- ตั้งเป้าหมายทีไรไม่เคยไปถึงสักที มีอะไรมาขัดขวางบ้าง หนึ่งในนั้นคือ การเอาแต่คิดถึงเป้าหมายในภาพกว้างและความสำเร็จในระยะยาว โดยมองข้ามการตั้งเป้าจากการทำเรื่องเล็กๆ ทีละขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น
- บทความชิ้นนี้เผย สูตรการเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ คือ การเขียนเป้าหมาย ประกาศเป้าหมายให้ผู้อื่นรับรู้ และการลงมือทำอย่างมุ่งมั่น
- และทุกเป้าหมายควรเริ่มต้นจากการเขียนลงบนกระดาษ เก็บกระดาษนั้นติดตัวเอาไว้ แล้วหมั่นหยิบขึ้นมาอ่านทบทวน
ผ่านมาเกินครึ่งปีแล้ว อะไรเป็นเป้าหมายที่คุณอยากทำให้ได้ในปีนี้?
แล้วคุณมีแผนการที่จะทำให้มันเกิดขึ้นไหม?
บทความวิชาการโดยสถาบันเทคโนโลยีเมอร์ด็อค (Murdoch Institute of Technology: MIT) แห่งมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค มหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับสองของเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึง 5 ขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเรียน (ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการทำงานและเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตได้) ย้ำชัดว่า การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (strategic planning) และการตั้งเป้าหมาย (goal setting) สามารถสร้างผลลัพธ์ความสำเร็จที่แตกต่างได้อย่างมาก
วิธีคิดนี้อ้างอิงงานวิจัย ดอกเตอร์ เกล แมทธิวส์ (Gail Matthews) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโดมินิกันแห่งแคลิฟอร์เนีย (Dominican University of California)
แมทธิวส์ คัดเลือกผู้เข้าร่วมสำรวจทั้งหมด 267 คนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งในกลุ่มธุรกิจ องค์กร และเครือข่ายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ ทั้งเบลเยียม อังกฤษ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการ นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ศิลปิน ทนายความ พนักงานธนาคาร นักการตลาด ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้จัดการ รองประธานบริษัท และพนักงานองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เป็นต้น
ผลศึกษาทำให้พบ 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้คนคนหนึ่งบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ ได้แก่
หนึ่ง การเขียนเป้าหมาย (writing goals)
สอง การกระทำที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย (committing to goal-directed actions)
และ สาม ความรับผิดชอบต่อการกระทำ/การทำงานเหล่านั้น (accountability for those actions)
จากกลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมที่เขียนเป้าหมาย บอกเล่าเป้าหมายให้เพื่อนได้รับรู้ ลงมือทำตามแผน และส่งรายงานอัพเดทเพื่อรายงานความก้าวหน้าประจำสัปดาห์ให้กับเพื่อน มีอัตราความสำเร็จสูงกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่เขียนเป้าหมาย และเก็บเป้าหมายไว้เงียบๆ กับตัวโดยไม่บอกให้ใครรับรู้
ด้วยเหตุนี้ สูตรการเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ของแมทธิวส์ คือ การเขียนเป้าหมาย การประกาศเป้าหมายให้ผู้อื่นรับรู้ และการลงมือทำอย่างมุ่งมั่น ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ
กระบวนการทั้งหมดจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนคนหนึ่งลงมือทำสิ่งที่ตั้งใจได้อย่างแน่วแน่ ไม่ไขว้เขว และไม่ยอมแพ้ระหว่างทาง
จากการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการครั้งแรกเดือนพฤษภาคม ปี 2015 ในงานประชุมนานาชาติประจำปีครั้งที่ 9 โดยหน่วยงานวิจัยจิตวิทยาแห่งสถาบันเอเธนส์เพื่อการศึกษาและการวิจัย (Psychology Research Unit of Athens Institute for Education and Research: ATINER) ผลการศึกษาดังกล่าว ได้รับความสนใจและถูกตีแผ่ในสื่อหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น The International Business Times, Forbes, Huffington Post, The Lexington Dispatch, The Daily Herald และ The Albuquerque Journal
ต่อไปนี้เป็น 5 ขั้นตอนที่สถาบันเทคโนโลยีเมอร์ด็อค (MIT) ให้ไว้เป็นแนวทาง สามารถนำไปทดลองใช้กับการวางแผนการเรียนและการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเองได้
1. รู้ถึงความแตกต่างของเป้าหมายระยะยาว (long-term goals) และวัตถุประสงค์ระยะสั้น (short-term objectives)
เรามักนึกถึงเป้าหมายในภาพกว้างและความสำเร็จในระยะยาว โดยมองข้ามการตั้งเป้าจากการทำเรื่องเล็กๆ ทีละขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น
วัตถุประสงค์ระยะสั้น คือ แผนการที่จะนำไปสู่เป้าหมายในระยะยาว ซึ่งถ้าเราไม่ทำเรื่องเล็กๆ ให้เกิดขึ้นทีละนิด ก็ไม่มีทางที่จะสร้างสรรค์ ทำให้เรื่องใหญ่ๆ หรือทำเป้าหมายให้เกิดขึ้นจริงได้
The Potential เคยพูดถึงเรื่องนี้ไปแล้วจากประสบการณ์ชีวิตของ สตีเฟน ดูนิเยร์
การวางแผนการเรียนหรือการทำงานก็ไม่ต่างกัน ตั้งต้นจากการถามคำถามกับตัวเองว่า
“อะไรที่เราจำเป็นต้องทำในทุกๆ วันหรือทุกสัปดาห์เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น?”
“ฉันอยากได้เกรดที่ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ฉันจะต้องติดตามงานที่ได้รับมอบหมาย แล้วบริหารจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นเพื่อทำงานเหล่านั้นออกมาให้ได้” จอร์ชลิน หว่อง (Joshlyn Wong) นักศึกษา MIT ชาวมาเลเซีย กล่าว
ขั้นตอนต่อไปสำหรับหว่อง คือ การตั้งเป้าระยะสั้นให้เฉพาะเจาะจงขึ้น เช่น การแบ่งเวลาเพิ่มวันละกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อลงมือทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
2. ถ้าไม่ใช่ SMART Goal นั่นก็อาจไม่ใช่เป้าหมายที่ใช่
เครื่องมือนี้เป็นเทคนิคการพิสูจน์ความล้มเหลวที่ใช้มากว่า 40 ปี แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการวัดผลที่เชื่อถือได้
S.M.A.R.T. ย่อมาจาก Specific, Measurable, Attainable, Relevant และ Timely
- Specific อะไรเป็นเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่คุณอยากทำให้สำเร็จ และทำไม
ยิ่งเจาะจงได้มาก โอกาสที่จะทำให้เป็นจริงได้ก็ยิ่งมีมาก
ลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสองความคิดนี้
“ฉันอยากรวยเป็นเศรษฐี”
“ฉันต้องการมีรายได้อย่างน้อย 5 หมื่นบาทต่อเดือน ภายในเวลา 5 ปีต่อจากนี้ จากการสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์”
เมื่อเทียบแล้วความคิดแบบที่สองมีความชัดเจนและเห็นแนวทางการลงมือทำให้บรรลุเป้าหมายได้มากกว่า
ชุดคำถามสำหรับการวางเป้าหมายให้เฉพาะเจาะจง คือ
อะไรที่อยากทำให้สำเร็จ? ที่ไหน? อย่างไร? เมื่อไร? กับใคร?
อะไรเป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัด? ทำไมถึงอยากทำสิ่งนี้?
และ นอกจากแผนการหลักแล้วยังมีแผนสำรองอะไรอีกบ้างที่พอจะเป็นทางเลือกได้?
