- การเรียนรู้สำหรับเด็กไม่ควรผูกขาดเพียงระบบใดระบบหนึ่ง แต่ควรมีทางเลือกที่หลากหลาย เอื้อให้เด็กได้ค้นหาตัวเองอย่างอิสระ วิธีของโฮมสคูลจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เองตามความสนใจ และความพร้อม นำไปสู่การค้นพบความสามารถหรือความถนัดของตัวเอง
- หัวใจสำคัญของโฮมสคูลเทที คือการที่พ่อและแม่ให้ช่วงเวลาวัยเด็กของลูกได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตบนดอย สัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะโรงเรียนไม่มีสอน อีกทั้งพวกเขายังได้สนุกกับลูกด้วย
- “เราเชื่อว่าต่อให้เรียนโฮมสคูลแต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาหรือไม่จัดการเวลาให้ลูก มีปัญหาแน่นอน ถึงบอกว่ามันเป็นเรื่องของพ่อแม่เลยที่ต้องพร้อมมาก ต้องใส่ใจและมีเวลาให้เขา”
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก เทที – Tay T
“ทำโฮมสคูล เหนื่อยนะ เหนื่อยพ่อแม่มาก เพราะเราต้องอยู่กับเขาตลอด แล้วก็ต้องพยายามเข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วย” คลีโพ – ณัฐวุฒิ ธุระวร เอ่ยถึงการเริ่มต้นที่ไม่ง่ายของโฮมสคูลในเด็กเล็กสำหรับลูกของเขา
คุณคลีโพเป็นพ่อผู้ที่กำลังเริ่มต้นทำโฮมสคูลให้กับ ‘น้องเทที – คีตศิลป์ ธุระวร’ เด็กชายวัย 5 ขวบ เจ้าของเพลงที่เป็นไวรัลในช่วงเดือนที่ผ่านมาอย่างเพลง ‘อยากกินหมูกระทะกะเธอ’ น้ำเสียงสะท้อนความอัดอั้นตันใจ เพราะโควิด-19 แท้ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถไปกินหมูกระทะที่ร้านได้
นอกจากบทบาทความเป็นพ่อและโปรดิวเซอร์เพลงแล้ว เขายังต้องรับบทหนักไม่ต่างจาก ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ แห่งโฮมสคูลเทที รับหน้าที่จัดหางบประมาณในการใช้เสริมสร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนเพียงหนึ่งเดียวของที่นี่ โดยมีคุณแม่เป็นเสมือนคุณครูประจำชั้นที่สอนสารพัดวิชาตามแต่ความสมัครใจของผู้เรียน เพราะในอีกมุมหนึ่งบ้านกลายเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชายตัวน้อยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการแบ่งพาร์ทการทำงานให้ชัดเจนกันสักหน่อย
The Potential ชวนไปดูการเรียนรู้ของเด็กชายวัยอนุบาลผู้ไม่เคยไปโรงเรียน กับแนวทางการทำโฮมสคูลของครอบครัวนี้
โฮมสคูลเทที
โรงเรียนทางเลือกและการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล (Home School) ครอบครัวมีสิทธิในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาตามบริบทของผู้เรียน ความสนใจ และความพร้อม
หัวใจสำคัญคือ ความสนใจของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การค้นพบความสามารถหรือความถนัดของตัวเอง ซึ่งบางครั้งระบบโรงเรียนอาจไม่ตอบโจทย์นัก การเรียนรู้สำหรับเด็กจึงไม่ควรผูกขาดเพียงระบบใดระบบหนึ่ง แต่ควรมีทางเลือกที่หลากหลาย เอื้อให้เด็กได้ค้นหาตัวเองอย่างอิสระ
