- การหาคนคล้ายกันกับเราและเข้าใจด้านที่เราให้ความสำคัญในครอบครัวร่วมยีนส์กันไม่เจอนั้น เป็นความเหงาอย่างหนึ่ง ดั่งเช่น ดอเรียน เติบโตมาอย่าง โดดเดี่ยว ตัดขาดจากบรรพบุรุษและญาติพี่น้อง เขาพยายามเชื่อมโยงกับบรรพชนผ่านรูปเหมือนของพวกท่านแทน
- การปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลาย พวกเราอาจยังซ่อนเร้นบางอย่างไว้ บ้างก็เป็นลักษณะบางประการ เช่น ความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าสูง (highly sensitive) บ้างก็เป็นรสนิยมหรือประสบการณ์ภายในที่คนส่วนใหญ่จะมองว่าแผกเพี้ยน ฯลฯ โดยที่เรา คิดไปเอง ว่าหากเผยลักษณะบางอย่างออกมาคนอื่นจะตัดสินหรือไม่เป็นเพื่อนกับเรา
- การแสดงอีกส่วนหนึ่งของตัวเองออกมานั้น แม้จะมีชั้นเชิงเพียงใดก็จะมีคนที่ยอมรับและไม่ยอมรับ หากมั่นใจว่ามันไม่ได้ไปทำร้ายใครและพร้อมจะเปิดเผยมันออกมาในที่แจ้ง ไม่ช้านาน เราก็มักจะได้รับการรายล้อมด้วยคนที่รับได้ในจำนวนเพิ่มขึ้นไปเอง และความรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” (belong) ที่เราแสวงหาก็สามารถจะมาจากการได้แวดล้อมกันและกันกับผู้คนเหล่านั้น
“ทุกห้วงวัยเด็กอันเดียวดายหวนคืนกลับมาอีกครั้งขณะมองไปรอบห้อง” – ดอเรียน เกรย์ ในขณะนำภาพเหมือนของตัวเองไปซ่อนไว้ในห้องเล่นเก่าใต้หลังคา, จากหนังสือ The Picture of Dorian Gray
1.
ดอเรียน เกรย์ เป็นบุตรของ เลดี้ มาร์กาเร็ต เดเวอรู บุตรสาวของลอร์ดเคลโซ แม่ของดอเรียนสิ้นใจตั้งแต่เขายังเด็ก ส่วนพ่อของเขาก็ถูกฆ่าตาย เด็กชายดอเรียนจึงต้องถูกทิ้งอย่างเดียวดายไว้ในกำมือของลอร์ดเคลโซ ชายชราผู้ไร้ความรัก
ดอเรียนเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มรูปงาม และจิตรกรผู้หนึ่งก็ได้วาดภาพเหมือนซึ่งสะท้อนความงามแห่งวัยเยาว์ของเขาไว้ และแล้วชายหนุ่มผู้หวาดหวั่นว่าจะสูญเสียความงามอันหอมจรุงให้แก่กาลเวลา ก็ได้ประกาศยอมแลกกับทุกอย่างเพื่อให้รูปเหมือนแบกรับความชราเหี่ยวแห้งไว้แทน เขาจะดูเป็นหนุ่มหล่อวิลาสชั่วนิรันดร์
หนุ่มหน้ามนออกไปใช้ชีวิตและภาพเหมือนของเขาก็ดูอำมหิตขึ้นกระทั่งเขาต้องหาที่ซุกซ่อนมันไว้ โดยห้องที่จะไม่มีใครไปยุ่งย่ามก็คือห้องเรียนเล่นในวัยเด็ก มันเป็นห้องที่ลอร์ดเคลโซสร้างไว้ผลักไสหลานชายที่ท่านลอร์ดเกลียดชังไปเก็บให้พ้นสายตา เมื่อดอเรียนเข้าไปในห้องดังกล่าวเขาก็ได้ระลึกถึงทุกห้วงวัยเด็กอันเดียวดาย เขาเพียงแต่แขวนภาพชวนสยองไว้บนผนังห้องเงียบเหงานั้นแล้วล็อคปิดตายไว้
ไม่เพียงแค่วัยเด็กของเขาเท่านั้นที่โดดเดี่ยวดุจภาพวาด ชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเขาก็อ้างว้างด้วย แม้เขาจะจัดงานสังสรรค์สัมพันธ์กับผู้คน แต่คนอื่นก็หาได้เคย “เห็น” จิตวิญญาณส่วนลึกของเขาไม่
กระนั้น เขาก็ยังหาทางดำรงอยู่กับดวงใจส่วนที่แปลกแยกด้วยหนทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาอยู่คนเดียวกับศิลปวัตถุและเชื่อมโยงกับบุคคลมากมายในงานวรรณกรรม อีกทั้งยังชอบเพ่งมองภาพเหมือนของเทือกเขาเหล่ากอในคฤหาสน์ส่วนตัว และจินตนาการว่าเขาได้สืบมรดกอะไรจากบรรพบุรุษผู้มีเนื้อหนังมาบ้าง?
2.
เดียวดายซ้ำ : ดอเรียนโดดเดี่ยวรูปภาพของเขาจากสังคม เหมือนที่คุณตาทำกับเขา
แม้ดอเรียนอยู่ในสายตาของสังคม ทว่าภาพเหมือนอันเป็นดั่งจิตวิญญาณของเขากลับต้องถูกกักเก็บอย่างเดียวดายในห้องซึ่งเด็กชายถูกตาที่ไม่ยอมรับเขาทิ้งเอาไว้อย่างโดดเดี่ยว
การหาคนคล้ายกันกับเราและเข้าใจด้านที่เราให้ความสำคัญ ในครอบครัวร่วมยีนส์กัน ไม่เจอนั้น เป็นความเหงาอย่างหนึ่ง ดอเรียนเติบโตมาอย่าง โดดเดี่ยว ตัดขาดจากบรรพบุรุษและญาติพี่น้อง เขาพยายามเชื่อมโยงกับบรรพชนผ่านรูปเหมือนของพวกท่านแทน โดยตั้งคำถามว่าคนร่วมสายเลือดมีนิสัยและรสนิยมเหมือนเขาหรือไม่? กลายเป็นว่าตัวละครต่างๆ ในวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ชดเชยความรู้สึกคล้องจองกับตนมากกว่าคนร่วมพันธุกรรม
เพราะมันอาจเจ็บปวดกว่าก็ได้หากไม่มีบรรพบุรุษหรือญาติคนไหนเป็นแบบเขา และร้าวรานกว่านั้นอีกหากคนร่วมสายโลหิตมีลักษณะเหมือนกันกับเขา ทว่าไม่ยอมรับและกลับฉายลักษณะเหล่านั้น (psychological projection) มาที่เขาคนเดียว
หากดอเรียนได้เชื่อมโยงคนร่วมยีนส์ตัวเป็นๆ สักคนที่มีลักษณะคล้ายเคียงเขาและเข้าอกเข้าใจ ชีวิตชายหนุ่มผู้หว้าเหว่จะแตกต่างไปอย่างไรบ้าง?
ความเหงา นับแต่อดีตกาล
ความรู้สึกว่าไม่มีใคร แม้แต่คนในครอบครัว เป็นเหมือนเราและเข้าใจสารัตถะบางอย่างของเรา อีกทั้งต้องแอบซ่อนมันเอาไว้ไม่ให้โลกเห็นนั้น เป็นความรู้สึกเดียวดายอย่างยิ่ง
ผู้คนในประวัติศาสตร์เผชิญความเปลี่ยวดายทำนองเดียวกันนี้หมุนเวียนไปเช่นกัน กล่าวคือ พวกเขาส่วนหนึ่งตอบรับเสียงเพรียกภายใน ได้ขยายขอบบุคลิกภาพและดำรงชีวิตในลักษณะที่พ้นไปจากแบบแผนที่ประชาชนส่วนใหญ่จะตระหนักรู้ หรือเข้าใจและยอมรับได้ เขาจึงต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนจากอคติหรือมิเช่นนั้นก็ต้องเผชิญภยันตราย ทั้งที่ในหลายยุคก่อนหน้านั้น สิ่งที่พวกเขาเข้าไปรู้และวิถีชีวิตของพวกเขา ก็มิได้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ วิกลจริต หรือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีสักหน่อย
เฉกเช่น Oscar Wilde ผู้แต่งเรื่องดอเรียน เกรย์ ที่ได้เล่ามานี้ ได้ถูกดำเนินคดีจากเหตุ ‘กระทำลามกอนาจาร’ หรือ gross indecency ในปีค.ศ. 1895 เพียงเพราะรักร่วมเพศยังคงเป็นความผิดอาญา นักเขียนดังแห่งศตวรรษที่ 19 ถูกพิพากษาให้จำคุก เพื่อที่พวกเราในศตวรรษที่ 21 จะพบว่าคู่รักเพศเดียวกันในบางประเทศสามารถจดทะเบียน Civil Partnership ได้ หนำซ้ำคู่รักต่างเพศยังต้องการเลียนแบบอีกด้วย
3.
ซ่อนและเหงา
ในการปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลาย พวกเราอาจยังซ่อนเร้นบางอย่างไว้ บ้างก็เป็นลักษณะบางประการ เช่น ความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าสูง (highly sensitive) บ้างก็เป็นรสนิยมหรือประสบการณ์ภายในที่คนส่วนใหญ่จะมองว่าแผกเพี้ยน ฯลฯ โดยที่เรา คิดไปเอง ว่าหากเผยลักษณะบางอย่างออกมาคนอื่นจะตัดสินหรือไม่เป็นเพื่อนกับเรา
แต่เมื่อซ่อนตัวเองใต้ฉากหน้าเช่นนั้น เรากลับเหงายิ่งกว่าเดิมและเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้ใช้ชีวิต หรือรู้สึกว่าคนอื่นไม่พร้อมจะเป็นเพื่อนกับเราในฉบับจริงแท้ ทั้งที่หลายคนซึ่งประกาศก้องลักษณะอันคลับคล้ายกับที่เราซุกซ่อนไว้ ก็ยังมีคนคบค้าและชื่นชมเขาอยู่ไม่น้อย
แล้วเราจะทำเพียงอิจฉา หรือจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไม “ไม่กล้า” ทำอย่างเขาล่ะ? ในเมื่อซ่อนงำแล้วช่างสวนทางอย่างที่สุดกับแรงขับตอนแรกที่ไม่อยากเหงา
4.
เอาความลับอันหนักอึ้ง ออกมาสัมพันธ์กับคนอื่นบ้าง
การแสดงอีกส่วนหนึ่งของตัวเองออกมานั้น แม้จะมีชั้นเชิงเพียงใดก็จะมีคนที่ยอมรับและไม่ยอมรับ หากมั่นใจว่ามันไม่ได้ไปทำร้ายใครและพร้อมจะเปิดเผยมันออกมาในที่แจ้ง ไม่ช้านาน เราก็มักจะได้รับการรายล้อมด้วยคนที่รับได้ในจำนวนเพิ่มขึ้นไปเอง และความรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” (belong) ที่เราแสวงหาก็สามารถจะมาจากการได้แวดล้อมกันและกันกับผู้คนเหล่านั้น
นั่นทำให้การไร้จุดเชื่อมร้อยอันสำคัญทางจิตใจกับคนร่วมพันธุกรรมหรือมีแต่หายังไม่เจอ ไม่น่าวิตกและมิได้กลวงเปล่าไร้รากไร้สังกัด เพราะเรายังรู้สึกว่ามี “บ้าน” “ครอบครัว” “เผ่า” “วงศ์” ได้จากความเชื่อมโยงบางลักษณะกับสรรพชีวิตที่ผ่านพบเจอ การซ้อนประสานและการสืบสายกันทางใจไม่จำเป็นต้องซ้อนทับกับการเป็นผู้สืบสายทางชีวภาพเสมอไป และท้ายที่สุดแล้วคนร่วมเชื้อสายกับชีวิตอื่นก็เริ่มไม่แตกต่าง หนำซ้ำทุกคนยังมีศักยภาพแม้แต่จะเห็นความไม่สืบเนื่องแห่งสายโซ่บางอย่างได้พ้นไปจากการความปรารถนาจะผูกร้อยสายใยความต่อเนื่องที่มีตัวเราอยู่ในนั้น
นอกจากนั้น ความรู้สึกในทำนอง “ฉันได้ทนทุกข์มามากพอแล้วกับความโดดเดี่ยว เมื่อพูดในสิ่งที่ผู้คนไม่สามารถเข้าใจได้” แบบที่คาร์ล ยุง จิตแพทย์ชาวสวิสฯ กล่าวไว้ ก็มิได้เข้ากันกับทุกกรณี เพราะในเส้นทางชีวิตเราอาจได้พบพานใครบางคนที่เข้าใจและคล้ายคลึงแต่ก็ไม่อยากเป็นพรรคพวกกับเรา และในบรรดาผู้คนที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับเราในตอนแรกก็ได้กลายมาเป็นกัลยาณมิตรเมื่อเราได้ถ่ายทอดบางอย่างไปให้เขารับรู้และตื่นขึ้น
เราล้วนอยู่ในกระบวนการแห่งวิวัฒนาการ อีกทั้งลักษณะต่างๆ ของเราได้รับการขับเน้นไปตามเวลาและบริบท เช่นเดียวกับความเหงาที่ก็สามารถลื่นไหลและเลือนหายไปในชั่วขณะต่างๆ ซึ่งบางห้วงเวลายิ่งพยายามเชื่อมโยงก็ยิ่งเหงา แต่กลับรู้สึกเต็มเปี่ยมขึ้นเมื่อได้ตระหนักรู้โลกภายในลึกขึ้นเรื่อยๆ และหลอมรวมกับสภาวะบางอย่างที่ใหญ่โตกว่าตัวเราแต่เพียงลำพังโดยปราศจากเสียงจากภายนอกมาบอกว่าอะไรคือความจริงที่เราไปรู้เข้า
เมื่อดื่มดำรสแห่งวิเวก ก็ลืมความจำเป็นของการมีญาติและฝูง
เราจึงสามารถเยียวยาความเหงาอีกวิธีด้วยความวิเวก รวมไปถึงการดูแลตัวเองดีๆ ทางร่างกายก็เช่น ดื่มน้ำให้มากพอ หาเวลาพักผ่อน ออกกำลังและดูแลความสะอาดของร่างกาย นวด ฯลฯ ทางจิตใจก็เช่น ไม่ดูถูกตัวเอง ทบทวนข้อดีของตัวเองบ้าง และตระหนักรู้สิ่งใดๆ ก็ตามไปเช่นที่มันผุดเกิดขึ้น
เพราะในความเหงาที่สืบเนื่องมายาวนาน เราต้องการรากฐานการเป็นมิตรภาพกับตัวเองอย่างที่สุด ซึ่งยั่งยืนกว่าไปฝากความหวังไว้ที่พ่อแม่หรือลูก แฟน ญาติ หรือเพื่อนคนไหนๆ
โดยที่ยังสามารถรู้สึกขอบคุณทุกคนอย่างสุดซึ้งนะ..