- ครูไก่แจ้ – สิทธิพงษ์ ติยเวศย์ ครูอาสาสอนคณิตศาสตร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับ กศน. หรือการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย เขาไม่ได้เป็นครูที่มีใบประกอบวิชาชีพครู มีงานประจำทำเป็นหลักแหล่ง และใช้เวลาวันหยุดไปกับการสอนหนังสือ
- นอกจากเขาจะทำให้นักเรียนของเขาเข้าใจในเนื้อหาและวิธีคิดในวิชาคณิตศาสตร์แล้ว สิ่งที่นักเรียนสะท้อนกลับคือ การมองเห็นคุณค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเอง จนยกให้เป็นครูที่ดีคนหนึ่งที่เปิดมุมมองใหม่ต่อวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่เคยคิดว่าจะเข้าใจมันได้ และยังทำให้พวกเขารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าจะวางเป้าหมายในชีวิตอย่างไรต่อไป
“ความรู้ไม่ได้มีหน้าที่กดขี่ความเป็นมนุษย์ให้ต่ำลง แต่หน้าที่ของความรู้ คือ การอุ้มชูให้มนุษย์งอกงามขึ้น สิ่งสำคัญในการสอนของผม คือ การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความถนัดอะไร และทำมันให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนคณิตศาสตร์เก่งก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้วิชาคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือให้เขาค้นหาคุณค่าของตัวเองให้เจอ เราปักธงไว้ว่า เราจะสอนหนังสือแบบนี้ ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”
ชวนไปเปิดห้องเรียนที่กว้างใหญ่ของ ครูไก่แจ้ – สิทธิพงษ์ ติยเวศย์ ครูอาสาสอนคณิตศาสตร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับ กศน. หรือการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้ที่ไม่ได้เป็นครูที่มีใบประกอบวิชาชีพครู มีงานประจำทำเป็นหลักแหล่ง และใช้เวลาวันหยุดไปกับการสอนหนังสือ
หัวใจของการเรียนคณิตศาสตร์ของครูไก่แจ้ คือ การเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ และเข้าถึงกฎกติกา ความเข้าใจนี้มีความหมายมากกว่าการท่องจำ ซึ่งจะทำให้โจทย์คำถามของคณิตศาสตร์นั้นเต็มไปด้วยความท้าทายและสนุกสนาน
ขณะเดียวกันในทุกการเรียนรู้ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ การสร้างห้องเรียนให้เป็นสนามแห่งการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกต้องหรือผิดพลาด การลงมือคิดคำนวณตัวเลขล้วนเป็น ‘ประสบการณ์มือหนึ่ง’ ที่สร้างคุณค่าให้กับผู้เรียน นำไปสู่หัวใจแห่งการเรียนรู้ เมื่อ “คณิตศาสตร์เป็นมากกว่าคำตอบที่ถูกต้อง”
จุดเริ่มต้นของการเป็นครูอาสา
“ผมเป็นคนระยองโดยกำเนิด เรียนจบที่ระยอง แล้วก็ทำงานที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ระยอง ตอนนั้นก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นครู ทีนี้ปี 2542 ก็มีโรงเรียนปริยัติธรรม วัดโสภณวนาราม ที่อยู่มาบตาพุด ขอความอนุเคราะห์บุคลากรเพื่อสอนหนังสือให้แก่สามเณร ผมกับเพื่อนๆ 4-5 คนก็เลยไปสมัครสอนหนังสือ ที่สอนวิชาคณิตศาสตร์เพราะเราจบสายวิทย์-คณิตฯมาด้วย แล้วก็รู้สึกว่าเราน่าจะมีความชำนาญคณิตศาสตร์มากกว่า ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มสอนหนังสือ”
หลังจากนั้นก็ถูกชักชวนโดยแม่บ้านที่ทำงาน ซึ่งเธอเรียนกศน. และรู้ว่าครูไก่แจ้สอนคณิตศาสตร์ เมื่อได้การบ้านวิชาคณิตศาสตร์ที่ทำไม่ได้ก็จะมาให้เขาสอนเสมอ จึงชวนให้ไปสอนที่ศูนย์กศน. ห้วยโป่ง เพราะที่นั่นไม่มีครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ แต่ใช้วิธีแจกใบงานให้กลับมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ตารางการสอนของครูไก่แจ้ในตอนนั้นช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์จึงเป็นการสอนสามเณร ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ สอนให้กับกศน. เป็นอย่างนั้นมา 10 ปีได้ ก่อนจะย้ายเข้ามาทำงาน CSR โครงการรักษ์น้ำรักษ์ป่ารักษ์คุ้งบางกะเจ้า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ออกแบบการเรียนรู้ ในห้องเรียนแห่งความหลากหลาย
ครูไก่แจ้อธิบายว่า กศน. มีนักเรียน 3 กลุ่ม แบ่งตามช่วงวัยและจุดประสงค์ในการเรียน คือ 1. วัยรุ่น อายุตั้งแต่ 10-20 ปี ออกจากการศึกษาในระบบด้วยเหตุผลหลากหลาย ซึ่งมีความรู้พื้นฐานมาบ้าง และส่วนใหญ่มาเรียนเพื่อเอาวุฒิการศึกษาไปเรียนต่อในระดับปวส. หรือมหาวิทยาลัย 2. วัยทำงาน อายุ 30-40 ปี ต้องการนําวุฒิการศึกษาไปใช้ในการทำงานหรือใช้เลื่อนตำแหน่ง และ 3. วัยสูงอายุ ที่ตอนเด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และนำวุฒิการศึกษาไปใช้รับรองตําแหน่งแกนนำชุมชนต่างๆ ซึ่งความต่างของช่วงอายุนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทายการสอนของครูไก่แจ้มาก ทำอย่างไรให้คน 3 ช่วงอายุมาเรียนรู้ร่วมกันได้ และได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างวัยไปด้วย
จากต้นทุนที่ครูไก่แจ้มีคือ ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ จึงเริ่มสอนแบบเน้นทฤษฎี เปิดหนังสือเขียนสมการ วิธีทำบนกระดาน จนกระทั่งที่ย้ายมาทำงาน CSR ได้ทำงานกับชุมชน และได้เรียนรู้กระบวนการด้านสังคมติดตัวมาด้วย
“แล้วก็ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ทฤษฎีกระบวนการเติบโตภายในของพัฒนาการจิตอาสา และเรียนรู้กับโครงการก่อการครู ผมก็เอาทั้งสามเรื่องนี้มาสร้างกระบวนการสอนของผมใหม่ เริ่มใช้กระบวนการเปิดฉากด้วยการตั้งคำถาม ตบด้วยการเขียนบัตรคำ ซึ่งมันก็ทำให้ตัวเราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขา”
เริ่มต้นจากคำถาม เปิดใจผู้เรียนเปลี่ยนทัศนคติต่อวิชาคณิตศาสตร์
“คำถามเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ และการตั้งคำถามจะบอกวิธีคิดของมนุษย์” ครูไก่แจ้ว่าอย่างนั้น
ในการเจอกันสัปดาห์แรกของการเรียนคณิตศาสตร์ระหว่างครูไก่แจ้กับนักเรียนของเขา เริ่มจากการทำความรู้จักกันโดยการแนะนำตัวเองเพียงประโยคเดียวคือ ชื่อกับนามสกุล จากนั้นให้นักเรียนเป็นคนตั้งคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับครู เนื่องจากมองว่าห้องเรียนแห่งนี้คือสถานที่ของทั้งครูและนักเรียน แม้ครูจะยืนอยู่หน้าชั้น แต่ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ในการตั้งคำถามเพียงฝ่ายเดียว ครูไก่แจ้จึงชวนให้นักเรียนของเขาตั้งคำถาม โดยเขียนลงในกระดาษ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้บังคับว่าทุกคนจะต้องเขียน
“ชั่วโมงแรกของการเรียนและเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราได้เจอกัน บางคนไม่มีคำถาม ไม่รู้จะเขียนอะไรลงไป มันสะท้อนถึงความไม่กล้าหาญของมนุษย์หรือสิ่งที่กดทับบนความถูกและไม่ถูกมันทำให้คนไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถาม บางคนก็ถามผมว่า เพื่อนคิดยังไงกับอาจารย์? ทำไมหน้าตาอาจารย์มีความสุขจัง? จะเห็นว่ามิติการถามมีหลากหลายมาก”
โดยเป้าหมายในการจุดประกายให้นักเรียนตั้งคำถามของครูไก่แจ้ มีส่วนประกอบสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน คือ เพื่อให้มองเห็นความแตกต่างระหว่างตัวเองกับเพื่อนร่วมชั้น ยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นอายุหรือประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ และสำคัญที่สุด คือ ลองตั้งคำถามกับตัวเองให้มากขึ้น เช่น เราไปเรียนกศน. ทำไม? เป้าหมายในชีวิตคืออะไร?
“ถึงผมจะชวนให้เขาตั้งคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับตัวผม แต่มันเป็นเพียงเครื่องมือที่ให้เขาได้ย้อนกลับไปดูตัวเอง แล้วย้อนกลับไปดูคนอื่นรอบข้างว่า เขาคิดแบบไหน เขาตั้งคำถามแบบไหน แล้วตัวเราละเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหม ให้เขาเรียนรู้ที่จะวางเป้าหมายในชีวิต”
ในส่วนของเนื้อหาครูไก่แจ้จะสอนจากเรื่องที่ง่ายก่อน เมื่อนักเรียนทำได้เขาจะมีกำลังใจในการเรียนอย่างเช่น บทแรกที่เกี่ยวกับรูปเรขาคณิต รูปทรงสามมิติ และการเคลื่อนที่ เป็นต้น
“พื้นฐานของแต่ละห้องไม่เหมือนกันบางห้องสามารถไปได้เร็ว บางห้องไปได้ช้า เวลาที่เราสอนทฤษฎีผมจะไม่เป็นคนเฉลยคำตอบให้เขาเป็นอันขาด แต่จะต้องช่วยกันหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะการลงมือทำเป็นสิ่งสำคัญมาก
ยิ่งคณิตศาสตร์ต้องคิดและลงมือทำ คุณจะต้องหาคำตอบมาได้ด้วยตัวเอง ครูจะไม่เป็นคนหาคำตอบให้ อันนี้คือเป็นกติกาของผมเลย แล้วการที่เขาเรียนคณิตศาสตร์ไม่รู้เรื่อง เพราะว่าไม่เข้าใจเครื่องมือ และเราไม่ได้สอนให้เขาเชื่อมโยงความรู้ เพราะฉะนั้นในเวลาจำกัดสิ่งที่ครูทำได้ดีที่สุดคือสอนเครื่องมือ และเขาจะต้องไปฝึกฝนการใช้เครื่องมือให้ชำนาญเอง ที่สำคัญต้องรู้วิธีการใช้ที่เหมาะสมกับโจทย์แต่ละข้อ เพราะฉะนั้นเราจะต้องสอนเครื่องมือ ทฤษฎี ก็คือ พวกสูตรต่างๆ แต่ต้องเสริมตัวอย่างที่จะทำให้เขาเข้าใจด้วยนะ ไม่ใช่แค่บอกเฉยๆ”
สร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน สะท้อนคิดผ่าน ‘บัตรคำ’
สำหรับครูไก่แจ้การสอนให้นักเรียนหาคำตอบที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำให้เขากล้าลงมือทำยากยิ่งกว่า ซึ่งสิ่งที่จะดึงความกล้าเพื่อลงมือทำคือ การรู้จักฟังและสื่อสารอย่างชัดเจน
“ผมถามเด็กๆ ทุกคนว่าทำไมไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์เขาบอกว่า ครูดุมาก เวลาที่เขาทำผิดครูก็จะด่า ลงโทษ ก่อนจะใส่เนื้อหาให้เขา เราจึงต้องทำให้พื้นที่นี้ที่ปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกปลอดภัยก็จะตั้งใจฟัง”
การสอนของครูไก่แจ้ จึงเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ ค้นหาคุณค่าในตัวเอง โดยยอมแลก 1 ชั่วโมงแรกของการเรียนนั้นกับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งท้ายคาบครูไก่แจ้จะให้นักเรียนเขียนความรู้สึกหลังเรียน หรือที่ครูเรียกว่า ‘บัตรคำ’
“เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่ข้อความที่เขาเขียนนะ ประเด็กแรกที่ครูอยากได้ก็คือ การฝึกเขียน และกล้าที่จะเขียน กล้าตั้งคำถาม เพราะการที่จะเขียนสิ่งเหล่านี้ได้ คุณต้องประมวลตั้งแต่แรก เช่น เจอครูวันนี้ทำอะไรนะ ครูให้ถามคำถาม แล้วครูตอบอะไรนะ ค่อยๆ ประมวลความคิดแล้วเขียน เป็นกระบวนที่ให้เขาได้นิ่งเพื่อทบทวนตัวเอง และกล้าหาญที่จะบอกความรู้สึกตัวเองผ่านตัวอักษร หรือผ่านภาพวาดก็ได้ ไม่ได้มีขีดจำกัด
