- เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ของติ๊กต่อก มีความสามารถในการคัดเลือกคลิปแบบจำเพาะสำหรับคุณได้อย่างเยี่ยมยอด ทำให้เราดูต่อเนื่องกันไปได้ไม่หยุดหย่อนเป็นชั่วโมงๆ
- การนั่งไถ่ชมวิดีโอสั้นๆ อย่างเพลิดเพลิน ร่างกายจะหลั่งโดพามีนตลอดเวลา ทำให้ผู้ชมอายุน้อยปรับความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นที่เคลื่อนไหวช้ากว่าได้ยาก
- วิธีป้องกันและแก้ไขที่สำคัญที่สุดและเป็นขั้นตอนแรกก็คือ ต้องระลึกรู้ตัวเองว่าติดติ๊กต่อกมากจนเริ่มเป็นปัญหาแล้ว และต้องการแก้ไขในเรื่องนี้
ถึงวันนี้คนส่วนใหญ่น่าจะต้องเคยได้ยินชื่อหรือเคยดูคลิปจากแอป ‘ติ๊กต่อก (TikTok)’ มากันบ้างแล้ว
สถิติล่าสุดคือ แอปดังกล่าวแพร่หลายในประเทศมากกว่า 150 ประเทศ และมีผู้ใช้งานประจำมากกว่า 1,000 ล้านคนแล้ว เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีดาวน์โหลดไปใช้งานมากกว่า 200 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว [1]
กลุ่มผู้ใช้งานหลักปัจจุบันคือ คนอายุตั้งแต่ 13–60 ปี
หากดูเฉพาะผู้ใช้งานประจำอย่างสม่ำเสมอพบว่า ‘ติ๊กต่อก’ อยู่ที่อันดับ 4 โดยเป็นรองก็แค่เฟซบุ๊ก (2.9 พันล้านคน) ยูทูบ (2.2 พันล้านคน) และอินสตาแกรม (1.4 ล้านคน) ซึ่งทำให้เจ้าตลาดโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กถึงกับหวั่นใจ จนต้องเพิ่มฟังก์ชันหมวด ‘รีลส์และวิดีโอสั้น’ ในการนำเสนอ ซึ่งก็คลิปสั้นที่ต่อกรโดยตรงกับติ๊กต่อกนั่นเอง
แต่ที่ตลกก็คือ ในช่วงขาขึ้นของติ๊กต่อกอย่างตอนนี้ รีลส์ในเฟซบุ๊กจำนวนมากเลย เอามาจากจากแอปติ๊กต่อกนั่นเอง!
ลำพังคนเข้าไปใช้แอปโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มีคนเป็นห่วงแล้วว่า จะส่งผลกระทบกับความคิดความอ่านและการเรียนรู้แค่ไหน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน แต่กรณีของติ๊กต่อกที่บางคนนั่งดู นอนดูอย่างเพลิดเพลินต่อกันวันละเป็นชั่วโมงๆ จะส่งผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่?
เริ่มมีคนแสดงความเป็นห่วงและอันที่จริงแล้ว มีรายงานการวิจัยที่ระบุว่า อาจจะมีผลลบหลายอย่างเกิดขึ้นได้ หากดูติ๊กต่อกต่อเนื่องกันวันละนานๆ ผลกระทบพวกนี้หนักหนาแค่ไหนกันแน่?
คำเตือนแรกสุดที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางที่สุดคือ บทสัมภาษณ์ที่ลงใน Wall Street Journal (2 เมษายน 2022) ในหัวข้อ TikTok Brain Explained: Why Some Kids Seem Hooked on Social Video Feeds (คำอธิบายเกี่ยวกับสมองแบบติ๊กต่อก: ทำไมเด็กๆ ดูจะติดฟีดวิดีโอโซเชียล) [2]
ในบทความดังกล่าวชี้ว่า “การไหลหลั่งของโดพามีนอย่างไม่รู้จบ เมื่อได้ชมวิดีโอสั้นๆ ทำให้ผู้ชมอายุน้อยปรับความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นที่เคลื่อนไหวช้ากว่าได้ยาก”
การปล่อยให้ร่างกายหลั่งโดพามีนตลอดเวลา ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรากำลังปล่อยให้เด็กไปอยู่ในร้านลูกกวาดที่กินได้ไม่หมดไม่สิ้น!
ขณะที่นิตยสาร Forbes (18 ม.ค. 2020) ก็พาดหัวหวือหวาไม่แพ้กันว่า Digital Crack Cocaine: The Science Behind TikTok’s Success (โคเคนดิจิทัล: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังความสำเร็จของติ๊กต่อก) โดยสื่อนัยยะว่า ติ๊กต่อกทำให้สมองติดคลิปวิดีโอและต้องเสพต่อเนื่องแบบเดียวกับคนติดโคเคนที่เป็นสารเสพติด
หากไม่ได้ดูก็จะเกิดอาการ ‘ลงแดง’ เอาง่ายๆ [3]
ฉะนั้น ‘สมองแบบติ๊กต่อก’ จึงดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง ดังที่มีงานวิจัยเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์อยู่หลายฉบับ ลองมาดูตัวอย่างบางส่วนกัน
งานวิจัยชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications [4] โดยผู้วิจัยพบว่าเมื่อทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ขึ้น ก็เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การใช้แอปติ๊กต่อกติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้การตั้งสมาธิและควบคุมความคิดเพื่อทำเรื่องต่างๆ นั้น ทำได้ในเวลาที่หดสั้นลงลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปรากฏการณ์นี้ไม่พบในแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ทดสอบร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
เรื่องแบบนี้ส่งผลกับอินฟลูเอนเซอร์ระดับท็อปเอง ดังกรณีของ ติ๊กต่อกเกอร์ (TikToker) ชื่อ เอ็มม่า แชมเบอร์เลน (Emma Chamberlain) ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้าน โดยเธอพบว่าติ๊กต่อกทำให้เธอหมกมุ่นกับมันอย่างรุนแรง จนในที่สุด เธอต้องใช้วิธี ‘หักดิบ’ ลบโปรไฟล์ของเธอทิ้ง เธอมองว่าการตัดสินใจครั้งนั้นถือเป็นย่างก้าวที่ ‘เปลี่ยนชีวิต’ เลยทีเดียว โดยเพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากลบแอปติ๊กต่อกทิ้ง เธอก็เลิกกลิ้งไปกลิ้งมาส่องแอปทั้งวัน วันละหลายๆ ชั่วโมงโดยไม่สนใจโลกรอบตัว
เริ่มสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้ง
เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ของติ๊กต่อก มีความสามารถในการคัดเลือกคลิปแบบจำเพาะสำหรับคุณ (For You) ได้อย่างเยี่ยมยอด ทำให้เราดูต่อเนื่องกันไปได้ไม่หยุดหย่อนเป็นชั่วโมงๆ
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง [5] จากมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยยอร์กเผยให้เห็นว่า ระบบอัลกอริทึมของติ๊กต่อกทำงานแตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นๆ ที่เหลือ โดยอัลกอริทึม (algorithm) ของมันเน้นไปที่วิดีโอที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละคนมากๆ
ผู้ใช้งานแต่ละคนจะไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ใช้งานคนอื่น แต่กลับมีลักษณะคล้ายกับปฏิสัมพันธ์กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา
มีงานวิจัยชิ้นอื่นๆ อีกที่สนับสนุนว่า การตอบสนองของเอไอแบบนี้ ทำให้เราตอบสนองกับมันได้มากกว่า ทำให้หลั่งโดพามีนได้ง่ายกว่า และเสพติดมันได้ง่ายและได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ปรากฏการณ์แบบนี้มีข้อเสียอะไรบ้างหรือไม่?
การที่คลิปติ๊กต่อกมีความยาวเพียง 15 วินาที ทำให้คนที่ดูมันเยอะๆ ตลอดเวลา เช่น วันละหลายๆ ชั่วโมง ตื่นมาก็ดูเลย จะนอนก็ต้องดูก่อน มีแนวโน้มจะมีสมาธิที่สั้นลง เบื่ออะไรที่ยาวๆ จนไม่สามารถอ่านหนังสือเล่มหนาๆ หรือดูสารคดียาวๆ ได้ เพราะกิจกรรมสองอย่างหลังนี้ ต้องใช้สมาธิจดจ่ออย่างยาวนานต่อเนื่องมากกว่า และเป็นกิจกรรมที่ลักษณะการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้ากว่า
แม้แต่คลิปยูทูบที่ยาวกว่าก็ยังอาจรู้สึกว่าน่าเบื่อ!!!
แต่ผลเสียที่ร้ายแรงกว่าก็คือ สมองเราอาจจะสับสน เชื่อในสิ่งที่เห็นในติ๊กต่อก ซึ่งผ่านการปรับแต่งดัดแปลง ราวกับมันเป็นเรื่องจริง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ เช่น ทำให้เราซื้อสินค้าที่โฆษณาบนติ๊กต่อกได้ง่ายกว่าปกติจากความคุ้นเคยที่เห็น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความต้องการใช้งาน
มีวิธีการป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้เกิดผลเสียดังกล่าวหรือไม่?
การหยุดติ๊กต่อกก็อาจจะคล้ายกับความพยายามเลิกสิ่งเสพติดต่างๆ คือ ต้องอาศัยกำลังใจไม่น้อย แต่ที่สำคัญที่สุดและเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญก็คือ ต้องระลึกรู้ตัวเองว่าติดติ๊กต่อกมากจนเริ่มเป็นปัญหาแล้ว และต้องการแก้ไขในเรื่องนี้
หากเป็นกรณีเด็กในบ้าน ก็อาจต้องทำข้อตกลงให้ดูติ๊กต่อกได้น้อยลง และชวนให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายและสติปัญญาให้มากขึ้น มองหางานอดิเรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬา ดนตรี การท่องเที่ยว หรือแม้แต่กิจกรรมอาสาสมัครทั้งหลาย ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีแอปอีกหลายแอปที่สามารถตั้งเวลาเตือน ทำให้เรารู้ตัวว่าใช้เวลากับแอปติ๊กต่อกมากเกินไปแล้วได้ สามารถดาวน์โหลดแอปพวกนี้มาใช้เป็นตัวช่วยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการนอนไม่พอที่เป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่น ซึ่งอาจทำความเสียหายกับสมองได้มาก จึงควรเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายให้ห่างไกลห้องนอนไว้
สรุปง่ายๆ คือ จัดการเรื่องการใช้เวลาให้เหมาะสมมากขึ้น แต่หากมีอาการติดมาก อาจต้องขอรับความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. https://wallaroomedia.com/blog/social-media/tiktok-statistics/
4. Lorenz-Spreen, P., Mønsted, B.M., Hövel, P. et al. Accelerating dynamics of collective attention. Nat Commun 10, 1759 (2019). https://doi.org/10.1038/s41467-019-09311-w
5. Bhandari, A., & Bimo, S. (2020). TIKTOK AND THE “ALGORITHMIZED SELF”: A NEW MODEL OF ONLINE INTERACTION. AoIR Selected Papers of Internet Research, 2020. https://doi.org/10.5210/spir.v2020i0.11172