Skip to content
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
Creative learning
30 August 2021

เมื่อพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนไม่ใช่แค่นักเรียนที่ต้องการ ครูก็เช่นกัน :  เปลี่ยน ‘พื้นที่ไม่ปลอดภัย’ ไปสู่ ‘พื้นที่แห่งการเรียนรู้’

เรื่อง กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • สิ่งสำคัญในการเรียนรู้ คือ การให้ผู้เรียนตั้งคำถามให้ได้มากที่สุด โดยผู้สอนมี ‘พื้นที่ปลอดภัย’ มากพอที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างคำถามได้หลากหลาย แต่การจะมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กนั้นตัวครูต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตนเองก่อน 
  • ห้องเรียนในระบบการศึกษาไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมในการตั้งคำถามที่ปลอดภัยพอจะให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยงแนวคิด นอกจากคนตั้งคำถามจะกังวลกับคำตอบที่จะได้รับจากครู และสายตาที่มองมาจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนแล้ว คำถามที่ตั้งนั้นต้องคิดวิเคราะห์อย่างขะมักเขม้นว่า สิ่งที่เรากำลังจะถามสมเหตุสมผลพอหรือไม่ ผ่านการถูกพูดถึงไปหรือยัง เพื่อให้ยังอยู่ใน ‘มาตราฐานเด็กดี’ ที่ครูแปะป้ายไว้
  • เด็กเกิดความรู้สึกกลัวที่จะหลุดออกจากกรอบความคาดหวังของสังคม ซึ่งความกลัวนี้ คือ หลักการหลักที่อำนาจนิยมใช้เพื่อดำรงอยู่ พฤติกรรมของเด็กในห้องเรียนจึงเป็นการเรียนเพื่อจำมากกว่าตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์ แต่ครูไม่ใช่ตัวร้ายของเรื่องนี้ เพราะอำนาจนิยมในระบบการศึกษาก็กดทับครูไม่ต่างกัน 

“ทำไมไม่ตั้งใจฟัง”

“ครูเคยสอนไปแล้วนะ”

“เพิ่งสอนไปเมื่อกี้ ทำไมไม่เข้าใจ”

“ถามเป็นเจ้าหนูจำไมเลยนะ”

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำตอบเหล่านี้หลังจากการตั้งคำถามในห้องเรียน พร้อมทั้งสายตาที่ดูเสมือนว่าการตั้งคำถามของเด็กนักเรียนนั้นช่างดูก้าวร้าวและไร้สาระเหลือเกิน หรือแม้แต่สายตาจากเพื่อนร่วมชั้นที่มองมา ส่งผลให้ครั้งถัดไปหากเรามีเรื่องที่สงสัยก็มักจะไม่กล้ายกมือตั้งคำถาม เพราะภาพจำแรกของการถามนั้นมันช่างดูน่าผิดหวัง

จริงๆ แล้วการตั้งคำถามในห้องเรียน หรือการโดนแปะป้ายว่าเป็น ‘เจ้าหนูจำไม’ นั้นไม่ดีจริงหรือไม่? Paul J Black, Bethan Marshall นักวิจัยด้านการศึกษา และ Clare Lee, Christine Harrison ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอน ได้กล่าวถึงเรื่องการตั้งคำถามของเด็กในหนังสือ Working Inside the Black Box: Assessment for Learning in the Classroom (2004) ว่า “สำหรับนักเรียน การตั้งคำถามของตนเองถือเป็นก้าวแรกสู่การเติมช่องว่างความรู้และไขปริศนา กระบวนการถามคำถามช่วยให้พวกเขาแสดงความเข้าใจปัจจุบันในหัวข้อ เชื่อมโยงกับแนวคิดอื่นๆ และรับรู้ถึงสิ่งที่พวกเขาทำหรือไม่รู้ในเรื่องนี้ คำถามที่สร้างโดยนักเรียนยังเป็นส่วนสำคัญของการประเมินตนเองและโดยเพื่อน”

