- ‘การตัดขาดครอบครัว’ หนึ่งในทางเลือกแก้ไขปัญหาครอบครัวที่น้อยคนนักจะอยากเลือกเดินทางนี้ ไม่ว่าครอบครัวมีปัญหาหนักแค่ไหน ตัวเราถูกทำร้ายสักเท่าไร หลายคนเลือกที่จะยอมอดทนอยู่ต่อ เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ไว้
- คุยกับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในประเด็นดังกล่าวว่า บางครั้งทางเลือกนี้อาจจะเป็นตัวช่วยชีวิต และวิธีรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับวันที่เราต่างปล่อยมือกัน คือ ทางเลือกดีที่สุด
- ” Generosity หมายถึงพื้นที่ที่เราจะเปิดรับคนๆ หนึ่ง มันจะกว้างและเผื่อให้กับความไม่น่ารัก ความผิดพลาด เผื่อให้ในวันที่เขาเฮิร์ทเรา ความใจกว้างที่เราเผื่อไว้จะทำให้เรารับรู้ว่า…เฮ้ย เขามาจากจุดที่ต่างจากเรา และเราก็มาจากจุดที่ต่างจากเขา“
ตัดขาดครอบครัว
หนึ่งในทางเลือกแก้ไขปัญหาครอบครัวที่น้อยคนนักจะอยากเลือกเดินทางนี้ ไม่ว่าครอบครัวมีปัญหาหนักแค่ไหน ตัวเราถูกทำร้ายสักเท่าไร หลายคนเลือกที่จะยอมอดทนอยู่ต่อ เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ไว้
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันการตัดขาดครอบครัวดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ยากหรือน่ากลัวเกินไป อาจเพราะยุคนี้เราให้ความสำคัญกับจิตใจของเรา หากสิ่งที่ทำร้ายเราแม้จะเป็นครอบครัว การปล่อยมือ หรือเดินออกมาก็เป็นวิธีรักษาจิตใจเราที่ดีไม่น้อย แม้อาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวด แต่ในระยะยาวอาจส่งผลดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เราโตมากับการปลูกฝังว่า ‘ครอบครัวอันดับหนึ่ง’ ‘ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นยังไงครอบครัวต้องมาก่อน’ ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’ คงทำให้ทางเลือกนี้สั่นคลอนความเชื่อเราไม่น้อย ประกอบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา หากได้อยู่บนโลกทวิตเตอร์ที่มีหลายแอคเคาท์มาแชร์ว่าโดนพ่อแม่ไล่ออกจากบ้านเพราะความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือลูกตัดขาดพ่อแม่เอง ยิ่งทำให้เราสงสัยในความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’
ชวนคุยกับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในประเด็นยุคนี้ครอบครัวปล่อยมือกันง่ายหรือไม่ การตัดขาดครอบครัวส่งผลอะไรบ้าง วิธีเยียวยาต่อจากนั้น และหากเกิดความขัดแย้ง วิธีรับมือเพื่อให้ไม่ต้องไปถึงจุดที่การจากกัน คือ ทางเลือกที่ดีที่สุด
‘ตัดขาดครอบครัว’ ดูจะเป็นคำแนะนำที่เราเห็นบ่อยในยุคนี้ โดยเฉพาะตามโลกโซเชียล หมอโบว์มีความคิดอย่างไรบ้าง?
การให้คำแนะนำ เราต้องดูบริบทด้วยว่าสถานการณ์ครอบครัวนั้นเป็นอย่างไร บางครอบครัวอาจมีปัญหาที่รุนแรง เรื้อรังและซับซ้อน ผ่านความพยายามจนมาถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ถึงจุดหนึ่งทางเลือกแยกออกมาก็ดูจะสมเหตุสมผล แต่บางครอบครัวบริบทเขาอาจจะไม่ถึงขั้นนี้ การให้คำแนะนำต้องดูเป็นกรณีๆ ไม่ควรรีบตัดสินหรือให้คำแนะนำตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น
ถามว่าทำไมยุคนี้คำแนะนำเชิงนี้ถึงมีเยอะขึ้น ตัวเองคิดว่าคุณค่าสำคัญที่แต่ละเจเนอเรชันส่งต่อกันมาอาจจะเปลี่ยนไป ก่อนนี้สังคมจะให้ความสำคัญกับ Collectivism หรือความเป็นหมู่เหล่า มาก ความเป็นหนึ่งเดียวเหมือนๆกัน คือ เซฟ ปลอดภัย ทั้งแบบครอบครัว สังคม หรือความเป็นชาติ จากเป็นความปลอดภัยก็กลายเป็นความดี เป็นศีลธรรม เป็นความถูกต้องที่สังคมยึดถือ
พอสังคมเปลี่ยน คนเราพึ่งตัวเองได้มากขึ้น เริ่มมีคุณค่าแบบ Individualism บุคคลเป็นปัจเจกมากขึ้น คุณค่าที่คนรุ่นเก่ายึดถือ ก็ไม่จำเป็นที่คนรุ่นใหม่จะเห็นตาม เพราะเขาก็ไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นนี้ที่ถือตามๆกันมา มันเป็นความดีงามตรงไหน และสังคมปัจจุบันมีความเป็น Polarity เป็นขั้วมากขึ้น ด้วยโซเชียลมีเดียเป็นฟิลเตอร์ที่เลือกรับข้อมูลแทนวิจารณญาณของเรา ความเป็นขั้วจะค่อยๆ ใหญ่ และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
อีกอย่างหนึ่ง คือ คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องอดทนกับอะไรที่มันไม่โอเค คนรุ่นก่อนจะรู้สึกว่า ‘ต้องอดทนสิ!’ ไม่ได้แปลว่าแบบไหนดีหรือไม่ดีนะ มันขึ้นกับแต่ละเรื่อง เป็นมุมมองที่มองต่างกัน คือ มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา
ทางเลือกนี้ก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาครอบครัว ถ้าเราเลือกวิธีแก้ไขวิธีนี้ มันจะส่งผลอะไรบ้าง โดยเฉพาะกับคนที่เลือกทำแบบนี้
ครอบครัวก็มีฟังก์ชันของมันนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่ได้ด้วยความสัมพันธ์ ถึงแม้บางคนตัดครอบครัว(ในสายเลือด)ทิ้งไป แต่เขาก็อาจยังต้องพึ่งพาความสัมพันธ์อื่นๆ มีครอบครัวแบบอื่น เช่นเพื่อนหรือชุมชนอื่นๆ
ในความสัมพันธ์กับครอบครัว เราก็มีพาร์ทอื่นที่ไม่ใช่พาร์ทที่ขัดแย้งกัน พาร์ทที่ไม่ใช่เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มุมมองและความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวเราทั้งหมด เรายังมีพาร์ทอื่นๆ พาร์ทที่เราใช้เวลาร่วมกัน เล่นด้วยกัน ห่วงใยดูแลกัน ในความสัมพันธ์ยังมีส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่มีความหมาย
ในหลายครอบครัวถึงจะมีปัญหาความขัดแย้ง พอสมาชิกในครอบครัวเดือดร้อนหนัก ก็ยังมีเป็นห่วง ต่างฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อกัน ก็ยังมี Bonding (สายสัมพันธ์) อยู่ แต่บางครอบครัวอาจจะมีบาดแผลที่ลึกกว่านั้น มันเจ็บปวดเกินไปสำหรับใครบางคน ก็อาจจะดีกว่าที่คนคนนั้นและครอบครัวเลือกใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้น้อยลง
สายสัมพันธ์ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หรือแค่ความเชื่อที่สังคมส่งต่อกันมา?
