- สิ่งสำคัญในชีวิตของวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เพียงแค่อัตลักษณ์ว่าตนเองควรเป็นแบบไหน มีจุดเด่น มีสิ่งแตกต่างอย่างไร แต่มันรวมไปถึงว่าฉันควรอยู่กลุ่มไหน และได้รับการยอมรับจากกลุ่มที่ฉันอยากไปอยู่หรือไม่
- วัฒนธรรมป็อป, วัฒนธรรมไอดอล มาพร้อมกับ “วัตถุนิยม” ที่บ่งบอกชนชั้นบางอย่าง แม้ในประเทศที่บอกว่าไม่มีชนชั้นวรรณะแบบเดียวกับอินเดีย แต่จริงๆ แล้วชนชั้นว่าใครอยู่สูง กลาง ต่ำ ก็ยังมีในสังคม สังคมวัตถุนิยมจะแบ่งคนจาก “ต้นทุน” ที่ไม่ใช่แค่เงินหรือการครอบครองของแพงๆ แต่ยังรวมถึงการแสดงออกว่าตนเองชอบสิ่งใด สนับสนุนและนิยมสิ่งใด มีรสนิยมอย่างไร เรียกว่า “ต้นทุนทางวัฒนธรรม”
- สินค้าประเภทหนึ่งที่แสดงออกถึงความชอบส่วนตัวได้ดีทีเดียวก็คือ สินค้าของไอดอล ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเพลง รูปภาพพร้อมลายเซ็น สินค้าที่มีโลโก้วง การได้สิ่งนั้นมาครอบครองนั้น ก็เหมือนทำให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเองสูงขึ้น ไม่ได้เป็นแค่แฟนคลับระดับทั่วไป แต่เป็นขั้นสูงที่มีสินค้าครบ ของหายาก จำกัดช่วงเวลาพร้อม
ต่อจากตอนที่แล้วของ รักดาราแล้วได้อะไร (ตอน 1) ที่เราได้อธิบายถึงสาเหตุทางวิวัฒนาการที่การคลั่งไคล้คนดังนั้นส่งผลต่อความอยู่รอดในยุคโบราณ และจากสาเหตุทางโครงสร้างจิตใจ ที่เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะหาต้นแบบในอุดมคติเพื่อสร้าง “อัตลักษณ์” ของตน ครั้งที่แล้วเราคุยสาเหตุจากภายในเป็นหลักว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นออกแบบมาให้คลั่งไคล้คนดัง ในตอนนี้เรามาพูดถึงสาเหตุที่มาจากสิ่งรอบตัวมนุษย์หรือสังคมกันบ้างดีกว่าครับ ว่ามันส่งเสริมให้มนุษย์นั้นคลั่งดาราได้อย่างไร
เหตุผลแรกนั้นเป็นเหตุผลก้ำกึ่งระหว่างธรรมชาติมนุษย์เอง กับสังคมรอบตัว อธิบายได้ง่ายๆ ว่าคนเราก็ชอบอะไรในสิ่งที่คนรอบตัวเราชอบ เหมือนว่าพอมีดาราที่เพื่อนชอบเราก็ชอบตามเพื่อน พอเราอยากรู้ว่านักร้องคนไหนที่น่าสนใจก็ดูว่ายอดไลค์ของใครมากสุด ฟังดูไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเท่าไรนัก แต่จริงๆ มันมีผลมากครับ โดยเฉพาะกับวัยรุ่น ที่เป็นวัยซึ่งสังคมที่มีอิทธิพลที่สุดก็คือกลุ่มเพื่อน เหมือนที่ผู้ใหญ่ชอบบ่นกันว่า “ฟังเพื่อนแต่ไม่ฟังพ่อแม่”
สิ่งสำคัญในชีวิตของวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เพียงแค่อัตลักษณ์ว่าตนเองควรเป็นแบบไหน มีจุดเด่น มีสิ่งแตกต่างอย่างไร แต่มันรวมไปถึงว่าฉันควรอยู่กลุ่มไหน และได้รับการยอมรับจากกลุ่มที่ฉันอยากไปอยู่หรือไม่
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การที่ไม่มีใครเลยยอมรับเข้ากลุ่ม เป็นเรื่องที่เราไม่พึงปรารถนาไปจนถึงขั้นน่ากลัว วัยรุ่นนั้นเป็นวัยแรกๆ ที่ได้พบเจอกับสังคมที่กว้างขึ้นไปอีกระดับหากเทียบกับวัยเด็กที่พ่อแม่คุมอยู่ตลอด การที่กลุ่มอื่นยอมรับตนนอกจากครอบครัวเลยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แล้วทำอย่างไรเราถึงจะเป็นที่ยอมรับในกลุ่มได้ วิธีหนึ่งก็คือการชอบในสิ่งเดียวกันไงครับ พอชอบในสิ่งเดียวกันมันทำให้รู้สึกว่าใจตรงกัน มีรสนิยมแบบเดียวกัน เวลาพูดคุยก็ไม่ต้องเถียงไม่ต้องทะเลาะกันอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง เวลามีกิจกรรมไปดูหนัง ไปคอนเสิร์ตของดารานักร้องที่ชอบก็ไปด้วยกันได้ แถมยังกลับมาอิน มาปลื้ม มาพูดชื่นชมให้เพื่อนในกลุ่มฟังกันเอง และเพื่อนก็พูดสนับสนุน การเป็นที่ยอมรับแบบนี้มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่คนเราอยากได้ และในทางจิตวิทยาแล้ว การยิ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน การได้ฟังคนอื่นในกลุ่มมาชื่นชมดาราคนนี้ การได้ชื่นชมดาราให้คนรอบตัวฟัง การสนับสนุนกันไปมาจะยิ่งเสริมความชอบดาราคนดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้นไปอีกไปถึงขั้นความคลั่งไคล้ได้ สิ่งนี้เราอาจจะเห็นได้ชัดเจน เพราะกิจกรรมหนึ่งที่แฟนคลับดาราชื่นชอบคือการแชร์ความหลงใหลในตัวดาราคนดังกล่าวให้เหล่าแฟนคลับด้วยกันฟัง
คำถามที่ตามมาคือการชอบตามๆ กัน มันย่อมมีคนแรก แล้วใครล่ะคือคนนำเทรนด์ แต่บางทีมันก็ตอบได้ยากว่าแล้วดาราคนที่เริ่มฮิต เริ่มดัง มันเริ่มมาจากไหน เหมือนว่าทำไมเสื้อผ้าแบบนี้มันถึงเป็นแฟชั่นในปัจจุบัน ใครใส่เป็นคนแรก ปรากฏการณ์ความฮิตแบบนี้หลายครั้งมันจะเกิดขึ้นจากคนหลายๆ คนในสังคมที่บังเอิญชอบในเวลาไล่เลี่ยกัน และบอกต่อกันไปเรื่อยๆ และยิ่งพอมีคนชอบเพิ่มขึ้น คนก็เริ่มเห็นว่ามีหลายคนชอบจังก็จะชอบตามกระแสที่เกิดขึ้น กระแสก็จะยิ่งแรงขึ้นและทำให้มีคนที่ชอบมากขึ้นไปอีก สิ่งที่คนจำนวนมากเชื่อเหมือนกัน ความชอบเหมือนกัน ความคิดแบบเดียวกัน มีชื่อที่เราคุ้นหูกันดีก็คือ “วัฒนธรรม”
วัฒนธรรมนั้นมีหลากหลายแบบ แต่ที่เราจะคุยกันตอนนี้เป็นประเภทหนึ่งที่เป็น “เรื่องฮิต” คนที่ในสังคมจำนวนมากชื่นชอบและนิยมในช่วงเวลาหนึ่งก่อนจะค่อยๆ หายไป เราเรียกวัฒนธรรมแบบนี้ว่า “วัฒนธรรมป็อป” (Pop culture) ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดารา นักร้อง แฟชันการแต่งตัว กีฬา งานอดิเรก ตัวอย่างเช่น ชอบฟังเพลงเกาหลี ชอบเล่น Clubhouse หรือที่แห่กันไปเล่นเสก็ตบอร์ดก็ใช่
วัฒนธรรมป็อปมันมักจะไม่ยั่งยืนยงเหมือนวัฒนธรรมชั้นสูง มันอาจจะอยู่ได้เป็นปีๆ แต่ไม่ยืนนานจากรุ่นสู่รุ่นเหมือนไปไหนมาไหนเจอผู้ใหญ่ต้องไหว้นะลูก ชุดทางการต้องเสื้อมีปก รองเท้าหุ้มข้อ อะไรทำนองนั้นที่มันมีอายุยืนนานกว่ามาก แต่ถึงแบบนั้นวัฒนธรรมป็อปก็เป็นสิ่งที่กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญที่สุดแล้วครับ และถ้าถามว่าส่วนสำคัญในวัฒนธรรมป็อปคืออะไร มันก็หนีไม่พ้นคนดังหรอกครับ เพลงฮิตมาจากนักร้องดัง หนังหลายสิบล้านก็สร้างดารายอดนิยม แฟชั่นก็ดูจากที่คนดังใส่ วัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญในชีวิตว่าเราจะคิด ตัดสิน ให้คุณค่า สิ่งใดอย่างไร การที่ดาราและคนดังนั้นเป็น “ผู้นำวัฒนธรรมป็อป” พวกเขาก็เลยกลายเป็นบุคคลสำคัญของวัยรุ่นไปโดยปริยาย
งานวิจัยที่เราพูดกันมาทั้งในบทความตอนแรกและด้านบนนั้นเป็นงานวิจัยของประเทศตะวันตก มันก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกับประเทศตะวันออกอยู่บ้าง เช่น เด็กสาวก็ยังคลั่งไคล้ดาราหนุ่มอยู่เหมือนเดิม และขวัญใจของเด็กผู้ชายก็มักจะเป็นนักกีฬา แต่ก็มีบางอย่างมันก็เริ่มจะไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปรากฏการณ์เมื่อไม่นานมานี้ที่เรียกกันว่า “วัฒนธรรมไอดอล”
“ไอดอล” ในนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น ดูเผินๆ ก็เหมือนกับวงนักร้องทั่วไป แต่ส่วนที่แตกต่างคือไอดอลนั้นมักจะถูกตั้งมาเพื่อให้มีกลุ่มแฟนคลับสนับสนุน กิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับแฟนๆ อย่างการพูดคุยตอนไปออกอีเวนต์หรือตอนไลฟ์คอนเสิร์ต กิจกรรมจับมือ กิจกรรมยอมให้ถ่ายรูปด้วย อะไรก็แล้วแต่ที่สร้างความสนิทสนมใกล้ชิดกับแฟนคลับของตนเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากของวงการไอดอล และอีกส่วนหนึ่งที่ไอดอลแตกต่างจากดาราคือ คนที่หลงใหลไอดอลนั้นอาจจะเป็นเพียงกลุ่มเฉพาะบางส่วนในสังคม ไม่ได้โด่งดังคับฟ้าเหมือนศิลปินดังหรือพระเอกนางเอกละครหลังข่าว แต่แฟนคลับของไอดอลนั้นมีอยู่ในคนทุกกลุ่ม จะผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนสูงอายุ ใครๆ ก็เป็นแฟนคลับของไอดอลได้ทั้งนั้น และแฟนคลับในทุกวัยต่างก็มีบางคนที่ชอบอย่างจริงจังถึงขั้นคลั่งไคล้ บางคนอาจจะชอบทั้งวง หรือบางคนอาจจะชอบแค่คนเดียว ที่เรียกกันว่า “โอชิ” วงที่ดังในญี่ปุ่นในตอนนี้ก็ เช่น AKB48 ส่วนในไทยก็เป็น BNK48 และวงอื่นๆ อีกเยอะ ปรากฏการณ์ไอดอลนี้ยังมีงานวิจัยตะวันตกพูดถึงน้อยมากครับ
การที่ผู้ชายวัยผู้ใหญ่มาเป็นแฟนคลับไอดอลสาวๆ นั้นเรียกได้ว่าอธิบายด้วยทฤษฎีที่เราพูดมาได้ยากหน่อย เพราะไอดอลไม่น่าจะเป็นต้นแบบในการเป็นผู้ชายคนไหน และยิ่งกับวัยผู้ใหญ่แล้วอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ควรพบไปแล้ว (สองข้อนี้เราพูดถึงในบทความที่แล้ว) และการที่ไอดอลมีแฟนคลับในวัยผู้ใหญ่ด้วย เรื่องกลุ่มเพื่อนสนิทที่อยู่กันได้เพราะชอบดาราคนเดียวกันแบบวัยรุ่นก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลหลัก แล้วอะไรที่ทำให้คนมาคลั่งไคล้ไอดอลกันขนาดนี้
ผมพบงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในปีนี้ของคุณภัทรฉัตร มณีฉาย (2564) สรุปประเด็นไอดอลด้วยทฤษฎีทางการตลาดไว้ได้น่าสนใจทีเดียวครับ โดยเขาโยงเรื่องวัตถุนิยม กับความคลั่งไคล้ไอดอลไว้ด้วยกัน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวัตถุนิยมกันก่อน ความหมายง่ายๆ ของมันคือ ทัศนคติที่เน้นความสำคัญต่อการครอบครองวัตถุในชีวิต วัตถุคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์และมีความสุข และวัตถุจะใช้ในการบ่งบอกถึงสถานภาพทางสังคม หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ชนชั้น” ก็ได้ครับ
เราคุยกันไว้ในตอนที่แล้วว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสังคมที่มีชนชั้น จนเวลาผ่านมาสังคมมนุษย์ขยายใหญ่ขึ้นมากแต่ชนชั้นก็ยังอยู่ แม้แต่ในประเทศที่บอกว่าไม่มีชนชั้นวรรณะแบบเดียวกับอินเดีย แต่จริงๆ แล้วชนชั้นว่าใครอยู่ชนชั้นสูง กลาง ต่ำ ก็ยังมีในสังคม หากสังเกตดีๆ โดยสังคมวัตถุนิยมจะแบ่งคนจาก “ต้นทุน” คำนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ เงิน หรือการครอบครองของแพงๆ ที่เรียกกันว่า “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” เท่านั้น ต้นทุนยังรวมไปถึงสิ่งอื่นๆ เช่น แสดงออกว่าตนเองชอบสิ่งใด สนับสนุนและนิยมสิ่งใด มีรสนิยมอย่างไร ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ต้นทุนทางวัฒนธรรม”
ด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีชนชั้นดังที่เราพูดถึงกันในตอนที่แล้ว และคนเราย่อมอยากอยู่ในชนชั้นสูงเป็นธรรมดา เพราะชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่าหมายถึงการมีอำนาจมากกว่า และเข้าถึงทรัพยากร (เช่น ของกิน) ได้ดีกว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันสังคมจะพยายามเน้นค่านิยมว่ามนุษย์เราเท่าเทียม แต่ธรรมชาติในการยึดติดกับชนชั้นของคนไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงกันง่ายๆ ครับ คนบางคนพยายามแสดงต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วยการใช้สินค้าแบรนด์เนมราคาแพง ใครเห็นก็รู้ว่า “ตายแล้ว…ไฮโซมาจากไหนเนี่ย กระเป๋าใบละหลักแสน” ในหลักการแบบเดียวกันครับ คนที่ไม่อยากแสดงออกว่ารวยเงิน แต่รวยรสนิยม ก็จะแสดงสิ่งที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมแทน ด้วยการซื้อหาการใช้สินค้าเช่นกัน แต่ทุนของมันไม่ได้กำหนดด้วยเงิน แต่เน้นสื่อให้เห็นว่าผู้ใช้ชอบอะไร
และสินค้าประเภทหนึ่งที่แสดงออกถึงความชอบส่วนตัวได้ดีทีเดียวก็คือ สินค้าของไอดอล ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเพลง รูปภาพพร้อมลายเซ็น สินค้าที่มีโลโก้วง การได้สิ่งนั้นมาครอบครองนั้น ก็เหมือนทำให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเองสูงขึ้น ไม่ได้เป็นแค่แฟนคลับระดับทั่วไป แต่เป็นขั้นสูงที่มีสินค้าครบ ของหายาก จำกัดช่วงเวลาพร้อม หรือสิ่งที่จริงๆ แทบไม่มีมูลค่าทางตัวเงินเลย อย่าง “บัตรจับมือ” ก็กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามหาศาลได้ เพราะมันเป็นเหมือนบัตรแสดงฐานะวีไอพีที่จะได้ใกล้ชิดกับตัวไอดอลแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
สินค้าไอดอลหลากหลายอย่างนั้น ไม่ได้มีแค่เงินก็ซื้อได้นะครับ บางทีก็ต้องซื้อสินค้าแบบจำกัดเวลา บางทีก็สุ่มว่าจะเป็นสินค้าที่มีภาพหรือลายเซ็นของใครในวง แล้วยิ่งใครเจาะจงว่าชอบแค่คนเดียว ยิ่งหาสินค้าที่สุ่มได้ลำบากขึ้นอีก ต้องซื้อสินค้าซ้ำๆ จนกว่าจะเจอของที่ถูกใจ หรือไอดอลคนไหนได้รับความนิยมในกลุ่มมากๆ สินค้าเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าประมูลแย่งกันด้วยมูลค่ามหาศาลก็มีมาแล้ว
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คนที่ออกแบบการตลาดให้กับไอดอลต่างคิดมาเรียบร้อยว่าวิธีที่ทำให้ของหายากขึ้นแบบนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า แทนที่จะมีมูลค่าของตัวเงินอย่างเดียว
นอกจากนี้ ถึงแม้สินค้าบางอย่างไม่มีค่าทางตัวเงินที่ชัดเจน อย่างเช่น เสื้อยืดทุนร้อยสองร้อย แต่มันเชื่อมโยงกับเหล่าไอดอลที่เป็นแกนหลักของสินค้า คุณค่าทางรสนิยมอย่าง ความน่ารัก ความสดใส ความยังหนุ่มยังสาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ว่าคนเพศไหน อายุเท่าไร ต่างให้คุณค่า แต่มันซื้อหาไม่ได้โดยตรง ไอดอลที่ออกสินค้าให้สะสมด้วยเลยเข้ามาตอบโจทย์ในด้านวัตถุที่ครอบครองได้ เพิ่มต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนได้ และดึงดูดให้คนหลากหลายวัยให้เข้ามาชื่นชอบไอดอลและคว้าความน่ารักสดใส ผ่านทางการซื้อสินค้า
คนเรานั้นยิ่งลงทุนลงแรง มันก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าเกี่ยวพันกันในทางใดทางหนึ่ง พอยิ่งติดตาม ยิ่งซื้อสินค้า ซึ่งการตลาดของเจ้าของวงนั้นออกแบบมาล่อตาล่อใจให้อยากได้สิ่งของ ความชอบความคลั่งไคล้มันก็จะยิ่งชัดเจนฝังลึกมากขึ้นในทุกครั้งที่ได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้น จะบอกว่าความคลั่งไคล้ไอดอลมีส่วนหนึ่งที่มาจากการวางแผนของนักการตลาดก็คงไม่ผิดนักหรอกครับ
หากจะไม่พูดถึงคุณสมบัติของตัวไอดอลเลยว่า ทำไมคนถึงชอบไอดอลก็คงเหมือนพลาดส่วนสำคัญไป มีจุดที่น่าสังเกตคือ ไอดอลมีอีกข้อที่แตกต่างจากดาราคือ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ดีเลิศ เช่น ไม่ต้องร้องเพลงได้ระดับดีวา หรือไม่ต้องมีทักษะการแสดงระดับคว้ารางวัล ไม่ต้องหุ่นดีระดับนางแบบ หน้าตาสวยระดับนางงามหรือนางเอกหนัง บางครั้งไอดอลที่ดูเหมือน “คนบ้านๆ” ทั่วไปที่ดูหาได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันกลับให้ความรู้สึกอินมากกว่า เพราะรู้สึกถึง “ความเป็นมนุษย์” จริง ๆ ไม่ได้ปรุงแต่ง หรือไม่ได้ชั้นสูงเหมือนดาราทั่วไป ดูเอื้อมถึงได้จริง และไอดอลเน้นกิจกรรมเข้าหาแฟนๆ เป็นประจำ กิจกรรมจับมือ นั่งคุย ถ่ายรูป อวยพรวันเกิดเป็นหลักอยู่แล้ว ทุกสิ่งยิ่งสร้างความเข้าถึงและยิ่งทำให้บางคนรู้สึกตกหลุมรักไอดอลได้มากขึ้นไปอีก
บางครั้งขอบเขตการคลั่งไคล้ไอดอลก็เริ่มไม่ชัดเจนในบางคน ที่ถึงขั้นเข้าไปบุกรุกไปหาไอดอล หรือเป็นสตอล์กเกอร์แอบตามชีวิตส่วนตัวของไอดอล เพราะบางครั้งความสมจริง มันทำให้คิดว่าจะคว้ามาเป็นคนรักได้จริงๆ นอกจากนี้ไอดอลบางกลุ่ม บางประเทศ ทำไม่ได้แม้แต่จะมีคนรัก แอบมีแบบไม่ออกสื่อแล้วมารู้ทีหลังยิ่งกลายเป็นความผิดร้ายแรงในวงการ เพราะนั่นจะไปกระเทือนถึงภาพลักษณ์ให้ไอดอลกลายเป็นบุคคลที่มีเจ้าของ และทำให้คนเข้าถึงไม่ได้อีกต่อไป
มันอาจจะฟังดูแปลกที่มนุษย์เรารักคนที่จริงๆ แล้วแทบไม่เคยพบหน้า แทบไม่เคยพูดคุย และเขาอาจจะจำเราไม่ได้ อย่างการรักดารา นักร้อง ไอดอล และคนดังอื่นๆ แต่ผมว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ประหลาด และแน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด
เราทุกคนต่างมีสิทธิ์ที่จะชอบใครก็ได้ ขอเพียงอย่าไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น จะหลงรักจนเก็บไปนอนฝัน ตื่นมาก็ยังเพ้อถึง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรครับ แต่อย่าให้มันมากเกินไปจนกระทบชีวิต การงาน สุขภาพ และความสัมพันธ์ต่อคนรอบตัว ก็แล้วกัน ซึ่งจริง ๆ หลักการนี้ก็ใช้ได้กับทุกเรื่อง จะเป็นพฤติกรรม หรือความรู้สึก สิ่งใดที่มันมากเกินไป มันล้วนแต่เกิดผลเสียทั้งนั้น แม้แต่รักเองก็ไม่เว้น
อ้างอิง
Bandura, A. (1971). Social learning theory. New York: General Learning Press.
Maneechaeye, P. (2021). The commodification of idol culture with a loot-boxes-style marketing strategy practice in Thai idol culture and aspects of consumer psychology toward uncertainties. Humanities, Arts and Social Sciences Studies, 179-187.
Raviv, A., Bar-Tal, D., Raviv, A., & Ben-Horin, A. (1996). Adolescent idolization of pop singers: Causes, expressions, and reliance. Journal of Youth and Adolescence, 25(5), 631-650.
Steele, J. R., & Brown, J. D. (1995). Adolescent room culture: Studying media in the context of everyday life. Journal of youth and adolescence, 24(5), 551-576.ศิริรัจน์ แอดสกุล. (2560). ความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยา (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ , สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.