- บาริสต้าน้อย เป็นการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของธุรกิจกาแฟ ซึ่งอยู่ภายใต้ ‘หลักสูตรทักษะอาชีพ’ ของโรงเรียนสินแร่สยาม เป็นการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเด็กๆ ทุกระดับชั้นจะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพตามที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่าอยากเรียน
- สำหรับคนภายนอก สยามคอฟฟี่อาจเป็นแค่ร้านกาแฟในโรงเรียนธรรมดาๆ แต่กับเด็กนักเรียนสินแร่สยาม นี่คือห้องเรียนที่ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ที่ไม่เพียงให้ทักษะอาชีพ แต่ยังมอบทักษะชีวิตที่จะติดตัวเขาไปอีกนาน
- เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถต่อยอดความรู้ที่มีได้ โดยที่ครูมีหน้าที่แนะนำและคอยเป็นโค้ชให้อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ไม่เน้นสั่งการแต่ค่อยๆ กะเทาะเปลือกนอกให้เด็กกล้าลงมือทำ และเรียนรู้การแก้ปัญหา
ห้องกระจกเล็กๆ มุมหนึ่งของ โรงเรียนสินแร่สยาม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี คือที่ตั้งของร้านกาแฟ ‘Siam Coffee By Sinraesiam school’
บาริสต้าของที่นี่แม้จะเป็นแค่นักเรียนชั้นประถมศึกษา แต่ก็ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และครั้งนี้เด็กๆ แนะนำตัวด้วยการเทลายลาเต้อาร์ตรูปหัวใจให้ดูอย่างคล่องแคล่ว
สำหรับคนภายนอก สยามคอฟฟี่อาจเป็นแค่ร้านกาแฟในโรงเรียนธรรมดาๆ แต่กับเด็กนักเรียนสินแร่สยาม นี่คือห้องเรียนที่ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ที่ไม่เพียงให้ทักษะอาชีพ แต่ยังมอบทักษะชีวิตที่จะติดตัวเขาไปอีกนาน
เป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สอดแทรกทักษะต่างๆ ไว้อย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบ วินัย การวางแผน การแก้ปัญหาต่างๆ รวมไปถึงยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ กล้าลงมือทำ กล้าที่จะลองผิดลองถูก และค้นพบความชอบความสนใจของตัวเอง ซึ่งมากไปกว่านั้นคือการที่เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง
ห้องเรียนทักษะอาชีพ ตอบโจทย์บริบทพื้นที่
แม้ว่าอำเภอสวนผึ้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี แต่สภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่ไม่ต่างอะไรกับอำเภอชายขอบทั่วไป การพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนจึงเป็นโจทย์หนึ่งที่โรงเรียนในพื้นที่อย่างโรงเรียนสินแร่สยามให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ ผอ.ภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม ได้ให้โจทย์กับคุณครูแต่ละคนว่า “อยากจะมีหลักสูตรที่เปิดให้นักเรียนแต่ละชั้นได้ฝึกอาชีพ เพื่อเป็นทักษะพื้นฐาน” เนื่องจากบริบทของโรงเรียนและชุมชน เด็กๆ ค่อนข้างมีฐานะยากจน ถ้าเด็กๆ มีทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็คงจะดีไม่น้อย
ครูอุ้ม ขนิษฐา อินทะเส ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสินแร่สยาม ผู้รับหน้าที่โค้ชหลักของโครงการฝึกทักษะอาชีพ ‘บาริสต้าน้อย’ จนกลายมาเป็น Siam Coffee By Sinraesiam school บอกว่า บาริสต้าน้อย เป็นการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของธุรกิจกาแฟ ซึ่งอยู่ภายใต้ ‘หลักสูตรทักษะอาชีพ’ ของโรงเรียนสินแร่สยาม เป็นการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเด็กๆ ทุกระดับชั้นจะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพตามที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่าอยากเรียน
“อย่าง ป.1 ก็จะเป็นการเพ้นท์กระเป๋า ป.2 ทำผ้าเช็ดเท้า เน้นไปที่งานประดิษฐ์ ส่วนป.3 มีตัดผม เสริมสวย พอเริ่มประถมปลายจะเน้นเชื่อมโยงกับวิชาหลัก อยู่ที่ว่าครูประจำชั้นเป็นครูสอนวิชาอะไร อย่าง ป.4 จะเป็นเรื่องสบู่สมุนไพร เชื่อมโยงกับสาระวิทยาศาสตร์ ป.5 มีเรื่องกล้วยๆ หลักสูตรกล้วยฉาบ อันนี้เด็กก็ชอบ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้การทำกล้วยฉาบแล้ว ยังได้ทำแพ็กเกจด้วย แล้วก็มีภาพยนตร์สั้นด้วย ส่วนป.6 ก็จะเป็นธุรกิจกาแฟ Siam Coffee”
ครูอุ้มบอกว่าหัวใจสำคัญของห้องเรียนทักษะอาชีพคือ ความสนใจร่วมกันของผู้เรียน แม้ความเข้มข้นทางวิชาการอาจจะไม่มาก แต่อย่างน้อยเด็กที่จบออกไปก็จะได้ทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิต เช่น ความรับผิดชอบ วินัย การวางแผน การแก้ปัญหาต่างๆ หรือเกิดแรงบันดาลใจในการลงมือทำอะไรสักอย่าง กล้าที่จะลองผิดลองถูกหรือค้นพบความชอบความสนใจของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้เด็กด้วย
อย่างเช่นทักษะอาชีพบาริสต้า ครั้งแรกที่เด็กๆ รู้ว่าจะได้เรียนทำกาแฟ ได้เข้าใกล้การเป็นบาริสต้า ต่างก็ตื่นเต้นไปตามๆ กัน สีหน้าและแววตาของพวกเขาเต็มไปด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง
“พอเริ่มเห็นมีการสร้างห้องเรียนเขาก็ถามว่า พวกหนูจะได้เรียนจริงๆ เหรอคะ จะได้เข้ามาจับเครื่องเหรอคะ ครูก็บอกว่าได้เรียนจริงๆ นี่เป็นห้องเรียนร้านกาแฟของเรา ระหว่างที่รอห้องเรียนก็ให้เด็กตั้งชื่อร้านประกวดกัน พวกเขาก็จะได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อร้าน แล้วก็ครีเอทโลโก้ด้วย แล้วก็ได้มาเป็น Siam Coffee By Sinraesiam อย่างที่เห็น”
“ตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดถึงขั้นเปิดเป็นร้านแบบนี้ แค่อยากเอาเครื่องชงกาแฟมาตั้งสักมุมใดมุมหนึ่งของโรงเรียน แล้วก็ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การชงกาแฟด้วยกัน ก็ไปดูซื้อเครื่องชงแล้วทางร้านเขาก็ใจดีมาสอนให้ด้วย บาริสต้าชุดแรกก็จะได้เทรนกับเจ้าของที่ขายเครื่องชงเลยเต็มๆ หนึ่งวัน เขาก็ได้เรียนตั้งแต่ขั้นตอนการตีฟอง การเข้าเครื่องและก็เรียนทฤษฎีทั้งหมด คุณครูเองก็เรียนด้วย”
สำหรับไฮไลท์ในวันนั้นคือการเรียนทำลาเต้อาร์ตรูปหัวใจ ซึ่งเป็นลายพื้นฐานในการเริ่มฝึกทำ เด็กต่างทุ่มเทและพยายามเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด
“ขั้นตอนการฝึกสตีมนมต้องใช้ความอดทนมาก กว่าจะเทนมให้เป็นลายได้ วิทยากรที่มาเทรนให้ก็เทรนกันตั้งแต่บ่ายสองจนทุ่มนึง เด็กๆ เขาพยายามฝึกให้ได้สักคนเผื่อที่เขาจะได้เอาไปสอนเพื่อนต่อ เราชื่นชมในความอดทนของเขา สรุปวันนั้นก็หมดนมไป 5 ลิตรได้ แต่ผลออกมามันก็คุ้มค่า เขาก็สามารถเทออกมาเป็นรูปหัวใจจนได้ เราก็ให้เขาเทหัวใจมาให้ทุกๆ เช้าเป็นการฝึก ก็เทกับช็อกโกแลตบ้าง ชาบ้าง”
เมื่อถามว่าอะไรทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ขนาดนี้? ครูอุ้มตอบทันทีด้วยความภาคภูมิใจว่า เพราะทำให้เด็กๆ มีความรู้สึกถึงการได้เรียนรู้สิ่งที่แปลกใหม่ เรียนรู้จากนอกตำรา และการได้เป็นส่วนหนึ่งของร้านกาแฟไม่ว่าจะทำหน้าที่ไหนเขาก็จะรู้สึกภูมิที่ได้ร่วมมือกับเพื่อนทำงานนี้จนสำเร็จ
Active Learning เรียนรู้จากการลงมือทำ
หลังจากเรียนทฤษฏีและฝึกปรือกันมาพอสมควรแล้ว เมื่อถึงคราวต้องลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง ครูอุ้มจัดกลุ่มให้เด็กๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประจำที่ร้านกาแฟ โดยเด็กแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่กันไป นอกจากบาริสต้า ก็มีงานรับออร์เดอร์ เสิร์ฟ เก็บล้างทำความสะอาด ไปจนถึงการทำบัญชี โดยลูกค้าประจำเมนูกาแฟจะเป็นคุณครู ส่วนเด็กๆ ก็เป็นพวกเมนูชาและโกโก้
“เวลาเด็กๆ เขาขายกาแฟครูก็จะคอยดูอยู่ห่างๆ จะไม่เข้ามาวุ่นวาย เพราะว่าถ้าเข้ามาเขาจะไม่เกิดการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เขาก็จะ…ครูขาทำยังไงคะ เราก็จะเห็นตลอดว่าแต่ละวันเขาเจอปัญหาอะไรบ้าง
อย่างวันแรกเด็กมาซื้อกันยุ่งเหยิงไปหมด หลังจากที่ขายเสร็จเราก็คุยกับเขาว่า น้องมายืนออเต็มหน้าร้านกาแฟมองมาแล้วมันดูวุ่นวายมากเลยนะ แล้วเวลาทอนเงินหนูจะจำได้ไหมลูกว่าคนนี้เขาสั่งหรือยัง สะท้อนให้เห็นปัญหา เพราะว่าเราเป็นคนนอกมองเข้ามา เด็กก็ถามแล้วหนูต้องทำยังไง เราก็ให้เขาลองบริหารจัดการกันเองเลย วันรุ่งขึ้นก็มีส่งตัวแทนออกมาคอยจัดระเบียบหน้าร้าน ให้เข้าแถวต่อคิว เขาก็จะแอบมาถามเราว่ามันดีขึ้นไหมคะ
“หรือบางทีเด็กทำแก้วแตก ครูก็จะบอกว่าแตกก็ซื้อใหม่ ทำงานก็ต้องมีแตกบ้าง แต่หนูก็ควรระวัง แล้วมันแตกเพราะอะไร แตกได้ยังไง เด็กเขาก็บอกว่ามันซ้อนกันพอดึงมันก็เลยแตก ครูก็บอกกลับไปว่าทีหลังก็จะได้ไม่ต้องซ้อนกันจะได้ไม่แตก เขาก็เหมือนผ่อนคลาย เพราะพอแก้วแตกเขาก็หน้าเสียแล้ว ถ้าเรายิ่งไปดุเขาก็จะยิ่งกลัวและไม่กล้า แล้วก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่พลาด”
ด้วยประสบการณ์ในการเป็นครูมา 15 ปี ทำให้ครูอุ้มเห็นความแตกต่างระหว่างการสอนแบบเดิมๆ ที่มีครูยืนสอนอยู่หน้าชั้นกับการเรียนแบบ Active Learning หรือการเรียนรู้ที่เด็กๆ ได้ลงมือทำว่าให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน จึงพยายามออกแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพนี้
“การเรียนแบบท่องจำ เด็กไม่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะว่าความรู้มันถูกตีกรอบมาแล้ว แต่ Active Learning ณ ปัจจุบันที่เราใช้การสอนแบบนี้เด็กเขาต่อยอดเองได้
อย่างเช่นเรื่องการเทลายกาแฟ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เทได้แต่หัวใจอย่างเดียวแหละ แต่จะเห็นว่าเด็กเขารู้สึกว่าเราเทอันนี้ได้แล้วทำไมเราไม่ลองเปลี่ยน หัดเทลายอื่นบ้าง ครูคิดว่าการเรียนรู้โดยให้เด็กลงมือทำหรือ Active Learning มันสามารถทำให้เด็กเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง มันคงทนถาวร แล้วก็เอาไปประยุกต์ใช้ได้จริง”
ที่สำคัญ ครูอุ้มมองว่าทักษะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเด็ก ไม่ว่าจะนำไปประกอบอาชีพในอนาคตหรือไม่ก็ตาม
“อย่างหลักสูตรกล้วยฉาบ เด็กๆ ก็จะรู้การใช้อุปกรณ์ครัว การจุดเตาแก๊ส การจุดเตาถ่าน การใช้เครื่องอบกล้วย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ถ้าเราไม่ได้ฝึกเด็ก ถ้าต้องช่วยงานผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ยาก แต่เด็กที่นี่งานครัวจะเก่ง สำหรับบริบทที่นี่คือเขาต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ การมีทักษะอาชีพ นอกจากทักษะการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น สื่อสารได้ ตามที่หลักสูตรระบุเราก็ไม่ได้ทิ้งทักษะวิชาการเหล่านั้น แต่หลักสูตรอาชีพเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เด็ก คือได้ความรู้และก็ได้ทักษะพวกนี้ไปด้วย”
“ทุกหลักสูตร ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ คือเราอยากจะฝึกให้เด็กเขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะครูไม่สามารถไปคอยบอกได้ตลอด เขาก็ต้องลองทำเอง
นอกจากนี้ยังได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหาลายลาเต้อาร์ตใหม่ๆ ซึ่งเด็กๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ อย่างเด็กคนหนึ่งเขาเปิดยูทูบหัดเทลาเต้อาร์ตรูปทิวลิป เพราะเขาสนใจและรักที่จะทำ หรือบางคนเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง”
เชื่อมโยงการเรียนรู้นอกห้องเรียนเข้ากับหลักสูตรพื้นฐาน
เนื่องจากครูอุ้มเป็นครูสอนภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในหลักสูตรทักษะอาชีพ ‘บาริสต้าน้อย’ จึงพยายามเชื่อมโยงเข้ากับเนื้อหาในวิชาภาษาอังกฤษด้วย เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับกาแฟ หรือบทสนทนาในร้านกาแฟ
“บางทีก็ให้เขาเขียนสูตรกาแฟเป็นภาษาอังกฤษบ้าง รุ่นนี้เขาเรียนออนไลน์เยอะ เขาเรียนเรื่อง Food and drink มาแล้ว เมื่ออยู่ในร้านกาแฟ เขาก็สามารถที่จะครีเอทประโยคภาษาอังกฤษได้อยู่แล้ว หรืออย่างครูให้โจทย์ไป How to make Latte. เขาก็จะเขียนเป็นขั้นตอนมา ซึ่งอันนี้เราก็แอบภูมิใจว่าเขาเอาสิ่งที่เขาทำมาใช้กับการเรียนของเรา”
นอกจากนี้ในรายวิชาอื่นๆ ครูประจำวิชาก็แวะเวียนมาใช้สถานการณ์จริงจุดนี้เป็นเชื่อมโยงกับเนื้อหาบางส่วนของวิชานั้นๆ ด้วย
“อย่างเช่นครูคณิตฯเขาให้มาดู ราคาสูตรเย็น สูตรปั่น สูตรร้อน ทำไมมันถึงต่างกัน ต่างกันเท่าไร แล้วทำไมมันถึงต่าง พี่ๆ ในร้านก็จะบอกเพราะเขาได้เรียนรู้มาแล้วจากความรู้ความเข้าใจของเขาว่า สูตรปั่นนมมันก็ต้องเพิ่ม เฟรบเป้เพิ่มนมข้น ก็เหมือนคิดราคาต้นทุนสูงขึ้น ราคาขายก็เลยบวกไป”
ผลลัพธ์ที่มากกว่า ‘บาริสต้าน้อย’
หลังจากเปิดร้านกาแฟมากว่า 1 ปี แม้จะต้องเว้นวรรคเพราะสถานการณ์โควิด-19 ไปบ้าง แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผลลัพธ์ของการเรียนรู้อาชีพบาริสต้า เรียนรู้ธุรกิจกาแฟ ที่ได้มากกว่าแค่การชงกาแฟเป็น ทำลาเต้อาร์ตได้ นั่นคือ เด็กๆ เห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดความภาคภูมิใจที่สามารถทำสิ่งๆ หนึ่งได้สำเร็จ และยังได้ทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหา การวางแผน และเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถต่อยอดความรู้ที่มีได้ โดยที่ครูมีหน้าที่แนะนำและคอยเป็นโค้ชให้อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ไม่เน้นสั่งการแต่ค่อยๆ กะเทาะเปลือกนอกให้เด็กกล้าลงมือทำ และเรียนรู้การแก้ปัญหา
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ เช่น การฟัง มีทักษะการสื่อสารมากขึ้น มีการคิดวิเคราะห์ แล้วเรื่องการจัดการเงิน เขาจะมีความซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบสูงมาก
อีกทักษะที่เด็กๆ ทำได้ดีคือการแก้ปัญหา บางทีลูกค้ามาเยอะ จะทำยังไงถึงจะขายได้ทัน เงินก็อยากได้เวลาก็จำกัด เขาก็ฝึกกันเองโดยที่ครูไม่ได้เข้าไป แต่เขาก็แก้ปัญหากันได้ และสิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือเขามีความสุขกับการได้ทำกาแฟ แล้วเขาก็ภูมิใจในตัวเอง”
ในมุมของเหล่าบาริสต้าน้อยพวกเขาต่างสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งที่นอกเหนือไปจากตำราเรียน มันแปลกใหม่สำหรับพวกเขา บวกกับความชอบเป็นทุนเดิม ทำให้การเรียนรู้ครั้งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าประทับใจและเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่หาได้ยาก
“หนูชอบกาแฟมาตั้งแต่ป.4 เพราะว่าพ่อแม่ให้ทำกาแฟให้กิน แล้วบอกว่าอร่อย หนูก็เลยมีความสุขในการทำกาแฟ แล้วก็ชอบกาแฟด้วยเพราะกลิ่นหอม หนูฝึกมาได้เกือบๆ หนึ่งปี ก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง การชง การสตีมนม ได้ทักษะการขาย แล้วเราก็ได้ทักษะอาชีพ พอเวลาเราโตไปเราไม่มีงานทำหรือตกงาน ก็สามารถนำความรู้นี้ไปประกอบอาชีพได้ แล้วสิ่งที่ได้อีกอย่างก็คือต้องซื่อสัตย์ด้วย” มลฤดี ทองลาย หนึ่งในบาริสต้าน้อยแห่ง Siam Coffee By Sinraesiam เล่าถึงประสบกาณ์ที่ได้รับ
“ครั้งแรกที่ได้เรียนเรารู้สึกกลัว กลัวว่าเราจะทำไม่ได้ แต่ทำไปทำมามันก็สนุกดี ตอนแรกๆ ก็คิดว่ามันยาก แต่พอได้ฝึกทำแล้วหลังๆ พอทำเป็นก็คิดว่ามันเป็นเรื่องง่ายแล้วค่ะ ครูก็คอยให้กำลังใจ ครูบอกว่าไม่ต้องกลัวทำให้เต็มที่ ไม่สวยก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็เพิ่งฝึกทำ แล้วพอเวลาเราทำสวยครูก็จะชมว่าสวยอะไรแบบนี้ ก็เลยทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมา ตอนนี้ก็มีเอาน้องป.5 มาฝึกด้วย ก็สอนทำกาแฟก่อน เพราะกาแฟยากกว่าชากับโกโก้ ทำเป็นกาแฟร้อนก่อน แล้วก็ตามด้วยการสตีมนม”
ขณะที่ สุภานิดา ศรีสยาม อีกหนึ่งบาริสต้าชั้น ป.6 บอกว่านี่คือหนึ่งในอาชีพที่สนใจ เพราะเธออยากเปิดร้านกาแฟของตัวเอง “จากที่ได้เรียนบางอย่างก็ยากบางอย่างก็ง่าย เช่น การสตีมนมหรือว่าเทลาย อันนี้ยากค่ะ แต่สนุกดี ถึงจะยากแต่พอฝึกฝนไปแล้วมันจะเริ่มง่าย ก็เลยอยากจะทำ พอทำได้ก็รู้สึกดีใจที่ตัวเองทำได้ ตอนนี้กำลังศึกษาลายทิวลิปอยู่ค่ะ ดูในยูทูบเอาแล้วก็มาลองทำตาม แล้วพอเรามาทำตรงนี้ทำให้เรามีระเบียบวินัยขึ้น เริ่มตรงเวลา แล้วก็ช่วยเรื่องการคิดเลข ได้คำศัพท์เกี่ยวกับสายเมล็ดพันธุ์กาแฟ ชื่อเมนูกาแฟด้วย”
สำหรับอีกหนึ่งสาวน้อยบาริสต้า ณัฏฐิกา มงคล แม้จะมีความฝันว่าอยากเรียนเภสัช แต่ก็เห็นว่าการเรียนรู้การทำกาแฟคือประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
“หนูชอบไปคาเฟ่ที่เขาทำกาแฟแบบนี้ค่ะ พอมาเรียนก็ได้เรียนรู้หลายอย่างได้เรียนรู้การทำกาแฟ ชา เครื่องดื่มต่างๆ แล้วหนูก็ชอบการสตีมนมค่ะ พอเทลายหัวใจได้ก็รู้สึกภูมิใจที่ทำได้ อนาคตจริงๆ หนูอยากเป็นเภสัช แต่ตรงนี้เราก็ทำเป็นอาชีพเสริมได้”
จากวิชาบาริสต้าน้อย สู่ร้านกาแฟสยามคอฟฟี่ นี่คือพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง โดยมีคุณครูเป็นพี่เลี้ยงคอยประคับประคอง ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ยังเติมเต็มความสุขความภูมิใจให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองอีกด้วย