- ทำอย่างไรที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ในขณะเดียวกันก็แบ่งเบาภาระค่าอาหารให้ผู้ปกครองแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นของแผนการบูรณาการวิชาการกับวิชาชีพชุมชน
- ผอ. ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา แลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ช่วงโควิด – 19 ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็ก ครู และผู้ปกครอง ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education
- “อย่างเห็ดหรรษาก็จะบูรณาการวิทยาศาสตร์และภาษาไทยเข้าไปด้วยกัน เราจึงประเมิน 2 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะสร้างสรรค์นวัตกรรม กับ สมรรถนะภาษาสู่สากล โดยมีสมรรถนะย่อย คือ การคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการสื่อความหมายอย่างสร้างสรรค์”
“ช่วงโควิดเราจะโดนบ่นตลอดเลยว่า ครูมาสร้างภาระให้ มาทวงงานผู้ปกครอง เราจะทำยังไงให้ผู้ปกครองรู้สึกว่า เขาอยากทำ ไม่ใช่บังคับ แล้วสิ่งนั้นเขาสามารถทำได้ด้วย เป็นเจ้าของบทเรียนร่วมกัน”
ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา จังหวัดระยอง แลกเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
จากเสียงสะท้อนของผู้ปกครอง ผอ.ปวีณา ใช้กลยุทธ์อะไรในการดึงผู้ปกครองเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน รวมถึงการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน (Home Based Learning) ผ่านวิชาบูรณาการ เรื่อง เห็ดหรรษาพาสนุก จะปลุกพลังการเรียนรู้ในตัวเด็กประถมได้อย่างไร และเด็กๆ จะได้สมรรถนะอะไรบ้าง เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
‘เรียนรู้ ปากท้อง’ ปัดฝุ่นหลักสูตรบูรณาการวิชาชีพชุมชน
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับชีวิตและการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งผู้ปกครองยังต้องรับภาระในการประคองการเรียนรู้ในช่วงที่เด็กต้องอยู่บ้าน ผอ.ปวีณา จึงมองหาความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือทั้งผู้ปกครองและเด็ก ทำอย่างไรที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ในขณะเดียวกันก็แบ่งเบาภาระค่าอาหารให้ผู้ปกครองแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นของแผนการบูรณาการวิชาการกับวิชาชีพชุมชน
“เราก็มาพลิกวิกฤตโดยใช้ก้อนเห็ดเป็นสื่อให้ผู้ปกครอง ครั้งแรกคิดแค่ว่าเอาให้ผู้ปกครองเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก่อน ยังไม่ได้คิดว่าแล้วจะเรียนรู้ยังไง รู้แต่ว่ามันจะช่วยลดรายจ่ายให้กับผู้ปกครอง”
เล่าย้อนไปในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤตโรคระบาด โรงเรียนวัดถนนกะเพราเป็นโรงเรียนเล็กๆ อยู่ใกล้ทะเล อาชีพส่วนใหญ่ของผู้ปกครองเกี่ยวกับการประมงและค้าขาย รวมถึงการแปรรูปอาหารทะเล เช่น ฮ่อยจ๊อ ในตอนนั้นผอ.ปวีณา มองเห็นโอกาสการเรียนรู้ของโรงเรียน เพราะนี่ถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่า เป็นต้นทุนชั้นดีในการต่อยอดสู่การเรียนรู้ จึงเกิดเป็น School Concept ที่ว่า ‘โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล’ (Creative Glocal Innovative School) โดยวาง DOL (ผลลัพธ์การเรียนรู้) คือ เด็กมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้วยความชาญฉลาด รักและภูมิในท้องถิ่นของตนเอง สามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน รวมถึงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมี School Partner เช่น พื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง โรงเรียนรุ่งอรุณ กสศ. ชุมชนผู้ปกครอง ฯลฯ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและเป็นคู่มือที่ดีในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
และเมื่อเจอวิกฤตผอ.ปวีณา จึงปัดฝุ่นหลักสูตรที่มีการบูรณาการวิชาชีพชุมชน เช่น สวนผักของพ่อ เห็ดแปลงร่าง มหัศจรรย์ใบขลู่ หอยนางรมน่ารู้ น้ำปลารสเด็ด และฮ่อยจ๊อหรรษา นำสิ่งเหล่านี้มาบูรณาให้เกิดการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ เกิดเป็นแผนจัดการเรียนรู้วิชาบูรณาการ เรื่อง เห็ดหรรษาพาสนุก นั่นเอง
‘เห็ดหรรษา’ สู้โควิด ปลุกพลังการเรียนรู้เด็ก ครู ผู้ปกครอง
“เรามีเห็ด แล้วเห็ดไม่ต้องมีอะไรยุ่งยากเลย แค่มีก้อนหัวเชื้อเห็ด เราก็เอาไปส่งให้นักเรียนของเราได้ ใช้กลุ่มไลน์ผู้ปกครองโรงเรียนเป็นตัวสานสัมพันธ์ ในช่วงที่ทดลองอาทิตย์แรกผู้ปกครองยังเงียบ ไม่ตอบรับ ผอ.จึงต้องกระตุ้นผู้ปกครองคอยถามว่า ก้อนเห็ดที่ได้ไปนั้นเป็นยังไงบ้าง เห็ดออกดอกบ้างไหม จากนั้นผู้ปกครองก็ค่อยๆ เล่า หลายคนก็บอกว่า เห็ดออกดอกเต็มเลยค่ะผอ. แต่ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่มีการตอบสนองใดๆ เลย เราก็เลยรู้ว่า กับผู้ปกครองเราจะต้องใช้ความเป็นครูด้วย ก็คือโยนโจทย์ให้เขาเหมือนเขาเป็นนักเรียนคนหนึ่ง ถือเป็นการซ้อมก่อนที่จะใช้กับเด็กๆ ด้วย”
“กลยุทธ์ของผอ. ในการดึงผู้ปกครองเข้ามาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ร่วมกัน คือ การกระตุ้นคำถามและใช้ความจริงใจ แสดงออกถึงความเอาใจใส่จริงๆ ว่า เราไม่ได้ทิ้งให้เขาสอนลูกเพียงลำพัง แล้วเราก็ไม่ได้สอนลูกเขาอย่างลำพังเช่นเดียวกัน การสื่อสารที่ชัดเจน จะทำให้ผู้ปกครองเขาตอบรับในสิ่งที่เราต้องการได้”
เมื่อปรับรูปแบบในการสื่อสาร ผู้ปกครองเริ่มมีการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณการตอบสนองที่ดี ผอ.จึงชวนผู้ปกครองถ่ายคลิปเด็กๆ ในขณะที่เรียนรู้เรื่องเห็ดส่งกลับมา เป็นการติดตามผล
ในส่วนของครูก็ต้องปรับการเรียนการสอนให้มีกระบวนการที่ชัดเจน ระบุสมรรถนะของผู้เรียนได้ว่า ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ จะต้องมีสมรรถนะอะไร พฤติกรรมบ่งชี้คืออะไรบ้าง เชื่อมโยงกับความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณค่า (attitude) อะไรบ้าง
“อย่างเห็ดหรรษาก็จะบูรณาการวิทยาศาสตร์และภาษาไทยเข้าไปด้วยกัน เราจึงประเมิน 2 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะสร้างสรรค์นวัตกรรม กับ สมรรถนะภาษาสู่สากล โดยมีสมรรถนะย่อย คือ การคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการสื่อความหมายอย่างสร้างสรรค์”
สำหรับบรรยากาศในห้องเรียนออนไลน์ ขั้นแรกนักเรียนและครูพูดคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงเห็ด เช่น เห็ดที่เลี้ยงออกดอกหรือไม่ เจอปัญหาและอุปสรรคบ้างไหม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ซึ่งจะเห็นความแตกต่างของสถานที่ในการเลี้ยงเห็ด ในตอนนั้นครูจะใช้คำถามกระตุ้นเพื่อท้าทายให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า “เพราะเหตุใดเห็ดบ้าน A จึงออกดอกมากกว่าเห็ดบ้าน B” โดยให้นักเรียนค้นหาคำตอบ จากสิ่งที่สังเกตได้จากคลิปวิดีโอการเลี้ยงเห็ดของเพื่อน เป็นการฝึกทักษะการสังเกต คิด วิเคราะห์ แยกแยะอย่างมีเหตุผล
จากนั้นครูชวนตั้งคำถามต่อว่า แล้วมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เห็ดมีคุณภาพ และคำว่า ‘เห็ดมีคุณภาพ’ เราให้คำจำกัดความกันว่าอย่างไร ซึ่งจากการร่วมกันหาคำตอบก็สรุปได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เห็ดมีคุณภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ แสงแดด ความชื้น สถานที่ ความเป็นกรด-เบส การรดน้ำ ความสะอาด และเห็ดมีคุณภาพ หมายถึงเห็ดที่มีความสมบูรณ์ของดอก ไม่มีความแห้ง หรือฉ่ำน้ำมากเกินไป ไม่มีสีเหลือง เป็นสีขาว หรือสีเทาตามพันธุ์ ดอกที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใหญ่ และต้องมีปริมาณการออกดอกมาก นี่เป็นความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เด็กจะได้รับ
ซึ่งการได้คำตอบเหล่านั้น ต้องออกแบบการทดลองในกระบวนการวิทยาศาสตร์ โดยตั้งสมมติฐาน กำหนดตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุมอย่างมีประเด็น และหาความสัมพันธ์ของตัวแปรเหล่านั้น จนได้มาผลการทดลอง จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสรุปเป็นองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น Mind mapping
นอกจากนี้ ครูยังบูรณาวิชาภาษาอังกฤษ โดยส่งคลิปคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเห็ด ให้ผู้ปกครองได้ให้เด็กๆ เรียนรู้ เรื่องภาษาด้วย
บันทึกร่องรอยการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อประเมินผลตามสมรรถนะ
“เรามีเครื่องมือของครูประจำชั้น คือ ใบงานที่จะบอกให้เขาบันทึกร่องรอยการเรียนรู้ของเด็ก การเก็บเห็ด วันนี้พบอะไรในก้อนเห็ดบ้าง เห็ดออกดอกประมาณเท่าไร ฝึกการเป็นนักสังเกตและจดบันทึก”
ระหว่างการนำเสนอผอ. ปวีณา ยังได้เปิดคลิปวิดีโอของเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองส่งมาให้คุณครู ไม่ว่าจะเป็นการสาธิตการรดน้ำเห็ดอย่างถูกวิธี หรือการเก็บเห็ดกับพ่อแม่เพื่อนำไปทำอาหาร
“สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมานำเสนอเรื่องเห็ดกันนะคะ เห็ดของเราเป็นเห็ดนางฟ้า เราจะมารดน้ำเห็ดกันค่ะ รดไปที่ก้อนเห็ดห้ามให้น้ำเข้าปากเห็ดนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดเชื้อราได้ง่าย” เสียงเด็กนักเรียนในคลิปอธิบาย ซึ่งไม่เพียงสร้างการเรียนรู้ผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัวได้เป็นอย่างดี ผู้ปกครองยังสะท้อนกลับมาว่า
“เด็กได้มีความรับผิดชอบ รดน้ำเช้าเย็น เขาดีใจที่ได้เห็นเห็ดออกดอก และได้เก็บเห็ดไปทำกับข้าว ทำไข่เจียวเห็ด ต้มไก่ใส่เห็ด เขาสนุกในการทำกับข้าว เป็นกิจกรรมที่ดีที่เด็กได้ทำกับครอบครัวด้วย”
ในส่วนของการประเมินโรงเรียนวัดถนนกะเพราเราใช้การประเมินผลตามสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อตอบโจทย์ DOL ของโรงเรียนเช่นเดียวกัน
โดยประเมินจากการสังเกตการเรียนรู้ของนักเรียน การระบุคำตอบจากสิ่งที่สงสัยหรือเป็นปัญหา โดยอาจระบุได้จากการใช้ประสบการณ์เดิม มีครูคอยให้คำแนะนำ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลถึงองค์ประกอบย่อยที่เป็นเหตุปัจจัย จนสามารถพิสูจน์หาคำตอบ และสรุปเป็นความรู้ใหม่ที่นักเรียนได้ค้นพบ รวมถึงจากที่นักเรียนร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประเด็นปัญหาที่พบในการเลี้ยงเห็ดที่บ้าน ได้อย่างมีประเด็น และพูดโต้ตอบได้อย่างสร้างสรรค์
“พ่อแม่จะเกิดความภาคภูมิใจ เพราะเขาสามารถเป็นเหมือนฮีโร่ของลูกได้ สอนในสิ่งที่ใกล้ตัว พ่อแม่เปิดใจและให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ครูเองก็มีการยืดหยุ่น ปรับตัวเปลี่ยนแปลง ผอ.ก็แฮปปี้ เด็กๆ ก็มีความสุข”
ในฐานะหัวเรือใหญ่ของโรงเรียน ผอ.ปวีณามองว่าการปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ ถือว่าได้ตามเป้าหมาย ‘โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล’ แล้ว
“เรามองเรื่องที่ยากๆ ในสถานการณ์นี้ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส นอกจากได้เรื่องปากท้องแล้วยังได้เรื่องการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย”
นี่คือผลลัพธ์จากการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ร่วมกันของเด็ก ครู และผู้ปกครอง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา