- ความรู้สึกสะเทือนใจต่อการสูญเสียชีวิตสัตว์ที่รัก อาจทำให้บางคนตัดสินใจไถ่บาปด้วยการเป็นมังสวิรัติ หรือผู้พิทักษ์สิทธิสัตว์ แต่สำหรับไวท์ หรือ Elwyn Brooks White นักเขียนชาวอเมริกัน เขาเลือกเครื่องมือไถ่บาปความรู้สึกผิดในใจด้วยการเขียนวรรณกรรม แมงมุงเพื่อนรัก (Charlotte’s web)
- แมงมุงเพื่อนรักเล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างตัวเอกของเรื่อง เจ้าหมูวิลเบอร์ และแมงมุมที่ชื่อชาร์ลอตต์ กับภารกิจช่วยให้วิลเบอร์รอดชีวิตจากการถูกฆ่าในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องหนึ่ง เปิดฉากด้วยความตาย จบลงด้วยความตาย และขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยความพยายามหลบหนีจากความตาย
วรรณกรรมเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น หนึ่งในวรรณกรรมเด็กและเยาวชนที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาล
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงวรรณกรรมเยาวชน ที่มีชื่อว่า แมงมุมเพื่อนรัก หรือ Charlotte’s web ของ E.B.White (Elwyn Brooks White) นักเขียนชาวอเมริกัน
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 และนับจนถึงปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลกกว่า 45 ล้านเล่ม แปลเป็นภาษาต่างๆ 23 ภาษา รวมถึงภาษาไทย ซึ่งแมงมุมเพื่อนรักได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้หลายคนน่าจะคุ้นเคย หรือเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้ว
ผมก็เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่สมัยยังเด็ก สักประถมสี่เห็นจะได้ และน่าจะเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรมแปลเล่มแรกในชีวิตเลย ซึ่งครั้งแรกที่อ่านจบ จำได้ว่า รู้สึกชอบและประทับใจหนังสือเล่มนี้มาก ทั้งเรื่องราวชีวิตในฟาร์ม ความน่ารักของสัตว์ต่างๆ และที่สำคัญมิตรภาพระหว่างตัวเอกของเรื่อง คือ เจ้าหมูวิลเบอร์ และแมงมุมที่ชื่อชาร์ลอตต์
แต่พอหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านใหม่ในวัยผู้ใหญ่ จึงได้รู้สึกว่า จริงๆแล้วแมงมุมเพื่อนรักเป็นหนังสือที่มีความดาร์คอยู่ในตัวมาก เพราะอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า หนังสือเล่มนี้เปิดฉากด้วยความตาย จบลงด้วยความตาย และขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยความพยายามหลบหนีความตาย
ความตายคือเรื่องปรกติ แต่ก็แสนรวดร้าว
เพียงแค่หน้าแรกของแมงมุมเพื่อนรัก ความตายก็โผล่มาทายทักเราอย่างตรงไปตรงไม่อ้อมค้อม เมื่อพ่อของเด็กน้อยชื่อเฟิร์น ถือขวานเล่มหนึ่ง เดินตรงไปที่คอกหมู โดยตั้งใจจะฆ่าลูกหมูตัวหนึ่งที่เพิ่งคลอดเมื่อคืน ด้วยเหตุผลว่ามันตัวเล็กเกินไป ไม่คุ้มค่าที่จะเลี้ยงไว้
“แต่มันไม่ยุติธรรมเลย” เฟิร์นคร่ำครวญ “ช่วยไม่ได้ที่มันบังเอิญเกิดมาตัวเล็ก ถ้าหนูเกิดมาตัวเล็กอย่างมันล่ะ พ่อจะฆ่าหนูไหมนะ?”
อันที่จริงแล้ว ความตายเป็นเรื่องปรกติในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะกับสัตว์ที่ถูกมนุษย์เลี้ยงไว้เพื่อฆ่าเป็นอาหาร ซึ่งความตั้งใจของพ่อก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเมื่อคิดด้วยเหตุผลของเกษตรกร
จากข้อมูลขององค์กร PETA ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ ระบุว่า ในแต่ละปี มีหมูถูกฆ่าเป็นอาหารในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ประมาณ 121 ล้านตัว หรือตกราว 330,000 ตัว ในแต่ละวัน
ถึงแม้ว่าอี.บี.ไวท์ จะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (เขาเกิดในย่านชานเมืองมหานครนิวยอร์ก) แต่หลังจากซื้อฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองบรูคลิน มลรัฐเมน เมื่อเข้าสู่วัยสามสิบ เขากลายเป็นเกษตรกรเต็มตัว ใช้ชีวิตและเสียชีวิตอยู่ในฟาร์มที่เขารัก ห้อมล้อมด้วยสรรพสัตว์ที่เขารัก ไม่ว่าจะเป็นม้า วัว แกะ ห่าน สุนัข และหมู
ไวท์ คุ้นเคยดีกับการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมปรกติที่เกิดขึ้นในฟาร์ม แต่ด้วยจิตใจที่อ่อนโยน ทำให้เขารู้สึกขัดแย้งในตัวเองในเรื่องนี้ ไวท์เคยเขียนไว้ในหนังสือความเรียงเกี่ยวกับชีวิตในฟาร์ม ชื่อ One Man’s Meat ซึ่งตีพิมพ์ก่อนที่เขาจะแต่งหนังสือเรื่องแมงมุมเพื่อนรักว่า
“เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ กลับกลายเป็นผู้ทรยศต่อสัตว์ทุกตัวที่เขาเลี้ยง สัตว์ทุกตัวที่เขาทะนุถนอม อุ้มชูฟูฟัก ก่อนที่จะลงมือเชือดคอด้วยตัวเอง ในอีก 6 เดือนให้หลัง”
ฆาตรกรผู้แสนอ่อนโยน
หลังจากที่เฟิร์นอ้อนวอนด้วยน้ำตา พ่อของเธอยอมเปลี่ยนใจไม่ฆ่าลูกหมูที่ตัวเล็กและอ่อนแอที่สุดในครอก โดยมีเงื่อนไขว่า เธอจะต้องเป็นคนเลี้ยงดูลูกหมูตัวนั้น ซึ่งต่อมาเธอได้ตั้งชื่อมันว่า “วิลเบอร์”
พอเริ่มโต วิลเบอร์ ถูกขายให้กับลุงของเฟิร์น ซึ่งมันได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข ท่ามกลางชีวิตในฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์น ผู้แวะเวียนไปเยี่ยมวิลเบอร์ทุกวัน, หนูในโรงนา, ฝูงแกะ, ครอบครัวห่าน และเพื่อนใหม่ที่เป็นแมงมุมสีเทาแสนสวย ชื่อ “ชาร์ลอตต์”
การพบปะกันครั้งแรกของทั้งสอง เริ่มต้นด้วยความหวาดระแวง เมื่อวิลเบอร์ได้รู้ว่า ชาร์ลอตต์ชักใยดักจับแมลง และดูดเลือดพวกมันกินเป็นอาหาร จนถึงกับรำพึงในห้วงความคิดว่า
“ฉันมีเพื่อนแล้ว แต่ชาร์ลอตต์ก็ช่างดุร้าย ทารุณ และคงเจ้าเล่ห์เพทุบายเหลือร้าย ฉันไม่ชอบเลยสักอย่าง แล้วนี่ฉันจะชอบเขาได้อย่างไร แม้ว่าเขาจะสวยจะฉลาดแค่ไหนก็ตาม”
มีเรื่องเล่าว่า ในช่วงแรกๆ ที่หนังสือเรื่องนี้ออกจากจำหน่าย คนอ่านหลายคน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ไม่พอใจที่ตัวเอกของเรื่องเป็นแมงมุม ซึ่งมีภาพลักษณ์ดูโหดร้ายอำมหิต แต่ดูเหมือนว่าไวท์ตั้งใจจะให้คนอ่านเกิดความรู้สึกเช่นนั้น เพื่อจะได้ขับเน้นความอ่อนโยนในหัวใจของชาร์ลอตต์ ที่ดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์เมื่อแรกเห็น
ความตายคืบคลานมาหลอกหลอนวิลเบอร์อีกครั้ง เมื่อมันได้รู้ความจริงอันโหดร้ายว่า การที่มันได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ก็เพียงเพื่อที่จะถูกฆ่าเป็นอาหารของมนุษย์ และในตอนนั้นเอง ชาร์ลอตต์ ผู้เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นฆาตกรกระหายเลือด บอกกับวิลเบอร์ว่า เธอจะหาวิธีช่วยไม่ให้เจ้าหมูน้อยถูกฆ่าเอง
เรื่องราวหลังจากนั้น คือ ความพยายามของชาร์ลอตต์ ในการปกป้องวิลเบอร์ให้พ้นจากความตาย ด้วยการใช้กลวิธีเหมือนที่มันใช้ในการมอบความตายให้แก่แมลงผู้เป็นเหยื่อ นั่นคือ การชักใย
วรรณกรรมแห่งการไถ่บาป
ในบทความที่มีชื่อว่า Death of a Pig หรือ ความตายของหมูตัวหนึ่ง ซึ่งไวท์เขียนลงในหนังสือพิมพ์ ดิ แอตแลนติค เมื่อปี 1948 บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฟาร์ม เมื่อเขาพยายามช่วยเหลือลูกหมูที่ป่วยตัวหนึ่ง แต่สุดท้ายลูกหมูตัวนั้นก็ไม่รอดชีวิต
“เมื่อเราวางร่างของมันลงในหลุม หัวใจเราสั่นไหวสะท้าน” ไวท์ เขียนไว้ “เราไม่ได้สูญเสียเนื้อแฮมไป แต่เราสูญเสียชีวิตของหมูตัวหนึ่ง หมูตัวนั้นกลายเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับเรา ไม่ใช่เพราะมันคือตัวแทนความอิ่มหนำในช่วงเวลาหิวโหย หากแต่เพราะหมูตัวนั้น มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจเหมือนเรา ต้องทนทุกข์ในโลกที่ทุกข์ทนเหมือนเช่นเรา”
ความรู้สึกสะเทือนใจต่อการสูญเสียชีวิตสัตว์ที่รัก อาจทำให้บางคนตัดสินใจไถ่บาปด้วยการเป็นมังสวิรัติ หรือผู้พิทักษ์สิทธิสัตว์ แต่สำหรับไวท์ เขายังรักชีวิตเกษตรกร เขาเลือกที่จะเป็นเกษตรกรต่อไป แม้จะรู้ว่าเส้นทางที่เลือกจะทำให้เขาต้องพบเจอกับความตายของสัตว์ที่เขารัก ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งก็เป็นความตายที่เขาเป็นผู้หยิบยื่นให้ด้วยมือเขาเอง
สิ่งที่ไวท์ใช้เป็นเครื่องมือไถ่บาปความรู้สึกผิดในใจ ก็คือวรรณกรรมสำหรับเด็กเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ในฟาร์ม โดยเฉพาะเรื่องแมงมุมเพื่อนรัก
ในช่วงท้ายของเรื่อง ชาร์ลอตต์ ชักใยเป็นข้อความต่างๆ เช่น “หมูวิเศษ” “อ่อนโยน” ซึ่งทำให้วิลเบอร์ กลายเป็นหมูวิเศษในสายตาของชาวเมือง และสุดท้ายมันก็กลายเป็นขวัญใจของทุกคน และรอดพ้นจากการฆ่าเป็นอาหาร
ทว่า ความตายยังไม่หมดไปจากหนังสือเล่มนี้ เพราะสุดท้ายแม้ว่าวิลเบอร์จะรอดพ้นความตาย แต่ชาร์ลอตต์ กลับหนีมันไม่พ้น แมงมุมแสนสวยผู้อ่อนโยน ตายไปในช่วงท้ายของเรื่อง เพื่อตอกย้ำความจริงว่า ความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น แม้กระทั่งตัวเอกของเรื่อง
นอกจากนี้ ความตายของชาร์ลอตต์ ยังช่วยขับเน้นมิตรภาพระหว่างแมงมุมกับหมู ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้
ในจดหมายที่ไวท์เขียนถึงบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์หนังสือแมงมุมเพื่อนรัก เขาเล่าให้ฟังถึงพล็อตเรื่องของหนังสือเล่มนี้ และตบท้ายว่า
“หัวใจสำคัญของเรื่องก็คือหมูจะต้องรอดชีวิต เพราะลึกๆ ที่ใดที่หนึ่งในหัวใจของผม หวังอยากจะให้มันเช่นนั้น”