- พ่อแม่บางท่านอาจจะตกใจมากที่อยู่ดีๆ ลูกของตนอาจจะเปลี่ยนจากเด็กยิ้มง่ายเป็นเด็กที่ขี้หงุดหงิด และสามารถระเบิดอารมณ์ได้ราวกับภูเขาไฟ ร้องไห้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เรียกว่า ‘วัยทอง 2 ขวบ’
- ‘วัยทอง 2 ขวบ’ หมายถึง ภาวะปกติที่เกิดขึ้นในพัฒนาการของเด็กวัยหัดเดิน (Toddler) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของร่างกายและสมองของเด็กที่เกิด ขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วงวัยนี้เด็กยังมีการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) ทำให้เด็กวัยนี้มีความหงุดหงิดและฉุนเฉียวง่ายกว่าเด็กวัยอื่นๆ
- พ่อแม่ควรเรียนรู้ที่จะรับมือกับช่วงวัยนี้ของลูก และทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สอนและเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่เราไม่ควรทำอย่างยิ่งยวดคือการตำหนิตัวตนของลูกหรือพูดจาทำร้ายเขา
วัยทอง 2 ขวบ (Terrible 2) คืออะไร?
‘วัยทอง 2 ขวบ’ หมายถึง ภาวะปกติที่เกิดขึ้นในพัฒนาการของเด็กวัยหัดเดิน (Toddler) ไม่ใช่เพียง เด็กวัย 2 ขวบเท่านั้นที่จะสามารถเกิดภาวะวัยทอง 2 ขวบ ภาวะนี้สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กวัย 18 เดือน – 4.1 ปี เนื่องจากพัฒนาการของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป เด็กบางคนเกิดภาวะวัยทองสองขวบตั้งแต่วัย 1 ขวบครึ่ง ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะเพิ่งจะเกิดภาวะนี้ในวัย 4 ขวบ (Sisterhen & Wy, 2021)
พ่อแม่บางท่านอาจจะรู้สึกเบาใจที่ลูกของตนไม่เกิดวัยทอง 2 ขวบเหมือนเด็กคนอื่นเขาตอนที่ลูกอายุ 2 ขวบ แต่กลับต้องตกใจมากที่อยู่ดีๆ ลูกของตนอาจจะเปลี่ยนจากเด็กยิ้มง่ายเป็นเด็กที่ขี้หงุดหงิด ภายในช่วงข้ามคืนในวัย 3-4 ขวบ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้
วัยทอง 2 ขวบเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุของวัยทอง 2 ขวบเกิดจากการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของร่างกายและสมองของเด็กที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว ตามพัฒนาพัฒนาการของมนุษย์ วัย 2-3 ปี ตามทฤษฎีของ Erik Erikson จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘ความเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy)’ เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้การใช้ร่างกายสำรวจโลกและทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กๆ พยายามทดสอบข้อจำกัดของตัวเองอยู่เสมอว่าร่างกายของเขาทำอะไรได้บ้าง ซึ่งร่างกายและสมองที่เพิ่งเติบโตยังตอบ สนองได้ไม่ทันใจตัวเอง ยังควบคุมสิ่งต่างๆ ไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ เนื่องด้วยเขาเพิ่งเริ่มฝึกฝนและเรียนรู้
ผนวกกับช่วงวัยนี้เด็กยังมีการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) ที่สูงมาก ส่งผลให้เขาคิดว่าทุกๆ อย่างควรจะเป็นดังใจต้องการ ทำให้เด็กวัยนี้มีความหงุดหงิดง่ายและฉุนเฉียวง่ายกว่าเด็กวัยอื่นๆ เพราะในความเป็นจริงเขาอาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ และตัวเขาเองยังไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้
บ่อยครั้งที่เขาทดลองบางอย่าง เขาก็ถูกห้าม และบ่อยครั้งที่เขาอยากทำอะไรเอง แต่กลับทำออกมาไม่ได้ดั่งใจ เช่น อยากรินน้ำใส่แก้วเอง น้ำก็ทะลักหกเลอะไปหมด ซ้ำร้ายอาจจะเผลอทำแก้วตกแตก พาลให้โดนดุอีก อยากกินข้าวเอง ก็ทำปากเลอะเทอะ ทำให้โดนผู้ใหญ่คอยหยิบผ้ามาเช็ดปากจนพาลให้รู้สึกหงุดหงิด ตลอดเวลา อยากปีนสูงๆ ก็ถูกพาตัวลงมา เพราะผู้ใหญ่กลัวว่าเขาจะบาดเจ็บ อยากวิ่งเร็วๆ ตามพี่ๆ ไป ก็วิ่งแล้วหน้าคะมำเสียได้
เป็นธรรมดาที่การเริ่มต้นฝึกฝนอะไรบางอย่างย่อมเป็นเรื่องยากและท้าทายในช่วงแรก แต่สำหรับเด็กเล็ก เขาต้องการผู้ใหญ่ที่เข้าใจและให้โอกาสเขาทำให้มากที่สุด แต่บ่อยครั้งผู้ใหญ่อาจจะกลัวว่าเด็กจะลำบากหรือทำไม่ได้ หรือแม้กระทั่งกลัวว่าสิ่งที่เด็กทำจะสร้างความลำบากให้กับเราต้องมาเก็บกวาดทำความสะอาดทีหลัง จึงไม่ได้ปล่อยให้เขาลงมือทำมันอย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นความสามารถที่จำเป็นต้องพัฒนามาพร้อมกับด้านร่างกาย คือ ‘การควบคุมร่างกายตนเอง’ ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กได้ลงมือทำและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
‘การช่วยเหลือตัวเอง (Self care)’ เท่ากับ ‘พื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิต’ และ ‘รากฐานของความมั่นใจในตนเอง’ ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ของเด็กวัยนี้ คือ สร้างความมั่นใจในตัวเองให้เด็กปฐมวัยด้วย การคืน ‘Autonomy’ หรือ ‘โอกาสในการลงมือทำ’ มากที่สุด
สัญญาณของวัยทอง 2 ขวบ
เด็กที่กำลังเข้าสู่วัยทอง 2 ขวบจะมีพฤติกรรมบางอย่างมากกว่าเด็กวัยอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ เรารู้ว่าพวกเขาเข้าสู่ภาวะนี้แล้ว
ตัวอย่างสัญญาณ
1. ทะเลาะกับพี่น้อง หรือ เพื่อนวัยเดียวกันบ่อยขึ้นกว่าปกติ
2. มีการทำร้ายร่างกายคนอื่นหรือตัวเองเวลาที่โกรธมากๆ เช่น กัด ตี เตะ ผลัก ต่อย 3. ส่งเสียงกรี๊ด หรือ พูดตะโกนเสียงดัง ทั้งในเวลาเล่นสนุกและไม่พอใจ
4. พูดปฏิเสธกับหลายๆ คำสั่งและสิ่งที่พ่อแม่บอกให้ทำ ‘ไม่เอา’ ‘ไม่กิน’ ‘ไม่นอน’ ‘ไม่ไป’ ‘ไม่รัก’ และอีกสารพัด ‘ไม่…’ แม้ว่าบางครั้งเขาอาจจะไม่ได้หมายความเช่นนั้นจริงๆ
5. มีอาการร้องอาละวาด โวยวาย ทิ้งตัวลงไปนอนกับพื้น ชักดิ้นชักงอ เวลาไม่ได้ในสิ่งที่ ต้องการ (Temper Tantrum) พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติของเด็กวัยนี้ หากแต่ถ้าเกิดขึ้นถี่และบ่อยครั้งจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การนอน การไปที่ต่างๆ พ่อแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์พัฒนาการ กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก และนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อให้ได้รับคำแนะนำมาปรับเปลี่ยน การเลี้ยงดูและรับมือกับพฤติกรรมลูกอย่างเหมาะสมต่อไป เพราะในบางครั้งเด็กบางคนอาจจะมีความไวต่อความรู้สึก (Highly sensitivity) หรือมีความผิดปกติในพัฒนาการบางด้าน ซึ่งส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากกว่าปกติได้
‘Temper Tantrum’ มวลอารมณ์มหาศาลที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยทอง 2 ขวบ
พ่อแม่บางท่านอาจจะสงสัยว่า “ลูกที่ตัวเล็กๆ แต่ทำไมกลับอัดแน่นไปด้วยอารมณ์มหาศาล” ทำไมเวลาลูกวัย 2 ขวบโกรธถึงระเบิดอารมณ์ได้ราวกับภูเขาไฟ ร้องไห้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และเสียงอาละวาดของเด็กน้อยมีพลังการทำลายล้างสูงมาก เพราะผู้ใหญ่หลายคนยอมแพ้ตั้งแต่เด็กน้อยเริ่มส่งเสียงร้องแล้ว
แนวทางในการรับมือกับ Temper Tantrum สำหรับพ่อแม่
1. ป้องกันก่อนเกิด
เด็กวัยนี้มักจะหงุดหงิดและโมโหอาละวาดขึ้นมาจากเรื่องเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะมองข้ามไป เช่น เวลาเด็กหิว เวลาเด็กง่วง เวลาเด็กอึดอัดไม่สบายตัวเนื่องด้วยอากาศร้อน คนเยอะ และอื่นๆ
เด็กอาจจะไม่รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเขาหงุดหงิดนั้นมากจากเรื่องง่ายๆ เช่น เขากำลังหิว ง่วง หรือ ไม่สบายตัว เพราะสิ่งเดียวที่เขารับรู้คืออารมณ์ของเขาที่กำลังจะปะทุขึ้นมาแล้ว
หากพ่อแม่เข้าใจและสังเกตเห็นสัญญาณของความหิว ความง่วง และอื่นๆ เราให้การช่วยเหลือกับลูก ด้วยการพาเขาไปทำในสิ่งที่ร่างกายของเขาต้องการ เช่น ใกล้ถึงเวลาอาหารแล้ว เราก็พาลูกไปกิน ใกล้ถึงเวลานอนแล้ว เราก็พาลูกเข้านอน คนเริ่มเยอะเกินไปแล้ว เราพาลูกออกมาในพื้นที่โล่งๆ สบายๆ
เด็กจะค่อยๆ สงบและผ่อนคลายความคับข้องใจของเขาลง ทั้งนี้พ่อแม่ควรให้การกระตุ้นถามให้ลูกรู้ตัวว่าเขาต้องการอะไร เพื่อสอนให้ลูกรับรู้ความต้องการของตัวเองและสื่อสารออกมาได้ด้วยตัวเอง ในครั้งต่อๆ ไป เช่น
“หิวไหมลูก”
“ง่วงหรือยังลูก”
“เหนื่อยไหมลูก”
ถ้าลูกตอบว่า “ไม่หิว ไม่ง่วง ไม่เหนื่อย” แม้ว่าตัวเองจะหิว ง่วง เหนื่อย ให้พ่อแม่ใช้การบอกกับเขาเรื่องเวลาแทน เพื่อให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งที่จำเป็น (Needs) สำหรับร่างกายของเขาคืออะไร และความอยาก (Wants) ของเขาควรมาทีหลังเสมอ เช่น
“ได้เวลากินข้าวแล้ว”
“ได้เวลานอนแล้ว”
“มาพักก่อนนะ” หรือ “ได้เวลากลับบ้านแล้ว”
2. รับมือหลังเกิดการอาละวาด
แม้ว่าพ่อแม่จะป้องกันดีแค่ไหน แต่การระเบิดอารมณ์ของลูกก็ยังคงเกิดขึ้นได้ เป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะตกใจกับการอาละวาดของลูก อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่มีความสามารถในการรับมือกับอารมณ์ได้ดีกว่าเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขอเพียงเรามั่นคงและสงบเพียงพอ เราจะผ่านการอาละวาดนี้ไปได้
ขั้นที่ 1 พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ได้เสียก่อน
ยืนขึ้น ทอดสายตาออกไปไกลๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ เราไม่ต้องรีบสอนหรือรับมือกับลูกเดี๋ยวนั้น
ขั้นที่ 2 ให้เวลากับตัวเองและลูก
เวลาเกิดอารมณ์ การอาละวาดคือการปลดปล่อยพลังงานทางลบของลูก เราไม่ควรห้าม แต่เราหาที่ทางให้ลูกระบายออกอย่างเหมาะสม พื้นที่ปลอดภัยคือสิ่งที่เราสร้างให้กันได้ เราอยู่เคียงข้างกัน รอเวลาสงบ ไม่ต้องรีบ และไม่ต้องพยายามบอกให้ลูกหยุดร้องไห้เสียที เพราะนั่นจะทำให้สถานการณ์ยากขึ้นไปอีกได้
ขั้นที่ 3 สอนเมื่อสงบ
ถ้าลูกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม บอกเขาให้ชัดเจนว่า ‘สิ่งนี้ห้ามทำ’ และ ‘สิ่งใดควรทำ’
แต่ถ้าลูกแค่มีวันแย่ๆ เขาแค่หงุดหงิดจากการตื่นนอนกลางวัน เราเพียงพาเขาไปล้างหน้า และเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ชวนเขาทำกิจกรรม เพียงเท่านี้ลูกก็ถูกดึงความสนใจออกมาจากอารมณ์บูดๆ ของเขาในวันนั้นแล้ว
ขั้นที่ 4 คุยกับลูกเรื่องความรู้สึก
ก่อนจะจบบทสนทนาลองชวนลูกระบุอารมณ์ตัวเองดูว่าเขารู้สึกอย่างไร เช่น
“ตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไร โกรธ เสียใจ กลัว…”
“ตอนนี้ลูกรู้สึกดึขึ้นหรือยัง”
ขั้นที่ 5 ทบทวนทางเลือกที่ลูกมี
หากครั้งนี้เขาเลือกที่จะอาละวาดแทนการสื่อสาร พ่อแม่สามารถช่วยสอนลูกได้ว่าครั้งหน้าลูกควรพูดสื่อสารแบบใด คนอื่นจึงจะเข้าใจเขา หรือเขามีทางเลือกที่จะทำอะไรได้บ้าง แทนที่การทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อครั้งหน้าลูกจะได้เลือกทำในสิ่งที่เหมาะสมมากขึ้น เช่น
“ถ้าลูกอยากเล่นกับพี่ ลูกควรพูดขอดีๆ เช่น ขอเล่นด้วยค่ะ” แทนทีจะกรี๊ดใส่พี่
“ถ้าลูกไม่ชอบ ให้บอกว่า ไม่ชอบครับ” แทนที่จะผลักคนอื่น
สุดท้าย เวลาลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดี พ่อแม่ควรทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สอนและเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่เราไม่ควรทำอย่างยิ่งยวดคือการตำหนิตัวตนของลูกหรือพูดจาทำร้ายเขา เช่น
“เด็กไม่ดี”
“ทำแบบนี้เดี๋ยวไม่รักเลย”
“หยุดร้องสักทีได้ไหม น่ารำคาญ”
ไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็นเด็กไม่ดีในสายตาของใคร โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เขารัก ด้วยเหตุนี้เวลาที่พ่อแม่ โมโหในสิ่งที่ลูกทำ และไม่พร้อมจะสอนเขาด้วยความสงบแลเหตุผล ให้เราหยุดทุกคำพูดและการกระทำของเราไว้ก่อน รอเราและลูกพร้อม แล้วจึงพูดคุยกัน
‘อารมณ์ที่เกิดขึ้นรอไม่ได้ แต่การสอนรอได้เสมอ’
ขอมอบ ‘คาถาสงบใจพ่อแม่ ยามลูกเขาสู่วัยทอง 2 ขวบ’ ให้กับพ่อแม่ทุกท่าน ถ้าลูกปรี๊ดดั่งไฟ อย่าราดน้ำมันด้วยการปรี๊ดตามลูก ให้ใช้ความสงบแต่หยัดยืนดั่งหินผาเข้าสู้ แม้จะสงบ แต่ไม่สั่นคลอน ไม่ตามใจ ไม่ปล่อยผ่าน
ถ้าลูกเสียงดัง ให้เราเสียงเบา
ถ้าลูกอาละวาด ให้เราพาเขาสงบ
ถ้าลูกร้องไห้ ให้เรากอดเขา
ถ้าลูกทำร้าย ให้เรากอดเขาให้แน่น จับมือ บอกสั้นๆ “ไม่ทำ…”
ถ้าลูกไม่พร้อม ให้เรารอเขา
ถ้าลูกพร้อม แต่ถ้าเรายังไม่พร้อม ให้เรารอตัวเองพร้อมก่อน
ถ้าลูกพร้อม เราพร้อม ให้สอนเขาได้
ถ้าลูกทำผิด ให้เราสอนเขาว่าที่ถูกต้องทำอย่างไร ไม่ใช่ลงโทษเขาจนหวาดกลัว
ถ้าลูกบอกไม่รัก บอกเขาว่า ‘ไม่เป็นไร พ่อแม่รักลูกเอง’ ให้เวลากับเขามากขึ้น เล่นด้วยกัน อ่าน หนังสือ ทำกิจกรรม ทำงานบ้าน นอนกอดกัน บอกรักทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าพ่อแม่เผลอทำผิดพลาดไปแล้ว การให้อภัยตัวเอง และการกลับไปขอโทษพร้อมกับ ทำความเข้าใจกับลูกเป็นสิ่งสำคัญ อย่าลืมที่จะดูแลจิตใจตัวเองและลูกอยู่เสมอ
อ้างอิง
Sisterhen, L. L., & Wy, P. A. W. (2021). Temper tantrums. In StatPearls [Internet]. StatPearls Publishing.
Widick, C, Parker, C A, & Knefelkamp, L (1978) Erik Erikson and psychosocial development New directions for student services, 1978(4), 1-17