- ในยุคที่เหมือนเราจะเชื่อมโยงกันมากที่สุด กลับเป็นยุคที่คนเหงาที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า และ waiting list รอเจอจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาวะต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับที่น่าตกใจ …มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกปัจจุบันของเรา?
- ความย้อนแย้งของจำนวนผู้คนในชีวิต กับระดับความเหงาที่เพิ่มขึ้น, รากของความเหงาที่ทรมาน ไม่ได้มาจากการมีเพื่อนน้อยแต่มาจากการขาดความสัมพันธ์คุณภาพ และ ความเหงา เป็นสิ่งที่จัดการได้ด้วยการกลับมาใช้เวลาแบบหน้าต่อหน้า สร้างความสัมพันธ์คุณภาพ และการปรับวิถีชีวิตให้สมดุล — คือหัวข้อที่อยากชวนคุยกัน
“ความเหงา” เป็นอารมณ์ที่ทุกข์ทรมานและให้ผลร้ายแรงที่สุดอารมณ์หนึ่ง ส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจ เป็นที่มาของความรู้สึกซึมเศร้า ให้ผลในสมองเช่นเดียวกับการเกิดความเจ็บปวดทางกาย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การเสียชีวิตที่เร็วขึ้นถึง 26% และอาจนำไปสู่การเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันเพียงแค่ปลายนิ้ว แต่ความตลกร้ายคือ ในยุคที่เหมือนว่าจะมีการเชื่อมโยงกันมากที่สุด กลับเป็นยุคที่คนเหงาที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า และ waiting list รอเจอจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาวะต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับที่น่าตกใจ
คำถามคือ มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกปัจจุบันของเรา? ทำไมเราถึงเหงาได้ขนาดนี้ แม้ว่าจะมีผู้คนรอบกายมากมาย? แล้วเราจะพาตัวเองออกจากความเหงานี้ได้อย่างไร?
ปรากฏการณ์โลก: ความย้อนแย้งของจำนวนผู้คนในชีวิต กับระดับความเหงาที่เพิ่มขึ้น
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” คนเราทุนคนล้วนมีความต้องการที่จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการยอมรับ และเชื่อมโยงกับใครสักคน ในระดับที่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะรู้สึกว่ามี “คนที่เข้าใจ”
แต่ทว่า ในยุคสมัยนี้ที่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน จำนวนคนที่เรารู้จักและผ่านเข้ามาในชีวิตเรามีมากขึ้น ในช่องทางที่มีมากขึ้น (ดูง่ายๆ จากจำนวนคนที่เราเชื่อมโยงด้วยใน Social Media แต่ละแบบ) ความรู้สึกแปลกแยกจากผู้คน และความว่างเปล่ากลับเป็นสิ่งที่แพร่หลายและรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย เป็นปรากฏการณ์ระดับสากลที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ช่วงวัยรุ่น (ประมาณ 16 – 24 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้เวลาเข้าสังคมค่อนข้างมาก กลับเป็นช่วงอายุที่มีความเหงามากที่สุด
ในประเทศอเมริกา Cigna ได้ทำการสำรวจความเหงาของคนอเมริกัน 22,000 คน ในปี 2018 พบสถิติที่ค่อนข้างน่าตกใจ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง ระบุว่ามีความเหงาบางครั้ง หรือ ตลอดเวลา 1 ใน 4 คน แทบไม่เคย หรือ ไม่เคยรู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจเขาจริงๆ
2 ใน 5 คน รู้สึกอยู่บ่อยครั้งหรือตลอดเวลาว่าความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีความหมาย และ 2 ใน 5 คนเช่นเดียวกันที่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และ 1 ใน 5 คนแทบจะไม่ หรือ ไม่เคยรู้สึกใกล้ชิดกับคนอื่นๆ เลย หรือ ไม่รู้สึกว่ามีใครที่เขาสามารถคุยด้วยได้จริงๆ โดย Gen Z (คนอายุ 18-22 ปี) เป็นช่วงวัยที่เหงามากที่สุด และมีระดับสุขภาวะที่ต่ำกว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความเหงาในประเทศอังกฤษโดย BBC ในปี 2018 ที่พบว่าช่วงวัยรุ่นอายุ 16 – 24 ปี เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ พบว่าเป็นช่วงที่รู้สึกเหงาบ่อย มากที่สุด ถึงร้อยละ 40
ในไทยก็ไม่ใช่ย่อย ขณะนี้มีเทรนด์มาร์เก็ตติ้งที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ที่เรียกว่า “การตลาดคนเหงา” ออกมา เป็นการพลิกวิกฤตความเหงาที่แพร่ระบาดนี้ให้เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ โดยทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้สำรวจตลาดคนเหงาแล้วพบว่า ในประเทศไทย มีคนเหงาจำนวนสูงกว่า 26.75 ล้านคน คิดเป็น 40.4% ของกระชากรทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งกลุ่มผู้มีภาวะความเหงาสูงสุด ได้แก่ วัยรุ่น และวัยทำงาน ในอัตราร้อยละ 33 และร้อยละ 34.7 ตามลำดับ
เป็นที่น่าสนใจว่า 3 อันดับแรกของวิธีคลายความเหงาที่คนไทยชอบใช้คือ อันดับหนึ่ง-การเล่นโซเชียลมีเดีย ส่องเฟซบุ๊ก อัปเดตข่าวสารต่างๆ อันดับสอง-การไปร้านอาหาร คาเฟ่ เพื่อจะได้เสพความสุขจากอาหารและได้เห็นผู้เห็นคนกันบ้าง อันดับสาม-การไปช็อปปิ้งเพื่อออกจากบรรยากาศเหงาๆ นี้ได้ ซึ่งนี่เป็นข้อมูลสำคัญต่อวงการธุรกิจที่จะหาโอกาสสร้างรายได้จากเทรนด์ความเหงานี้ แต่ในเชิงความมีประสิทธิภาพของการออกจากความเหงาแล้ว ต้องมาพิจารณากันอีกทีนะคะ ว่ามันช่วยให้หายเหงาได้จริงๆ ไหม
รากของความเหงาที่ทรมาน ไม่ได้มาจากการมีเพื่อนน้อย แต่มาจากการขาดความสัมพันธ์คุณภาพต่างหาก
ในประเทศอเมริกา ได้มีการศึกษารูปแบบของความเหงา และความสัมพันธ์ระหว่างความเหงากับภาวะสุขภาพจิต โดย Philip Hyland และคณะ ในปี 2019 กับคน 1,839 คน พบว่าความเหงาสามารถแบ่งเป็น 2 แกนหลักๆ คือ “ความเหงาทางสังคม” (social loneliness) และ “ความเหงาทางอารมณ์” (emotional loneliness) ซึ่งความเหงาทางสังคม หมายถึง ความรู้สึกไม่พอใจกับจำนวนของผู้คนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย พูดง่ายๆ คือ รู้สึกมีเพื่อนน้อย ในขณะที่ความเหงาทางอารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกไม่พอใจกับคุณภาพของความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
จากงานวิจัยพบว่า ความเหงาทั้งสองรูปแบบนั้น ให้ผลทางใจที่ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยไม่ว่าจะมีเพื่อนเยอะหรือเพื่อนน้อย แต่
หากมีความสัมพันธ์คุณภาพ จะไม่ค่อยมีความเจ็บป่วยทางใจ (psychological distress) เท่าไหร่ ในขณะที่ผู้ที่มีเพื่อนมากแต่ขาดความสัมพันธ์คุณภาพ กับผู้ที่ทั้งมีเพื่อนน้อยและความสัมพันธ์คุณภาพก็น้อย ระดับสุขภาวะทางจิตนั้นต่ำลงไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งยิ่งมีความเหงาทางอารมณ์ในระดับที่เข้มข้น ก็จะมีความเกี่ยวเนื่องกับภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลโดยตรง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า การมีความสัมพันธ์แบบมีสถานภาพ เช่น มีแฟน มีสามีภรรยา มีลูก ที่เจอหน้า กินข้าวด้วยกันบ่อยๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้คือความสัมพันธ์คุณภาพนะ ในงานวิจัยพบว่า บุคคลเหล่านี้ก็ยังสามารถเหงาได้อยู่ …ถมเถไป
ย้อนกลับมาที่พฤติกรรมการคลายความเหงาของคนไทยซึ่งเป็นที่นิยม การได้ไปส่องเฟซบุ๊ก คุยเล่นกับใครบางคน ไปคาเฟ่ หรือ ไปช็อปปิ้ง มันก็อาจจะช่วยให้ลดความรู้สึกเหงาลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะมันเป็นการเติมเต็มความเหงาทางสังคม แต่ก็ไม่แปลกถ้าความรู้สึกเหงาจะยังคงอยู่ลึกๆ ในใจ นั่นเป็นเพราะว่าความเหงาที่มีผลต่อใจจริงๆ มันมาจากการขาดความสัมพันธ์คุณภาพ ขาดการรับฟัง ขาดบทสนทนาที่ลึกพอจะทำให้รู้สึกเข้าใจกันและกันต่างหาก
ซึ่งก่อนที่เราจะไปต่อ เราลองมาสำรวจตัวเองเล่นๆ ดูกันดีกว่า ว่าในตอนนี้เรามีความเหงามากน้อยแค่ไหน
“เวลามีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่รู้จะไปคุยกับใคร”
“ช่วงนี้ รู้สึกว่างเปล่าอยู่เรื่อยๆ เลย..”
“ไม่ได้รู้สึกมีความสุขจากการได้ใช้เวลากับคนอื่นมาสักพักละ”
“เราไม่ค่อยมีใครที่ไว้ใจได้จริงๆเลย”
“มีความรู้สึกเหมือนโดนปฏิเสธอยู่เรื่อยๆ”
“อยากเจอคนที่เข้าใจเราจัง”
หากมีตรงหลายข้อ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า มันถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่างเพื่อรักษาใจของเราให้มีความสุขมากขึ้นกันนะคะ 🙂
ความเหงา เป็นสิ่งที่จัดการได้ ด้วยการกลับมาใช้เวลาแบบหน้าต่อหน้า สร้างความสัมพันธ์คุณภาพ และการปรับวิถีชีวิตให้สมดุล
เราทุกคนล้วนต้องการใครสักคนที่อยู่เคียงข้างเรา ไม่ว่าในยามสุขหรือทุกข์ ให้การสนับสนุนเชิงอารมณ์ และอยู่ตรงนั้นในยามที่เราต้องการ แต่ทว่า ในยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น และเราก็หันไปพูดคุยกับคนผ่านหน้าจอมือถือกันมากขึ้น จนได้คำเรียกแบบเหยียดๆ บรรยายลักษณะสังคมยุคนี้ว่า “สังคมก้มหน้า” เพราะว่าเราคุยกันแบบหน้าต่อหน้าน้อยลงไปมากในระยะสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งมันมีผลต่อสภาพจิตใจจริง ส่งผลให้เราไม่ค่อยได้พัฒนาทักษะการพูดคุยแบบหน้าต่อหน้ากัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างคุณภาพในความสัมพันธ์ และยังเป็นเครื่องฝึกฝนให้เรารู้จักการรักษาระดับการ “พูด” และ “ฟัง” ในระดับที่เท่าเทียมระหว่างคู่สนทนาอีกด้วย
ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา เราก็หันไปเคยชินกับการสื่อสารแบบทางเดียวมากขึ้น เช่น พิมพ์ status ลงเฟซบุ๊กสื่อสารไปสู่คนหมู่มาก ไลน์ไปหาอีกฝ่ายโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอการตอบสนองในทันที tweet ข้อความโดยที่ไม่ต้องรอว่าอีกฝ่ายจะตอบโต้ว่าอะไร และอื่นๆ และมันก็เป็นการง่ายอีกเช่นกันที่จะไม่ต้องฟังให้จบ ก็ตัดการรับรู้จากสิ่งที่เราไม่พอใจจากอีกฝ่ายได้เลย เช่น การ unfriend การ block หรือ ก็แค่เพิกเฉยกับข้อความที่อีกฝ่ายส่งมา และอื่นๆ
ดังนั้น เมื่อกลับมาพิจารณาบริบทความสัมพันธ์ มันจึงยากกว่าในอดีตที่จะพัฒนาความสัมพันธ์สู่ระดับที่ไว้ใจกัน ซึ่งต้องใช้การสื่อสารอย่างเปิดใจ การรับฟัง ความเคารพ ความสนใจในสิ่งที่คนตรงหน้าจะพูดโดยไม่จ้องจะตัดสินหรือพะวงอยู่กับสิ่งที่ตัวเองจะโต้ตอบคนตรงหน้า ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้สามารถริเริ่มได้ด้วยการหันมาใช้เวลาแบบต่อหน้า (face to face) กับคนรอบข้างมากขึ้น อาจจะเริ่มง่ายๆ ด้วยการกันเวลาส่วนหนึ่งออกมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย มาพูดคุยกันแบบต่อหน้ามากขึ้น หากิจกรรมที่ทำให้ได้อยู่ด้วยกัน เช่น ออกไปเดินเล่น ทำอาหาร ไปเล่นกีฬา ไปเที่ยว ฯลฯ พูดคุยกันเรื่องความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น หรือ แม้แต่ว่า ไม่ต้องทำอะไร แค่อยู่เงียบๆ ด้วยกัน สำหรับบางคนก็เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมากเลยนะ
สำหรับผู้ที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่ค่อยเข้ากับใคร รู้สึกเหมือนว่าคนอื่นๆ จะชอบมองเราแปลกๆ และปฏิเสธเราบ่อยๆ จนเรารู้สึกเจ็บปวดที่จะไปเจอผู้เจอคน กลัวโดนตัดสิน แต่ในใจลึกๆ ก็เหงา (แม้จะเจ็บปวดจนแทบไม่อยากคุยกับคนแล้วก็ตาม)
Olivia Remes (2018) นักวิจัยด้านปัญหาด้านความรู้สึกวิตกกังวลได้อธิบายถึงสภาพปัญหาและชี้ช่องทางออกไว้ว่า พอคนเรารู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น หรือ เจ็บปวดจากการรู้สึกว่าถูกปฏิเสธ ไม่ว่าด้วยอะไรก็ตาม จะมีแนวโน้มในการป้องกันตัวเองด้วยการแยกตัว สร้างกำแพง และทำตัวเหินห่างจากคนอื่นไปเรื่อยๆ และก็เป็นไปได้อีกว่า คนอื่นๆ (ที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนที่ปฏิเสธเราด้วยซ้ำ) อาจจะสังเกตว่าเรามีท่าทีบางอย่าง ที่ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับเขา จึงไม่ได้เข้ามาพูดคุยด้วย ทั้งๆ ที่การพูดคุยด้วยนั้นเป็นหนทางของการรู้สึกดีขึ้นก็ตาม ด่านแรกที่ต้องทำ (แม้อาจจะรู้สึกฝืนใจนิดๆ) คือ การพาตัวเองออกไปพบเจอผู้คน ซึ่งเป็นใครก็ได้ แม้กระทั่งแม่ค้า แล้วลองริเริ่มบทสนทนาเล็กๆ น้อยๆ เช่น กล่าวทักทายกันเฉยๆ ก็นับเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เรากลับมารู้สึกดีขึ้นได้
อีกก้าวต่อมา คือการหาใครสักคนที่เรารู้สึกโอเคด้วยประมาณหนึ่ง แล้วเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ความรู้สึกของเราไม่ว่ามันจะบวกหรือลบ ที่เราอาจจะเก็บกับตัวเองมานานมากแล้วและกลัวที่จะพูดออกไป ให้อีกคนได้รับรู้และเข้าใจ
ซึ่งไม่แน่ว่า คนๆ นั้นก็อาจเก็บความรู้สึกที่คล้ายกันนี้อยู่ก็ได้ และไม่มีพื้นที่ที่จะพูดถึงมันเหมือนกัน การริเริ่มบทสนทนา เท่ากับเป็นการทั้งช่วยเหลือตัวเอง และอาจจะช่วยคนตรงหน้าด้วยเช่นกัน และไม่แน่ว่า การคุยครั้งแรก อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์คุณภาพระยะยาวเลยก็ได้
นอกจากการพูดคุยกับคนอย่างเปิดใจแล้ว การสร้างสมดุลชีวิตในด้านต่างๆ เพื่อให้สภาพร่างกาย จิตใจพร้อมสำหรับการพูดคุยกับคนอื่น และให้มีเวลาและพลังงานเพียงพอต่อการสร้างสัมพันธ์คุณภาพก็เป็นส่วนสำคัญในการลดความรู้สึกเหงา โดยงานวิจัยด้านความเหงาจาก Cigna ในปี 2018 พบปัจจัยในวิถีชีวิตต่างๆ ที่มีผลต่อความรู้สึกเหงาอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. การใช้เวลาพูดคุยต่อหน้า (face to face) – นอกจากการเข้าสังคมผ่านโลก Social Media เราควรกันเวลาส่วนหนึ่งมาใช้กับการพบปะผู้คน และใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน ซึ่งงานวิจัยพบว่าผู้ที่ใช้เวลากับคนมีระดับความเหงาน้อยกว่าคนที่ใช้เวลาติดต่อคนผ่านหน้าจอมือถืออย่างเดียว
2. การนอนอย่างเพียงพอ – การนอนอย่างเพียงพอ มีความสำคัญต่ออารมณ์ของเรามาก การนอนไม่พอเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้มีอารมณ์โมโห หงุดหงิด และไม่อยากเข้าสังคมได้
3. เวลากับครอบครัว (ที่ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป) – จากงานวิจัยพบว่า “ความสมดุลย์” ในการให้เวลากับส่วนต่างๆ ในชีวิต รวมถึงการมีเวลาให้กับ “ตัวเอง” เป็นหัวใจหลักของการคลายความรู้สึกเหงา บางคนอาจจะเข้าใจว่า การมีผู้คนคอยสนับสนุนอยู่รอบตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว อาจช่วยคลายเหงาได้ จึงให้เวลากับครอบครัวมากเป็นพิเศษและอาจละเลยส่วนอื่นๆ ของชีวิต อย่างการเข้าสังคม การอยู่กับตัวเอง ดูแลตัวเองไป ซึ่งผลจากงานวิจัยพบว่าผู้ที่ใช้เวลากับครอบครัวมากเกินพอดี มีค่าคะแนนความรู้สึกเหงาพอๆ กับคนที่รู้สึกไม่เข้ากับใครเลยทีเดียว ดังนั้น ความสมดุลย์ของส่วนต่างๆ ในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้มีเวลากับส่วนต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม
4. การออกกำลังกาย – แน่นอนว่าร่างกายที่ดี ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ อารมณ์ และการแสดงออกของเราในเชิงบวก
5. การทำงาน – จากงานวิจัยพบว่าคนที่ทำงานในปริมาณที่เหมาะสมเป็นกลุ่มคนที่มีการรายงานความเหงาน้อยที่สุด ในขณะที่ผู้ที่ทำงานหนักกว่าที่ตัวเองต้องการมีอารมณ์เหงารองลงมา และเป็นที่น่าสนใจมากว่า ผู้ที่ทำงานน้อยกว่าที่ตัวเองต้องการมีคะแนนความเหงาสูงที่สุด ดังนั้น การที่เราว่าง ไม่ได้แปลว่าเราจะมีแรงบันดาลใจ หรือความต้องการที่จะไปคุยกับคนอื่นเสมอไป อาจจะรู้สึกอืดจนไม่อยากทำอะไรเลยก็ได้ การบาลานซ์ชีวิตให้พอเหมาะต่างหาก ที่จะช่วยเพิ่มความความสุขให้กับเราได้
ท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้คนทุกคนที่กำลังเผชิญอยู่กับความเหงา ไม่ว่าจะเป็นเหงาในระดับไหนก็ตามนะคะ ผู้เขียนเชื่อว่า เราทุกคนย่อมมีเรื่องราวของตัวเอง ที่ล้วนน่าสนใจ และควรค่าแก่การรับฟัง ไม่มีชีวิตไหนหรอกที่ไม่มีค่าและควรแก่การถูกปฏิเสธ ไม่ว่าสิ่งที่เขาทำจะดูแย่ หรือเคยถูกคนอื่นตอบสนองอย่างไรมา มันมีเหตุปัจจัยหนุนหลังทั้งนั้นแหละ และคนเราก็สามารถพลาดกันได้ (ถ้าทำถูกต้องหมด perfect หมด ก็อาจไม่ใช่คนแล้วจริงไหม?)
ดังนั้น ก็ขอเป็นกำลังใจในการกลับมาเติมเต็มความอบอุ่นในใจให้กับคนที่ผ่านเข้ามาอ่านนะคะ ขอให้ได้เจอพื้นที่ปลอดภัยในการเป็นตัวของตัวเอง และสามารถเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไม่ต้องกังวลว่าจะโดนตัดสิน ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อเราให้โอกาสตัวเองในการได้เปิดใจกับคนอื่นแล้ว สักวัน เราจะเจอสิ่งที่เราค้นหาแน่นอนค่ะ 🙂