- ‘วัยมัธยม’ เป็นวัยที่รับผิดชอบตัวเองได้ระดับหนึ่ง หลักการจัดการศึกษาให้เขาในช่วงระบาดของโควิด – 19 จึงต้องออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติการเรียนรู้ของพวกเขา นั่นคือ Self – directed (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง)
- ‘ครูเอก’ ปิยสิทธิ์ เมินแก้ว ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนรุ่งอรุณ พาไปสัมผัสกระบวนการเรียนรู้ของเด็กมัธยมรุ่งอรุณ ผ่านงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 : บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
- ‘วิชาสตูดิโอ’ วิชาโครงงานบูรณาการและเรียนรู้ผ่านโจทย์จริง พื้นที่สำหรับการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นหาความชอบของตัวเองบนโจทย์ท้าทาย และใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญ
วัยมัธยมที่หลายคนนิยามว่าเป็น ‘วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ’ นอกจากเด็กช่วงวัยนี้จะโตจนรับผิดชอบตัวเองได้ในหลายมิติแล้ว พวกเขายังเข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้อย่างเชี่ยวชาญมากอีกด้วย บทบาทของครูและผู้ปกครองจึงไม่ใช่การประคบประหงม แต่ต้องออกแบบโจทย์ที่ยากและซับซ้อนเหมาะสมกับเด็กมัธยมเพื่อให้เขาได้แสดงศักยภาพทั้งเพื่อการเรียนรู้และเพื่อการดำเนินชีวิต
ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง” – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ‘ครูเอก’ ปิยสิทธิ์ เมินแก้ว ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนรุ่งอรุณ พาไปสัมผัสกับผลสำเร็จของความเข้าใจวัยนี้ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ระดับมัธยมที่แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จัดการตารางชีวิตของตัวเองได้ เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ในแต่ละสาขาโดยตรง ในคาบสตูดิโอและการเรียนรู้ภาคสนามออนไลน์
Self-directed การเรียนรู้ที่เลือกเองได้ของวัยมัธยม
ด้วยความที่เป็นเด็กโต การเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณจึงเน้นที่ Self – directed (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง) ของนักเรียน ในหนึ่งวันของการเรียนถูกแบ่งสัดส่วนออกอย่างเหมาะสม คือ 30 นาทีแรกเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจประเด็นการเรียนรู้ในวันนั้นๆ ต่อด้วยนักเรียนแยกย้ายทำงานทั้งกลุ่มย่อยและรายบุคคล โดยที่ครูคอยดูอยู่ในห้องเรียนออนไลน์นั้นตลอดเวลา
ครูเอกกล่าวว่าการที่ครูสแตนบายอยู่ในนั้นก็เพื่อให้เด็กซักถามได้ทันทีเมื่อมีข้อสงสัย หรือครูจะเข้าชาร์จได้ตลอดเมื่อเห็นว่ามีสิ่งที่ต้องแนะนำ แล้วปิดท้ายด้วยการนำเสนอแลกเปลี่ยนประเด็นการเรียนรู้ในวันนั้น
“ครูมีหน้าที่ดีไซน์งานต่างๆ ให้ครอบคลุมและเสร็จสิ้นในคาบเรียน และจะมีในช่วงท้ายสุดหลังจากสรุปหรือประมวลความรู้กันเสร็จ คือ ช่วงคลินิก ด้วยความที่นักเรียนเขาโตแล้ว ตอนที่เขาอยู่ On site ที่โรงเรียน จะมีช่วงเวลาที่เมื่อเขาไม่เข้าใจหรือต้องการความชัดเจนในการทำงานก็จะมาปรึกษาครูผู้สอน เราจึงมีช่วงเวลาสแตนบายในช่วงเย็นของแต่ละวัน ครูก็จะไปรออยู่ในห้อง Meet เพื่อรอให้นักเรียนเข้าไปพบ คุยแลกเปลี่ยนในประเด็นการเรียนรู้ต่างๆ”
วิชาสตูดิโอ เปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาให้เป็นการลงมือทำ
หลังจากเติบโตมาจนถึงจุดที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การลงมือทำจริงทำให้เกิดเป็น ‘วิชาสตูดิโอ’ ขึ้น สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเน้นการค้นหาความชอบของตัวเอง มีหลักการคือเป็นวิชาโครงงานบูรณาการและเรียนรู้ผ่านโจทย์จริง เพื่อให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่มบนโจทย์ท้าทาย และใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญ
‘ครูมด’ พงศกร โรจนานุกูลพงศ์ อธิบายว่าวิชาสตูดิโอของมัธยมต้นประกอบด้วย 3 สตูดิโอ ได้แก่ Edutainment Studio สตูดิโอสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เชื่อมโยงกับวิชาสังคม ภาษาไทย และ ICT, Financial Literacy Studio สตูดิโอเงิน ทอง เป็นของมีค่า เชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ และ Life Decode Studio สตูดิโอถอดรหัสชีวิต และปรากฎการณ์ เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และกระบวนการ STEM
“Edutainment Studio เป็นการเรียนเรื่องราวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อม วิกฤตอาหาร หรือสังคมเมือง สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านฐานงานสตูดิโอซึ่งเป็นด้านการทำสื่อ ในยุคปัจจุบันคนอยู่กับสื่อ เป็นผู้ใช้ ผู้เสพสื่อ แต่เราเปลี่ยนมุมมองใหม่เป็นผู้สร้างแทน เด็กๆ จะได้สัมผัสเรื่องนี้ผ่านการทำงานที่เป็นโจทย์จริง
“ในการเรียนเด็กๆ จะเป็นเจ้าของไอเดียของเขา โดยเขานำเสนอไอเดียขึ้น แล้วผู้เชี่ยวชาญก็จะแนะนำ ฟีดแบคแบบตรงไปตรงมา เหมือนมืออาชีพทำงานกันจริงๆ เด็กๆ ก็จะรับฟีดแบคแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขในงานของตัวเอง”
สำหรับ Financial Literacy Studio มี ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์มาให้ความรู้แก่เด็กๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงิน การออม ไปจนถึงขั้นการเป็นนักลงทุน
ส่วน Life Decode Studio มีผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ที่ดำเนินการภายใต้สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะที่หลายคนมองว่าไร้ค่า กลับมาเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานหมุนเวียนและสร้างมูลค่าได้ ครูมดบอกว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้ Design Thinking เปลี่ยนขยะให้กลับมาเป็นพลังงาน ซึ่งในหนึ่งปีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะได้เรียนครบทั้ง 3 สตูดิโอ เพื่อชิมลางหาความถนัดของตนเองก่อนจะไต่ระดับขึ้นมาสู่มัธยมศึกษาตอนปลาย
ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูเอกขยายความว่ามีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาชีพของโลกยุคใหม่ ประกอบด้วยสตูดิโอการเรียนรู้ถึง 12 สตูดิโอ มีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร ได้แก่ Studio of Entrepreneurs for Meaningful Business สตูดิโอผู้ประกอบการเพื่อธุรกิจ, Studio of Creative Media and Product สตูดิโอสื่อสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์เพื่อสังคม,
Studio of Thai for Creative Writing and Literacy สตูดิโอภาษาไทยเพื่อการเขียนเชิงสร้างสรรค์และอ่านโลก, Studio of Innovation Health Care สตูดิโอนวัตกรรมสุขภาพองค์รวม, Studio of Innovative Mechatronics สตูดิโอนวัตกรรมเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์, Studio of Digital Technology สตูดิโอดิจิทัลเทคโนโลยี,
Studio of Graphic Design สตูดิโอออกแบบกราฟิก, Studio of Creative Arts สตูดิโอศิลปะและการออกแบบเพื่อการเรียนรู้, Studio of Sports Management สตูดิโอการจัดการทางด้านกีฬา, Studio of Architecture for the Community and Environment สตูดิโอสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม, Studio of Ensemble Laboratory สตูดิโอห้องแล็บดนตรี เสียงแห่งการทดลอง และ Studio of Foreign Language สตูดิโอภาษาที่ 3
“ทั้ง 12 สตูดิโอเปิดเพื่อให้นักเรียนค้นหาตัวเอง เรามีสตูดิโอก็จริง แต่เรามีวิชาพื้นฐานที่เราไม่ได้ทิ้ง เราพยายามฝึกการทำงานของครูและให้นักเรียนได้เจอบุคคลที่ทำงานทางด้านนั้นโดยตรง ทำให้โจทย์นั้นจริงกับนักเรียนอย่างมาก พอนักเรียนได้เจอคนที่ทำงานด้านนั้นจริงๆ เราเห็นได้ว่านักเรียนเขามีความมุ่งมั่นในการเรียนอย่างมาก” ครูเอกกล่าว
เรียนรู้ฐานสมรรถนะและ Learn from Home ผลลัพธ์ที่ไร้ขอบเขต
“จะเห็นว่า Mindset และ Concept ของเรา อยู่ในกระบวนการทุกขั้นตอนของการที่เราออกแบบ นับตั้งแต่เรื่องฐานสมรรถนะเป็นต้นทางของการเปิดสู่การออกแบบแผนการเรียนรู้ และการออกแบบแผนการเรียนรู้เรามีโจทย์ คือ ดึงการเรียนรู้นี้ให้กลับไปสู่เด็กได้อย่างไร นั่นคือการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้สู่การเป็น Self – directed learner และในแต่ละระดับวัยก็จะมีความแตกต่างกันไป
สอดคล้องกับ Concept ของเราด้วยว่า เราจะทำให้เกิดเป็นการเรียนรู้เองที่บ้านโดยประสานกับเพื่อน ครู และผู้ปกครองอย่างไร เพราะฉะนั้น วิกฤตของสถานการณ์โควิด จะไม่ใช่วิกฤตของการเรียนรู้ การเรียนรู้กลับยิ่งเปิดมากขึ้น เพราะพาผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้นี้ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นกับผู้เรียนอย่างแท้จริง เปิดช่องทางมากมาย ทำให้เราไม่จนมุม เรายิ่งทำเรายิ่งเรียนรู้” “ครูต้อย” สุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณกล่าว
ในวิกฤตโควิด-19 ครูต้อยมองว่าแม้จะเป็นอุปสรรคของเด็กมัธยมที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง แต่ก็มองการที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียนเป็นโอกาสของการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งหลายวิธีการค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง ทุกคนถือว่าเป็นผู้กล้าต่อการเรียนรู้
“เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ เราก็จะก้าวต่อไป และเปิดฐานคิดของเรามากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังอยู่บนหลักการที่ว่า ผู้เรียนของเราต้องเกิดสมรรถนะในการเป็น Learner Person เพราะสมรรถนะตัวนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ได้ด้วยตนเองไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
“ตรงนี้เป็นโอกาสอย่างมากที่เราทั้ง Reskill Upskill ฝึกครูของเราในทุกเรื่อง แม้ว่านักเรียนจะมาเรียนที่โรงเรียนเราก็ต้องทำเรื่องนี้เช่นกัน แต่เมื่อสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ เราก็ต้องมีหุ้นส่วนเข้ามามากขึ้น และต้องทำการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับทุกที่ ทุกคน เพื่อผลสุดท้ายอยู่ที่ผู้เรียน”