- ‘ความตาย หรือการสูญเสีย’ ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวเด็กๆ ที่เพิ่งใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่นาน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ในวันที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องบอกพวกเขาเรื่องความเจ็บป่วยและความตายที่จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวพวกเขา เราสามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกได้
- เริ่มตั้งแต่ให้เขารู้จักกับความตายผ่านนิทาน หนังสือ การ์ตูน หรือภาพยนตร์เพื่อให้เขาเข้าใจเรื่องดังกล่าว และหากสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ผู้ใหญ่ควรบอกความจริงกับเด็กอย่างตรงไปตรงมา โดยใช้วิธีการอธิบายให้เหมาะกับวัยของเด็ก เช่น เล่าเป็นนิทานในเชิงเปรียบเทียบร่างกายกับสิ่งของที่เด็กคุ้นเคย เช่น บ้าน รถยนต์ หรือต้นไม้
- ผู้ใหญ่สามารถชวนพูดคุยถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ไม่ควรห้ามเด็กกลัว หรือห้ามไม่ให้เขาเสียใจ แต่เราควรรับฟังและย้ำเตือนถึงปัจจุบันที่เรายังอยู่กับเขาในวันนี้ ตอนนี้
บทสนทนาเรื่อง ‘ความตาย’ กับลูกวัยเยาว์
ครอบครัวหนึ่งประกอบไปด้วยพ่อแม่และลูกสองคน คนพี่อายุ 7 ปี คนน้องอายุเพียง 4 ปี วันหนึ่ง พ่อพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ไม่มีทางรักษาหาย และคงไม่สามารถใช้ชีวิตได้ยืนยาวเหมือนคนอื่นๆ พ่อคิดอยู่นานว่า จะเล่าเรื่องนี้ให้ลูกๆ ฟังดีไหม เพราะลูกทั้งสองยังเป็นเด็ก แต่สุดท้าย พ่อตัดสินใจจะเล่าเรื่อง ‘ความจริง’ ให้ลูกๆ ฟัง
คืนนั้น หลังจากการเล่านิทานให้สองพี่น้องตามปกติฟัง และพ่อก็เริ่มเข้าเรื่องทันที…
พ่อ “รู้ไหมไม่นานมานี้พ่อไม่สบาย และต้องไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล”
สองพี่น้องพยักหน้า
พ่อ “คุณหมอบอกว่า ร่างกายของพ่อไม่สบาย”
ลูกคนโต “แล้วพ่อจะหายดีไหม”
พ่อ “น่าเสียดายที่ โรคที่พ่อเป็นยังไม่มียังไม่มียาที่รักษาให้หายได้ สักวันหนึ่งพ่อก็ต้องตายจากพวกเราไป…”
ลูกคนเล็ก “ตายคืออะไร”
พ่อ “ความตาย คือ การที่คนไม่หายใจ ไม่มีชีวิตแล้ว”
สองพี่น้อง …..
พ่อ “ร่างกายพ่อก็เหมือนบ้าน เวลาบ้านเราพังเราก็ซ่อม แต่ถ้าวันหนึ่งบ้านหลังนี้มันเก่ามากๆ ซ่อมหลายรอบจนซ่อมไม่ได้อีก คนในบ้านก็ต้องย้ายบ้านไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่ดีกว่าหลังนี้”
ลูกคนโต “ทุกคนต้องย้ายบ้านไหม?”
พ่อ “ทุกคนต้องย้ายบ้าน สักวันหนึ่ง บ้านของลูกสองคนยังใหม่คงอยู่ได้นานกว่าพ่อ แต่ไม่ใช่ว่าบ้านหลังใหม่จะพังก่อนหลังเก่าไม่ได้นะ”
สองพี่น้อง “ยังไง?”
พ่อ “ถ้ามีพายุเข้ามาพัดบ้านพัง หรือรถมาชนบ้านพังก่อนเวลาอันควร เจ้าบ้านก็ต้องย้ายเหมือนกัน”
ลูกคนโต “งั้นเราก็สามารถตายก่อนพ่อได้เหมือนกัน?”
พ่อ “ใช่ เพราะความตายไม่เลือกว่า ใครแก่กว่าตายก่อน หรือเด็กกว่าต้องอยู่นานกว่า เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะมาหาเราเมื่อไหร่ แต่สักวันจะมาหาแน่นอน”
สองพี่น้อง “พ่อกลัวไหม?”
