- ไม่มีผู้ร้ายในความสัมพันธ์เสมอไป และไม่มีใครสมควรถูกเรียกว่า ‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ ในความสัมพันธ์ เราต่างก็มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและร้ายสลับกันไปแล้วแต่สถานการณ์ ถ้าอยากมี healthy relationship เราอาจต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร หาวิธีการให้ไปถึงจุดนั้น มากกว่ามานั่งหาว่าใครถูกหรือผิด
- หนึ่งไฮไลท์สำคัญของไทยโอเอซิสเตอร์คือ บริการยุติความสัมพันธ์ ช่วยเหลือคนที่อยากออกจากความสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ จากประสบการณ์ที่ทำงานช่วยผู้ถูกกระทำ สิ่งแรกที่พวกเขามองหาคือ ความช่วยเหลือ แต่ถ้าออกไปแล้วเจอแต่ความว่างเปล่า ผู้ถูกกระทำก็จะรู้สึกเคว้งและถูกบีบให้ต้องกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม ปัญหาก็ค่อยๆ ก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย
- ชวนตั้งหลักเรียนรู้การมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีคุณภาพ ไม่เฉพาะความสัมพันธ์คนรัก แต่รวมถึงครอบครัว และเพื่อนด้วย เพราะความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญเสมอ กับ พิศชามญช์ เจียมวิจิตรกุล หรือ ‘ลี่’ Thaioasister
เพราะความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญเสมอ
สโลแกนปรากฏอยู่บนหน้าแรกของเว็บไซต์ Thaioasister ก่อตั้งโดย พิศชามญช์ เจียมวิจิตรกุล หรือ ‘ลี่’ ด้วยความตั้งใจว่าให้ไทยโอเอซิสเตอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนๆ สามารถมาตั้งหลักเรียนรู้การมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีคุณภาพ
“ไม่รู้สิ…เราเป็นคนชอบเรื่องมนุษย์มากๆ (เน้นเสียง)” ความหลงใหลที่มีต่อ ‘มนุษย์’ ทำให้ลี่เปลี่ยนเส้นทางจากมัณฑนศิลป์มาทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์ และลงลึกศึกษาเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’ เกือบ 8 ปี ให้คำแนะนำช่วยเหลือคนที่มีปัญหาในความสัมพันธ์ ค่อยๆ ก่อร่างเป็นไทยโอเอซิสเตอร์
หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คงใช้กับเรื่องความสัมพันธ์ได้เช่นกัน หากอยากได้ความสัมพันธ์ที่ดีมีคุณภาพ ต้องเริ่มจากตัวเราเรียนรู้จักสิ่งนี้ซะก่อน
บทสนทนาข้างล่างนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์หลากหลายมิติ ให้สมดังสโลแกนที่ว่า เพราะความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญเสมอ
ทำความเข้าใจกับคำว่า ‘ความสัมพันธ์’
เพราะเคยตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) รวมถึงคนรอบตัวเองต่างเคยมีความสัมพันธ์เช่นนี้ ทำให้ลี่ตั้งคำถามกับคำว่า ‘ความสัมพันธ์’ และอยากเข้าใจสิ่งนี้ให้มากขึ้น เธอเริ่มหาคำตอบด้วยการลงมือศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
