- หลายครั้งที่ผู้คนเลือกใช้ ‘ความเงียบเฉย’ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในความสัมพันธ์ โดยอาจแสดงออกมาในรูปแบบ ‘การเมินเฉย’ หรือ ‘อาการงอน’
- บางคนอาจเลือกใช้ความเงียบเฉยเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดตรงๆ ที่อาจนำไปสู่ความร้าวฉานในความสัมพันธ์ แต่บางคนอาจใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างรอยร้าวขึ้นแทน
- การเข้าใจเจตนาและที่มาที่ไปของความเงียบเฉยจะทำให้เรารู้เท่าทันได้ว่าควรจัดการอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์
งอน ไม่ยอมคุยด้วย ทำตัวห่างเหิน…
อาการที่หลายคนอาจเคยเป็นกันเวลาเจอเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ บางคนเลือก ‘ไม่คุยด้วย’ เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต โดยเลือกที่จะเงียบไปก่อน ค่อยกลับมาคุยเมื่ออารมณ์ดีขึ้น หรือเลือก ‘งอน’ ‘ทำตัวห่างเหิน’ เพื่อลงโทษอีกฝ่าย ด้วยความผิดที่เรามองว่าเขาเป็นต้นเหตุ
และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เราเลือกแสดงอาการนี้ออกมา ในสายตาบางคนอาจคิดว่านี่เป็นพฤติกรรมปกติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ส่งผลร้ายแรง อาจสร้างความหงุดหงิดใจ แต่จะหายไปเมื่อได้ทำความเข้าใจกัน แต่ความเคยชินที่ทำให้เรามองว่าพฤติกรรมนี้ธรรมดา จนมองไม่เห็นว่าข้างในซ่อนเข็มพิษไว้ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งใน Emotional Abuse หรือการใช้อารมณ์ควบคุมอีกฝ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ เรียกว่า ความเงียบเฉย (Silent Treatment)
โดยทั่วไปความเงียบเฉย คือ ความพยายามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการยุติการสนทนาในระหว่างการโต้เถียง โดยปิดกั้นอีกฝ่ายออกไป และเริ่มปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการถกเถียงต่อไปไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม พฤติกรรมนี้สามารถเกิดขึ้นในความสัมพันธ์หรือสภาพแวดล้อมประเภทใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท สมาชิกในครอบครัว หรือคู่รัก
มีหลายเหตุผลที่คนเลือกใช้วิธีนี้ กลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถในการควบคุมตนเองสูง จะมองว่าความเงียบเฉยเป็นวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นการกระทำที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และพวกเขายังเชื่อว่า การเลือกที่จะเงียบนั้นไม่ใช่การยอมแพ้ในการโต้เถียง
นอกจากนี้ การสร้างกำแพงขณะสนทนาอาจเป็นความพยายามในการป้องกันตนเอง นั่นคือมีความกลัวต่ออีกฝ่ายหรือกลัวความขัดแย้งมากกว่าที่จะเป็นเจตนาร้าย การสร้างกำแพงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเงียบเฉย แต่จะต่างไปจากการเงียบเฉยด้วยเงื่อนไขของเวลา โดยทั่วไปแล้วการสร้างกำแพงจะเกิดขึ้นระหว่างการสนทนา ในขณะที่การเงียบเฉยอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือกระทั่งหลายปี
รักษาความสัมพันธ์หรือทำร้ายจิตใจ
การเงียบเฉยสามารถเป็นหนึ่งในรูปแบบของการควบคุมหรือทำร้ายจิตใจ (Emotional Abuse) ได้ หากใช้การเงียบเฉยเป็นประจำทุกครั้งที่เกิดการโต้เถียงกัน เป็นที่รู้กันดีว่าการเงียบเฉยนั้นหลายครั้งเป็นจุดจบของความสัมพันธ์คู่รัก ความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และยังมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็กเมื่อเด็กถูกพ่อแม่หรือผู้ปกครองหมางเมิน ผลกระทบจากพฤติกรรมเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายให้แก่สภาพจิตใจได้
ผู้ที่ถูกเมินเฉยจะรู้สึกว่าพวกเขาต่ำต้อยกว่าคนอื่น และเชื่อว่าบุคคลที่ปิดกั้นพวกเขาออกไปก็คิดว่าพวกเขาด้อยกว่าเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าการขาดการสื่อสารนั้นมีผลตามมาที่รุนแรงเพราะเป็นการปฏิเสธความต้องการพื้นฐานทางสังคมและความสัมพันธ์ของมนุษย์
พ่อแม่ที่เพิกเฉยลูก การถูกตัดขาดจากครอบครัว เด็กๆ ที่ไม่ถูกรวมกลุ่มช่วงที่ต้องเข้าสังคมหรือเล่นเกม การถูกกีดกันโดดเดี่ยวจากกลุ่มเพื่อน การไม่ถูกรวมเข้ากลุ่มจากเพื่อนร่วมงาน การถูกคว่ำบาตรบนโลกออนไลน์ การรุกล้ำทางอ้อมอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้อาจคุกคามสุขภาพจิตในหลายด้านเพราะผู้ที่ประสบกับความเงียบเฉยหลายคนจะรู้สึกเหมือนสูญเสียการควบคุม
งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกถูกกีดกันบ่อยครั้งสามารถลดความมั่นใจและความเป็นเจ้าของในตนเองได้ ผลกระทบนี้อาจรุนแรงขึ้นเมื่อมีคนใกล้ตัวทำการเงียบเฉยใส่เพื่อเป็นการลงโทษ
แม้ว่าบางครั้งการเงียบเฉยจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการหลีกเลี่ยงการพูดสิ่งที่เราอาจเสียใจในภายหลัง ผู้คนมักใช้วิธีนี้ในเวลาที่พวกเขาไม่อยากพูดความรู้สึกของตนเองหรือรู้สึกกดดัน แต่บางครั้งผู้คนอาจเลยเถิดใช้การเงียบเฉยเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจเหนือผู้อื่น หรือเพื่อสร้างระยะห่างทางอารมณ์ คนที่ใช้การเงียบเฉยเป็นเครื่องมือมักมีเป้าหมายเพื่อควบคุม พวกเขาจะเมินเฉยคุณหลายวันหรือหลายสัปดาห์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขา พฤติกรรมและเจตนาแบบนี้เรียกว่าการทำร้ายจิตใจ
ในด้านการรับมือกับอาการหมางเมินเงียบเฉย บางคนอาจจะมีความยืดหยุ่นต่อพฤติกรรมดังกล่าว แต่บางคนกลับสัมผัสได้ถึงความรุนแรงของการกระทำนี้เช่นเดียวกับการถูกละเลยเป็นเวลานานหรือการถูกทำร้ายร่างกาย ในบางกรณี ผู้ที่ใช้ความเงียบเฉยอาจเชื่อว่าตัวเองเลือกใช้ความเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงการโต้เถียงที่ทวีความรุนแรงขึ้นหรือเพื่อรักษาความรู้สึกของอีกฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด การเลือกใช้ความเงียบเฉยก็ถือเป็นวิธีการจัดการ ลงโทษ และควบคุมผู้อื่นอยู่ดี
สัญญาณของการทำร้ายจิตใจ
แน่นอนว่าการเงียบเฉยอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำร้ายจิตใจเสมอไป บางคนเพียงแค่ขาดทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพหรือแค่ต้องการเวลาจัดการตนเองก่อน แต่สำหรับคนที่ชอบทำร้ายจิตใจผู้อื่นนั้น การเงียบเฉยถือเป็นเครื่องมือในการควบคุม นี่เป็นสัญญาณบางประการที่บ่งบอกว่าพฤติกรรมเงียบเฉยได้ล้ำเส้นไปเป็นการทำร้ายความรู้สึก
- ความเงียบเฉยเกิดขึ้นบ่อยครั้งและกินเวลาเป็นเวลานาน
- ความเงียบเฉยเกิดเพื่อลงโทษ ไม่ใช่เพื่อให้อีกฝ่ายใจเย็นลง
- ทำการตัดสินใจแทนคุณโดยไม่ถามความสมัครใจหรือขออนุญาต
- เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเงียบเฉยใส่
ที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าจะไม่ได้มีผลทางร่างกาย แต่ผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทำร้ายจิตใจนั้นสามารถทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผู้ที่ถูกเมินเฉยใส่นั้นอาจกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ บางครั้งถึงขั้นรู้สึกโดดเดี่ยวสิ้นหวัง และอาจเป็นปัจจัยร่วมในความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า โรคอ่อนล้าเรื้อรัง หรือ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง) ได้เลยทีเดียว
การรับมือกับการเงียบเฉย
มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าในความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก คู่รักบางคู่เชื่อว่าการใช้ Silent Treatment จะนำไปสู่การแก้ไขข้อขัดแย้งได้ แต่พฤติกรรมเงียบเฉยอาจมีแนวโน้มส่งผลให้รู้สึกขุ่นเคืองติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ต้องใช้ Silent treatment ในการแก้ปัญหา นี่เป็นอีกแนวทางที่อาจเป็นประโยชน์และช่วยคลี่คลายความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดให้ดีขึ้นได้
- ใช้วิธีการแบบสุภาพโดย ‘นึกถึงใจเขา’
หากการเงียบเฉยไม่ใช่พฤติกรรมที่อีกฝ่ายทำกับเราเป็นประจำ แนวทางที่สุภาพอาจเป็นวิธีที่ดีในการเริ่มต้นการสนทนาเพื่อหาทางออก คือ ถามอีกฝ่ายว่าเราอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงแสดงพฤติกรรมนี้ออกมา ทำไมถึงงอน ไม่คุยกับเรา อธิบายว่าเราอยากรู้สาเหตุเพื่อปรับความเข้าใจ ถ้าหากปัญหาที่เกิดขึ้นเรามีส่วนผิด การขอโทษคือสิ่งที่เราควรทำ แต่ถ้าพวกเขายังไม่ยอมคุยด้วย เราสามารถบอกพวกเขาว่าเข้าใจว่าอาจต้องการเวลาส่วนตัว แต่อย่าลืมบอกเขาด้วยว่าเราเองก็ต้องการเขากันเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
- หรือนึกถึงใจตัวเอง
บอกอีกฝ่ายไปเลยว่า การถูกเมินเฉยทำให้เรารู้สึกไม่ดีและโดดเดี่ยว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการในความสัมพันธ์ อธิบายว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการเผชิญหน้ากับพฤติกรรมนี้ได้ แล้วเจาะจงเกี่ยวกับประเด็นปัญหานั้นๆ เพราะถ้าเรารู้สึกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉานก็ควรพูดออกมาตามตรง
- ไม่สนใจและปล่อยผ่าน
บางครั้งการไม่สนใจพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่า เพราะในกรณีนี้สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ คือ ทำให้เรารู้สึกแย่และตัดสินใจที่จะเป็นคนเริ่มก่อน และรอให้เราเป็นคนเปิดประเด็นและยอมเพื่อเอาใจเขา นี่เป็นวิธีการเชิงรับเพื่อให้เรารุกโดยมีเจตนาเพื่อให้เรายังอยู่ในความควบคุมเขา ดังนั้น การปล่อยผ่านไปอาจแสดงให้เขาเห็นว่าการแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ ไม่มีทางจะทำให้เขาได้สิ่งที่ต้องการจากเรา
- เสนอแนวทางแก้ไข
วางแผนว่าเราจะต้องพูดคุยกันอย่างไรเมื่อบทสนทนาเริ่มตึงเครียดและจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเงียบใส่ที่เริ่มก่อตัวอย่างไร รับฟังและพูดทวนสิ่งที่อีกคนพูดเพื่อที่จะได้เข้าใจว่าต่างฝ่ายต่างกำลังคาดหวังอะไร ตั้งกฎสำหรับการสื่อสารที่ดีขึ้นในอนาคต ถ้าเราอยู่ในความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก การไปพบกับผู้ให้คำปรึกษาด้านชีวิตคู่เพื่อหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับปัญหาระหว่างกัน
- ยืนหยัดเพื่อตัวเอง
เมื่อการเงียบเฉยไต่ระดับไปสู่การทำร้ายจิตใจแล้ว นั่นแปลว่าเรากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดี (Toxic Relationship) ถึงเวลาแล้วที่เราควรให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน หากเราเชื่อว่าความสัมพันธ์นี้ควรค่าแก่การรักษาไว้ ควรกำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่เรายอมรับได้และความคาดหวังที่จะได้รับเพื่อความสัมพันธ์ที่มั่นคงในอนาคต นอกจากนี้ ควรพูดตามตรงว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกิดการล้ำเส้นที่เราขีดไว้และเราต้องทำตามที่พูด หากไม่มีวี่แววว่าอีกฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ลองพิจารณาทางเลือกถอยออกมาจากความสัมพันธ์แทน
ข้อควรระวัง
เมื่อต้องมีการโต้ตอบกับอีกฝ่ายที่ใช้พฤติกรรมเงียบใส่ ข้อห้ามบางประการที่เราควรหลีกเลี่ยง…
- โต้ตอบด้วยความโกรธ เพราะจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น
- ขอร้องหรืออ้อนวอน เพราะจะยิ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมนี้มากขึ้นอีก
- ขอโทษเพื่อให้ทุกอย่างจบแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรผิด
- ยังพยายามที่จะมีเหตุผลกับอีกฝ่าย แม้เราจะลองทำไปแล้ว
- ขู่ว่าจะจบความสัมพันธ์ เว้นเสียแต่ว่าเราพร้อมที่จะทำแบบนั้นจริงๆ
แม้ว่าการเงียบเฉยจะไม่ได้เกิดจากเจตนาร้ายเสมอไป แต่ยังไงก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อความสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการทำร้ายจิตใจกันและกัน เราอาจต้องเป็นคนพิจารณาว่าเมื่อเกิดพฤติกรรมเช่นนี้ เราควรพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป หรือเอาตัวเองออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เพื่อปกป้องจิตใจของเรา
อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองหากความสัมพันธ์นั้นจบลงไม่สวย ไม่ใช่ความผิดของเราด้วยที่ทำให้อีกฝ่ายแสดงพฤติกรรมเงียบใส่ และเราไม่มีหน้าที่รับผิดชอบพฤติกรรมของเขา ไม่ว่าเขาจะกล่าวหาเราด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ หากความสัมพันธ์นั้นควรค่าแก่การรักษาไว้ พฤติกรรมเงียบเฉยจะไม่ล้ำเส้นมาเป็นการทำร้ายจิตใจ เพราะจะไม่มีการแพ้-ชนะในความสัมพันธ์หากเราใส่ใจกันมากพอ