- ความสำเร็จของการทำงานสักชิ้นหนึ่งก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ที่ไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ได้ หากขาดชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไป แม้ทีมจะต้องการผู้นำ แต่ทุกคนในทีมมีความสำคัญเท่าเทียมกัน
- โครงสร้างหลักที่จำเป็นสำหรับการรวมพลังทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความรู้และทักษะส่วนบุคคล ระบบการจัดการ และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
- การมีส่วนร่วมของนักเรียนแต่ละคนเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จ และมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน ครูต้องสื่อสารให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตัวเอง ทุกคนมีความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม ทำให้นักเรียนเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานสำคัญมากกว่าผลลัพธ์
ถ้ามีนักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้นเดินมาบอกครูว่า “หนู/ ผมไม่อยากทำงานกลุ่ม ขอทำคนเดียวได้ไหม?”
ครูจะจัดการกับเหตุการณ์นี้อย่างไร?
อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกันและกันอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายจากนวัตกรรม เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีมากขึ้นทำให้มนุษย์คนหนึ่งจัดการชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น พึ่งพาคนอื่นได้น้อยลงแม้ยังต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน จนทำให้หลายๆ คนปฏิเสธและรู้สึกไม่ชอบการเข้าสังคมกับผู้อื่น รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ข้อมูลจาก สำนักแนะแนวอาชีพ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Bureau of Vocational Guidance) ระบุว่า ร้อยละ 66 ของพนักงานที่ถูกไล่ออกจากงานเป็นผลมาจากทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ จากสถิตินี้ดูเหมือนว่าการเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยการสร้างการเรียนรู้ ปรับตัวและทำความเข้าใจกันใหม่
การทำงานร่วมกัน สามารถนิยามได้ถึง กระบวนการและผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมระหว่างบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร ในแวดวงการศึกษาเมื่อเอ่ยถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 การทำงานร่วมกันเป็นทีม ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็น เพราะการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน แม้จะชอบหรือไม่ก็ตาม เราต้องทำงานเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น
- นักเรียนทำงานกลุ่มด้วยกัน ต่างก็ต้องพึ่งพาความรู้ ทักษะและไอเดียของกันและกัน
- พนักงานในองค์กรหนึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาหรือทำงานโปรเจคตามโจทย์ลูกค้า
- การทำงานโปรเจคหนึ่ง ที่ต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และการลงมือลงแรงร่วมกันจากหลายฝ่าย
ในหลักสูตรสมรรถนะให้ความหมาย การรวมพลังทำงานเป็นทีม (Teamwork and Collaboration) หมายถึง การทำงานร่วมกันให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยการเป็นสมาชิกทีมที่ดีและมีภาวะผู้นำ ใช้กระบวนการทำงานแบบร่วมมือ รวมพลังอย่างเป็นระบบ ด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีการประสานความคิดเห็นที่แตกต่างสู่การตัดสินใจเป็นทีมอย่างรับผิดชอบร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและจัดการความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน
จากคำนิยามข้างต้น ความสำเร็จของการทำงานสักชิ้นหนึ่งก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ที่ไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ได้ หากขาดชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไป แม้ทีมจะต้องการผู้นำ แต่ทุกคนในทีมมีความสำคัญเท่าเทียมกัน โครงสร้างหลักที่จำเป็นสำหรับการรวมพลังทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
- ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
- ความรู้และทักษะส่วนบุคคล
- ระบบการจัดการ
- การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
3-Co ที่สะท้อนการทำงานเป็นทีม
จอห์น เจ. เมอร์ฟีย์ (John J. Murphy) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาด้านธุรกิจและผู้เขียนหนังสือ ‘Pulling Together: 10 Rules for High-Performance Teamwork’ กล่าวว่าหากมนุษย์ร่วมมือทำงานร่วมกันอย่างชาญฉลาด ความร่วมมือนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ช่วยบันดาลความคิดสร้างสรรค์ ศักยภาพ การมีส่วนร่วม การสื่อสารและประสิทธิภาพในการทำงาน
“มนุษย์แต่ละคนมีของขวัญที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงพรสวรรค์และทักษะติดตัวมา เมื่อเรานำสิ่งเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจอย่างหนึ่งร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถทำให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่งในธุรกิจได้”
แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาและวิจัยด้านจิตวิทยา ปีที่ผ่านมา (ปี 2020) วารสารนักจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychologist Journal) ตีพิมพ์ชิ้นงานเรื่อง The Science of Teamwork (วิทยาศาสตร์ของการทำงานร่วมกันเป็นทีม) เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาของการทำงานร่วมกัน พบว่า การทำงานเป็นทีมทำให้เราฉลาดขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น และประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
ก่อนจะลงลึกถึงการปลูกฝังและพัฒนาสมรรถนะด้านการรวมพลังทำงานเป็นทีม อยากชวนมาทำความรู้จักกับความหมายของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 3 คำ ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะด้านนี้กันก่อน ได้แก่ คำว่า ‘Collaboration’ ‘Cooperation’ และ ‘Coordination’
- Collaboration หมายถึง การร่วมงานกันระหว่างสองฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีเป้าหมายร่วมกัน อย่างที่มักพูดทับศัพท์กันติดปากว่า ‘คอลแลบ’ เช่น สินค้าแบรนด์ดังร่วมงานกันเพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ – แบรนด์หรูอย่าง พราด้า (Prada) จับมือกับ แบรนด์กีฬาอย่าง อดิดาส (Adidas) หรือ ศิลปิน/ นักร้องสร้างสรรค์ผลงานใหม่ร่วมกัน เป็นต้น
- Cooperation หมายถึง การให้ความร่วมมือทำงาน มักไม่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ แต่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การให้ความร่วมมือให้ข้อมูลกับตำรวจเพื่อหาผู้กระทำผิด การให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น
- Coordination หมายถึง การประสานงานภายในกลุ่มเครือข่าย/ หน่วยงาน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ทรัพยากรบุคคล/ สถานที่ เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
เมื่อนำ 3 คำมารวมในบริบทเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น พราด้าและอดิดาส ทำงานร่วมกัน (collaborate) มอบหมายให้ผู้จัดการโปรเจกต์จากทั้ง 2 บริษัท ประสานงาน (coordinate) กับฝ่ายต่างๆ เพื่อวางแผนงานอย่างละเอียด และขอความร่วมมือ (cooperate) จากทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายและความสำเร็จของโปรเจกต์
ความชัดเจนและการยอมรับความหลากหลายช่วยผลักดันทีมเวิร์ก
ปัญหาของการทำงานร่วมกันส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความแตกต่างในตัวบุคคล เช่น อุปนิสัย จุดอ่อนจุดแข็ง ประสบการณ์ชีวิตหรือพื้นฐานทางวัฒนธรรม ที่นำมาสู่ความคิดเห็นในมุมมองที่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้ การทำงานร่วมกับผู้อื่นจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น หากแต่ละฝ่ายสื่อสารความเป็นตัวเองและความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน โดยมีเป้าหมายการทำงานเป็นตัวยึดเหนี่ยว
บางคนคิดเร็วทำเร็วมีความมั่นใจในการนำเสนอไอเดียในทันที บางคนมีความรอบคอบต้องการใช้เวลาในการคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้หากได้รับบทบาทที่เหมาะสม
สำหรับการสร้างการเรียนรู้ในชั้นเรียน เป้าหมาย เนื้อหา ลักษณะและบริบทของกิจกรรมที่ทำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมรรถนะด้านการรวมพลังทำงานเป็นทีม ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อพวกเขามีความรู้ มีทักษะ หรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาและบริบทของเรื่องที่กำลังเรียนรู้หรือโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่ ในทางตรงกันข้ามหากเด็กๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นเลย พวกเขามักวางบทบาทเป็นผู้สังเกตการณ์มากกว่าลงมือทำ
ดังนั้น การออกแบบกิจกรรมควรเป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจ อย่างน้อยถึงแม้เด็กๆ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อน พวกเขาก็พร้อมลงมือค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องที่พวกเขาอยากรู้
ครูสามารถเข้ามาช่วยกำหนดเงื่อนไขและกติกาการทำงานร่วมกับเด็กๆ เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะด้านการรวมพลังทำงานเป็นทีม ดังนี้
- การจัดกลุ่ม: การจัดกลุ่มให้มีนักเรียนในกลุ่มมากเกินไป มีความเป็นไปได้ที่นักเรียนบางคนจะนิ่งเฉย ปล่อยให้นักเรียนคนอื่นทำงาน การจัดกลุ่มจึงควรดูความเหมาะสมของกิจกรรม เช่น บทบาทหน้าที่ นอกจากนี้ การจัดกลุ่มคละนักเรียนที่ระดับผลการเรียนต่างกัน จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
นักวิจัยจากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน (Wharton Business School) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า การจัดกลุ่มเล็กๆ เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับของความสำเร็จ งานวิจัยพบว่า ทีม 2 คนใช้เวลา 36 นาทีในการต่อเลโก้ ขณะที่ทีม 4 คน ใช้เวลาทั้งหมด 52 นาทีต่อเลโก้ชุดเดียวกัน ซึ่งใช้เวลามากกว่าถึงร้อยละ 44 ขณะที่เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon.com กล่าวถึงกฎพิซซ่า 2 ถาด (2 Pizza Rule) ว่า ไม่สำคัญว่าบริษัทจะใหญ่ขนาดไหน แต่การสร้างทีมทำงานสัก 1 ทีม ไม่ควรจะใหญ่เกินกว่าที่จะแบ่งพิซซ่า 2 ถาด กินด้วยกันได้
- การกำหนดแนวทางเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม: ยิ่งครูช่วยกำหนดแนวทางการทำงานให้นักเรียนได้ชัดเจนเท่าไหร่ ยิ่งช่วยสร้างการมีส่วนร่วมได้มากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น กำหนดว่าการนำเสนอแต่ละครั้งให้นักเรียนในกลุ่มสลับสับเปลี่ยนกันมาเป็นผู้นำเสนอ เพื่อให้นักเรียนเตรียมตัวและเตรียมความพร้อม รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการทำกิจกรรมและชี้แจงให้นักเรียนรับรู้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้นักเรียนเห็นทิศทางการทำงาน
- ลักษณะกิจกรรมใช้ความสามารถของผู้เรียนหลายด้าน: กิจกรรมควรเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้แสดงความสามารถ เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนแบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม
- การสะท้อนกลับของครู: ครูเฝ้าติดตาม สังเกตการทำงานร่วมกันของนักเรียน ทั้งในภาพรวมและเฉพาะบุคคล ให้คำแนะนำแต่ไม่ชักจูงความคิดแม้ครูมองเห็นว่าขั้นตอนที่นักเรียนวางแผนร่วมกันทำงานอาจไม่ได้ผล เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการทำงานเป็นทีม ปล่อยให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาด แล้วปรับปรุงแก้ไข
- การสะท้อนกลับของผู้เรียน: เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนความคืบหน้า ความคิดเห็น และความรู้สึกระหว่างการทำงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเมื่อทำงานเสร็จสิ้น กระบวนการนี้ช่วยสร้างประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้ข้อผิดพลาด ทำให้ผู้เรียนได้พิจารณาไตร่ตรองถึงเหตุผลและคิดหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขปัญหา
พลังของการทำงานเป็นทีม เริ่มจากความพยายามส่วนบุคคล
การประเมินผลการทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ความสำเร็จของโปรเจกต์/ชิ้นงาน แต่ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพราะการมีส่วนร่วมของนักเรียนแต่ละคนเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จ และมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน ครูต้องสื่อสารให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตัวเอง ทุกคนมีความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม ทำให้นักเรียนเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานสำคัญมากกว่าผลลัพธ์
มีวิธีการสังเกตหรือประเมินอย่างไรว่าการรวมพลังทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นแล้ว?
- มีการแบ่งปันความรู้ และ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นร่วมกัน
- ให้ความร่วมมือ (cooperate) กับกิจกรรมของกลุ่ม เช่น แสดงความคิดเห็นอย่างกระตือรือร้น อาสารับหน้าที่ที่ตนถนัดโดยไม่บ่ายเบี่ยง และพร้อมเรียนรู้พัฒนาทักษะที่ไม่ถนัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีม ถ้าทีมต้องการ
- รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
- เสนอความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล และต่อยอดความคิดผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์
- สื่อสารระหว่างกันด้วยความเคารพและให้เกียรติผู้อื่น ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- ตัดสินใจเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน อย่างเป็นประชาธิปไตย
เห็นได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการรวมพลังทำงานเป็นทีมไม่ได้ส่งผลเชิงบวกต่องานที่ทำเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนแต่ละบุคคลด้วย
การเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่มีคุณภาพทำให้เราเติบโตขึ้นจากการรับฟัง ฝึกฝน และลงมือลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน
ผู้เรียนได้ค้นพบแนวคิดใหม่ๆ ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดผ่านประสบการณ์ของเพื่อนๆ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
“เราทุกคนต่างมีจุดบอดของตัวเอง อาจเป็นพฤติกรรมหรืออุปนิสัยบางอย่าง เป็นจุดอ่อนจุดแข็งที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำเมื่อทำงานคนเดียว สิ่งเหล่านี้จะถูกสะท้อนออกมาให้ได้เรียนรู้เมื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น ช่วยให้เรามีโอกาสพัฒนาจุดอ่อน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้นและได้พัฒนาตัวเอง ความเติบโตที่เกิดขึ้นนี้สามารถนำกลับไปใช้พัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย” ซูซาน แมคแดเนียล (Susan McDaniel) นักจิตวิทยาและหนึ่งในบรรณาธิการ “The Science of Teamwork” กล่าว
อ้างอิง
https://intranet.ecu.edu.au/__data/assets/pdf_file/0004/771574/teaching-tips-for-teamwork-skills.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=DmGn2X9SETk
https://www.atlassian.com/blog/teamwork/the-importance-of-teamwork