- ในการพัฒนาฝึกฝนและบ่มเพาะสมรรถนะให้ผู้เรียนที่ละเอียดเกินไปอาจไม่เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในพัฒนาการเรียนรู้และการส่งเสริมคุณค่าความฝันของเด็กแต่ละคนตามพัฒนาการ ยังละเลยการให้คุณค่าเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคซึ่งเป็นหลักการสากล กลับเน้นไปที่การพยายามปลูกฝังแนวคิดแบบชาตินิยมแทน
- ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ควรมีกลไกให้นักเรียนได้มีอำนาจตรวจสอบและและถ่วงดุลในสถานศึกษาเพิ่มเข้าไปด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ผู้บริหาร และครู ได้ใช้อำนาจที่ไม่ธรรมต่อนักเรียน
- ที่น่ากังวล คือ หากสถานศึกษาอยากจะออกแบบหลักสูตรของตัวเอง และที่ผ่านมาสามารถทำได้ทันที หลังจากนี้ต้องเปลี่ยนมาแจ้งสถาบันเพื่อขอการอนุมัติให้หลักสูตรด้วย ซึ่งจุดนี้ก็อาจทำให้เกิดความล่าช้า ด้วยการเพิ่มขั้นตอนทางราชการเข้ามา
ในช่วงที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ครู ผู้บริหาร นักการศึกษา รวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปสู่การถกเถียง แลกเปลี่ยน ทั้งในทางที่สนับสนุนและคัดค้าน รวมถึงการให้ข้อสังเกตที่สำคัญจากร่างฯ ดังกล่าว ในการเขียนครั้งนี้ ผู้เขียนจึงอยากฉายให้เห็นภาพว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับเดียวที่กำลังเข้าสู่สภาฯ ซึ่งถูกร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กำลังถูกพูดถึงในประเด็นใดบ้าง และภายใต้ประเด็นเหล่านี้ มีมุมมองและข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายว่าอย่างไร
1. เป้าหมายของการจัดการศึกษา
มาตรา 8 ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างเพราะมีการระบุรายละเอียดว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยต้องบรรลุเป้าหมายสมรรถนะใดบ้าง
มาตรา ๘ ในการพัฒนาฝึกฝนและบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา ๗ ต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามระดับช่วงวัย ดังต่อไปนี้ ช่วงวัยที่หนึ่ง ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบหนึ่งปี ต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ การพัฒนาทางอารมณ์ และการกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ให้สามารถเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเองและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ตามวัย ช่วงวัยที่สอง เมื่อมีอายุเกินหนึ่งปีจนถึงสามปี นอกจากต้องดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตาม (๑) แล้วต้องฝึกฝนให้ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น เรียนรู้ผ่านการเล่น การสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสภาพแวดล้อม เรียนรู้การพูดและการสื่อสารที่ดี เรียนรู้การสร้างวินัย เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เริ่มรู้จักเผื่อแผ่และเริ่มซึมซับวัฒนธรรมไทยพื้นฐาน อ่านร่างฉบับเต็มได้ที่: https://bit.ly/3qDaBTv |
ในแง่มุมแรก การระบุเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงเช่นนี้เป็นการกำหนดแนวทางให้ชัดเจนว่าเด็กแต่ช่วงชั้นควรมีสมรรถนะอะไรและอย่างไร ก็เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี และเป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. โรงเรียน ได้ปฏิบัติตาม
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเห็นว่า การระบุสมรรถนะที่ละเอียดเกินไปเช่นนี้อาจไม่เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในพัฒนาการเรียนรู้และการส่งเสริมคุณค่าความฝันของเด็กแต่ละคนตามพัฒนาการ ที่สำคัญยังละเลยการให้คุณค่าเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคซึ่งเป็นหลักการสากล แต่กลับเน้นไปที่การพยายามปลูกฝังแนวคิดแบบชาตินิยมแทน
2.สิทธิ เสรีภาพ ศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน
จากกระแสการเคลื่อนไหวของนักเรียนในรอบปีที่ผ่านมา มีการเรียกร้องถึงการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน ปัญหาที่พวกเขาได้สะท้อนออกมาผ่านการเรียกร้อง เช่น การบูลลี่ การลงโทษที่รุนแรง การกร้อนผม การล่วงละเมิดทางเพศ การปิดกั้นเสรีภาพ รวมไปถึงการไม่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งปัญหาทั้งหมดวางล้วนอยู่บนวิธีคิดแบบอำนาจนิยม
ในมาตรา 34 ที่พูดถึงคุณลักษณะทั่วไปที่ครูต้องมี 7 ข้อ ในวรรคสุดท้ายได้กล่าวถึง “ในกรณีที่ครูผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ครอบงำให้ผู้เรียนกระทำ หรือไม่กระทำการโดยมิชอบ หรือให้ผู้เรียนกระทำการทางเพศ ให้ถือว่าครูผู้นั้นประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” บางคนจึงมองว่าอาจจะช่วยปกป้อง คุ้มครองนักเรียน และสามารถเอาผิดครูที่กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
มาตรา ๓๔ ครูต้องมีคุณลักษณะทั่วไป ดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีความถนัดและภาคภูมิใจในความเป็นครูซึ่งมีภารกิจในการหล่อหลอมคน ซึ่งต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสำเร็จของผู้เรียน รับรู้ และยอมรับถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนด้วยความใส่ใจ ใจกว้าง และมีเมตตา อ่านร่างฉบับเต็มได้ที่: https://bit.ly/3qDaBTv |
แต่ในขณะเดียวกัน อีกฝ่ายสะท้อนว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แทบไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดกลไกการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเด็กในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา หากเราดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น พ.ร.บ.การศึกษาของประเทศฟินแลนด์ จะพบว่า การให้เรื่องคุณค่าสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสำคัญในกฎหมาย รวมถึงยังมีการประกันสิทธิพื้นฐานในเรื่องอื่นๆ เช่น เด็กต้องได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน การเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียนต้องไม่ไกล มีสวัสดิการอาหารกลางวัน กำหนดให้เด็กต้องมีเวลาพักผ่อน และเคารพในความแตกต่างหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ คือ หลักประกันพื้นฐานเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในหลายประเทศ
3.ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา
ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า โรงเรียนในประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณสู่โรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว หมายความว่า หากโรงเรียนใดมีเด็กจำนวนมาก ก็จะได้งบประมาณมากตามไปด้วย ในทางกลับกันหากโรงเรียนใดมีนักเรียนน้อยก็เป็นไปได้ยากที่งบประมาณรายหัวที่ได้รับจะเพียงพอต่อการจัดการศึกษา ทางด้านดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ร่างดังกล่าวได้เปลี่ยนจากการจัดสรรงบแบบรายหัวมาเป็นจัดแบบขั้นต่ำตามเงื่อนไขที่โรงเรียนจะได้รับ ซึ่งจะส่งผลโดยต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก
“โรงเรียนเล็กๆ จะจ่ายเงินตามหัว ผู้อำนวยการจะวิ่งหาแต่โรงเรียนใหญ่เพราะได้เงินเยอะ คนจะอยู่โรงเรียนเล็กๆ ได้ คือ มีอุดมการณ์ เวลาหาโรงเรียนใหญ่ก็ต้องใช้เส้น วิ่งเต้นหาผู้ใหญ่ ในพ.ร.บ.เขียนว่าการจัดสรรงบรัฐให้สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา หมายความว่าถ้ามีนักเรียน 200 – 300 คน เงินที่จัดให้ต้องไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำ การจัดสรรโดยให้จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์”
มาตรา ๒๖ ในการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดสรรให้ไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินขั้นต้นในการจัดการศึกษาในสถานศึกษา โดยให้จัดสรรให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์จำนวนเงินขั้นต้นดังกล่าว ไม่รวมถึงงบประมาณสำหรับเป็นเงินเดือน หรือค่าจ้าง และค่าที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง อ่านร่างฉบับเต็มได้ที่: https://bit.ly/3qDaBTv |
ขณะที่อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเกิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กลับสะท้อนว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาไม่ได้พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจน และแนะว่าไม่ควรมองความเหลื่อมล้ำเพียงมิติเดียวเท่านั้น
“เช่น ถ้าเราซอยประชาชนออกมาตามรายได้ เราจะพบว่าคนที่มีรายได้น้อยที่สุดประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ เขาจะเสียค่าเดินทางหนักมากในค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่เขาต้องใช้เพื่อการศึกษาเป็นเรื่องของค่าการเดินทางของบุตรหลาน เป็นต้น”
ร่างพ.ร.บ. กำลังขาดหลักการที่เป็นหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาได้ และคุณภาพโรงเรียนจะไม่แตกต่างกัน ในประเทศฟินแลนด์และเดนมาร์ก นโยบายด้านการศึกษามีหลักการชัดเจนว่าคุณภาพของโรงเรียนจะต้องไม่ต่างกันเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ควรผลักดันให้เด็กสามารถเลือกเองได้ว่าเขาจะใช้เงินที่ได้รับจากการจัดสรรเพื่อการเรียนรู้ในด้านใด เพื่อให้เขาสามารถกำหนดและพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างยืดหยุ่น
ในประเด็นนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้พัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ แนะว่า การะบาดของโควิดได้เผยให้เห็นว่าเด็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งส่งผลให้มีเด็กตกหล่นในการเรียนออนไลน์ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้เกิดขึ้น
4.ภาระงานครูและการพัฒนาครู
หากเราติดตามเพจการศึกษาจำนวนมาก จะพบว่า ครูจำนวนมากต่างเห็นตรงกันว่า ที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่สอนและสนับสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเต็มที่ แต่กลับต้องรับภาระหน้าที่ทำงานในส่วนอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ภาระงานเอกสารที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการประเมินการทำงานที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลที่เกิดขึ้นจริงจนทำให้หลายคนรู้สึกท้อและหมดไฟ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ได้มีการบัญญัติมาตรา 14 โดยเฉพาะวรรค (4) และ (11) ดังนี้
มาตรา ๑๔ การจัดการศึกษาของสถานศึกษาของรัฐต้องอยู่บนพื้นฐาน ดังต่อไปนี้ (๔) ในแต่ละสถานศึกษาต้องจัดให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนการบริหาร จัดการ และดำเนินงานอื่นที่มิใช่การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามจำนวนที่จำเป็นและเหมาะสม ในกรณีที่สถานศึกษาตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน จะมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวร่วมกันทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ (๑๑) ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐสั่งการ หรือมอบหมายกิจกรรม หรือโครงการใดๆ อันจะทำให้ครูไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หลักได้เต็มกำลังความสามารถ หรือทำให้ผู้เรียนไม่มีเวลาเพียงพอในการเรียน อ่านร่างฉบับเต็มได้ที่: https://bit.ly/3qDaBTv |
หลายฝ่ายมองว่าการกำหนดเช่นนี้จะช่วยทำให้ครูได้มุ่งพัฒนานักเรียนได้อย่างเต็มที่มากกว่าหมดเวลาและพลังงานไปกับงานเอกสารหรือโครงการเหมือนที่ผ่านมา ทางด้านกลุ่มครูขอสอน แนะว่า ควรมีการระบุให้ชัดเจนถึงบุคลากรสนับสนุนหรือนักวิชาชีพต่างๆ ที่รัฐต้องจัดสรรให้โรงเรียน เช่น นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่โภชนาการ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานของครูและการจัดการภายในโรงเรียน และยังมีข้อสังเกตว่า การระบุในลักษณะนั้นเป็นการผลักภาระให้โรงเรียนต้องเป็นคนรับผิดชอบฝ่ายเดียวหรือไม่ หรือควรเป็นหน้าที่รัฐในการเข้ามาสนับสนุนและรับผิดชอบร่วมด้วย
นอกจากนี้ อาจารย์เดชรัตน์ ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 – 2561 งบประมาณของการพัฒนาครูลดลงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ควรมีหลักการและแนวทางในเชิงงบประมาณในการพัฒนาครูให้ชัดเจนขึ้นมากกว่านี้
5.ระบบโครงสร้างการจัดการศึกษา
ระดับโรงเรียน ในการตัดสินใจในระดับเล็กหรือภายในโรงเรียน ในร่างฉบับนี้ หลายฝ่ายมองว่า มีทิศทางไปทางที่ดีขึ้น เพราะจะทำให้ครูมีสิทธิ มีส่วนร่วมในตัดสินใจด้านการบริหารงานของโรงเรียน ซึ่งต่างจากอดีตที่ครูเป็นผู้รับคำสั่งจากผู้บริหารเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการรับผิดชอบร่วมกันผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน เป็นหลัก
มาตรา ๒๓ ให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามมาตรา ๘ (๔) (๕) และ (๖) มีคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อให้คำปรึกษา เสนอแนะ ติดตามดูแล หรือช่วยเหลือสถานศึกษาในการจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ และหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในระเบียบที่ออกตามวรรคสอง อ่านร่างฉบับเต็มได้ที่: https://bit.ly/3qDaBTv |
ทั้งนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะต้องรับผิดชอบอย่างไร และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง หากโรงเรียนไม่สามารถสร้างนักเรียนออกมาได้ตามสมรรถนะที่กำหนดไว้ หรือในความเป็นจริงแล้ว รัฐต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะในทางหนึ่งร่างพ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ว่ารัฐมีหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดสมรรถนะตามที่กำหนด
มากไปกว่านั้น อาจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ จากคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ยังได้ตั้งคำถามที่ยึดโยงกับประเด็นนี้ว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ควรมีกลไกให้นักเรียนได้มีอำนาจตรวจสอบและและถ่วงดุลในสถานศึกษาเพิ่มเข้าไปด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ผู้บริหาร และครู ได้ใช้อำนาจที่ไม่ธรรมต่อนักเรียน
ระดับนโยบาย หากเราอ่านในร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว จะพบว่ามีสององค์กรใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบาย และสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ในส่วนของสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ ที่ระบุไว้ในมาตรา 58 ถูกมองว่า อาจเป็นเรื่องที่ดี ที่มีองค์กรเข้ามาทำหน้าที่หลักให้หลักสูตรมีความทันสมัยมากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี เพื่อตามทันโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่ก็มีอีกด้านที่น่ากังวล คือ หากสถานศึกษาอยากจะออกแบบหลักสูตรของตัวเอง และที่ผ่านมาสามารถทำได้ทันที หลังจากนี้ต้องเปลี่ยนมาแจ้งสถาบันเพื่อขอการอนุมัติให้หลักสูตรด้วย ซึ่งจุดนี้ก็อาจทำให้เกิดความล่าช้า ด้วยการเพิ่มขั้นตอนทางราชการเข้ามา
ทางด้านคณะกรรมการนโยบาย ที่ระบุไว้ในหมวดที่ 7 ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการในกระทรวง ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นหลัก ในการเคลื่อนนโยบายหลักของประเทศ ฉัตร คำแสง นักวิจัยนโยบาย Think Forward Center ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญว่า ในคณะกรรมการดังกล่าว ควรมีตัวแทนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และนักเรียนนักศึกษา เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการศึกษาไปข้างหน้าร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้นำเสนอมาอาจไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่อยากชวนผู้อ่านพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้และเปิดพื้นที่พูดคุยกันเพิ่มขึ้นอีก ทั้งทิศทางของเอกชนต่อการมีส่วนในการจัดการศึกษา การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การให้ชุมชนหรือครอบครัวจัดการศึกษา รูปแบบการกระจายอำนาจทางการศึกษา และการยกเลิกการสอบเข้าของเด็กประถม
ท้ายที่สุดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเขียนในครั้งนี้ จะเป็นสารตั้งต้นให้ผู้อ่านได้ค้นหาคำตอบว่า การศึกษาที่เราฝันถึงมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้ว พ.ร.บ.การศึกษาแบบไหน ที่จะช่วยเป็นหลักประกันให้การศึกษาที่เราฝันเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง