Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Learning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trend
  • Life
    Healing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/CrisisLife classroom
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
Myth/Life/Crisis
6 August 2021

พ่อเป็นห่วงเธอมากนะนาร์ซิสสัส (เพราะเธอดูอินโทรเวิร์ต?)

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ลักษณะความเป็นอินโทรเวิร์ต (Introvert) มีหลากหลายมิติ แต่ภาพจำของคนส่วนใหญ่มองว่าคนอินโทรเวิร์ตเข้าถึงยาก ไม่สนใจสังคม คนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายว่าจะเป็นอินโทรเวิร์ตก็อาจเคยถูกผู้ใหญ่บางคนบอกว่าคุณมีอะไรที่ ‘ไม่โอเค’ ต้อง ‘ปรับตัว’ ต้องรู้จักคลุกคลี อย่าเป็นพวกชอบขลุกกับตำราที่เข้าสังคมไม่เก่งและไม่เกิดผลประโยชน์ด้านงานการ ฯลฯ
  • คนอินโทรเวิร์ตมีแนวโน้มไปในทางตั้งรับ อีกทั้งชอบเชื่อมโยงกับผู้อื่นแบบหนึ่งต่อหนึ่งอย่างมีคุณภาพ ชอบการสนทนาเชิงลึกมากกว่าการคุยเจ๊าะแจ๊ะไปเรื่อย พวกเขาชอบใคร่ครวญและมักเก็บงำความรู้สึกไว้กับตัว อีกทั้งประมวลความรู้สึกนึกคิดมากมายเหลือเกินอยู่ภายใน โดยมักคิดว่าคนอื่นคงไม่สนใจ ซึ่งก็อาจทำให้คนแบบอื่นมองว่าเข้าถึงยาก
  • บทความนี้ ภัทรารัตน์ จะพาไปรู้จักกับอินโทรเวิร์ตผ่านตัวละคร นาร์ซิสสัส จากวรรณกรรม นาร์ซิสสัสกับโกลด์มุนด์ (Narcissus and Goldmund)

1.

ณ มาเรียบรอนน์ (Mariabronn) อารามยุคกลางแห่งหนึ่งในชนบทของเยอรมันโกล์ดมุนด์ หนุ่มน้อยผู้มีจิตวิญญาณแบบศิลปินจำต้องมาเป็นนักเรียนในอาราม เพื่อบวชในอนาคตตามความต้องการของพ่อ (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง โกลมุนด์: ความทรงจำที่ถูกฝังกลบ การเยียวยาผ่านความฝัน และสัญญาณการเปลี่ยนแปลง)

ในอารามนั้นมีบุคคลผู้น่าเลื่อมใสอยู่สองท่าน นั่นคือท่านแดเนียล สมภารผู้มีความเมตตาและเรียบง่าย และนาร์ซิสสัส ครูหนุ่มผู้สามารถหยั่งรู้บุคลิกภาพและชะตากรรมของคนอื่น นาร์ซิสสัสไม่เกกมะเหรกเกเรเหมือนคนหนุ่มในวัยเดียวกัน เขาพอใจชีวิตสันโดษอันมีกำแพงกับโลกภายนอกในระดับหนึ่ง ที่ทำให้เขาได้มีเวลาใคร่ครวญสิ่งต่างๆ เรียนรู้ศิลปะวิทยาและอุทิศตนแด่พระเจ้า แม้นาร์ซิสสัสจะเฉลียวฉลาด แต่ท่านแดเนียลก็เป็นห่วงนาร์ซิสสัสและเคยถึงกับคิดว่าเขาเป็นคนยโสที่สามารถกลบมันไว้มิดชิดเท่านั้น บุคลิกภาพหลายอย่างของเขา ทำให้ท่านแดเนียลกังวลจนถึงกับต้องเอ่ยออกมาครั้งหนึ่งว่า “พ่อเป็นห่วงเธอมากนะนาร์ซิสสัส…เธอมีคนชื่นชอบมากมาย แต่เธอไม่มีเพื่อน”

กระนั้น แท้จริงแล้วนาร์ซิสสัสได้ถักทอมีมิตรภาพอันลึกซึ้งกับโกล์ดมุนด์ ซึ่งมีอุปนิสัยแตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง โกล์ดมุนด์ต้องการออกไปใช้ชีวิตอิสระอันเปิดกว้างต่อผัสสาการที่น่าตื่นเต้น เขาได้เข้าพัวพันลิ้มรสหอมหวานกำซาบจากผู้หญิงมากมาย ทั้งได้ศึกษาลักษณะต่างๆ ของพวกเธออย่างศิลปินที่สัมผัสกับชีวิตอย่างล้ำลึก เขาเคยเป็นฆาตกรและพร้อมจะใช้ชีวิตเร่ร่อนไป ครั้งหนึ่ง เขายั่วยวนนางบำเรอของเจ้าเมืองกระทั่งถูกจับขังคุกรอการประหาร 

