- ชวนฟังคำแนะนำวิธีเรียนอย่างไรให้รุ่งจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง เจมส์ วัตสัน (James Watson) กับหนังสือ Avoid Boring People (ให้หลีกลี้คนน่าเบื่อ)
- “อย่าเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในห้อง” วัตสันมองว่า แต่ละคนควรออกจากความเคยชินเดิมๆ การมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือเพื่อนในแล็บเดียวกันที่เก่งมากจนสามารถบอกได้ว่า การให้เหตุผลของคุณมีช่องโหว่อย่างไร หรือรู้ข้อเท็จจริงที่สามารถใช้พิสูจน์ถูกผิดในข้อโต้แย้งของคุณ ย่อมต้องนับว่าเป็นเรื่องดี
- “เมื่อเข้าฟังสัมมนาเรื่องที่คุณสนใจ ให้นั่งแถวหน้าสุด” ไม่ต้องกลัวว่าจะเบื่อหรือเผลอหลับโชว์คนอื่นในห้อง ถ้าฟังไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง คุณก็มีโอกาสดีจะถามแทรกได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้ ซึ่งจะเป็นโอกาสดีกับอีกหลายคนในห้องที่อาจจะตกอยู่ในอาการเดียวกับคุณ
ผมเชื่อว่ามีคนแนะนำวิธีการเรียนให้ประสบความสำเร็จไว้มากมาย ทั้งที่เป็นบทความและหนังสือเป็นเล่มๆ เรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ มาจากหนังสือชื่อ Avoid Boring People (ให้หลีกลี้คนน่าเบื่อ) ของเจมส์ วัตสัน (James Watson) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน หนึ่งในคู่หูมหัศจรรย์ที่ไขความลับเรื่องโครงสร้างของดีเอ็นเอสำเร็จ
คู่หูอีกคนที่ช่วยกันไขความลับนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ ฟรานซิส คริก (Francis Crick)
สิ่งที่ทั้งคู่ทำนายไว้อย่างถูกต้องก็คือ ดีเอ็นเอต้องมีโครงสร้างเป็น ‘สายคู่’ ที่จับกันอย่างจำเพาะโดยเบส 4 ชนิดในดีเอ็นเอ มองเห็นเป็นโครงสร้างที่บิดเป็นเกลียวเรียกว่า double helix ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อหนังสือของวัตสัน คือ The Double Helix (ในภาษาไทยมีผู้แปลไว้นานแล้วในชื่อ ‘เกลียวชีวิต’) ที่กลายมาเป็นหนังสือบันทึกการแข่งขันและการค้นพบโครงสร้างของ ‘รหัสพันธุกรรม’ ในรูปของดีเอ็นเอ
มาดูกันนะครับว่า นักวิทย์รางวัลโนเบลอย่างเจมส์ วัตสัน แนะนำว่าจะเรียนให้โลดจนรุ่งอย่างสุดๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง แน่นอนว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ยังไม่ใช่ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าต้องเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน แต่ก็น่าสนใจอยู่ดีว่า เขาคิดว่าอย่างไร และทำไมจึงคิดเช่นนั้น
1
คำแนะนำแรกของวัตสัน คือ “อย่าเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในห้อง” อ่านแว้บแรกจะงงว่าฉลาดที่สุดในห้องแล้วไม่ดียังไง?
เขามองว่าแต่ละคนควรออกจากความเคยชินเดิมๆ ทางวิชาการ การมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือเพื่อนในแล็บเดียวกันที่เก่งมากจนสามารถบอกได้ว่า การให้เหตุผลของคุณมีช่องโหว่อย่างไร หรือรู้ข้อเท็จจริงที่สามารถใช้พิสูจน์ถูกผิดในข้อโต้แย้งของคุณ ย่อมต้องนับว่าเป็นเรื่องดี
การที่แวดล้อมไปด้วยคนที่มีความคิดแหลมคมแบบนี้ จะทำให้คุณมีความคิดเฉียบแหลมไปด้วยในที่สุด อ่านแล้วก็นึกถึงภาษิต ‘คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล’ อยู่นะครับ
แต่แกก็เตือนไว้ด้วยเหมือนกันว่า วิธีการคิดและทำแบบนี้นี่ ออกจะผิดธรรมชาติอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้ชายที่มีนิสัยประจำตัว คือ ต้องการเป็นผู้นำหมู่หรือจ่าฝูง แต่แกเห็นด้วยกับฟากที่เชื่อว่า เป็นนักเคมีที่เก่งน้อยที่สุดในภาควิชาเคมีที่เยี่ยมยอดสุดๆ ย่อมจะดีกว่าเป็นดาวรุ่งอยู่ในภาควิชาที่โดดเด่นน้อยกว่า
พร้อมกันนี้ เขายกตัวอย่างของกรณีของไลนัส พอลิง (Linus Pauling) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นคู่แข่งคนสำคัญและในวงการเชื่อกันว่า น่าจะเป็นคนไขความลับโครงสร้างของดีเอ็นเอได้เป็นคนแรก เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 1954 สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับ ‘ธรรมชาติของพันธะเคมีและการประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในการไขความลับโครงสร้างของสารเชิงซ้อนหลายชนิด’
แต่ไม่ใช่จากการระบุโครงสร้างของดีเอ็นเอได้อย่างถูกต้อง
วัตสันมองว่าความเหนือกว่าของพอลิงต่อคนรอบข้าง ทำให้การสื่อสารกับคนรอบตัวของเขาเป็นแบบทางเดียว คือ เขาพูดและคนอื่นฟัง แทนที่จะเป็นแบบ 2 ทาง และนั่นก็ทำให้เขาต้องการฟังแต่คำชม และไม่ต้องการฟังคำวิจารณ์ ซึ่งมีส่วนทำให้เขาพ่ายแพ้ในการแข่งขันหาโครงสร้างดีเอ็นเอ ทั้งที่มีโอกาสมากกว่าและเป็นตัวเก็งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตามอง เพราะเขาเพิ่งไขโครงสร้างโปรตีนสำคัญๆ หลายชนิดที่สลับซับซ้อนสำเร็จก่อนหน้านั้น
2
คำแนะนำข้อที่ 2 คือ “ให้เลือกผู้ร่วมทีมที่ฉลาดเท่าๆ กัน”
กรณีนี้วัตสันมองตัวเขาเองกับคริกว่า การที่สองคนเก่งเท่าๆ กัน แต่ชำนาญคนละเรื่อง จะช่วยส่งเสริมกันและกันได้ดี เรียกว่าทำให้ 1+1 แล้วได้มากกว่า 2 การที่เขารู้เรื่องเทคนิคคริสตัลโลกราฟี (crystallography) น้อยมาก แต่คริกที่เก่งฟิสิกส์มากกว่าและชำนาญในเรื่องนั้น ขณะที่เขารู้เรื่องชีววิทยาลึกซึ้งกว่า กลับเป็นส่วนผสมที่เหมาะที่สุดสำหรับการไขความลับเรื่องโครงสร้างของดีเอ็นเอสำเร็จ
เขาเชื่อว่าความร่วมมือแบบนี้เองที่ได้ช่วยทำให้ ‘ก้าวข้าม’ แนวคิดที่ไม่ได้เรื่องหรือมีจุดอ่อนอย่างไม่น่าเชื่อได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
บางคนอาจสงสัยว่าถ้าอย่างนั้น มีหลายคนขึ้นไปอีก เช่น เป็นทีม 3 หรือ 4 คนจะไม่ยิ่งดีหรอกหรือ?
เขามองว่าถ้ามี 3 คนเมื่อไหร่ ไม่ช้าก็เร็วจะมีคนใดคนหนึ่งกลายเป็นผู้นำกลุ่มในที่สุด และยังอาจมีใครสักคนในกลุ่มที่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่สนิทเท่ากับอีก 2 คนที่เหลือที่เค้าสนิทกันด้วย ซึ่งจะทำให้สัมพันธภาพแบบ 3 คนล่มได้ง่ายมาก รวมไปถึงการที่อาจจะบังเอิญไม่อยู่ในตอนที่เกิดการค้นพบสำคัญ
ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นก็คงแย่อยู่สักหน่อย
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการให้เครดิตที่ยากกว่าด้วย การบอกว่ามีส่วนร่วมในงานนี้เท่าๆ กัน 2 คน และต้องหารผลงานเป็น 2 ส่วน ทำได้ง่ายมาก เข้าใจไม่ยาก ขณะที่การแบ่งเครดิตสำหรับ 3 คนหรือ 4 คน เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้
นี่แค่ 3 – 4 คนนะครับ มากกว่านี้ก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก
คำแนะนำต่อไปของเขา ยิ่งหนักเข้าไปอีก เขาบอกว่าจากประสบการณ์ มีมหาวิทยาลัยหรือเมืองบางแห่งกระตือรือร้นจะหานักวิทย์โนเบลมาเพิ่มจากที่มีอยู่แล้วคนหนึ่ง แต่แทนที่สองนักวิทย์โนเบลจะช่วยกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศวิชาการที่ดียิ่งขึ้น ดึงเอาอัจฉริยภาพของคนรอบข้างได้ดียิ่งขั้น ผลมักจะลงเอยในทางร้ายมากกว่าจะดี
ถือเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เองที่นักวิทย์โนเบลแต่ละคนจะรู้สึกว่า ตัวเองต้องมีความสำคัญ และต้องไม่ด้อยกว่าอีกคน การวางตัวคุยเขื่องข่มอีกคนจึงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นี่ยังไม่นับว่ากว่าจะได้รางวัลโนเบล ก็จะมักจะล่วงเลยเวลาที่นักวิทยาศาสตร์คนนั้นเก่งแบบ ‘ท็อปฟอร์ม’ ไปแล้วสัก 10 – 20 ปี
มีบางรายต้องผ่านไปถึงราว 40 ปีทีเดียว เรียกว่าเป็น ‘ผู้มาก่อนกาล’ มากๆ การค้นพบนั้นแปลกใหม่และเหลือเชื่อจนกระทั่งวงการวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคณะกรรมการโนเบล ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้หรือมีความสำคัญมากพอและมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากพอ จนเวลาได้พิสูจน์ความจริงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างชัดเจนว่า เป็นการค้นพบที่จริงแท้แน่นอน
มีนักวิทย์โนเบลจำนวนหนึ่งที่แทบไม่ได้ค้นพบอะไรยิ่งใหญ่อีก หลังจากจบปริญญาเอกหรือทำโพสต์ด็อกที่ทำให้ค้นพบครั้งยิ่งใหญ่และได้รับรางวัลโนเบล ไม่ต้องอื่นไกล อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทย์ที่ดังที่สุดในโลกยุคใหม่ แทบไม่ได้ค้นพบอะไรที่ยิ่งใหญ่จริงๆ อีกเลย หลังจากปีมหัศจรรย์ ค.ศ. 1905 ที่เขาตีพิมพ์เปเปอร์สำคัญระดับเขย่าวงการติดๆ กันถึง 4 ฉบับ ความยิ่งใหญ่ของเขาเห็นได้จากการที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังส่วนหนึ่งบอกว่า อย่างว่าแต่ 4 ฉบับเลย แค่ฉบับเดียวก็เพียงพอจะทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลได้แล้ว
วัตสันแนะนำว่าหากเลือกได้ ให้เลือกผู้ร่วมงานที่ยังไม่โด่งดังนัก อายุยังไม่มากนัก แต่เก่งมากๆ เพราะคนพวกนี้อยู่ในช่วงที่เยี่ยมยอดที่สุดในการสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ วิธีนี้จะทำให้คุณได้พบกับความแปลกใหม่ และเกิด ‘ความกระชุ่มกระชวยทางวิชาการ’ ได้มากกว่า
3
คำแนะนำต่อไป คือ “เมื่อเข้าฟังสัมมนาเรื่องที่คุณสนใจ ให้นั่งแถวหน้าสุด”
ตรงกันข้ามกับที่คนส่วนใหญ่มักเลือกทำ คือ นั่งอยู่ท้ายห้อง จะได้ลุกเดินหนีออกจากห้องได้ง่ายกว่าหากไม่เข้าใจหรือไม่สนุก เขาแนะนำว่าไม่ต้องกลัวว่าจะเบื่อหรือเผลอหลับโชว์คนอื่นในห้อง ถ้าฟังไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง คุณก็มีโอกาสดีจะถามแทรกได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้ ซึ่งจะเป็นโอกาสดีกับอีกหลายคนในห้องที่อาจจะตกอยู่ในอาการเดียวกับคุณ
คำถามของคุณอาจเป็นคำถามดีๆ ที่ผู้พูดหรือผู้สอนต้องเก็บกลับไปคิดต่อ หรือต่อยอดความคิดเดิมให้เยี่ยมยอดมากขึ้นไปอีก
การรอให้พูดจบหรือสัมมนาเลิกแล้วค่อยถาม ถือเป็น ‘ความสุภาพที่ชวนให้ป่วย (pathologically polite)’ แบบหนึ่งที่ไม่ควรทำ แย่ยิ่งกว่านั้น คือ คุณอาจจะลืมคำถามของตัวเองไปเรียบร้อยแล้วในตอนนั้น
4
คำแนะนำสุดท้ายได้แก่ “พยายามขยายขอบเขตความรู้ของคุณผ่านการลงเรียนวิชาที่เมื่อแรกได้ยินหรือได้เห็น อาจจะเกิดอารมณ์กลัวหรือชวนขนหัวลุก”
เขาเล่าเรื่องตัวของเขาเองว่า การที่เลือกเรียนปักษีวิทยาในระดับปริญญาตรี เพราะเขาเรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง แม้พยายามมากที่สุดแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยได้คะแนนเกินเกรด B เลย และพยายามที่จะหลบเลี่ยงวิชาทำนองนี้
แต่การจะทำความเข้าใจระดับโมเลกุลได้ ก็หนีไม่พ้นจะต้องใช้ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาช่วยด้วย ไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจรูปทรง 3 มิติของโมเลกุลต่างๆ โดยไม่อาศัยคณิตศาสตร์ (สมัยนั้นยังไม่มีซอฟต์แวร์สำเร็จรูปช่วย) เขาจึงตัดสินใจลงเรียนคณิตศาสตร์ระดับสูงเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้กับงานวิจัยของตัวเอง เพื่อให้ทำงานวิจัยได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น
สุดท้าย แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ทุกเรื่องทีเรียน แต่บางเรื่องที่ได้เรียน เช่น การวิเคราะห์การกระจายตัวแบบปัวซอง (Poisson distribution analysis) ก็จำเป็นสำหรับการทดลองส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับเฟจ (phage) หรือไวรัสที่ก่อโรคในแบคทีเรียที่ใช้ในการทดลอง ซึ่งเขาก็แฮปปี้มาก
อ่านถึงตรงนี้คงจะเห็นได้ว่า คำแนะนำแบบนี้นำมาจากประสบการณ์ส่วนตัวมากๆ แต่ถ้าคุณเป็นคนเก่งหรือแม้แต่เป็นอัจฉริยะ ไม่แน่ว่าคำแนะนำแบบนี้อาจจะดีกับคุณก็ได้นะครับ
สำหรับคนที่ต้องการคำแนะนำมากกว่านี้ ลองไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเพิ่มเติมดูนะครับ