กระดาษแผ่นนี้เป็นของคุณเพราะฉะนั้นคุณสามารถที่จะทำอะไรก็ได้บนกระดาษแผ่นนี้ เราเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง แต่พอเราอ่านเราจะรู้เลยว่า คือ สิ่งที่เราส่งไปให้เขาๆ รับได้”
“รู้สึกมีความสุข และเรียนเข้าใจง่าย เรียนสนุก ไม่กดดัน อาจารย์น่ารัก ขอบคุณที่มาสอนโดยที่ไม่หวังผลประโยชน์อะไร นอกจากเห็นพวกผมเป็นอนาคตที่ดีของชาติ…”
“…มันได้อะไรมากกว่าวิชาคณิตศาสตร์ คือครูสิทธิพงษ์แถมความรู้ทั่วไป, การใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม, การวางตัว หรือการรู้จักตัวเอง…” นี่คือตัวอย่างข้อความสะท้อนคิดหลังจากที่นักเรียนได้เรียนกับครูไก่แจ้
เป็นเช่นนั้นเพราะว่า การเรียนรู้มักจะเริ่มต้นจากความสนุก เพราะความสนุกเป็นผลสะท้อนจากปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อเรา ‘รู้สึกปลอดภัย’ ซึ่งเกิดจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนร่วมกัน ช่วยกันรื้อถอนคำว่าถูกหรือผิด เก่งหรือกลัว
“แก่นวิธีคิดของผมคือ เมื่อใดที่เราสอนด้วยความสุข คนรอบข้างเด็กๆ ก็จะรู้สึกมีความสุข ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นมันจะต้องเรียนซับซ้อนก็ตาม”
หัวใจคือการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน
นักเรียนหลายคนของครูไก่แจ้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก แต่พอได้ลองเปิดใจเรียนแล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
“บางคนบอกว่าเกลียดวิชานี้เลย ผมก็ถามว่าทำไม จริงๆ เขาไม่ได้เกลียดวิชาหรอก เขาเกลียดคนสอน น่าตกใจมากว่าการที่เราจะเรียนเข้าใจหรือไม่เข้าใจมันขึ้นอยู่กับครูผู้สอนจริงๆ นะ มันมีอิทธิพลสูงมาก”
อีกทั้งโจทย์ยากในการสอนสำหรับครูไก่แจ้ คือ การที่ กศน. ไม่มีสถานที่เรียนเป็นของตัวเอง ไม่มีโรงเรียน วิธีการคืออาจารย์ประจำศูนย์จะไปขอยืมสถานที่จากพื้นที่นั้นๆ เช่น เขตบางนา ไปขอสถานที่ทหารเรือ ก็คือจะต้องไปหาสถานที่ที่เป็นชุมชน และบางสถานที่ก็ไม่เอื้อให้สอนหนังสือจริงจัง เพราะฉะนั้นสถานที่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด แต่เนื่องจากเนื้อหาเป็นเป้าหมายสุดท้ายปลายทาง สิ่งสำคัญคือ กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอุปกรณ์เครื่องมือแบบใดก็ตาม การเรียนรู้จะต้องเดินต่อไปได้
