- พ่อแม่ผู้ปกครองน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Learning by Doing’ หรือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำอยู่บ้าง ซึ่ง ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา กล่าวว่า ‘การลงมือทำ’ ในวัยเด็กก็คือ… ‘การเล่น’
- การปล่อยให้เด็กเล่นอย่างเต็มที่จึงเป็นการสนับสนุนเจตจำนง (willing) ตามธรรมชาติของความเป็นเด็ก โดยธรรมชาติ ‘ความเป็นเด็ก’เป็นวัยที่มีชีวิตชีวาและมีอิสระ ผ่าน ‘sense’ 4 ด้าน
- ‘การเล่นให้มากพอ’ ในความหมายของเด็กอนุบาล เป็นการทะนุถนอม ปกป้องและดูแลเด็ก เพราะหากผู้ใหญ่ไม่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เล่น สุดท้ายแล้วเด็กก็จะสูญเสียอิสระจากข้างใน แล้วแสดงออกมาทางพฤติกรรมต่างๆ
มาเล่นกันเถอะ!
เมื่อได้ยินวลีนี้ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เชื่อว่าสิ่งที่แว๊บเข้ามาในความคิดหรือความทรงจำชั่วขณะหนึ่ง น่าจะให้ความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความสนุกสนาน ตื่นเต้น และเป็นอิสระ
การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน แต่ในสายตาผู้ใหญ่การเล่นของเด็กอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่มีสาระนัก แต่การเล่นในวัยเด็ก โดยเฉพาะแรกเกิดจนกระทั่งอายุ 7 ขวบไม่ได้เป็นเรื่องที่สูญเปล่า ที่สำคัญยังช่วยสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ในระยะยาว
ในเวทีเสวนาออนไลน์ ‘Play with your Heart การเล่น สีสันและเจตจำนงของชีวิต’ ส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Play Worker Up!’ การเวิร์กชอปออนไลน์ สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองและคนทำงานกับเด็ก ที่ออกแบบโดย Fathom Bookspace ร่วมกับเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก สนับสนุนโดย สถาบันส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งใจสื่อสารให้เห็นถึงสาระสำคัญของการเล่นในวัยเด็ก เพื่อตอกย้ำให้พ่อแม่ผู้ปกครองวางใจได้ว่า…การเล่นไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้แต่จะช่วยเติมพลังชีวิตและส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กได้
ธรรมชาติความเป็นเด็กอยู่กับการเล่นตลอดเวลา
พ่อแม่ผู้ปกครองน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Learning by Doing’ หรือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ อยู่บ้าง ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา กล่าวว่า ‘การลงมือทำ’ ในวัยเด็กก็คือ… ‘การเล่น’
ตามธรรมชาติแล้วเด็กเล่นตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน ครูมอสชวนสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆ ว่าเด็กที่เล่นได้อย่างเพลิดเพลินและเป็นธรรมชาติตลอดเวลามักอยู่ในช่วงวัยอนุบาล เพราะเด็กไม่ได้มองการเล่นเป็นแค่ ‘กิจกรรม’ แต่เป็น ‘ชีวิต’ การเล่นจึงมีความหมายกับเด็กมากในช่วง 7 ปีแรก
“คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กหรือใครที่ทำงานด้านปฐมวัยจะเห็นตรงนี้ เด็กหลายคนตื่นเช้ามาจะไปที่มุมของเล่นในบ้าน ขณะคุณพ่อคุณแม่กำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมอาหารเช้า บางทีอาจกำลังแอบยิ้มอยู่เพราะลูกไปเล่นเองโดยที่ไม่ต้องบอกว่า…ลูกไปเล่นก่อนนะ
ธรรมชาติของแต่ละบ้านอาจไม่เหมือนกันแต่เชื่อว่าภาพรวมมักเป็นแบบนี้ หรือเด็กมาถึงห้องเรียนก็เล่นเลย อยากให้ทุกคนเห็นว่าการเล่นเป็นชีวิตของเด็กอย่างแท้จริงและชัดเจนมากใน 7 ปีแรก และให้ความสำคัญว่าธรรมชาติของเด็กเป็นวัยที่เรียนรู้ชีวิตของตัวเองทางด้านร่างกายและใจด้วยการเล่น หลังจากนั้นเด็กจะไม่ได้อยู่ในโหมดนี้มากนักและจะเข้าสู่โหมดถัดไปในช่วงชีวิตของเขา”
การปล่อยให้เด็กเล่นอย่างเต็มที่ เล่นจนอิ่ม และได้เล่นอย่างเอร็ดอร่อย สนับสนุนเจตจำนง (willing) ตามธรรมชาติของความเป็นเด็ก ครูมอส ขยายความถึง ธรรมชาติ ‘ความเป็นเด็ก’ ซึ่งเป็นวัยที่มีชีวิตชีวาและมีอิสระ ผ่าน ‘sense’ 4 ด้าน ที่มนุษยปรัชญาเรียกว่า ‘สัมผัส’ ได้แก่
- สัมผัสทางกาย (Sense of Touch)
- สัมผัสของชีวิตหรือการดำรงอยู่ (Sense of Life)
- สัมผัสของการเคลื่อนไหว (Sense of Movement) และ
- สัมผัสความสมดุล (Sense of Balance)
“Sense of Touch เริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ของมารดา ถือว่าเป็นการสัมผัสทางกายของคุณแม่มาตลอด รวมถึงสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น และกายเมื่อออกมาสู่โลกภายนอก หากได้รับสัมผัสนี้เพียงพอเด็กจะมีความมั่นคงและไม่รู้สึกกลัว
Sense of Life สัมผัสของชีวิตหรือการดำรงอยู่ หมายถึง ความรู้สึกสบายกาย ยกตัวอย่างเวลาไม่สบายกาย เช่น ตอนมีไข้ต่ำ ไม่สบายตัวหรือมีการบาดเจ็บ พ่อแม่จะสังเกตเห็นได้ว่าเด็กดูไม่ค่อยสบายตัวนะ Sense of Movement ก็คือกายที่เคลื่อนไหว ตรงนี้เห็นชัดในตัวเด็กเพราะเด็กมักไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ และการเคลื่อนไหวที่เป็นหัวใจหลักในช่วง 7 ปีแรก คือ การเล่น
การเคลื่อนไหวของเด็กในทางมนุษยปรัชญา คือ ธาตุน้ำ ส่วนกายของเด็ก คือ ธาตุดิน ดังนั้นหากเราจับคู่กันระหว่างน้ำกับดิน เปรียบเทียบได้ว่าถ้าเด็กไม่มีการเคลื่อนไหวเลยก็จะไม่สามารถมีพลังชีวิตมากพอ”
“เราพอจะอนุมานได้ว่าตรงไหนมีแต่โต๊ะและเก้าอี้ให้เด็กนั่ง การเรียนรู้ตรงนั้นจะเป็นอย่างไร ส่วนถ้าตรงไหนเป็นห้องโล่งๆ เป็นที่กว้างก็จะอนุมานได้ว่าเด็กในวัยเล็กๆ จะได้ทำอะไรบ้าง สุดท้าย Sense of Balance ทุกสัมผัสที่เข้ามากระทบกับเด็กใน 7 ปีแรกเกี่ยวข้องกับความสมดุลทั้งนั้น เช่น เด็กเล่นอยู่ในบ้านหยิบของเล่นมาต่อกันเป็นมิติที่สูงขึ้น การเริ่มหัดเดิน การเดินบนขอนไม้หรือการเดินไปในเส้นทางธรรมชาติ”
ดังนั้น หากผู้ใหญ่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กด้วย sense ทั้ง 4 ได้อย่างครบถ้วน เด็กจะสามารถเรียนรู้และเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ‘การเล่น’ จึงเป็นคำตอบที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการได้อย่างสอดคล้องตามช่วงจังหวะพัฒนาการของเด็ก
การเล่นอย่างอิสระแบบมีขอบเขต
การเล่นไม่จำเป็นต้องใช้ ‘ของเล่น’ เท่านั้น เด็กสามารถเล่นผ่านงานเล็กๆ ในบ้าน เช่น การจัดจานจัดโต๊ะ ช่วยงานบ้านพ่อแม่ นอกจากนี้ การเล่นแนวศิลปะยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเด็ก สังเกตเห็นได้จากผนังบ้านหรือหน้าหนังสือที่มักถูกเด็กๆ ขีดเขียน แม้ดูไม่เป็นรูปเป็นร่างแต่เด็กได้ทำงานกับมือและเท้าด้วยพลังชีวิตที่แสดงออกถึงการเล่นอย่างอิสระ
“หัวใจของการเล่นไม่ได้อยู่ที่ของเล่น แต่อยู่ที่ความเป็นอิสระที่ผู้ใหญ่รอบข้างมีให้กับเด็กจริงๆ…
การวาดรูปเล่นเป็นคำไทยที่น่ารัก เราไม่มีโจทย์ตั้งให้เด็กทำ การเล่นที่เป็นอิสระผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงเด็กเลย ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือตั้งคำถามกับทุกอย่างที่เขาเล่น ไม่ต้องถามว่าเด็กวาดอะไร ปล่อยให้เขาได้เล่น เพราะทุกๆ ครั้งของการเล่น เด็กจะได้ทำงานกับจินตภาพ (imagination) แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ภาพวาดต่างๆ จะกลับไปที่การทำงานกับความคิด เส้นที่แสดงออกมาจะมีความแตกต่างกัน ผู้ใหญ่ไม่สามารถวาดลายเส้นออกมาเหมือนเด็กได้”
“เวลาเล่นมันมีภาพที่กำลังทำงานอยู่ แล้วค่อยๆ ถูกนำมาร้อยเรียง เด็กไม่ได้ใจลอยนะ เช่น ถ้าเล่นกับของเล่นต่างๆ เขาอาจหยิบขอนไม้มาสองขอน หยิบเมล็ดพืช หยิบบล็อกมาประกอบเป็นบ้านหลังหนึ่ง ข้างในเขามีภาพบ้านหลังหนึ่งอยู่ เช่นเดียวกับการวาดภาพเด็กจะขยายจินตภาพไปตามช่วงวัย” ครูมอส อธิบาย
อย่างไรก็ตาม ครูมอส กล่าวว่า ผู้ใหญ่สามารถช่วยสนับสนุนการเล่นอย่างอิสระแบบมีขอบเขตได้ นอกจากของเล่นต่างๆ แล้ว เครื่องมือไม่ว่าจะเป็นปากกา ดินสอ สีเทียนหรือสิ่งที่ช่วยอำนวยการลากเส้นสามารถนำมาเป็นอุปกรณ์ประกอบการเล่นให้กับเด็กๆ
“ถ้าเราไม่เตรียมพื้นที่ไว้ เด็กจะไม่รู้ว่าต้องไปวาดตรงไหน เด็กเลยไปวาดที่กำแพงบ้าง โต๊ะบ้าง เพราะเขาไม่รู้ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน ถ้าสมมุติว่าบางบ้านเตรียมพื้นที่ให้เด็กไว้ เช่น กระดาษแผ่นกว้างๆ ขนาดประมาณ A3 ซึ่งเป็นกระดาษที่เหมาะกับเด็กเล็ก แน่นอนเราเห็นบ่อยๆ ว่าเส้นของเขามักเลยขอบกระดาษออกมา แต่มันเลยกระดานไหม ส่วนใหญ่ไม่เลยกระดานนะ เพราะว่ากระดานเป็นขอบเขตที่เหมือนเป็นจุดไข่ปลาบอกว่า…วาดบนกระดาษนี้เเต่ให้อยู่บนกระดาน”
“หากเราไม่มีขอบเขตเลยแล้วเด็กใช้สีเขียนไปรอบบ้าน ถ้าอยู่ในบ้านที่มีความเข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่เข้าใจก็เป็นปัญหาได้เหมือนกัน ฉะนั้นความเป็นอิสระตรงนี้อยากให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่า กระดาน คือ ขอบเขตให้เด็กได้วาดเล่นอย่างมีอิสระ”
รู้จักและเข้าใจเด็กจากการเล่น
แม้ผู้ปกครอง ครู และคนที่ทำงานกับเด็กจะไม่ได้เป็นนักศิลปะบำบัด แต่ครูมอสบอกว่า หากสังเกตชิ้นงานศิลปะของเด็กๆ อย่างใส่ใจจะสามารถทำความรู้จักและเข้าใจเด็กๆ ได้มากขึ้น เช่น ช่วงเริ่มขีดเขียนถึง 3 ขวบ ลายเส้นของเด็กจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างและต่อมาจะเกิดเป็นรูปฟอร์มมากขึ้น แต่หากรูปฟอร์มนั้นมีลักษณะสมมาตรชัดเจน มีตัวอักษรหรือตัวเลขปรากฏในรูป เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าเด็กกำลังทำงานกับการเรียน เขียน อ่าน แล้วนำมาวาด ซึ่งเป็นการใช้ความคิดมากกว่าความอิสระตามธรรมชาติ
“อย่าได้แปลกใจเวลาเด็กเดินไปที่ไหนจะใช้มือและเท้าสัมผัสตามที่ต่างๆ เปรียบเทียบเท้าของเด็กแทนพู่กัน เริ่มต้นเช้าวันใหม่สังเกตว่าเขาเดินเป็นรูปทรงอะไร เขาไม่ได้เดินเป็นสี่เหลี่ยมและวงกลมนะแต่เขาเดินในรูปทรงที่เป็นธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเราให้พื้นที่กับเด็กมากพอ เช่น การเล่นที่มีอิสระกับมือก็ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาด้านร่างกาย และเพื่อหลีกเลี่ยงภาพจำ เช่น ภาพการ์ตูน รวมถึงการรบกวนจากสัมผัสภายนอก วัยเด็กจึงควรเสพมือถือให้น้อย”
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ลูกผ่อนคลายและรู้สึกเป็นอิสระกับการเล่น ครูมอส บอกว่า พ่อแม่สามารถสนับสนุนให้ลูกเล่นผ่านงานศิลปะด้วยการระบายสีน้ำ
“มองแบบผิวเผินเราอาจคิดว่าการเล่นอย่างอิสระเด็กต้องได้วิ่งตลอดเวลา แต่ความจริงแล้วเด็กไม่ต้องวิ่งก็ได้ สัมผัสของการเคลื่อนไหว (Sense of Movement) เกิดขึ้นเมื่อได้ระบายสี ได้วาดภาพ และใช้จินตนาการจากข้างใน
เราสามารถใช้การระบายสีน้ำทำคู่ขนานไปได้ เพราะพลังของธาตุน้ำให้ความชุ่มชื่นพัฒนาข้างในของเด็ก น้ำจะพาสีไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องควบคุม เป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เด็กรู้สึกสบายๆ โดยพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องให้โจทย์และไม่ต้องมีคำสั่งว่าต้องวาดหรือทำอะไร”
“ถ้าเด็กไม่ทำ เราพาทำได้โดยไม่ต้องสอนด้วยการทำให้ดู ผมเจอเด็กที่ไม่อยากทำอะไรเลย พอมาถึงเขาลงไปใต้โต๊ะและนั่งเฉยๆ แม่พามาวาดรูปทำไม ไม่ได้อยากมานะ ในเคสนี้เด็กอาจมีการต่อต้านหรือรู้สึกว่าแม่บังคับให้เขาทำอะไรหลายๆ อย่าง ผมเอากระดานออกมาสองชุด ชุดที่หนึ่งวางไว้ใกล้ๆ เขา และชุดที่สองผมระบายสีเอง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา คือ เด็กคนนั้นเอาพู่กันมาแตะสีเล็กน้อยในวันนั้น“
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ยังสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้จากของเล่นจากธรรมชาติ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังต้นทางของวัตถุดิบก่อนมาเป็นของเล่นแต่ละชิ้น ของเล่นธรรมชาติทำให้เด็กได้มองเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ยกตัวอย่างของเล่นที่ทำจากไม้ เช่น ขอนไม้ หรือ เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น ฝักสะบ้าหรือเมล็ดมะค่าโมง
“ข้อดีของของเล่นธรรมชาติ เด็กจะได้เห็นว่าของเล่นนั้นมีที่มาอย่างไร เช่น ขอนไม้เล็กๆ ที่มาจากไม้จามจุรีข้างบ้าน มันจะกลับไปที่ต้นทางว่าของเล่นนี้มาจากต้นไม้ใหญ่ที่เรียกว่าอะไร กิ่งของต้นไม้นั้นทิ้งตัวลงมา แล้วเราเก็บกิ่งนี้มาด้วยกันเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ความหมายของของเล่นธรรมชาติจึงมีคุณค่ากับต้นทาง ของเล่นที่มาจากธรรมชาติอาจหาไม่ได้ในอีกพื้นที่หนึ่งแต่หาได้ในอีกพื้นที่หนึ่ง แล้วในพื้นที่ที่หาของเล่นธรรมชาติไม่ได้ เด็กจะเล่นได้ไหม เราต้องมองบริบทด้วย เช่น ในพื้นที่สลัมมีบ้านไหนที่เก็บของเก่า บ้านที่เก็บของที่ไม่มีประโยชน์แล้ว หรือเก็บเพื่อเอาไปขาย เด็กที่อยู่แถวนั้นมองสิ่งเหล่านี้เป็นของเล่นได้ เพราะเด็กเล่นจากอะไรก็ได้” ครูมอส ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ระบบการศึกษาโดยเฉพาะในระดับปฐมวัย นอกจากการเรียนให้อ่านออกเขียนได้แล้ว ผู้ใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับคำว่า ‘เล่นอย่างอิสระ’ มากพอไหม เพราะเหตุปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเด็กในอนาคต หากผู้ใหญ่ไม่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เล่น เด็กจะสูญเสียอิสระจากข้างในแล้วแสดงออกมาทางพฤติกรรมต่างๆ
“เมื่อเรากลับมาเห็นเด็ก 8-10 ขวบหมดแรง แล้วมาทำศิลปะบำบัดอยู่หลายเคส เวลาเด็กมาระบายสี เขาไม่ได้ต้องการโจทย์อะไรเลย เขาเเค่อยากกลับไปหาอิสระที่ขาดไปในช่วงอนุบาล พอเราให้เขาได้เป็นอิสระพลังชีวิตจะเกิดขึ้น คำว่า Kindergarten หรือ โรงเรียนอนุบาล เป็นภาษาเยอรมัน แปลง่ายๆ คือ สวนเด็ก ดังนั้น ใน 7 ปีแรกมองเห็นภาพได้เลยว่ามันต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ การเล่นให้มากพอในความหมายของเด็กอนุบาลเป็นการทะนุถนอม ปกป้องและดูแลเด็ก”