“ความที่เราชอบเรื่องคน การจัดการคน เวลาคนมีปัญหาเราต้องทำยังไง การจัดการกับความสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้วจากงานของเรา พอศึกษาเรื่องนี้ลึกขึ้นเราก็เริ่มทำพาร์ทไทม์ให้คำแนะนำกับคนที่เจอเรื่องพวกนี้ คนรอบตัวพอรู้ว่าเราสนใจเรื่องนี้ มีคนรู้จักที่เจอปัญหานี้ก็จะแนะนำให้มาคุยกับเรา
“ลี่รู้สึกสนุกที่จะพูดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าพูดเรื่องนี้กับลี่คือไม่หยุดอะ (หัวเราะ)” ลี่เน้นย้ำกับเราเสมอว่าเธอชอบเรื่องความสัมพันธ์จริงๆ ขนาดที่ว่าศึกษามา 8 ปียังคงมีเรื่องที่ทำให้ตื่นเต้นและสนุกที่จะเรียนรู้ตลอด
เรื่องไหนที่รู้แล้วตื่นเต้นที่สุด? – ลี่นิ่งคิดไปพักหนึ่งก่อนจะตอบว่า ไม่มีผู้ร้ายในความสัมพันธ์เสมอไป และไม่มีใครสมควรถูกเรียกว่า ‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ ในความสัมพันธ์ ฟังดูเป็นโควตประดับแอคเคาท์คำคมทั้งหลาย แต่เป็นเรื่องที่แท้จริงสำหรับตัวลี่ เธออธิบายว่าเราทุกคนต่างก็มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและร้ายสลับกันไปแล้วแต่สถานการณ์ บางครั้งเราก็อาจเป็นฝ่ายทำตัวไม่ดี ซึ่งก็ต้องยอมรับให้ได้ ยกตัวอย่างเช่นว่า เวลาที่เรารู้สึก insecurity ไม่มั่นคงกับบางอย่าง ทำให้การแสดงออกของเราอาจจะก้าวร้าวรุนแรงเพื่อป้องกันตัวเอง นั่นแหละอาจกลายเป็นลูกศรย้อนไปทำร้ายอีกฝ่าย
“รู้เรื่องนี้ปุ๊บทำให้ลี่เข้าใจว่าถ้าเราอยากมี healthy relationship ความสัมพันธ์ที่ดีที่ปลอดภัย เราอาจต้องมานั่งคุยในลักษณะที่ว่าจะทำยังไง หา solution วิธีการให้ไปถึงจุดนั้น มากกว่ามานั่งหาว่าใครถูกหรือผิด”
จากศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ ทำงานช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในความสัมพันธ์ สเต็ปต่อมาของลี่ถึงขั้นลงทุนเรียนกฏหมายจนได้ปริญญามาอีกหนึ่งใบ เหตุผลเพื่อเอามาใช้งานด้านนี้โดยเฉพาะ
“รู้สึกว่าได้อะไรเยอะจริงๆ ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ในลักษณะที่ logic (เชิงตรรกะ) มากขึ้น ปกติถ้าพูดเรื่องความสัมพันธ์ก็จะเป็นเรื่องความรัก ความผูกพัน เป็นอะไรที่นามธรรม แต่ในภาคกฏหมายทำให้เราเห็นเส้นชัดขึ้นว่าอะไรเป็นตัวแบ่งสิ่งเหล่านี้”
สัมพันธ์ที่แปลว่ามาเรียนรู้กันใหม่ มีพื้นที่ต่อรอง และจุดพักในนาม Thaioasister
คลุกคลีกับสายงานนี้มาสักพักถึงเวลาก่อโปรเจกต์สร้างพื้นที่ของตัวเอง ‘Thaioasister’ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคน (ขอเน้นตัวแดงๆ ว่า ทุกคน) รู้สึก secure (ปลอดภัย) เหตุผลที่ต้องย้ำว่าทุกคน ลี่อธิบายว่าเมื่อพูดถึง Domestic violence ความรุนแรงในครอบครัวหรือความสัมพันธ์ จะมี 2 คำที่เรามักได้ยิน คือ Victim ผู้ถูกกระทำ และ Abuser ผู้กระทำ ไทยโอเอซิสเตอร์ไม่อยากเป็นแค่พื้นที่ให้กับผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่อยากเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพความสัมพันธ์ทุกๆ คน เพราะบางการกระทำผู้กระทำยังไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด และยังมีอีกหลายการกระทำเกิดจากความหวังดี
“เราอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกๆ คนไม่ว่าเขาจะเป็นยังไงในความสัมพันธ์ ถ้าเขาอยู่ในคอมมูนิตี้นี้จะได้ unlearn และ relearn เรื่องความสัมพันธ์ใหม่ เพื่อทำให้เขามีความสัมพันธ์ที่ดีและปลอดภัยต่อคนที่เขารักจริงๆ”
ในขณะที่มีกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวเพศ ความรุนแรงในความสัมพันธ์ ความแตกต่างของไทยโอเอซิสเตอร์กับกลุ่มอื่นคืออะไร คำตอบของลี่ที่มีให้คือ คงเป็นเนื้อหาที่นำเสนอ เน้นไปที่วิธีสร้างให้เกิด healthy relationship การจะสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพต้องทำอย่างไร
ได้ออกมาเป็น 2 เส้นทางในเว็บไซต์ Thaioasister เส้นทางแรก คือ การสร้าง healthy relationship เป็นส่วนที่ชวนทุกคนมาคุยในเชิงกลยุทธ์กันว่าในความสัมพันธ์เราจะจัดการอย่างไร เพราะการมี relationship เราต้องใส่ afford ลงไป ไม่สามารถปล่อยไปตามธรรมชาติได้อย่างเดียว ไม่งั้นลงท้ายอาจกลายเป็นธรรมชาติที่ร้ายหรือดี
อีกหนึ่งเส้นทางเป็นเรื่อง Self – love การที่เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ต้องเริ่มจากมีกับตัวเองก่อน จะทำให้เราแข็งแรงมากพอ มีพลัง เวลาที่เราไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นเราสามารถมีบทบาทควบคุมในความสัมพันธ์ได้
“เราอยากชวนทุกคนมาเริ่มต้นกันใหม่ ที่จริงการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งมาจากชีวิตประจำวันซึ่งมีประเพณีวัฒนธรรมครอบอยู่ ถามว่าสังคมไทยเราดีไหม…ก็อาจจะดีบ้างในบางส่วน และมีส่วนที่ไม่ดีที่ส่งผลให้คนคนหนึ่งถูกกดทับจากความเชื่อ ประเพณีบางอย่าง ที่ทำให้เขาไม่มีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ มีความสัมพันธ์ที่ผิดพลาด
“เช่น soft power จากเพลง หนัง ละคร หลายๆ เรื่องที่เราเคยเห็นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีการส่งต่อความเชื่อที่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ขอใช้คำว่า Romanticize คือ ทำให้การกระทำที่ไม่ดีกลายเป็นเรื่องโรแมนติกไปซะงั้น เช่น ถ้าเขาหึงแปลว่าเขารัก แต่จริงๆ แล้ว เราจะไปวัดว่าใครรักหรือไม่รักโดยการดูจาการแสดงความหึงหวง ยิ่งเยอะ ยิ่งรัก มันก็ไม่ได้ เราต้องมาเรียนเรื่องนี้กันใหม่ว่า ไอความสัมพันธ์ที่ดีมันเป็นแบบไหน ถ้ามันดีมันต้องดียังไง เพราะดีแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าในคำว่าความสัมพันธ์มันประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง
“และลี่ว่าค่านิยมในสังคมไทยที่ส่งผลหนักสุดน่าจะเป็นเรื่อง Patriarchy ระบบปิตาธิปไตย ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ แล้วก็ความเป็นเผด็จการ ความเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) พวกนี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการมีความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดีต้องมีพื้นที่ที่ต่อรองกันได้ ในครอบครัวเราจะเห็นพ่อแม่บางคนทรีตลูกในลักษณะที่เธอต้องฟัง ต้องทำตาม มีสมาชิกคนหนึ่งเป็นผู้นำที่เหลือเป็นผู้ตาม
