Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Healing the trauma
7 October 2022

จิตวิทยาของการกราดยิง (mass shooting): บาดแผลทางใจและการรับมือกับเหตุการณ์เลวร้าย

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การกราดยิง (mass shooting) เป็นการสูญเสียที่น่าหดหู่ใจ นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนใจสลาย โดยเฉพาะหากบุคคลสำคัญในชีวิตของคุณมีลักษณะคล้ายผู้เสียชีวิต
  • มนุษย์มีความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกของคนรอบข้าง เวลาที่คนรอบข้างเศร้า สังคมเศร้าเราก็มีแนวโน้มจะรู้สึกเศร้าไปด้วย เหตุการณ์แบบนี้สามารถทำให้เกิดบาดแผลทางใจได้ (trauma)
  • ปัญหาการกราดยิงไม่ใช่ปัญหาแค่ของบุคคลแต่คือปัญหาของทุกคน และสังคมด้วย นอกจากเราจะแก้ปัญหาเบื้องต้นที่เกิดขึ้นในเชิงจิตใจและร่างกายแล้ว เรายังจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงปัญหาในระดับของโครงสร้างด้วย

การกราดยิง (mass shooting) เป็นการสูญเสียที่น่าหดหู่ใจ เราต่างรู้สึกเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์แม้จะรู้จักหรือไม่รู้จักกันก็ตาม ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่นี้อาจกำลังทำให้รู้สึกโกรธเพราะรู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น โลกนี้ไม่ควรมีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนใจสลาย โดยเฉพาะหากบุคคลสำคัญในชีวิตของคุณมีลักษณะคล้ายผู้เสียชีวิต เช่น ผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก แล้วคุณเองก็มีลูก คุณคงเข้าใจดีว่าการที่พ่อแม่ต้องเสียลูกที่รักที่สุดในชีวิตไปเป็นอย่างไร 

การกราดยิงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่เลวร้าย แต่ยังส่งผลถึงคนในสังคมด้วย แม้เขาจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็ตาม มนุษย์มีความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกของคนรอบข้าง เวลาที่คนรอบข้างเศร้า สังคมเศร้าเราก็มีแนวโน้มจะรู้สึกเศร้าไปด้วย เหตุการณ์แบบนี้สามารถทำให้เกิดบาดแผลทางใจได้ (trauma) เพราะมันคือการทำลายความรู้สึกปลอดภัยทางร่างกาย ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานอันดับแรกของมนุษย์ หากเรารู้สึกว่าเราอาจถูกทำร้าย สถานที่อยู่ไม่ปลอดภัยก็คงยากที่ผู้คนในสังคมนั้นจะมีสุขภาพจิตที่ดี

ผลกระทบทางจิตใจ

ผู้หญิง เด็ก ผู้รอดชีวิต คนที่ยากจน มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ค่อยมีความมั่นคงทางการเงิน ไม่ค่อยมีคนรอบข้างที่คอยดูแลทางจิตใจ เคยเจอเหตุการณ์ที่เลวร้าย ควบคุมอารมณ์ไม่ดี คือกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่เขาจะมีบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) โดยสามารถสังเกตผลกระทบต่างๆ ได้ดังนี้ 

  1. ภาวะซึมเศร้า (depression) ที่มักจะมีความเศร้า เครียด นอนไม่หลับหรือนอนเยอะ การกินเปลี่ยนไป มีความก้าวร้าว รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีสมาธิ ย้ำโทษตัวเอง
  2. ภาวะวิตกกังวล (anxiety) มักมีอาการกระสับกระส่าย หยุดความคิดไม่ได้ หงุดหงิดง่าย และอาจมีอาการแสดงออกมาทางร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้ กล้ามเนื้อตึงเกร็ง
  3. ภาวะความเครียดหลังเหตุการณ์เลวร้าย (post-traumatic stress symptoms) รู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ (flashback) ทำให้รู้สึกเหมือนเห็นภาพหลอน มีความกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น บางคนอาจเป็นปัญหาการนอน เช่น ฝันร้าย นอนไม่หลับ ตื่นตลอดจนกระสับกระส่าย
  4. บางคนที่รับมือกับอารมณ์ที่ท่วมท้นไม่ไหวอาจเกิดภาวะช็อก หมดสติ ตาค้าง หายใจเร็ว ชินชา (numbness) และด้วยความเจ็บปวดที่หนัก เขาอาจใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์เพื่อทำให้ตัวเองเจ็บปวดน้อยลงด้วย

เด็กมีความเปราะบางอย่างมาก เพราะสมองของเด็กยังไม่พัฒนาดีพอที่จะรับมือสถานการณ์ที่ตึงเครียดขนาดนี้ได้ นอกจากนั้นเด็กยังไม่ได้มีความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกมากด้วย เขาอาจรู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล แต่ก็ไม่รู้จะแสดงความรู้สึกอย่างไร เด็กอาจแสดงความเครียดออกมาผ่านความก้าวร้าว การนอนร้องไห้ไม่หยุด ไม่มีพัฒนาการตามอายุที่ควรเป็น พฤติกรรมที่ถดถอย เช่น ดูดนิ้ว

บางคนอาจไม่แสดงอาการเหล่านี้ แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มีอาการเสมอไป บางคนอาจใช้เวลาสักพักกว่าอาการต่างๆ จะเกิดขึ้น สิ่งที่อยากบอกคือ อาการทางจิตใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นกลไกของมนุษย์ในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เลวร้าย โดยปกติอาการมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่สำหรับบางคนที่ยังคงมีอาการอยู่ อาจต้องพบแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อรักษาต่อไป

ในทางจิตวิทยา อาการเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายนี้เท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นกับคนที่ได้ยิน ได้ฟัง และมีสภาพจิตใจไม่พร้อมด้วย หรือที่เรียกว่า Secondary Trauma เพราะฉะนั้นอย่าชะล่าใจคิดว่าตัวเองจะไม่เป็นไรเพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น 

การรับมือกับเหตุการณ์ที่โหดร้าย

  1. คุณต้องประเมินอาการตัวเองได้ว่าตอนนี้ตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง ไหวไหม โดยอาจใช้อาการที่กล่าวถึงด้านบนก็ได้ ถ้าคุณรู้สึกไม่ไหวคุณควรไปหาผู้เชี่ยวชาญ เพราะเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติที่รับมือง่ายเหมือนความเครียดทั่วไป ความเครียดระดับนี้มักส่งผลกระทบถึงระบบประสาท (nervous system)
  2. ทำความเข้าใจว่าความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้เป็นกลไกการรับมือความเหตุการณ์ที่เลวร้ายของมนุษย์ ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือรู้สึกแย่ที่ตัวเองรู้สึกสิ่งต่างๆ อย่ามองว่าเรากำลังมีอารมณ์เชิงลบ เพราะความจริงไม่มีอารมณ์ไหนที่เป็นลบหรือบวก ทุกอารมณ์มีประโยชน์ต่อตัวเราเสมอ 

ความเศร้าก็มีหน้าที่ช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึกที่ท่วมท้นในระบบประสาท ความโกรธก็บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ยุติธรรมและไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ ไม่ต้องเร่งรีบให้ตัวเองต้องกลับมารู้สึกดีเหมือนเดิมให้เวลากับความรู้สึกต่างๆ ให้เวลาตัวเองได้รู้สึกในสิ่งที่ควรรู้สึก

  1. พยายามตระหนักรู้และเข้าใจสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกต่างๆ รวมถึงเข้าใจว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไร และหาวิธีรับมือกับความรู้สึกด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ระบายความรู้สึกให้คนรอบข้างฟัง อนุญาตให้ตัวเองร้องไห้
  2. แม้เหตุการณ์นี้จะทำให้รู้สึกหมดหวังในชีวิต แต่ก็อยากให้ย้ำเตือนตัวเองเพื่อหาความหวัง หรือความหมายในชีวิต พูดแบบนี้ผมเข้าใจว่าไม่ได้ง่ายเลย แต่ความหวังและความหมายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการที่เราจะใช้ชีวิตต่อไป
  3. อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่คนเดียว ความรู้สึกว่าเรายังเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่เป็นสิ่งสำคัญ ให้พาตัวเองไปอยู่ในสถานที่รู้สึกปลอดภัย และอยู่ใกล้คนที่รู้สึกอบอุ่นใจ หากไม่มีอาจลองไปพบ
    ผู้เชี่ยวชาญ เพราะสิ่งที่ทำให้บาดแผลทางใจเจ็บปวดไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกท่วมท้น แต่เป็นการที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับความรู้สึกเหล่านั้น การมีคนรอบข้างเป็นสิ่งจำเป็นมาก คนรอบข้างไม่ได้เพียงแค่อยู่ข้างๆ เท่านั้น แต่เขายังทำให้คุณรู้สึกด้วยว่าคุณไม่ได้อยู่อยู่เพียงลำพังในความรู้สึกที่หนักหนาเช่นนี้
  1. พูดถึงความรู้สึก ความคิด สิ่งที่อัดอั้นใจ กรีดร้อง ร้องไห้ ระบายสิ่งต่างๆ ออกมาอย่าเก็บมันไว้ในใจ ถ้าไม่อยากพูดก็ให้วาดรูป ระบายสี ฟังเพลง เล่นดนตรีอะไรก็ได้ที่จะทำให้รู้สึกปลอดปล่อย หลักการหนึ่งของการรักษาบาดแผลทางใจคือ การชวนให้คนนั้นทำสิ่งที่เขาอยากทำเพื่อระบายความรู้สึกที่อัดอั้นในจิตใจ
  1. สำหรับคนที่ติดตามข่าว หากรู้สึกเครียด หรือรู้สึกหมกหมุ่นจนเกินไปให้ปิดข่าวก่อน การไม่ติดตามข่าวไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ไม่สนใจปัญหาสังคมหรือเห็นแก่ตัวแต่อย่างใด แอบสารภาพว่าผมก็ไม่ค่อยได้ตามข่าวเหมือนกัน บางทีเราเองก็ต้องการปกป้องสุขภาพจิตเราด้วยเหมือนกัน ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ไม่ได้ติดตาม แต่สำหรับคนที่ติดตามข่าวให้มีขอบเขตให้ตัวเองว่าคุณไหวแค่ไหน ถ้าเริ่มรู้สึกเครียดก็ให้หยุดก่อน ไปหาทำอะไรที่ผ่อนคลาย เบาสมอง

การช่วยเหลือคนรอบข้าง

สิ่งที่ต้องระวังอย่างแรกของการที่เราเป็นห่วงคนใกล้ชิดที่เจอเหตุการณ์คือ การแสดงความเป็นห่วงมากเกินไป หรือรู้สึกร่วมมากเกินไป (sympathy) จนทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย จากที่เขาจะได้แสดงความรู้สึกเสียใจ กลับต้องมานั่งปลอบคนที่มาปลอบ เราควรท่องไว้อยู่ในใจเสมอว่าเขากำลังอยู่ในความรู้สึกเปราะบางและอ่อนไหว (sensitivity) ดังนั้น เราไม่ควรเร่งรีบ ให้คำแนะนำหรือกระตุ้นให้เขาเล่าถึงเหตุการณ์ เพราะนั่นยิ่งจะไปกระตุ้นความเจ็บปวด จากที่จะช่วยให้เขาระบายกลับกลายเป็นการไปทำร้ายเขายิ่งกว่าเดิม 

คุณอาจถามเขาก็ได้ว่า ‘อยากเล่าอะไรไหม’ การถามนี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเขาที่เขาจะได้ระบายความท่วมท้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเองที่อยากรู้เหตุการณ์ ถ้าเขาอยากเล่าก็รับฟังไม่ต้องไปพูดขัด พยายามทำความเข้าใจเขา อยู่ข้างๆ เขา แต่ถ้าเขายังไม่พร้อมเล่าก็ให้เวลาเขาก่อน ท่องไว้ว่า ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ บาดแผลทางจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าเร่งเกินไปอาจไปเปิดแผลให้เขาเจ็บกว่าเดิมได้

ผมเข้าใจว่าบางคนอาจต้องการแชร์รูปเหตุการณ์เพื่อแสดงความเสียใจ แต่การทำแบบนั้นส่งผลเสียทั้งต่อครอบครัวผู้เสียหายที่เหมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกสูญเสีย และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนที่แชร์รูปเหตุการณ์นั้นด้วย 

ความโกรธแค้นอาจทำให้เรารู้สึกอยากอยากแชร์รูปผู้ร้ายเพื่อประจาน แต่นั่นยิ่งจะทำให้ผู้ร้ายได้ใจและรู้สึกว่ามีคนให้ความสนใจ บางทีเขาอาจมีความรู้สึกว่าอยากแก้แค้นหรือทำให้ผู้คนโกรธแค้น ถ้ายิ่งคนสนใจเขาเขาก็จะยิ่งรู้สึกสะใจเหมือนตัวเองประสบความสำเร็จ แต่การรับมือที่ดีสุดคือการที่เราไม่ให้ความสนใจในความเป็นตัวเขา ไม่แชร์รูปของเขา และทำเหมือนเขาไม่มีตัวตนให้เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถทำอะไรเราได้ และหันมาให้กำลังใจผู้ที่กำลังประสบเหตุการณ์นี้และคนในสังคมที่กำลังรู้สึกเศร้าไปด้วยกัน 

แรงจูงหรือสาเหตุของการกราดยิง 

การกราดยิงเป็นการกระทำที่ดูบ้าคลั่ง ไร้ความเป็นมนุษย์ ดูไม่ปกติ คนในสังคมจึงมักเข้าใจว่าคนที่กราดยิงเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตใจ หรือเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช แต่จากการศึกษาหลายชิ้น พบว่า คนที่กราดยิงส่วนใหญ่มักไม่ใช่คนที่มีอาการทางจิตเวชส่วนใหญ่ หรือพูดง่ายๆ ว่า การกราดยิงกับอาการทางจิตเวชมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างน้อยมาก ความเข้าใจที่ผิดนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะจะทำให้เกิดการตีตรา การแบ่งแยก การเหยียดในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชทั้งที่เขาไม่ได้มีพิษภัยอะไร และความเข้าใจผิดอีกอย่างคือ การเล่นเกมส่งผลต่อการตัดสินใจกราดยิง แต่ความจริงแล้วการเล่นเกมเพียงแค่เพิ่มพฤติกรรมความรุนแรง แต่ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจกราดอย่างแต่อย่างใด

การกราดยิงเป็นความเลวร้ายที่เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคม สิ้นหวัง การถูกแบ่งแยกกีดกัน การที่เคยถูกบูลลี่ การมีความคิดหรือความเชื่อที่สุดโต่งในทางการเมืองหรือศาสนา ความรู้สึกโกรธแค้นที่ต้องการระบายไปสู่สังคม ความยากจน ระบบช่วยเหลือทางสุขภาพจิตที่น้อย ปัญหายาเสพติด การใช้แอลกอฮอล์ การถูกทารุณกรรม (abuse) การควบคุมของการเข้าถึงปืน หรือพกพาอาวุธของหน่วยงานรัฐบาล รัฐที่มีการควบคุมการครอบครองอาวุธปืนที่หนาแน่นมักมีเหตุกราดยิงน้อยกว่ารัฐที่การควบคุมหลวม 

การเกิดเหตุกราดยิงหนึ่งเหตุการณ์สามารถทำให้เกิดการลอกเลียนแบบได้ จากประวัติผู้ก่อเหตุหลายคนพบว่า ผู้ก่อเหตุมักศึกษาพฤติกรรม วิธี รูปแบบการกราดยิงของเหตุการณ์ก่อนหน้า และเมื่อเกิดเหตุกราดยิงก็มีแนวโน้มว่าเหตุนี้จะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเปรียบเทียบจากการกราดยิงในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือพูดง่ายๆ ว่า การกราดยิงเป็นเหมือนโรคติดต่อที่เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นก็มักจะมีเหตุเกิดขึ้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์ 

ปัญหาการกราดยิงไม่ใช่ปัญหาแค่ของบุคคลแต่คือปัญหาของทุกคน และปัญหาของสังคมด้วย นอกจากเราจะแก้ปัญหาเบื้องต้นที่เกิดขึ้นในเชิงจิตใจและร่างกายแล้ว เรายังต้องจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงปัญหาในระดับของโครงสร้างด้วย นอกจากนี้ การสร้างสังคมที่ปลอดภัยที่ไม่ได้เพียงหน้าที่ของประชาชนแต่ยังรวมถึงหน่วยงานรัฐที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากสังคมเราไม่ปลอดภัยก็คงยากที่เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม มีแรงบันดาลใจ และเป็นสังคมมีความสุขอย่างแท้จริง 

ขอแสดงความเสียใจกับทุกเหตุการณ์เลวร้ายที่ไม่ควรเกิดขึ้น

เราจะผ่านไปมันไปด้วยกัน จับมือกันครับ 

อ้างอิง

Lowe, S. R., & Galea, S. (2017). The mental health consequences of mass shootings. Trauma, Violence, & Abuse, 18(1), 62-82.

Mathur, M. B., & VanderWeele, T. J. (2019). Finding common ground in meta-analysis “wars” on violent video games. Perspectives on psychological science, 14(4), 705-708.

Parks, J., Bechtold, D., Shelp, F., Lieberman, J., & Coffey, S. (2019). Mass violence in America: Causes, impacts and solutions.

Reeping, P. M., Cerdá, M., Kalesan, B., Wiebe, D. J., Galea, S., & Branas, C. C. (2019). State gun laws, gun ownership, and mass shootings in the US: cross sectional time series. bmj, 364. 

Towers, S., Gomez-Lievano, A., Khan, M., Mubayi, A., & Castillo-Chavez, C. (2015). Contagion in mass killings and school shootings. PLoS one, 10(7), e0117259.

Valentina, C., Schmitz, J., & Sood, A. B. (2021). Effects of Mass Shootings on the Mental Health of Children and Adolescents. Current Psychiatry Reports, 23(3).

Tags:

การรับมือจิตใจการสูญเสียปัญหาสังคมสุขภาพจิตจิตวิทยาบาดแผลทางจิตใจ

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

นักจิตวิทยาที่เขียนบทความเพื่อช่วยให้คนเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    วิชาสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนที่ชีวิตจะสอนคุณ: สุขภาพจิตก็ไม่ต่างจากสุขภาพกาย…ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่เกิด 

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    ‘ขอโทษ’ คำพูดติดปากจากบาดแผลที่พ่อแม่ทำให้รู้สึกผิดเสมอ: คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด

    เรื่อง อัฒภาค

  • Myth/Life/Crisis
    เยียวยาโดยไม่ยึดติดกับบทบาท

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Movie
    Precious: แม้พ่อแม่จะสร้างแผลใจที่ไม่อาจลบเลือน แต่เราเติบโตและงดงามได้ในแบบของตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Education trend
    มองหาสัญญาณเมื่อเด็กขอความช่วยเหลือ: คุยเรื่องจิตบำบัดในโรงเรียนกับ โดม-ธิติภัทร รวมทรัพย์

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel