- เรากำลังใช้ชีวิตเพื่อเอาใจคนอื่น จนลืมตัวเอง…อยู่หรือเปล่า มองแบบผิวเผินก็อาจเป็นเรื่องดีที่เอาใจคนอื่น ที่จริงก็เป็นผลดีในระยะสั้นที่ทำให้เราและคนรอบข้างพึงพอใจ แต่กลับมีผลเสียระยะยาวมากมายที่จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง และคนอื่น
- การเอาใจคนอื่นอาจเป็นรูปแบบหนึ่งในการควบคุมคนอื่น (Manipulation) ด้วย ซึ่งเป็นการควบคุมที่แยบยลในระดับจิตไร้สำนึกที่พยายามควบคุมว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเขาด้วย
- การเป็นคนชอบเอาใจคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป หากใช้จุดแข็งให้ถูก และปรับจุดอ่อนบางอย่างให้ดีขึ้น เช่น คนเหล่านี้มักมีแนวโน้มที่จะรู้ใจคนอื่น เพราะชอบที่จะสังเกตความรู้สึกคนอื่นเสมอ รับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกได้ดี และเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มีจิตใจที่ชอบบริการ
คุณเคยรู้สึกไหมว่า ทำไมต้องเป็นเราที่คอยเสียสละตัวเองเพื่อเขาอยู่เสมอ ?
ทำไมเราสนใจคนอื่นตั้งมาก แล้วเขาไม่สนใจเราเลย ?
ทำไมเราช่วยเขาตั้งเยอะแล้วเขากลับไม่เคยช่วยอะไรเราเลย ?
ทำไมเราชอบแคร์ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร แต่กลับไม่แคร์ว่าตัวเองคิดอย่างไร
สุดท้ายเหมือนว่าเรากำลังใช้ชีวิตเพื่อเอาใจคนอื่น จนลืมตัวเอง…
มองแบบผิวเผินก็อาจเป็นเรื่องดีที่เอาใจคนอื่น ที่จริงก็เป็นผลดีในระยะสั้นที่ทำให้เราและคนรอบข้างพึงพอใจ แต่กลับมีผลเสียระยะยาวมากมายที่จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง และคนอื่น
ผลเสียที่เห็นอย่างชัดเลย คือ คนที่ชอบเอาใจคนอื่นมีแนวโน้มที่จะหลงลืมการใส่ใจความคิด และความรู้สึกตัวเอง แม้เขาจะมีความสุขที่ได้ตามใจคนอื่น แต่สุดท้ายเขาก็มักจะรู้สึกแย่กับตัวเองบ่อยๆ สุดท้ายคนที่ไม่ได้กลับมาเชื่อมโยง ฟังเสียงความรู้สึก และความต้องการตัวเองก็มีแนวโน้มที่จะมีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ต่ำ (Low Self-Esteem) และมีตัวตนที่ไม่ชัดเจน (Identity) ซึ่งหมายถึง เขาจะไม่ค่อยรู้ว่าข้างในเขาต้องการอะไร เพราะใช้ชีวิตที่ผ่านมาโดยละเลยตัวเอง ไม่รู้ว่าที่ทำอยู่ทำไมตัวเองถึงทำแบบนั้น รู้แค่ว่าสิ่งนั้นจะทำให้คนอื่นรู้สึกดี
คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะกลัวความขัดแย้ง มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจน มีขอบเขตที่คลุมเครือ (Poor Boundary) เหมือนใครจะทำอะไรกับเขาก็ได้ ข้อดีอาจทำให้เป็นคนดูง่ายๆ สบายๆ ซึ่งนั่นก็เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบด้วย
คนที่ชอบเอาใจคนอื่น (People Pleaser) มักถูกมองว่าเป็นคนใจดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ ยิ้มแย้มแจ่มใส จริงๆ การช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม แต่สิ่งที่น่าเศร้าของคนที่ชอบเอาใจคนอื่นคือ การช่วยเหลือมากเกินไปจนเกินขอบเขตที่ตัวเองรับได้ หรือพูดให้เห็นภาพคือ ช่วยเขาทั้งที่ตัวเองไม่ไหว
และภาพใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสดูไม่คิดอะไร หารู้ไม่ว่าลึกๆ แล้ว คนที่ชอบเอาใจคนอื่นมักมีแนวโน้มที่จะน้อยใจ ผิดหวัง ขุ่นเคืองอยู่บ่อยครั้ง อาจเพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ ไม่มีคนเห็นคุณค่าสิ่งที่เขาทำ
การเอาใจคนอื่นอาจเป็นรูปแบบหนึ่งในการควบคุมคนอื่น (Manipulation) ด้วย ซึ่งเป็นการควบคุมที่แยบยลในระดับจิตไร้สำนึกที่พยายามควบคุมว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเขาด้วย
คนที่ชอบเอาใจคนอื่นมักกลัวเป็นภาระ ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ แท้จริงแล้วการพยายามช่วยเหลือ ใส่ใจ ดูแลคนอื่น อาจไม่ได้ทำเพราะอยากดูแลคนอื่นจริงๆ แต่ทำเพราะจริงๆ แล้วเบื้องลึกในจิตใจ นั่นคือ สิ่งที่เขาต้องการ แต่เขาทำให้คนอื่นเป็นตัวแทนของเขาในระดับจิตไร้สำนึก (Unconscious)
ถึงอย่างนั้นการเป็นคนชอบเอาใจคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป หากใช้จุดแข็งให้ถูก และปรับจุดอ่อนบางอย่างให้ดีขึ้น เช่น คนเหล่านี้มักมีแนวโน้มที่จะรู้ใจคนอื่น เพราะชอบที่จะสังเกตความรู้สึกคนอื่นเสมอ รับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกได้ดี และเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มีจิตใจที่ชอบบริการ
สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้คนเหล่านี้มีลักษณะเป็นคนง่ายๆ เอาใจคนอื่น อะไรก็ได้ มักเกิดจากการเรียนรู้ว่าการที่ทำตัวแบบนี้ทำให้เขารู้สึกเขาเป็นที่รัก เขาถูกยอมรับ เขาถูกมองเห็น และมักเกิดจากการมีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ต่ำ (Low Self-Esteem)
ปล่อยวางการเป็นคนชอบเอาอกเข้าใจจนเกินไป ด้วยการเข้าใจรูปแบบพฤติกรรม (Behavior Patterns)
คนเราทำสิ่งต่างๆ ด้วยแรงขับเคลื่อนที่แตกต่างกันไป คนที่ชอบเอาใจคนอื่นต้องแยกให้ชัดว่าการเอาใจในที่นี่เป็นเพราะเราอยากทำจริงๆ หรือทำเพราะอยากให้เขามองว่าเราในแง่ดี แม้การกระทำจะเหมือนกัน แต่แรงขับเคลื่อนที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อความคาดหวัง และความขุ่นเคืองที่ต่างกัน
การคอยสังเกตตัวเองแบบนี้บ่อยๆ จะเป็นการฝึกสร้างการตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-Awareness) ว่าสาเหตุ หรือเหตุผลที่แท้จริงในการกระทำนั้นคืออะไร ซึ่งการตระหนักรู้นี้คือจุดเริ่มต้นของแทบจะทุกการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้พยายามจะบอกว่าการเอาอกเอาใจคนอื่นเป็นเรื่องไม่ดี แต่พยายามจะเน้นย้ำว่าเราจำเป็นต้องรู้เหตุผลในการทำสิ่งนั้น และเข้าใจว่าขอบเขตที่ตัวเองสามารถทำได้นั้นคือแค่ไหน การกระทำไหนที่รู้สึกโอเค การกระทำไหนที่รู้สึกว่าไม่โอเค แล้วค่อยๆ หาสมดุลที่เหมาะสมกับตัวเองในการเอาใจคนอื่น และใส่ใจตัวเอง ที่สำคัญคือ พยายามซื่อสัตย์กับขอบเขตของตัวเองอย่างที่ผมเคยเขียนบทความเรื่อง ทำไมการมีจุดยืนที่ชัดเจนจึงสำคัญต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดี ? (Healthy Boundary) เพราะการเอาอกใจคนอื่นจนลืมตัวเองไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดีเลย
ตอนแรกผมคิดว่าจะเขียนวิธีพัฒนาตัวเองว่าเราจะถอยตัวเองออกจากความเป็นคนขี้เอาอกเอาใจคนอื่นอย่างไรดี แต่พอมานั่งคิดดีๆ แล้ว เรื่องพวกนี้ไม่สามารถแก้ไขได้เหมือนการซ่อมคอมพ์ที่แค่เห็นจุดที่อุปกรณ์พัง พอเปลี่ยนอุปกรณ์ทุกอย่างก็ใช้งานได้ดี มนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น บุคลิกภาพไม่ได้เกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน หากเป็่นการสะสมการกระทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นนิสัย แล้วก็พัฒนาเป็นบุคลิกภาพ เช่นเดียวกัน หากจะแก้ไข คงไม่มีวิธีไหนที่จะปลดล็อกได้ในพริบตา
ผมคิดว่าวิธีพัฒนาตัวเองที่ดีที่สุดคือ การอ่านบทความนี้ แล้วค่อยๆ กลับมาซื่อสัตย์กับตัวเองว่าพฤติกรรมแบบไหนที่กำลังทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ เริ่มต้นจากการ “ยอมรับ” สิ่งที่ตัวเองเป็น แล้วค่อยๆ สังเกตว่า ทำไมเราถึงทำแบบนี้นะ เราทำสิ่งนั้น เราทำสิ่งนี้เพราะต้องการอะไร การสังเกตรูปแบบพฤติกรรมซ้ำๆ (Behavior Patterns) จะทำให้เราก้าวข้าวผ่านตัวเองได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่ามันคงใช้เวลา แต่มันจะคุ้มค่า, ผมเชื่ออย่างนั้น โดยวิธีการสังเกตรูปแบบพฤติกรรม ผมประยุกต์จากการกระบวนการทำจิตบำบัดที่เป็นการปรับพฤติกรรมระยะยาวที่ค่อนข้างได้ผลดี
ขอให้วันนี้เป็นวันที่ใส่ใจตัวเองมากขึ้นครับ