- Measurable มีหลักเกณฑ์การประเมินหรือการวัดอย่างไรว่าคุณถึงเป้าหมายนั้นแล้ว
จะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าทำตามเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ
อย่าลืมเรื่องการวางแผนลงมือทำงานเป็นแผนย่อย แล้วเก็บสะสมความสำเร็จระหว่างทาง เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้
ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายมีความสุขมากขึ้น เป้าหมายนี้ไม่สามารถจับต้องได้
จะพยายามไม่สูบบุหรี่ เพราะอยากรักษาสุขภาพ และเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หันมากินผักมากขึ้น 2 มื้อต่อวัน ทานไขมันให้น้อยลง
อย่างหลังเป็นหลักเกณฑ์หรือแบบแผนการวัดที่จับต้องได้ ยิ่งเมื่อทำได้ สมองของเราจะยอมรับให้เดินหน้าทำต่อไป เพราะฉะนั้นความสำเร็จในแต่ละขั้นก็อยู่ไม่ไกล
- Attainable ความเป็นไปได้ในการทำสิ่งนั้นซึ่งคุณยอมรับได้ที่จะเสียเวลาและลงทุนกับมัน
ข้อนี้ไม่ได้ห้ามให้เราคิดทำการใหญ่ แต่นั่นต้องมาจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบแล้วว่า เรามีความสามารถ มีทรัพยากร มีเงินทุนหรือมีคนที่จะช่วยสนับสนุนในแต่ละขั้นตอน
- Relevant สิ่งนั้นมันใช่สำหรับคุณจริงๆ ใช่ไหม
คำถามสำคัญ คือ ทำไมคุณถึงอยากทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ? และ คุณทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร?
- Timely กำหนดตารางเวลาเพื่อลงมือทำ
เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก!
การกำหนดเวลาจะทำให้เป้าหมายเดินหน้าต่อ จากเป้าหมายย่อยหนึ่งไปยังอีกเป้าหมายหนึ่ง เหมือนอย่างที่เรามักบอกว่า “งานจะเดินก็ต่อเมื่อไฟลนก้น!” ฟังดูเหมือนขาดความรับผิดชอบแต่นี่ก็เป็นเรื่องจริงในทางปฏิบัติ การกำหนดตารางเวลาจึงสำคัญ
กำหนดเวลาที่เป็นไปได้จริงและมีความยืดหยุ่นโดยไม่สร้างความเสียหาย เพราะอาจมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นได้เสมอ การเข้มงวดกับเวลามากเกินไปอาจจำกัดกรอบความคิดและสร้างความกดดัน จนทำให้ไม่สามารถคิดแก้ปัญหาหรือคิดสร้างสรรค์ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ความยืดหยุ่นเรื่องเวลา แตกต่างจากการผัดวันประกันพรุ่ง เพราะอย่างหลังสะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบและไม่มีวินัย แต่การเผื่อเวลาไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เป็นแผนสำรองอย่างหนึ่งและเป็นเรื่องของทักษะการบริหารจัดการเวลาที่ดี
“เป้าหมายของฉันคือคะแนนที่ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ฉันจะต้องมั่นใจว่าฉันแบ่งเวลาสำหรับการทบทวนบทเรียนทุกสัปดาห์ และฉันจะไม่มาอดหลับอดนอนอ่านหนังสือแค่ตอนก่อนสอบอีก” มิเคลา วิลลาโม (Mikaela Villamo) นักศึกษา MIT ชาวฟิลิปปินส์ กล่าว
3. การตั้งเป้าหมายต้องคำนึงถึงสมดุลชีวิตระหว่างการเรียน การทำงานและสุขภาพด้วย
นักเรียนส่วนใหญ่มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตการเป็นนักเรียน คือ การสร้างสมดุลให้กับภาระและหน้าที่ที่แตกต่างกันไปตามความรับผิดชอบ
นักเรียน นักศึกษาส่วนหนึ่งนอกจากหน้าที่เรียน และภาระจากงานที่ได้รับมอบหมายในห้องเรียนแล้ว พวกเขายังต้องทำงานพาร์ทไทม์ส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ หลายคนอาศัยอยู่ในหอพัก ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรืออาจแยกมาอยู่ดูแลตัวเอง การสร้างสมดุลในชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง
แม้ประสบการณ์ทำงานตั้งแต่วัยเรียนจะเป็นใบเบิกทางที่ดี สะท้อนความพยายามและความมุ่งมั่น แต่ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ หากทำงานหนักจนเผลอหลับในห้องเรียนอยู่บ่อยๆ
ข้อสำคัญคืออย่าตั้งเป้าหมายเกินจริง ที่จะยิ่งสร้างความเครียด ความกดดันให้กับตัวเอง ทั้งในเรื่องสุขภาพ การเงินและเวลา
“ปีหน้าฉันมีเป้าหมายว่าจะถ่ายโอนวิชาเรียนจากสัตวศาสตร์ไปเป็นสัตวแพทย์ ซึ่งมีการแข่งขันสูง แต่ฉันจะพยายามอย่างดีที่สุด ฉันจะแบ่งเวลามาทุ่มเทกับการเรียนมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดีขึ้น จะหาประสบการณ์ทำงานจากการเป็นอาสาสมัครในฟาร์มหรือคลินิกสัตว์ต่างๆ” คี เฮง ยวง (Ki Heng Yeung) นักศึกษา MIT ชาวฮ่องกง กล่าว
4. มีความรับผิดชอบต่อเป้าหมาย
ในทางจิตวิทยาเชื่อว่าเป้าหมายจะมีพลังและมีความผูกพันกับเจ้าของเป้าหมาย ก็ต่อเมื่อเราบันทึก (เขียน) และบอกให้คนอื่นได้รับรู้ เพราะเมื่อประกาศออกไปแล้ว เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้นและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราพูด (accountability)
เพื่อนและครอบครัวมีส่วนช่วยได้ เพราะเมื่อเราบอกออกไป พวกเขาเป็นผู้รับสารที่รับรู้เป้าหมายที่วางไว้ ทำให้เรามีแรงจูงใจที่จะทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ
5. หมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่า “มาถูกทางแล้ว”
สิ่งที่สำคัญกว่าการคิด คือ คิดแล้วลงมือทำ แต่เมื่อทำแล้วสิ่งสำคัญต่อจากนั้น คือ การลงมือทำอย่างมุ่งมั่นไม่ไขว้เขว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อตรวจสอบตัวเองกับแผนที่บันทึกไว้อย่างต่อเนื่อง
กลับไปที่ข้อที่ 1 ลองนั่งลงแล้วทบทวนตัวเองว่า…
เราได้บรรลุสิ่งที่วางแผนลงมือทำในระยะสั้น (short-term objectives) เพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาว (long-term goals) ตามที่กำหนดไว้หรือไม่?
เราทำตามแผนได้ดีหรือมีข้อบกพร่องตรงไหน เพราะอะไร? หากไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ อะไรเป็นเหตุผลหันเหความสนใจของเรา?
มีอะไรในแผนที่เราควรปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงไหม?
เราสามารถขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาจากใครได้บ้าง?
วิธีคิดเรื่องการวางเป้าหมายตามแนวทางนี้สอดคล้องกับที่นักสร้างแรงบันดาลใจและโค้ชระดับโลกเห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็น แอนโธนี รอบบินส์ (Anthony Robbins), เลส บราวน์ (Les Brown), จิม โรห์น (Jim Rohn), บ็อบ พรอคเตอร์ (Bob Proctor), ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) และ ซิก ซิกลาร์ (Zig Ziglar)
พวกเขายืนยันว่าความสำเร็จในเป้าหมายใดๆ ก็ตาม เริ่มต้นจากการเขียนลงบนกระดาษ เก็บกระดาษนั้นติดตัวเอาไว้ แล้วหมั่นหยิบขึ้นมาอ่านทบทวน เหมือนเป็นการย้ำบอกตัวเอง และเพื่อให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันอยู่บนเส้นทางเดียวกับการเดินไปสู่เป้าหมาย
“การตั้งเป้าหมายเป็นขั้นตอนแรกของการทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้ปรากฏขึ้นได้” แอนโธนี รอบบินส์
“จงตั้งเป้าหมายไว้ที่ดวงจันทร์ เพราะถึงแม้คุณจะไปไม่ถึง คุณก็ยังอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว” เลส บราวน์
“จดทุกไอเดียของคุณ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่” ริชาร์ด แบรนสัน