- การออกแบบตารางกิจวัตรของเด็กวัยอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และสร้างวินัยผ่าน ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว งานเล่น และงานคิด อ่าน เขียน’ เพื่อให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัวและมีพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม โดยหัวใจสำคัญ คือ ความสม่ำเสมอ
- กิจกรรมปลูกผัก เหมือนการที่เด็กๆ ได้เล่นในธรรมชาติ โดยมีแปลงปลูกผักเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นที่เขาจะได้รู้จักกับธรรมชาติ ดิน น้ำ สายลม แสงแดด ได้สังเกตการเจริญเติบโตของพืชผัก จนกระทั่งผักนั้นสามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้จริงๆ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความสุขใจ
- เด็กวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น “มีวันหนึ่งเขาระบายสี แล้วไม่เป็นอย่างที่คิด เขารู้สึกเสียใจมาก เขาก็เลยเดินไปหยิบขวดเขย่าอันนี้ที่มีกากเพชรอยู่ข้างในมานั่งเขย่าๆๆ แล้วก็นั่งดูจนกว่ากากเพชรจะตกลงที่ก้นขวด แล้วความผิดหวังความเสียใจนั้นมันหายไป เขาก็เลยกลับมานั่งวาดรูปต่อได้ เราพยายามทำเรื่องที่อยู่ในเนื้อในตัวเขาออกมาเป็นรูปธรรม ให้เขาได้มีเครื่องมือที่จะรับรู้ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัว มี Self-awareness นั่นเอง”
เมื่อเด็กปฐมวัยไม่สามารถไปโรงเรียนได้ การเรียนรู้ที่บ้าน (Learn from Home) ผสานกับครู สู่การเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีพ่อแม่และครู เป็นพาร์ทเนอร์สำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก จึงเป็นแนวทางหลักในการจัดการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้
ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 ในหัวข้อ: สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ครูกิ๊ฟท์ – ปิยะดา พิชิตกุศลาชัย ครูอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้นำเสนอประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ผ่าน ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว งานเล่น และงานคิด อ่าน เขียน เพื่อให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัวและมีพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม
ตารางกิจวัตร คู่มือสร้างวินัยที่บ้านให้ลูกวัยอนุบาล
การออกแบบตารางกิจวัตรของเด็กวัยอนุบาลของโรงเรียนรุ่งอรุณ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และสร้างวินัยผ่าน ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว งานเล่น และงานคิด อ่าน เขียน’ โดยมีหัวใจสำคัญของการทำตารางกิจวัตร คือ ความสม่ำเสมอ
“ตารางนี้ทำให้พ่อแม่รู้ว่า ในแต่ละวันลูกเขาจะจัดลำดับชีวิตยังไงบ้าง และในเด็กอนุบาลจะมีงานแบบไหนที่ทำได้ที่บ้านบ้าง ทำให้เด็กมีความรับผิดชอบ ทุกคืนก่อนนอนลูกจะต้องมานั่งติ๊กในเล่มว่า วันนี้ทำงานอะไร ขาดงานอะไรไปบ้าง แล้วก็ได้เรียนรู้อะไรจากกิจวัตรวันนั้นบ้าง”
ตารางกิจวัตรนี้จะถูกบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ ยกตัวอย่าง ‘งานสวน’ กับ ‘งานครัว’ ครูกิ๊ฟท์ชวนเด็กๆ เรียนรู้ผ่าน ‘ฤดูกาลจากธรรมชาติรอบตัว’ โดยส่งชุดเรียนรู้หรือถุงกิจกรรมให้ถึงบ้าน ในนั้นประกอบไปด้วย คุณอุตุหรือกระดาษส่องท้องฟ้า กระดาษ สีน้ำ และฟองน้ำ
“เราส่งคุณอุตุ เป็นกระดาษให้เด็กๆ ไปสังเกตท้องฟ้าในหน้าฝน เราเชื่อว่าธรรมชาติรอบตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด มีชีวิต มีความหมาย ถ้าเขาได้ใช้ประสาทสัมผัสในการสังเกต รับรู้ด้วยตัวเอง เขาจะค่อยๆ ถอดการเรียนรู้เหล่านั้นออกมาได้ เราก็ชวนคุณอุตุไปเล่านิทานให้ ตามหาเสื้อที่หายไป เด็กๆ เลยพาคุณอุตุออกไปนอกบ้าน ไปดูท้องฟ้าหน้าบ้าน ไปดูต้นไม้” ครูกิ๊ฟท์ เล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ พร้อมทำท่าทางประกอบ ราวกับว่านี่เป็นการเรียนรู้ที่เธอกำลังมอบให้กับเด็กๆ
เมื่อได้เห็นสภาพท้องฟ้าหน้าบ้านแล้ว เด็กๆ ก็ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น จากความเข้าใจของตัวเองออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ ในแบบฉบับของเขาเอง
นอกจากนี้ยังมีชุดสื่อการเรียนรู้ ‘งานสวน งานครัว ตามฤดูกาล’ ด้วย
“เราส่งเป็นเมล็ดพันธุ์กับดินให้เด็กๆ ไปปลูกที่บ้าน เพราะอยากให้เขาเชื่อมโยงฤดูกาลกับอาหารการกินแบบเป็นรูปธรรม เห็นด้วยตาของตนเอง ได้ปลูกผักเอง ได้รดน้ำดูแลเอง แล้วก็ได้กินเองด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเอง เห็นความใส่ใจของตนเอง แล้วก็เห็นคุณค่าของธรรมชาติรอบตัว”
กิจกรรมปลูกผัก เหมือนการที่เด็กๆ ได้เล่นในธรรมชาติ โดยมีแปลงปลูกผักเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นที่เขาจะได้รู้จักกับธรรมชาติ ดิน น้ำ สายลม แสงแดด ได้สังเกตการเจริญเติบโตของพืชผัก จนกระทั่งผักนั้นสามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้จริงๆ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ มีความสุขใจ
ในส่วนของห้องเรียนออนไลน์อย่างมีคุณภาพนั้น ครูจะชวนเด็กๆ นำประสบการณ์จากที่บ้านมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน “อย่างเช่น น้ำสมุนไพร จากที่เราส่งมะตูม กระเจี๊ยบ เก๊กฮวย ไปให้เด็กๆ ได้ลองต้มดู เพราะอยากเห็นเขาได้วิทยาศาสตร์ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำงานครัวนี้ ตอนที่มาเล่าในกลุ่ม เขาบอกว่าต้องรอให้ควันขึ้นด้วยนะ ถึงจะใส่มะตูมได้ เขาได้สังเกตน้ำเดือดที่บ้าน”
กิจกรรมรับรู้กายใจ เรียนรู้เรื่องอารมณ์ที่ซับซ้อน
นอกจากวิทยาศาสตร์ในเด็กปฐมวัยแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เด็กวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ซึ่งครูกิ๊ฟท์ทำให้เด็กๆ เข้าใจ รู้เนื้อรู้ตัว รู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้น ด้วยนิทานเรื่อง ‘อารมณ์นี้สีอะไร’ ให้ฟังพร้อมๆ กับตัวมอนสเตอร์อารมณ์
“ในนิทานเรื่องนี้จะพาให้เด็กรู้ชื่ออารมณ์แต่ละชนิด ว่าในแต่ละอารมณ์มันมีความรู้สึกยังไงบ้าง แล้วมันให้ชื่อได้ยังไงบ้าง แล้วเขาก็จะได้ทำเป็นปฏิทินอารมณ์ของเขาเองว่าในแต่ละวันเขามีอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน แล้วมันมีชื่อเรียกว่าอะไร”
นอกจากยังมีลูกโป่งอารมณ์ ภายในลูกโป่งจะมีถั่วเขียว แป้ง และเม็ดทรายละเอียด เจ้าลูกโป่งอารมณ์นี่แหละจะเป็นเครื่องมือให้เขาอยู่กับตัวเองเป็น โดยครูกิ๊ฟท์มีคาถาว่า เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกขุ่นข้องหมองใจ ให้หยุด! แล้วค่อยๆ หายใจ จากนั้นก็บีบเจ้าลูกโป่งอารมณ์นี้ อารมณ์ที่หงุดหงิด ขุ่นข้องทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง หรือจะเป็นขวดเขย่าสลายใจ ที่เด็กๆ เล่าว่า
“มีวันหนึ่งเขาระบายสี แล้วไม่เป็นอย่างที่คิด เขารู้สึกเสียใจมาก เขาก็เลยเดินไปหยิบขวดเขย่าอันนี้ที่มีกากเพชรอยู่ข้างในมานั่งเขย่าๆๆ แล้วก็นั่งดูจนกว่ากากเพชรจะตกลงที่ก้นขวด แล้วความผิดหวังความเสียใจนั้นมันหายไป เขาก็เลยกลับมานั่งวาดรูปต่อได้
เราพยายามทำเรื่องที่อยู่ในเนื้อในตัวเขาออกมาเป็นรูปธรรม ให้เขาได้มีเครื่องมือที่จะรับรู้ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัว มี Self-awareness นั่นเอง”
เล่นผ่านการรู้จักธรรมชาติ และของเล่นต่อยอดการเรียนรู้
สำหรับงานเล่น ครูกิ๊ฟท์ยกตัวอย่าง Quiet Bin-Quiet Time กล่องของเล่นที่เด็กๆ จะได้เล่นเงียบๆ อยู่คนเดียวเป็น จะมีทั้งกล่องคณิตศาสตร์ กล่องภาษา กล่อง Constructive play และกล่องลูสพาร์ท (Loos part) หรือชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ถูกเก็บใส่กล่องเป็นหมวดเดียวกัน นำมาเล่นต่อกันเป็นของเล่นได้
“เมื่อเขาเล่นเงียบๆ คนเดียวเป็น เขาก็จะรู้จักจดจ่อ และเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการสร้างของเล่นในกล่องนั้นๆ และก็คิดเป็นระบบ จนสุดท้ายเล่นเสร็จเก็บเอง ก็ดูแลและรับผิดชอบตัวเองได้
พ่อแม่ก็บอกว่าเมื่อไรก็ตามที่ลูกได้เริ่มเล่นกล่องอันนี้นะ เขาก็มีเวลาไปทำงานอื่นๆ เหมือนกัน เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในบ้านต่างมีการงานเป็นของตัวเอง เด็กๆ ก็จะรับรู้เลยว่าเขามีเวลาส่วนตัว พ่อแม่ก็มีเวลาส่วนตัว ทุกคนได้ทำงานเงียบๆ”
‘งานคิด อ่าน เขียน’ ฝึกออกเสียง จดบันทึก และสร้างคลังคำศัพท์
ในเรื่องการคิด อ่าน เขียน (Language Literacy) ครูกิ๊ฟท์เชื่อว่า ภาษาเป็นเครื่องมือ เป็นการเชื่อมโลกกับตัวเรา เชื่อมเรากับโลก อะไรก็ตามที่มากระทบตัวเรา เราจะมองหาความหมาย มองหาคำ และเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็นของตัวเอง ทำให้เรื่องนั้นมีความหมายอยู่ในตัวเรามากขึ้น ซึ่งนอกจากตารางบันทึกกิจวัตรประจำวันแล้ว ก็ยังมีสมุดบันทึกที่ครูกิ๊ฟท์ส่งให้เด็กๆ เพื่อให้บันทึกงานบ้าน งานสวน งานครัว งานเล่น และงานคิด อ่าน เขียน
“บันทึกภาษาจากการเล่าเรื่องอย่างมีความหมายที่เกิดจากประสบการณ์ของตัวเอง ผ่านรูปวาดหรือเขียนออกมาเป็นรูปธรรม โดยมีพ่อแม่ช่วยเขียนคำพูดของเขาออกมา ทำให้ภาษาธรรมชาตินี้มีความหมาย เขาเลยรู้ว่าทำไมเขาถึงอยากเขียนเป็น เพราะการเขียนมันทำให้เขานำความรู้สึกนึกคิดของเขาออกมาเป็นรูปธรรมได้ นี่ก็จะเป็นการเขียนในเด็กเล็กของเรา”
นอกจากเรื่องการเขียน ครูกิ๊ฟท์ยังมีสื่อเพิ่มเติมที่ส่งให้เด็กๆ ด้วย เช่น นิทานอ่านเพลิน เป็นชุดหนังสือนิทานสำหรับหยิบยืมที่เด็กๆ จะได้หนังสือไปวนอ่านตลอดทั้งเดือน รวมไปถึงคลิปเสียงที่คุณครูอ่านนิทานให้ฟังด้วย
“เราเชื่อว่าการให้ภาษาจากนิทานที่มีเรื่องราว แล้วก็มีจินตนาการจะช่วยให้เด็กๆ ได้สะสมคำศัพท์เพิ่มเติมอย่างมีความหมายด้วย รวมไปถึงไฟล์เสียงเราส่งเป็นบทร้องเล่น นิทานเสียงให้เด็กได้ไปฟังเพลินๆ ในช่วงกลางคืนเงียบๆ ได้ด้วย”
ยกตัวอย่างชั้นอนุบาล 3 จะได้รับชุดหนังสือฝึกอ่านตามระดับ ‘อาน อ่าน อ๊าน’ ระดับที่ 1 จากสำนักพิมพ์สานอักษร ให้เด็กได้อ่านภาพ อ่านภาษาจากเรื่องราว และนำมาคุยกันกับเพื่อนๆ ในห้องเรียนออนไลน์ โดยครูกิ๊ฟท์จะตั้งคำถามถึงสิ่งที่เขาได้ตีความ ได้บอกเล่า ได้เห็นความรู้สึกของตัวละคร และได้มีลำดับเหตุการณ์เรื่องราว เพื่อเป็นพื้นฐานในการอ่านอย่างเข้าใจความหมาย ซึ่งในหนังสือนิทานเล่มนี้จะไม่ได้มีเรื่องเล่ามากนัก แต่เป็นเรื่องเล่าที่เด็กๆ ต้องเล่าด้วยตัวเอง ถอดความด้วยตัวเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน
“เมื่อเขาคุ้นเคยกับนิทาน เห็นตัวพยัญชนะบ่อยเข้าแล้ว เด็กๆ อนุบาล 3 ก็จะได้ร้อง เล่น สู่เสียงและรูปของพยัญชนะ เราส่งหนังสือ เล่น ร้อง ทำนอง พยัญชนะ ให้เด็กๆ ได้ร้องเล่นกัน ไปคู่กับบัตรพยัญชนะให้เขาได้มาเล่นกับคุณครู กับเพื่อนๆ เมื่อท่องตัว “ค ควาย ค ค ควาย คางคก เครา ค้างคาว” อ้า…ตัวไหนละคือตัวค ควาย ที่อยู่บนโต๊ะของเขา เขาก็จะได้เริ่มจำรูป เข้าใจเสียง ไปพร้อมๆ กับคำ”
หลังจากเรียนรู้ผ่านงานและกิจกรรมต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เด็กแต่ละคนจะพบความสนใจใคร่รู้ของตัวเอง และต่อยอดการเรียนรู้จนกลายเป็นชิ้นงานหรือการพูดคุย เพื่อนำเสนอสู่งาน ‘หยดน้ำแห่งความรู้’ ถ่ายทอดเรื่องเล่าความเติบโตของหนู กลั่นเอาสิ่งที่เรียนรู้มา เล่าให้ครูและเพื่อนฟัง แต่ก่อนที่เด็กจะได้เล่าหยดน้ำ คุณครูจะมีคำถามให้เด็ก Self-Reflection สะท้อนกับตัวเอง เช่น
อ.1 “ชอบทำอะไร ทำอะไรได้บ้าง และทำอย่างไร”
อ.2 คำถามจะต้องท้าทายขึ้น เช่น “บอกเรื่องที่ทำได้ดีแล้วนั้นว่าทำอย่างไร”
อ.3 “เรื่องไหนที่ยังทำไม่ได้ และจะทำมันอย่างไรบ้าง”
คำถามเหล่านี้เป็นการให้เด็กๆ ได้ประเมินตัวเอง สะท้อนตัวเองว่า ตลอดการเรียนรู้ทั้ง 3 เดือนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
“ผลงานของอนุบาล 3 ทำโรงละครจากเปลือกไข่ เขาเล่านิทานเรื่องมดกับตั๊กแตน ใช้ศิลปะสีน้ำจากที่ระบายท้องฟ้าตอนแรก มาทำเป็นฉาก เขาบอกว่า ต้องให้แม่ช่วยนิดหน่อย เพราะต้องเจาะรู เจาะเท่าไรก็เจาะไม่ได้ มันทะลุทุกทีเลย แต่สุดท้ายก็ได้มาเป็นผลงานชิ้นนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง หรืออนุบาล 1 ที่บอกเล่าการเรียนรู้งานบ้าน “ตอนใส่ไม้แขวนเสื้อยากที่สุด มันชอบหล่น แต่หนูก็ทำเองได้” เขามาเล่าให้คุณครูฟัง แต่สุดท้ายเขาชอบซักผ้าที่สุดเลยในบรรดางานบ้านทั้งหมด”
นี่คือตัวอย่าง ‘หยดน้ำแห่งความรู้’ ถ่ายทอดเรื่องเล่าความเติบโตของหนู เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้สะท้อนคิดและเรียนรู้ด้วยตนเอง