- “หลักสูตรพยายามทำให้เด็กก้าวทันโลก ก้าวทันสังคมยุคใหม่ แต่วัฒนธรรมในองค์กร ในสังคมไทยที่แฝงฝัง กลับไม่สามารถทำให้ครูหรือคนที่อยู่ในระบบการศึกษาสามารถก้าวทะลุเพดานสิ่งเหล่านี้ไปได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญ”
- คุยกับ ดร.ออมสิน จตุพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงระบบการฝึกหัดครูในไทย การปฏิรูปวงการครู และการเตรียมครูให้พร้อมกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ
- การทำงานของครูต้องอาศัยทั้งความรู้เชิงเนื้อหา ทักษะการสอน และมีคุณลักษณะความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ คุณสมบัติของคนจะเป็นครูจึงต้องสามารถเข้าใจ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นคนที่ทันโลกทันสมัยติดตามข่าวสาร ทักษะเรื่องภาษาและเทคโนโลยีก็สำคัญ
ตั้งแต่การเกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรก พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 22 ปี คุณคิดว่าคุณภาพการศึกษาบ้านเราเพิ่มขึ้น เหมือนเดิม หรือถอยหลัง?
การมาของหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – Based Education) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่คงเป็นหนึ่งเครื่องยืนยันว่าระบบการศึกษาบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (แต่จะมุมบวกหรือลบคงขึ้นอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน) ที่มาของหลักสูตรดังกล่าวเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ให้สามารถก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
คงไม่สามารถพูดได้ว่า มีหลักสูตรดีแล้วจะทำให้การผลิตคนมีประสิทธิภาพตามไปด้วยอย่างง่ายๆ เพราะปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่ ‘ครู’ ผู้ออกแบบการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนโดยตรง ซึ่งคุณภาพครูไทยเป็นสิ่งที่สังคมตั้งคำถามมาตลอด และการมาของหลักสูตรสมรรถนะที่กำหนดทักษะสมรรถนะที่เด็กจำเป็นต้องมี ก็ทำให้เกิดคำถามเพิ่มขึ้นว่า แล้วตัวครูผู้สอนมีทักษะดังกล่าวหรือไม่ จะสอนเด็กได้อย่างไร
The Potential ชวนคุยกับ อาจารย์ ดร.ออมสิน จตุพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงระบบการฝึกหัดครูในไทย การปฏิรูปวงการครู และการเตรียมครูให้พร้อมกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ
ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หลักสูตรประสบความสำเร็จหรือไม่ และสังคมเองก็ถกเถียงเรื่องคุณภาพครูไทยมายาวนาน อยากให้อาจารย์ในฐานะที่เป็นต้นทางผลิตครู ช่วยเล่ากระบวนการฝึกหัดครูในไทย
ระบบฝึกหัดครูยุคแรกๆ เรารับจากอังกฤษ เป็นผลพวงจากอุดมการณ์ของโลกอาณานิคมตะวันตก จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามเย็น ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาระบบการศึกษาไทยได้รับอิทธิพลจากอเมริกาเป็นหลัก รวมถึงการฝึกหัดครู กระบวนการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน) หรือคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) ในการก่อตั้ง มีการขยายสถาบันฝึกหัดครูไปในต่างจังหวัด เกิดคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้มีครูจำนวนมากพอสมควรในการเข้าสู่ระบบ
การฝึกหัดครูช่วงนี้จะเป็นหลักสูตรที่เรียน 4 ปี ซึ่งตัวหลักสูตรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีส่วนที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระ (subject matters) วิชาพื้นฐานการศึกษา (foundations of education) รวมถึง วิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู หรือการฝึกสอนในโรงเรียน (practicum)
