- การฟังอย่างตั้งใจเป็นการแสดงออกว่า “ฉันไม่ใช่แค่ได้ยินในสิ่งที่เธอพูด แต่ฉันเข้าใจ” เป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงการถูกยอมรับ หากเราแค่ได้ยินแต่ไม่ได้ตั้งใจฟัง อาจทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อสาร และอาจนำมาสู่การเข้าใจผิดได้อีกด้วย
- พูดคุยกับเด็กๆ เป็นประจำ, ฟังแล้วสนใจต่อยอดสิ่งที่เด็กๆ กำลังสื่อสาร, ชี้ให้เห็นภาษาทางกาย และคิดก่อนพูดหรือเขียน คือ 4 วิธีพัฒนาการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้ปกครองรวมทั้งผู้สอนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารในเด็กและเยาวชนได้
- พ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันระหว่างอยู่บนรถ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สะท้อนความคิดและความรู้สึก โดยไม่ตัดสินถูกผิดหรือพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขากังวลใจ แน่นอนว่าผู้ปกครองต้องสวมบทบาทช่างสักถาม ช่างสงสัย
“คุณคิดว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่ดี เป็นปีศาจ หรือเป็นอะไร?”
แกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) หรือ แกรี่ วี (Gary Vee) นักการตลาดออนไลน์แห่งยุคที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กดันยอดขายธุรกิจของเขาถึงพันล้านดอลล่าร์ได้ภายใน 5 ปี ตอบคำถามนี้ไว้ในรายการ “ฮ็อตวันส์” (Hot Ones) ว่า
“เฟซบุ๊กเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตน”
“ในเฟซบุ๊กเราเห็นคนส่วนใหญ่จับจ้องไปที่การโทษคนอื่น จริงๆ แล้วเทคโนโลยีทำให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของคน ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนคน”
ใจความสำคัญที่แกรี่กำลังเอ่ยถึงอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยการพูดหรือการพิมพ์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียและช่องทางอื่นๆ
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร?
ผู้ที่มีทักษะการสื่อสารที่ดี คือ ผู้ที่มีทักษะการฟังและการแสดงออกอย่างชัดเจนและมีเหตุผล การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เราแสดงความคิดและความรู้สึกออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายและตรงประเด็น ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างตัวเองและผู้อื่น เพราะการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดหรือคิดไปเอง แต่จะสร้างความเข้าใจและทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
สำหรับหลักสูตรสมรรถนะที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานการเรียนการสอนในระบบการศึกษาของไทย ให้ความหมาย ‘การสื่อสาร’ คือ การรับและส่งสารด้วยความใส่ใจ บนพื้นฐานความเข้าใจและความเคารพในความคิดหรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนสามารถเลือกใช้กลวิธีสื่อสาร ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา หรือการสื่อความหมายผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสื่อสาร
‘บูลลี่’ ตัวอย่างการสื่อสารที่ด้อยประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบ
หากมองไปรอบตัว เด็กเยาวชนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองใช้เวลาบนหน้าจอมือถือมากขึ้น เราส่งข้อความถึงกันขณะที่อยู่บ้านหรือห้องทำงานเดียวกันแทนที่จะเดินไปหากัน เราไม่ได้กำลังตัดสินว่าพฤติกรรมที่ว่ามานี้ดีหรือไม่ได้ แต่กำลังสื่อสารให้เห็นว่า…พฤติกรรมของมนุษย์ปรับเปลี่ยนไปตามเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวก
ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที โดยปีแรกที่เริ่มทำผลสำรวจในปี 2556 คนไทยใช้เน็ตเฉลี่ยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาทีเท่านั้น คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว แน่นอนว่าผลกระทบจาก โควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะในที่สาธารณะ
อินเทอร์เน็ตทำให้การติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เทคโนโลยียิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบการติดต่อสื่อสาร เมื่อระบบดีแล้วสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบคือ ‘ทักษะการสื่อสาร’ (ที่มีประสิทธิภาพบนความรับผิดชอบ) ของผู้ใช้งานระบบอย่างเราๆ ทุกคน
เราเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่สื่อสารออกไป ทั้งจากการพูดและการเขียน
แต่ดูเหมือนว่าสถิติที่ได้จากการสำรวจไม่เป็นเช่นนั้น
จากวิทยานิพนธ์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ‘การถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในเยาวชน’ ตีพิมพ์ในวารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563 พบว่า เยาวชนกลุ่มตัวอย่าง (อายุ 18-25 ปี) ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกรังแกทางไซเบอร์ เช่น ถูกลบหรือบล็อกออกจากกลุ่ม ถูกนินทา ด่าทอ และพูดคุยตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือถูกบุคคลอื่นนำความลับที่เป็นข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 39.50 ในจำนวนนี้ร้อยละ 54.20 มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระดับรุนแรง
ด้านศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติ (National Center for Health Statistics: NCHS) สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลในเดือนเมษายนปี 2563 พบว่า ในประชากรสหรัฐอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 34 ปี “การฆ่าตัวตาย” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สอง แม้สถิตินี้ไม่ได้ระบุโดยตรงว่าการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากไซเบอร์บูลลี่ แต่ก็สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นในปี 2561 จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดและเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปีซึ่งตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีแนวโน้มฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองสูงขึ้นเป็นสองเท่า งานวิจัยนี้ศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 21 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 150,000 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ศูนย์การศึกษาสถิติแห่งชาติ (National Center for Education Statistics: NCES) สหรัฐอเมริกา พบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (เกรด 6) เป็นช่วงชั้นที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมากที่สุด ร้อยละ 29 เด็กเยาวชนที่ถูกกลั่นแกล้งมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวล นอนหลับยาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ต่ำ นำไปสู่การถูกให้ออกจากโรงเรียน
หัวใจสำคัญของการสื่อสาร คือ การฟังอย่างตั้งใจ และ ความเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น
ตัวอย่างการศึกษาและสถิติทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า การสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบไม่ว่าจะเกิดในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
- การฟังอย่างตั้งใจ
มนุษย์ต่างต้องการการยอมรับและการเคารพซึ่งกันและกัน การฟังอย่างตั้งใจเป็นการแสดงออกว่า “ฉันไม่ใช่แค่ได้ยินในสิ่งที่เธอพูด แต่ฉันเข้าใจ” เป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงการถูกยอมรับ ในทางกลับกันหากเราแค่ได้ยินแต่ไม่ได้ตั้งใจฟัง เพราะมัวแต่โฟกัสกับตัวเองว่าจะตอบโต้คู่สนทนาอย่างไร นอกจากอาจทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อสารแล้ว อาจนำมาสู่การเข้าใจผิดได้อีกด้วย ดังนั้น ขณะที่คนอื่นกำลังพูด ผู้พูดนั้นควรเป็นคนที่มีความสำคัญมากที่สุดในช่วงเวลานั้น หากเราไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยควรถามเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนในทันที
สำหรับโลกออนไลน์ นอกจากการฟังอย่างตั้งใจแล้ว เราควรรู้ที่มาที่ไปหรือแหล่งที่มาของสิ่งที่กำลังฟังอยู่ เช่น คลิปตัดต่อสั้นๆ จากรายการโทรทัศน์ ผู้พูดต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หากเรามีความสนใจในเรื่องนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการฟังคลิปที่ถูกตัดต่อมา เราควรย้อนฟังการสื่อสารในประเด็นทั้งหมดในรายการจากผู้พูด
- ความเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น
ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้างเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้สื่อสารไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจนลืมคุณค่าที่จะนำเสนอแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้สื่อสารไม่ยึดติดกับความคิดเห็นของตัวเองจนปิดใจรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
ดังนั้นนอกจากความรู้ ความต้องการและเป้าหมายในเรื่องที่กำลังสื่อสาร การมีความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารให้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นอาจทำให้เข้าถึงใจ ถูกใจและสร้างความประทับใจแก่ผู้รับสารได้มากยิ่งขึ้น
3 วิธี พัฒนาการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ
สำหรับวัยเด็กตั้งแต่อนุบาล พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีโต้ตอบกับเพื่อนๆ เมื่อโตขึ้นพวกเขายังต้องการวิธีการสื่อสารความคิดและความรู้สึกของตัวเอง โดยเฉพาะในวัยรุ่น ผู้ปกครองรวมทั้งผู้สอนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารในเด็กและเยาวชนได้ ดังนี้
1. พูดคุยกับเด็กๆ เป็นประจำ
การพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ ทำให้การสร้างบทสนทนาเป็นเรื่องปกติ แม้ในบางครั้งจะเป็นหัวข้อที่เด็กๆ ไม่อยากพูดถึง ลองนึกถึงความรู้สึกของเด็กๆ ที่พ่อแม่หรือครูแทบไม่ชวนพวกเขาคุยถึงเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันเลย แต่ทุกครั้งที่บทสนทนาเกิดขึ้นมักเป็นจังหวะเวลาที่มีเรื่องแย่ๆ หากเป็นเช่นนี้แทนที่การสื่อสารจะเป็นเวลาของการเปิดใจ ผ่อนคลาย สบายใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ เรากำลังทำให้การสื่อสารกลายเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวขึ้นมาในทันที จนทำให้เด็กๆ ปิดบัง ปกปิด และไม่อยากพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
พ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันระหว่างอยู่บนรถ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สะท้อนความคิดและความรู้สึก โดยไม่ตัดสินถูกผิด หรือพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขากังวลใจ แน่นอนว่าผู้ปกครองต้องสวมบทบาทช่างสักถาม ช่างสงสัย เช่น
- ทำไมลูกถึงคิดอย่างนั้น? ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้น?
- ลูกคิดว่าทำไมเพื่อนถึงพูดอย่างนั้นกับลูก?
- ลูกชอบไหมที่เพื่อนทำแบบนั้น ลูกรู้สึกอย่างไร?
2. ฟังแล้วสนใจต่อยอดสิ่งที่เด็กๆ กำลังสื่อสาร
ยกตัวอย่างบทสนทนา เช่น
“วันนี้ที่โรงเรียนลูกชอบอะไรมากที่สุด เพราะอะไร?”
สมมุติ เด็กๆ ตอบว่า “ชอบโปรเจกต์งานศิลปะที่โรงเรียน เพราะ….”
ผู้ปกครองสามารถถามต่อยอด สิ่งที่เด็กๆ กำลังสื่อสารได้
“ดูเหมือนโปรเจกต์งานศิลปะที่ลูกเล่ามา ต้องใช้ความอดทนมากๆ เลย ลูกเก่งมากที่ทำมันได้ แล้วมีโปรเจกต์สนุกๆ อะไรอีกไหมที่ลูกอยากทำ ลูกคิดว่าครั้งนี้จะทำให้แตกต่างจากครั้งก่อนยังไงบ้าง”
3. ชี้ให้เห็นภาษาทางกาย
นอกจากภาษาพูดแล้ว ภาษากายก็สำคัญไม่แพ้กัน ภาษากายบางท่าทางสุภาพ บางท่าทางอาจทำให้ตีความผิดพลาดไปในเชิงลบ เช่น การเอามือกอด-อกที่แสดงออกถึงความอึดอัด การกลอกตาที่แสดงออกถึงความไม่พอใจและไม่ให้ความเคารพ การดูนาฬิกาข้อมือบ่อยๆ ที่อาจทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับบทสนทนาที่กำลังเกิดขึ้น ผู้ปกครองสามารถชี้ให้เด็กๆ เห็นถึงความหมายของภาษากายที่สุภาพและไม่สุภาพ เพื่อให้พวกเขาปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
4. คิดก่อนพูด/ เขียน
อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจความสำคัญของการสื่อสาร บางครั้งหากพูดหรือเขียนโดยไม่ไตร่ตรองให้ดี คำพูดและสิ่งที่เขียนออกไปอาจทำร้ายความรู้สึกของใครบางคน หรือบางครั้งอาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การให้เวลาตัวเองได้คิดก่อนพูดหรือเขียนจึงมีความจำเป็น ไม่ใช่แค่เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย
ยกตัวอย่างกิจกรรมสอนให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ ด้วยการเรียนรู้คำศัพท์ คำว่า T H I N K
ก่อนพูดหรือเขียนอะไรออกไป ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พูดหรือเขียนนั้น
T = TRUE เป็นความจริง
H = HELPFUL มีประโยชน์
I = INSPIRING เป็นแรงบันดาลใจ
N = NECESSARY มีความสำคัญ/ จำเป็น
K = KIND ไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น
สิ่งที่ แกรี่ วี กล่าวไว้ในตอนต้นว่า “เฟซบุ๊กเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตน” เป็นคำพูดเตือนใจที่ดีทีเดียว เราควรมีสติก่อนสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกสู่สาธารณะ เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดออกไปนั้นสะท้อนตัวตนของตัวเอง แน่นอนว่าทุกคนมีความคิดเห็นและความรู้สึกส่วนตัวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าเสรีภาพในการสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกไปนั้นต้องมีความรับผิดชอบและเคารพผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
https://www.understood.org/articles/en/10-ways-to-improve-your-grade-schoolers-communication-skills
https://www.comparitech.com/internet-providers/cyberbullying-statistics/
https://www.sciencedaily.com/releases/2018/04/180419130923.htm
https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/publications/Thailand-Internet-User-Behavior-2020.aspx