- นักพนัน(Gabler) เป็นบทประพันธ์ของดอสโตเยฟสกี มีตัวละครเอกคือ ‘อเล็กซี’ ผู้ที่สานสัมพันธ์กับ ‘โพลีนา’ ลูกสาวครอบครัวนายพล ประหนึ่งว่าเธอคือเจ้านาย “ผู้ทรมาน” ส่วนเขาก็รู้สึกว่าตนเป็น “ทาส” ที่ไม่ได้รับความเคารพ แต่ในความสัมพันธ์นั้นก็มีการชักเย่อสับเปลี่ยนกันไปมาในภาวะสยบยอมและวางอำนาจ ยอมจำนนและเอาชนะคล้ายกับความสัมพันธ์แบบ ‘ซาโดมาโซคิสม์’
- ความสัมพันธ์แบบ ‘ซาโดมาโซคิสม์’ มีความหมายที่กว้างมากกว่าในเรื่องการร่วมเพศ นั่นคือเรื่องของอำนาจและการควบคุม ซึ่งมีฝั่งที่สยบยอม (submission) และฝั่งที่ใช้อำนาจครอบงำ (domination) แต่ทั้งฝั่งที่ยอมจำนนและใช้อำนาจครอบงำล้วนแต่กำลังออกจากอิสรภาพและความเปลี่ยวดาย แม้ดูเหมือนอยู่ตรงข้ามกันแต่ต่างก็ต้องพึ่งพากัน
- แทนที่เราจะถามหาความสัมพันธ์ตามอุดมคติใดๆ มันอาจน่าสนใจกว่าที่จะเฝ้าสังเกตด้วยความรู้สึกตัวว่า มีชั่วขณะไหนในชีวิตประจำวัน เช่น การเลี้ยงดูลูกหลาน การดูแลพ่อแม่ การปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง การบริหารทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ ที่เราปรารถนาจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำให้เขาเจ็บปวดอับอาย หรือสำนึกผิดและศิโรราบต่อเราโดยสิ้นเชิง
1.
นักพนัน (Gambler) เป็นบทประพันธ์ของดอสโตเยฟสกี นักเขียนเรืองนามแห่งรัสเซีย ที่ทำให้รู้สึกถูกเคี่ยวคั้นอารมณ์ไปตามจังหวะอันไม่หนักหนา แต่เผยรสจัดตามมาหลังอ่านจบไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีตัวละครเอกคือ อเล็กซี อีวาโนวิช สุภาพบุรุษผู้มีการศึกษาแต่ขาดทุนรอน ทำให้จำต้อง ‘พึ่งพา’ ท่านนายพลรัสเซียผู้จ้างให้เขาเป็นครูสอนเด็กในครอบครัวสองคน แต่นอกจากนี้แล้ว ครอบครัวของนายพลยังมี โพลีนา อเล็กซานดรอฟนา ลูกเลี้ยงผู้งดงามและภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งพร้อมจะใช้โฉมงามหยาดฟ้าเย้ายวนให้ชายหนุ่มทั้งหลายสยบยอมไปตามอำเภอใจของเธอ
อเล็กซีสานสัมพันธ์กับโพลีนาดุจว่าเธอคือเจ้านาย ‘ผู้ทรมาน’ ส่วนเขาก็รู้สึกว่าตนเป็น ‘ทาส’ ที่ไม่ได้รับความเคารพ และหล่อนก็ยินดีถือสิทธิ์เหนือตัวเขาทั้งยังพร้อมจะออกคำสั่ง “คุณบอกเองว่าชอบความเป็นทาส และฉันนึกว่าคุณชอบจริงๆ” หญิงสาวยอมให้เขาล้ำเส้นในหลายโอกาสแต่ก็เอื้อนเอ่ยว่าเกลียดเขา
เหล่านั้นกระมังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทาสรักก็มีหัวใจของอาชญากร เขาพร้อมจะกระโจนลงจากยอดเขาสูงลิ่วหากเธอสั่งให้ทำ ในขณะที่หลายคราก็อยากจะฝังคมมีดลงในอกนวลนางและปลิดชีพหล่อนเสียด้วยความอยากกลืนกินหล่อนลงไป
ทาสหนุ่มคนนี้ก็มีความเป็นนักพนันเสียด้วย ซึ่งมิได้หมายความถึงเพียงภาวะฮึกเหิม วาดหวังในชัยชนะและกล้าได้กล้าเสียในการเล่นพนัน แต่ยังรวมถึงการเอาชีวิตเป็นเดิมพันด้วยเขาทราบว่าอยู่แล้วว่าบ้านของหญิงสาวที่เขาลุ่มหลงติดหนี้สินหนัก ครั้นทราบว่าหนุ่มฝรั่งเศสที่หล่อนดูจะมีเยื่อใยได้สลัดจากหล่อนไปด้วยเรื่องเงินล้วนๆ เขาก็หุนหันออกไปเล่นพนันแล้วชนะได้ทรัพย์สินมหาศาลมา เขาเต็มใจแบ่งเงินทองนั้นให้หล่อนแต่หล่อนเย่อหยิ่งเกินจะรับมันไว้ หญิงสาวผู้สะอื้นไห้นอนค้างอ้างแรมกับเขา และที่เคยแดกดันให้ซื้อหล่อนด้วยเงิน สุดท้ายก็ปาเงินเหล่านั้นใส่หน้าเขาและหนีไป
ภายใต้การกระทำที่คล้ายไร้หัวใจเธอก็ลงให้เขามิใช่น้อยตลอดมา ที่บอกออกไปว่าชิงชังนั้นแท้จริงเป็นเพราะอเล็กซีมีความหมายกับเธอมากนั่นเอง
ในความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขานั้น ความย่ำเหยียดก็เร้นด้วยความปรารถนาจะถูกยั่วยวน ในความเย็นชามีความเร่าร้อน ในการยิ้มเยาะที่ดูเหี้ยมโหดก็กลับยินยอมคุกเข่าลงต่อหน้า
และดูจะมีการชักเย่อสับเปลี่ยนกันไปมาในภาวะต้อยต่ำและสูงศักดิ์ สยบยอมและวางอำนาจ ยอมจำนนและเอาชนะ
ชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์แบบซาโดมาโซคิสม์ (Sadomasochism)
2.
แยกออกเป็นสองคำศัพท์คือ ‘ซาดิสม์ (Sadism)’ และ ‘มาโซคิสม์ (Masochism)’ ที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยจิตแพทย์ออสเตรีย-เยอรมัน คราฟ เอบิง (Richard Freiherr von Krafft-Ebing 1840-1920) ผู้มีผลงานมากมายเกี่ยวกับอาชญาวิทยา การสะกดจิตและพฤติกรรมทางเพศ
มีความเข้าใจในศัพท์เหล่านี้แตกต่างกันไปและมักเชื่อมโยงกับเรื่องเพศ แต่ซาโดมาโซคิสม์ในความหมายที่กว้างกว่าโซ่แส้กุญแจมือในช่วงฉากร่วมเพศ คือเรื่องของอำนาจและการควบคุม ซึ่งมีฝั่งที่สยบยอม (submission) และฝั่งที่ใช้อำนาจครอบงำ (domination) โดยฝั่งมาโซคิสม์ดูจะถูกกำราบ ถูกบดขยี้โบยตีและถูกกลืนกินโดยฝ่ายที่ขึ้นขี่อย่างโอหัง แต่ลักษณะเช่นว่านี้ก็ปรากฏขึ้นได้อย่างเข้มข้นเจือจางและหลากหลาย ซึ่งทำให้เราสามารถพบรูปแบบทำนองดังกล่าวจากภาวะจิตใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั่วไปได้เหมือนกัน
และรายละเอียดของซาโดมาโซคิสม์ที่จะกล่าวนับจากนี้ เกือบทั้งหมดมาจากคำอธิบายของอีริค ฟอร์มม์ (Erich Fromm 1900 –1980) นักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน ทั้งนี้ การดิ้นรนแบบมาโซคิสมักปรากฏเป็นความรู้สึกไร้อำนาจ ด้อยและไม่สำคัญแม้จะไม่ได้อยากรู้สึกเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มจะไม่ยืนกรานในสิทธิ์ของตัวเอง ดูถูกและแม้แต่ทำร้ายตัวเอง อีกทั้งมักพึ่งพาอำนาจนอกตัว การเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ทรงพลังกว่าซึ่งให้ความรู้สึกเป็นนิรันดร์ไม่สะท้านสะเทือนย่อมให้ความรู้สึกว่าเราได้ ‘มีส่วนร่วม’ ในความแข็งแกร่งเรืองโรจน์นั้น
ส่วนฝ่ายซาดิสต์ก็กลืนกินแทนที่จะถูกกิน เขามีแนวโน้มทำให้คนอื่นมาพึ่งพาตนเองและใช้อำนาจควบคุมโดยสมบูรณ์ แม้แต่ทรมานกายใจคนอื่นรวมถึงทำให้อับอายขายหน้า นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของการใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ ควักคว้านและฉกฉวยเอาอะไรก็ตามที่เสพสมเข้าไปได้ของอีกฝ่าย(รวมถึงสติปัญญาและอารมณ์)มาเป็นส่วนหนึ่งของตัว แม้จะดูแกร่งกว่าในทางกายภาพ แต่ใจที่หื่นกระหายอำนาจมีรากมาจากความอ่อนแอและไม่เป็นอิสระ อย่างไรเสียเขาก็ต้องพึ่งอีกฝ่ายเพื่อจะทะนงลำพอง
แนวโน้มซาดิสม์ตามตัวอย่างของฟอร์มมที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันก็เช่น เธอจงอย่างขัดขืนเพราะฉันรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเธอ อีกทั้งการทึ้งทวงเอาสิ่งใดก็ตามจากเขาโดยให้เขาสำเหนียกความเป็นเจ้าบุญนายคุณเหนือหัวของตน เมื่อหน้ากาก ‘รัก’ ถูกกระชากออกเราอาจพบความหรรษาในการปกครองครอบงำ ฟอร์มม์มีทรรศนะว่าความรักนั้นมีอิสรภาพและความเท่าเทียมเป็นฐาน มันจึงกลายเป็นการพึ่งพาแบบมาโซคิสหากฝ่ายหนึ่งต้องพร้อมสละตัวเองโดยสมบูรณ์และยอมพลีสิทธิ์ให้จนสูญเสียความซื่อตรง บูรณภาพและตกอยู่ใต้อาณัติใครอีกคน แต่ทั้งฝั่งที่ยอมจำนนและใช้อำนาจครอบงำล้วนแล้วแต่กำลังออกจากอิสรภาพและความเปลี่ยวดาย แม้ดูเหมือนอยู่ตรงข้ามกันแต่ต่างก็ต้องพึ่งพากันและอาจสลับบทได้เรื่อยๆ เพราะเมื่อฝั่งที่เคยตอบสนองต่ออำนาจเริ่มขัดขืนและเพิกเฉย ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายที่เคยควบคุมได้จะขัดใจและเริ่มเรียกร้องสิ่งที่เคยได้รับราวกับเด็กน้อย อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายก็สามารถจะเริ่มใจอ่อนและตอบสนองกระทั่งวงจรการครอบงำได้เปลี่ยนศูนย์กลับมาที่เดิมอีก
3.
และรูปแบบเหล่านี้ก็สามารถเกิดซ้ำในพื้นที่นอกเหนือสัมพันธ์ของคู่รัก แต่แทนที่เราจะถามหาความสัมพันธ์ตามอุดมคติใดๆ มันอาจน่าสนใจกว่าที่จะเฝ้าสังเกต ด้วยความรู้สึกตัวว่า มีชั่วขณะไหนในชีวิตประจำวัน เช่น การเลี้ยงดูลูกหลาน การดูแลพ่อแม่ การปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง การบริหารทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ ที่เราปรารถนาจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำให้เขาเจ็บปวดอับอาย หรือสำนึกผิดและศิโรราบต่อเราโดยสิ้นเชิง ฯลฯ
และมีชั่วขณะไหนบ้างที่เรารอคอย รู้สึกควรค่าและสาแก่ใจในการลิ้มรสการถูกลงทัณฑ์เช่นนั้น? ❄❄
อ้างอิง
The Gambler by Fyodor Dostoyevsky
Translated by C. J. Hogarth (https://www.gutenberg.org/files/2197/2197-h/2197-h.htm)
Sadomasochism in Everyday Relationships by Michael J. Formica EdM, NCC, LPC
The Fear of Freedom (1942) by Erich Fromm
“Masochism and Pathological Gambling” (March 2015), Psychodynamic Psychiatry 43(1):1-25 by Richard J Rosenthal