- จิททุ กฤษณมูรติ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1895 ในตระกูลพราหมณ์ เขาได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อให้พร้อมสำหรับบทบาทคุรุแห่งโลก ทว่าในปี 1929 เขากลับปฏิเสธบทบาทศาสดา พร้อมกล่าวว่าไม่ต้องการสาวกหรือผู้ติดตาม “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้าคือ การปลดปล่อยมนุษย์ทุกคนให้พบกับเสรีภาพ”
- หนังสือ ‘แด่หนุ่มสาว’ อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนทุกสิ่งทุกอย่างที่กฤษณมูรติต้องการบอกเล่า หัวใจสำคัญคือ การหลุดพ้นจากพันธนาการความกลัว ด้วยการตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบอย่างแท้จริงว่า พันธนาการที่เรายอมถูกผูกมัด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความมั่นคง มีอยู่จริงหรือ
- เรื่องราวในชีวิตของกฤษณมูรติ กับคำสอนที่ถูกบันทึกลงในหนังสือ จริงๆ แล้ว คือเรื่องเดียวกัน กฤษณมูรติ บอกให้คนหนุ่มสาวเลือกค้นหาเส้นทางของตัวเอง แทนที่จะก้าวตามเส้นทางที่คนอื่นทำไว้ เพราะตัวเองเคยถูกบังคับให้เดินบนเส้นทางที่คนอื่นขีดเขียนไว้มาก่อน
เคยสงสัยไหมครับว่า ศาสดากับนักปรัชญา ต่างกันอย่างไร
ศาสดา และนักปรัชญา ต่างก็เป็นผู้ค้นพบชุดความรู้ ที่เราอาจเรียกให้สวยหรูว่าสัจธรรม ซึ่งเชื่อกันว่า ชุดความรู้นี้ สามารถตอบข้อสงสัยของมวลมนุษยชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นจุดกำเนิดของชีวิต หรือความหมายของชีวิต
แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจน ก็คือ สัจธรรมหรือความรู้ที่ศาสดาค้นพบ มักถือเป็นคำตอบสมบูรณ์ ไร้ซึ่งข้อโต้แย้ง ในขณะที่ความรู้ที่ผู้นำสำนักปรัชญาขบคิดได้ เป็นเพียงแค่แนวคิด ซึ่งบุคคลอื่น สามารถตั้งคำถาม โต้แย้ง ไปจนถึงหักล้างได้
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า สิ่งที่ทำให้ศาสดาและนักปรัชญา มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนที่สุด ก็คือ ขณะที่นักปรัชญาเป็นเพียงแค่ผู้ขบคิด ใคร่ครวญ จนได้คำตอบที่คลี่คลายข้อสงสัย แต่ทุกอย่างมักจะจบลงแค่นั้น การนำสิ่งที่คิดค้นได้ไปต่อยอด-แปรเปลี่ยนเป็นการปฏิบัติ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหัวใจของปรัชญาตามคำนิยาม ก็คือ การมีใจรักในความรู้ ดังนั้น การค้นหาคำตอบของปัญหา จึงเป็นไปเพื่อสนองความอยากรู้ ไม่ใช่เพื่อหวังจะประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ
แต่สำหรับศาสดาแล้ว สิ่งที่เขาค้นพบ หยั่งรู้ หรือตรัสรู้ จะถูกนำไปใช้เพื่อให้ชีวิตของเขาและเหล่าสาวกดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะในโลกนี้หรือโลกหน้า เพราะจุดเริ่มต้นของเหล่าศาสดา ไม่ใช่เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ แต่เป็นการทำให้ชีวิตของเขาและคนอื่นๆ พ้นจากความทุกข์ พ้นจากบาป หรือพูดง่ายๆ ว่า มีสภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมนั่นเอง
เราอาจสรุปให้สั้นกว่านั้นว่า ศาสดา คือ ผู้ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับชุดความเชื่อที่ตนเป็นคนเผยแพร่ ขณะที่นักปรัชญา ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะชุดความรู้ที่เขาค้นพบ อาจจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการดำเนินชีวิตเลยก็ได้
อีกจุดหนึ่งที่สามารถแยกศาสดาออกจากนักปรัชญาได้อย่างชัดเจน ก็คือ ความศรัทธา โดยศาสดาจะมีสาวกหรือผู้ติดตาม ที่มีความศรัทธาและปฏิบัติตามสัจธรรมคำสั่งสอน ขณะที่นักปรัชญาอาจจะมีสาวกหรือผู้ติดตาม ที่เชื่อหรือเห็นด้วยกับแนวทางปรัชญาของเขา แต่ก็เป็นแค่ความเชื่อ หรือความเคารพ ไม่ใช่ความศรัทธา
และศรัทธาของเหล่าสาวกนี่เอง ที่ยกให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ และถูกเรียกขานกันในนามของ ‘ศาสดา’
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเป็นศาสดา พระเยซูจึงเป็นศาสดา ขณะที่โสเครติส อริสโตเติล หรือไดโอจีนีส แม้ว่าจะมีสานุศิษย์ติดตามมากมาย แต่พวกเขายังขาด ‘ศรัทธา’ จากเหล่าผู้ติดตาม จึงเป็นเพียงผู้นำสำนักปรัชญา ไม่ใช่ศาสดาแต่สำหรับ จิททุ กฤษณมูรติ เราแทบจะไม่สามารถกำหนดนิยามเกี่ยวกับเขาได้เลยว่า เขาจะเป็นศาสดา นักปรัชญา คุรุ นักพูด นักเขียน หรือแค่ไลฟ์โค้ชธรรมดาๆ คนหนึ่ง แม้ว่าเขาจะดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่เขาพูด แต่กฤษณมูรติไม่ต้องการให้ใครเชือ อีกทั้งยังประกาศกับทุกคนว่า “จงอย่าเป็นสาวกของข้าพเจ้า”
Born to be, not wanna be
จิททุ กฤษณมูรติ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1895 ในตระกูลพราหมณ์ในเมืองมัทนปาลี ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เขากำพร้าเมื่อตอนอายุ 10 ปี ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ทำให้เขาดูเป็นเด็กขี้โรค อ่อนแอ และติดจะช่างเพ้อฝันอยู่สักหน่อย
เส้นทางชีวิตของกฤษณมูรติ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อตอนที่เขาอายุ 14 ปี และได้พบกับ ชาร์ลส เวบสเตอร์ ลีดบีเทอร์ (Charles Webster Leadbeater) สมาชิกระดับสูงของสมาคมเทวญาณวิทยาที่พ่อของกฤษณมูรติทำงานอยู่ ลีดบีเทอร์เชื่อว่า หนุ่มน้อยกฤษณมูรติ คือ พาหะหรือยานของพระเมไตรย ที่จะมาจุติและเป็นศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ ต่อจากพระพุทธเจ้าและพระเยซู
กฤษณมูรติ ถูกรับอุปถัมภ์และนำไปขัดเกลา เจียระไน เพื่อให้พร้อมสำหรับบทบาทคุรุแห่งโลก เขาได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับการอบรมมรรยาทจนกลายเป็นสุภาพบุรุษผู้สง่างาม มีการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า สมาคมดวงดาวแห่งตะวันออก เพื่อรองรับการเผยแผ่คำสอนของพระเมไตรย
เมื่อทุกอย่างถูกจัดวางเข้าที่เข้าทาง กฤษณมูรติ ในวัย 27 ปี ก็ได้รับการอบรมแบบเข้มข้นที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต’ ซึ่งว่ากันว่า จะเป็นการปลุกวิญญาณของพระเมไตรยให้ตื่นขึ้น
ทว่า สิ่งที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นหลังจากประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตในครั้งนั้น ไม่ใช่วิญญาณของพระเมไตรย แต่เป็นวิญญาณขบถในตัวกฤษณมูรติ
วันที่ 3 ส.ค. 1929 หรือ 7 ปี หลังจากการเข้ารับประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต กฤษณมูรติ ประกาศยุบสมาคมดวงดาวแห่งตะวันออก พร้อมปฏิเสธบทบาทศาสดาที่เขาถูกขีดเส้นให้เป็น พร้อมกล่าวต่อหน้าเหล่าสาวกหลายพันคนว่า
“สัจธรรมที่แท้จริง คือดินแดนที่ไร้เส้นทางเข้าถึง ไม่มีทางที่คุณจะไปถึงสัจธรรม ด้วยการก้าวไปบนเส้นทางของใครคนใดคนหนึ่ง ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือนิกายใดนิกายหนึ่ง เพราะทันทีที่คุณก้าวเดินตามรอยเท้าผู้อื่น คุณจะพลาดการก้าวเดินตามหาสัจธรรม”
กฤษณมูรติ ยังย้ำอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการสาวกหรือผู้ติดตาม สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้าคือ การปลดปล่อยมนุษย์ทุกคนให้พบกับเสรีภาพ ปลดปล่อยพวกเขาจากกรงขัง และจากความกลัว”
หนุ่มสาวเอย-จงก้าวพ้นพันธนาการทั้งปวง
หากให้เลือกหนังสือเพียงเล่มเดียว ที่เป็นตัวแทนคำสอนของกฤษณมูรติ ผมขอยกให้ ‘แด่หนุ่มสาว’ ของสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง แปลและเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่กฤษณมูรติต้องการบอกเล่า ล้วนมีอยู่ในหนังสือเล่มบางเล่มนี้
หัวใจสำคัญที่กฤษณมูรติ ย้ำอยู่บ่อยๆ คือ การหลุดพ้นจากพันธนาการ ซึ่งพื้นฐานของพันธนาการในทุกเรื่อง ก็ล้วนมาจากความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวว่าพลัดพรากจากคนรัก กลัวว่าจะไม่มีงานทำ ไม่มีคนนับหน้าถือตา กลัวว่าจะไม่เหมือนเพื่อนพ้องในกลุ่ม หรือกลัวว่าจะไม่ได้เกิดใหม่ในภพชาติที่ดีกว่านี้
ด้วยความกลัวนี่เอง ทำให้เราคาดหวังที่จะพึ่งพาคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ลัทธิความเชื่อ กรอบจารีตประเพณี จนกระทั่ง กลายเป็นพันธนาการผูกมัดเราในที่สุด
“เราเคยชินต่อการพึ่งพาผู้อื่น ให้ผู้อื่นมาคอยชี้ทางและช่วยเหลือ และถ้าไม่มีใครช่วย เราจะรู้สึกสับสน หวาดหวั่น มิรู้ที่จะคิด มิรู้ที่จะทำประการใดในวินาทีแรกที่เราถูกปล่อยให้อยู่เดียวดาย เราจะรู้สึกเปล่าเปลี่ยวท้อแท้และไม่มั่นใจ จากสิ่งนี้เองที่ความกลัวได้เกิดขึ้น”
สำหรับกฤษณมูรติ สิ่งที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากพันธนาการความกลัวได้ ก็คือ การตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบอย่างแท้จริงว่า พันธนาการที่เรายอมถูกผูกมัด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความมั่นคง มีอยู่จริงหรือ
“เรารู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับพ่อแม่ รู้สึกปลอดภัยเมื่อได้งานอาชีพมั่นคง… แต่เราได้มีความมั่นคงความปลอดภัยจริงๆ ละหรือ ธุรกิจการธนาคารของเธออาจจะล้มในวันพรุ่งนี้ก็ได้ พ่อแม่ของใครคนหนึ่งอาจจะตาย… เราชอบเชื่อว่ามีพระเจ้าที่คอยคุ้มครองดูแลตัวเรา หากเราเกิดมาใหม่ชาติหน้าคงจะร่ำรวยขึ้นกว่าชาตินี้ นั่นก็อาจเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เราจะต้องแสวงหาด้วยตัวเอง ถ้าเรามองไปทั้งภายในและภายนอกแล้ว เราก็จะได้เห็นด้วยตาของตัวเองว่า ไม่มีความปลอดภัยใดๆ อยู่ในชีวิตนี้เลย”
ในหนังสือ ‘แด่หนุ่มสาว’ กฤษณมูรติ ได้เขียนถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในหลายๆ บท เพราะเขาเชื่อว่า การศึกษาคือสิ่งที่จะช่วยให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การหลุดพ้นพันธนาการแห่งความกลัว
“การศึกษาควรจะส่งเสริมให้เธอลอกเลียนแบบจากสังคมเก่าอันผุโทรม หรือควรจะให้เสรีภาพกันแน่ เสรีภาพอันสมบูรณ์ที่จะช่วยให้เธอเติบโตและสร้างสรรค์สังคมที่ผิดแผกออกไป สังคมใหม่ โลกใหม่ของมนุษย์ เราต้องการเสรีภาพเช่นนี้ ไม่ใช่ในอนาคต แต่ต้องได้มาเดี๋ยวนี้”
กฤษณมูรติเชื่อว่า เมื่อมีเสรีภาพอย่างแท้จริง จิตใจเราจะค้นพบความรัก ความรักที่ปราศจากพันธนาการแห่งความคาดหวัง หรือการครอบครอง เพราะความรักที่แท้จริงกับเสรีภาพ คือสิ่งเดียวกัน
“มีเพียงผู้ที่เข้าใจและปลดเปลื้องตัวเองออกจากความต้องการพึ่งพาทางใจเท่านั้น ที่จะรู้ว่าความรักคืออะไร และเมื่อนั้นอิสรภาพย่อมเกิดขึ้น และมีเพียงคนเหล่านี้เท่านั้น จึงอาจสร้างสรรค์วัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ สร้างโลกใหม่ขึ้นมา เป็นโลกที่แตกต่างจากโลกเก่าโดยสิ้นเชิง”
และนั่นคือโลกหรือชีวิตอันดีงาม ตามอุดมคติความเชื่อของกฤษณมูรติ
จงขบถ วันนี้ และเดี๋ยวนี้
สาส์นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่กฤษณมูรติ พยายามถ่ายทอดผ่านทางหนังสือเล่มนี้ รวมถึงในการกล่าวปราศรัยตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีในชีวิตของเขา ก็คือ การปฏิวัติ
การปฏิวัติที่กฤษณมูรติเรียกร้องจากคนหนุ่มสาว ไม่ใช่การปฏิวัติทางสังคม หรือการปฏิวัติทางการเมือง หากแต่เป็นการปฏิวัติในจิตใจ ซึ่งสามารถทำได้ทันที ณ เดี๋ยวนี้
เราอาจพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิวัติในจิตใจก็คือ การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด เพื่อทำลายพันธนาการความกลัวที่โอบรัดเราอยู่ ซึ่งกฤษณมูรติเชื่อว่า ทันทีที่เราปลุกวิญญาณขบถขึ้น จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างยิ่งใหญ่ได้
คงจำกันได้นะครับ จากที่ผมเขียนไว้ในช่วงประวัติชีวิตของกฤษณมูรติ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ปี 1929 กฤษณมูรติ ได้ประกาศปฏิวัติล้มล้างองค์กรทางศาสนาที่ตัวเองถูกครอบทับมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำลายพันธนาการความหวาดกลัวทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นความกลัวที่ยึดโยงกับเรื่องความมั่นคง ความรักจากคนรอบข้าง และคติความเชื่อทางศาสนา
นั่นคือการปฏิวัติทางจิตใจอย่างแท้จริง ของคนที่ถูกเลือกให้เป็นศาสดา แต่เจ้าตัวขอเลือกที่จะเป็นขบถแทน
เรื่องราวในชีวิตของกฤษณมูรติ กับคำสอนที่ถูกบันทึกลงในหนังสือ จริงๆ แล้ว คือเรื่องเดียวกัน กฤษณมูรติ บอกให้คนหนุ่มสาวเป็นขบถ ทำลายพันธนาการความหวาดกลัว เพราะตัวเองเคยผ่านประสบการณ์การถูกผูดมัดมาตั้งแต่เด็ก
กฤษณมูรติ บอกให้คนหนุ่มสาวเลือกค้นหาเส้นทางของตัวเอง แทนที่จะก้าวตามเส้นทางที่คนอื่นทำไว้ เพราะตัวเองเคยถูกบังคับให้เดินบนเส้นทางที่คนอื่นขีดเขียนไว้มาก่อน
ท้ายที่สุด ผมเชื่อว่า หากจะมีสิ่งใดที่อยากบอกกับคนหนุ่มสาวอีก กฤษณมูรติอาจจะบอกว่า…
“เธอไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ได้ เพราะมันไม่ใช่คู่มือที่พาเธอไปพบสัจธรรม หากเธออยากจะอ่านหนังสือแบบนั้น จงเขียนมันด้วยตัวเธอเอง”
…………………
หมายเหตุ – ตัวเอนในบทความชิ้นนี้ มาจากหนังสือ แด่หนุ่มสาว ของสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง เขียนโดย กฤษณมูรติ แปลโดยพจนา จันทรสันติ