พ่อ “กลัวตายเหรอ? พ่อไม่กลัวตาย แต่พ่อกลัวว่า ถ้าพ่อไม่สอนในสิ่งที่พ่อจำเป็นต้องสอนเรา พ่อกลัวมากกว่า”
สองพี่น้อง “สอนอะไร?”
พ่อ “นี่คือ สิ่งที่พ่อตั้งใจจะสอน ตอนนี้ลูกสองคนอาจจะไม่เข้าใจ แต่นับจากวันนี้พ่อจะสอนเราทุกวันจนกว่าเราจะเข้าใจ…”
- ความเจ็บป่วย และความตายเป็นสิ่งที่เราต้องเจอแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
- เวลา คือ สิ่งที่มีค่ามากที่สุด มีค่ากว่าเงินทอง เพราะเราไม่รู้ว่า เรามีเวลาเหลืออยู่บนโลกนี้เท่าไหร่
- ความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น นั่นคือการที่ไม่ยอมทำอะไรจนสายเกินไป
- อย่าทะเลาะกับคนในครอบครัวหรือคนที่เรารักข้ามวัน เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้มีอยู่จริงไหม
- อย่าเศร้ากับเรื่องบางเรื่องนานจนมองไม่เห็นสิ่งดีๆ และความสุขตรงหน้าเรา
วันนั้นลูกคนเล็กอาจจะยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง เพราะเด็กน้อยอาจจะยังเด็กเกินไป แต่พี่คนโตสามารถเข้าใจกระจ่าง สิ่งที่ส่งผลต่อสองพี่น้องหลังจากที่พ่อบอกเรื่องนี้ไป คือ ‘การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป’ แม้เด็กๆ จะเศร้ากับสิ่งที่พ่อบอก และรู้ว่าพ่ออาจจะอยู่กับพวกเขาได้อีกไม่นาน แต่เพราะรู้ก่อน จึงมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ เมื่อความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกิดขึ้นกับพ่อได้ทุกเมื่อ จึงทำให้สองพี่น้องพยายามโกรธกันข้ามวัน ให้อภัยได้เร็วกับสิ่งที่ผิดพลาด และพยายามทำดีต่อกันให้มากที่สุด
เด็กหลายคนที่มีพ่อแม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือต้องประสบกับเหตุการณ์ที่พ่อแม่เสียชีวิต ชีวิตของพวกเขาย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากมีการเตรียมตัว เตรียมใจที่ดี อย่างน้อยการจากลาย่อมมีความหมาย และทำให้ช่วงเวลาที่ก่อนจะจากลากัน พวกเขายังมีโอกาสทำสิ่งที่อยากทำ เมื่อวันที่ต้องจากกันมาถึง อย่างน้อยทั้งผู้ที่จากไปและผู้ที่ยังอยู่ต่อจะมีไม่สิ่งใดติดค้างในใจต่อกัน
“การเตรียมความพร้อมให้กับลูกวัยเยาว์ให้รับมือกับการสูญเสียบุคคลที่รัก”
แม้ความตายดูเป็นเรื่องไกลตัวของเด็กๆ ที่เพิ่งใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่นาน แต่ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ในวันที่เราจำเป็นต้องบอกพวกเขาเรื่องความเจ็บป่วยและความตายที่จะเกิดขึ้นกับเรา เราสามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกได้ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ใช้สื่อช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเรื่อง “ความตาย” และ “การจากลา”
สำหรับเด็กเล็กการอ่านหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ความตาย” และ “การจากลา” จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและรับรู้เรื่องยากนี้ได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างหนังสือนิทานที่กล่าวถึงความตายและการจากลา
- “คุณตาจ๋า ลาก่อน” เขียนโดย Jelleke Rijken และ Mack van Gageldonk แปลโดย วิชุดา โอภาสโศภณ
วันนี้หมีน้อยกับคุณตาจะไปตกปลากัน แต่คุณตาไม่มา เมื่อไปตามคุณตา ก็พบว่า คุณตานอนแน่นิ่งไป คุณช้างบอกว่า “คุณตาตายแล้ว” หมีน้อยไม่เข้าใจ คุณช้างจึงพยายามอธิบายหมีน้อย สุดท้ายหมีน้อยเข้าใจว่า “แม้คุณตาจะจากไปแล้ว แต่คุณตาจะอยู่กับเขาตลอดไป”
- “คิดถึงนะครับแม่” เขียนโดย Rebecca Cobb แปลโดย ริยา ไพฑูรย์
วันหนึ่งแม่จากเด็กชายไปตลอดกาล หลังงานศพของแม่ เด็กชายกลับมาตามหาแม่ไปทั่วบ้านของเขา แต่ก็หาแม่ไม่เจอ เขาคิดไปต่างๆ นาๆ ว่า “แม่อาจจะโกรธเขาที่เขาเป็นเด็กดื้อ เลยไม่กลับมา”
พ่อบอกเด็กชายตรงไปตรงมาว่า “แม่ตายแล้ว” หลังจากนั้นทั้งพ่อและเด็กชายต่างใช้เวลาร่วมกัน เพื่อร้องไห้ และรู้สึกถึงความโศกเศร้าให้เต็มที่ ก่อนที่จะก้าวต่อไป
สำหรับเด็กโต การดูภาพยนตร์หรือการ์ตูน สำหรับเด็ก ที่กล่าวถึงความตายและการจากลา จะช่วยให้พวกเขาเปิดใจและเข้าใจว่าสองสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา เช่น COCO วันอลวน วิญญาณอลเวง (2017), Soul อัศจรรย์วิญญาณอลเวง (2020), A Dog’s Purpose หมา เป้าหมาย และเด็กชายของผม (2017), Hana Miso’s soup ซุปมิโสะของฮานะจัง (2015) เป็นต้น
ขั้นที่ 2 บอกความจริงกับลูก
ผู้ใหญ่ควรบอกความจริงกับเด็กอย่างตรงไปตรงมา โดยใช้วิธีการอธิบายให้เหมาะกับวัยของเด็ก เช่น เล่าเป็นนิทานในเชิงเปรียบเทียบร่างกายกับสิ่งของที่เด็กคุ้นเคย เช่น บ้าน รถยนต์ หรือ ต้นไม้ และอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับสิ่งของที่แปรสภาพ
ขั้นที่ 3 ให้เวลากับลูก
“ความตายคือการจากไปอย่างถาวรของบุคคลนั้น” ดังนั้น ความน่ากลัวของความตายคือ “การหายไป” ผู้ใหญ่สามารถชวนพูดคุยถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ เราไม่ควรห้ามเด็กกลัว หรือห้ามไม่ให้เขาเสียใจ แต่เราควรรับฟังและย้ำเตือนถึงปัจจุบันที่เรายังอยู่กับเขาในวันนี้ ตอนนี้
“ตอนนี้ที่เราคุยกัน พ่อแม่ยังไม่ได้ตายจากลูกไปไหน ดังนั้น ถ้ามีอะไรที่พ่อแม่อยากทำให้ลูก พ่อแม่จะทำให้ดีที่สุด สำหรับลูกแล้วถ้ามีอะไรอยากทำอะไรด้วยกัน เราไปทำร่วมกันนะ”
แม้ว่าลูกในวันนี้ยังไม่สามารถเข้าใจและยอมรับทุกอย่าง แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้ความจริง และมีเวลาในการเตรียมตัวเตรียมใจไปกับเรา เพราะมันคงไม่ยุติธรรมกับลูก หากวันหนึ่งอยู่ดีๆ ร่างกายของพ่อแม่ที่เขารับรู้ค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน และพ่อแม่ตายจากเขาไป โดยที่เขาไม่ได้เตรียมใจเลย
“เตรียมตัวก่อนจากไป”
สำหรับ “ผู้ที่ต้องจากไป” เราควรตระเตรียมจัดการสิ่งต่างๆ ที่สำคัญให้เรียบร้อยก่อนที่วันนั้นจะมาถึง… ได้แก่ ทำพินัยกรรม การส่งต่อหรือการแบ่งมรดก การบริจาคร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ และการทำรายการทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน ต่างๆ การจัดการเอกสารการเงินต่างๆ ให้เรียบร้อย
ที่สำคัญที่สุด คือ การแสดงความเจตจำนงสุดท้ายให้ชัดเจน หรือการทำ Living Will เพราะสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายบางท่าน อาจจะไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว การทำ Living Will จะถือเป็นคำพูดสำคัญของเรา
5 ข้อมูลสำคัญในการเขียน Living Will ได้แก่
- ข้อมูลส่วนบุคคลความต้องการในระยะสุดท้ายของชีวิต เช่น ต้องการให้ยื้อชีวิตหรือไม่
- ต้องการให้ดูแลรักษาแบบใด เช่น ไม่ต้องการให้ใส่ท่อหายใจ ต้องการการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น
- ชื่อผู้ใกล้ชิดที่สามารถช่วยตัดสินใจกรณที่มีปัญหาได้ เช่น สามี / ภรรยา พ่อ / แม่ ของเรา
- การดูแลหลังเสียชีวิต เช่น ขอบริจาคร่างกายและอวัยวะให้กับโรงพยาบาล
