- รพินทรนาถ ฐากูร กวีชาวอินเดีย ผู้มีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพสง่างามเหมือนฤาษี และมีเวทย์มนต์เสกให้ตัวอักษรเรียงร้อยร่ายรำได้อย่างอ่อนหวาน เศร้าสร้อย งดงาม และลึกซึ้งกินใจที่สุด
- การเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม คงเป็นสิ่งยืนยันความเป็นกวี – ปรัชญาเมธี ของมหาบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
- งานกวีนิพนธ์ของฐากูร มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่โดดเด่นจนผู้เขียนขอหยิบมาเขียนถึง อาจแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ บทกวีบูชาพระผู้เป็นเจ้า บทกวีรักโรแมนติก และบทกวีสำหรับเด็ก คงทำให้ผู้อ่านพอเห็นการมองโลกของฐากูรผ่านปลายปากกาเขา
นอกเหนือจากการเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแล้ว สมัญญานามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อมดแห่งถ้อยคำ, กาลิทาสแห่งปัจจุบันยุค, เกอเธ่แห่งอินเดีย หรือเช็คสเปียร์แห่งโลกตะวันออก ล้วนเป็นสิ่งยืนยันความเป็นกวี-ปรัชญาเมธี ของมหาบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึง รพินทรนาถ ฐากูร กวีชาวอินเดีย ผู้มีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพสง่างามเหมือนฤาษี และมีเวทย์มนต์เสกให้ตัวอักษรเรียงร้อยร่ายรำได้อย่างอ่อนหวาน เศร้าสร้อย งดงาม และลึกซึ้งกินใจที่สุด
นับตั้งแต่บทกวีของฐากูร ปรากฎสู่สายตาชาวโลก งานศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากการเรียงร้อยถ้อยคำตัวอักษร ยังคงประทับในจิตใจของนักอ่านตราบจนทุกวันนี้ และที่น่าทึ่งอย่างยิ่งก็คือ งานกวีนิพนธ์ของฐากูร มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่โดดเด่นจนต้องหยิบมาเขียนถึง อาจแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ บทกวีบูชาพระผู้เป็นเจ้า บทกวีรักโรแมนติก และบทกวีสำหรับเด็ก
บทที่ 1 – บทกวีแห่งจิตวิญญาณ
“กี่ยุคสมัย..เปลี่ยนผ่าน
กวีกานต์ยังยืนยงดำรงอยู่
น้อมนำสาสน์ผู้สร้าง-ผู้หยั่งรู้
หากศรัทธายังคงอยู่คู่เคียงคน”
รพินทรนาถ ฐากูร เกิดในตระกูลอันมั่งคั่งแห่งนครกัลกัตตา ซึ่งนอกจากจะจัดอยู่ในวรรณะพราหมณ์แล้ว ยังเป็นตระกูลที่มีความเกี่ยวพันกับศิลปะวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด และภูมิหลังตรงนี้เอง ทำให้ฐากูรดื่มด่ำและซึมซับในงานศิลปะหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวรรณศิลป์
กวีนิพนธ์รางวัลโนเบล ‘คีตาญชลี’ ถือเป็นงานชิ้นแรกที่ทำให้โลกได้รู้จักฐากูร ถูกจัดเป็นงานเขียนประเภท Lyrics หรืองานเขียนประเภทกาพย์ หรือคำร้องสั้นๆ ที่ใช้ประกอบเสียงดนตรี (คีตาญชลี เป็นภาษาสันสกฤติ แปลว่า การบูชาด้วยเสียงเพลง) เพื่ออุทิศให้แก่ ‘พระผู้เป็นเจ้า’
แม้ว่าตระกูลฐากูรจะนับถือศาสนาฮินดู นิกายไวษณพ ซึ่งนับถือพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) เป็นเทพสูงสุด ทว่าพระผู้เป็นเจ้าในความหมายของฐากูร แตกต่างจากความเข้าใจของชาวฮินดูทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
จงเลิกเสียเถิด การท่องมนต์บ่นภาวนา!
จงเลิกเสียเถิด การนับลูกประคำ!
เจ้ากำลังกราบไหว้บูชาใครอยู่คนเดียวในมุมมืดของวิหาร ที่ประตูหน้าต่างปิดเสียหมดเช่นนี้
จงลืมตาขึ้นเถิด จงดูเกิดว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทับอยู่ที่นี่ดอก!
พระองค์ทรงอยู่กับชาวนาที่กำลังไถคราดอยู่บนพื้นดินอันแตกระแหง…
(หมายเหตุ – จากหนังสือ คีตาญชลี : รพินทรนาถ ฐากูร รจนา, กรุณา-เรืองอุไร กุศลาลัย แปล)
อาจกล่าวได้ว่า พระผู้เป็นเจ้าในความหมายของฐากูร คือ มนุษย์ปุถุชนคนเดินดินธรรมดานี่เอง เหมือนดังเช่นที่ สพุชโกลี เซน ผู้สอนวิชาปรัชญาและศาสนา ที่วิศวภารติ ศานตินิเกตัน กล่าวไว้ว่า “พันธกิจของรพินทรนาถ คือ ทำมนุษย์ให้เป็นพระเจ้า และทำพระเจ้าให้เป็นมนุษย์“
หากพระผู้เป็นเจ้า คือ มนุษย์ปุถุชน สิ่งสักการะสูงสุดที่พระองค์ทรงวาดหวังจากมนุษย์ ย่อมไม่ใช่ธูปเทียนเครื่องบัดพลีบวงสรวง หรือการฆ่าสัตว์บูชายัญ หากแต่เป็น ‘ความรัก’
ขณะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรอ
ให้พระวิหารของพระองค์ถูกสร้างขึ้นด้วยรัก
มนุษย์ก็ขนศิลามา
(หมายเหตุ – จากหนังสือ หิ่งห้อย : รพินทรนาถ ฐากูร ถอดความเป็นภาษาไทยโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา, ระวี ภาวิไล)
ด้วยความรักและศรัทธาในมนุษย์ ฐากูรจึงไม่เห็นด้วยกับการสละโลกียสุข เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นส่วนตัว แต่เชื่อมั่นในการอุทิศตนทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านการศึกษา ซึ่งฐากูรได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิศวภารติ ที่มีคำขวัญประจำสถาบันว่า ‘สถานอันเป็นที่พำนักพักพิงของสากลโลก’
อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาที่ฐากูรนับถืออย่างแท้จริง คือ ศาสนาแห่งมนุษย์ ที่มีความเป็นสากล โดยปราศจากการแบ่งแยกวรรณะ เพศ หรือแม้กระทั่งเชื้อชาติ
บทที่ 2 – บทกวีแห่งความรัก
“กี่ยุคสมัย..เปลี่ยนผ่าน
กวีกานต์ยังยืนยงดำรงอยู่
แทนคำหวานปลอบประโลมโฉมพธู
ให้ยอดชู้สู่นิทราสุขารมย์”
บทกวีหลายชิ้นของฐากูร สะท้อนถึงความรักที่อ่อนหวาน หากแต่เศร้าสร้อยและอ้อยอิ่ง ซึ่งนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า กวีนิพนธ์ที่แสนหวานเหล่านี้ อุทิศให้แก่พระผู้เป็นเจ้า (ซึ่งบางครั้งฐากูรก็ใช้คำว่า ที่รัก เรียกแทนพระผู้เป็นเจ้า) แต่ก็มีอีกหลายคนที่เชื่อว่า เบื้องหลังบทกวีที่แสนรันทดและงดงามเหล่านี้ มีเรื่องรักเร้นลับซุกซ่อนอยู่
อย่าเก็บความลับแห่งหัวใจของเธอไว้แต่เพียงลำพังเลย
บอกฉันสิ บอกฉันคนเดียวเท่านั้น ไม่มีใครได้ยินหรอก
เธอผู้มียิ้มอ่อนโยนเอย
กระซิบมาเบาๆ ก็ได้นะ ไม่ใช่หูของฉันหรอกที่จะได้ยิน
แต่เป็นหัวใจของฉันต่างหาก…
(หมายเหตุ – จากหนังสือ คนสวน : รพินทรนาถ ฐากูร นิพันธ์, แดนอรัญ แสงทอง แปล)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ชีวิตรักของฐากูร มีคู่สมรสเพียงคนเดียว คือ มฤณาลินี เทวี ซึ่งครองคู่ด้วยกันนาน 19 ปี ก่อนที่เธอจะถึงแก่กรรมไป ซึ่งมรณกรรมของคู่ชีวิตสร้างความโศกเศร้าให้แก่ฐากูรเป็นอย่างยิ่ง โดยในหนังสือ ‘สมรณะ’ ที่เป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงภรรยาผู้ล่วงลับ ฐากูรได้เขียนไว้ว่า
“ก่อนที่จะจากไป เธอไม่มีโอกาสได้พูดจากับฉันแม้แต่คำเดียว
และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฉันได้เที่ยวตระเวณหาเธออย่างปราศจากความสมหวัง
แต่วันนี้ ฉันตระหนักดีแล้วว่า
ในห้วงลึกแห่งหัวใจ เราทั้งสองได้พบกันแล้ว”
(หมายเหตุ – จากบทความ สังเขปชีวิตและงานของรพินทรนาถ ฐากูร โดยเรืองอุไร กุศลาสัย)
ถึงกระนั้น มฤณาลินี เทวี ไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวในชีวิตของฐากูร และไม่ใช่สตรีคนเดียวที่เป็นแรงบันดาลใจให้ก่อเกิดกวีนิพนธ์แสนหวาน
กาดัมบารี เทวี สมรสกับชโยติรินทรนาถ ฐากูร พี่ชายของรพินทรนาถ ฐากูร ตั้งแต่เมื่อเธออายุเพียง 9 ขวบ หลังจากที่เข้าเป็นสะใภ้ในตระกูลฐากูรแล้ว ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกัน ทำให้เธอและเด็กชายรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งขณะนั้นอายุ 7 ขวบ กลายเป็นเพื่อนเล่นและเพื่อนรัก
การเขียนบทกวี คือ สิ่งดึงดูดฐากูรและกาดัมบารี เทวี เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งฐากูร ยอมรับว่า บทกวีที่แสนอ่อนหวานหลายชิ้นของท่าน ได้รับแรงบันดาลใจจากหญิงสาวผู้เป็นมิ่งมิตรและกัลยาณมิตรผู้นี้
ฉันอยากจะนั่งเงียบๆ อยู่ใกล้เธอ แต่ฉันไม่กล้า
ด้วยเกรงว่า..
หัวใจของฉัน จะกล่าวความรู้สึกที่ฉันมีต่อเธอ ผ่านริมฝีปากออกมา
(จากหนังสือ คนสวน : รพินทรนาถ ฐากูร นิพนธ์, แดนอรัญ แสงทอง แปล)
หลังจากฐากูร เข้าพิธีวิวาห์กับมฤณาลินีได้เพียง 4 เดือน กาดัมบารี เทวี พี่สะใภ้วัย 25 ปีของฐากูร ฆ่าตัวตาย ขณะที่คนในตระกูลฐากูร ไม่มีใครปริปากพูดถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายครั้งนี้ มีเพียงกวีหนุ่มฐากูร ที่ยังอุทิศบทกวีหลายชิ้นให้กับเธอผู้ล่วงลับ
แม้จะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า กวีนิพนธ์บทไหนที่ฐากูรเขียนให้กาดัมบารี เทวี แต่สิ่งหนึ่งที่นักอ่านทุกคนรู้สึกได้ ก็คือ บทกวีที่เกี่ยวข้องกับความรักทุกชิ้นของฐากูร ล้วนมีความรู้สึกรวดร้าวซุกซ่อนอยู่ในนั้น
บทที่ 3 – บทกวีแห่งความไร้เดียงสา
“กี่ยุคสมัย..เปลี่ยนผ่าน
กวีกานต์ยังยืนยงดำรงมั่น
เพื่อเด็กน้อย และรอยยิ้มนั้น
เพื่อความฝัน ความเศร้าที่เราลืม”
แม้จะประสบพบเจอเรื่องราวที่แสนรวดร้าวและหนักหน่วง แต่ความเป็นเด็กในตัวฐากูร ยังคงอยู่เสมอมา และเห็นได้ชัดผ่านบทกวีหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
พระจันทร์เสี้ยว คือ อีกหนึ่งผลงานของฐากูร ที่เป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายคน หัวใจสำคัญของบทกวีในหนังสือเล่มนี้ คือ ความรักระหว่างแม่และลูก ซึ่งอบอวลไปด้วยความรัก ความไร้เดียงสา และความฝันในวัยเยาว์
รอยยิ้มที่พรายอยู่บนริมฝีปากของทารกขณะกำลังหลับสนิทอยู่นั้นเล่า
มีใครรู้บ้างว่ามาจากแห่งหนใด
มีเสียงร่ำลือว่า..
ครั้งหนึ่ง แสงสีจางจากเสี้ยงของดวงจันทร์ในคืนข้างขึ้นอ่อนๆ ได้ทอผ่านขอบเมฆในฤดูใบไม้ร่วงลงมา
และจากที่นี้เอง ได้เป็นจุดเริ่มต้นของรอยยิ้ม…
(หมายเหตุ – จากหนังสือ พระจันทร์เสี้ยว : รพิทรนาถ ฐากูร แต่ง, วิทุร แสงสิงแก้ว ถอดความ)
รพินทรนาถ ฐากูร เกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2404 ณ คฤหาสถ์โชราสังโก ในนครกัลกัตตา เป็นบุตรคนที่ 14 ในจำนวน 15 คน ของมหาฤาษี เทเวนทรนาถ ฐากูร และศรทา เทวี ผู้เป็นแม่ แต่ดูเหมือนว่าแม่ในชีวิตจริงกับแม่ในบทกวีของฐากูร ไม่ใช่คนๆ เดียวกัน
อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตวัยเด็กของฐากูร ห่างเหินจากแม่และพ่ออย่างสิ้นเชิง เด็กน้อยฐากูร ถูกเลี้ยงดูโดยคนรับใช้ในคฤหาสถ์เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้เป็นพ่อ ใช้เวลาส่วนใหญ่จาริกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ส่วนผู้เป็นแม่ มักจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง
แม่จ๋า ถ้าลูกกลายเป็นลูกหมาตัวเล็กๆ แทนที่จะเป็นลูกของแม่
แม่จะพูดว่า “อย่านะ” กับลูกไหม
ถ้าลูกพยายามจะเลียอาหารที่อยู่ในจานของแม่ แม่จะขับไล่ลูกด้วยคำว่า “ออกไปไกลๆ นะ เจ้าลูกหมาน้อยซุกซน” ไหม
ถ้าแม่ทำเช่นนั้นละก็ ลูกจะหนีไปให้ไกลๆ
ไม่ยอมมาหาในเวลาที่แม่เรียก และไม่ยอมให้แม่ป้อนข้าวลูกอีกเลย
(หมายเหตุ – จากหนังสือ พระจันทร์เสี้ยว : รพินทรนาถ ฐากูร แต่ง, วิทุร แสงสิงแก้ว ถอดความ)
ราวกับว่า ความรักความผูกพันอันแนบแน่นที่คนอ่านรับรู้ได้ผ่านบทกวีของฐากูร คือ สิ่งที่เด็กน้อยฐากูรโหยหามาตลอด แต่ไม่เคยได้รับ
ศรทา เทวี ถึงแก่กรรมไปตอนที่ฐากูรอายุได้ 13 ปี และแม้ว่าจะไม่มีการอุทิศกวีนิพนธ์บทไหนให้แก่แม่ผู้ล่วงลับ แต่ฐากูรเคยเขียนบทกวีบทหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นบทเดียว ที่มีการกล่าวถึงแม่ในชีวิตจริงของเขา
ฉันจำแม่ของฉันไม่ได้เลย
เว้นเสียแต่ บางครั้งขณะกำลังเล่นเพลินอยู่
หูพลันแว่วสำเนียงสุ้มเสียงหนึ่ง
เสียงเพลงที่แม่เคยร้อง..กล่อมฉันนอนเปล
(หมายเหตุจากผู้เขียน – ตัวเอนทั้งหมดในบทความชิ้นนี้ คัดลอกจากหนังสือตามรายชื่อที่เขียนไว้ใต้บทกวี ยกเว้นบทกวีบทสุดท้าย ที่ยังไม่เคยพบว่ามีการแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน)
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน กวีกานต์ยังยืนยังดำรงอยู่…อีกหรือ?
กวีนิพนธ์ เป็นงานเขียนประเภทหนึ่ง โดยถือเป็นการสร้างงานศิลปะผ่านทางการใช้ถ้อยคำ ไม่ว่าจะเป็นบทกวีที่มีฉันทลักษณ์กำกับอย่างเคร่งครัด หรือบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ ไร้รูปแบบ อิสระ และเปิดกว้าง
งานเขียนประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นิยาย นิยายวิทยาศาสตร์ อาจมีจุดกำเนิดที่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ค่อนข้างชัดเจน แต่บทกวี ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า กวีนิพนธ์บทแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ และใครเป็นคนเขียน แต่เชื่อกันว่า น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเขียนตำนานเรื่องเล่าขนาดยาว ที่เรียกกันว่า มหากาพย์ โดยนักประวัติศาสตร์ถือกันว่า มหากาพย์กิลกาเมซ เป็นงานเขียนในรูปแบบกวีนิพนธ์ชิ้นแรกของโลก เมื่อราว 1800 ปี ก่อนคริสตกาล
ส่วนในประเทศไทย กวีนิพนธ์ชิ้นแรก น่าจะถือกำเนิดในยุคสุโขทัย ซึ่งถือเป็นยุคที่เก่าแก่ที่สุด ที่มีการค้นพบหลักฐานวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักศิลาจารึก หรือหนังสือไตรภูมิพระร่วง โดยปรากฎร่องรอยของรูปแบบฉันทลักษณ์ เช่น การใช้คำคล้องจองของเสียง
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้กวีนิพนธ์เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในบริบทของยุคปัจจุบัน ที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว กวีนิพนธ์ขนาดยาว ที่มีฉันทลักษณ์กำกับอย่างเคร่งครัด เริ่มเลือนหายไปจากความนิยมของนักอ่าน (หรือนักฟัง) ขณะที่บทกวีขนาดสั้น หรือกลอนเปล่า ที่ใช้เวลาในการเสพน้อยกว่า ยังคงได้รับความนิยมและปรากฎให้เห็นเป็นรูปเล่มในร้านหนังสือ
นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เพลงแร็พ ซึ่งมีการด้นเนื้อเพลงสด เพื่อปลุกเร้าอารมณ์คนฟัง ผ่านถ้อยคำที่พ่นระรัว แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ อีกรูปแบบหนึ่งของการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ในยุคปัจจุบัน
แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน หัวใจสำคัญของกวีนิพนธ์ คือ การใช้ถ้อยคำ เพื่อปลุกเร้าอารมณ์ เขย่าหัวใจให้สั่นไหวรุนแรง และตระหนักรับรู้ความหมายภายใต้ถ้อยคำที่ต้องการสื่อ
และนั่นทำให้บทกวี จักยังคงดำรงอยู่ แม้ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน