- ห้องเรียนทางไกลของครูหมี – สินีนาฏ ยาหอม โรงเรียนบ้านกระถุน ในวันที่ครูและเด็กต้องห่างไกลกัน และผู้ปกครองขึ้นมามีบทบาทแทน ในงานเสวนา ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’
- ขั้นตอนสำคัญ คือ การตั้งโจทย์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติ ครูหมียกตัวอย่างวิธีให้โจทย์ของเธอกับเด็กๆ เธอจะตั้งโจทย์กว้างๆ เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน ฯลฯ ให้เด็กแต่ละชั้นออกแบบว่าเขาจะทำอะไรกับโจทย์นี้ ซึ่งเด็กป.1 เพิ่งเลื่อนชั้นจากอนุบาล อาจยังไม่สามารถวางแผนการทำงาน ให้ทำใบงานแทน ส่วนชั้นอื่นๆ ให้ออกแบบงานเอง โดยมีผู้ปกครองสวมบทบาทเป็นหน่วยสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ตั้งคำถามชวนเด็กคิด ถ่ายผลงานส่งครูผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก
- “เวลาทำงานผู้ปกครองจะคิดว่าลูกต้องมีชิ้นงานสวยๆ ส่งครู ครูบอกเลยว่าไม่ต้องการชิ้นงานสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการกระบวนการที่เด็กลงมือทำ อยากให้ผู้ปกครองชวนเด็กตั้งคำถาม เช่น ทำไมเทผงชูรสขนาดนี้ จะมีวิธีแก้ปัญหายังไง”
“ความท้าทายของครู คือ การที่เด็กต้องอยู่กับตายาย…จะทำอย่างไรให้เขาทำได้ตามเป้าหมายที่ครูตั้งไว้ เป็นเรื่องยาก ครูต้องแบ่งกลุ่มเด็ก ข้อดีของโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนเด็กที่ดูแลมีน้อย ครูสามารถลงพื้นที่ไปดูได้เลย เช่น บริบทเด็กคนนี้ไม่สามารถเรียนแบบเพื่อน ก็ดูว่าจะเสริมเขายังไง ต้องคุยกับผู้ปกครองเยอะๆ แนะนำว่าต้องตั้งคำถามกระตุ้นเด็กแบบไหน ผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือดี”
ครูหมี – สินีนาฏ ยาหอม โรงเรียนบ้านกระถุน กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา
พื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตนี้ มีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง (Child Based Learning) ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน เปลี่ยน Living เป็น Learning’ นำโดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและโรงเรียนในเครือข่ายพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนบ้านปะทายและโรงเรียนบ้านกระถุน (อ่านบทความ)
สำหรับโรงเรียนบ้านกระถุนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษา, PBL (Problem Based Learning), PLC (Professional Learning Community) และลดกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 8 วิชาเหลือ 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาบูรณาการ
เนื่องจากบ้านกระถุนอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (อ่านบทความ) ทำให้สามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง หลักสูตรที่โรงเรียนใช้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ปรับให้เข้ากับเป้าหมายในการพัฒนาเด็กของโรงเรียน ‘รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต’ ซึ่งทักษะสมรรถนะที่เด็กต้องมี ได้แก่ การจัดการตัวเอง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
แน่นอนว่าสาเหตุที่โรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนมาจากสถานการณ์ที่ต้องเว้นระยะห่างป้องกันโรคระบาด ผู้อำนวยการโรงเรียนชวนครูและผู้ปกครองร่วมทำวง PLC หาคำตอบวิธีจัดการเรียนรู้ เริ่มด้วยการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่สามารถเรียนได้ดีช่วงนี้ กลุ่มที่เรียนได้ปานกลาง และกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จากนั้นลงมือออกแบบการเรียนรู้ 3 ช่วง อนุบาล ประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย ให้ครูดูแลช่วงชั้นละ 2 คน
ขั้นตอนสำคัญ คือ การตั้งโจทย์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติ ครูหมียกตัวอย่างวิธีให้โจทย์ของเธอกับเด็กๆ เธอจะตั้งโจทย์กว้างๆ เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน ฯลฯ ให้เด็กแต่ละชั้นออกแบบว่าเขาจะทำอะไรกับโจทย์นี้ ซึ่งเด็กป.1 เพิ่งเลื่อนชั้นจากอนุบาล อาจยังไม่สามารถวางแผนการทำงาน ให้ทำใบงานแทน ส่วนชั้นอื่นๆ ให้ออกแบบงานเอง โดยมีผู้ปกครองสวมบทบาทเป็นหน่วยสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ตั้งคำถามชวนเด็กคิด ถ่ายผลงานส่งครูผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก
สุดท้ายทำ AAR (After Action Review) ผู้ปกครองฟีดแบ็กว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกด้านไหนบ้าง มีปัญหาอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนครูก็ฟีดแบ็กว่ากิจกรรมที่เด็กคิดเขาได้พัฒนาทักษะสมรรถนะด้านใดบ้าง สุดท้ายให้เด็กเขียนสรุปว่าเขาได้องค์ความรู้อะไรจากการทำกิจกรรม
“พอต้องเจอสถานการณ์ที่ครูไม่สามารถเจอเด็ก ก็คิดว่าจะเรียนยังไงให้เด็กยังได้วิเคราะห์ ก็คือการตั้งโจทย์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันคิดไทม์ไลน์การเรียนกับครู โจทย์หนึ่งใช้เวลาเรียน 1 – 2 วัน ผู้ปกครองและเด็กต้องมองเห็นเป้าหมาย รู้ว่าจะเดินไปยังไงให้ถึง
“กิจกรรมที่เด็กทำต้องมีวิชาหลักแทรกไปด้วย เช่น โจทย์งานครัว เด็กเลือกทำผัดกะเพราส่ง เราดูในคลิปเห็นเขาใส่ผงชูรสเยอะมาก เลยได้ไอเดียแทรกวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องชั่งตวงวัตถุดิบ หรือวิชาภาษาไทย เขียนคำศัพท์ที่เกี่ยวกับงานครัว อ่านคำศัพท์ มาแต่งเป็นประโยคที่ได้ใจความสมบูรณ์ และนำไปแต่งเป็นเรื่องราว ได้ทักษะลำดับเรื่องราวเป็น”
ครูหมีเน้นว่า จุดสำคัญที่ทำให้ดำเนินกิจกรรมการเรียนเช่นนี้ได้ ผู้ปกครองกับครูต้องร่วมมือกันมากๆ เธออธิบายว่า ผู้ปกครองสามารถโทรหาได้ตลอดเวลา ช่วยกันแนะนำ แก้ไขปัญหา
“เวลาทำงานผู้ปกครองจะคิดว่าลูกต้องมีชิ้นงานสวยๆ ส่งครู ครูบอกเลยว่าไม่ต้องการชิ้นงานสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการกระบวนการที่เด็กลงมือทำ อยากให้ผู้ปกครองชวนเด็กตั้งคำถาม เช่น ทำไมเทผงชูรสขนาดนี้ จะมีวิธีแก้ปัญหายังไง”
ความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและคุณครูถือเป็นคีย์สำคัญในการจัดการศึกษาเวลานี้ เพราะไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนจะสามารถมีเวลาหรือความรู้ความเข้าใจในการสอนลูกได้ ต้องอาศัยคำแนะนำ การดูแลจากครู เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ ยังคงเติบโตและได้ประสิทธิภาพในช่วงเวลานี้