“ถามว่าครอบครัวสามารถเป็นลักษณะแบบนี้เป็นได้ไหม…ก็ได้นะ แต่มันอาจจะไม่ healthy สักเท่าไรกับสมาชิกคนอื่นๆ เพราะไม่มีพื้นที่ให้เขาสามารถต่อรองได้ ตัวของคนที่เป็นคนตัดสินใจเป็นคนเดียวที่ตัดสินใจได้ เขาก็ไม่รู้จัก sense of security (ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย) secure base (ฐานความมั่นคง) คืออะไร เขาไม่รู้ว่าตัวเองสามารถปกป้องสิทธิได้ เพราะถูกลิดรอนทำให้ไม่รู้จักเรื่องนี้ตั้งแต่แรก”
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่ทำให้เราสนใจไทยโอเอซิสเตอร์คือ บริการยุติความสัมพันธ์ สารภาพว่าตอนที่เห็นครั้งแรกภาพในหัวคือ โทรปุ๊บจะมีกลุ่มคนขับรถมารับเราไปทันที (เกิดจากดูหนังมากไปแหละ) ลี่เล่าว่า บริการนี้เป็นการช่วยเหลือคนที่อยากออกจากความสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ จากประสบการณ์ที่ทำงานช่วยผู้ถูกกระทำ สิ่งแรกที่พวกเขามองหาคือ ความช่วยเหลือ แต่ถ้าออกไปแล้วเจอแต่ความว่างเปล่า ผู้ถูกกระทำก็จะรู้สึกเคว้งและถูกบีบให้ต้องกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม ปัญหาก็ค่อยๆ ก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย
ความตั้งใจของลี่จึงเป็นการมอบความช่วยเหลือตั้งแต่ต้น คนที่อยากออกจากความสัมพันธ์หรือมีคนรู้จักที่กำลังเผชิญสถานการณ์นี้ โดยที่ยังไม่มีความผูกพันทางกฏหมาย สามารถติดต่อมาที่ไทยโอเอซิสเพื่อรับบริการดังกล่าว
แล้วความสัมพันธ์ที่ดีเป็นอย่างไร? – ลี่บอกว่า การมีพื้นที่ที่สามารถต่อรอง สามารถที่จะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ความสัมพันธ์แบบ unhealthy ความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียจะตรงกันข้าม คือมีฝ่ายหนึ่งตั้งตัวไปผู้นำ ไม่เปิดพื้นที่ให้ต่อรอง ทุกการตัดสินเป็นของเขาคนเดียว
“ความสัมพันธ์ก็เป็นเหมือนสเปกตรัม วันนี้อาจจะเบรนด์ๆ ออกไปทางสีส้ม – แดง เป็น unhealthy relationship ไทยโอเอซิสเตอร์เราอยากเป็นจุดพักที่ถ้าคุณขับรถอยู่ก็แวะเข้ามาพักที่นี่ได้ มาตั้งหลักโฟกัสใหม่ ให้โอกาสสองคนได้เปลือยความคิด จริงใจต่อกัน เพื่อจะได้รู้ว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นอย่างไรต่อ มันอาจจะค่อยๆ ถูกเบนเข็มกลับมาในสเปกตรัมที่ healthy ขึ้น แต่ถามว่าจะ healthy ตลอดไปไหม…ก็ไม่ใช่ ความสัมพันธ์เป็นอะไรที่ไม่แน่นอน ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เราก็จะเข้มแข็ง วันหนึ่งรักหมดเราก็สามารถอยู่ได้
“สังคมไทยมักมีมายเซ็ตว่า ความสัมพันธ์ถ้าให้ประสบความสำเร็จต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป ซึ่งไม่จริง (เสียงสูง) ความสัมพันธ์มีดีสุดแค่ 2 – 3 ปีก็ถือว่าดีแล้วนะ หรืออาทิตย์เดียวก็ได้ ไม่เป็นไรเลย ขอแค่คุณมีความสุข อีกคนมีความสุข แล้วความสัมพันธ์นี้มีคุณค่า…จบ แค่นั้นก็ถือว่าดีมากแล้วที่ได้เกิดมาเจอความสัมพันธ์แบบนี้ ดีกว่าต้องทำให้มันนานที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นเลย”
สัมพันธ์ที่แปลว่าครอบครัว เพื่อน คนรัก
เวลาพูดเรื่องความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เราส่วนใหญ่มักพุ่งไปที่ความสัมพันธ์รูปแบบคู่รักหรือครอบครัว มองข้ามความสัมพันธ์หนึ่งที่สำคัญมากๆ และสามารถสร้างพิษให้เราได้ คือ ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน ซึ่งลี่มองประเด็นนี้ว่า มาจากสังคมไทยเป็นสังคมแบบ Collective (Collective Behavior พฤติกรรมรวมหมู่) จะยึดโยงคนเป็นกลุ่มๆ หลายครั้งที่แม้เราจะไม่ชอบ ไม่อยากทำ แต่ก็ต้องฝืนตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับเคารพ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
“ขอยกตัวอย่าง ไข่ดาว ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ชอบกินไข่ดาวสุก แต่ไปกับเพื่อนกลายเป็นว่าเราต้องกิน เพราะเรากลัวไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อน ซึ่งจากจุดที่ดูเล็กๆ มันอาจขยายไปเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เขาถูก manipulate ควบคุมได้
“มีบางเคสที่ลี่เจอ นอกจากเขา abuse ตัวเองเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม คนอื่นๆ ก็ยังมา abuse เขาอีก ด้วยความที่มนุษย์มีทรัพยากรเยอะ เวลา แรงงาน เงิน ทรัพยสิน เราก็สามารถถูก abuse จากอะไรก็ได้ เช่น ตีสามตีสี่เพื่อนโทรมา เราซึ่งกำลังจะนอนแล้ว แต่ตัวเขาต้องการโทรมาระบาย ถ้าเขาเอาเวลาเราไปแบบนี้ เราโอเคไหม?
“สิ่งที่ไทยโอเอซิสเตอร์พยายามสื่อสารคือ ถ้าคุณรู้ว่าสิ่งนี้ไม่โอเค แต่คุณเลือกจะทำก็ได้นะ ไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่การเลือกเพราะคุณไม่รู้ say yes ไปก่อน เพราะมีความ insecure ความรู้สึกไม่มั่นคงที่ควบคุมคุณจากข้างใน ทำให้ค่อยๆ ถูกผลักเข้าไปในความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้”
บางคนอาจมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ เพื่อเพื่อนเราสามารถยอมได้สบาย ไม่ใช่เรื่องของการเสียเปรียบ – ได้เปรียบ ในมุมของลี่มองว่า มนุษย์สามารถยืดหยุ่นปรับตัวได้ แต่การจะทำสิ่งนั้นได้เราจำเป็นต้องรู้ตัวก่อนว่าเราอยากทำ กล้าที่จะพูดความต้องกล้าของตัวเอง
“บางคนถูกเลี้ยงในสังคมที่…อะ อย่างสังคมไทยละกัน ต้องยอมรับว่าหลายครอบครัวไม่อนุญาตให้ลูกสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้ หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนง่ายๆ สบายๆ แต่บางทีมันมีเส้นบางๆ ระหว่างการเป็นคนง่ายๆ สบายๆ หรือจริงๆ เป็นคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่รู้ว่า Identity หรือตัวตนของเราเป็นแบบไหน
“ตัวลี่เองก็โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีเป้าหมายให้เราอยู่แล้ว เราจะรู้สึกว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นคนที่ทำให้เขาภูมิใจ จนได้มาศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ มาตั้งคำถามว่า จริงๆ เราชอบอะไร เป็นคำถามที่ลี่ตอบยากมาก รู้สึกตกใจมากเพราะมีบางเรื่องเกี่ยวกับตัวเราที่เพิ่งรู้ เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร”
สัมพันธ์ที่กำลังแปลในอนาคต
หลังจากสื่อสารสร้างพื้นที่เรียนรู้ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ แพลนต่อไปของไทยโอเอซิสเตอร์จะขยับลึกอีก ด้วยการการเข้าไปให้ความรู้ในสถานศึกษา เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านจาก teenage (วัยรุ่น) สู่ young adult (วัยผู้ใหญ่แรกเริ่ม) ถือเป็นช่วงที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ในช่วงนี้จะสำคัญมาก ไม่ว่าครอบครัว เพื่อน หรือคู่รัก
“มันสำคัญมากๆ นะ (เน้นเสียง) ความสัมพันธ์ที่เรามีช่วงนี้ ไม่ว่าจะแฟนคนแรก หรือความรักแบบ puppy love เพราะมันจะสอนเราเรื่อง relationship บ่มเพาะกลายเป็นชุดประสบการณ์ติดตัวเรา จริงๆ ก็เริ่มตั้งแต่ที่บ้านแล้วละ เราเรียนรู้แพทเทิร์นความรัก การแสดงออกต่างๆ จากพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้สำคัญว่าเขาจะได้รู้จักการมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ และในวันที่เขาเติบโตมีครอบครัวก็สามารถส่งต่อคุณค่านี้ให้ลูกต่อไป
“ลี่อยากโฟกัสกลุ่มนี้ เพราะเขาเป็นต้นอ่อนที่ยังสามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ ยังปรับทัศนคติได้ ที่จริงความสัมพันธ์ในวัยนี้ก็มีเรื่อง Intimate Partner Violence (ความรุนแรงในคู่รัก) ไม่ว่าจะเป็น sexual harassment (การล่วงละเมิดทางเพศ) ทางจิตใจหรือร่างกาย ลี่ว่ามีหมดแหละเหมือนผู้ใหญ่
“รู้สึกท้าทายเหมือนกัน เพราะคนที่ลี่เคยคุยด้วยส่วนใหญ่จะเป็นระดับมหาลัยขึ้นไป เคยไปคุยกับเด็กกลุ่มนี้ อายุ 15 – 16 เรื่องครอบครัว ส่วนใหญ่เขายังไม่ค่อยมีคอนเซปต์ในหัว ไม่รู้จัก power dynamic คืออะไร ก็รู้สึกท้าทายดี น่าจะทำให้เขาเห็นอะไรมากขึ้น”
ถ้าการแสดงออกของพ่อแม่มีผลต่อมุมมองความสัมพันธ์ในลูก แล้วสิ่งที่พ่อแม่ควรสอนลูกเรื่องความสัมพันธ์ในยุคนี้คืออะไร ลี่บอกว่าแค่พ่อแม่ทำให้บ้านมีพื้นที่ต่อรอง ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ต้องกลัวที่จะเปิดเผยตัวเอง ไม่ว่าจะด้านที่อ่อนแอหรือด้านที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลูกสามารถมองหาความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกัน เพราะเขาจะรู้ว่านี่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นความสัมพันธ์ที่ให้เขารู้สึกปลอดภัย เป็นอิสระ
“อยากให้คนเข้าใจเรื่องนี้เยอะๆ ขึ้น มาคุยกัน ลี่อยากบอกว่าไทยโอเอซิสเตอร์ไม่ใช่พื้นที่ที่ลี่ให้ความรู้คนเดียว ลี่อยากให้เป็นพื้นที่ที่คนนี้ก็รู้เรื่องหนึ่งแล้วมาแชร์กัน เป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเรื่องความสัมพันธ์มันร้อยแปดพันเก้า แต่ละคนมีวิธีคิดความรู้สึกไม่เหมือนกัน ลี่พยายามสื่อสารสิ่งนี้ผ่านโอเอซิส” ลี่กล่าวทิ้งท้าย