โดยจุดเริ่มต้นที่ครอบครัวตัดสินใจทำโฮมสคูลให้กับน้องเททีเป็นความตั้งใจของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ตั้งแต่เจ้าตัวเล็กยังไม่คลอด
“สิ่งแรกเลยคือ เราอยากเก็บโมเมนต์ช่วงเวลาเด็กของเขาไว้ ซึ่งเราเองก็มีเวลาเพราะงานที่ทำก็เป็นอิสระอยู่แล้ว หลักๆ เราทำโฮมสเตย์บนดอยชื่อ Thepoe – เดอะโพ อยู่ที่อำเภอกัลยาฯ เชียงใหม่ ก็จะเอาศิลปินโฟล์คหรือว่าศิลปินในกรุงเทพขึ้นไปทำกิจกรรมกับชุมชน กับเป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลง ทำอะไรที่เกี่ยวกับซาวน์ เพราะผมจบดนตรีมา แล้วแม่เขาก็เป็นครูสอนดนตรีอยู่แล้ว สอนเปียโนเด็กตั้งแต่สมัยเรียน ก็เลยแพลนกันว่าให้สอนลูกด้วย ในวัยนี้ก็ให้เรียนพวกเบสิก ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ตามความสนใจของลูก เน้นให้เรียนแบบที่ไม่ต้องท่องจำ”
เนื่องจากคุณพ่อมองว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนอาจไม่ค่อยมีผลกับพวกเขานัก โดยรูปแบบของโฮมสคูล ทำให้เขาสามารถนำความรู้และทักษะต่างๆ ปรับให้เหมาะกับลูกได้ นั่นคือ ให้เป็นธรรมชาติที่สุด ให้อิสระที่สุด และให้ไหลไปตามจังหวะที่ควรจะเป็น
“อย่างตัวเราเองเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปีในโรงเรียน จนเรียนจบปริญญาก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่เรามาได้ตอนไปเล่นดนตรีที่โรงแรมจำเป็นต้องฝึกร้องเพลงภาษาอังกฤษ ก็เลยได้อัตโนมัติเลย ในเพลงหนึ่งเพลงมันมีตัวละคร มีศัพท์ในนั้น มีรูปประโยค รอน้องโตหน่อยก็จะสอนภาษาอังกฤษผ่านเพลง เพราะเขาก็ชอบเพลงอยู่แล้วด้วย อันนี้ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละบ้านนะ”
หัวใจสำคัญของโฮมสคูลเททีนั้น จึงเป็นการที่พ่อและแม่ให้ช่วงเวลาวัยเด็กของลูกได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตบนดอย สัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะโรงเรียนไม่มีสอน อีกทั้งพวกเขายังได้สนุกกับลูกด้วย
โดยเริ่มต้นศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และอาศัยข้อมูลจากกลุ่มเครือข่ายที่ทำโฮมสคูล รวมถึงเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันมาหลายคนก็ใช้รูปแบบโฮมสคูลเช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการทำแผนการเรียนที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะต้องยื่นขออนุญาตจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือโรงเรียนที่มีการเปิดรับนักเรียนโฮมสคูล สำหรับวุฒิการศึกษาในอนาคต หรือถ้าวันหนึ่งลูกไม่เรียนโฮมสคูลแล้วก็จะสามารถใช้วุฒิการศึกษานั้นเข้าเรียนในระบบได้
“จริงๆ เคยไปกิจกรรมกับกลุ่มที่เป็นเด็กโฮมสคูลจากทั่วประเทศมาเจอกันที่เชียงดาว เป็นโฮมสคูลแบบเครือข่ายใหญ่เลย ก็จะมีกิจกรรมให้ทำ มีเด็กโฮมสคูลหลายวัย พ่อแม่แต่ละคนก็จะมีวิธีการเลี้ยงลูกที่เอามาแชร์กัน ก็ไปเห็นจากที่นั่น ก็จะได้เพื่อนจากที่นั่น พอได้ไปเห็นแล้วก็เหมือนมีหวังนะ เขาทำได้เราก็ทำต้องทำได้สิ”
ถ้าถามว่าก่อนตัดสินใจทำโฮมสคูลให้ลูกมีความกังวลอะไรบ้างไหม? คุณพ่อตอบทันทีว่าสำหรับตัวเขาและคุณแม่น้องเททีไม่มีความกังวลนัก เพราะเป็นการตัดสินใจที่เห็นพ้องต้องกัน แต่โฮมสคูลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับคุณย่าและคุณยาย เหตุผลหลักที่พวกท่านต่างเป็นห่วงนั่นก็คือ การที่เด็กต้องมีสังคม
“สุดท้ายแล้วเขาก็คิดแทนเด็กเอง เราก็ไม่เถียง เถียงไปก็รู้ว่าคำตอบจะเป็นยังไง แล้วมันจะเป็นพลังงานไม่ดี ทำงานไม่สนุก เราก็ใช้วิธีทำให้เห็น เหมือนวันที่พ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เราทำงานดนตรี ไม่ให้เรียนดนตรี เพราะนักดนตรีในสมัยนั้นเขาบอกว่าหากินมันไม่มั่นคง เต้นกินรำกิน จำได้เลยว่าตอนเข้ามหาลัยต้องไปเรียนสายเอดูเคชั่น เพื่อที่จะบอกว่า นี่คือดนตรีศึกษานะ จบออกมาเป็นครูได้”
เช่นกันกับการเลี้ยงลูกแนวโฮมสคูลที่ตอนนี้คุณย่าคุณยายได้เห็นแล้วว่า เด็กโฮมสคูลแม้ไม่ได้ไปโรงเรียนก็สามารถมีเพื่อน มีสังคมได้เหมือนเด็กคนอื่น
“เราเป็นคริสเตียน เรามีกิจกรรมที่โบสถ์ วันเสาร์ไปซ้อมดนตรี เขาก็มีกลุ่มเพื่อน แล้วก็จะมีเครือข่ายโฮมสคูลที่เพื่อนๆ หลายคนก็ทำโฮมสคูลเหมือนกันก็มาเจอกัน แล้วก็จะมีกลุ่มบ้านเรียนที่จะมีกิจกรรมประจำปี ก็จะคอยส่งภาพให้ทางบ้านดูว่า น้องมีเพื่อนนะ เรียนที่บ้านน้องก็อ่านหนังสือได้นะ อ่านผสมภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่สามสี่ขวบ เพราะว่าต่อให้เราสอนน้อยแต่เราใส่ใจ แล้วสุขภาพน้องก็ดี ไม่สบายแทบไม่มีเลย จะมีก็ปีละครั้งได้”
“เรารู้สึกว่ามันดีตรงที่เรารู้เราเห็นพัฒนาการลูก แล้วพัฒนาเขาได้ถูกจุด แล้วก็ความน่ารัก เราเห็นทุกอย่าง ถ้าเราไปฝากไว้กับครูเราจะสูญเสียการได้สัมผัสอะไรพวกนั้นที่เอากลับมาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเด็กโตเร็ว”
ห้องเรียนตามใจ ให้อิสระลูกได้เรียนและเล่น
คุณพ่อเล่าว่า ในแต่ละวันเททีจะต้องเรียนอย่างน้อย 15-30 นาที แต่จะไม่ได้มีตารางที่กำหนดวิชาและเวลาที่ชัดเจน เพราะทั้งคุณพ่อและคุณแม่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่จะได้ผลดีโดยเฉพาะในเด็กเล็ก อารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้อิสระจนเกินขอบเขต ซึ่งคุณพ่อบอกว่าสำหรับเททีเขาพูดคุยกันด้วยเหตุและผล
“เราต้องดูที่อารมณ์เด็กด้วย สมมติว่าเด็กไม่โอเคมันจะเล่นอะ แต่เราก็จะไปให้เขาเรียนมันไม่มีผลหรอก ไม่มีประโยชน์เลย ต่อให้เรียน 2 ชั่วโมงมันก็ไม่มีประโยชน์ ก็เลยจะไม่มีตารางเวลา แต่ว่าต้องเรียนทุกวัน”
โดยวิชาหลักๆ ที่จะต้องเรียนคือ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ไทย วิทยาศาสตร์ ยังมีภาษาปกาเกอะญอด้วย เพราะคุณพ่ออยากให้น้องได้ซึมซับภาษาถิ่น นอกเหนือจากนี้ก็ตามความชอบ ความสนใจของผู้เรียนในช่วงนั้นๆ
“หลังๆ มาเขาจะชอบวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เพิ่งซื้อหนังสือวิทยาศาสตร์ให้ไปชุดหนึ่ง แล้วก็ไปทำการทดลองตามนั้น ปีที่แล้วเขาชอบไดโนเสาร์ ก็จะรู้จักไดโนเสาร์ทุกสายพันธุ์เลย จนเราเองก็ได้เรียนรู้ไปกับเขาด้วย เมื่อก่อนเราไม่รู้เรื่องไดโนเสาร์เลย เหมือนเขาได้สอนเราด้วย เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”
“แม่จะไปหาหนังสือตามร้านหนังสือต่างๆ อย่างหนังสือภาษาไทยก็จะเป็นเรื่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ก็จะเป็นแบบอ่านกับแบบฝึกหัดที่ใช้เขียนตามรอยประให้เขาคัด แล้วก็ค่อยสอนเรื่องสระ การสะกดคำง่ายๆ พวกการอ่านนี่เพิ่งจะมาเริ่มตอน 5 ขวบ ให้ฝึกเขียนตามรอยก่อน คณิตศาสตร์ก็จะเป็นแบบฝึกหัดง่ายๆ การบวกลบเลข การจำแนก ตรรกะ ฝึกตัดกระดาษ
อย่างภาษาอังกฤษจะเรียนอ่านแบบ Phonics เวลาอ่านจะอ่านไม่ใช่ A B C จะเป็นแบบ แอะ เบอะ เคอะ แม่ก็จะออกเสียง Cat แล้วให้เขาเขียนเองว่า Cat มีตัวอะไรบ้าง ส่วนกิจกรรมส่วนมากพ่อเขาจะพาออกไปเล่นข้างนอกอยู่แล้ว” ชนิยา อินทะพันธุ์ คุณแม่น้องเททีพูดเสริม
หลังจากเวลาเรียนคุณพ่อก็จะให้เวลาในการเล่นกับลูกสองชั่วโมง เช่น เตะฟุตบอล ที่ช่วงนี้จะสนใจพิเศษ คุณพ่อบอกว่าถ้าไม่ติดโควิด-19 ทุกๆ เย็นคงพาเททีไปเข้าอะคาเดมีแถวๆ บ้านแล้วละ
“ช่วงนี้เขาเริ่มสนใจกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่ในบ้าน ที่บ้านมีสนามหญ้าด้วยก็จะออกแนวแอดเวนเจอร์หน่อยๆ แล้วเททีกินเก่งก็จะโตกว่าเด็ก 5 ขวบทั่วไป แล้วก็เริ่มเล่นแรง เริ่มใช้พลัง สนใจหุ่นยนต์ การต่อสู้ แล้วพอเห็นเขาสนใจเราสนับสนุนเลยนะ แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้เราออกไปไหนไม่ได้”
อีกทั้งยังมีชั่วโมงดนตรีด้วย ซึ่งไม่ได้เน้นว่าลูกจะต้องเล่นดนตรีเป็น เพียงแต่อยากให้เขาได้ซึมซับดนตรีเข้าไปในหัวใจเท่านั้นเอง โดยจะมีกิจกรรมเล็กๆ เช่น เล่นทายเพลงกัน
“แล้วผมมีวิธีเช็คเพลงอย่างหนึ่ง คือ ผมจะให้น้องฟัง ถ้าเขาฟังแล้วร้องได้เลยแบบติดหู ออกไปข้างนอกออกไปเล่นก็ร้องไปด้วย แสดงว่าเพลงนี้มีทีท่าว่าจะดัง เพราะว่าทำให้เขาจำง่ายแล้วก็ติดปาก อย่างเพลงตอนนี้ก็มี อยากกินหมูกระทะกับเธอ ส้มตำไก่ย่าง บ้านเล็กในป่าสน แล้วตอนนี้ที่กำลังจะปล่อยก็คือ ฉันจะเป็นเด็กดี”
ในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับโฮมสคูลในวัยอนุบาลของเทที จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ค่าสื่อการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น หนังสือ กับค่ากิจกรรมนอกสถานที่
“หนังสือก็จะใช้เงินเยอะหน่อย มีซื้อจักรยาน สเก็ตบอร์ด โรลเลอร์เบดให้ด้วย ก็จะมีค่าอุปกรณ์พวกนี้ด้วย แต่เราประหยัดมากเลยนะ เดือนนึงไม่เกิน 5,000 บาท แต่ก็แล้วแต่เดือนด้วย อย่างตอนไม่มีโควิดอาทิตย์หนึ่งก็จะตั้งไว้ให้ซื้อหนังสือได้ 500-1,000 บาท พอเจอสถานการณ์แบบนี้มันก็ต้องปรับหมด อะไรที่เรียนรู้หรือเล่นกันได้ก็เล่นไป เพราะโฮมสเตย์ก็ต้องปิด งานดนตรีก็ไม่มี”
พัฒนาการตามวัยของเด็กชายเทที
คุณพ่อเล่าว่า ตัวเขาเองโตมากับอะไรที่ผู้ใหญ่บอกไม่ได้ก็คือไม่ได้ และจะไม่กล้าถามนัก ผิดกับเททีที่เป็นเด็กเรียนรู้เร็ว ช่างเจรจา และมีคำถามเสมอว่า เพราะอะไรทำไมถึงทำไม่ได้? จนคนที่บ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บางวันก็เมากับคำถามของเททีเหมือนกัน แต่บางครั้งก็เอาแต่ใจต่อให้มีเหตุผลก็ตาม
“ด้วยความที่อยู่กับเราเยอะ อยู่ด้วยกันตลอด มีเราเป็นเพื่อนเล่น พอเบื่อจากเล่นคนเดียวก็จะมาหาเรา ไหวก็ตอบไหว ไม่ไหวก็ต้องบอกเขาไม่ไหว รำคาญก็บอกว่ารำคาญให้หยุดก่อน ก็ต้องให้เขาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากตรงนี้ แต่จะไม่ใช่วิธีการขู่ให้กลัว เรามองว่าการขู่ให้เขากลัวมันก็ไม่ดีนะ บางอย่างที่ดีเราก็เอามาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ไม่ใช่บอกว่าวิธีคิดแบบเมื่อก่อนไม่ดีนะ อย่างที่บอกครับเหนื่อยมากเวลาคุยกับเด็ก ต้องคิดหลายชั้น พูดไปเขาจะไม่โอเครึป่าว จะขาดความมั่นใจไหม ก็เลยต้องอธิบายเป็นเคสๆ ไป”
และจากที่สังเกตคุณพ่อบอกว่า เด็กต่อให้จะเล่นซนกับเราแค่ไหน เขาก็อยากมีเวลาของเขาคนเดียวที่ไม่ต้องการให้ใครมายุ่ง ขอใช้เวลา ใช้สมาธิในทดลองอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง เสร็จแล้วก็จะมาเล่าให้ฟังเอง
“เรื่องสุขภาพกายและใจก็ดีมาก ยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้เขาเข้าใจนะ แล้วก็รับรู้หมด รู้ว่าโควิดเป็นโรคติดต่อยังไง ติดยังไงเวลาซื้อของมาที่บ้านต้องฉีดแอลกอฮอล์ ต้องล้างมือบ่อยๆ แล้วก็ร่าเริงมาก มากจนต้องบอกว่า alert ให้น้อยลงหน่อยได้ไหม ช่วงนี้มีรายการในยูทูบด้วย เขาก็ขอทำเองเลยนะ มีโกโปรตัวนึง ถ่ายรายการเองเลย เช้ามาก็จับกล้องถ่ายเอง สวัสดีครับ วันนี้ผมจะรีวิว… พูดจนคล่องเลย แต่เรายังไม่มีเวลาตัดต่อ มีเยอะมาก”
สำหรับในช่วงโควิด-19 ที่กระทบกับการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งครู เด็ก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเครียดกันมากขึ้น เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กที่กำลังถดถอย พ่อแม่รับภาระทั้งค่าใช้จ่ายในบ้านและต้องสอนหนังสือลูกโดยเฉพาะในเด็กเล็ก สำหรับครอบครัวโฮมสคูลอย่างของเทที คุณพ่อบอกว่าไม่ต้องปรับตัวมากนัก เพราะที่ผ่านมาก็เรียนและเล่นกันแบบนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ว่าช่วงนี้ไปไหนไม่ได้ จำเป็นต้องมีกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น
“เราเองไม่มีความเครียดกับตรงนี้ แต่เราก็คุยกับแม่เขาว่าคนที่เขาพาลูกไปโรงเรียนแล้ววันนี้ต้องเรียนอยู่บ้าน น่าจะเหนื่อยกันนะ แล้วแม่เขาก็บอกว่าเพื่อนเขาจะตีกับลูกอยู่แล้ว เพราะอยู่บ้านด้วยกันตลอด จากที่ไม่เคยอยู่กับเขานานๆ แบบนี้ พอต้องมาอยู่ด้วยกันทั้งวันก็ปรับตัวยาก”
“เราเชื่อว่าต่อให้เรียนโฮมสคูลแต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาหรือไม่จัดการเวลาให้ลูก มีปัญหาแน่นอน ถึงบอกว่ามันเป็นเรื่องของพ่อแม่เลยที่ต้องพร้อมมาก ต้องใส่ใจและมีเวลาให้เขา”