- อรรถพล ประภาสโนบล บอกเล่าเรื่องราว ของ ครูแนน ปาริชาต ที่เลือกใช้ห้องเรียนเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และมีจุดยืนในการสอนที่ต่างไปจากบทเรียนกระแสหลัก
- ‘ระบบการศึกษา’ และ ‘ความทรงจำ’ มีส่วนเชื่อมโยงกัน เพราะจะเผยให้เห็นประสบการณ์ความทรงจำวัยเรียนที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงถึงการเป็นเราในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าครูหลายคนเลือกที่จะหยิบความทรงจำด้านลบที่มีต่อ ‘ครู’ มาเขียนเล่า แต่ความทรงจำด้านบวกก็มีพลังในการหล่อหลอมจุดยืนและมุมมองต่อการเป็นครูได้เช่นกัน
- การก้าวออกจากโรงเรียนเดิมมาสู่โรงเรียนใหม่ของครูแนน เป็นการก้าวผ่านจากการสอนบนแนวคิด ‘มนุษยนิยม’ ไปสู่ ‘การสอนเพื่อความเป็นธรรม’ ที่ครูแนนเชื่อว่า โลกที่เท่าเทียม เสมอภาค ยุติธรรม จะเป็นทางออกของความเจ็บปวดของเด็กๆ
ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะถูกปกคลุมด้วยอำนาจนิยม แต่ก็มีครูจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะยืนหยัดอยู่ตรงข้ามแนวคิดดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ครูแนน ปาริชาต ครูสอนสังคมศึกษา ที่เลือกใช้ห้องเรียนเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย พร้อมกับสร้างบทเรียนที่มุ่งตั้งคำถามเพื่อเผยให้เห็นอำนาจและความไม่เป็นธรรม
คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เธอมีจุดยืนในการสอนที่ต่างไปจากบทเรียนกระแสหลัก ทั้งที่ตัวเธอเองก็เติบโตขึ้นภายใต้โครงสร้างการศึกษาไทย และเป็นผลผลิตของระบบการศึกษานี้ทั้งในฐานะนักเรียน นิสิตครู และครูผู้สอนในโรงเรียน ข้อสงสัยนี้เป็นคำถามหลักในบทความท้ายเทอมของผู้เขียน ระหว่างศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศไต้หวัน ภายใต้หัวข้อ ‘Teacher, Memory, and Pedagogy : How teacher makes a positive difference’ ดังนั้น ในข้อเขียนนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำส่วนหนึ่งของบทความมาบอกเล่า เพื่ออธิบายว่าจุดยืนเรื่องการสอนเพื่อความเป็นธรรมของครูแนนนั้นประกอบสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
ระบบการศึกษาและความทรงจำ
การมองย้อนกลับไปที่ ‘ความทรงจำ’ คือหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้เราเข้าใจคนคนหนึ่ง ในฐานะมนุษย์ที่ผ่านประสบการณ์ของการศึกษา การเลือกจดจำเรื่องราว เหตุการณ์ บทสนทนา ในช่วงจังหวะหนึ่งๆ ของชีวิต จะเผยให้เห็นประสบการณ์ของผู้จดจำ (ผู้เล่า) ว่าการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น ครู สถานที่ หรืออื่นๆ ในความทรงจำวัยเรียนส่งผลต่อเรื่องเล่าหรือคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตของผู้เล่าอย่างไร การดำรงอยู่ของความทรงจำจึงไม่ใช่แค่การพูดถึงอดีต แต่มันยังสัมพันธ์เกี่ยวโยงถึงการเป็นเราในปัจจุบัน พูดอีกแง่หนึ่ง จุดยืนและการกระทำของเราในปัจจุบันนั้นไม่อาจแยกขาดจากความทรงจำที่กระจัดกระจาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราได้ประกอบสร้างตัวเราในปัจจุบันผ่านการสนทนากับความทรงจำของอดีต
ความทรงจำจึงไม่ใช่เอกสารทางการที่ถูกบันทึกโดยผู้มีอำนาจหรือรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวของใครโดยทั่วไปที่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองของระบบการศึกษา ในหนังสืออย่าง Stories Out of School: Memories and Reflections on Care and Cruelty in the Classroom มองว่าความทรงจำโดยตัวมันเองคือเรื่องเล่าที่ประกอบด้วยความรู้สึก อารมณ์ ความคิด เมื่อถูกเล่าออกมา มันจึงเผยให้เห็นว่าโครงสร้างสังคมการเมืองของการศึกษา กระทำหรือส่งผลอย่างไรต่อตัวเรา และเราในฐานะผู้เล่านั้นรับรู้ มองเห็น คิด รู้สึก จนนำไปสู่การสร้างความหมายระหว่างตัวเรา การศึกษา และสังคมที่เราดำรงอยู่อย่างไร
ในงานศึกษาของ Pithouse เธอศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำของครูแอฟริกาใต้กลุ่มหนึ่ง ด้วยการขอให้ครูกลับไปสำรวจประสบการณ์ในช่วงเวลาที่เป็นนักเรียนอีกครั้งผ่านการเขียนถึงจดหมายถึงครูในอดีต ‘letter to teacher’ (แต่ไม่ได้ส่ง) เธอพบว่า ครูหลายคนเลือกที่จะหยิบความทรงจำด้านลบที่มีต่อครูมาเขียนเล่า
ภาพครูที่ถูกจดจำคือภาพครูที่ใช้อำนาจ ความรุนแรง และสร้างบาดแผลที่กระทบต่อความเชื่อมั่นและคุณค่าตัวในตัวเอง (self-esteem) ของพวกเขาในฐานะนักเรียน
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลให้พวกเขาเลือกที่จะนิยามการเป็นครูที่ตรงข้ามกับภาพจำดังกล่าว Pithouse ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องเล่าที่ถูกเล่าออกมาไม่ใช่เป็นเพียงประสบการณ์ระดับปัจเจกเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพเล็กๆ ในหน่วยย่อยที่สะท้อนถึงภาพใหญ่ของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่มีอิทธิพลอย่างมากในระบบการศึกษา
ในทางตรงกันข้าม งานของ Cole พบว่า ความทรงจำด้านบวกมีพลังในการหล่อหลอมจุดยืนและมุมมองต่อการเป็นครูได้เช่นกัน โดย Cole ได้ออกแบบกระบวนการวิจัยให้ครูที่เข้าร่วมเลือกหยิบสิ่งของขึ้นมา 1 ชิ้น โดยเชื่อว่าภายใต้สิ่งของมีความทรงจำซ่อนอยู่เสมอ
ครู Kelly หนึ่งในผู้เข้าร่วมเลือกหยิบ ‘หนังสือคณิตศาสตร์’ เล่มหนึ่ง ขึ้นมาเล่าถึงปรัชญาการสอนคณิตศาสตร์ของตน ว่าเป็นผลมาจากประสบการณ์การพบเจอครู 2 คน เมื่อครั้งที่เธอเป็นนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ เริ่มแรกเธอรู้สึกไม่มั่นใจในการเรียนและมองตัวเองไม่มีความสามารถ จนกระทั่งเธอได้พบกับครูคนหนึ่งที่เข้ามาสร้างความเชื่อมั่นว่าเธอสามารถเรียนรู้ได้ ในอีกช่วงเวลาหนึ่งครูอีกคนได้ใช้วิธีการสอนที่น่าสนใจและแปลกใหม่ ซึ่งเป็นอีกจุดสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้เธอยากเป็นครูคณิตศาสตร์ที่ต่างไปจากครูทั่วไปๆ
ในขณะเดียวกัน ครู Cathy ได้เล่าความทรงจำของเธอผ่าน ‘จรวด’ โดยเล่าถึงช่วงเวลาในค่ายฤดูร้อน ที่เธอได้เข้าไปเรียนรู้วิธีการสร้างจรวดของเล่นบนการสืบเสาะเป็นฐาน (inquiry-based learning) และมันได้กลายเป็นปรัชญาการสอนสำคัญของเธอในปัจจุบัน
จากการสอนแบบมนุษยนิยมสู่การสอนเพื่อความเป็นธรรม
ในงานศึกษาเล็กๆ ของผู้เขียน เริ่มต้นด้วยการขอให้ครูแนนเขียนจดหมายถึงครูในอดีตคนหนึ่ง ในช่วงเวลาใดก็ได้ที่รู้สึกว่ามีความหมายต่อการเป็นครูของเธอ ผลปรากฏว่าครูแนนเลือกที่จะเขียนถึงช่วงเวลาฝึกสอนที่เธอได้พบกับครูผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (อาจารย์นิเทศก์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การสอนของเธอเริ่มก่อร่างสร้างรูปขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาต่อมา
ความล้มเหลวที่เธอไม่สามารถเป็นครูตามอุดมคติอย่างที่ตัวเองคาดหวังไว้ได้ เป็นความทรงจำแรกที่เธอเลือกที่จะเขียนเล่าถึงครูของเธอ ช่วงเวลาที่เธอร้องไห้และผิดหวังกับตัวเองที่ต้องการให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อการเข้าไปในห้องเรียนทำให้เธอเห็นว่าทุกสิ่งตรงข้ามกับความคาดหวังกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ ความรู้และความสามารถที่เธอมีไม่เพียงพอที่จะประคับประคองให้การสอนออกมาดีได้อย่างที่เคยเชื่อ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผิดหวังกับตัวเองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังพิงที่สำคัญของเธอคือครูที่เป็นเสมือนเพื่อนร่วมเดินทาง เป็นเพื่อนให้เธอได้บอกเล่าระบาย แทบทุกครั้งเมื่อครูของเธอไปเยี่ยมเยือนห้องเรียนฝึกสอนของเธอ เขาไม่ได้มาเพื่อจะสอนสั่ง แต่มาเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน และรับฟังอย่างตั้งใจเสมอ จึงไม่แปลกที่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นศูนย์กลางของความรู้สึกและความทรงจำที่เธอจดจำได้เป็นอย่างดี
หลังเรียนจบ เธอได้เข้าไปสอนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง เธอไม่ลังเลที่จะทำให้การสอนของตัวเองโอบรับทุกความรู้สึกของนักเรียนดังที่เธอเคยได้รับมา ความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนแนวคิดการสอนแบบมนุษยนิยมเป็นประตูบานสำคัญที่นำพาให้เธอรับฟังเรื่องราวหลากหลายจากนักเรียน ภายใต้เรื่องราวที่ดูแสนสามัญธรรมดา เมื่อมองลึกลงไปกลับฉายให้เห็นถึงปัญหาและความเจ็บปวดที่เด็กๆ ถูกระทำจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ เธอมีคำถามว่าเธอจะสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นและก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อเธอตัดสินใจเลือกเส้นทางการเป็นครูในโรงเรียนรัฐบาลด้วยเชื่อว่าการเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยรัฐจะเป็นพื้นที่ให้เธอได้เผชิญหน้ากับระบบที่กดทับอย่างตรงไปตรงมาที่สุดดังที่เธอได้สนทนากับครูของเธอว่า
“บทสนทนาของเราเป็นจุดเริ่มต้นที่พาให้ฉันได้ทำความรู้จักตัวตนและการมีอยู่ของมนุษย์คนอื่นๆ รับรู้และรู้สึกถึงความเจ็บปวดของผู้คนภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ยุติธรรมบนโลกใบนี้ ความเคารพและมิตรภาพที่ครูมอบให้ฉันในฐานะเพื่อนร่วมทางทำให้ฉันเคารพและมองเห็นมนุษย์คนอื่นๆ ในฐานะเพื่อนที่วางใจได้ ทำให้ฉันอยากจะลองเอาชนะความกลัวความผิดหวัง และมองโลกผ่านมุมมองที่ต่างไป”
การก้าวออกจากโรงเรียนเดิมมาสู่โรงเรียนใหม่ของเธอจึงเป็นการก้าวผ่านจากการสอนบนแนวคิด ‘มนุษยนิยม’ ไปสู่ ‘การสอนเพื่อความเป็นธรรม’ ที่เธอเชื่อว่าโลกที่เท่าเทียม เสมอภาค ยุติธรรม จะเป็นทางออกของความเจ็บปวดของเด็กๆ ห้องเรียนจึงเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่เธอกระทำการผ่านบทบาทครูในการสร้างความแตกต่าง ด้วยการท้าทายวิธีคิดกระแสหลักที่หล่อเลี้ยงความไม่เป็นธรรมเอาไว้ และยืนหยัดในการสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม อาจกล่าวได้ว่า จุดยืนการสอนเธอในตอนนี้เป็นผลจากการสร้างความหมายใหม่ในการเป็นครูผ่านแนวคิดมนุษยนิยมจากประสบการณ์ในชีวิต
การเขียนจดหมายถึงครูในอดีตของครูเธอจึงไม่ใช่การเขียนรำลึกเพื่อจดจำบางสิ่งบางอย่าง แต่เป็นการสนทนากับอดีตถึงจุดยืนในปัจจุบันและอนาคต จากจุดเล็กๆ ที่ค่อยๆ เผยให้เห็นว่า เธอมองเห็นและรู้สึกต่อระบบการศึกษาและสังคมที่เป็นอยู่ด้วยจุดยืนแบบนี้ได้อย่างไร พร้อมกับบอกเราว่า ครูทุกคนสามารถสร้างนิยามความหมายในการเป็นครูของตัวเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดยืนนั้นได้
อ้างอิง
Cole, A. L. (2011). Object-Memory, Embodiment, and Teacher Formation: A Methodological Exploration . In Mitchell,C., Strong-Wilson,T., Pithouse,K., & Allnutt,S., Memory and Pedagogy (pp. 223-238). Routledge.
James L. Paul & Terry Jo Smith . (2000). Stories Out of School: Memories and Reflections on Care and Cruelty in the Classroom (Contemporary Studies in International Political Communicatio). Praeger.
Pithouse, K. (2011). The Future of our Young Children Lies in our Hands”: Re-Envisaging Teacher Authority Through Narrative Self-Study. In Mitchell,C., Strong-Wilson,T., Pithouse,K., & Allnutt,S., Memory and Pedagogy (pp. 177-190). Routledge.