- บ้านและโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสองส่วนแรกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด จึงสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้
- ข้อสรุปที่นักการศึกษาทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันคือ ต้องพัฒนาการศึกษาให้หลุดจากกับดักความสำเร็จด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว จนปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ที่เป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของเด็ก
- ความคิดสร้างสรรค์สามารถทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ได้อย่างอิสระ ซึ่งก็คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่นและการลงมือทำ
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2006 เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักเขียน นักพูด และที่ปรึกษาระดับนานาชาติด้านการศึกษา ได้หยิบยกเรื่องช่องว่างของระบบการศึกษา ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาศักยภาพด้านสติปัญญาหลากหลายด้าน มากล่าวถึงบนเวทีเท็ดทอร์ก (TED Talk) จนเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง คลิปนี้กลายเป็นคลิปที่มีผู้ชมมากที่สุดตลอดกาล ทั้งยังถูกอ้างอิงและกล่าวถึงมากระทั่งปัจจุบัน
‘โรงเรียนฆ่าความคิดสร้างสรรค์’ โรบินสัน ย้ำชัดเมื่อ16 ปีก่อน
เขายืนกรานว่า ระบบการเรียนในโรงเรียนต้องได้รับการปฏิรูปแนวคิดเสียใหม่ ด้วยการทุ่มเทและใส่ความพยายามกับการส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนด้านความคิดสร้างสรรค์อย่างเท่าเทียมกับการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น
เพราะมนุษย์ไม่ได้เติบโตไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แต่เติบโตขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์
หมายความว่าทุกคนล้วนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง และสิ่งนี้มีความสำคัญมากพอๆ กับการรู้หนังสือ
โรบินสัน กล่าวว่า ระบบการศึกษาต้องทบทวนวิธีคิดเรื่องความฉลาดเสียใหม่ ความฉลาดมีความหลากหลายไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ สังเกตได้ว่าไอเดียดีๆ ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ มักผุดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือสภาพแวดล้อม และขึ้นอยู่กับมุมมองรวมถึงประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ การสร้างประสบการณ์จากการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการคิดแล้วได้ลงมือทำ แก่นความคิดที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ เด็กทุกคนมีความสามารถและต้องไม่กลัวความผิดพลาด เมื่อเด็กทำผิดพลาดจึงไม่ควรถูกตราหน้า แต่ควรมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเรียนรู้
“ถ้าคุณไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดได้ คุณก็ไม่มีวันค้นพบสิ่งที่ต้องการ”
ไม่ต้องกลัวลูกเรียนไม่ทัน หันมาทำเรื่องสนุกๆ กันดีกว่า
ย้อนกลับไปเกือบ 30 ปีก่อน (ปี 1993) ได้มีการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลในประเทศไทย งานวิจัยหัวข้อ ‘ผลกระทบของการเลี้ยงลูกแบบต่างๆ และหลักสูตรการเรียนที่ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลในประเทศไทย’ โดย ปรียาพร ภาสะวณิช ทำการศึกษานักเรียนระดับชั้นอนุบาลทั้งหมด 317 คน จากโรงเรียนอนุบาล 14 โรงเรียน ซึ่งแบ่งรูปแบบหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- หลักสูตรเชิงวิชาการ (academic oriented curriculum)
- หลักสูตรเชิงกิจกรรมเตรียมความพร้อม (readiness activities oriented curriculum)
ผลการศึกษา พบว่า นักเรียนในกลุ่มหลักสูตรเชิงกิจกรรมเตรียมความพร้อมมีคะแนนมาตรฐานด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนในกลุ่มหลักสูตรเชิงวิชาการอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเรื่องความคล่องแคล่ว (fluency) ความคิดริเริ่ม (originality) และการคิดอย่างรอบคอบ (elaboration) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ด้านการศึกษาก่อนหน้าที่พบว่า หลักสูตรการเรียนการสอนระดับอนุบาลที่เน้นความสำเร็จทางวิชาการ (วัดประเมินผลด้วยคะแนนจากการทำข้อสอบและการท่องจำ) ไม่ได้ช่วยให้เด็กเก่งขึ้น เมื่อเทียบกับคะแนนผลลัพธ์การเรียนรู้จากนักเรียนในหลักสูตรการสอนแบบอื่นๆ อีกทั้งยังทำให้เด็กมีแรงจูงใจในการเรียนน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้คะแนนวัดประเมินผลต่ำ
นอกจากนี้ยัง พบว่า สภาพแวดล้อมหรือรูปแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นอิสระและไม่ถูกบังคับ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้ดีกว่าสภาพแวดล้อมหรือรูปแบบการเรียนการสอนที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด
เพราะความคิดสร้างสรรค์สามารถทำงานได้ดีในสถานการณ์ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ได้อย่างอิสระ ซึ่งก็คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่นและการลงมือทำ
งานวิจัยได้ให้คำแนะนำกับผู้ปกครองและครูเกี่ยวกับการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
- ให้กำลังใจเด็กๆ ทุกครั้งเมื่อพวกแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นด้วยตัวเอง เช่น การชม หรือยินดีกับสิ่งที่พวกเขาค้นพบ
- เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทดลองและสำรวจสิ่งที่พวกเขาสนใจ สนับสนุนการอ่าน การเดินทางและการสื่อสารกับผู้อื่น เพื่อสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมประสบการณ์ที่จะช่วยพัฒนากระบวนการคิดของพวกเขา
- ไม่เบื่อหน่ายกับคำถามของเด็กๆ รวมถึงความคิดหรือการลงมือแก้ปัญหาที่อาจดูแปลกประหลาดในสายตาของผู้ใหญ่ การวิจารณ์หรือเพิกเฉยต่อความสงสัยใคร่รู้และกิจกรรมที่เด็กๆ ลงมือทำเป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่และครูควรแสดงออกให้เด็กเห็นว่าความคิดของพวกเขามีค่า
- สื่อสารและตอบคำถามของเด็กๆ อย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ ด้วยความเข้าใจและตื่นเต้น
- พร้อมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กๆ ทำผิดพลาดหรือล้มเหลวในงานที่ยากเกินไป และทำให้พวกเขารู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง
- พัฒนาหลักสูตรที่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ระดมความคิดร่วมกัน บูรณาการเรียนรู้เพื่อให้พวกเขาได้คิดและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ด้วยตัวเอง
บทบาทของพ่อแม่ แค่ไหนถึงจะพอ
สิ่งที่น่าสนใจ คือ งานวิจัยที่ทำการศึกษามาเกือบ 30 ปีชิ้นนี้ พบว่า วิธีการเลี้ยงดูลูกไม่ส่งผลต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในวัยอนุบาล แต่โลกในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและวิทยาการได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์แทบทุกมิติ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘บ้าน’ หรือ ‘การเลี้ยงลูก’ มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21
ความสำเร็จของลูกเปรียบเสมือนความสำเร็จของพ่อแม่ด้วย…จริงไหม?
พ่อแม่ยอมรับไหมว่า ยิ่งพ่อแม่เลี้ยงดูลูกได้ดี พ่อแม่ยิ่งมีความสุขและภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
ปัญหาอยู่ที่นิยามคำว่า ‘ดี’ ของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน และคำว่า ‘ดี’ ที่ต่างกันนี้ ส่งผลต่อวิธีการเลี้ยงดูลูก การเลี้ยงลูกได้ดีของครอบครัวหนึ่งอาจหมายถึง การเคร่งครัดเรื่องการเรียนและความสำเร็จทางการศึกษา เช่น ลูกมีผลการเรียนที่ดี และสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่งอาจให้คุณค่ากับเรื่องอื่นๆ
‘Helicopter Parenting’ เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด (มากเกินไป) ทำให้ทุกอย่าง (concierge) ไม่ปล่อยให้ลูกได้คิด ลองผิดลองถูก หรือเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง ช่วยปกป้องจนเกินพอดี (over-protective) และชอบสั่ง (over-directive) จนกลายเป็นการควบคุมหรือบงการชีวิตลูกอยู่ตลอดเวลา การเลี้ยงลูกแบบนี้ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี จูเลีย ไลท์คอธ-เฮมส์ (Julie Lythcott-Haims) อดีตคณบดีนักศึกษาใหม่ (a former dean of freshen) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เล่าจากประสบการณ์ว่า ในแต่ละปีมีนักศึกษาใหม่ที่เก่ง ประสบความสำเร็จทางการเรียน และทำผลงานที่แทบหาที่ติไม่ได้บนหน้ากระดาษเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย แต่หลายคนดูเหมือนจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้เลย ขณะเดียวกันพ่อแม่เข้ามาบงการชีวิตของลูกมากขึ้นเรื่อยๆ คุยกับลูกวันละหลายครั้ง และพยายามแทรกแซงจัดการเรื่องส่วนตัวของลูกทุกครั้งที่เกิดปัญหา
เพราะต้องการปกป้องพวกเขาจากความผิดหวัง ความล้มเหลว และความยากลำบาก
มีรายงานการศึกษาถูกตีพิมพ์ในวารสารการศึกษาเด็กและครอบครัว (Journal of Child and Family Studies) ชี้ว่าเด็กที่ถูกพ่อแม่ดูแลแบบไม่ปล่อยในลักษณะเดียวกับ ‘Helicopter Parenting’ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านความคิดและอารมณ์ (สุขภาพจิต) ของเด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงและความกลัวต่อความไม่สมบูรณ์แบบและรู้สึกว่าตนขาดบางสิ่งบางอย่างในชีวิตอยู่เสมอ จนอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมลักษณะนี้ไม่เป็นมิตรต่อความคิดสร้างสรรค์
ด้วยเหตุนี้ งานที่เหมาะสมของพ่อแม่ คือ การเอาตัวเองออกจากการทำงานในบทบาทของพ่อแม่ที่มากจนเกินพอดี เปลี่ยนการตั้งคำถามจาก “จะช่วยลูกอย่างไร?” มาเป็น “จะทำอย่างไรให้ลูกพึ่งพาและดูแลตัวเองได้?”
ถ้าถามว่า “บ้านและโรงเรียนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจริงหรือ?”
คงต้องตอบว่า ทั้งบ้านและโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสองส่วนแรกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด จึงสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูและหลักสูตรการเรียนการสอนว่าเปิดโอกาสให้เด็กได้นำความรู้ออกมาใช้จริง และเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาดได้อย่างเป็นอิสระและมีความสุขมากแค่ไหน เด็กรู้สึกปลอดภัยและยอมรับว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ แล้วมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้หรือไม่
การปฏิรูปการศึกษาเป็นโจทย์ท้าทายที่ถูกเอ่ยถึงมาหลายทศวรรษไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ข้อสรุปที่นักการศึกษาทั่วโลกเห็นพ้องต้องกัน คือ การพัฒนาการศึกษาให้หลุดจากกับดักความสำเร็จด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว จนปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ที่เป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของเด็ก ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหนคงอยู่ที่ความร่วมมือของการศึกษาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียนและการทำงานในเชิงนโยบายที่ช่วยสนับสนุนกลไกการศึกษาให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมกันได้ โดยไม่ทิ้งและทำลายความคิดสร้างสรรค์ระหว่างทาง
อ้างอิง
https://scholarworks.umass.edu/dissertations_1/4957