ตามชีววิทยามีอยู่แล้ว แม้แต่สัตว์ก็สามารถรับรู้ได้ว่าตัวไหนเป็นลูก ตัวไหนเป็นพ่อแม่ ก็จะปกป้องลูกตามสัญชาติญาณ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาก็เกิดความผูกพัน (Attachment) ซึ่งในวัยเด็กสำคัญมาก เพราะเราทุกคนมีวัยเด็กและสมองช่วงนั้นเปิดรับและไวต่อสิ่งเร้า เราในวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เรียนรู้ว่า…การเป็นมนุษย์ต้องพึ่งพาคนอื่น นอกจากเรื่องความอยู่รอดแล้ว มนุษย์ก็ยังต้องการความรักความผูกพันเพราะมันทำให้เราเป็นสุข และทำให้ชีวีตเรามีความหมาย เป็นอาหารใจของแต่ละคน
วิธีรักษา Bonding ในครอบครัว ที่ต่อให้มีความขัดแย้ง เราก็จะยังไม่แตกหักกัน
คนทุกคนต้องการการยอมรับและเคารพในความเป็นตัวเขาในแบบที่เขาเป็นจริงๆ หลายครั้งพ่อแม่รัก แต่ไม่ยอมรับหรือสนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งลูกเขาก็รับรู้นะว่าพ่อแม่รัก แต่พ่อแม่อาจไม่ยอมรับความคิดเห็นหรือวิถีชีวิตที่ลูกเลือก มองว่ามันไม่ดี ไม่ถูก หรือไม่ปลอดภัย เขาก็เป็นห่วงและอยากปกป้องลูก แต่ลูกอาจจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ถูกยอมรับ ไม่ได้รับความเคารพ หรือถูกปฏิเสธตัวตน
เราต้องรู้จักอาหารใจของคน สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการมันคืออะไรบ้าง
แน่นอนว่าเราต้องการความรัก การดูแล ถ้าครอบครัวดูแลลูก ให้สิ่งจำเป็น ยอมรับและเคารพในความเป็นตัวตนของเขา เปิดพื้นที่ให้เขาได้เป็นตัวเอง ชื่นชม ยินดีในสิ่งที่เขาเป็น สนับสนุนความฝันของเขา ในขณะเดียวกันก็ปกป้องเวลาที่ลูกเกิดอันตราย ตรงนี้เป็นสมดุลที่เกิดขึ้นไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นไปได้ ต้องค่อยๆ เรียนรู้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับลูกเรา บางครอบครัวมีลูกหลายคน แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
การตัดขาดครอบครัว จะมีทั้งมุมที่ลูกเป็นคนตัดขาด และมุมที่พ่อแม่เป็นคนตัดขาด ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดยากมากๆ แต่ปัจจุบันเราเห็นมากขึ้นที่พ่อแม่ตัดลูก บางคนกำลังเรียนอยู่ พึ่งพาตัวเองยากแน่นอน
เวลาเห็นตามข่าวเราไม่รู้ว่ามีอะไรซับซ้อนอยู่เบื้องหลังนั้นบ้าง อะไรที่นำพาให้มาถึงจุดนี้ จุดที่พ่อแม่สามารถไล่ลูกคนหนึ่งออกจากบ้าน อาจจะเป็นอารมณ์ชั่ววูบ การสื่อสารที่ไม่ Healthy หรือมีพื้นฐานความสัมพันธ์บางอย่างที่มีปัญหามากอยู่แล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้ง เราต่างก็ต้องการให้อีกฝ่ายทำแบบที่เราต้องการ แต่หลายครั้งที่เราเข้าไม่ถึงความต้องการภายในตัวเรา เห็นแต่ความโกรธเต็มไปหมด จนเลือกจะใช้วิธีควบคุม เช่น ลูกอยากไปประท้วง พ่อรู้สึกเป็นห่วง และกลัวทั้งความปลอดภัยของลูก และความปลอดภัยในอาชีพรวมถึงตัวเองและครอบครัว แต่ความรู้สึกเหล่านี้ส่งมาไม่ถึงลูก ลูกก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจหลายมุมของชีวิตผู้ใหญ่ ชีวิตของหัวหน้าครอบครัว
ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ละคนมีวิธีการรับมือไม่เหมือนกัน หลายครั้งเราก็พลาด เวลาที่เราโกรธหรือกลัวมากๆ การตัดสินใจของเราอาจไปละเมิดหรือกระทบจิตใจคนอื่น ถ้าป้องกันก่อนได้ตั้งแต่แรกก็ควรทำ
แต่ถ้าเผลอทำพลาดไป เราก็ต้องแก้ไขเยียวยามันด้วย อย่างน้อยบอกเขาได้ไหมว่า…ขอโทษนะ วันนั้นพูดแรงไปหน่อย ทุกคนพลาดได้ ถ้ารู้ว่าพลาดก็กลับมาแก้ไขเนอะ
ลองมองหาอีกด้านของสิ่งที่เราไม่โอเค เช่น พ่อก็รับรู้ว่าลูกทำเพราะมีอุดมการณ์ มีความกล้าหาญ ลูกก็รับรู้ว่าที่พ่อมีความห่วงใย และปกป้องครอบครัว มันมีคุณค่าอีกมากมายเพียงแต่ส่งมาไม่ถึง ถ้าจูนกันได้ กลับมาคุยกันดีๆ ก็อาจจะเห็นทางออกอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเดิม
การจะสร้างพื้นที่หรือวิธีจูนเข้าหากัน ถ้าเราต่างมีพาร์ทที่ขัดแย้งกัน
เราต้องกลับมาโฟกัสที่ข้างใน หลายครั้งมีสิ่งกระตุ้นภายนอกจากสังคมที่มาบอกว่านี่คือความดี นี่คือคุณค่า เราต้องลงมือทำอะไรหลายอย่างเพื่อความดี และความถูกต้อง ซึ่งมันจะมีคนเห็นต่าง แต่เรากลับมาข้างใน จริงๆ ข้างในคนเราไม่ได้ต่างกันมาก ทุกคนมีความกลัว โกรธ เศร้า ไม่ต่างกันเลย ทุกคนอยากได้ความรัก การยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่ง ความผูกพัน ทุกคนต้องการแบบนี้หมด แต่ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ การเติบโตที่ไม่เหมือนกันก็ทำให้เรามีวิธีการที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นไม่เหมือนกัน
ถ้าเราเชื่อมโยงความเหมือนของเราได้ หมอคิดว่านี่เป็นเรื่องของ Generosity ความใจกว้าง ที่เราทุกคนควรบ่มเพาะ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็ตาม ลูกต้องใจกว้างกับพ่อแม่ พ่อแม่เองก็ต้องใจกว้างกับลูก
Generosity ในใจหมายถึงการขยายพื้นที่ที่เราจะเปิดรับคนๆ หนึ่ง มันจะกว้างและเผื่อให้กับความไม่น่ารัก ความผิดพลาด เผื่อให้ในวันที่เขา hurt เรา พื้นที่จากความใจกว้างนั้นจะทำให้เราระลึกได้ว่า…เขามาจากจุดที่ต่างจากเรา และเราก็มาจากจุดที่ต่างจากเขา และจะซื้อเวลาให้เราได้เห็นอีกด้านของความจริง
วิธีทำให้เรามีความใจกว้าง
เกิดจากที่เราเลือกเผชิญความเจ็บปวดที่เกิดในใจของเราได้ไหม คนยุคนี้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่อยู่กับ Pain ได้น้อยลง เวลาที่คนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิดหรือเชื่อ เราก็ Pain ละ เขาทำไม่ถูก ทำไมเขาไม่เชื่อเรา หลายครั้งคนอื่นมองว่าสิ่งที่เราคิดมันไม่ดี มันโง่เง่า เลวร้าย ก็ยิ่งรู้สึก Pain และคนเราอยู่กับ Pain ตรงนี้ไม่ค่อยได้ ก็สวนกลับ ‘คุณนั่นแหละที่ไม่โอเค’ ‘คุณนั่นแหละที่ไม่ดี’ เราต่างยื่นเอา Pain ที่มีโยนให้คนอื่น
เราพร้อมมั้ยที่จะรู้สึกเหมือน ‘นั่งอยู่ในกองไฟ’ เวลาที่ถูกดูถูก ไม่เห็นด้วย ถูกตัดสินหรือควบคุม ทั้งๆ ที่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันถูก เราอยู่กับ Pain ตรงนั้นได้ไหม? แล้วในขณะที่เรา Pain ก็ยังใจกว้างพอที่จะฟัง และอยากรู้ว่าที่มาของอีกฝ่ายคืออะไร อะไรทำให้เขาคิดแบบนั้น ก่อนที่เราจะปกป้องตัวเองหรือโจมตีคนอื่นกลับ
Generosity เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มเปิดก่อน เพราะทุกคนมักคาดหวังให้คนอื่นเป็นคนทำก่อน ลูกก็คาดหวังว่าพ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ควรจะใจกว้าง พ่อแม่ก็จะคาดหวังกับลูกเหมือนกัน…เราเป็นพ่อแม่นะ ลูกก็ควรจะเชื่อฟังและเคารพเราสิ ถ้าทุกคนต่างรอคนอื่นให้เริ่มก่อน มันก็ไม่เกิด แต่ถ้ามันเกิดแล้ว มันติดต่อกันได้นะ
เราจะฝึกสิ่งนี้ได้อย่างไรบ้าง
อาจจะเริ่มฝึกในพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย กับคนที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วย การห้ามไม่ให้พูดบางเรื่องเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้เราไม่ได้ฝึกทักษะเหล่านี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารความรู้สึกและความต้องการโดยไม่ทำร้ายคนอื่น เรียนรู้ที่จะพูดเรื่องยาก เรื่องเปราะบาง เช่น เริ่มในกลุ่มเพื่อนของเรา ลองคุยกันดูไหม set ground rule กันก่อน แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น หมอก็เคยลองเหมือนกัน บางทีถ้าไปแตะเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากๆ ก็มีปฏิกิริยาบางอย่างเกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นตัวเองเวลาพูด บางเรื่องถ้าเราไม่พอใจสีหน้าแววตามันออกไป ก็เป็นการฝึกตัวเราว่าจะดูแลตัวเองยังไงให้ไม่ส่งอะไรไปทำร้ายคนอื่น
การใจกว้างกับคนในครอบครัว ต้องมีข้อควรระวังไหม เพราะบางทีความใจกว้างของเราอาจกลายเป็นยอมทนคนในครอบครัวทำร้าย
จุดสำคัญที่สุด คือ Boundary เราใจกว้างได้แต่ต้องมีขอบเขต ความใจกว้างไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมรับทุกอย่าง เราสามารถที่จะเชื่อ รู้สึก และคิดเห็นในแบบที่เป็นตัวเราได้ แม้ต่างจากคนในอื่น เพราะเราเป็นเจ้าของประสบการณ์ในตัวเรา ทุกความคิด ทุกความรู้สึก ทุกความต้องการของเรามันมีที่มา สมเหตุสมผลสำหรับเรา ณ ตอนนี้ มันอาจจะเปลี่ยนในอนาคตก็ได้ นี่คือขอบเขตของเรา คนอื่นจะข้ามมาไม่ได้ ถ้าเราเสียใจแล้วคนอื่นบอก…เรื่องแค่นี้ทำไมต้องเสียใจ งี่เง่าไปไหม? เราจะไม่ให้มันข้ามขอบมา เราต้องบอกตัวเองว่า มันโอเคที่เราจะเสียใจ ที่จะร้องไห้ ถึงมันจะเป็นเรื่องเล็กในสายตาคนอื่น แต่มันสำคัญกับเรา
เราสามารถรักษาขอบเขตและใจกว้างได้ในขณะเดียวกัน แทนที่จะโจมตีกลับ ‘ทำไมพ่อแม่มาว่าหนูแบบนี้ ทำไมใจแคบ’’ เราสามารถบอกว่า ‘…ก็ไม่รู้อะพ่อ หนูก็รู้แหละว่ามันเรื่องเล็กสำหรับคนอื่น แต่หนูรู้สึกจริงๆ มันอยากร้องไห้’
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เล็งเห็นว่าเราจะรับมือไม่ไหว หรือถูกต้อนจนมุม เราสามารถขอมี safe exit ทางออกที่ปลอดภัย เช่น ขอเวลานอก หรือหยุดพักก่อน และไม่ใช่แค่บอก ‘โอเค จบ แยกย้าย’ นะ เพราะมันเป็นการปิดประตู เหมือนเราไม่ฟังเขา แต่อาจบอกว่า “สิ่งที่เธอพูดทำให้เราต้องคิดเยอะเหมือนกัน เราอาจจะต้องใช้เวลาคิดซักหน่อย ถ้าเราพร้อมเมื่อไหร่ก็อาจจะได้คุยกันอีก” เป็นการส่งสัญญาณว่าตอนนี้เราไม่พร้อม แต่ว่าเราก็เคารพความเห็นเขา และเห็นความพยายามที่จะรักษาน้ำใจรักษาความสัมพันธ์
ทุกควรเรียนรู้ที่จะมีสิ่งนี้ ถ้าลูกขอเวลานอก พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้ตรงนี้ ต้องเคารพความเป็นลูก เพราะถ้าลูกขอเวลานอกแปลว่าเขาไม่ไหวแล้ว และถ้าเรารับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังทุกข์เราก็ควรที่จะหยุดนะ หรือถ้าบอกแล้วพ่อแม่ไม่ฟัง เราก็หยุดด้วยตัวเองได้ เช่น ไม่พูดต่อ เพราะไม่มีใครบังคับให้เราพูดได้ หรือถ้ามีพื้นที่ส่วนตัวของเราเองก็เข้าไปอยู่ที่นั่น แต่ถ้าสุดท้ายเราไม่มีพื้นที่นี้ ผิวหนังก็คือห้องของเรา ไม่มีใครที่จะเข้ามาได้แล้ว
บางคนอยู่ในบ้านที่มีการทำร้ายกัน ไม่มีใครช่วยเขาจริงๆ ตัวเขาต้องช่วยตัวเอง ต้องพูดหรือเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเขา แต่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ทำไปด้วยความจำเป็น แต่ความคิดความรู้สึกทุกอย่างยังอยู่และเป็นของเขา ซึ่งสำคัญมากเรื่อง Boundary ตัวเราไม่มีใครเข้ามาได้ทั้งนั้น
ถ้าปัญหาในครอบครัวที่เกิดขึ้นทำให้คนคนนั้นรู้สึกว่า การเลือกตัดครอบครัวเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบตามมา วิธีดีลกับผลลัพธ์นั้น และถ้าวันหนึ่งเราอยากกลับไปหาครอบครัว ควรทำอย่างไร
ถ้าเราตัดสินใจจะเดินออกมาแล้ว ให้บอกกับตัวเองว่าสิ่งนี้ดีที่สุดกับเรา ณ เวลานี้ เคารพการตัดสินใจของตัวเอง ให้เวลาตัวเองเต็มที่ แล้วลองสังเกตว่ามีอะไรที่เรายังติดค้างไหม มีอะไรที่เรารู้สึก หรือต้องการอย่างซื่อตรง ระลึกไว้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ถ้าเรายังไม่แน่ใจ เราสามารถสร้างระยะ สร้างพื้นที่ส่วนตัวได้ การที่เรายังรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัว ก็จะช่วยให้เรากลับไปง่ายขึ้น ติดต่อไปบ้าง ให้เขารู้ว่าเราก็ไม่ได้อยากหายไปไหน เราแค่ต้องการพื้นที่สำหรับตัวเรา
แต่ถ้ามั่นใจแน่ๆ ว่าในอนาคตจะไม่กลับไป ก็ไม่เป็นไร หรือถ้าจะเปลี่ยนใจก็สามารถทำได้ ส่วนอีกฝ่ายจะยื่นมือกลับมาไหมก็ขึ้นอยู่กับเขา ถ้าสุดท้ายเขาไม่ยอมรับเรา ก็ไม่เป็นไรเรายังอยู่ต่อไปได้ เรายังมีสิ่งอื่น ถึงจะสูญเสียครอบครัว แต่เรายังมีตัวของเรา เราจะอยู่ด้วยตัวเองหรือสร้างครอบครัวใหม่ก็ได้
ในมุมคนรับฟังปัญหา การให้คำแนะนำควรเป็นยังไง
เราถามเขาได้ คนเรามักจะมีคำตอบบางอย่างของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเกิดทางออกที่เขาบอกมาเราฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วง ก็ทักท้วงกลับไปได้ ‘ตรงนี้จะเป็นอะไรไหม’ ‘เธอโอเคใช่ไหม’ เราก็แค่ช่วยเขาคิด ถ้าเขาคิดครบแล้วตัดสินใจแล้ว เราก็ทำได้แค่ซับพอร์ต ถ้าเขาลองแล้วมันไม่เวิร์กเราก็ซับพอร์ตและให้กำลังใจสู้ต่อ เพราเขาเป็นเพื่อนเรา ไม่จำเป็นต้องไปซ้ำเติม
สุดท้ายแล้วหมอโบว์มีอะไรอยากทิ้งท้ายไหมคะ
ขอบคุณนะคะที่เป็นช่องทางให้ได้สื่อสารถึงเรื่องสำคัญเหล่านี้ 🙂