- นิยามการเรียนรู้ในมุมมองของ Lev Vygotsky หรือเลฟ ไวก็อตสกี้ นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย คือ การให้ความหมาย การสะท้อนคิด การสร้างสรรค์ หรือการเกิดขึ้นของสำนึกบางอย่างต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น
- จากนิยามดังกล่าว โลกของการเรียนรู้จึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเท่านั้น ฉะนั้น วิธีสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ พวกเขาควรได้สื่อสารกับผู้อื่น การปฏิสัมพันธ์ที่จะช่วยขยายการเรียนรู้ไปสู่การคิดที่ซับซ้อน การให้ความหมายใหม่ การปรับความเข้าใจ และการแก้ปัญหาได้
- ในการเรียนรู้ของเด็กจะมีระยะห่างระหว่างสิ่งที่เด็กทำได้ด้วยตนเอง และสิ่งที่เด็กสามารถจะทำหรือเป็นได้ โดยการพัฒนาไปสู่ระยะที่ทำได้หรือเป็นได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่รอยต่อพัฒนาการที่เด็กได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น เช่น ครู เพื่อน ผู้เชี่ยวชาญ ครอบครัว หรือสื่อเทคโนโลยี เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมาย หรือข้ามผ่านเข้าสู่พื้นที่ใหม่ได้
การเรียนรู้คืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เด็กๆ เรียนรู้อย่างไร?
เราจะมีวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างไร?
คำถามทั้งสามข้อนี้ อาจเป็นสิ่งที่คุณครูหลายคนเคยคิด หรือค้นหาคำตอบจากประสบการณ์ในห้องเรียนของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่า ห้องเรียนของแต่ละคนก็อาจให้คำตอบที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับ Lev Vygotsky หรือเลฟ ไวก็อตสกี้ (1896 –1934) นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ได้นำเสนอแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาจนถึงทุกวันนี้ Vygotsky ได้ให้คำตอบของคำถามทั้งสามผ่านแนวคิดที่ปรากฎในงานต่างๆ ไว้หลายประเด็นด้วยกัน
การเรียนรู้คืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
Vygotsky มองว่าการเรียนรู้เป็นการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ที่จะทำให้มนุษย์เกิดมุมมอง ความเข้าใจ สร้างสรรค์ หรือปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อโลก สำหรับ Vygotsky การเรียนรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่แยกขาด แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม การที่ผู้คนเกิดการปฏิสัมพันธ์หรือกระทำการร่วมกันผู้อื่น เช่น พูดคุย สนทนา แลกเปลี่ยน ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ณ จุดนี้เองที่ทำให้มนุษย์เกิดการสะท้อนคิดกับตัวเอง เช่น ฉันรู้สึกผิดที่พูดแบบนั้น อะไรคือความนัยของคำถามนี้ หรือฉันเห็นด้วยกับประโยคนั้น ฯลฯ
สุดท้ายการสะท้อนคิดเหล่านั้นจะนำมาสู่พัฒนาการทางความคิด อาจกล่าวได้ว่า สำหรับ Vygotsky การเรียนรู้ คือ การให้ความหมาย การสะท้อนคิด การสร้างสรรค์ หรือการเกิดขึ้นของสำนึกบางอย่างต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น
เด็กๆ เรียนรู้อย่างไร
จากมุมมองการเรียนรู้ จะเห็นได้ว่าในความคิดของ Vygotsky สภาพแวดล้อมทางสังคมส่งผลต่อการพัฒนาความคิด ความเข้าใจของมนุษย์อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะวัฒนธรรมซึ่งหมายรวมถึงชุดคุณค่า ความคิดความเชื่อ หรือการให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากสมาชิกในสังคม ดังนั้น ภาษาจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่มนุษย์ใช้เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ขณะเดียวกันภาษายังสะท้อนถึงประสบการณ์เบื้องหลังของชีวิตมนุษย์ และกลายเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางความคิด
โลกของการเรียนรู้จึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากการที่เด็กได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือสังคมที่อยู่ผ่านภาษา หมายความว่า เด็กจะเรียนรู้ผ่านการสื่อสารในระหว่างที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนอื่น จุดนี้เองเด็กจะไม่ได้แค่รับรู้ความหมาย แต่จะเรียนรู้ชุดคุณค่า ความเชื่อ หรือระบบความคิดของสังคม นั้นๆ ไปพร้อมกัน และในขณะเดียวกันนั้น เขาก็สามารถที่จะต่อรองเพื่อเสนอความหมายใหม่ให้กับคุณค่าที่มีอยู่เดิมในสังคมผ่านภาษาได้เช่นกัน
ตัวอย่างจากประสบการณ์ในห้องเรียน ผู้เขียนเคยถามเด็กว่า วัฒนธรรมคืออะไร คำตอบของเด็กส่วนใหญ่ คือ วัด ชุดไทย โขน เพราะเขามองว่า วัฒนธรรม = ความเป็นไทย สะท้อนให้เห็นว่าคำว่า “วัฒนธรรม” ในสังคมไทยที่เด็กเรียนรู้มาตลอดได้สร้างความคิดความเชื่อหรือภาพจำแบบนั้นขึ้นมา
แต่ในห้องเรียนวันนั้น ผู้เขียนมีโอกาสถามเด็กต่อ เช่น การรับประทานหมูกระทะ การเล่นโซเขียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมหรือไม่ คำถามดังกล่าวทำให้บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นทั้งครูและนักเรียน หลังจบคาบวันนั้นเด็กเริ่มให้ความหมายของวัฒนธรรมในมุมที่ต่างจากสิ่งที่เขารับรู้มาก่อนหน้า
จะเห็นได้ว่าภาษา ในด้านหนึ่งสะท้อนถึงประสบการณ์ทางสังคมของเด็ก และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสะพานเชื่อมให้เด็กเรียนรู้ความคิดและความเข้าใจสิ่งต่างๆ จากคนอื่นๆ และใช้แสดงความคิด ความเข้าใจ ของตนเองสู่ผู้อื่นได้เช่นกัน บทสนทนาจึงเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่จะช่วยขยายการเรียนรู้ไปสู่การคิดที่ซับซ้อน การให้ความหมายใหม่ การปรับความเข้าใจ และการแก้ปัญหาได้
เราจะมีวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างไร?
Vygotsky มองว่าการเรียนรู้ที่จะสร้างให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ ตีความ ให้ความหมาย แม้กระทั่งการแก้ปัญหาได้นั้น ต้องอาศัยการเข้าไปปฏิสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกับผู้อื่นด้วยการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ คำถามถัดมาก็คือ การปฏิสัมพันธ์ควรเป็นอย่างไร ถึงจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดขึ้นได้
เขาได้เสนอแนวคิดเรื่อง Zone of proximal development หรือพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ เป็นแนวคิดที่อธิบายว่าพัฒนาการทางสติปัญญาสัมพันธ์กับการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร ซึ่งพบว่าในการเรียนรู้ของเด็กจะมีระยะห่างระหว่างสิ่งที่เด็กทำได้ด้วยตนเอง และสิ่งที่เด็กสามารถจะทำหรือเป็นได้ โดยการพัฒนาไปสู่ระยะที่ทำได้หรือเป็นได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่รอยต่อพัฒนาการที่เด็กได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือคำแนะนำจากผู้อื่น เช่น ครู เพื่อน ผู้เชี่ยวชาญ ครอบครัว หรือสื่อเทคโนโลยี เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมาย หรือข้ามผ่านเข้าสู่พื้นที่ใหม่ได้
ตัวอย่างจากภาพ ในโซนใกล้ฝั่งเด็กสามารถเล่นน้ำในพื้นที่ตื้นได้ แต่การจะว่ายน้ำเป็น (โซนที่สาม) ได้นั้น ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความเข้าใจ เข้ามาให้คำแนะนำ สุดท้ายเด็กก็สามารถว่ายน้ำได้ด้วยตันเองในเวลาต่อมา หรือจากประสบการณ์การเป็นนักเรียนของผู้เขียน มีครูคนหนึ่งสั่งให้ไปค้นข้อมูลแล้วมานำเสนอ สุดท้ายผู้เขียนก็ไม่ได้เข้าใจประเด็นที่ตนไปศึกษา แต่ทว่าครูอีกคนให้คำแนะนำก่อนไปค้นข้อมูล หลังค้นคว้ามาแล้ว ครูให้คำถามชวนคิดเพื่อให้กลับไปศึกษาอีกรอบ เมื่อต้องนำเสนองาน ผู้เขียนสามารถสื่อสารเรื่องที่ค้นคว้ามาได้ด้วยความเข้าใจของตนเอง
กล่าวได้ว่า แม้เด็กจะมีความเข้าใจในบางเรื่องมาก่อนหรือสามารทำบางอย่างได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อมีโจทย์ สถานการณ์ หรือความท้าทายใหม่เข้ามา เขาจำเป็นต้องอาศัยใครบางคนเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้เขาสามารถเข้าใจหรือทำในสิ่งที่ยากขึ้นได้ ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด
ในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ครูจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ภายใต้ความสนใจของเขา และมองให้เห็นว่า อะไรที่เด็กสามารถทำได้สำเร็จอย่างอิสระ และอะไรที่เด็กจะทำสำเร็จได้ด้วยคำแนะนำหรือการสนับสนุนจากผู้อื่น เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องวางอยู่บนการเรียนรู้ร่วมกัน (cooperative learning) และการให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ (constructive feedback) โดยมีครูคอยส่งเสริมให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับเพื่อน ผู้ช่วย ผู้ที่มีประสบการณ์บนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต รวมถึงพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ค่ายกิจกรรม หรือหลักสูตรตามความสนใจเฉพาะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กได้เห็นความคิดที่หลากหลายและเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนขึ้นได้ สื่งสำคัญคือต้องไม่ปล่อยให้เด็กเป็นเพียงคนคอยฟังคำตอบจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่จะต้องส่งเสริมให้เขาเข้าไปมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจ แก้ปัญหา กับผู้อื่นอย่างกระตือรือร้น
สุดท้ายนี้อาจพูดได้ว่า Vygotsky กำลังบอกเราว่า การจัดการเรียนรู้ที่ดีคือการทำให้เด็กรู้สึกว่ามีใครสักคนอยู่เคียงข้าง หรือเป็นนั่งร้านที่ช่วยสนับสนุนให้เขาได้เติบโต พร้อมกับสร้างพื้นที่ให้เขาได้คิด ได้พูด ได้สื่อสารออกมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน สนทนา หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
อ้างอิง
หนังสือ Education : A very short introduction เขียนโดย Gary Thomas
A behavior interpretation of Vygotsky’ theory of Thought , Language , Culture https://psycnet.apa.org/journals/bdb/9/1/7.html
Lev Vygotsky’s Sociocultural Theory https://www.simplypsychology.org/vygotsky.html
Lev Vygotsky – Sociocultural Theory of Cognitive Development Lev Vygotsky – Sociocultural Theory of Cognitive Development – Educational Technology
(Re)Introducing Vygotsky’s Thought: From Historical Overview to Contemporary Psychology https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2019.01515/full
Vygotsky’s Sociocultural Theory https://www.researchgate.net/publication/288227535_Vygotsky’s_Sociocultural_Theory
วีดีโอ Vygotsky’s Theory of Cognitive Development in Social Relationships Vygotsky’s Theory of Cognitive Development in Social Relationships – YouTube