- ‘กิ๋น’ หรือสัญชาติญาณ, เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy), รู้ระดับสติปัญญาของตัวเองประเมินไม่สูงหรือต่ำเกินไป, อยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา, มีอารมณ์ขันอย่างพอดี และรักสันโดษ 6 คุณลักษณะเหล่านี้ มีแนวโน้มฉายแววความเป็นอัจฉริยะ
- งานวิจัยพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือได้รับการยอมรับจากคนอื่นว่าเก่ง และตัวเองก็มีความสุขและมีความพึงพอใจในตัวเองกับสภาพแวดล้อม คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมี IQ สูงล้น แต่ต้องมี EQ สูงพอจะควบคุมอารมณ์ และจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดี
- พ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถช่วยตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ ได้ โดยเวลาเด็กถาม ต้องตั้งอกตั้งใจตอบ ไม่โบ้ยไปแบบไม่มีเยื่อใย เช่น บอกว่าไม่รู้ (และไม่นึกอยากจะหาคำตอบให้เลยแม้แต่น้อย) หรือแย่กว่านั้นคือ แสดงความรำคาญเวลาเด็กๆ ถาม แต่ควรจะต้องพูดต่อว่า เดี๋ยวจะไปหาข้อมูลมาให้ หรือไม่ก็สอนวิธีหาข้อมูลเองให้
ปัญหาของโลกยุคดิจิทัลที่มีโซเชียลมีเดียเป็นตัวขับเคลื่อนก็คือ มี ‘กูรู’ ที่สถาปนาตัวเองเป็นผู้รอบรู้ไปเสียทุกสิ่ง ชวนให้สงสัยว่าคนที่ฉลาดเฉลียวระดับอัจฉริยะจริงๆ ควรมีลักษณะเช่นใดกันแน่ ในอีกมุมหนึ่งถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ เราก็อาจจะพอมองเห็นลูกหลานของตัวเองว่า ฉายแววความเป็นอัจฉริยะที่ควรค่าแก่การส่งเสริมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องพื้นฐานที่เราควรต้องตระหนักก็เป็นดังเช่นคำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (เอ่อ…บางทีแกอาจจะไม่ได้กล่าวก็ได้นะครับ มีคนชอบเอาคำพูดยัดใส่ปากแกมาก แต่ถึงจะไม่ใช่ คำกล่าวนี้ถือเป็นคำคมที่เข้าท่า) ที่ว่า
“ทุกคนเป็นอัจฉริยะ แต่หากคุณตัดสินปลาจากความสามารถของมันในการปีนต้นไม้ มันก็จะใช้ทั้งชีวิตเชื่อว่าตัวเองโง่เง่า”
ในที่นี้จะเล่าถึงคุณลักษณะ 6 อย่างที่มีแนวโน้มว่า น่าจะแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของเจ้าของนิสัยเหล่านั้นได้
ลักษณะแรกที่น่าสนใจคือ คนที่มี “กึ๋น” หรือสัญชาติญาณ หรือลางสังหรณ์… แล้วแต่จะเรียก… ชนิดที่แม่นยำอยู่เสมอๆ มีโอกาสมากว่าจะเป็นคนที่ฉลาดมากๆ
ดร. เกิร์ด ไกเกเรนเซอร์ (Gerd Gigerenzer) ที่เป็นผู้อำนวยการของสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการพัฒนามนุษย์ที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง กึ๋น: เชาวน์ปัญญาแห่งจิตไร้สำนึก (Gut Feelings: The Intelligence of the Unconscious) ทำวิจัยเรื่องนี้และสรุปไว้ว่า สติปัญญาแสดงออกได้ทั้งแบบคิดเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดแจ้ง และแบบพิเศษที่อธิบายยากกว่าว่าทำได้อย่างไร
กรณีหลังนี้อาจเป็นการสุกงอมของความรู้ ความเชี่ยวชาญ และการคิดหรือแก้ไขปัญหาผ่านจิตใต้สำนึกจนเกิดเป็น ‘สัญชาติญาณ’ ที่แม่นยำ
งานวิจัยเรื่องนี้ใช้คำจำเพาะอีกคำหนึ่งเพื่ออธิบายเรื่องนี้คือ คำว่า ‘เชาวน์ปัญญาแบบรวมยอด (collective intelligence)’ … เผื่อว่าใครไปอ่านเข้า จะได้ทราบว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