- ลงลายมือชื่อ และอาจจะลงลายมือชื่อพยาน พร้อมบอกความเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อเขียน Living Will เสร็จแล้วให้ถ่ายสำเนาและรับรองสำเนาถูกต้อง มอบให้กับสมาชิกในครอบครัว และแพทย์ผู้ดูแลรักษาเรา เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของขั้นนี้จึงเป็นการพูดคุยกับคนในครอบครัวให้ชัดเจนถึงเจตจำนงของเราเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เมื่อวันนั้นมาถึงจะไม่มีความขัดแย้งและเราจะสามารถจากไปอย่างสบายใจ
ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน
ภาวะที่ลูกหลานพยายามจะรักษาและยื้อชีวิตของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของตนเอาไว้สุดความสามารถ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาอาจจะรู้สึกว่า ตนเองไม่ได้ทำหน้าที่ลูกหลานที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดความรู้สึกผิด และพยายามจะชดเชยความรู้สึกผิดของตนเอง ผ่านการทำสิ่งต่างๆ เท่าที่จะนึกได้ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตของพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย
ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะกตัญญูเฉียบพลัน ลูกหลานควรให้ความสำคัญกับการทำสิ่งต่างๆ ที่อยากทำให้กับพ่อแม่และปู่ย่าตายายในวันที่เขายังมีสุขภาพแข็งแรง หรือยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง
“การรับมือกับความสูญเสีย”
“The 5 Stages of Grief Model” โมเดล 5 ขั้นของความเศร้าโศก
จิตแพทย์ชาวสวิส Elisabeth Kübler-Ross ได้กล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์ที่ตอบสนองต่อการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียบุคคลที่รัก สูญเสียสิ่งที่รัก หรือแม้แต่การถูกพรากโอกาสบางอย่างไปจากชีวิต ล้วนเป็นความสูญเสียที่ส่งผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งรูปแบบการตอบสนองทางอารมณ์และระดับความรุนแรงของอารมณ์ที่แสดงออกมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และแต่ละช่วงเวลา
Kübler-Ross ได้พัฒนาขั้นตอนเพื่ออธิบายกระบวนการของผู้ป่วยที่มีอาการป่วยระยะสุดท้ายต้องผ่านไปเมื่อพวกเขาต้องรับรู้ว่า “ตนเองต้องเผชิญกับความตาย” ต่อมาขั้นตอนเหล่านี้ถูกนำไปใช้กับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ขั้นตอนที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อย่อ “DABDA” ได้แก่
ขั้นที่ 1 Denial – ปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้น
ปฏิกิริยาแรกคือการปฏิเสธ ในขั้นนี้บุคคลจะไม่อยากเชื่อว่า การวินิจฉัยผิดนั้นถูกต้อง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง และพร้อมจะเชื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการเชื่อ นั่นคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง” “ฉันกำลังฝันไป” “หมอวินิจฉัยพลาด” ทำให้ในขั้นนี้ หลายคนพยายามเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษา เพื่อต้องการความคิดเห็นที่สอง (Second opinion) ที่สาม หรือมากกว่านั้น
ขั้นที่ 2 Anger – โกรธในสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อบุคคลตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธความจริงตรงหน้าอีกต่อไป พวกเขาจะเข้าสู่ขั้นที่สอง คือ ความโกรธ พวกเขาจะหงุดหงิด โดยเฉพาะกับบุคคลที่ใกล้ชิด การตอบสนองทางจิตใจของบุคคลที่อยู่ในระยะนี้จะเป็นไปในลักษณะ โกรธเคืองและโทษสิ่งต่างๆ คนรอบตัว รวมทั้งตัวเองด้วย เช่น “มันไม่ยุติธรรมเลยที่คนที่ฉันรักต้องจากไป” “ทำไมฉันต้องเจอกับเรื่องนี้ด้วย” “ฉันทำอะไรผิดถึงต้องมารับการลงโทษนี้ด้วย” เป็นต้น
ขั้นที่ 3 Bargaining – การต่อรองวนไปวนมาภายในจิตใจ
ความหวังเดียวที่หลงเหลือยามที่ต้องสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่รักไป คือ การต่อรองที่เกิดขึ้นภายใจจิตใจ เช่น
“ฉันจะเลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเลย ขอให้พ่อของฉันกลับมามีชีวิตอยู่อีก ขอให้เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงความฝัน”
“ถ้าฉันพูดดีๆ กับแม่ของฉัน แม่คงยังมีชีวิตอยู่”
“ถ้าเราไม่ทะเลาะกันวันนั้น เธอคงยังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้” เป็นต้น
การต่อรองที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงแล้ววนไปวนมาในหัว ทำให้เกิดเป็นความคิดย้ำทำ ซึ่งในขั้นนี้อาจจะนำไปสู่อาการซึมเศร้าในที่สุด
ขั้นที่ 4 Depression – อาการซึมเศร้า
อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 บุคคลมีอาการซึมเศร้าหลังสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป บุคคลใช้เวลากับเศร้าช่วงเวลาหนึ่งกับการไว้อาลัยและความโศกเศร้าที่เกิดขึ้น จากนั้นสามารถดึงตัวเองให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
กรณีที่ 2 บุคคลมีอาการซึมเศร้าในระดับที่รุนแรง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเกินหนึ่งเดือน แต่ก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ไม่สามารถกินอาหาร นอนหลับ ไปเรียนหรือทำงานได้ตามปกติได้ ที่สำคัญมีความคำทำร้ายตัวเองและไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ในกรณีบุคคลมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบจิตแพทย์ทันที
ในกรณีที่ 2 มักเกิดขึ้นกับบุคคลที่สูญเสียบุคคลที่รักไปอย่างกระทันหัน ไม่ทันมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ หรืออาจจะมีปมติดค้างในใจที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายกับบุคคลที่จากไป ทำให้เกิดความรู้สึกผิดต่อตัวเองและในบางคนไม่สามารถให้อภัยตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
ขั้นที่ 5 Acceptance – การยอมรับ
หลังจากผ่านทุกขั้นตอนไปได้ บุคคลจะเกิดความรู้สึกยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และก้าวข้ามผ่านความสูญเสียเพื่อเติบโตต่อไป การยอมรับ ไม่ได้แปลว่า ไม่ได้รู้สึกเศร้าเสียใจอีกแล้ว บุคคลยังรู้สึกเศร้าเสียใจได้ แต่สามารถก้าวต่อไปได้
“การรับมือกับความเศร้าจากการสูญเสีย”
ข้อที่ 1 เราควรอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกเศร้า เสียใจ และร้องไห้ได้
เราไม่จะเป็นต้องเข้มแข็งตลอดเวลา และการร้องไห้ ไม่ได้แปลว่า เราอ่อนแอไม่ต้องรีบเดินต่อ หากเรายังไม่พร้อม ให้เวลากับความเศร้า และให้เวลากับตัวเองเท่าที่ต้องการ
สำหรับเด็กๆ ก็เช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ควรอนุญาตให้เขารู้สึกเศร้า และร้องไห้ได้ อย่าบอกให้เขาหยุดร้องไห้ และเข้มแข็ง เพราะเขาไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งในยามที่เขาเศร้า เราต่างเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกและควรได้รับอนุญาตให้แสดงความรู้สึกเหล่านั้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับเด็กเล็กบางคนยังคงคิดว่า “บุคคลที่เขารักจะกลับมา” หรือ “ไม่ได้ไปไหน” เด็กๆ จึงถามหาบุคคลเหล่านั้นอยู่ในช่วงแรก เพราะพวกเขายังไม่เข้าใจว่า “ความตาย” ได้พรากบุคคลที่เขารักไปแล้ว เขาจะไม่สามารถเจอบุคคลเหล่านั้นในชีวิตจริงได้อีก
ข้อที่ 2 พูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ
ในยามที่เราเศร้า บางครั้ง การได้พูดถึงสิ่งที่เรารู้สึกออกมา ก็ทำให้ใจของเราที่ทุกข์โศก ได้รับการบรรเทาลงได้
สำหรับเด็กๆ พวกเขาอาจจะพูดออกมาได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้แปลว่า เขาจะรู้สึกน้อยไปกว่าเรา ดังนั้น ให้การเคียงข้าง กอด ปลอบประโลม และรับฟังเท่าที่เขาต้องการ บางครั้งเพียงเรานั่งลงข้างๆ ให้เขาเอนตัวมาพิงเรา โดยมีเราลูบหลังน้อยๆ ของเขา เท่านี้ก็ทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจได้
ข้อที่ 3 การพบจิตแพทย์หรือนักบำบัด
บางครั้งการสูญเสียบุคคลที่รักอาจจะหนักหนาเกินที่ใจของเราจะรับไหว การไปพบจิตแพทย์อาจจะเป็นทางออกที่ดี เพราะบางครั้งร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากความเศร้าเป็นระยะเวลานาน อาจจะกลับมาทำงานได้ไม่ปกติตามเดิมด้วยตัวเอง ได้ ดังนั้นจิตแพทย์อาจจะช่วยปรับสมดุลตรงนี้ผ่านการจ่ายยา หรือการบำบัดด้วยวิธีต่างๆ
สำหรับเด็กๆ การบำบัดมีหลายวิธีที่สามารถเยียวยาจิตใจพวกเขาได้ เช่น การเล่นบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรบำบัด และการพูดบำบัด เป็นต้น ยิ่งเรารู้ตัวเร็วว่า เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ วิตกกังวลจนเกินเหตุ ร้องไห้ไม่มีเหตุผล และอื่นๆ เราควรรีบมาพบจิตแพทย์ เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
“บทเรียนจากความตาย”
ข้อที่ 1 “ในวันที่เราต้องจากไป สิ่งที่จะยังคงอยู่กับลูก คือ ความรักและคำสอนจากเรา”
ในวันที่เรามีชีวิตอยู่ เราควรมอบความรักให้กัน เพื่อว่าวันที่เราจากไป ลูกจะยังรับรู้ถึงความรักของเราในตัวเขา
ในวันที่เรายังสามารถเฝ้าดูอยู่ไม่ห่างและให้ความช่วยเหลือลูกได้ ให้เราสอนเขาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อว่าวันที่เราต้องห่างไกล ลูกยังสามารถทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเขาเอง
ในวันที่เรายังอยู่ด้วยกัน ให้เราสร้างสร้างประสบการณ์ดีๆ กับลูกให้มากที่สุด เพื่อว่าวันที่เรากลายเป็นเพียงความทรงจำของลูก เราจะเป็นภาพจำที่ดีในใจของเขา
ข้อที่ 2 “วันที่ดีที่สุด คือ วันนี้ที่เรายังมีชีวิตอยู่”
เราไม่รู้ว่า “ความตาย” จะพรากเรากับคนที่เรารักหรือสิ่งต่างๆ ไปเมื่อไหร่ ดังนั้น ในวันนี้ที่เรายังลืมตาตื่นขึ้นมามีลมหายใจ ทำให้วันนี้เป็นวันที่เรายังมีอยู่และวันที่เรายังมีชีวิต ทำให้เรามีโอกาสทำสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการจะทำ และหนึ่งในนั้น คือ การทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเราเอง และคนที่เรารัก
เราไม่ควรทะเลาะกับคนที่เรารักข้ามวัน หรือ ลังเลที่จะแสดงความรักต่อคนที่เรารัก เพราะ “พรุ่งนี้อาจจะไม่มีอยุ่จริง”
ข้อที่ 3 “เมื่อคนที่เรารักตายจากไป สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำให้เขาได้ คือ การใช้ชีวิตต่อไปอย่างดีที่สุด”
“ความตาย” เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด
สักวันหนึ่งทั้งตัวเรา และคนที่เรารักต้องตายจากกันไป
อยู่แค่เพียงว่า “ใครจะจากไปก่อนกัน” ข้อนี้ไม่มีใครรู้
หากเราเป็นฝ่ายที่ต้องจากไปก่อน เราก็คงอยากให้ฝ่ายที่ยังอยู่มีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุข
ดังนั้น ในทางกลับกัน เราเสียเองที่ต้องเป็นฝ่ายที่ต้องอยู่ต่อไป สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำให้เขาได้ คือ การใช้ชีวิตต่อไปอย่างดีที่สุด “วันเวลามีค่าเสมอ” เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ กอดลูกในวันที่เรายังมีกัน บอกรักเขาในวันทุกวัน เพื่อว่า “แม้ว่า เราจะจากไป ลูกยังคงรับรู้ถึงการเคียงข้างของเราเสมอ”