แต่ทว่าการตั้งคำถามในห้องเรียนไทยที่ระบบการศึกษาไม่ได้มีวัฒนธรรมในการตั้งคำถามที่ปลอดภัยพอจะให้เกิดรูปแบบกระบวนการนั้น นอกจากที่คนตั้งคำถามจะต้องกังวลกับคำตอบที่จะได้รับจากครูรวมถึงสายตาที่มองมาจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนแล้ว คำถามที่ตั้งออกไปนั้นจะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างขะมักเขม้นว่าสิ่งที่เรากำลังจะถามสมเหตุสมผลพอหรือไม่ ผ่านการถูกพูดถึงไปหรือยัง 

เพราะหากคำถามนั้นค่อนข้างออกนอกกรอบขึ้นมาเมื่อไหร่ คำว่า ‘ก้าวร้าว’ ก็มักเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกแปะป้ายเบียดตกออกมาจาก  ‘มาตราฐานเด็กดี’ ที่ครูวางไว้เช่นกัน

ทำไมการตั้งคำถามในห้องเรียนถึงต้องยุ่งยาก สร้างความตึงเครียดให้กับคนเรียนขนาดนั้นเลยหรือ? จากหนังสือ Make Just One Change: Teach Students to Ask Their Own Questions (Harvard Education Press: 2011) หนังสือที่อธิบายถึงวิธีการตั้งคำถามแบบ QFT ที่มีการวิจัยออกมาว่าสามารถสร้างเสริมทักษะในการเรียนรู้ได้ลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างกระบวนการคิดและต่อยอดได้อย่างดีเยี่ยม ได้ระบุถึงกรณีการตั้งคำถามในห้องเรียนว่า สิ่งสำคัญในการเรียนรู้ คือ การให้ผู้เรียนตั้งคำถามให้ได้มากที่สุด นั่นแปลว่าผู้สอนจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยมากพอที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างคำถามได้อย่างมากมายและหลากหลาย เพราะการสร้างคำถามจำนวนมากนั้นจะต้องใช้ความรู้สึกปลอดภัยมากพอเช่นเดียวกัน และแน่นอนว่ามันจะต้องไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือสร้างความตึงเครียดให้แก่ผู้ตั้งคำถาม

วัฒนธรรมในห้องเรียนของสังคมไทยยังไม่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถาม

“เด็กเอ่ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน เด็กเอ่ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน…”

บทเพลงที่เด็กไทยมักจะได้ยินกันตั้งแต่ยังเด็ก บทเพลงที่บรรจุค่านิยม ‘การเป็นเด็กดี’ ต้องมีหน้าที่อย่างไรเอาไว้ ยังไม่นับค่านิยม 12 ประการที่บรรจุ ‘หน้าที่เด็กดี’ ไว้เช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสุภาษิตไทยอย่าง ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ‘เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ ค่านิยมเหล่านี้ล้วนแฝงไว้ทุกอณูของการดำเนินชีวิต 

หากเรานำค่านิยมในบทเพลงเหล่านี้มีมาแจกแจงกันจริงๆ จะเห็นได้ว่าค่านิยมการเป็นเด็กดี ปลูกฝังให้เด็กไทยทำตามหน้าที่จะต้องอยู่ในกรอบตามที่ผู้ใหญ่คิดขึ้นมาให้เท่านั้น หากเด็กคนไหนเกิดออกนอกกรอบเหล่านั้นก็จะหลุดจากวาทกรรมการเป็นเด็กดีขึ้นมาทันที ยกตัวอย่างจากเพลงหน้าที่เด็กดี 10 ประการ ในข้อที่ 3 ‘เชี่อพ่อแม่ครูอาจารย์’ ที่เป็นอีกหนึ่งค่านิยมที่ยึดโยงกับค่านิยมเคารพผู้อาวุโสในสังคมไทย ต้องเชื่อฟังสิ่งที่ผู้อาวุโสบอกโดยห้ามโต้เถียง หากเด็กคนไหนเกิดโต้แย้งก็จะกลายเป็นเด็กไม่ดี หรือเด็กก้าวร้าว 

การถูกสั่งสอนให้ยอมจำนนและอยู่ในโอวาทผู้ที่มีอำนาจกว่าและอายุมากกว่า ทำให้เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าออกนอกกรอบ ขาดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ หรือหากเด็กคนไหนกล้าหลุดออกมาจากกรอบ ก็จะถูกเบียดไปอยู่ในประเภทเด็กไม่ดีหรือเด็กก้าวร้าวทันที 

และหากมองลึกลงไปแล้ว การที่เด็กจำต้องจำนนกับความอาวุโสของครูบาอาจารย์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทยที่ให้อำนาจแก่ความอาวุโสและวางตำแหน่งครูไว้เหนือกว่าตำแหน่งนักเรียน ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรมในห้องเรียนของเด็ก ทั้งยังหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมในห้องเรียนที่ไม่เอื้อให้เด็กกล้าตั้งคำถามอีกด้วย

ถ้าหากคำนิยาม วัฒนธรรมในห้องเรียน (Classroom Culture) คือ ข้อตกลงและแนวทางปฎิบัติที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้ระหว่างครูและนักเรียน ก็จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมในห้องเรียนของสังคมไทยนั้นถูกกดทับด้วยระบบอำนาจนิยมควบคู่กับกรอบของวาทกรรมเด็กดีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนในห้องเรียนส่วนใหญ่นั้นมักจะมาในรูปแบบการสอนแบบท่องจำที่เน้นให้เด็กเชื่อฟัง ครูจะต้องถูกเสมอ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ห้องเรียนในระบบการศึกษาไทยไม่สามารถมีแนวทางปฎิบัติในรูปแบบพื้นที่ปลอดภัยมากพอจะให้เด็กกล้าตั้งคำถามหรือโอบอุ้มเด็กที่ตั้งคำถามนอกกรอบเช่นกัน

ระบอบอำนาจนิยมในการศึกษาไทยและวาทกรรมเด็กดี ปิดกั้นเด็กเห็นต่างด้วยการแปะป้ายว่าก้าวร้าว

หากระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) คือ ระบอบที่ผู้คนยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจ รวมทั้งจำกัดการกระทำและอิสระภาพทางความคิดของบุคคลที่มีอำนาจต่ำแล้วนั้น หลักฐานชิ้นสำคัญที่ฉายชัดว่าอำนาจนิยมยังคงอยู่ในระบบการศึกษาไทยก็คงจะเป็น ‘วาทกรรมเด็กดี’ วาทกรรมที่ผู้มีอำนาจสร้างมาเพื่อควบคุมให้เด็กหรือผู้มีแหล่งอำนาจน้อยกว่าให้อยู่ในอำนาจ จัดประเภทการเป็นเด็กดีจากการเชื่อฟังโดยหากใครแข็งกร้าวหรือออกนอกกรอบขึ้นมาก็จะถูกแปะป้าย ‘เด็กไม่ดี เด็กก้าวร้าว’ ขึ้นมาทันที ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เด็กเกิดความกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยหากเขาต้องการดำเนินชีวิตนอกกรอบวาทกรรมนี้

แล้วคุณสมบัติใดบ้างเล่าที่ถูกบรรจุอยู่ในคำว่าเด็กดี? อ้างอิงจากเกณฑ์การคัดเลือกเด็กประพฤติดีในโครงการคัดเลือกเด็กประพฤติดีมีค่านิยม วันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 ของกระทรวงวัฒนธรรม ได้ระบุชัดเจนว่า ค่านิยมที่ดี หมายถึง ค่านิยม 12 ประการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดขึ้นมา ได้แก่…

  1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
  3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
  4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม
  5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
  6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
  7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
  8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
  9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี
  11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา
  12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

จากค่านิยม 12 ประการข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าการเป็นเด็กดีมักยึดโยงแนวคิดชาตินิยมและการเชื่อฟังให้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใหญ่ ยิ่งเชื่อฟังและทำตามมากเท่าไร ป้าย ‘เด็กดี’ ก็จะถูกแปะมากขึ้นเท่านั้น

การแปะป้ายเหล่านี้ สร้างปัญหาให้เด็กเกิดความรู้สึกกลัวที่จะหลุดออกจากกรอบความคาดหวังของสังคม ซึ่งความกลัวนี้ คือ หลักการหลักที่อำนาจนิยมใช้เพื่อดำรงอยู่ เห็นได้ชัดว่าเด็กที่ไม่กล้าตั้งคำถามมักมีความกลัวในหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น กลัวได้รับคำตอบที่ไม่ดีจากครู, กลัวการถูกโดนด่าทอ, กลัวการโดนดูถูก, หรืออาจกลัวสายตาเพื่อนร่วมชั้น ทำให้พฤติกรรมของเด็กในห้องเรียนมักเป็นการเรียนเพื่อจำมากกว่าการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์เสียมากกว่า แต่ครูไม่ใช่ตัวร้ายของเรื่องนี้ เพราะอำนาจนิยมในระบบการศึกษาก็กดทับครูไม่ต่างกัน 