หมุดหมายสำคัญในการปฏิรูประบบการศึกษาที่ส่งผลต่อการฝึกหัดครูคือ การมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นการปฏิรูปวงการการศึกษา เกิดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นหลักสูตรแบบอิงมาตรฐาน (standard based curriculum) ส่งผลต่อการฝึกหัดครูจากใช้เวลา 4 ปี เป็น 5 ปี และเชิงวิธีคิด เช่น รายวิชาที่ไม่จำเป็นถูกตัดออก ช่วงเวลาฝึกสอนจาก 1 เทอม ขยายเป็น 1 ปีการศึกษา จนปี 61 ภาครัฐปรับหลักสูตรการฝึกหัดครูกลับไปเป็นหลักสูตร 4 ปี เหมือนเดิม และการเข้ามาของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้
ผมคิดว่ามันขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม เราพูดในเชิงวิธีคิดนะ คนละประเด็นว่าหลักสูตร 5 ปีหรือ 4 ปีอันไหนดีกว่ากัน เหมือนพยายามผลักดันโดยการใช้อำนาจรัฐแบบนี้ มันอาจผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์จากคนบางกลุ่ม แต่ว่ายังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอ ผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงนโยบาย
ถามว่าการปรับเปลี่ยนส่งผลต่อการฝึกหัดครูอย่างไร ช่วงพ.ศ.2561 มีการกำหนดมคอ.2 (กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ เปรียบเสมือนตัวชี้วัดมาตรฐานของหลักสูตรฝึกหัดครู) ระบุว่าครูควรรู้อะไร เนื้อหา เป้าหมาย วัตถุประสงค์อย่างกว้างๆ ให้แต่ละสถาบันสร้างหลักสูตรฝึกหัดครู ให้อยู่ภายใต้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ และกรอบมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา เป็นการปรับจากหลักสูตร 5 ปี เป็น 4 ปี คนในวงการก็มีความคิดเห็นหลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยการพยายามส่งเสียงผ่านเวทีเสวนาอภิปรายทางวิชาการ และตั้งคำถามในพื้นที่สื่อสาธารณะ นับว่ามีการเคลื่อนไหวให้มีการทบทวนถึงแนวทางการฝึกหัดครูที่เหมาะสมทั้งในเรื่องระยะเวลา เนื้อหาสาระ และจุดเน้นของการสร้างครูมากพอสมควรในประเด็นนี้
การปรับหลักสูตรฝึกหัดครูจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับหลักสูตรฐานสมรรถนะด้วย
โดยหลักการใช่ครับ การปรับเปลี่ยนหลักสูตรน่าจะเริ่มต้นในพ.ศ.หน้า 2565 ตอนนี้มีบางที่เริ่มทำไปแล้ว หลายๆ สถาบันพยายามนำสมรรถนะที่กำหนดในหลักสูตรมาเป็นกรอบในการปรับปรุงหลักสูตรฝึกหัดครูครั้งใหม่ เพราะในแง่หนึ่งเรากำลังผลิตครูเข้าไปทำงานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ต้องเตรียมครูให้สอดคล้องกับฐานสมรรถนะที่รัฐพยายามทำให้เกิดขึ้น
เท่าที่ดูตัวสมรรถนะที่กำหนดในหลักสูตรที่เด็กต้องมี เช่น การจัดการตัวเอง การคิดขั้นสูง ฯลฯ โดยปกติเป็นสิ่งที่ครูควรมีอยู่แล้ว แต่ทางปฏิบัติเหมือนเพิ่งเพิ่มเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรฐานสมรรถนะ
ในแง่หนึ่งถามว่าใช่ไหม…ใช่ เพราะกระบวนการฝึกหัดครูมันค่อนข้างแยกส่วนกัน ผมว่าในระดับนโยบาย ก็อาจมีนักคิด นักวิชาการ หรือนักปฏิรูปการศึกษาที่คิดเรื่องนี้ แต่พอถึงระดับปฏิบัติการจริงๆ การฝึกหัดครูในสถาบัน เราคงไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพราะคนที่มีอำนาจในการกำหนดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารวิชาการ หรือแม้กระทั่งอาจารย์ผู้สอนที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นเนื้อหาสาระและการเรียนการสอนได้ค่อนข้างมากพอสมควร
จะเห็นได้ว่า อุดมการณ์ความคิดหลายๆ อย่างที่ส่งผลต่อการฝึกหัดครูจนไปถึงระดับปลายน้ำ ระดับโรงเรียนที่เป็นระดับสำคัญ หลายอย่างถูกลดทอนไปพอสมควร ยกตัวอย่างง่ายๆ การสอนแบบ active learning ผมคิดว่าครูหลายคนเข้าใจว่า active learning คือ ต้องมานั่งร้องรำทำเพลง หรือลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเชิงสนุกสนาน ซึ่ง active learning ไม่จำเป็นต้องมีการแสดงออกทางกายก็ได้ เราสามารถสอนแบบ active learning ผ่านกระบวนการคิด การตั้งคำถาม การไตร่ตรอง และการวิพากษ์ ที่สำคัญ active learning ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย การปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 42 นักวิชาการในยุคสมัยนั้น อาทิ ดร.รุ่ง แก้วแดง หรือ ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ซึ่งเป็นนักปฏิรูปการศึกษาคนสำคัญ ก็พยายามพูดถึงการเรียนรู้เชิงรุก การสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Constructivism) พ.ศ.2542 มันมีความก้าวหน้ามากในเชิงความคิด สำหรับผม active learning เลยไม่ใช่เรื่องใหม่
ใต้ดวงอาทิตย์ไม่มีอะไรใหม่ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาที่มันเวียนไปเวียนมา 20 ปี
แสดงว่าแนวทางการผลิตครูบ้านเราจะอิงจากหลักสูตรแกนกลางที่เด็กเรียนเป็นหลัก
โดยหลักการใช่ครับ ก็นำมาสู่ประเด็นที่ว่าครูที่ผ่านหลักสูตรฝึกหัดครูจบไป สามารถเข้าใจแนวคิดหรือการนำหลักสูตรไปใช้ไหม สิ่งที่ผมเน้นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรแบบไหนก็ตาม มันควรเป็นกรอบที่มีจุดเน้นชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ระบุมาตรฐานหรือตัวชี้วัดอย่างกว้างเพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการตีความเพื่อให้ครูนำไปสร้างหลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรระดับปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อนำไปใช้สอนจริง ครูจะมีเสรีภาพ มีอำนาจในการตัดสินใจผ่านการไตร่ตรองในเรื่องเนื้อหาสาระและวิธีการสอนได้ด้วยตนเอง (autonomy)
จริงๆ ตัวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้เปิดพื้นที่นี้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งครูสามารถเลือกใช้วิธีสอนแบบไหนก็ได้ที่สามารถพาผู้เรียนไปสู่เป้าหมาย ประเด็นที่เน้นย้ำเสมอคือ ครูขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ขาดความตระหนักรู้ว่าตัวเองมีอำนาจ มีศักยภาพของความเป็นผู้กระทำการที่จะเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน ชุมชน และสังคม ซึ่งประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายๆ อย่างในสังคมไทย
ด้วยปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมอะไรที่ทำให้ครูไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้
ผมว่ามันคือปัญหาเรื่องวัฒนธรรมในสังคมไทย ปัญหาวิธีคิดหรือเชิงอุดมการณ์ที่แฝงฝังอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่คุมทุกอย่าง ครูไม่คิดว่าตัวเองเป็น actor มีความเป็นผู้ปฏิบัติการ เขาคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ควรออกนอกกรอบ
พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 หรือหลักสูตร พ.ศ.2544 รัฐเปิดพื้นที่ให้ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือคนในชุมชนทำงานอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างหลักสูตรเองโดยเลือกสาระการเรียนรู้ในท้องถิ่นให้เหมาะสมกับผู้เรียน อาจจะทำเป็นกิจกรรมรายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมเสริม หรือกิจกรรมชุมนุมก็ได้
ในแง่หนึ่งรัฐพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง ปลดปล่อยวิธีคิดของคนในโรงเรียน ให้ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษา แต่ในแง่หนึ่งทัศนคติความคิดของคนในสังคมไทยยังเป็นไปในแนวจารีตค่อนข้างมาก
แปลว่าต่อให้หลักสูตรหรือระบบเปิดกว้างแค่ไหน แต่วัฒนธรรม หรือทัศนคติบางอย่างของสังคมก็อาจจะส่งผลอยู่?
ถ้าดูตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะ การใช้คำ ข้อความ หรือการกำหนดทักษะต่างๆ ผมเชื่อว่าผู้สร้างหลักสูตรรับรู้สถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างมากในระบบการศึกษาไทย ถ้าเรามองว่าพื้นที่ตรงนี้ (หลักสูตร) เป็น Public Space พื้นที่สาธารณะหรือ นโยบายสาธารณะ ซึ่งคงไม่สามารถเอามุมมอง ความคิดเห็น หรืออุดมการณ์ของทุกฝ่ายมาจัดวางได้ทั้งหมด
สิ่งสำคัญ คือ ต้องหาฉันทมติ (consensus) ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเป็นกลาง ในความหมายที่ถูกทำให้ปลอดการเมือง แต่เป็นการพิจารณาว่าตรงไหนที่เหมาะสมที่สุดที่ทำให้คนนำหลักสูตรไปใช้ สามารถสร้างหลักสูตรระดับปฏิบัติการและนำไปจัดการเรียนการสอนได้ มีพื้นที่เป็นตัวของตัวเองอยู่มากพอสมควร
แต่เมื่อไปถึงระดับปฏิบัติการ วัฒนธรรมที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของครู ผมมีโอกาสได้คุยกับครูผู้ใหญ่คนหนึ่ง เขาบอกว่าต้องสอนตามแบบเรียนให้จบ มิฉะนั้นก็จะถือว่าไม่จบตามหลักสูตร ทำให้เราเห็นว่าคำว่า ‘หลักสูตร’ ‘แบบเรียน’ ความหมายมันคล้ายคลึงกันในความเข้าใจเชิงมโนทัศน์ของครู ความจริงแล้วแบบเรียนก็คือสื่ออย่างหนึ่งของการเรียนการสอนตามหลักสูตร ซึ่งคงไม่สามารถครอบคลุมการเรียนรายวิชาหนึ่งด้วยหนังสือเล่มเดียว
วิธีคิดเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ในวัฒนธรรมโรงเรียนมันมีหลายระดับความคิด ทั้งวัฒนธรรมของครูในระดับปัจเจกและองค์กร รวมถึงเชิงโครงสร้างทางวัฒนธรรมในสังคมไทยที่กำกับไว้ ถ้าจะพูดว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะจะสำเร็จหรือไม่มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมโรงเรียนสูงมาก ถ้าเรามีผู้นำทางวิชาการทั้งครู และผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าใจหลักคิดแบบนี้ ก็จะนำไปสู่การร่วมมือรวมพลังกัน อุปสรรคต่างๆ ก็ก้าวผ่านไปได้
หลักสูตรพยายามทำให้เด็กก้าวทันโลก ก้าวทันสังคมยุคใหม่ แต่วัฒนธรรมในองค์กร ในสังคมไทยที่แฝงฝัง กลับไม่สามารถทำให้ครูหรือคนที่อยู่ในระบบการศึกษาสามารถก้าวทะลุเพดานสิ่งเหล่านี้ไปได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญ
การปฏิรูปวงการครู ควรสร้างสภาพแวดล้อมแบบไหนถึงจะได้ครูแบบที่ควรจะเป็น
ตอบง่ายๆ อันดับแรกสถาบันฝึกหัดครูต้องเป็นสถาบันที่บ่มเพาะความเป็นประชาธิปไตย ต้นทางของอาจารย์ฝึกหัดครู ต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการและวัฒนธรรมอำนาจนิยม โดยเฉพาะแบบ soft power แต่ตอนนี้อาจารย์ส่วนใหญ่อาจจะตรงกันข้าม วัฒนธรรมในภาพรวมของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่ผ่านมาถูกครอบงำด้วยระบบโซตัส ทั้งทางกายภาพและในเชิงวัฒนธรรม อาจารย์วางตัวเปรียบเสมือนพ่อครูแม่ครู ใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ปัจจุบันไม่มีการกดขี่และการกระทำความรุนแรงทางกาย แต่แปรรูปไปเป็น soft power เช่น การสร้างกลุ่ม FC ของนักศึกษาต่อกลุ่มอาจารย์ อาจารย์สามารถปกครองดูแลนักศึกษาแบบลูก ในที่นี้ คือลูกตามจารีต พ่อครูแม่ครูจะกำกับไปในทิศทางไหนก็ย่อมได้
ถ้ามันมีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ โดยไม่ต้องมาตีความว่าใช้ประชาธิปไตยแบบไทย หรือแบบตะวันตก คือ ทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ อาจารย์ศึกษาศาสตร์รุ่นใหม่ต้องสามารถวิพากษ์แนวคิดและจุดยืนครูของครูได้ บนฐานวิชาการและงานวิจัย ถามว่าตอนนี้พูดได้ไหม?…ได้ แต่มีแรงเสียดทานกลับมาหาเรา ถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตยจริงๆ ที่ไม่ใช่ลดทอนให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นสังคมที่มองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องแบบนี้สามารถตีแผ่และนำมาคุยบนโต๊ะได้อย่างจริงจังด้วยความเคารพในความเป็นคนที่เสมอหน้ากัน
ความรู้หรือสิ่งที่ครูควรมีเพื่อให้เข้าใจและสามารถใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมว่าทักษะที่ครูต้องมี…จะพูดยังไงดี เพราะมันก็กลับไปสู่จุดเริ่มต้น คือ ครูต้องอ่านหนังสือ ครูต้องกลับมาอ่านตัวหลักสูตร ไม่ใช่แค่อ่านเอกสารนะ แต่ต้องทำความเข้าใจผ่านกระบวนการ PLC ทำงานร่วมกันทั้งโรงเรียน ตั้งวงพูดคุยหรือที่ภาษาอีสานเขาเรียกว่า ‘โสเหล่’ ว่า เฮ้ย…หลักสูตรเปลี่ยนแปลง จุดเน้นสำคัญที่ครูต้องรู้คืออะไร สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างคนทำงาน โดยเฉพาะครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และคนที่เกี่ยวข้อง
แต่ผมคิดว่าการเกิดสิ่งเหล่านี้ไม่ง่าย เพราะบรรยากาศแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน กลับไปสู่ประเด็นเดิม คือ เรื่องวัฒนธรรมองค์กร ผู้อำนวยการหลายคนอาจไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ด้วยซ้ำ คิดว่าหลักสูตรเป็นเรื่องของครู ครูไปสร้างหลักสูตรขึ้นมาและเอาไปใช้ได้เลย จริงๆ ผู้อำนวยการโรงเรียน คือ ผู้นำวิชาการตัวจริงที่จะนำกลไก นโยบายของรัฐไปใช้
ผมเคยทำวิจัยศึกษาปรากฏการณ์การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของครูในโรงเรียนเทศบาลเชียงใหม่ 11 โรงเรียน ได้คำตอบที่น่าสนใจว่า กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือจะมีความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือ ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีวิสัยทัศน์เข้าใจเรื่องพวกนี้ ถึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ประเด็นผู้อำนวยการโรงเรียนจึงสำคัญมาก ต้องมีทักษะ leadership มีความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ความเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่อำนาจนิยม หรือตามจารีต
ดูเหมือนเราผูกความหวังไว้ที่คน หรือที่จริงเราควรทำระบบให้ดีมากกว่า
ตอบยาก (หัวเราะ) แต่ก็จริงนะถ้าจะทำให้เกิดความยั่งยืนในโรงเรียนมันต้องมาจากฐานรากก็คือครู เพราะครูไม่ค่อยโยกย้ายสับเปลี่ยนเมื่อเทียบกับผู้อำนวยการ ผมว่าก็มีความพยายามทำอยู่นะ ไม่ว่าจะกลุ่มครูขอสอน กลุ่มก่อการครู แต่ก็กลับไปที่ประเด็นเดิมคือ วัฒนธรรมองค์กร หรือวิธีคิดจุดยืนบางอย่างของครูแต่ละคน ผมว่าไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องนี้ ต้องใช้เวลา
แม้ว่าหลักสูตรโดยหลักการจะเปิดให้ครูออกแบบการสอนได้เต็มที่ แต่การมาของหลักสูตรฐานสมรรถนะก็เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ครูมีอิสระในการสอน ปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อทิศทางการสอน คือ มุมมองทัศนคติของครู มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกิดกิจกรรมเช่นว่า การกราบไหว้แบบสมรรถนะ อาจารย์มองประเด็นนี้ยังไง
ผมเห็นด้วยว่าเกิดขึ้นได้แน่นอน ตัวอย่าง สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง พลเมืองผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นครูที่มีแนวความคิดแบบจารีตและอำนาจนิยม ไม่ได้คิดในแนวเสรีนิยม หรือแบบฝ่ายก้าวหน้าเขาอาจจะคิดว่าพลเมืองผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น เก็บขยะ ทำกิจกรรมอาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องตั้งคำถามกับประเด็นเชิงโครงสร้างที่แฝงฝังอยู่
แต่ถ้าเป็นครูที่มีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย เขาก็อาจมองว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ในระดับองค์กรอาจไม่พอ ต้องลงมาเคลื่อนไหวที่ถนน และใช้สื่อสมัยใหม่ในการสื่อสาร ลงมาต่อสู้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ แรงงาน คนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เรื่องนี้นำไปสู่การพูดคุยในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
ถ้าครูมีอุดมการณ์ความคิดความเชื่อบางอย่างเขาจะตีความการสอนไปแบบหนึ่ง ถามว่าเรื่องนี้รัฐคุมได้ไหม? ผมว่าอาจจะได้ในระดับนโยบาย แต่ควบคุมยากในระดับปฏิบัติการ รัฐไทยอาจจะไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยมากนักในช่วงที่ผ่านๆ มา แต่ผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้มีอำนาจระดับบนก็คงไม่สามารถเข้าไปกำกับตรวจสอบครูว่าต้องสร้างหลักสูตร ต้องสอนแบบนั้นแบบนี้ ฉะนั้น ครูค่อนข้างมีพื้นที่มากๆ แต่ด้วยความเป็นสถาบัน หรือองค์กรในระบบราชการแรงเสียดทานหรือวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างที่ครูพบเจอในชีวิตประจำวัน จะทำให้ครูอดทน สร้างพื้นที่ต่อรอง ปะทะ ประสานกับอุดมการณ์หลักของสังคมมากน้อยแค่ไหน ผมว่ายังมีพื้นที่แบบนี้อยู่ ตราบใดที่เรายังมองว่าการศึกษา คือ พื้นที่ของการต่อรองทางความคิด มันเป็นพลวัตที่ต้องอยู่กันต่อไปแบบนี้
ถ้าฝ่ายครูสามารถแสดงความคิดเห็น จุดยืนตัวเองได้ ในห้องเรียนก็ต้องเปิดพื้นที่นักเรียนด้วยเช่นกัน ถ้าความคิดไม่ตรงกันก็สามารถคุยกันได้
ใช่ แต่ประเด็นสำคัญคือ ครูที่ไม่ได้มีจุดยืนแบบเสรีนิยมหรือมีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย มักจะไม่มีวิธีคิดแบบนี้ นี่เป็นปัญหาเลย ครูที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม (conservative) ซึ่ง conservative แบบไทยก็ไม่เหมือนกับฝั่งตะวันตกที่ถึงครูจะเป็น conservative แต่ก็เปิดพื้นที่ให้ถกเถียงได้อย่างอิสระ (deliberative dialogues) ครูในสังคมไทยที่เป็นอนุรักษ์นิยม บางส่วนจริงๆ เป็นฟาสซิสต์ (Fascism) ไม่ยอมให้นักเรียนคิดต่าง กำกับนักเรียนด้วยอำนาจนิยม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกมานาน
เราควรจะหาจุดร่วมตรงกลางในประเด็นนี้ยังไง
ครูต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน ถ้าครูไม่เข้าใจผมว่าครูไม่สามารถสอนแบบมีกรอบแนวคิด หรือเลนส์มิติต่างๆ ได้ เรื่องการศึกษาไม่เคยปลอดการเมือง เพราะฉะนั้นคนทำงานการศึกษาไม่สามารถตัดขาดตนเองจากสังคมได้ ทำให้เราเห็นว่าคนที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน หรือครู ถ้าเขาทะลุเพดานหรือมองสังคมแบบที่ไม่กลัวจนเกินไป การอยู่เป็นมันทำให้อยู่สบาย แต่ผมคิดว่าสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้องมาจากฐานราก คือ ครูต้องตระหนักรู้ด้วยตนเองเสียก่อน จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ตามมา
การแสวงหาพื้นที่ตรงกลาง หรือจุดร่วม เช่น เรื่องพหุวัฒนธรรม เราต่อสู้เรื่องความหลายหลากทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ชนชั้น เพศสภาพ วัฒนธรรม ภาษา หรือแม้แต่เรื่ององค์ความรู้ต่างๆ กว่าจะให้มีคำพวกนี้ปรากฏในเอกสารเชิงนโยบายของรัฐ ตอนแรกเขาใช้คำว่า ‘ท่ามกลางความหลากหลาย’ ยังไม่ใช้คำว่าพหุวัฒนธรรมเลย ซึ่งกว่าคำ หรือแนวคิดพวกนี้จะปรากฏในหลักสูตรชาติ และพระราชบัญญัติการศึกษา มันผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องจากกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่ผ่านมา 20 ปี และเป็นการเคลื่อนไหวจากคนข้างล่าง
ถ้าเรามองหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเข้าใจ ในมิติของตัวบทเชิงนโยบายหรือความตั้งใจของผู้สร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมา โอ้โห…มันเปิดพื้นที่ให้กับครูที่มีวิธีคิด มีความหวัง มีความฝัน มีจินตนาการที่จะจัดการเรียนรู้ รวมถึงแม้แต่การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้เหมาะกับบริบทพื้นที่ สิ่งพวกนี้ทำได้อย่างอิสระ
ยกตัวอย่างง่ายๆ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความหลากหลาย (diversity) ถ้าเราตีความคำๆ นี้ เราอาจใช้เรื่องพหุวัฒนธรรมมาสอนเด็กก็ได้ หรือแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศ วิถีชีวิต ความเชื่อ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เยาวชนปลดแอก ผมว่าเรื่องพวกนี้หยิบขึ้นมาสอนได้
ถ้ามองในภาพรวม อาจารย์คิดว่าคุณสมบัติที่ครูควรมีคืออะไร บางคนบอกว่าครูควรเป็นคนที่เก่งหรือฉลาดที่สุดเพื่อที่จะสอนเด็กได้
ผมคิดว่าคนเป็นครูไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งที่สุด หรือฉลาดที่สุด ด้วยการทำงานในโรงเรียนมันไม่ได้ต้องการคนที่เก่งหรือฉลาดที่สุดเลย เพราะคนเก่งมากๆ อาจจะไม่สามารถอดทนต่อระบบราชการและวัฒนธรรมองค์กรที่กำกับไว้ เนื่องจากคนเก่งเขาก็มีทางไปเป็นของตนเอง แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า เราต้องการครูที่เก่ง ในที่นี้ไม่พูดถึง ความเป็นครูดีซึ่งต้องถูกตั้งคำถามก่อนว่า ความดีคืออะไรเสียก่อน ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อว่า ครูต้องเป็นคนดี ก่อนคนเก่ง ซึ่งไม่เห็นด้วย และเมื่อครูคือวิชาชีพ การทำงานของครูต้องอาศัยทั้งความรู้เชิงเนื้อหา ทักษะการสอน และมีคุณลักษณะความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเก่งมีทักษะตรงนี้ อาจจะดีมากด้วยซ้ำ
คุณสมบัติของคนจะเป็นครูต้องสามารถเข้าใจ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นคนที่ทันโลกทันสมัยติดตามข่าวสาร ทักษะเรื่องภาษาและเทคโนโลยีก็สำคัญ
ผมเคยคุยกับครูคนหนึ่ง เขาเป็นไกด์นำเที่ยวมาก่อน ไม่ได้จบครูโดยตรง แต่อยากมาทำอาชีพครูที่มีความมั่นคง และเขาก็เป็นครูที่สามารถสอนให้นักเรียนเก่งภาษาและมีทักษะการสื่อสารได้ดี ทำให้เราเห็นว่าคนเป็นครูไม่จำเป็นต้องเรียนครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์โดยตรงก็ย่อมได้ แต่ควรผ่านการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น เช่น การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการวิจัยในชั้นเรียน ทักษะที่ครูรุ่นใหม่จะต้องมีคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความเป็นผู้กระหายใคร่รู้ เป็นทักษะที่ไม่สามารถสอนได้โดยตรง ซึ่งมาจากการรู้จักเปิดกว้างต่อความเปลี่ยนแปลง เข้าใจธรรมดาโลก ไม่ปิดกั้นตัวเอง และก็รู้จักเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมให้แก่ชีวิตของตน
เมื่อถึงวันที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจารย์คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบการศึกษาบ้าง
ผมคิดว่ามันน่าจะดีขึ้นเยอะ เท่าที่ผมเห็นกลุ่มครูรุ่นใหม่ๆ ช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นครูที่มีความกระตือรือร้นเยอะขึ้น ไม่ใช่เฉพาะครูแกนนำในกลุ่มครูขอสอน หรือ กลุ่ม insKru เราเห็นครูรุ่นใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ความหมายในมุมอายุอย่างเดียว ครูเจเนอเรชันปัจจุบันส่วนใหญ่ตั้งใจเข้ามาและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง แต่ประเด็นสำคัญ คือ ต้องเสริมพลังให้กับเขา ให้เขารู้ว่าตัวเขามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าทุกคนพร้อมที่จะขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ แค่ในเชียงใหม่เราเห็นครูกระตือรือร้นกัน มีการอบรมโน่นนี่นั่น แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นแบบไหนกลับไปสู่เรื่องที่เราคุยกันตอนต้น
ถามว่ามีความหวังไหม…มันมีการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 การปฏิรูปหลักสูตร พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบันมันมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาจชัดเจนหรือพร่ามัวบ้างตามแต่บริบทสังคมและการเมืองที่กำหนด ตัวครูก็ต้องเปลี่ยนแปลง และขณะเดียวกัน ฝ่ายสถาบันฝึกหัดครูต่างๆ นั้นไม่ได้ปล่อยให้นักศึกษาครูจบไปแบบไม่มีคุณภาพ หรือครูที่อยู่ในวงการมานาน 20 – 30 ปี หลายๆ คนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เขาอาจยังไม่รู้ว่าตัวเองมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
อาจารย์มีความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อหลักสูตรฐานสมรรถนะไหมคะ?
โดยส่วนตัวผมคิดว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะมีความครอบคลุมและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ดีเลยละ มีข้อเสนอเพิ่มเติมในส่วนของการนำไปใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพฐ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อาจต้องลงทุนในการพัฒนาครูให้มากขึ้น ผมว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด ตั้งแต่ทำให้ครูเข้าใจหลักสูตร ให้เขารู้ว่าเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐกำหนดมา แต่เป็นองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทั้งหมด ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้คนตระหนักรู้เรื่องฐานสมรรถนะว่ามันเป็นเรื่องระดับชาติ
สุดท้ายแล้วอาจารย์มีอะไรที่อยากทิ้งท้ายไหมคะ?
ไม่ว่าจะเป็นครู นักการศึกษา หรือผู้กำหนดนโยบาย ถ้าเราทำด้วยความจริงใจและมองว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมอย่างเสมอหน้า การศึกษาควรสร้างบนฐานของความเป็นธรรม และความเสมอภาคแบบสังคมประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ได้มองว่าทำเพื่อการสงเคราะห์หรือเพราะเขาด้อยกว่าต้องไปเมตตาเขาให้พ้นจากความทุกข์ การสร้างรัฐสวัสดิการทางการศึกษาคือสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนแนวคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก วิธีคิดแบบนี้จะทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในวันหนึ่ง ไม่รู้ว่าวันไหน แต่คงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมประชาธิปไตย