- Workshop: งานเปิดเผยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของลูก จัดโดย Hackerhouse ชวนพ่อแม่ให้ลองกลับมาฟังเสียงลูก เพื่อเข้าใจตัวตนของพวกเขามากขึ้นผ่านการทำศิลปะปั้นดิน
- “การที่เราเป็นตัวเราอย่างในทุกวันนี้ เราก็เป็นผู้ที่ปั้นตัวเรามาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม เหมือนกับที่เด็กก็ปั้นตัวเขาเอง เปิดเผยตัวเขาเอง เพียงแต่เราจะเป็นสิ่งแวดล้อมไปช่วยเกื้อกูลหรือช่วยให้เขาเติบโตในสิ่งที่เขาอยากเป็น” ศศิลักษณ์ ขยันกิจ
“การที่เราเป็นตัวเราอย่างในทุกวันนี้ เราก็เป็นผู้ที่ปั้นตัวเรามาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม เหมือนกับที่เด็กต้อง ‘ปั้น’ ตัวเขาเอง เปิดเผยตัวเขาเอง เราเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเกื้อกูลหรือช่วยให้เขาเติบโตในสิ่งที่เขาอยากเป็น จะพบว่าเวลาปั้นตามดินไปมันไม่เหนื่อย ไม่เครียด แล้วก็ไม่ต้องพยายามมาก”
เป็นการสื่อความถึงการเลี้ยงลูกอย่างอิสระ โดยเปรียบเปรยลูกเป็นดิน เมื่อไรที่คนปั้น (พ่อแม่) บีบเค้น พยายามปั้นดินให้รูปร่างออกมาตามที่ตัวเองต้องการ ผลคือทั้งคนปั้นและดินต่างก็เหนื่อย ไม่มีความสุข แต่เมื่อไรที่ปล่อยให้ดินเลือกรูปร่างของเขาเอง อยากเป็นอะไรก็เป็นไปตามที่ใจเขาปรารถนา ทั้งดินและคนปั้นต่างก็จะพบกับความสุข
สารที่ได้มาจากงาน Workshop: งานเปิดเผยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของลูก จัดโดย Hackerhouse เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์ งานที่พาพ่อแม่กลับมาฟังเสียงลูกและเข้าใจตัวตนของพวกเขามากขึ้นผ่านการปั้นดิน วิทยากรในครั้งนี้ คือ รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ อาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณอิสรียาห์ ประดับเวทย์ นักการศึกษาปฐมวัย สาขาหลักสูตรและการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเขาจะมาช่วยพ่อแม่สื่อสารกับลูก โดยจำลองก้อนดินให้เป็นลูกพวกเขาเอง เราจะพูด ฟัง คุยกับก้อนดินอย่างไร ให้พวกเขารู้ว่าพ่อแม่พร้อมเป็นแรงสนับสนุน พร้อมกับพาไปค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวลูก เพียงแต่รอเวลาให้พ่อแม่มองเห็นและยอมรับ
สเต็ปที่หนึ่ง: รู้จักก้อนดิน
ห้องเรียนเริ่มต้นด้วยการแจกอุปกรณ์สำหรับทำงาน ประกอบด้วยดินเหนียว 1 ก้อน แก้วน้ำ และเพลทสำหรับวางดิน หลังจากแจกอุปกรณ์ ดร.ศศิลักษณ์ให้ทุกคนเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับก้อนดินเหนียวในมือตัวเองก่อน ผ่านการปั้น นวด ให้ก้อนดินนุ่ม ให้รู้สึกคุ้นเคยกับมัน
ดร.ศศิลักษณ์อธิบายว่า การสื่อสารกับดินจะใช้แค่มือเท่านั้น ใหตำแหน่งของมืออยู่ระดับหน้าอก ไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป เท้าติดพื้น และขณะที่กำลังปั้นนั้น ดินของใครแห้งหรือแข็งเกินไปให้แก้ไขด้วยการนำน้ำมาลูบที่ก้อนดินเหนียวเพื่อให้มันนุ่มขึ้นจนสามารถปั้นต่อได้
ขณะที่ทุกคนกำลังทำความรู้จักกับก้อนดินของตัวเอง ดร.ศศิลักษณ์ขยายความให้ฟังว่าการทำงานกับศิลปะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสื่อสารกับตัวเอง กระบวนการทำงานกับศิลปะจะช่วยให้ตัวเราค่อยๆ กลับมาโฟกัสภายใน เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากข้างใน ค่อยๆ แกะปมที่พันกันอยู่
เมื่อทุกคนเตรียมดินของตัวเองเรียบร้อย ดร.ศศิลักษณ์อธิบายขั้นตอนการเรียนปั้นดินว่าแบ่งเป็น 3 สเต็ป โดยเริ่มกันที่สเต็ปแรก ให้นักเรียนทุกคนปั้นก้อนดินเป็นทรงกลม โดยที่ทุกคนจะต้องหลับตา ใช้เพียงความรู้สึกและอุ้งมือในการกำหนดให้ก้อนดินเป็นทรงกลม
“สองมือประกบดินเอาไว้เฉยๆ นิ่งๆ ให้ดินนอนหลับในมือเราสักครู่หนึ่ง ให้เราสัมผัสรับรู้ ณ ปัจจุบันว่าดินของเรามีอุณหภูมิยังไง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ค่อยๆ ทำด้วยความเบาสบาย ไม่กดดันไม่เคร่งเครียด ประหนึ่งว่ามีเด็กอยู่ในมือเราหรือเป็นลูกของเราที่ยังเล็กๆ การทำงานกับดินเหมือนเป็นการทำงานกับพลังชีวิตเพื่อที่จะก่อลูก พลังชีวิตก็คือพลังงานที่มองไม่เห็น แต่รู้ว่ามีอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
“อุ้งมือของเราจะมีความฉลาดมาก เวลาเอาดินไปวางในอุ้งมือมันจะรู้ทันทีว่าความกลมเป็นแบบไหน ขณะที่ทำงานไปด้วยก็ให้ดูใจของเราเอง เวลาเราสัมผัสดินแล้วเรารู้สึกยังไง ถ้าเรารู้สึกเครียดเกินไปให้เราผ่อนตัวเองออกมา ค่อยๆ สื่อสารกับดินเหมือนกับเรากำลังพูดคุยกับเขาว่าให้เขาค่อยๆ ฟอร์มตัวเองเป็นทรงกลม สังเกตลมหายใจของเราและความรู้สึกข้างในขณะทำงาน” ดร.ศศิลักษณ์กล่าว
เมื่อทุกคนปั้นก้อนดินให้เป็นทรงกลมเสร็จ ก็ให้ยืนล้อมเป็นวงกลม ดร.ศศิลักษณ์อธิบายว่าขั้นตอนนี้เป็นการสื่อสารกับดินของคนอื่นๆ วิธีการสื่อสาร คือ ให้ทุกคนหลับตา มือข้างหนึ่งส่งก้อนดินไปให้เพื่อนที่อยู่ข้างๆ ส่วนมืออีกข้างก็ค่อยรับก้อนดินจากเพื่อน เปิดใจรับความรู้สึกจากดินของเพื่อน
ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ดร.ศศิลักษณ์ให้ทุกคนลืมตาพร้อมถามความรู้สึกต่อกระบวนการนี้ บางคนบอกว่ารู้สึกถึงอุณหภูมิที่แตกต่างกันของก้อนดินแต่ละก้อนซึ่งมีทั้งเย็นและอุ่น ส่วนบางคนเป็นเรื่องความแน่น บางก้อนจับแน่นแข็ง แต่บางก้อนจับแล้วเบา
ดร.ศศิลักษณ์ถามต่อว่าแล้วความคิดที่เกิดขึ้นขณะที่ปั้นดินช่วงแรกเป็นอย่างไร คุณพ่อท่านหนึ่งบอกว่า เขารู้สึกกดดันเพราะต้องทำให้เป็นก้อนกลมให้ได้ คุณศศิลักษณ์อธิบายว่าเป็นธรรมชาติของดิน บางทีมนุษย์ก็ไม่สามารถควบคุมได้
สเต็ปที่สอง: สื่อสารกับดินว่าต้องการอะไร
หลังจากสเต็ปแรกปั้นก้อนดินให้เป็นทรงกลม ต่อมาสเต็ปที่สอง คือ ปั้นก้อนดินให้เป็นทรงเปิด ศศิลักษณ์อธิบายว่า ก้อนดินในมือพ่อแม่ตอนนี้เป็นทรงปิด เธออยากให้พ่อแม่ทุกท่านปั้นออกมายังไงก็ได้ให้เป็นทรงเปิด สีหน้าของพ่อแม่หลายๆ คนหลังจากฟังโจทย์รู้สึกแปลกใจ อาจเพราะไม่เข้าใจว่าทรงเปิดคืออะไร ทุกคนจึงเริ่มด้วยการกดก้อนดินให้เป็นแผ่นกลมๆ จากนั้นต่างคนต่างครีเอทแผ่นดินของตัวเอง บางคนทำเป็นจาน เป็นเรือ หรือเป็นกระถาง
ปั้นได้สักพัก ดร.ศศิลักษณ์ให้ทุกคนวางมือ แล้วให้ทุกกลุ่มยืนขึ้นสลับโต๊ะกัน โดยกลุ่มหนึ่งไปยืนกลุ่มสอง กลุ่มสองไปกลุ่มสาม และกลุ่มสามไปกลุ่มหนึ่ง โจทย์ของขั้นตอนนี้เพื่อให้ทุกคนพิจารณาชิ้นงานของเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า ให้ทุกคนสื่อสารกับก้อนดินของเพื่อนว่ามันต้องการอะไรและเติมเต็มให้กับมัน นักเรียนบางคนมองแค่แวบเดียวก็ลุกขึ้นไปหยิบดินมาปั้นเพิ่ม บางคนก็ใช้เวลานานก่อนจะลุกไปหยิบดิน หรือบางคนลงมือทำงานทันทีโดยไม่ได้เพิ่มเติมอะไร ใช้เวลาแต่ละโต๊ะประมาณ 15 นาทีก่อนจะเวียนครบทุกกลุ่ม
โจทย์ต่อไป คือ ให้เจ้าของชิ้นงานพูดคุยกับคนที่มาช่วยเติมเต็มงานของตัวเอง แลกเปลี่ยนความเห็น ความรู้สึกต่อชิ้นงานนั้นๆ เป็นวิธีปั้นดินแบบที่ต้องฟังความต้องการของดินว่าเขาอยากได้อะไร หน้าที่ของพ่อแม่เติมเต็มสิ่งๆ นั้น ก่อนจะเรียกให้ทุกคนนั่งประจำที่เดิมและให้แชร์ความรู้สึกงานของตัวเองที่มีคนมาเติมให้ หลายๆ คนบอกว่ารู้สึกดีใจงานออกมาสวย แม้ว่าไม่รู้ตัวเองต้องการอะไร แต่ก็ชอบสิ่งที่เพื่อนทำให้ หรือบางคนบอกว่ารู้สึกเครียดพราะมองของเพื่อนไม่ออกว่ามันต้องการอะไร ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยใส่ความคิดตัวเองลงไปแทน
สเต็ปที่สาม: ปล่อยให้ก้อนดินเป็นไปตามธรรมชาติความต้องการของมัน
มาถึงสเต็ปสุดท้าย คราวนี้ให้พ่อแม่ทุกคนนำชิ้นงานตัวเองกลับมาปั้นให้เป็นทรงกลมเหมือนเดิม แต่วิธีครั้งนี้จะต่างกับตอนแรก ในตอนต้นทุกคนปั้นดินให้เป็นทรงกลมจากดินก้อนใหญ่ๆ แต่ครั้งนี้เธอให้เริ่มจากการฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ จากก้อนงานเดิม ค่อยๆ ปั้นให้มันใหญ่ขึ้นเป็นทรงกลมเหมือนเดิม ก่อนจะเริ่มโจทย์ต่อไป คือ ปั้นให้เป็นทรงไข่ ซึ่งวิธีการเธอแนะนำว่า ให้วางมือไว้ที่ระดับหน้าอกเหมือนเดิม แต่ทำมือเป็นรูปตัววีแล้วหมุนดินในมือให้เป็นทรงไข่
เมื่อได้ก้อนดินทรงไข่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนต่อไป ดร.ศศิลักษณ์ขอให้ทุกคนทำใจให้ว่างเปล่า ปล่อยสมองให้โล่ง ไม่ต้องคิดอะไร มองก้อนดินในมือว่ามันอยากเป็นรูปทรงอะไร ก่อนจะปั้นตามสิ่งที่มันต้องการ เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะลักษณะของก้อนดินในมือแต่ละคนเป็นเพียงก้อนสีน้ำตาลธรรมดา ต้องใช้เวลาเพ่งพิจารณาอยู่นานก่อนจะพอมองเห็นว่ามันควรเป็นอะไร
“ตั้งแต่แรกเราพยายามปั้นให้เป็นสิ่งที่เราต้องการซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ความคิดแต่สเต็ปนี้เราจะมาลองทำแบบไม่ต้องคิด ดินจะเป็นยังไงก็ปล่อยตามธรรมชาติมัน เพราะเราจะเห็นว่ากระบวนการทำงานที่ต้องใช้ความคิดทำให้เรากังวล คาดหวัง เครียด คราวนี้ลองมาตอบสนองดินด้วยความไม่คาดหวัง มันจะเป็นอะไรก็ปล่อยมัน ปล่อยไปตามสิ่งที่ดินจะเป็น ตอบสนองตาม action อย่างเดียว
“การทำงานแบบนี้ไม่ได้ใช้ความคิดที่เราคุ้นชิน แต่ใช้จิตนาการ ปล่อยไปตามใจ กดไปตามจินตภาพที่มันเกิดขึ้น ง่ายกว่าทำแบบสิ่งที่เราอยากให้เป็น ถ้าก้อนดินอยากจะเป็นหมูก็ต้องยอมให้เขาเป็นหมู” ดร.ศศิลักษณ์อธิบายเพิ่ม
เมื่อทุกกลุ่มปั้นเสร็จเรียบร้อย ดร.ศศิลักษณ์ให้แต่ละกลุ่มจัดชิ้นงานมารวมกัน ก่อนจะปล่อยให้พ่อแม่ทุกท่านไปเดินดูชิ้นงานคนอื่นๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้สึก เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ให้พ่อแม่ลากเก้าอี้มานั่งเป็นวงกลมเพื่อคุยสรุปท้าย
เคล็ดลับที่จะทำให้พ่อแม่เห็นศักยภาพของลูก: เปิดตา เปิดใจ และยอมรับสิ่งที่ลูกเป็น
หลังจากเสร็จกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด ดร.ศศิลักษณ์และคุณอิสรียาห์ก็ชวนพ่อแม่ลากเก้าอี้มาตั้งวงคุยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมกระบวนการ เริ่มด้วยการให้พ่อแม่แชร์ความรู้สึกของตัวเองกับการปั้นดินในแต่ละสเต็ป
แม่ท่านหนึ่งเล่าว่า ตัวเองรู้สึกสบายใจกับการปั้นในสเต็ปหลังๆ มากกว่าสเต็ปแรกที่เริ่มจากชิ้นใหญ่ๆ สเต็ปที่สองและสามจะเริ่มทำงานจากชิ้นเล็กๆ ทำให้รู้สึกว่าการค่อยๆ ปั้น ค่อยๆ ทำมันง่ายกว่า และด้วยความที่ไม่ต้องนั่งคาดหวังว่าผลงานจะต้องออกมาเป็นแบบไหน ทำให้ไม่รู้สึกกดดัน พอใจกับผลงานที่ได้
หลังจากนั้น คุณอิสรียาห์ยกประโยคๆ หนึ่งมาเล่าในวงสนทนา ‘พ่อแม่รู้จักลูก รู้ว่าลูกคิดอะไรก่อนที่ลูกจะบอกเสียอีก’ เธอบอกต่อว่า แม้ว่าพ่อแม่จะรู้จักลูกตัวเอง แต่ในหลายๆ ครั้งพ่อแม่มักจะมีความคาดหวัง ความกังวล หรือสภาพแวดล้อมที่กดดัน ทำให้พ่อแม่ใส่หรือปรุงแต่งสิ่งที่อยากให้ลูกได้รับ เพราะทุกคนล้วนอยากให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง และประสบความสำเร็จ มีความสุขในอนาคต
“อย่างหนึ่งที่เราเจอจากการทำงานด้านการศึกษา คือเราจะประเมินตลอดเวลา เกิดการคัดสรรบางอย่างเพื่อ force เขาให้เป็นบางอย่าง ทำให้เรารู้สึกว่ามันเหนื่อย ออกแรงเยอะ ตอนที่เราปั้นดินครั้งแรกก็เหมือนเราเป็นพ่อแม่มือใหม่ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับก้อนดินนี้ดี ถ้างั้นปั้นให้เป็นทรงกลมก่อนละกัน พอกลมแล้วก็ปั้นให้เป็นอะไรสักอย่าง แต่มันเป็นสิ่งที่ดินต้องการจริงๆ หรือเปล่า
“แต่เมื่อเราเริ่มปล่อยให้ดินเป็นคนบอกเราว่าเขาอยากเป็นแบบนี้ แล้วเราช่วยเขา ไม่ได้เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในหัว แต่เป็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา หลายท่านๆ รู้สึกสงบใจ เบา ไม่เหนื่อยละ แฮปปี้กับสิ่งที่ปรากฎ จริงๆ พ่อแม่มีสมบัติที่ล้ำค่าอยู่แล้วคือดิน พ่อแม่ทำความรู้จักและเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของดิน เปิดเผยสมบัติที่ซ่อนอยู่” คุณอิสรียาห์กล่าว
คุณอิสรียาห์อธิบายต่อว่า การที่พ่อแม่ได้ลองปล่อยวางความกลัว ความกังวล ก็จะพบว่าค้นพบสิ่งที่ดินบอกเรา เปรียบเสมือนกับลูก ชีวิตประจำวันที่พ่อแม่ได้เห็นได้สังเกตตัวตนที่แท้จริงของเขา แต่ในบางครั้งศักยภาพ คุณลักษณะดีเด่น ความถนัด ความเก่งต่างๆ ที่ลูกมี อาจไม่ใช่สิ่งที่สังคมให้ค่ากับมันจนอาจทำให้พ่อแม่เกิดความกังวล
คุณอิสรียาห์ยกตัวอย่างวิธีมองลูกของคนยิว พวกเขาจะมองแค่ว่าลูกชอบอะไร ลูกทำอะไร เขาจะไม่สนใจมาตรฐานสังคมหรือโลกใบนี้ว่าให้คุณค่ากับสิ่งที่ลูกพวกเขาชอบหรือเปล่า แต่พวกเขาจะหยิบยื่นสิ่งที่ตัวตนลูกเป็นและส่งเสริมให้ถึงที่สุด
“การที่เราเป็นตัวเราอย่างในทุกวันนี้ เราก็เป็นผู้ที่ปั้นตัวเรามาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม เหมือนกับที่เด็กต้อง ‘ปั้น’ ตัวเขาเอง เปิดเผยตัวเขาเอง เราเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่ไปช่วยเกื้อกูลหรือช่วยให้เขาเติบโตในสิ่งที่เขาอยากเป็น จะพบว่าเวลาปั้นตามดินไปมันไม่เหนื่อย ไม่เครียด แล้วก็ไม่ต้องพยายามมาก
“สิ่งสำคัญคือมองให้เห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ดินบอกตลอดเวลาว่าตัวเองต้องการจะเป็นอะไร แต่เราอาจจะไม่ได้ฟัง เพราะเรามักจะมีประเด็นต่างๆ หรือความคาดหวังว่าเราอยากให้เป็นแบบนั้นแต่มันไม่ใช่ สุดท้ายเกิดการชนกันปะทะ การทำงานกับดินจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทำให้เรามีสายตากระจ่างชัด” ดร.ศศิลักษณ์กล่าว
ดร.ศศิลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวเด็กเองก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร ต้องอาศัยประสบการณ์ในการเข้าไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ แล้วก็มีหลายเส้นทางให้เด็กเลือกเดิน ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้ลองทำอะไรบ้าง พ่อแม่เองอย่าเพิ่งไปตัดสิน หรือตั้งความคาดหวังกับสิ่งที่ลูกทำ เช่น ลูกเรียนฟุตบอล ก็หวังให้ลูกโตมาเป็นนักกีฬา เด็กจะไม่รู้สึกสนุก ทางที่ดี คือ ปล่อยให้เด็กเรียนรู้ ให้เขารู้สึกสนุกไปกับมัน แล้วสุดท้ายเขาจะค้นพบสิ่งที่พวกเขาชอบ
เป้าหมายสูงสุดในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง คือ อยากเห็นเขามีความสุข แต่ความสุขไม่ได้เกิดจากความสำเร็จที่ปลายทาง มันเกิดขึ้นระหว่างทางที่เดินไป หากพ่อแม่ลองปล่อยวาง ไม่ตั้งความคาดหวังให้ลูก ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น เป็นลมใต้ปีกให้กับลูก ลูกเองก็เหมือนกับก้อนดิน การไปตั้งความหวัง ไปตั้งเป้าหมายว่าต้องปั้นออกมาแบบนี้จะทำให้ทั้งพ่อ แม่ และลูกเองรู้สึกเหนื่อยและไม่มีความสุข การปล่อยให้ดินเป็นไปตามความต้องการ ตามธรรมชาติของเขาต่างหาก นั่นแหละคือความสุข