“ผมไปสอนที่หนึ่งที่ระยองเข้าไปอาทิตย์แรกเด็กๆ เขาก็ยังไม่รู้จักผม เขาก็จะนั่งเล่นเกม พอผมเปิดประตูเข้าไป เขาเงยหน้า แล้วก็เล่นโทรศัพท์ต่อ เราก็สอนไป ทำตามกระบวนการที่บอกไป สุดท้ายพอเวลาผ่านไปเขาก็ค่อยๆ ขยับมานั่งข้างหน้า ผมไม่ได้บังคับให้เขามานั่ง แต่จะบอกเขาว่า ทุกคนคงไม่ชอบให้ครูบังคับ งั้นเมื่อใดที่คุณเลือกเก้าอี้ที่นั่งแล้วคุณมองไม่เห็น ฟังไม่ชัด แล้วคุณไม่ขยับนั่นคือสิ่งที่คุณเลือกเอง แค่นั้นเองเด็กๆ ก็จะเริ่มรู้ตัวว่าควรจะทำแบบไหน แล้วเราก็ไม่ได้บอกด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เราบอกความรู้สึกเราจริงๆ ไม่ได้น้อยใจ ไม่ได้ตีโพยตีพาย เขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนครับ แต่ถ้าสุดท้ายเขาจะไม่ลุกขึ้นมาก็ไม่เป็นไรนะ
หรือเวลาเขาคุยกับเสียงดัง ผมไม่เคยดุเขาเลย ไม่เคยขึ้นเสียง ไม่เคยไล่ออกจากห้อง แต่ผมจะเงียบ แล้วเขาก็จะได้ยินเสียงของเขาเอง แล้วเขาก็จะเงียบ บางทีก็จะบอกว่า ถ้าใครมีธุระที่จะต้องคุยกันจริงๆ ครูอนุญาตให้ออกไปคุยนอกห้องได้ ครูไม่ได้ว่าอะไร ไม่ตัดคะแนน แล้วไม่ได้พูดเพื่อดรามาหรือน้อยใจ แต่เราพูดด้วยความเป็นจริง”
“เมื่อใดก็ตามที่เรามีความปรารถนาดีต่อกัน มนุษย์รับรู้ได้ แล้วสิ่งที่เรากำลังจะสอน เนื้อหาต่างๆ การทำข้อสอบให้ผ่านต่างๆ คือความปรารถนาดีของเรา ความหวังดีของเรา ซึ่งเราเป็นใครไม่รู้ เราเพิ่งจะมาเจอกันครั้งแรกในชีวิต แต่ครูปรารถนาดีกับเธอนะ ครูหวังดีกับเธอนะ แล้วตัวเธอเองละจะใจร้ายที่จะทำลายความปรารถดีทั้งของครูและของตัวเองเลยหรือ”
แม้เทอมนี้ครูไก่แจ้จะไม่ได้พบปะกับนักเรียนเลย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และส่วนใหญ่ทางกศน. เลือกใช้วิธีการเรียนผ่านยูทูบแทน เพราะการสอนออนไลน์ผ่าน zoom ไม่สะดวกกับพวกเขา เนื่องด้วยไม่มีเวลา ติดทำงาน เลี้ยงลูก
“ผมก็ไปอัดเป็นต้นฉบับไว้ ซึ่งผมได้บอกอาจารย์เขาว่าเนื้อหาแบบนี้ยูทูบเยอะแยะ ผมจะสอนในแบบที่สอนในห้องเลย สอนแบบกศน.จากประสบการณ์ที่เราเคยสอนมา ออกแบบกระบวนการที่มันสอดคล้องกับตัวเขาให้มากที่สุด ไม่ทฤษฏีจ๋า พยายามจะมุ่งเน้นให้เขาสร้างกระบวนการในการเรียนรู้ให้เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างที่เคยทำ”
“ผมจะรู้สึกว่าเราโชคดีมากๆ ที่ได้เรียนรู้ชีวิตจากคนมากมาย มีรอยยิ้ม มีตำหนิ มีบาดแผล มีน้ำตาทุกครั้งที่ผมได้คุยกับนักเรียนไม่ว่าจะโอกาสไหนก็ตามผมรู้สึกว่าชีวิตมันทรงพลังมากๆ กับการที่ได้เรียนรู้กับคนเหล่านี้ การได้พูดคุยกันกับเขา การที่เขาตอบคำถาม การที่เขาตั้งคำถาม การที่เขามีแววตาแห่งความตั้งใจ มันคือพลังที่ตอบกลับมาให้กับเราด้วย มันทำให้เรามีพลังไปในตัว เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อย่างน้อยเขากลับไปมีความสุข ถึงแม้จะเรียนได้ 50% ดีกว่า 3 ชม.แล้วไม่มีความสุขเลย” นี่คือสิ่งที่ครูไก่แจ้ได้จากการเป็นครูอาสาสอนคณิตศาสตร์กว่า 10 ปี