- ‘เวลาในขวดแก้ว‘ เป็นหนึ่งในนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของ อ.ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2554 ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในหนังสือดี 100 เรื่องที่เด็กไทยและเยาวชนควรอ่าน
- เวลาในขวดแก้ว พูดถึงปัญหาและความผิดหวังแหลกสลายของชีวิตวัยรุ่นไทย สะท้อนผ่านตัวละครที่มีพื้นฐานครอบครัว ภูมิหลัง และมุมมองความคิดที่แตกต่างกันออกไป
- เวลาในขวดแก้วประสบความสำเร็จอย่างมากจนมีการพิมพ์ซ้ำมากกว่า 38 ครั้ง ไม่นับรวมการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
“ถ้าฉันเก็บเวลาในขวดแก้วได้ สิ่งแรกที่ฉันจะทำ คือสะสมคืนวันที่ล่วงเลยมานิรันดร์ เพียงเพื่อมอบมันแก่เธอ…” ผมพลิกปกหลังของหนังสืออ่านนอกเวลาสมัยมัธยมขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังจากที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นคนแปลกหน้าที่คุ้นเคยตลอดระยะเวลาครึ่งชีวิตของผม
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ‘เวลาในขวดแก้ว’ เขียนโดย อ.ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นเรื่องราวของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ต่างคนต่างมีปัญหาชีวิตและภูมิหลังครอบครัวที่ต่างกันออกไป โดยมีพระเอกอย่าง ‘นัต’ หนุ่มน้อยหุ่นหมีในวัย 14 ปี หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า ‘อ้วน’ เป็นผู้ดำเนินเรื่อง
ที่โรงเรียน นัตมีเพื่อนร่วมแก๊งอีก 3 คน คือ เอก…ลูกพ่อค้าชาวจีนที่ถูกสอนให้ตั้งใจเรียนและอยู่ในกรอบ, ชัย…นักฟุตบอลที่อยากเป็นทหารเหมือนพ่อผู้ล่วงลับ และป้อม…หญิงสาวคนเดียวในกลุ่มที่บุคลิกภายนอกคล้ายกับผู้ชาย และชอบอ่านหนังสือปรัชญาของคาลิล ยิบราน
เดิมทีผมอยากจะเขียนถึงเส้นทางชีวิตของเพื่อนสักคนในแก๊ง เช่น ชัยที่ต้องขาเป๋ตลอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสนามฟุตบอล ส่งผลให้ชัยบอกลาความฝันในการเป็นทหาร หรือป้อม เพื่อนสนิทที่แอบหลงรักนัต ซึ่งแม้ว่าการแอบรักนั้นจะเจ็บปวด แต่เธอก็ยึดถือในปรัชญาความรักของคาลิล ยิบรานที่ว่า “ความรักไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง และก็ไม่รับเอาสิ่งใดนอกจากตนเอง ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมให้ถูกครอบครอง เพราะความรักนั้นเพียงพอแล้วสำหรับตอบความรัก” มาปลอบใจตัวเองร่ำไป
แต่พออ่านเรื่องราวของที่แสนซับซ้อนของตัวละครทุกตัวไปเรื่อยๆ สุดท้ายผมกลับตกหลุมรักตัวละครที่น่ารักอ่อนหวานอย่าง ‘หนิง’
แม้ว่าภายหลังเธอจะพลาด ‘ตั้งครรภ์’ ในวัยเรียน…แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมหลงรักตัวละครนี้น้อยลง
หนิงเป็นน้องสาวคนเดียวของนัต เกิดในครอบครัวที่แสนอบอุ่น มีพ่อ แม่ นัต ที่ต่างมอบความรักและดูแลเอาใจใส่เธอเป็นอย่างดี ทำให้หนิงเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใสของทุกคน กระทั่งวันที่พ่อกับแม่เริ่มมีปากเสียงกันครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงคนหนึ่ง…
การทะเลาะของพ่อแม่มีผลกระทบมากกว่าที่หนิงจะคาดคิด เริ่มจากการที่พ่อย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ไฟโทสะในใจทั้งคู่ลดลง กลับกันการห่างเหินยิ่งตอกย้ำให้ทุกคนมองว่าพ่อเลือกผู้หญิงแปลกหน้ามากกว่าครอบครัว
สำหรับหนิงแล้ว เธอก็เป็นเหมือนเด็กหลายๆ คนที่รู้สึกใจสลายทุกครั้งที่เห็นพ่อกับแม่พูดจาให้ร้ายซึ่งกันและกัน หนำซ้ำเธอยังคอยตกเป็นที่ระบายอารมณ์ของแม่ยามเผลอไปทำเรื่องอะไรให้แม่ไม่พอใจ โดยแม่มักดุด่าเธออย่างเกรี้ยวกราด ก่อนลงท้ายประโยคถึงลูกสาวว่า “ได้รับนิสัยเลวๆ จากพ่อ”
เท่านั้นไม่พอ แม่มักบ่นกรอกหูนัตกับหนิงเสมอถึงความไม่ดีของพ่อ เช่นพ่อเป็นคนไม่ดี ขี้เหล้าและเจ้าชู้ จนนานวันเข้า นัตกับหนิงก็เริ่มเชื่อที่แม่บอก แม้ในใจจะยังรักและโหยหาพ่อก็ตาม
พอพ่อย้ายไปกกอยู่กับผู้หญิงคนใหม่ สถานการณ์ในบ้านก็ยิ่งชวนอึดอัด ส่งผลให้นัตและหนิงไม่ค่อยอยากอยู่บ้านและหาข้ออ้างอะไรก็ได้ที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแม่ไม่นาน หนิงก็รู้ว่าแม่กำลังมีความรักครั้งใหม่กับ ‘ลุงอมร’ โดยเฉพาะวันที่แม่โทรมาที่บ้านกลางดึกเพื่อบอกลูกๆ ว่าคืนนี้จะนอนค้างที่บ้านลุงอมร
เมื่อไปอยู่บ้านนั้นบ่อยเข้า ในที่สุดแม่ก็เป็นฝ่ายเชื้อเชิญลุงอมรเข้ามาอยู่ในบ้านเสียเอง ซึ่งพอพ่อรู้ข่าวเข้าจึงปรี่มาต่อว่าแม่อย่างแรง…ถึงขั้นที่แม่เอาไวโอลินมาฟาดหน้าพ่อ ก่อนขอให้นัตย้ายไปอยู่กับพ่อชั่วคราว (ส่วนหนิงให้อยู่ที่นี่ตามเดิม)
ตั้งแต่ที่นัตย้ายออกไปอยู่บ้านพ่อ หนิงก็เริ่มไม่มีคนคอยพูดคุยให้คำปรึกษาเหมือนเก่า หนิงจึงชอบแวะมาหานัตที่โรงเรียนเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวคราวของพ่อกับแม่ แต่การไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันเหมือนเดิม ก็ทำให้การพูดคุยระหว่างสองพี่น้องไม่สนิทสนมเหมือนแต่ก่อน
ส่วนแม่พอมีความรักก็ดูจะให้อิสระหนิงในการกลับดึกหรือนอนค้างบ้านเพื่อนได้ ทั้งที่แต่ก่อนหากหนิงกลับบ้านดึก แม่จะลงโทษหนิงอย่างหนักโดยไม่ฟังเหตุผลสักคำ
หลังการสอบเสร็จสิ้น นัตก็ย้ายกลับมาอยู่กับแม่ โดยคืนนั้นเขากลับมากะทันหัน ด้วยความที่ห้องนอนของนัตห่างหายจากการดูแลทำความสะอาดไปนาน แม่จึงให้เขาไปนอนที่ห้องของหนิงซึ่งออกไปนอนค้างบ้านเพื่อน และคืนนั้นเองที่นัตบังเอิญพบกับไดอารี่ของน้องที่ระบายเรื่องราวอันหนึกอึ้งทั้งหมดของเธอ
“พ่อจากฉันไปในวันหนึ่ง ฉันเดินไปส่งพ่อที่หน้าบ้าน… เราเดินจูงมือกันเงียบๆ พยายามเดินให้ช้าที่สุด ราวกับจะยึดเยื้อเวลาของการจากพรากให้ยาวนานออกไป มือฉันเล็กเหลือเกินในอุ้งมือพ่อ ฉันไม่สามารถจะหุบนิ้วเกาะกุมมือพ่อได้หมด เล็กเกินกว่าจะยื้อยุดไว้จากการหลุดลอย และหัวใจฉันก็เจ็บปวดจนไร้เรี่ยวแรง ฉันพยายามที่จะถามพ่อด้วยคำถามต่างๆ แต่ไม่สามารถห้ามตัวเองจากการร้องไห้ ไม่สามารถให้เสียงสะอื้นกลายเป็นคำออดอ้อนอ่อนหวาน พ่อจูบลาฉันที่หน้าผาก ขับรถจากไปเงียบๆ ฉันทรุดตัวลงตรงนั้น เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้จักความอ้างว้างและหนาวเย็นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตลอดมา”
หรือจะเป็นเรื่องระหว่างหนิงกับแม่ที่แฝงไว้ด้วยการตัดพ้ออันแสนสะเทือนใจ
“เมื่อฉันยังเป็นเด็กเล็กๆ ฉันอยากกอดแม่เหลือเกิน ทุกๆ วันที่ฉันเฝ้ารอคอย แต่แม่ก็เฝ้าทะเลาะกับพ่อ และเป็นทุกข์…จนลืมที่จะกอดฉัน
พอฉันเติบโตขึ้น แม่ก็เลิกร้างกับพ่อ แม่เป็นสิ่งเดียวที่ฉันเหลืออยู่ ทุกๆ วันที่ฉันรอคอย…ที่จะได้กอดแม่ แต่แม่ก็เฝ้าวุ่นวายกับงาน จนไม่มีเวลาที่จะกอดฉัน แม่มีผู้ชายคนใหม่ ฉันสัมผัสได้…ถึงความสุขของแม่ ทุกๆ วันที่ฉันยังคงเฝ้าฝันถึงอ้อมกอดของแม่อย่างเงียบๆ ตลอดเวลาที่เฝ้ารอคอย…ที่จะได้กอดแม่ แต่อ้อมกอดของแม่ก็ไม่เคยมีเวลาว่างสำหรับฉัน”
สำหรับผม ‘อ้อมกอด’ ของพ่อแม่ เปรียบได้กับของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพราะอ้อมกอดของพ่อแม่นั้นไม่เพียงช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย แต่ยังเป็นวัคซีนทางใจที่ดีที่สุด ซึ่งน่าสงสารที่หนิงไม่ได้รับมันจากแม่ นับวันเธอยิ่งรู้สึกถึงคำว่า ‘ตัวคนเดียว’ จนนำสู่แสวงหาอ้อมกอดใหม่ๆ ในชีวิต
ไม่กี่วันต่อมา หนิงก็กลับมาบ้านอย่างเงียบๆ เธอบอกนัตว่าเบื่อทุกสิ่งทุกอย่างในบ้าน โดยเฉพาะแม่ที่เอาแต่ห่วงสามีใหม่ ส่วนนัตก็ดูเหมือนจะห่วงใยหนิงเป็นพิเศษ แต่ด้วยตัวเขาก็มีปัญหาของตัวเอง เขาจึงไม่ได้สนใจเรื่องราวของน้องสาวมากนัก
หนิงกลับบ้านช้าลงจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือบางวันเธอก็ทำท่าเหมือนไม่อยากเดินเข้าบ้าน บางวันก็เมาเหล้าเพ้อเจ้อ ขณะเดียวกันแม้นัตจะรักหนิงมาก แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับพ่อแม่ที่ปล่อยให้หนิงว้าเหว่ลำพัง
และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในคืนหนึ่งที่หนิงโผเข้ามากอดนัต ก่อนสารภาพสั้นๆ ว่า ‘มีเด็ก’ ทำเอานัตช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จุดที่น่าสนใจคือนัตตัดสินใจแก้ปัญหาให้กับน้องสาวด้วยการปรึกษาเพื่อนผู้หญิงอย่างป้อม แทนที่จะขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่สักคน ตรงนี้ผมทั้งเห็นใจกับขัดใจกับการตัดสินใจของนัต
ผมเห็นใจว่าถ้านัตเลือกจะปรึกษาแม่ แน่นอนว่าแม่อาจด่าว่าตบตีหนิงอย่างหนัก เพราะสำหรับลูกๆ แม่คือคนใจร้อนขี้โวยวายที่ไม่ยอมฟังใครนอกจากตัวเอง ส่วนพ่อก็ไม่เคยมาสนใจใยดีอะไรอยู่แล้ว นอกจากพูดประโยคเดิมๆ ว่าโตขึ้นลูกจะเข้าใจเอง
แต่การที่นัตปรึกษาเพื่อนก็สร้างความขัดใจให้ผม เพราะแม้เพื่อนจะเป็นเพื่อนสนิทหรือดีเลิศแค่ไหน แต่ก็ยังเป็นเพียงเยาวชนที่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นแม้นัตกับเพื่อนจะหวังดี แต่ก็เป็นเพียงความหวังดีของเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
อย่างไรก็ดี นัตตัดสินใจชัดเจนแล้วว่าจะพาหนิงไป ‘ทำแท้ง’ ที่คลินิกเถื่อนย่านพระโขนง ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เด็กในท้องเกิดออกมาและกลายเป็นฝันร้ายที่ประจานหนิงต่อผู้คนในสังคม ไหนจะพ่อแม่ที่หากรู้ข่าวคงต้องทำโทษน้องสาวอย่างหนัก
นัตพยายามเก็บรวบรวมเงินของตัวเอง ยืมเพื่อนบ้าง ขโมยแม่บ้าง จนสามารถพาหนิงไปทำแท้งได้ แต่นั่นก็แลกมากับการที่หนิงไม่สามารถมีลูกได้ตลอดชีวิต
“…หมอพูดขึ้นเบาๆ “เด็กคนนั้นไม่มีโอกาสที่จะมีลูกได้อีกแล้ว” วูบหนึ่งที่ผมเห็นแววสลดและหดหู่ปรากฏขึ้นในดวงตาที่เฉยเมยคู่นั้น…ตอนนั้นผมยังไม่ทันนึกอะไรมาก แต่อีกหลายปีต่อมา เมื่อเห็นแววเช่นเดียวกันนั้นในสายตาของหนิง จึงทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของหมอในวันนั้นได้เป็นอย่างดี”
ถึงบรรทัดนี้ ผมลองเดินไปเล่าเรื่องของหนิงให้พี่ผู้หญิง 3 คนที่มีลูกฟัง ปรากฏว่าคนแรกให้ความเห็นว่าเป็นเพราะเด็กผู้หญิงขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ว่ามีเวลาหรือไม่มีเวลาให้ ส่วนการทำแท้งนั้นเป็นเรื่องสิ้นคิดที่รับไม่ได้ สวนทางกับอีกสองคนที่มองว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ต่างหากที่ควรมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าคลอดลูกแล้ว ที่เหลือก็ปล่อยลูกเผชิญโลกไปตามมีตามเกิด ขณะเดียวกันเชื่อว่าการทำแท้งนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้หากว่าผู้ที่ทำแท้งนั้นมีอายุครรภ์ไม่เกิน 2 เดือน
หนังสือเวลาในขวดแก้ว เป็นหนึ่งในนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของอ.ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2554 โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในหนังสือดี 100 เรื่องที่เด็กไทยควรอ่าน หลายโรงเรียนเลือกเวลาในขวดแก้วมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยม รวมถึงถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในหลายโอกาส