- ธรรมชาติของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เต็มไปด้วยพลังและความอยากรู้อยากเห็น และสามารถเรียนรู้ได้ดีผ่าน ‘การเล่น’ และ ‘ระบายแรง’ ของตัวเองออกมา เพราะการเล่นจะช่วยเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและสมองให้กับเด็กๆ สำหรับการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไป
- เด็กที่ได้เล่นอย่างเพียงพอจะสามารถ ‘ควบคุมกำกับตนเอง’ ได้ดีขึ้น แต่ทักษะการควบคุมกำกับตนเอง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นใจ และได้รับการปลูกฝังมาเรื่อยๆ ไม่สามารถเร่งรัดชั่วข้ามคืนได้
- เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ไม่ได้มีปัญหาในด้านสติปัญญาหรือพัฒนาการด้านอื่นๆ แต่ปัญหาเรื่องการจัดระบบระเบียบความคิดและการคงสมาธิกับเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จึงมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เล็กๆ
ทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กปฐมวัย
ธรรมชาติของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เต็มไปด้วยพลังและความอยากรู้อยากเห็น เด็กวัยนี้ เรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น และในขณะเดียวกันการเล่นก็ช่วยเตรียมความพร้อมทางด้าน ร่างกายและสมองให้กับเด็กๆ สำหรับการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไป
โดยเฉพาะการเล่นที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ ผ่านการ วิ่งเต็มแรง กระโดดไปมา ปั่นจักรยาน ปีนต้นไม้ ปีนป่ายสิ่งกีดขวางในสนามเด็กเล่น ขุด ดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เก็บหิน เก็บใบไม้ และอื่นๆ
เด็กปฐมวัยควรได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือวิ่งเล่นจนเหงื่อออกหัวเปียกชุ่ม ประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน (Baumgartner, Jackson, Mahar, & Rowe, 2015) ซึ่งสามารถแบ่งเวลาวิ่งเล่นออกเป็นช่วงๆ ได้ เช่น ช่วงระยะเวลา 1 ชั่วโมง เช้าเย็น และช่วงระยะเวลา 30 นาที ย่อยๆ ระหว่างวัน ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง
ทั้งนี้การระบายแรงอย่างเหมาะสมจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่และกติกาที่เหมาะสม
ผู้ใหญ่ควรกำหนดกติกากับเด็กให้ชัดเจนตั้งแต่แรก ได้แก่ ‘กฎ 3 ข้อ’
(1) ไม่ทำร้ายตัวเอง (ไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ)
(2) ไม่ทำร้ายผู้อื่น
(3) ไม่ทำลายข้าวของ
ถ้าเด็กๆ ทำผิดกติกาให้ผู้ใหญ่ตักเตือน 1 ครั้ง แต่ถ้าทำผิดในครั้งที่ 2 ให้ผู้ใหญ่บอกเด็กๆ ชัดเจนว่า “เราเลือกที่จะทำผิดกติกา ดังนั้นเราไม่พร้อมเล่นสิ่งนี้หรืออยู่ตรงนี้ต่อ เราจะหยุดเล่นหรือกลับบ้านกัน” เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่าตัวเขาเป็นผู้เลือกและรับผิดชอบต่อการเลือกนั้นไม่ใช่ผู้ใหญ่
เมื่อใกล้เวลาเลิกเล่น ให้ผู้ใหญ่เตือนเด็กๆ ล่วงหน้าก่อนเวลาเลิก 5-10 นาที เพื่อให้เด็กๆ เตรียมตัวเตรียมใจเตรียมเก็บของ (Cool down) ก่อนเวลาหมดลง หากหมดเวลาแล้วเด็กๆ ไม่ยอมยุติการเล่น ให้ผู้ใหญ่พูดชัดเจนว่า “หมดเวลาแล้ว เก็บของ/กลับบ้าน กัน” และลงไปพาเขาเก็บของหรือจูงมือเขากลับบ้านด้วยกัน
การฝืนธรรมชาติของเด็กปฐมวัย
ในทางกลับกัน ถ้าหากเด็กเล็กต้องนั่งนิ่ง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมนั่งโต๊ะในห้องเรียนนานๆ หรือการดูหน้าจอ แม้ว่าเขาจะสามารถทำได้ แต่พลังงานที่มีมากมาย ผนวกกับสมองที่ต้องทำงานตลอดเวลา เมื่อจบกิจกรรมดังกล่าว เด็กอาจจะไม่สามารถอยู่นิ่งได้อีก เขาจะหาที่ระบายแรง
เด็กๆ อาจจะอยู่ไม่สุข วิ่งไปมา ปีนนู่นปีนนี่ และเมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่น เด็กๆ อาจจะลงเอยด้วยการทำพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม และเด็กที่ไม่ได้เล่นเคลื่อนไหว ร่างกายอย่างเพียงพออาจจะส่งผลต่ออารมณ์ เด็กอาจจะมีความหงุดหงิดงุ่นง่านได้ง่าย รวมทั้งการคงสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดได้ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ทำกิจกรรมไม่เสร็จและรอคอยได้ไม่นาน
ดังนั้นเด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริมในเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งมัดเล็ก และมัดใหญ่ เพื่อให้เขามีร่างกายที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ขั้นต่อๆ ไปในอนาคต
เมื่อเด็กๆ มีพลังมากล้น ผู้ใหญ่ต้องสอนทักษะการควบคุมกำกับตนเอง (Inhibitory control) ให้กับพวกเขา
เด็กๆ ที่พลังมากล้นก็เปรียบเสมือนกับรถที่เต็มไปด้วยน้ำมันและวิ่งได้เร็วฉิว ในขณะที่ทักษะการควบคุมกำกับตนเองเปรียบเสมือนกับเบรกที่จะช่วยให้รถคันนี้หยุด เมื่อเจอไฟแดงและไม่พุ่งชนหรือวิ่งตกเหว ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทาง
ทักษะนี้ทำให้เด็กปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเดือดร้อนและสามารถกำกับตัวเองไปจนถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ใหญ่นอกจากจะส่งเสริมพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ แล้ว เราควรจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการควบคุมกำกับตนเองให้กับเด็กๆ ควบคู่ไปด้วย
การพัฒนาทักษะการควบคุมกำกับตนเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อ…
(1) เด็กมีพื้นฐานความสัมพันธ์ภายในบ้านที่ดี เขาสามารถวางใจในสภาพแวดล้อมได้ กล่าวคือ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูมีเวลาคุณภาพให้กับเด็ก (เล่น อ่านนิทาน ทำงานบ้าน และ การสัมผัสทางร่างกาย กอด หอม และอื่นๆ)
(2) เด็กสามารถควบคุมร่างกายของตนเองได้ เช่น เด็กสามารถวางแผนการเคลื่อนไหว ร่างกาย (ลุก ยืน เดิน นั่ง นอน) ด้วยตนเอง เด็กควบคุมการขับถ่ายได้แล้ว และเด็ก สามารถพูดสื่อสารบอกความต้องการของตนให้กับผู้อื่นได้รับรู้
หากเด็กๆ ไม่มี 2 ข้อนี้ อย่าเพิ่งคาดหวังจะพัฒนาทักษะการควบคุมกำกับตนเองในเชิงความคิด จิตใจ และการกระทำ เพราะนั่นย่อมไม่เกิดขึ้นในเด็กที่ยังไม่สามารถวางใจในสภาพแวดล้อมและควบคุมร่างกายตนเองได้ โดยปกติแล้วเด็กจะเริ่มเรียนรู้พัฒนาทักษะนี้ได้ตอนประมาณ 3 ปีขึ้นไป
แนวทางในการพัฒนาการควบคุมกำกับตนเองในเด็กเบื้องต้น
(1) ให้เด็กช่วยเหลือตนเองในสิ่งที่เขาควรจะทำได้ตามวัยของเขา เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ใส่รองเท้า ถือกระเป๋าไปโรงเรียน เพื่อให้เขารู้จักควบคุมกำกับตนเองให้ทำหน้าที่ของตนจนสำเร็จลุล่วง ถึงแม้จะทำได้ไม่ดี ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ไม่เป็นไร ผู้ใหญ่ช่วยสอนย้ำรอบสองได้ สิ่งสำคัญต้องปล่อยให้เขาได้ทำด้วยตนเอง ลดการช่วยเหลือในสิ่งที่ทำได้ด้วยตนเองแล้ว ไม่อุ้ม ถ้าเขาเดินได้แล้ว ไม่ทำให้เมื่อเขาเคยทำได้มาก่อน ผู้ใหญ่ควรให้กำลังใจและรอคอยอย่างอดทน
(2) มอบหมายงานส่วนรวม (งานบ้าน) ให้เด็กรับผิดชอบ งานนั้นควรเหมาะสมตามวัยของเด็ก เช่น ในเด็กเล็กเราอาจจะมอบหมายงานเช็ดโต๊ะและล้างแก้วน้ำของตนเองหลัง กินข้าวเสร็จ รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง และอื่นๆ (สามารถดูงานบ้านต่างๆ ตาม วัยของเด็กได้ตามอ้างอิงท้ายบทความ)
(3) เมื่อเด็กอยากได้สิ่งใด นำสิ่งนั้นมาเป็นเป้าหมาย แล้วให้เขาพยายามเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นด้วยตัวเขาเอง เช่น เด็กอยากซื้อของเล่นชิ้นหนึ่งมาก พ่อแม่อาจจะให้เขา ช่วยทำงานบ้านเพิ่มเติม และให้เงินเขาไปหยอดกระปุก เมื่อสะสมครบ เราค่อยพาเขา ไปซึ้อ เป็นต้น อย่าให้ทันที เพราะการได้สิ่งใดมาโดยง่ายอาจจะทำให้เด็กไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ถ้าเขาได้ของมาด้วยความพยายามของตนเอง เขาต้องอดทนควบคุมกำกับตนเองให้สะสมเงินวันละนิดวันละหน่อยจนเพียงพอนำไปซื้อของ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจอย่างมาก
(4) การทำตารางเวลาที่บ้าน และการมีกติกาภายในครอบครัวที่ชัดเจน ช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมกำกับตนเองว่า ‘เวลาไหนเขาควรทำอะไร และในหนึ่งวันเขาต้องทำอะไรบ้าง’ เพราะเด็กที่รู้ตารางเวลาและเคารพกติกา (ทุกคนในบ้านทำเหมือนกัน) เขาจะเรียนรู้คุณค่าของเวลาและการกำกับตนเองให้ทำทุกอย่างให้เสร็จทันเวลา เขาต้องยับยั้งชั่งใจทำงานบ้าน การบ้าน ก่อนไปเล่นได้
(5) ให้เด็กได้เล่นอย่างเด็กๆ ได้วิ่งเล่นปล่อยพลัง เล่นทราย เล่นน้ำ เล่นกับเรา เล่นอย่างเพียงพอและเหมาะสม เด็กที่ได้เล่นอย่างเพียงพอ จะสามารถควบคุมกำกับตนเองได้ดีขึ้น เพราะเด็กเป็นวัยที่มีพลังมากมาย มีคนเคยเปรียบเด็กๆ ว่า ถ้าเป็นนักวิ่ง พวกเขาจะเป็นนักวิ่งมาราธอนชั้นเยี่ยม เนื่องจากพวกเขาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและมีพลังเหลือเฟือที่จะสิ่งได้ตลอดเวลา
‘การควบคุมกำกับตนเอง’ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้แค่ในเวลาเพียงข้ามวันหรือข้ามคืน เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นใจ และได้รับการปลูกฝังมาเรื่อยๆ ยิ่งสอนเขาตั้งแต่ ยังเล็ก แม้จะยากและฝืนใจคนรอบข้าง แต่เชื่อเถอะ ดอกผลที่งอกงามจะทำให้พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่อย่างเราหายเหนื่อย สุดท้าย ‘การควบคุมตนเอง’ เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กคนหนึ่งสามารถเดินไปบนหนทาง แห่งการเรียนรู้อันยาวไกล โดยไม่ยอมแพ้หรือไม่ตกเหวไปเสียก่อน อย่าเร่งเรียน เร่งทุกอย่าง แต่ลืมที่จะสอนทักษะที่สำคัญอันนี้ให้กับเด็กๆ ของเรา
‘เด็กซน’ vs ‘เด็กสมาธิสั้น’
โรคซนสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disordr: ADHD) เป็นโรคพัฒนาการล่าช้าเฉพาะในส่วนของการควบคุมกำกับตัวเอง การคิดวางแผน ยับยั้งชั่งใจ และเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งอยู่ภายใต้การทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ดังนั้นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ได้มีปัญหาในด้านสติปัญญาหรือพัฒนาการ ด้านอื่นๆ แต่ปัญหาจะอยู่ตรงที่ความสามารถในการควบคุมตัวเองยังพัฒนาได้ล่าช้าไปกว่าวัย 2-3 ปี เช่น แม้เด็กจะอายุ 6 ปีแล้ว แต่ความสามารถในการควบคุมตัวเองอาจจะอยู่ที่วัย 3-4 ปี เท่านั้น
เด็กสมาธิจดจ่อกับเกมได้นานนั้นเรียกว่า ‘Hyperfocus’ คือการที่เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างมาก (มุ่งสนใจในสิ่งนั้นเพียงสิ่งเดียว) เช่น คงสมาธิที่การเล่นเกม ในระยะเวลายาวนาน คงสมาธิในการต่อเลโก้จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งสมาธิที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาปกติ เพราะแม้ว่าเขาจะจดจ่อกับกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้นาน เด็กสมาธิสั้นยังมีปัญหาเรื่องของการจัดระบบระเบียบความคิดและการคงสมาธิกับเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (Flippin, 2022)
อาการเด่นของเด็กสมาธิสั้น
(1) ขาดสมาธิ (Inattention) เด็กไม่สามารถคงความสนใจหรือจดจ่อกับกิจกรรมที่ทeอยู่ได้ตามวัย มักว่อกแว่กเหม่อลอย หลงลืมสิ่งต่างๆ หรือไม่สามารถสนใจฟังสิ่งที่ คนอื่นพูดด้วยอย่างตั้งใจได้ ฟังไม่จบ เมื่อต้องทำอะไรอาจจะทำได้ไม่เสร็จ หรือไม่ทันตามเวลา
(2) อยู่ไม่นิ่ง Hyperactivity) เด็กจะอยู่ไม่นิ่งและเคลื่อนไหวมากเกินปกติเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน มักชอบปีนป่าย วิ่งไปมา และรู้สึกทนไม่ได้เมื่อต้องทำ กิจกรรมที่อยู่นิ่งกับที่สงบๆ เวลาคุยกันเด็ก
(3) หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) เด็กจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าทันที โดยขาดการยั้งคิดยั้งทำ ไม่คิดถึงผลที่ตามมาเมื่อทำไปแล้ว ทำให้มักมีปัญหากับเพื่อน และไม่สามารถทำตามกติกาหรือขั้นตอนที่วางไว้ได้ เวลาคุยกันเด็กจะพูดแทรก พูดโพล่งทันที
เด็กซนต่างกับเด็กสมาธิสั้น ดังนี้
(1) สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับตัวเองของเด็กสมาธิ สั้นพัฒนาช้ากว่าเด็กทั่วไปประมาณ 2-3 ปี
เด็กสมาธิสั้นจึงมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง ที่สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เล็กๆ และเด็กสมาธิสั้นจะไม่ใช่เด็กเรียบร้อยตั้งแต่เล็กๆ แล้วมาเปลี่ยนแปลงเป็นเด็กซนมากๆ ในตอนโต ถ้าเพิ่งเริ่มซนในตอนโตมักจะเกิดจากปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ตามใจมากเกินไป ปล่อยปละละเลย ให้ดูหน้าจอปริมาณมากและขาดการสอนวินัยตามวัย ส่งผลให้เป็นเด็กซนหรือสมาธิสั้นเทียม
อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กที่ยังอยู่ในวัยที่สมองส่วนหน้ายังพัฒนาไม่เต็มที่ส่งผลให้เด็ก ซนคล้ายๆ กัน ดังนั้นการวินิจฉัยมักเกิดขึ้นเมื่อเด็กใกล้เข้าสู่วัยเรียน (5-6 ปี) หรือ เด็กคนดังกล่าวแสดงอาการชัดเจนมากจริงๆ
(2) เด็กสมาธิสั้นซนในทุกสถานการณ์ ในขณะที่เด็กซนปกติจะเลือกสถานการณ์ เด็กสมาธิสั้นเป็นปัญหาในการควบคุมตัวเอง ซึ่งเกิดจากสมอง ดังนั้นจะซนในทุก สถานการณ์กับทุกสถานที่และบุคคล ไม่ว่าจะคุ้นเคยหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่เด็กซน ปกติจะรู้ว่าเขาซนได้ที่ไหนบ้างและใครที่คุมเขาได้ ที่สำคัญกับบุคคลและสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เขาจะยังไม่ได้เล่นซนทันที
(3) แม้สภาพแวดล้อมจะจริงจังเรื่องวินัย แต่เด็กสมาธิสั้นจะควบคุมตัวเองได้น้อยกว่าเด็กซนทั่วไป เมื่อมีการสอนวินัยอย่างจริงจัง ในเด็กที่ซนปกติจะสามารถเรียนรู้ได้ พัฒนาการควบคุมตัวเองได้ ในขณะที่เด็กสมาธิสั้นพัฒนาการควบคุมตัวเองได้น้อยหรือแทบไม่มีความแตกต่างเลย แม้เด็กสมาธิสั้นจะพยายามสุดความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอ
(4) แม้จะมีความสนใจหรือแรงจูงใจในการเรียนและทำกิจกรรมนั้น เด็กสมาธิสั้นยังคงมีปัญหาในการจดจ่อกับบทเรียนหรือทำกิจกรรมให้เสร็จ ในขณะที่เด็กซนปกติสามารถทำได้จนเสร็จ
(5) เด็กสมาธิสั้นมักมีความหุนหันพลันแล่นมากกว่าเด็กซนปกติ ความหุนหันพลันแล่นทำให้เด็กสมาธิสั้นขาดความยับยั้งชั่งใจ คิดอะไรจะทำทันที ขาดการไตร่ตรองถึงผลที่จะตามมา ส่งผลให้มีปัญหากับเพื่อนและในชั้นเรียนบ่อยๆ เช่น แย่งของเพื่อน แซงคิว รอคอยไม่ได้ระหว่างครูสอน
อย่างไรก็ตามหากพ่อแม่สงสัยว่าลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ควรปรึกษาจิตแพทย์ เด็กและวัยรุ่นต่อไป
อ้างอิง
มาโนช หล่อตระกูล, และปราโมทย์ สุคนิชย์. (2558). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี (พิมพ์ ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
Baumgartner, T A, Jackson, A S, Mahar, M T, & Rowe, D A (2015) Measurement for evaluation in kinesiology Jones & Bartlett Publishers
Flippin, R. (2022). Hyperfocus: The ADHD phenomenon of intense fixation. ADDitude. Retrieved June 13, 2022, from https://
www.additudemag.com/understanding-adhd-hyperfocus/