หนึ่งในตัวอย่างที่ไกเกเรนเซอร์ใช้อธิบายก็คือ กรณีของเคปเลอร์และกาลิเลโอที่เป็นพวกศึกษาวิทยาศาสตร์นานหลายปี หลายเรื่องก็ไม่มีประจักษ์พยานที่มองเห็นด้วยตาได้ (ในสมัยนั้น) แต่พวกเขาก็ยังสามารถสรุปความจริงเกี่ยวกับเอกภาพได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แม้ว่าสังคมในยุคนั้นจะไม่เชื่อพวกเขา แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อความจริงที่รับรู้ได้ด้วย “กึ๋น” ของพวกเขา
คนที่ฉลาดมากๆ จึงมักฟัง ‘เสียงจากความรู้สึกภายใน’ ของตัวเอง และมีแต่คนจำพวกนี้จึงจะสามารถค้นพบสิ่งที่แปลกใหม่อย่างยิ่งใหญ่ได้ จนถึงกับมีบางคนเชื่อว่าสัญชาติญาณเป็นรูปแบบของสติปัญญาขั้นสูงสุด!
เรื่องน่าสนใจคือ ในโลกของการบริหารสมัยใหม่มักสอนกันว่า เรื่องของกึ๋นเป็นเรื่องความเชื่อผิดๆ และไม่ควรนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ … แต่กึ๋นของแท้จะไม่ใช่การเดามั่วหรือใช้แค่ความรู้สึกล้วนๆ เพียงแต่เป็นการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากอย่างละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่ปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ปกติแล้วจะใช้หลักเหตุผลมาจับได้ยากก็ตาม ก็ยังมองเห็นได้
น่าสนใจว่าเรื่องของสัญชาติญาณแบบนี้ อาจจะเป็นทางเลือกที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ เมื่อหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาแย่งงานมนุษย์เป็นจำนวนมาก แต่การทำให้คอมพิวเตอร์มี “กึ๋น” น่าจะยังอยู่ในอนาคตอีกไกล!
เชื่อแน่ว่าน่าจะมีงานวิจัยออกมามากขึ้นว่า จะสร้างกึ๋นให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
คุณลักษณะของสติปัญญาอย่างที่ 2 ก็คือ มีความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) มีนักจิตวิทยามากขึ้นเรื่อยๆ ที่เชื่อว่า ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นถือเป็นความฉลาดที่สำคัญ จะเห็นได้ชัดจากเรื่องการขยับจากการเน้นย้ำเรื่อง IQ มาเป็นเรื่อง EQ ที่ต้องควบคุมตัวเองได้
โดยงานวิจัยพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือได้รับการยอมรับจากคนอื่นว่าเก่ง และตัวเองก็มีความสุขและมีความพึงพอใจในตัวเองกับสภาพแวดล้อม คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมี IQ สูงล้น แต่ต้องมี EQ สูงพอจะควบคุมอารมณ์ และจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดี
การควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี เป็นพื้นฐานอย่างดีในการทำความเข้าใจความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
ลักษณะต่อไปนี่ยิ่งน่าสนใจ เขาว่าคนที่เจ๋งจริงจะประเมินระดับสติปัญญาของตัวเองได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่าคนทั่วไป กล่าวคือจะประเมินตัวเองไม่สูงหรือต่ำเกินไป เป็นคนที่มองเห็นเรื่องความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ มีจิตใจเปิดกว้างพร้อมจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากคนรู้น้อยที่มักจะตกหลุม ‘กบน้อยในบ่อ’ ที่มักคิดว่าตัวเองรู้มาก ประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงจนกลายเป็น ‘ปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ (Dunning-Kruger effect)’ ที่พบได้บ่อยในคนที่เริ่มจะรู้มากขึ้นนิดหน่อยหรือ “อิน” ในบางเรื่อง แต่มักหลงตัวคิดว่าเป็นผู้รอบรู้ไปซะงั้น!
การรู้ว่าตัวเองอยู่ระดับใด ฉลาดแค่ไหน ทำให้เราเดินหน้าต่อและใช้ประโยชน์จากความรู้และความไม่รู้ของตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
คุณลักษณะที่ 4 ของคนที่ฉลาดจริงก็คือ เป็นคนอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา
มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เปิดตัวเปิดใจและมีความอยากรู้อยากเห็นมากเป็นพิเศษ จะกลายไปเป็นคนที่เฉลียวฉลาดมากกว่าคนทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้น
ความอยากรู้อยากเห็นมอบให้ได้มากกว่าแค่ความรู้หรือความจำ แต่ยังให้ ‘ประสบการณ์’ อีกด้วย อย่างสุดท้ายนี่แหละครับที่คนไม่ค่อยขี้สงสัยยากจะได้รับ
ข้อนี้จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ช่วยเด็กๆ ได้นะครับ
วิธีการก็คือต้องคอยตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ ครับ เวลาเด็กถาม ต้องตั้งอกตั้งใจตอบ ไม่โบ้ยไปแบบไม่มีเยื่อใย เช่น บอกว่าไม่รู้ (และไม่นึกอยากจะหาคำตอบให้เลยแม้แต่น้อย) หรือแย่กว่านั้นคือ แสดงความรำคาญเวลาเด็กๆ ถาม
อันที่จริงตอบว่าไม่รู้ได้นะครับ แต่ควรจะต้องพูดต่อว่า เดี๋ยวจะไปหาข้อมูลมาให้ หรือไม่ก็สอนวิธีหาข้อมูลเองให้ หากเด็กๆ เห็นว่าการสงสัยของพวกเขาเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่สนับสนุน เขาก็จะยิ่งสงสัยและตั้งคำถามมากขึ้นไปอีก
ใครจะไปรู้ ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องต่างๆ อาจจะนำเด็กสักคนไปสู่เรื่องที่น่าสนใจ จนนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้
ลักษณะต่อไปอาจจะทำให้บางคนประหลาดใจครับคือ คนที่มีอารมณ์ขัน นิยมเรื่องตลกโปกฮา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสามารถในเรื่องการพูดจาประชดเหน็บแนม มักจะมีสติปัญญาสูงกว่าคนทั่วไป เพราะการด้นสดเรื่องพวกนี้ หรือการทำเรื่องพวกนี้ให้ได้อย่าง ‘พอดี’ ถือเป็นศิลปะขั้นสูงที่ต้องคิดและวิเคราะห์เยอะ
ฉะนั้น ต้องเน้นคำว่า ‘พอดี’ นะครับ ถ้าทำแล้วมีแต่คนส่ายหน้า…อย่างนี้ไม่ใช่ละ!
คุณลักษณะลำดับที่ 6 ที่เป็นข้อสุดท้ายก็คือ ความรักสันโดษ ครับ
ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว มักถือกันว่าปราชญ์มักจะเป็นคนถือสันโดษ สามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นหรือสิ่งอื่นใดมากนัก เมื่อจะพูดหรือกล่าวสิ่งใด ก็ดูจะสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่อยู่ภายในเสมอ
การมีสติอยู่กับตัวเองทุกขณะจิตหรือการมีความสำรวม มักเป็นคุณลักษณะของผู้คงแก่เรียนและเป็นปราชญ์ผู้มีปัญญา
อันที่จริงในโลกสมัยใหม่ หากเราเห็นใครที่ป่าวประกาศถึงความเจ๋งของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็ควรต้องตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ อย่างที่คำโบราณกล่าวว่า …
มีแต่กลองที่ข้างในกลวงเท่านั้นแหละจึงจะตีแล้วดังมากๆ!