สิ่งเหล่านี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแปะป้ายใครสักคนให้เป็นผู้ร้าย แต่ระบบโครงสร้างที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่างหาก คือ ผู้ร้ายที่แท้จริง 

อำนาจนิยมที่กดทับครูที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระบบการศึกษาของรัฐ เราจะเห็นระบบโครงสร้างเหล่านี้ได้ชัดในโรงเรียนรัฐบาล ที่ครูมักถูกจำกัดกรอบการเรียนการสอนให้เป็นไปตามแนวทางที่ระบบวางไว้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ อย่างงานเอกสาร หรือแบบประเมินต่างๆ ครูจำต้องทำเพื่อให้ภาพรวมของโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีตามที่ระบบกำหนดไว้ หรือยิ่งหากเป็นโรงเรียนในระบบที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารที่ครูคนเดียวจะต้องเป็นทุกอย่างในโรงเรียนแล้วยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าระบบโครงสร้างแบบนี้ช่างกัดกินพลังงานจนทำให้ครูไม่ได้มีเวลามากพอที่จะทุ่มไปที่การเรียนการสอนร้อยเปอร์เซ็นต์ 

ส่งผลให้เมื่อถึงเวลาที่ครูต้องมาทำหน้าที่สอนจึงไม่สามารถเปิดพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ไม่อาจมีวัฒนธรรมในห้องเรียนที่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอให้นักเรียนกล้าตั้งคำถาม สาเหตุเพราะตัวครูเองก็ไม่ได้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองเช่นเดียวกัน ครูส่วนมากจึงมักทำหน้าที่สอนตามสิ่งที่เตรียม มากกว่าเปิดพื้นที่ให้นักเรียนกล้าตั้งคำถาม เพราะหากเด็กตั้งคำถามในสิ่งที่ครูไม่สามารถตอบได้ การกระทำเหล่านี้ก็อาจทำให้ตัวครูเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในอำนาจ ส่งผลให้เกิดการปิดป้าย ‘เด็กก้าวร้าว’ เพื่อทดแทนความรู้สึกไม่ปลอดภัยและเป็นการสร้างเกาะให้แก่ตนเอง

พื้นที่ปลอดภัย คือ สิ่งจำเป็นในห้องเรียน แต่การจะมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กนั้นตัวครูเองจำต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ตนเองก่อน 

การหลุดออกจากกรอบแนวคิดอำนาจนิยม ละทิ้งการถืออำนาจจากแนวคิดอาวุโสและตำแหน่งของครู ยอมลดอคติว่าครูจะต้องถูกเสมอคือสิ่งสำคัญในการปลดล็อกตนเอง มองตนเองว่าครูก็คือมนุษย์คนนึงที่สามารถผิดพลาดได้เช่นเดียวกับเด็ก การยอมรับความเป็นมนุษย์ในตัวเองนั้นจะช่วยให้ครูสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย เปลี่ยนความรู้สึกหวาดกลัวที่อยู่ในเขตพื้นที่ไม่ปลอดภัย (Panic zone) ให้ไปสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Learning Zone) ได้ และหากตัวครูเองมีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ การสร้างวัฒนธรรมในห้องเรียนที่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กก็จะตามมา

แต่หากจะกล่าวกันจริงๆ แล้วนั้น การที่ครูจะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยและปรับทัศนคติได้อย่างสมบูรณ์ควรแก้ไขควบคู่กับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับตัวครูเองเช่นเดียวกัน การมีระบบโครงสร้างการศึกษาที่ดี มุ่งเน้นการกระจายอำนาจทรัพยากรโดยไม่รวมศูนย์อำนาจอยู่บนยอดฐานพีระมิด ทั้งยังมุ่งใส่ใจในตัวครูและเด็กคือทางออกสำคัญในการเปิดพื้นที่ปลอดภัย และสร้างพลังให้ครูมีความมุ่งมั่นในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ โดยไม่จำกัดกรอบในการออกแบบการเรียนการสอน คำนึงถึงสุขภาพจิตของครูและสุขภาพจิตของนักเรียนเป็นส่วนสำคัญ มุ่งเน้นให้ครูและนักเรียนมองเห็นคุณค่าร่วมกันมากกว่ามุ่งไปที่เป้าหมาย 

ที่สำคัญคือระบบโครงสร้างควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบโดยทำให้การศึกษาสามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่และทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รัฐควรจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอในทุกพื้นที่ การให้ครูคนเดียวทำหลายตำแหน่งในพื้นที่เดียวนั้นจะทำให้ครูไม่สามารถมีพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างร้อยเปอร์เซ็น เพราะถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและละทิ้งการถืออำนาจนิยมแล้วนั้น การต้องทำหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกันก็กัดกินพลังงานชีวิตครูจนทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่อาจเกิดพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ 

ในขณะเดียวกันหากตัวเด็กเองถูกกดทับจากโครงสร้างระบบการศึกษาที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง อำนาจนิยมในระบบเหล่านี้ก็จะเบียดเสียดเด็กที่ตั้งคำถามในห้องเรียนให้ตกลงไปในหลุมของเด็กก้าวร้าวอย่างไม่สามารถหลุดออกมาได้

หากเรามีระบบโครงสร้างการศึกษาที่ดี คำว่า ‘เด็กก้าวร้าว’ ก็จะหมดไป

จากสถิติผลการทดสอบ Programme for International Student Assessment (PISA) ในทั่วโลกตั้งแต่ปี 2000-2019 จะเห็นว่าฟินแลนด์คือประเทศที่ติดอันดับท็อปสิบเสมอ เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างฟินแลนด์กลายเป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ นั่นคือการวางโครงสร้างการศึกษาที่ดีและครอบคลุม

ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับ ‘การอ่าน’ เป็นลำดับต้นๆ นับตั้งแต่วันที่เด็กถูกคลอดออกมา รัฐบาลฟินแลนด์จะทำการส่ง Baby Box มาให้แก่ครอบครัว โดยสิ่งของด้านในนั้นจะเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงดูขั้นต้นรวมถึงหนังสือนิทาน เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าทักษะการอ่านคือสิ่งสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก ของจาก Baby Box จึงจะต้องเป็นสิ่งที่สามารถเติบโตไปพร้อมกับเด็กได้เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงแต่กล่อง Baby Box ที่จะช่วยพัฒนานิสัยรักการอ่านของเด็ก รัฐบาลฟินแลนด์ยังมีการนำซับไตเติ้ลใส่แทนรายการที่มีเสียงพากย์ในโทรทัศน์ ทำให้เด็กที่รับชมโทรทัศน์ถูกปลูกฝังให้อ่านได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ยังให้ความสำคัญกับครูในระบบการศึกษาอย่างมาก ไม่เพียงแต่กำหนดมาตราฐานในการคัดเลือกบุคลากรครูอย่างเข้มข้น เช่น ครูจะต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาโทเท่านั้นแล้ว ฟินแลนด์ยังส่งเสริมการสร้างคุณค่าในอาชีพครูเพื่อเน้นย้ำให้ครูรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง กำหนดความสำคัญถึงการรู้เท่าทันอารมณ์และการยอมรับความแตกต่างของปัจเจกบุคคล และไม่มีการแข่งขันระหว่างโรงเรียนแต่เน้นไปที่การสร้างองค์ความรู้ให้เท่าเทียมกันในทุกโรงเรียนอย่างทั่วถึง และเพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างแท้จริง ประเทศฟินแลนด์จึงเน้นการวัดคะแนนเด็กในแต่ละบุคคลมากกว่าการตั้งมาตรฐานตามเกณฑ์ไว้ เนื่องจากรัฐบาลฟินแลนด์มองว่าเด็กแต่ละคนมีปัจเจกการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การนำมาตราฐานเดียวเป็นตัววัดจึงไม่อาจวัดค่าความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

ฟินแลนด์ได้ปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรอย่างเท่าเทียม โดยเน้นไปที่การสร้างความสุขให้แก่ผู้เรียนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นักการศึกษาชาวฟินแลนด์ได้กำหนดข้อสำคัญที่ฟินแลนด์ยึดมั่น ไว้ดังนี้ 1.นักเรียนทุกคนต้องได้รับอาหารโรงเรียนฟรี 2.มีความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพ 3.มีการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา 4.มีการให้คำแนะนำส่วนบุคคล

โดยรัฐบาลฟินแลนด์เชื่อว่าการเริ่มต้นวางรากฐานกับปัจเจกบุคคลในสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมกันจะเป็นกุญแจนำไปสู่การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ที่แท้จริง

จากกรณีศึกษาของฟินแลนด์ จะเห็นได้ว่าประเทศฟินแลนด์เลือกที่จะเคารพความหลากหลายและปัจเจกบุคคลในตัวเด็ก โดยไม่มีการกำหนดกรอบวาทกรรมเด็กดีอย่างค่านิยม 12 ประการหรือหน้าที่ของเด็กดี ซึ่งส่งผลให้การปิดป้าย ‘เด็กก้าวร้าว’ แทบไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหากเรามีระบบโครงสร้างการศึกษาที่ดี แนวคิดและทัศนคติการตั้งคำถามในห้องเรียนของเด็กจะถูกมองในแง่ที่เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความรู้รวมถึงสร้างทักษะในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ สร้างความมั่นใจให้แก่ตัวเด็ก เสริมบุคลิกภาพให้เด็กเป็นคนที่กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ และรู้สึกปลอดภัยรวมทั้งเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย

หากแต่ระบบโครงสร้างการศึกษาที่ดีไม่มีวันเกิดขึ้นในรัฐเผด็จการ เพราะรัฐเผด็จการคือต้นตอของระบบอำนาจนิยม ผู้นำเผด็จการจะไม่มีวันเข้าใจการถูกกดทับ เพราะรากฐานระบบโครงสร้างเหล่านั้นคือตัวเอื้อหนุนให้เผด็จการยังคงอยู่ หากเราต้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษานี้ สิ่งสำคัญในการกำจัดต้นตอคือการยุติระบอบเผด็จการที่กำลังกัดกินชีวิตพวกเรา

อ้างอิง
For Students, Why the Question is More Important Than the Answer
Authoritarianism
The Learning Zone Model
เมื่อระบบการศึกษาสร้างครูที่ภักดีต่อความรุนแรง
เกณฑ์การคัดเลือกเด็กประพฤติดีมีค่านิยม เนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๑
“จงปล่อยให้ดอกไม้บาน“ รากฐานประชาธิปไตยในห้องสมุดฟินแลนด์
PISA student performance in Finland from 2000 to 2018, by subject and score
Rebrand for Finland’s baby boxes
THE SECRET OF FINNISH SCHOOLS
10 reasons why Finland’s education system is the best in the world

Tags:

การฟังและตั้งคำถามเทคนิคการสอน

Author:

illustrator

กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ

ชื่อชอบงานศิลปะ แต่ไม่ถนัดวาดรูป รักการถ่ายรูป ค้นพบตัวได้ที่อาร์ตแกลหรือร้านหนังสือ สนใจในเรื่องเพศ สังคม จิตวิทยา มนุษย์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เป็นเฟมินิสต์แอคทิวิสต์ที่ชอบฟังนิทานก่อนนอน เชื่อในความหลากหลายและฝันอยากมีโลกที่โอบอุ้มคนทุกคน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Unique Teacher
    “เรารักนักเรียนนะ แต่เราแสดงออกไม่เป็น” เปลือยชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดราวบทหนังสือของครูเฮง

    เรื่อง คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ ภาพ ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

  • Learning TheoryBook
    วิจารณ์ พานิช: เป้าหมายของการเรียนรู้คือเปลี่ยนแปลงสมอง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

  • 21st Century skills
    3 คำยอดฮิตที่คุณครูใช้กระทุ้งบรรยากาศการคิดของนักเรียนได้ตลอดกาล

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Transformative learning
    HEAR STRATEGY: เทคนิคง่ายๆ ฝึกทักษะการ ‘ฟัง’ ให้กับเด็กๆ

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Transformative learning
    ‘THEORY U’ การฟัง 4 ระดับ: ลองเช็ค คุณ ‘ฟัง’ ระดับไหน

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel