ชยสาโรไม่ใช่ชาวพุทธประเภทใกล้เกลือกินด่าง ท่านยังคงตั้งใจศึกษาพระธรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด จนค่อยๆ แตกฉานในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และกลายเป็นพระฝรั่งที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาและทำคุณประโยชน์มากมายแก่ประเทศไทย
พุทธศาสนากับระบบการศึกษา
หลังจากอยู่เมืองไทยได้ประมาณ 20 ปี วันหนึ่งลูกศิษย์ของท่านคือ ‘ครูอ้อน’ บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ครูใหญ่แห่งโรงเรียนทอสีได้เข้ามากราบนมัสการพระอาจารย์ชยสาโรและขอคำปรึกษาเรื่องแนวทางการจัดการศึกษา ก่อนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะผลักดันโรงเรียนทอสีสู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ โดยมีพระอาจารย์ชยสาโรรับหน้าที่เป็นองค์ประธานที่ปรึกษา
“อาตมามองว่าพุทธศาสนาเป็น Education System (ระบบการศึกษา) ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่เคยมีในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นระบบองค์รวมที่พัฒนาในทุกๆ ด้านของชีวิตพร้อมกัน ไม่ว่าเรื่องจริยธรรม ความประพฤติ การอยู่ร่วมกันในสังคม เรื่องจิต เรื่องกุศลธรรม-อกุศลธรรม หรือในเรื่องปัญญา
เมื่อมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำไมเราไม่เอาปัญญาในระบบหลักๆ ของพุทธธรรมไปใช้ในระบบการศึกษา นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจ ทีนี้พุทธธรรมก็จะยืนยันในหลักว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึกตน’ คือต้องฝึกทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจพร้อมกัน”
ในการนำวิถีพุทธปัญญาหรือพุทธธรรมมาใช้กับการศึกษาในโรงเรียน พระอาจารย์ชยสาโรตระหนักว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนไทยคือพอได้ยินคำว่าพุทธศาสนาก็มองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อทันที ทำให้พระอาจารย์พยายามค้นคว้าพระไตรปิฎก รวมถึงหนังสือของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ผู้เป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนา เพื่อวางแนวทางการจัดการเรียนรู้วิถีพุทธที่ไม่ใช่สถานปฏิบัติธรรมรุ่นเยาว์ แต่เป็น ‘ชุมชนกัลยาณมิตร’ ที่ทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาเยาวชนในทุกด้านของชีวิต
“ถ้าเป็นวิถีพุทธอย่างอุดมสมบูรณ์ก็นำไปสู่มรรคผลนิพพาน ทีนี้โรงเรียนไม่ได้ต้องการถึงระดับนั้น เพียงแต่ว่าเราต้องปรับบางอย่างให้เหมาะสมกับเด็ก อาตมามีหลักว่าต้องพัฒนาทางวิชาการ(ด้านนอก)และวิชาชีวิต(ด้านใน)พร้อมกัน แต่วิถีพุทธไม่ได้อยู่ที่การสอนหรือเนื้อหาอย่างเดียว แต่ถือหลักว่าทุกคนเป็นนักศึกษา โดยมีนักศึกษา 3 กลุ่ม คือเด็กนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง
ที่นี่ครูจะเหนื่อยหน่อยเพราะไม่ใช่แค่ให้ความรู้อย่างเดียว ต้องเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดีทั้งกับเด็กและผู้ปกครอง ครูต้องถือศีลห้า และมีการปฏิบัติธรรมประจำปี แต่ว่าไม่ได้เข้มงวดมาก เพราะคุณครูบางท่านต้องดูแลผู้ใหญ่หรือมีลูกเล็ก แต่ขอให้เขามีความจริงใจ ค่อยๆ เรียนรู้ตามบริบท ส่วนผู้ปกครองก็มีการสอบผู้ปกครอง บางทีถ้าเด็กเก่งแต่ถ้าพ่อแม่ไม่ผ่านก็ไม่รับ เพราะว่าถ้าโรงเรียนสอนอย่างหนึ่ง กลับบ้านพ่อแม่สอนอย่างหนึ่ง เด็กจะสับสนและไม่เป็นผล”
เมื่อคุณครูกับผู้ปกครองร่วมมือกันแล้ว ก็ถึงเวลาของเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ระบบการศึกษาแบบวิถีพุทธ โดยพระอาจารย์ชยสาโรได้ทำการบ้านอย่างหนักเพื่อสื่อสารคำสอนพุทธธรรมในสำนวนที่เข้าใจง่ายและไม่เป็นภาษาพระจนเกินไป
“วิถีพุทธต้องพัฒนาใน 4 ด้าน เป็นเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา อย่างปัญญาก็คือการพัฒนาปัญญา ที่น่าสนใจคือศีล อาตมาก็แปลแยกออกเป็นสองส่วน คือหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกวัตถุ เริ่มจากวัตถุที่ใกล้ชิดที่สุดคือร่างกายของเราเอง ซึ่งเป็นการศึกษาดูแลร่างกายตั้งแต่โภชนาการ การออกกำลังกาย กีฬา รวมถึงเพศศึกษา ต่อมาคือโลกวัตถุรอบตัวที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่และเทคโนโลยี และสุดท้ายคือธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม”
ต่อจากโลกวัตถุ ข้อที่สองคือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งรายละเอียดที่ผมสนใจเป็นพิเศษในหัวข้อนี้คือเรื่องความสามารถในการสื่อสารที่พระอาจารย์มองว่าเป็นปัญหาสำคัญของหลายๆ องค์กร
“พระพุทธเจ้าบอกว่าการพูดที่ดี หนึ่งต้องเป็นจริง สองเป็นประโยชน์ สามถูกกาลเทศะ สี่พูดด้วยความหวังดี ห้าพูดอย่างสุภาพ อันนี้เป็นการฝึกตน
หรือบางทีเวลาใครพูดกับเรา ก็ดูว่าเขาพูดจริงไหม จริงแล้วมีประโยชน์ไหม แต่ถ้าเขาพูดไม่สุภาพ ก็ระวังนะอย่าไปปฏิเสธสิ่งที่เขาพูดเพียงแค่ว่าไม่ชอบลักษณะการพูด เพราะถ้าสิ่งที่พูดเป็นจริงเป็นประโยชน์ให้รับไว้ บางคนพูดจริงเป็นประโยชน์ด้วยความหวังดีต่อเรา แต่มันไม่ใช่เวลาใช่ไหม เพราะฉะนั้นกาลเทศะสำคัญมาก อย่างเช่นถ้าจะตักเตือนใคร เราจะพูดสองต่อสองดีไหม พูดกลุ่มเล็กไหม หรือพูดที่สาธารณะไหม จะระบุชื่อคนนั้นไหม ดังนั้นกาลเทศะเป็นปัจจัยสำคัญมากในการสื่อสารที่ได้ผล ถ้าเรามีอารมณ์แล้วพูด คนก็สัมผัสอารมณ์ก่อนสัมผัสคำพูด พอสัมผัสอารมณ์เขาก็ต่อต้านและไม่ยอมรับมัน”
ข้อที่สามคือการพัฒนาจิต ไล่ตั้งแต่การฝึกคุณภาพจิต สุขภาพจิต และสมรรถภาพของจิต ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าที่ถือเป็นปัญหาทางใจของเด็กหลายคน
“เรื่องนี้ระบบการศึกษาทั่วไปจะตกหรือขาดไป โดยเฉพาะการสอนเด็กเรื่องอารมณ์ ทำยังไงเราถึงจะป้องกันความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความคิดผิดต่างๆ
ซึ่งเรื่องนี้วิเคราะห์ยาก เพราะมีทั้งความซึมเศร้าเรื้อรังและความซึมเศร้าที่เกิดเพราะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่ที่ชัดเจนคือโทรศัพท์มือถือมีส่วน โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิง จะได้รับผลกระทบจากพวกโซเชียลมีเดียมาก เพราะเด็กผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับหมู่(กลุ่ม) ในการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนมากเป็นพิเศษ รวมถึงทุกวันนี้การเปรียบเทียบ ค่านิยมต่างๆ ล้วนซึมซับจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผลร้ายต่อสุขภาพจิตมาก เรื่องซึมเศร้านี่สำคัญ ทุกวันนี้หนึ่งในวิธีที่รักษาโรคซึมเศร้าที่ได้ผลมากที่สุด เรียกว่า MBCT เป็นสาขาจิตบำบัดที่ถือว่าโรคต่างๆ เกิดจากความคิดผิด ซึ่งตอนหลังเขาเอาวิถีของพุทธมาบูรณาการกับแนวความคิด เพื่อให้คนเห็นว่าความคิดไม่ใช่ของเรา”
และข้อที่สี่คือการพัฒนาปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประเด็นนี้จะสอดคล้องกับการพัฒนาจิต โดยพระอาจารย์จะฉีดวัคซีนทางใจที่ชื่อว่า ‘โยนิโสมนสิการ’ ให้กับเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาล
“การฝึกจิตพัฒนาปัญญาไม่ใช่การนั่งหลับตาทุกวัน มันอยู่ที่การดำเนินชีวิต การฝึกรู้จักช่วยคนอื่น ให้ทาน รักษาศีล รู้จักคิดพิจารณาชีวิต หรือที่เรียกว่า ‘โยนิโสมนสิการ’ แปลว่าความคิดแยบคาย แต่ว่ามันไม่ใช่ความคิดอย่างเดียว แต่เป็นกรอบความคิดซึ่งอันนี้สำคัญมาก เช่น สมมติเด็กคนหนึ่งมีกรอบความคิดว่า “หนูมันแย่ ทำอะไรก็ไม่เก่งไม่เป็น สู้เขาไม่ได้ ทำอะไรในที่สุดก็ล้มเหลวทุกครั้ง” อันนี้คือกรอบความคิด พอเจออุปสรรคแล้วไม่สู้ “เอาอีกแล้ว เห็นไหมทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ทำอะไรนิดเดียวก็ไม่มีบุญถึงเจออุปสรรคทุกครั้ง”…ก็เศร้า อีกคนหนึ่งกรอบความคิดก็คือคนเราจะฉลาดจะเก่งเพราะการชนะอุปสรรค จะเรียนรู้จะได้อะไรดีๆ จากอุปสรรคเยอะ คือมองอุปสรรคอีกแบบหนึ่ง แม้จะเจอปัญหาเดียวกัน แต่เพราะกรอบความคิดต่างกันก็พร้อมที่จะสู้พร้อมที่จะชนะอุปสรรค นี่ก็คือโยนิโสมนสิการ คือการฝึกให้เราเท่าทันและปรับกรอบความคิดตัวเอง”
พระอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่าชาวพุทธมักจะเน้นคุณธรรมฝ่าย Soft ว่าชาวพุทธต้องเมตตาและสงบ ซึ่งเรื่องนี้ท่านไม่เห็นด้วยทีเดียว
“อาตมาว่ามันไม่ค่อยสมดุลนะ เพราะพร้อมกันนั้นเราต้องมีความอดทนต้องมีความตั้งใจ แต่เรื่องนี้มักจะขาดไป อาตมาจึงขอให้คุณครูสอนเด็กตั้งแต่อนุบาลว่า ‘เป็นพุทธต้องสู้…ใจสู้’ และตอนหลังๆ พออาตมามาเยี่ยมเด็กๆ คุณครูจะให้เด็กๆ เล่าถวายพระอาจารย์ว่าใจสู้ยังไง ชนะกิเลสอย่างไร มีเด็กคนหนึ่งบอกว่า “หนูกำลังหัดเขียนตัวอักษรไทย หนูเขียนบางตัวไม่ได้เลย หนูท้อแท้มาก แต่พอนึกถึงที่คุณครูสอนว่า ‘เป็นพุทธต้องสู้’ หนูก็สู้สุดๆ จนตอนนี้หนูก็เขียนได้แล้ว” คือถ้าเราเริ่มตั้งแต่เล็กอย่างนี้ โดยเริ่มจากเรื่องที่เราสู้ได้ ดังนั้นเราต้องสู้ ชาวพุทธต้องสู้ ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ อันนั้นไม่ใช่พุทธแท้ เพราะสิ่งที่ควรปลงก็มี สิ่งที่ไม่ควรปลงก็มี”
ไม่มีอะไรมีค่ากว่าความสำเร็จในการเป็นมนุษย์
นอกจากการนำคำสอนพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ พระอาจารย์ยังเชื่อมโยงให้เห็นว่าพุทธธรรมช่วยให้มนุษย์มองโลกมองชีวิตอย่างเข้าใจยิ่งขึ้น เช่น เรื่องแพสชัน (Passion) ที่หลายคนให้ความสนใจและพยายามตามหาจนกลายเป็นความกดดันที่ทำให้หลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เกิดอาการเครียดและรู้สึกขาดหายหากยังค้นไม่เจอแพสชันของตัวเอง
“เรื่องที่อาตมาไม่ค่อยเห็นด้วยคือทุกวันนี้พอเด็กขึ้น ม.1 ม.2 จะเริ่มมีความรู้สึกว่าต้องหาแพสชันของตัวเอง เด็กๆ ถามอาตมาบ่อยว่า “หนูไม่มีแพสชัน หนูไม่รู้จะเรียนอะไร จะประกอบอาชีพอะไร” อาตมาบอกว่าอายุแค่นี้ยังไม่ต้องมีก็ได้นะ ที่สำคัญคือคนที่จะมีแพสชันก่อนทำงานมีน้อยมาก หลายคนพอเลือกวิชาที่พอไปได้ เรียนด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทำงานด้วยความตั้งอกตั้งใจ…แพสชันมาทีหลัง ดังนั้นความต้องการแพสชันก่อนลงมือทำอะไร โห…นี่มันหนึ่งในร้อยหนึ่งในพัน ที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าไม่มีอะไรผิด
อีกอย่างหนึ่งคือทุกวันนี้อาชีพหายไปทุกวัน และมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การที่จะวางแผนว่าทำอาชีพนั้นอาชีพนี้ในอนาคต ไม่รู้จะยังมีหรือเปล่า บางที AI ก็ทดแทนมนุษย์ได้หมดแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือเด็กที่รักการเรียนรู้ รักการศึกษา เรียนเป็น และมีทักษะในการเรียน สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง เป็น Soft Skills (ทักษะมนุษย์ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ อุปนิสัย และทัศนคติที่ดี ฯลฯ)
ไม่ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงยังไง ฉันก็พร้อมเพราะฉันรู้จักวิธีเรียนรู้ปรับได้เปลี่ยนได้ ต้องการให้เด็กมีคุณสมบัติอย่างนี้มากกว่าที่จะเชี่ยวชาญหรือลงเฉพาะในเรื่องนี้ ทุกวันนี้อาตมาว่าระบบทั่วไปมันแคบเกินไป”
นอกจากแพสชัน อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมสนใจคือ มุมมองต่อ ‘ความสำเร็จ’ ที่หลายคนมองว่าความสำเร็จคือการเป็นที่หนึ่ง หรือการมีลาภยศสรรเสริญ แต่พระอาจารย์กลับมองว่าการประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่จุดหมายเหล่านั้น หากอยู่ที่การประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์
“อาตมามีลูกศิษย์เป็นคนยโสธรที่ไปแต่งงานกับภรรยาชาวอิตาลี ทีนี้มีลูกสองคน ลูกสองคนนี้เล่นสกีคอสคันทรีเก่งมากๆ ก็ติดทีมชาติอิตาลี แต่หลังๆ การแข่งขันมันสูงมาก สุดท้ายก็คุยกับเขา ชวนเขามาเล่นทีมชาติไทยดีกว่า
ล่าสุด เขาไปโอลิมปิกฤดูหนาว เราก็คุยกันเรื่องความสำคัญระหว่างพรสวรรค์กับการศึกษาด้วยความเพียร ว่ามันมีผลมากน้อยแค่ไหน เขาเล่าว่าวันแรกที่แข่ง ลูกชายกลับมาหมดแรง อยากนวดอย่างเดียว ซึ่งเขาก็โอเค (สองสามีภรรยาเป็นหมอกายภาพทีมชาติ) พอสักห้าหกทุ่ม เขากลับขึ้นไปห้องข้างบน ก็ได้ยินเสียงเพราะมียิมอยู่ตรงนั้น ปรากฏว่าเห็นผู้ที่ได้ที่หนึ่งกำลังถีบจักรยาน คือมีฉันทะ มีแพสชัน เขาบอกว่าลูกชายไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นพรสวรรค์เทียบกันได้ แต่ไม่มีความตั้งอกตั้งใจขนาดนั้น แบบนี้ก็คงไม่ได้เหรียญทอง อาตมาบอกว่า “ดีแล้ว” เพราะลูกของเขาเป็นคนที่น่ารักมีคุณธรรม และประสบความสำเร็จในความเป็นมนุษย์มากกว่า
ผู้ที่มุ่งกีฬาอย่างเดียว พอชีวิตการเป็นนักกีฬาระดับสูงมีไม่กี่ปี เสร็จแล้วก็จะมีปัญหาทางจิตใจมาก คือไม่มีเวลาจะทำอะไร ก็ซึมเศร้ากันเป็นแถว เพราะการเป็นนักกีฬาระดับนี้มันดับเบิ้ล คือชีวิตนี้เพื่อกีฬาอย่างเดียว แต่ว่าเรื่องอีคิว (ความฉลาดทางอารมณ์) บางทีก็จะขาด พอแข่งไม่ได้แล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ อาตมาว่าที่จริงเรื่องการประสบความสำเร็จเนี่ย อาตมาว่าลูกได้มากกว่าคนที่ได้เหรียญทองนะ ถ้ามองชีวิตทั้งชีวิต…ไม่ได้มองโดยเอาแต่เฉพาะเหรียญทองเป็นที่ตั้ง”
ขอโอกาสให้พุทธธรรมค้ำจุนชีวิต
สำหรับผม ‘ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน’ (อนิจจัง) คือสัจธรรมข้อหนึ่งที่เป็นจริงเสมอ ยิ่งในโลกศตวรรษที่ 21 ที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วและพลิกผัน พระอาจารย์เน้นย้ำว่าเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะนำหลักพุทธธรรมมาปรับใช้กับระบบการศึกษา เพราะพุทธธรรมทำให้จิตใจสุขง่ายทุกข์ยาก ทั้งยังเป็นหลักคิดในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ส่วนมากเราต้องมีทุกข์หรือมีปัญหาจนมุมจริงๆ ถึงจะสนใจ อาตมาว่าทุกวันนี้คนไม่ให้เวลา ไม่แบ่งเวลามาศึกษาว่าจริงๆ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง ถ้าศึกษาแล้วไม่ประทับใจไม่เห็นเป็นประโยชน์ก็ไม่ว่าอะไร
อย่างน้อยที่สุดก็ให้โอกาสพุทธธรรมบ้าง คือให้เวลาศึกษา ไม่ใช่เปิด Wikipedia อ่านหน้าเดียว แบบนี้ก็ไม่ถูกจุด หรือมองพุทธศาสนาผ่านสายตาของตะวันตก
สำหรับอาตมา ‘พุทธธรรม’ เป็นทรัพยากรล้ำค่าซึ่งน่าจะทำให้เมืองไทยได้เปรียบประเทศอื่นในหลายด้าน แต่กลับกลายเป็นว่าทิ้งไม่เอาเลย กลับเลือกไปเลียนแบบทางตะวันตก เนื่องจากส่วนมากดูเผินๆ ที่รับมาก็ไม่ได้รับทั้งระบบ รับเป็นบางส่วน ซึ่งกลายเป็นว่าของตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์ ของเขาก็ไม่ได้ประโยชน์ แทนที่จะเป็น Win-Win ก็กลายเป็น Lose-Lose
อาตมาว่าในเมื่อเราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้วก็มีสิ่งท้าทายมากมาย ผู้ที่จะเอาตัวรอดแล้วเป็นที่พึ่งของตัวเองและคนอื่นต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง จิตใจที่สงบได้ มีสติมีปัญญา ซึ่งพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้วิชาในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ดีมาก แต่เสียดาย…เสียดายว่ามีสิ่งล้ำค่าอยู่ตรงนี้เอง ทำไมไม่ดูบ้าง”
ปัจจุบัน (พ.ศ.2565) พระธรรมพัชรญาณมุนี หรือ พระอาจารย์ชยสาโร มีอายุ 64 ปี โดยในปี พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลง ‘สัญชาติไทย’ เป็นกรณีพิเศษแก่พระอาจารย์ชยสาโร ในฐานะที่ได้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แตกฉานในพระธรรมคำสอน และมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ |