- พรสวรรค์ไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป เคล็ดลับความสำเร็จของผู้คนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ เป็นส่วนผสมของ ‘ความหลงใหล’ (passion) และ ‘ความพากเพียร’ (perseverance) ที่มีอยู่ในตัวบุคคล หรือที่เรียกว่า ‘Grit’
- Grit จึงไม่เกี่ยวกับโชคช่วย และไม่ใช่ความต้องการบางสิ่งบางอย่างอย่างแน่วแน่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่จะทำจนกว่าจะสำเร็จ เป็นคนที่ใส่ใจและยึดมั่นกับเป้าหมายอย่างแน่วแน่ชนิดกัดไม่ปล่อย แม้ว่าลงมือทำแล้วล้มเหลวก็พร้อมสู้ใหม่ได้อย่างหนักแน่น
- ในทุกสาขาอาชีพ Grit เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่มีความสำคัญไม่ต่างจากพรสวรรค์ ดังนั้นการสร้างนิสัยที่ช่วยส่งเสริมให้ Grit แข็งแรงเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ
เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในชีวิต
หากลองมองให้ดี ‘ความสำเร็จ’ เป็นนามธรรมที่จะว่าไปก็มีหลากหลายมาตรฐาน ความสำเร็จของบางคนผูกกับชื่อเสียงเงินทองหรือรายได้ บางคนมองหาการเป็นที่ยอมรับ หรือบางคนให้คุณค่ากับความสุข ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จที่หลายคนพยายามตามหาและไขว่คว้า แตกต่างกันตามเป้าหมาย ความฝันหรือความคาดหวังของตนเอง รวมถึงความสำเร็จที่คนอื่นฝากความหวังไว้
หลายคนตั้งคำถามถึงวิธีการสู่ความสำเร็จ อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนที่สำเร็จกับคนที่ล้มเหลว อะไรกันแน่ที่เป็นความลับไปสู่ความสำเร็จเหล่านั้น ทำไมคนบางคนถึงได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ขณะที่บางคนจะกลับตัวก็ไม่ได้จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง จนต้องล้มเลิกระหว่างทาง!
แองเจลา ลี ดักเวิร์ธ (Angela Lee Duckworth) นักจิตวิทยาและนักวิจัย ได้นำเสนอข้อมูลการศึกษาพบว่า เคล็ดลับความสำเร็จของผู้คนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ ไม่ใช่ ‘พรสวรรค์’ (talent) แต่เป็นส่วนผสมของ ‘ความหลงใหล’ (passion) และ ‘ความพากเพียร’ (perseverance) ที่มีอยู่ในตัวบุคคล หรือที่เธอเรียกสั้นๆ ว่า ‘Grit’ นั่นหมายความว่า พรสวรรค์ไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป ข้อค้นพบนี้ถูกค้นพบในปี 2007 อย่างไรก็ตาม หลังจากดักเวิร์ธถูกรับเชิญให้ขึ้นพูดบนเวที TED talk ในปี 2013 ‘Grit’ ได้ถูกพูดถึงทั้งในแวดวงการศึกษาและธุรกิจอย่างกว้างขวางมาจนกระทั่งปัจจุบัน
Grit ไม่ใช่พรสวรรค์ และ ความสำเร็จไม่ได้มาจากโชคช่วย
เพื่อให้สามารถเข้าใจ Grit ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ดักเวิร์ธ กล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า…อะไรกันแน่ที่ไม่ใช่ Grit?
Grit ไม่ใช่พรสวรรค์ ไม่เกี่ยวกับโชคช่วย (luck) และไม่ใช่ความต้องการบางสิ่งบางอย่างอย่างแน่วแน่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่จะทำจนกว่าจะสำเร็จ
คนที่มีคุณสมบัตินี้อยู่ในตัว เป็นคนที่ใส่ใจกับเป้าหมายของตัวเองอย่างถึงที่สุด แทบจะเรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างของชีวิต และยึดมั่นกับเป้าหมายนั้นอย่างแน่วแน่ชนิดกัดไม่ปล่อย แม้ว่าลงมือทำแล้วล้มเหลวหรือพังไม่เป็นท่า พลังแห่งความต้องการความสำเร็จไม่มีทางมอดลงไปได้ง่ายๆ ซ้ำยังกลับมายืนหยัดและพร้อมสู้ใหม่ได้อย่างหนักแน่น
ดักเวิร์ธ ระบุชัดว่า Grit เป็นส่วนผสมของ ‘ความหลงใหล’ และ ‘ความพากเพียร’
เรามาทำความรู้จักกับความหมายของทั้งสองคำนี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้นกันดีกว่า
หนังสือคู่มือเรื่อง ‘คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งและคุณธรรม’ (Character Strengths and Virtues) โดย คริสโตเฟอร์ ปีเตอร์สัน และ มาร์ติน อี.พี. เซลิกแมน สองนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดในปี 2004 ได้ให้นิยามคำว่า ความพากเพียร หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดจากความสมัครใจและทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายชัดเจนแม้ต้องเผชิญกับปัญหา ความยากลำบากและอุปสรรค นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังได้กล่าวไว้เช่นกันว่า ถึงแม้ความพากเพียรไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่ความสำเร็จมักไม่บรรลุผลหากปราศจากความพากเพียร ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ มนุษย์ต้องมีความพากเพียรและอดทนต่อความล้มเหลวให้ได้
ขณะที่ ความหลงใหล (Passion) ได้ถูกเอ่ยถึงอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำพูดที่กระตุ้นให้ต้อง “ตามหาความหลงใหล ตามหาแพสชั่น” จนรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับชีวิต ไม่อย่างนั้นจะตามไม่ทันคนอื่น อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2018 นักวิชาการมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวถึงข้อค้นพบใหม่ว่า การกระตุ้นให้ผู้คนออกไปตามหา (find) แพสชัน อาจเป็นคำแนะนำที่มาจากความตั้งใจดีแต่ไม่ใช่คำแนะนำที่ดีนัก เพราะการตามหาเพื่อให้ค้นพบบางอย่าง มีความหมายที่เป็นการสร้างเงื่อนไขซ่อนอยู่ เช่น ถ้าไม่ตามหาหรืออยู่เฉยๆ ก็จะไม่พบแพสชัน หรือ ตามหาแล้วอาจจะไม่เจอแพสชันก็เป็นได้
นอกจากนี้ ‘การตามหา’ ยังเป็นการจำกัดมุมมอง ทำให้ต้องโฟกัสไปที่การค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งและละเลยเรื่องราวอื่นๆ รอบตัว จากการศึกษา พบว่า แพสชันไม่จำเป็นต้องตามหา เพราะเราสามารถพัฒนา (develop) ขึ้นมาได้จากสิ่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งสัมพันธ์กับกรอบคิดแบบเติบโต หรือ ‘Growth Mindset’ (อ่านเพิ่มเติม https://thepotential.org/knowledge/growth-mindset-coach-2/)
ความหลงใหล หรือ แพสชัน หมายถึง อารมณ์หรือความรู้สึกที่สะท้อนถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าและความกระตือรือร้นที่ไม่มีขีดจำกัด หนังสือ Aspire: Discovering Your Purpose Through the Power of Words โดย เควิน ฮอล์ (Kevin Halls) ที่นำเสนอความหมายและพลังของคำศัพท์และภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร กล่าวถึงความหมายดั้งเดิมของคำนี้ว่า หมายว่า ความเต็มใจที่จะทุกข์เพื่อสิ่งที่คุณรัก
แล้วอะไรบ้างเป็นสิ่งที่เรารัก?
เชื่อว่าคำตอบที่ได้…คงไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว
ดังนั้น ความหลงใหล จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ
ปั้น Grit ให้โตขึ้นและแข็งแรงขึ้น
ลองมาประเมินดูว่าคำพูดเหล่านี้เป็นตัวเรามากแค่ไหน
“ฉันสามารถก้าวข้ามความล้มเหลว เพื่อพิชิตเป้าหมายที่สำคัญในชีวิต”
“ความพ่ายแพ้/ความล้มเหลว ไม่ได้ทำให้ฉันท้อถอย”
“ฉันไม่ย่อท้อต่อการทำงานหนัก”
“เมื่อเริ่มต้นทำแล้ว ฉันจะทำมันจนจบ”
“ฉันเคยทำสำเร็จตามเป้าหมาย แม้ต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ”
“ฉันเป็นคนขยัน”
หากคำตอบ คือ ใช่ มากกว่าไม่ใช่!! นั่นหมายความว่า…Grit ของเราได้ถูกพัฒนามาถูกทางแล้ว
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในทุกสาขาอาชีพ Grit เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่มีความสำคัญไม่ต่างจากพรสวรรค์ ดังนั้นการสร้างนิสัยที่ช่วยส่งเสริมให้ Grit แข็งแรงเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น
- การตั้งเป้าหมายและกำหนดระยะเวลาสำหรับการทำเป้าหมายให้สำเร็จ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ยังคงเปิดพื้นที่ยืดหยุ่นไว้สำหรับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง โดยไม่ลดทอนเป้าหมายให้เล็กลง
- การจัดระเบียบการทำงานส่วนตัวและร่วมกับทีมงานให้ทุกฝ่ายเข้าใจเป้าหมายและทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่างานจะเสร็จสมบูรณ์ได้ตามที่กำหนด เรื่องนี้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนทั้งจากการเรียนและการทำงานแบบ work from home ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องอาศัยการจัดการตนเองและคนรอบข้าง เช่น การจัดระเบียบการเรียนตามตารางเรียนออนไลน์ที่ผู้เรียนต้องใช้ความตั้งใจและโฟกัสมากกว่าในห้องเรียนปกติ และการประสานการทำงานระหว่างผู้ปกครองและครู เพื่อให้สามารถจัดการสอนแก่ผู้เรียนได้ตามเป้าหมาย ในสถานการณ์เช่นนี้ Grit จะทำให้ผู้เรียน ผู้ปกครองและครู ฝ่าฟันความอึดอัด ความไม่สบายใจ และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปได้
- การเรียนรู้การจัดสรรแบ่งงาน มีความไว้วางใจผู้อื่นให้งานตามที่ได้รับมอบหมาย
การปั้น Grit ไม่ต่างจากการออกกำลังกายปั้นกล้ามเนื้อ ที่ต้องผ่านการยกน้ำหนัก ออกแรงซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง การกินโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ให้ได้อย่างเพียงพอ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้โตขึ้นและแข็งแรงขึ้น ยิ่งมีโค้ชคอยช่วยให้คำแนะนำ เป็นเข็มทิศพาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ยิ่งประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
ดังนั้น นอกจากการจัดการตัวเองแล้ว การพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีความหลงใหลและมีความเพียรพยายามจะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้เดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ ข้อสรุปจากการวิจัยของดักเวิร์ธได้สะท้อนให้เห็นแนวทางการออกแบบการเรียนรู้และการจัดระบบการศึกษา ดังนี้
ประการแรก เด็กที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งตามเป้าหมายที่วางไว้ ควรได้รับการสนับสนุนด้วยทรัพยากรที่มีอย่างเต็มความสามารถ เช่นเดียวกับเด็กที่ถูกมองว่ามีพรสวรรค์และมีความสามารถ
ประการที่สอง ผู้ปกครองและนักการศึกษาควรส่งเสริมให้เด็กทำงานที่ท้าทาย เผชิญกับความกดดันทั้งทางกายและใจได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมให้เด็กรับมือกับความล้มเหลวและผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นความโชคร้าย ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ปกครองและครูสามารถชี้ให้เด็กเห็นว่าความสำเร็จอาศัยการลงมือทำอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เวลา
และ ประการที่สาม การสร้างการเรียนรู้ในระบบการศึกษาต้องคำนึงเสมอว่า เป้าหมายของการศึกษาไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพียงผิวเผินในหลายๆ เรื่อง แต่ต้องส่งเสริมการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้เวลาเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
อ่านเพิ่มเติม
https://thepotential.org/knowledge/to-find-the-passion/
https://thepotential.org/knowledge/character-world-ep2-grit/
อ้างอิง