- “ขอเพียงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิด ได้ทำ การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดขึ้น” บทเรียนการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล จากงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์‘ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียนครูสามเส้า กรณีศึกษา เครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล
- หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ เพราะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางและมีความยืดหยุ่นตามบริบทของนักเรียน รวมถึงช่วยปลดล็อกสิ่งที่รัดตรึงครูในอดีต โดยให้ครูได้ทำ 3 เรื่องสำคัญ คือ สอนความรู้ ฝึกทักษะให้เด็กได้ทำจริง และพัฒนาทัศนคติ อารมณ์ อุปนิสัย ซึ่งจะทำให้เด็กจัดการชีวิตของตนเองได้
- “เราไม่ได้ปลดล็อกแค่หนีโควิด เราปลดล็อกไปถึงระบบของวิธีคิด วิธีการมองเรื่องบริหารจัดการที่ทุกอย่างควรจะคลายตัวขึ้น แล้วเราจะเห็นความก้าวหน้าของโรงเรียนว่าเขาไปฉิวเลย แล้วการซัพพอร์ทหลักๆ คือ เรื่องวิชาการ ไม่ใช่ใช้กฎระเบียบเข้าไปกำกับ ทุกหน่วยงานก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองเหมือนกัน”
ในสถานการณ์โควิด-19 แม้เด็กจะต้องเรียนที่บ้าน ทว่าบทเรียนการจัดการเรียนรู้จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ในงาน เสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ที่ผ่านมา ต่างพิสูจน์ให้เห็นว่า ครูแปรวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาเด็กเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวเองหรือ Self – Directed Learner โดยมีหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการเรียนรู้
และในครั้งที่ 3 นี้กับ ‘บทเรียนครูสามเส้า’ กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล นอกจากนำเสนอตัวอย่างการปรับตัวภายใต้บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโรงเรียนบ้านเขาจีนและโรงเรียนอนุบาลสตูล บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษายังชี้ประเด็นสำคัญที่ว่า สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของการออกแบบการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ อันจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาต่อไป
หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตัวช่วยออกแบบการเรียนรู้
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ พูดถึงประเด็นโอกาสในการเรียนรู้ที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 และการจัดการเรียนรู้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะที่จะขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีอิสระมากขึ้น โดยมีรัฐทำหน้าที่สนับสนุน
“หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่ปีศาจ แต่เป็นผู้ช่วยให้เกิดการออกแบบการเรียนรู้ อย่างวันนี้ก็จะเห็นว่า PLC เกิดขึ้นที่บ้าน โดยครูเป็นผู้ช่วยทำร่วมกันกับพ่อแม่ ให้เด็กเป็นผู้จัดการเรียนรู้ของตัวเองได้ และชุมชนเข้ามาช่วยด้วย”
แล้วหลักสูตรฐานสมรรถนะดีอย่างไร ทำไมจึงต้องเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรนี้? ดร.สิริกร ชี้ประเด็นนี้ว่า เพราะความรู้มีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงเร็ว โลกซับซ้อนขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาไม่ได้ ด้านภาคธุรกิจเองก็พบว่า เด็กจบการศึกษามาแล้วมักทำงานไม่เป็น ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ ทำให้เด็กมีทั้งความรู้ และเครื่องมือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานหรือในชีวิตได้
เพราะหลักสูตรฐานสมรรถนะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มองถึงความถนัด ศักยภาพ ความสนใจ และข้อจำกัดของเด็กแต่ละคน หลักสูตรมีความยืดหยุ่น ปลดล็อกสิ่งที่รัดตรึงครูในอดีต โดยให้ครูได้ทำ 3 เรื่องสำคัญ คือ สอนความรู้ ฝึกทักษะให้เด็กได้ทำจริง และพัฒนาทัศนคติ อารมณ์ อุปนิสัย ซึ่งจะทำให้เด็กจัดการชีวิตของตนเองได้
“บทเรียนทั้ง 3 อาทิตย์ ทำให้เห็นแล้วว่า ‘สมรรถนะ’ ทำให้ผู้เรียนเขาทำเป็น มีพฤติกรรม มีเจตคติที่เหมาะสม มีความคิดริเริ่ม มากกว่าจะกำหนดว่าเขาจะเรียนเนื้อหาอะไร แล้วต้องจำไปสอบ การเรียนรู้ก็มีความหมายมากขึ้น”
อีกทั้งในวิกฤตนี้ทำให้เกิดการ Up – Skills โดยเฉพาะ Digital Skill ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง และผู้อำนวยการต่างนำพาโรงเรียนสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้โดยมุ่งที่เด็กอย่างแท้จริง ตัวอย่างพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ตอกย้ำให้เห็นว่า ขอเพียงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิด ได้ทำ การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดขึ้น
โครงงานฐานวิจัย ทางลัดหลักสูตรฐานสมรรถะ
ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หยิบประเด็นการทำโครงงานฐานวิจัยมาขยายต่อ โดยสรุปเป็นหลัก 5 ประการของการทำ Research – Based Learning (RBL) คือ
ประการที่หนึ่ง วิจัยคือการพัฒนาปัญญา วิจัยจึงเป็นงานของเด็กไม่ใช่งานของครู ส่วนครูเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช
ประการที่สอง วิจัยต้องทำให้เห็นคุณค่าของความรู้ นำความรู้มาแก้ปัญหา ดังนั้นต้องเขาไปสู่ระบบการรู้เหตรู้ผล
ประการที่สาม พยายามลดทอนหลักการสถิติที่ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็น สัมภาษณ์ สอบถามที่คุณครูคุ้นชินไปให้ได้
ประการที่สี่ วิจัยต้องเกิดการพัฒนา เป็นเรื่องในพื้นที่และมีที่มา
และประการสุดท้าย วิจัยต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยฉันทะและปิดท้ายด้วยวิมังสา
“การทำโครงงาน คือ ทางลัดของหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือให้เด็กปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีหลักสูตรฐานสมรรถนะ เราต้องหาทางปรับความคิดการสอน ที่ให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งผมก็เห็นทิศทางนี้ว่าเรากำลังจะทำหลักสูตรฐานสมรรถนะให้มีการปฏิบัติมากขึ้น”
จากกรณีศึกษาของสตูล ทำให้เข้าใจบทบาทใหม่ของพ่อแม่ จากเดิมที่เคย ‘สั่ง’ เปลี่ยนมาเป็น ‘สอน’ เกิดความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผ่านงานของพ่อแม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทิศทางของหลักสูตรที่ประเมินโดยดูพฤติกรรมขณะที่เด็กทำงานนั้นมาถูกทางแล้ว แต่ครูจะต้องรู้วิธีการประเมิน รู้วิธีหา S (Skills) – ทักษะ และ A (Attitude) – ทัศนคติหรือเจตคติ ถอดออกมาจากการทำงานให้ได้ ซึ่งรศ.ดร.สุธีระมองว่า น่าจะประเมินผู้ปกครองด้วย แต่ประเมินเพื่อฟีดแบ็กกลับให้เห็นคุณค่าของการจัดการเรียนรู้ให้กับลูก อีกทั้งโรงเรียนยังค้นพบเทคนิคดีๆ อย่าง ‘นาฬิกาชีวิต’ เด็กได้รู้จักการใช้ชีวิตตามเวลาที่มีจำกัด นำไปสู่การจัดการตนเอง
“episode ของสตูลน่าสนใจที่โรงเรียนพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยงข้างนอกเข้ามา กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการ Induction ของตนเอง มัน Induce ขึ้นมาเอง แต่ว่าใช้เวลาเป็นสิบปี ถ้าจะเอาของสตูลไปใช้ควรจะต้องศึกษาทุนเดิมที่เขามีอยู่ก่อนโควิดด้วย”
‘ครู พ่อแม่ ชุมชน’ ลุกขึ้นมาเป็นนักบริหารจัดการเรียนรู้
ขณะที่ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้สะท้อนคิดจากบทเรียนครูสามเส้าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลถึงการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งสู่สมรรถนะว่า สตูลเริ่มจากการเปลี่ยน Mindset เปิดการเรียนรู้ออกจากห้องเรียนและโรงเรียน โดยใช้โครงงานฐานวิจัย และเลิกคาดหวังว่านักเรียนจะเรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา
“คุณครูเองก็เริ่มที่จะพัฒนาทักษะใหม่ๆ โดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง ทั้งสองโรงเรียนก็จะเห็นว่าครูเขาพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในวิธีการจัดการเรียนการสอน ลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเขาเอง ใช้การสอนผ่านโทรศัพท์ก็ดี หรือถึงตัวเด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนก็เกิดขึ้น ผ่านเครื่องมือที่สำคัญก็คือ PLC”
นอกจากพัฒนาทักษะแล้ว ยังพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ อย่าง ‘นาฬิกาชีวิต’ ของโรงเรียนอนุบาลสตูล ซึ่งพลิกเรื่องของอำนาจการบริหารจัดการตัวเองกลับคืนสู่เด็ก เปลี่ยนตารางเรียนเดิมๆ เป็นตารางชีวิต ซึ่งผู้ปกครองก็สะท้อนว่า ยิ่งช่วยกันกับนักเรียนพากันประเมินว่าสิ่งที่ได้ทำผ่านตารางชีวิตนั้นมากน้อยแค่ไหน เด็กจะยิ่งลุกขึ้นกำกับตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังมี ‘ใบงานบูรณาการ’ ของโรงเรียนบ้านเขาจีน ซึ่งเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เด็กเกิดการทำงานแบบเป็นองค์รวม โดยใช้แนวทางของการบูรณาการชี้นำให้เด็กมีวิธีคิดแบบบูรณาการ
“ทั้งมายเซ็ตก็ดี ทั้งทักษะก็ดี ทั้งเครื่องมือก็ดี มันไปเอื้อให้เกิดการพัฒนาบริหารจัดการตัวเองทั้งนั้นเลย ซึ่งเป็นการย้ายฐานอำนาจเลยนะ เดิมทีนักเรียนถูกจัดการ แต่บัดนี้เขาต้องจัดการตัวเอง พ่อแม่ลุกขึ้นมาร่วมจัดการ
สตูลสะท้อนชัดเจนว่า ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็นนักบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อันนี้ถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางมากเลยนะ ถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนมาก”
ที่สำคัญคือ ต้องให้ความไว้วางใจในความสามารถหรือสมรรถะกับพื้นที่ โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ที่จะลุกขึ้นมาเป็นพาร์ทเนอร์ที่แท้จริงในการจัดการศึกษา ซึ่งรศ.ประภาภัทร บอกว่า นี่เป็นบทเรียนที่ภาครัฐต้องกลับมามองดู
“เราไม่ได้ปลดล็อกแค่หนีโควิด เราปลดล็อกไปถึงระบบของวิธีคิด วิธีการมองเรื่องบริหารจัดการที่ทุกอย่างควรจะคลายตัวขึ้น แล้วเราจะเห็นความก้าวหน้าของโรงเรียนว่าเขาไปฉิวเลย แล้วการซัพพอร์ทหลักๆ คือ เรื่องวิชาการ ไม่ใช่ใช้กฎระเบียบเข้าไปกำกับ ทุกหน่วยงานก็ต้องปรับบทบาทของตัวเองเหมือนกัน”
พลังแห่งการเรียนรู้ในวิกฤต พัฒนาสมรรถนะครูและนักเรียน
จากการนำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ในบริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของสตูล รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ประธานคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มองเห็นถึงพลังจากการปรับตัวครั้งนี้
“พลังที่ชัดเจนมากๆ เลยก็คือ พลังของกระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนและคุณครูเผชิญกับปัญหาในภาวะวิกฤต แล้วเวลาเราเจอปัญหาสิ่งแรกที่เราจะทำคือ พยายามใช้ประสบการณ์เดิม ความรู้เดิม มาใช้ในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ว่าปัญหาใหม่ บางทีก็ใช้แบบเดิมไม่ได้แล้ว มันไม่เวิร์ก เด็กก็เบื่อ แล้วก็มีความขัดข้องเกิดขึ้น เช่น เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม”
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อโรงเรียนเริ่มที่จะคิดหาทางใหม่เพื่อเอาชนะวิกฤตนี้ อย่างแรกที่ต้องทำคือ การหาข้อมูล เพราะในกระบวนการคิดต้องมีข้อมูลเป็นฐาน เพื่อการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ได้ดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ทั้งหาข้อมูลนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ซึ่งจากฐานข้อมูลนั้นจะนำไปสู่การร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออกผ่านวง PLC เป็นกระบวนการที่จะทำเกิดไอเดียในการออกแบบการเรียนรู้ ดังที่โรงเรียนวัดเขาจีน ระดมความคิดจนได้ใบงานบูรณาการมา
“กระบวนการที่คุณครูได้ทำมา กระบวนการเหล่านั้นก็คือกระบวนการสร้างสมรรถนะครู เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผ่านมาคือครูได้พัฒนาสมรรถนะให้เกิดขึ้นในตัวเอง โดยการเผชิญกับปัญหาแล้วก็นำเอาความรู้ ทักษะ เจตคติต่างๆ เอามาใช้ในการแก้ปัญหา และโดยการร่วมมือกัน”
“สุดท้ายนี้สิ่งที่หวัง คือ โรงเรียนจะเป็นคลังขององค์ความรู้ใหม่ๆ และองค์ความรู้นี้จะเป็นองค์ความรู้ที่มาจากฐานของครูไทย ของโรงเรียนไทย บนบริบทของเด็กไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของประเทศ ซึ่งวันนี้สตูลทำให้เห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.ทิศนา ทิ้งท้าย