แต่โชคชะตาก็พาให้นาร์ซิสสัสได้ไปเจอกับโกล์ดมุนด์ในคุกแห่งนั้น จึงช่วยเขาพากลับมายังอารามที่บัดนี้ตนเป็นเจ้าอาวาส ในเบื้องปลายของชีวิต โกลด์มุนด์ประสบอุบัติเหตุจากการขี่ม้าและกลับไปสิ้นใจ ณ อาราม ทิ้งให้นาร์ซิสสัสตั้งคำถามว่าชีวิตในวิถีของตนเองนั้นเป็นชีวิตที่สมบูรณ์หรือไม่?

2.

มีคนจำนวนมากที่ได้อ่าน นาร์ซิสสัสกับโกลด์มุนด์ (Narcissus and Goldmund) ซึ่งเขียนโดย เฮอร์มาน เฮสเส สะท้อนว่านาร์ซิสสัสมีลักษณะอินโทรเวิร์ต (Introvert) แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่าอินโทรเวิร์ตเป็นอย่างไร? ตามการแบ่งจากหนังสือ Understanding Your MBTI Step II Results มิติของความเป็นอินโทรเวิร์ตมีหลากหลาย โดยในด้านการเชื่อมโยงกับผู้อื่นนั้น คนอินโทรเวิร์ตมีแนวโน้มไปในทางตั้งรับ อีกทั้งชอบเชื่อมโยงกับผู้อื่นแบบหนึ่งต่อหนึ่งอย่างมีคุณภาพ เฉกเช่นที่นาร์ซิสสัสสานสายใยกับโกล์ดมุนด์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งแม้โกล์ดมุนด์จะเป็นเพื่อนคนเดียวที่เขาผูกพันด้วยอย่างมาก แต่นั่นก็คือคนที่สำคัญกับเขา คนอินโทรเวิร์ตชอบความสัมพันธ์เช่นนี้มากกว่าจะอยู่เป็นฝูง

คนอินโทรเวิร์ตชอบการสนทนาเชิงลึกมากกว่าการคุยเจ๊าะแจ๊ะไปเรื่อย พวกเขาชอบใคร่ครวญและมักเก็บงำความรู้สึกไว้กับตัว อีกทั้งประมวลความรู้สึกนึกคิดมากมายเหลือเกินอยู่ภายใน โดยมักคิดว่าคนอื่นคงไม่สนใจ ซึ่งก็อาจทำให้คนแบบอื่นมองว่าเข้าถึงยาก พวกเขามักเรียนรู้ได้ดีผ่านการอ่านและเขียน อีกทั้งชอบบรรยากาศอันสงบและมักจะรู้สึกถูกรบกวนจากเสียงดังอึกทึก

3.

ถ้าหากคุณมีลักษณะต่างๆ สอดคล้องกับลักษณะของคนอินโทรเวิร์ตข้างต้น ก็อาจเคยถูกผู้ใหญ่อีกลักษณะหนึ่งบอกว่าคุณมีอะไรที่ ‘ไม่โอเค’ คุณต้อง ‘ปรับตัว’ คุณต้องรู้จักคลุกคลี อย่าเป็นพวกชอบขลุกกับตำราที่เข้าสังคมไม่เก่งและไม่เกิดผลประโยชน์ด้านงานการ ฯลฯ อีกมากมายซึ่งอาจเป็นการสอนสั่งด้วยความเป็นห่วงในทำนองเดียวกับที่เจ้าคุณแดเนียลห่วงใยนาร์ซิสซัส (โกลด์มุนด์ก็อาจโดนผู้ใหญ่พร่ำบ่นอย่างเป็นห่วงเหมือนกันในประเด็นอื่น แต่เขาก็จะทำตามหัวใจตัวเองอยู่ดี) 

คนที่เข้าเค้าอินโทรเวิร์ตซึ่งได้ยินอะไรทำนองนี้มาตลอดชีวิต ก็อาจพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมมาอย่างมากแล้ว โดยบ้างก็อาจถึงกับลืมเลือนด้านดีของความเป็นอินโทรเวิร์ตไปเลย ในที่นี้จึงขอยกประโยชน์สองข้อที่มีแนวโน้ม (แปลว่า ไม่เสมอไป) จะเกิดขึ้นจากลักษณะอินโทรเวิร์ตมาให้อ่านกัน 

  1. แนวโน้มในการเป็นผู้ฟังที่ดี นักจิตวิทยาคลินิก Laurie Helgoe ซึ่งเขียนหนังสือ Introvert Power กล่าวว่า “ผู้ฟังที่ดีวางตนเป็นกลางในขณะที่พยายามเข้าใจผู้พูด” สอดคล้องกับนิยามที่ว่า “ผู้ฟังที่ดีได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริง โดยไม่เอาประสบการณ์ตัวเองไปตัดสินหรือหมกมุ่นว่าจะพูดอะไรต่อ” คนอินโทรเวิร์ตมีแนวโน้มจะตั้งใจรับฟังเรื่องราวของคู่สนทนาเกินกว่าแค่คุยเล่นเอาเพลิน เมื่อรับเอาสิ่งที่คู่สนทนาพูดเข้ามาแล้วก็มักคิดใคร่ครวญในหัวเงียบๆ ก่อนจะพูดอะไรกลับไป จึงสามารถทำให้ผู้พูดรู้สึกว่า ‘ถูกได้ยิน’ และมีพื้นที่ ไม่แปลกใจเลยที่คนอินโทรเวิร์ตหลายคนจะทำงานด้านจิตวิทยาบำบัดได้ดี เพราะมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ฟังในระดับลึกได้นั่นเอง
  2. แนวโน้มจะชื่นชมสิ่งเล็กน้อยรอบตัวได้ง่ายและไม่ต้องการอะไรมากมายเพื่อจะรู้สึกดี ในช่วงปีค.ศ.1960 มีสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์เราแสวงหาการกระตุ้นในระดับพอดี (สามารถค้นหาเพิ่มเติมจากนักจิตวิทยาชื่อ Hans Eysenck) และในขณะที่คนประเภทอื่นต้องการสิ่งกระตุ้นที่เยอะกว่าเพื่อให้กระปรี้กระเปร่า หรือพ้นไปจากความเบื่อหน่าย คนอินโทรเวิร์ตอาจต้องการเพียงหนังสือสักเล่มกับห้องเงียบๆ หรือการไดอะล็อคเรื่องที่มีความหมายกับเพื่อนสักคน หรือการได้สูดกลิ่นดินหญ้าหลังฝนหรือมองพระอาทิตย์ตกดิน นั่นก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ พวกเขามักจะสามารถจะทำอะไรไปคนเดียวได้โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว การกินข้าวหรือไปเที่ยวคนเดียวไม่ได้เป็นเรื่อง ‘น่าสงสารเห็นใจ’ แต่เป็นห้วงเวลาแห่งความรื่นรมย์ด้วยซ้ำ การถูกห้อมล้อมด้วยคนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของเขาอาจทำให้เขารู้สึกเหงายิ่งกว่า 

อย่างไรก็ตาม ที่บรรยายมาข้างต้นนี้อาจซ้อนทับกับลักษณะของ บางคน ที่อ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูงหรือ Highly Sensitive Person ซึ่งจะขอย่อว่า HSP กล่าวคือ คนที่มีระบบประสาทไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น แสง อารมณ์ของคนอื่น คาเฟอีน เสียง ฯลฯ อีกทั้ง HSP อาจเป็นเหมือนฟองน้ำที่ซับความละเอียดออกในบรรยากาศแวดล้อมเข้ามาได้ง่าย ทำให้ระบบประสาทเหนื่อยล้าได้ง่ายเช่นกัน 

ดร.อารอน (Elaine N. Aron) กล่าวว่าคนลักษณะนี้มีอยู่ประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ซึ่งในสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการสูงต่างๆ ในสายพันธุ์เดียวกัน ก็สามารถพบสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวสูงในสัดส่วนประมาณนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เธอได้แยกความแตกต่างระหว่าง HSP กับลักษณะอินโทรเวิร์ต ไว้ในหนังสือชื่อ The Highly Sensitive Person: How to Thrive When the World Overwhelms You โดยบอกว่ามี HSP ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ที่มีลักษณะอินโทรเวิร์ต ซึ่งซูซาน เคน (Susan Cain) ผู้เขียน Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking ก็ได้กล่าวถึงงานของดร.อารอนไว้ในหนังสือของตนด้วย

ถ้าหากคุณมีลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่ามันจะสะท้อนความเป็นอินโทรเวิร์ตหรือความอ่อนไหวไวต่อสิ่งเร้าสูงก็ตาม (ซึ่งก็อาจไม่จำเป็นต้องจัดประเภท) อยากทิ้งคำถามว่า ในช่วงที่โรคโควิดระบาดซึ่งทำให้ต้องจำกัดการเดินทางไปพบปะผู้คนหรือต้องทำงานจากบ้านนั้น คุณรู้สึกเหนื่อยล้าน้อยกว่าเดิมหรือไม่? 

4.

เรามักได้รับการ ‘สั่งสอน’ ต่างๆ นานาว่าควรสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร แต่นาร์ซิสซัสก็ไม่ได้ผิดอะไรที่จะดำเนินชีวิตแบบที่ชอบปลีกวิเวกเพื่ออุทิศตนในสิ่งที่เขาสนใจในลักษณะที่ดูมีปราการระดับหนึ่งกับโลก ขณะเดียวกันโกลมุนด์สามารถเพิ่มพูนความตระหนักรู้อันลึกซึ้งผ่านการนัวเนียกับโลกภายนอก ลองผิดลองถูกและบาดเจ็บตามวิถีของเขา ผู้คนมากมายที่นาร์ซิสซัสออกไปสัมผัสนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น ‘เพื่อน’ เขาอย่างแท้จริงเหมือนกับนาร์ซิสซัส บุคคลทั้งสองเป็นดั่งลมหายใจเข้าและออก ซึ่งแม้โน้มเอียงไปคนละทิศทางแต่ก็มิได้แยกจากกัน

ไม่มีใครใช้บุคลิกใดแค่อย่างเดียว เพียงแต่อะไรจะมากกว่าและในช่วงไหนเท่านั้น  

ซึ่งแม้ว่าความสมดุลจะยังคงมีความสำคัญ รวมทั้งไม่ว่าคนอื่นจะพูดอย่างไรก็ตาม สุดท้ายเราเองนั่นแหละที่ต้องเลือกว่าจะสัมพันธ์กับโลกนี้อย่างไร โดยที่ไม่ลืมข้อดีของตัวเอง

อ้างอิง
นาร์ซิสสัสกับโกลด์มุนด์  (Narcissus and Goldmund) โดย เฮอร์มาน เฮสเส แปลเป็นภาษาไทยโดย สดใส ขันติวรพงศ์
Introducing Jung โดย Maggie Hyde
Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking โดย Susan Cain
The Highly Sensitive Person: How to Thrive When the World Overwhelms You โดย Elaine N. Aron ในหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงงานของอาวริล ธรอน ซึ่งศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงอินโทรเวิร์ทสูงและเอ็กซ์โทรเวิร์ทสูง และงานวิจัยอื่นๆ อีกมาก ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากงานวิจัยหนึ่งๆ ไม่อาจเอามาเป็นภาพแทนของอินโทรเวิร์ททั้งหมดนอกงานวิจัยได้ บทความใน Potential นำข้อมูลจากหลายแหล่งที่สอดคล้องกันมาเขียนโดยเน้นภาพรวมเพื่อให้อ่านง่ายและมิได้มุ่งให้เป็นวิชาการจนเกินไปนัก  
Looking at TYPE โดย เอิร์ล C. Page ตีพิมพ์โดย Center for Applications of Psychological Type และ Understanding Your MBTI Step II Results
Are Introverts The Best Listeners?
How You Can Tell That You’re an Introvert 
Introverts: this is why working from home is the wake-up call you never knew you needed
The Surprising Benefits of Being an Introvert
7 Reasons to Celebrate Being an Introvert 

Tags:

แบบแผนทางความสัมพันธ์อินโทรเวิร์ต (Introvert)นาร์ซิสสัสกับโกลด์มุนด์  (Narcissus and Goldmund)

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Movie
    Shoplifters : การรวมตัวกันของคนไม่รู้จัก สร้างหลุมหลบภัยที่ขออ้อมแขนจากคนไม่ทำร้ายกัน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    The Mitchells vs. The Machines : อย่าบอกให้ขอโทษเพียงเพราะเราเด็กกว่า

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Family Psychology
    การเข้าใจผิดเรื่องการเลี้ยงดู EP.3 ความรักที่ไม่เคยได้รับในวัยเยาว์ บาดแผลทางใจที่รอการเยียวยา

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Early childhoodFamily Psychology
    ถ้อยคำทำร้ายลูก(1) ทำไมโง่อย่างนี้ ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย ทำได้แค่นี้แหละ โกหก!

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Life classroom
    ฮาวทูทิ้ง: มอง “ตัวละคร” ผ่านเลนส์จิตวิทยา เมื่อเราต่างมี “ฮาวทู” จัดการความสัมพันธ์ในแบบของตัวเอง

    เรื่อง ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel