- หัวใจสำคัญของ Learning Box คือครูที่เข้าใจกระบวนการและสามารถที่จะออกแบบการเรียนรู้ ออกแบบประสบการณ์เรียนรู้ทั้งหมดให้กับเด็กเป็นรายบุคคล ใส่ลงไปในกล่องให้เด็กได้
- โรงเรียนบ้านยกกระบัตร ใช้ Learning Box ในการกู้คืนการเรียนรู้ให้กับเด็ก ทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะมีกล่องการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ตามความสนใจของเด็ก
- การจะแก้ปัญหา Learning Loss นอกจากเครื่องมือที่ตรงจุดแล้ว จำเป็นต้องช่วยกันทั้งครู ผู้ปกครองและตัวเด็กเองด้วย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัว ได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรม ที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือ
Learning Box เป็นเพียงกล่องเครื่องมือเสริมสร้างการเรียนรู้ธรรมดาๆ กล่องหนึ่ง ที่มีหัวใจสำคัญคือครูที่เข้าใจกระบวนการและสามารถที่จะออกแบบการเรียนรู้ ออกแบบประสบการณ์เรียนรู้ทั้งหมดให้กับเด็กเป็นรายบุคคล ใส่ลงไปในกล่องให้เด็ก ซึ่งกระบวนการสำคัญที่จะทำให้เด็กบรรลุภารกิจนั้นคือ STEAM Design Process (การตั้งคำถาม จินตนาการ วางแผนการทำงาน ลงมือปฏิบัติ และการสะท้อนคิด) ที่ต่อเนื่องจากการเรียนในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะของตนเองที่บ้าน
The Potential พาไปดูตัวอย่างวิธีคิดในการจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม Learning box ต้นแบบจากโรงเรียนบ้านปลาดาว หรือสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และผู้นำมาใช้อย่างโรงเรียนบ้านยกกระบัตร ภายใต้โครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือ ‘สมุทรสาครโมเดล’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภาคีเครือข่าย และจังหวัดสมุทรสาคร
โดยมีโจทย์สำคัญในการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ พร้อมต่อยอดสู่ห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz ห้องปฏิบัติการกู้คืนการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม ‘Learning Box’ ต้นแบบจากสตาร์ฟิชคันทรีโฮม
Learning box จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยการใช้ทักษะการคิด การลงมือปฏิบัติ รู้จักนำ สิ่งรอบตัวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำยากำจัดเหาจากใบน้อยหน่า การทำยากันยุงจากใบตะไคร้ การนำขวดพลาสติกหรืออาหาร มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือผลงาน ตลอดจนเกิดการต่อยอดจากการสร้างสรรค์ผลงานได้ แม้เด็กๆ จะเรียนรู้อยู่ที่บ้าน ก็สามารถมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์จินตนาการได้ทุกที่อย่างไม่ขาดตอน โดยผู้ปกครองเป็นผู้กระตุ้นความคิด และลงมือทำร่วมกับเด็กๆ จนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดเป็นทักษะติดตัวที่นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ Learning box ถูกออกแบบสำหรับเด็กแต่ละช่วงชั้น เพื่อให้ได้รับความรู้และทักษะเหมาะสมกับอายุและช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ศิลปะ เพื่อพัฒนาสมรรถนะ ทักษะการเรียนรู้ และทักษะด้านสังคมและอารมณ์ โดยเน้นกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กว่า ในระดับห้องเรียน เริ่มต้นประถมศึกษาปีที่ 1 สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กควรได้รับคือ การพัฒนาทักษะการอ่าน/การเขียน, การคิดคำนวนทางคณิตศาสตร์ และด้านสุขภาวะกายใจ นี่คือ 3 เรื่องหลัก ที่ควรต้องโฟกัสก่อน เพราะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่สามารถต่อยอดไปได้
“ในเรื่องของเนื้อหาเราก็เป็นกังวลใจว่ามันคงจะเป็นไปได้ยากที่จะมาสอนทุกอย่างที่มันหายไปแล้วเพิ่มในปีนี้ เพราะฉะนั้นทางที่เราได้ดำเนินการอยู่ก็คือมีการทำงานกับโรงเรียน ทางศึกษานิเทศก์ ทางจังหวัด ดูว่าอะไรที่จะคล้ายๆ กับตัว Learning outcome ที่เราจะมุ่งไปด้วยกัน
ที่นี้ถ้าเรายกตัวชี้วัดภาษาไทยป.3 เป็นตัวอย่าง ก็คือเราจะมีการตกลงกันว่าขอบข่ายการเรียนรู้ที่เราจะมุ่งเน้นนั้นจะประมาณขนาดไหน นี่คือมาตราฐานขั้นต่ำ แต่ถ้าโรงเรียนได้มากกว่านั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องดี อันนี้เป็นวิธีที่จะทำให้ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้ตรงจุดมากขึ้น แล้วก็มีการประเมินอย่างตรงจุดมากขึ้น ไม่อย่างนั้นมันจะดูเหมือนว่าเราต้องทำทุกๆ อย่างภายในระยะเวลารวดเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงมันคงจะปฏิบัติได้ยาก”
โดยในการออกแบบแผนการสอนของครูนั้น ควรเน้นที่การออกแบบแบบบูรณาการ เช่น อาจเป็นการจัดการเรียนรู้แบบสอนเสริม จัดการเรียนรู้แบบเป็นหน่วย หรืออาจมุ่งเน้นในเรื่องของสมรรถนะให้มากขึ้น
“หลายคนก็พูดว่าตอนนี้เราพูดถึง Learning Loss แต่เราต้องมองเรื่องของ Learning gain ด้วยว่าสิ่งที่เด็กจะได้ คือบางทีเราอาจจะไม่ต้องกลับไปทำซ้ำทุกอย่างที่เราเคยวางแผนไว้ก่อนโควิด เพราะฉะนั้นตอนนี้เราอาจจะต้องมาดูว่าอะไรที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด แล้วก็สามารถที่จะทำให้เด็กเขาก้าวกระโดดไปได้”
คำถามสำคัญคือ แล้ว Learning Box ดีอย่างไร ดร.นรรธพร ให้คำตอบว่า
“จริงๆ Learning Box มันก็เป็นแค่กล่อง หัวใจของมันจริงๆ คือ ครูที่เข้าใจกระบวนการและสามารถที่จะออกแบบการเรียนรู้ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งหมดให้กับเด็กรายบุคคล และใส่ในกล่องไปให้เด็กได้
ซึ่งในนั้นจะมีวิธีการออกแบบ กิจกรรมที่เด็กพอจะทำได้ แล้วก็มีกระบวนการ STEAM Design Process ที่ทุกคนก็จะเห็นว่าเวลาที่เด็กเขาคิดงานเขาก็จะคิดเป็นกระบวนการตรงนั้น”
เมื่อเด็กๆ ได้ฝึกคิดและวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน กลายเป็นว่าเขาจะเริ่มคิดเป็นสเต็ปโดยอัตโนมัติ เป็นกระบวนการคิดที่จะฝังอยู่ในตัวเด็กอย่างยั่งยืน
“ไม่ว่าเด็กเขาจะมาโรงเรียนได้หรือไม่ได้ กระบวนการนี้ก็คือทุนที่จะติดตัวอยู่ หรือแม้แต่กระทั่งการเรียนภาษาไทย ตอนนี้อย่างที่บอกว่าอย่างในโครงการนี้เรามาดูว่าเราต้องการที่จะมี Learning Outcome (ผลลัพธ์การเรียนรู้) อะไรบ้างที่เราตกลงร่วมกัน แต่อยากจะให้เปิดกว้างถึงวิธีการ เพราะว่าวิธีการแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
อย่างโรงเรียนบ้านปลาดาวหรือวิธีการของสตาร์ฟิช อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้สอนให้เด็กท่อง ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ได้ตั้งแต่แรก แต่เราเอาตัวพยัญชนะทั้งหมดมาแบ่งเป็น 4 เซ็ต เราสอนเด็กที่ละเซ็ต เซ็ตแรกก็เป็นพยัญชนะที่ใช้บ่อยและเป็นรูปศัพท์ทั้งหมด 12 ตัว เพราะฉะนั้นเด็กจะเรียนแค่ 12 ตัว ตัวยากๆ อย่าง ฏ.ปฏัก ฎ.ชดา ก็ยังไม่ต้องเรียน เขาเรียนเซ็ตหนึ่งเซ็ตสองซึ่งเป็นตัวที่ common (ทั่วไป) แล้วเขาก็เรียนผสมคำเลย อะ อิ อุ สระเสียงยาวก่อน เพราะฉะนั้นเด็กจะอ่านได้เร็วมาก”
หลักการสำคัญก็คือจะยังไม่สอนสิ่งที่เด็กยังไม่ใช้ ซึ่งโรงเรียนบ้านปลาดาวใช้วิธีการนี้มา 15 ปีแล้ว “เด็กของเราก็ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรก เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ยึดติดที่วิธีการ แต่ก็ต้องบอกว่าวิธีเหล่านี้อาจจะไม่เหมาะกับเด็กบางคนก็ได้ มันยังมีอีกหลายวิธีที่เราอาจทำได้ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ที่เราอยากจะเน้นย้ำก็คือเรื่องของภาษา ไทย คณิตศาสตร์ แล้วก็เรื่องของสุขภาวะของผู้เรียน”
ในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้นั้น ดร.นรรธพร แนะนำว่า สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือการฟังเสียงเด็ก เก็บความต้องการ ความสนใจของพวกเขามาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
“เราจะจัดยังไงให้เด็กเขาเห็นว่านี่มันเป็น need ของเขาแล้วเราสามารถที่จะเป็นโซลูชั่นให้เขาได้ ทีนี่เราไม่ต้องไปวิ่งไล่จับเด็กให้เขามาเรียนเสริม เพราะว่ามันเป็นความต้องการของเขา และความสำคัญที่โรงเรียน ครูต้องสามารถที่จะนำมาใช้ นำมาจัดเป็นแผนของโรงเรียนได้ เพราะฉะนั้นแผนโรงเรียนบ้านยกกระบัตรก็คงจะไม่เหมือนกับอีกหลายๆ โรงเรียน อันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เรารู้สึกว่าพอเราให้อิสระโรงเรียน ให้โรงเรียนได้เติบโตเองได้อย่างออแกนิคแล้วมันจะยั่งยืน แล้วมันก็จะเป็นของเขาจริงๆ”
ห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Lab โรงเรียนบ้านยกกระบัตร
‘โรงเรียนบ้านยกกระบัตร’ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดกลางของตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบฟื้นฟูการเรียนรู้ สมุทรสาครโมเดล จาก 40 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาหรือ ‘Learning Recovery’
ที่ผ่านมาโรงเรียนบ้านยกกระบัตร จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้โรงเรียนยังมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และพัฒนาโดยใช้กระบวนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตามวงจรพัฒนาคุณภาพ PDCA : Plan-Do-Check-Act หรือ วางแผน-ปฏิบัติ-ตรวจสอบ-ปรับปรุง
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเป็นการฝึกทักษะต่างๆ ให้กับนักเรียน เพื่อฝึกให้เด็กๆ คิดเป็นทำเป็น มีทักษะด้านอาชีพ เช่น กิจกรรมห้องครัว กิจกรรมห้องเกษตร กิจกรรมห้องงานช่าง กิจกรรม Sport for you เป็นต้น
“Learning Box เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การที่เด็กจะเรียนรู้ได้มันต้องครู ผู้ปกครอง เด็ก ร่วมมือกัน”
‘ครูแอม’ ปริญดา ใจสวรรณ์ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านยกกระบัตร เล่าว่า Learning Box เด็กๆ จะเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะมีกล่องการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เนื่องจากเน้นที่ความสนใจของตัวเด็กเป็นสำคัญ
“ยกตัวอย่างเช่น ครูสอนป.1 ช่วงที่ครูให้ Learning Box ไป คือช่วงที่สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ติดโควิดกันเยอะ ทีนี้ป.1 ของครูเขาจะสอบ RT สอบอ่านเขียน เป็นช่วงปลายๆ เทอมแล้ว ครูก็เลยดูว่าเด็กห้องเรามีเด็กคนไหนที่มีปัญหาบ้าง ปรากฏว่ามีอยู่สองคน ก็คือเขามีโทรศัพท์แต่ไม่มีไลน์ เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีในตอนนั้น แล้วเราจะทำยังไงให้เขาได้เรียนรู้ ได้ฝึกอ่านฝึกเขียน เน้นเรื่องการแต่งประโยคกับการอ่านรู้เรื่อง เพราะเราปูพื้นเรื่องประโยคมาบ้างแล้ว”
“ในช่วงนั้นเราใช้วิธีนัดให้ผู้ปกครองมารับกล่องเรียนรู้ที่โรงเรียน ให้คนละกล่อง แล้วก็จะมีวิธีการเรียนรู้ ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจก็จะมาถามครู คนอื่นเขาก็จะเป็นกล่องคนละแบบกัน ซึ่งในกล่องของเราก็จะมีใบกระบวนการ STEAM Design Process แล้วแต่ว่าเด็กอยากทำอะไร เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่บ้านได้เต็มที่ เริ่มต้นจากการตั้งคำถามก่อน เสร็จแล้วก็มาวาดภาพ แล้วก็ไปค้นหาว่าใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง วิธีการทำ จากนั้นก็ไปลงมือทำ พอทำแล้วเป็นยังไง ก็ต้องมาเขียนสะท้อนปัญหาในขั้นสุดท้าย”
“การทำ Learning box ก็แล้วแต่ตามความเหมาะสมว่าครูอยากให้เด็กฝึกอะไร เด็กมีปัญหาอะไร แต่ของครูเราเน้นภาษา เน้นการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งตัวกิจกรรมในช่วงโควิดเด็กๆ เขาได้ร่วมทำกับผู้ปกครองด้วย ได้ใช้เวลาร่วมกัน”
ครูแอมอธิบายว่า Learning Box เหมือนเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหา Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็ก
“สมมติว่าเรื่องการอ่านเขียน ครูก็เอากล่องนี้มาแก้ปัญหา ทีนี้เด็กอยู่บ้านไม่มีอะไรทำก็มาฝึกมาทำพวกนี้ ทำงานประดิษฐ์ ทำอาหาร ทำน้ำดื่มสมุนไพร เอาสักสิบนาทีทำพวกนี้ก็ยังดี มันได้เป็นทักษะชีวิตด้วย ได้ภาษาได้อะไรด้วย ดีกว่าเขานั่งเล่นโทรศัพท์ แล้วพอโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิด on-site ได้ ก็นำการทำ Learning Box มาปรับใช้กับวิชาต่างๆ ได้ เช่น ชุดการเรียนรู้ภาษาไทยของแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งประโยค สระ เป็นต้น แต่ถามว่ากล่องพวกนี้แก้ปัญหาเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ถ้าเราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กกับผู้ปกครองก็แก้ปัญหาไม่ได้”
นอกจากนี้ ครูแอมได้ใช้วิชาศิลปะและพื้นฐานของ Project Based Learning ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กสนุกกับการเรียนมากขึ้นและเป็น Active Learning ซึ่งเด็กไม่เพียงได้ฝึกอ่านเขียนยังได้ประดิษฐ์ชิ้นงานด้วย
อย่างไรก็ดี ในเป้าประสงค์ของการเรียนระดับชั้นประถมหนึ่งจำเป็นต้องเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานที่จะใช้ต่อยอดได้อีกมาก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กที่ครูแอมมองเห็นก็คือ เด็กมีพัฒนาการในการเรียนรู้ในทางที่ดี
การจะแก้ปัญหา Learning Loss นอกจากเครื่องมือที่ตรงจุดแล้ว จำเป็นต้องช่วยกันทั้งครู ผู้ปกครองและตัวเด็กเองด้วย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัว ได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรม ที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องให้ความร่วมมือ
แม้จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องเริ่มจากการที่เด็กตั้งคำถามเอง แต่ในเด็กบางคนยังเจอปัญหาหนักคืออ่านไม่ค่อยออกและเขียนยังไม่ค่อยได้ ครูจึงจำเป็นต้องนำทางในการตั้งคำถาม กระตุ้นให้เด็กเกิดความสงสัยในเรื่องในเรื่องหนึ่ง จากนั้นก็ให้เด็กทำกระบวนการต่อด้วยตนเอง จนจบกระบวนการ เช่น สัปดาห์นี้เรียนวิทยาศาสตร์ ครูก็ตั้งคำถามนำให้ก่อนว่า ถ้านักเรียนเป็นนักวิทยาศาสตร์นักเรียนจะประดิษฐ์อะไร?
“แต่ละคนก็มีความคิดหลากหลาย อย่างคนนี้อยากประดิษฐ์เรือดำน้ำ เขาก็จะไปดูวิธีทำมาว่าเรือดำน้ำนั้นทำยังไง ซึ่งตรงนี้ผู้ปกครองก็ช่วยกันด้วย แล้วก็ไปลงมือทำ ส่วนขั้นรีเฟล็กซ์อาจจะยังไม่ค่อยได้ก็ไม่เป็นไร เขาก็จะส่งรูปส่งคลิปมา”
“สิ่งที่เด็กๆ เขาจะได้ก็คือ ทักษะภาษา ฝึกอ่าน ฝึกเขียน ตั้งคำถามและหาคำตอบ ช่วยเหลือตัวเองเป็น รู้จักตนเองว่าชอบหรือมีความสนใจอะไร ฝึกกระบวนการทำงาน คิด วางแผน ลงมือทำ”
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือทัศนคติของครูที่มุ่งมั่นอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็ก อยากให้เขาทำได้ ทำเป็น พยายามเสาะวิธีการเพื่อมาช่วยส่งเสริมเด็กและสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วย เพราะนอกจากที่ครูจะต้องรู้จักเด็กเป็นรายบุคคลแล้ว ครูจำเป็นต้องรู้จักผู้ปกครองของเด็กเป็นรายบุคคลด้วย
“ความภาคภูมิใจของครูคือการทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และต่อยอดไปถึงการอ่านเอาเรื่องด้วย ซึ่งเด็กป.1ของครูอ่านได้ทุกคน เพียงแต่ว่าอ่านได้มากได้น้อยแล้วแต่ตามความสามารถเขา เพราะคนเรามันไม่ได้เก่งเหมือนกัน ตอนนี้ที่เป็นห่วงคือเด็กที่ย้ายมาใหม่มากกว่าที่เขาจะตามเพื่อนไม่ทัน”
“ฟีดแบคจากผู้ปกครองเองก็ไปในทางที่ดีเลย เพราะว่าลูกเขาได้ฝึกทำ แล้วได้มีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว เด็กบางคนก่อนโควิดไม่ค่อยอยากมาโรงเรียน แต่พอได้ทำกิจกรรมพวกนี้กับพ่อแม่ที่บ้าน เขาก็เริ่มอยากเรียนรู้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น แต่ถ้าจะให้อยู่บ้านอย่างเดียวมันก็ไม่ได้เกิดทักษะสังคม ได้เล่นกับเพื่อน ได้ฝึกการทำงานร่วมกัน เด็กๆ เขาก็อยากมาโรงเรียนมากกว่า”
กล่องการเรียนรู้ ‘ระบบสุริยะ’ ของหนู
“Learning Box ของหนูจะเกี่ยวกับระบบสุริยะค่ะ ก็คือจะทำเป็นแบบจำลองของโลกและดาวเคราะห์ต่างๆ ที่อยู่ในวงโคจรของดวงอาทิตย์ แล้วก็ดาวเคราะห์ทั้งหมดในรูปอาจจะดูว่ามีวงแหวนทั้งสี่ดวงแต่ว่าความจริงแล้วดาวเสาร์เห็นชัดที่สุดเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของเขาเลยค่ะ” ศิริรัตน์ ตรีบุตร หรือ สิ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านยกกระบัตร เจ้าของกล่องการเรียนรู้ ‘ระบบสุริยะ’ อธิบายสิ่งที่ตัวเองทำอย่างคล่องแคล่ว
“หนูชอบปั้นพวกสิ่งของจำลองอยู่แล้วค่ะ แล้วก็ชอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้วย ก็เลยเลือกทำแบบจำลองระบบสุริยะอันนี้ ในกล่องก็จะมีอุปกรณ์คือดินน้ำมัน แล้วก็ใบศึกษาที่ครูให้มา แล้วก็แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด บัตรคำให้ติดเวลาปั้นเสร็จก็จะติดว่าอันนี้คืออะไร มีดินสอ ปากกาด้วย”
เจ้าของกล่องเล่าว่า ในขั้นตอกแรกจะต้องวางแผนการทำงานโดยกระบวนการ STEAM Design Process ใบงานที่ครูจะใส่ไว้ในกล่อง จากนั้นเริ่มจากตั้งคำถาม หรือสิ่งที่อยากจะทำลงไปในนั้น
“หนูก็จะตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบสุริยะ หนูอยากรู้ว่าระบบสุริยะเป็นแบบไหน ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แล้วก็วาดรูปว่าเราจะทำออกมาแบบไหน จะปั้นออกมาแบบไหน ซึ่งเราต้องศึกษาแล้วก็วางแผนเอง แล้วก็ลงมือทำ ก็จะได้ออกมาเป็นผลลงานของหนูค่ะ อย่างอันนี้ดาวพุธก็จะเป็นสีขาว ดาวศุกร์ก็จะมีสีส้มกับสีขาวผสมกัน โลกก็จะมีสีเขียวๆ น้ำเงินๆ แล้วก็เสาร์จุดเด่นคือมีวงแหวน
เสร็จแล้วก็ต้องมาสะท้อนความคิดจากสิ่งที่ทำ สมมติว่าหนูปั้นดินน้ำมันได้ไม่ดีพอ หนูก็จะเขียนว่า ปั้นดินน้ำมันยังไม่ดีพอครั้งหน้าต้องทำให้ดีกว่านี้ น่าจะต้องศึกษาการผสมสีให้ดีกว่านี้ เพื่อให้ครั้งหน้าทำออกมาได้ดีที่สุด แต่หนูก็ภูมิใจในผลงานของตัวเองค่ะที่สามารถทำได้ตามที่จินตนาการไว้”
นอกจากนี้ สิได้สะท้อนถึงสิ่งที่ได้รับผ่านการเรียนรู้นี้ว่า “หนูได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหา เวลาปั้นเป็นโลกหรือดาวเคราะห์ต่างๆ บางทีไม่มีดินน้ำมันสีที่ต้องการ ก็ต้องผสมเอง อย่างอันนี้ก็ผสมสีส้มกับสีขาวแต่ว่าไม่ต้องขยี้ให้ละเอียดมากก็จะได้สีนี้ ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ แล้วก็ได้รู้จักตัวเองด้วยว่าเราชอบอะไร ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย เพราะเราต้องศึกษาด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่เข้าใจก็สามารถถามครู ถามผู้ปกครองได้ ต่อไปหนูอยากเรียนรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ค่ะ อยากเอามาทำงานศิลปะแบบนี้ เป็นการบูรณาการได้ทั้งศิลปะแล้วก็คณิตศาสตร์เลย”