- ความฝัน นอกจากใช้เพื่อสัมผัสถึงลักษณะของตัวเองที่เราได้ละเลยไปแล้ว บางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนการใช้ชีวิตของเรา
- เช่น ชายคนหนึ่งที่มักรู้สึกไม่มั่นคงและเกิดอาการเวียนหัวเมื่อต้องขึ้นภูเขาสูง อีกทั้งยังฝันว่าได้กลับไปบ้านเกิดแต่ทุกคนกลับไม่รู้จักเขา หรืออีกฝันหนึ่งลืมเอกสารสำคัญทำให้ไปไม่ทันรถไฟ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่าความทะเยอทะยานที่พยายามถีบตัวเองกำลังส่งผลให้เขาเหนื่อยล้า และยิ่งเขาไม่หยุดพักผลกระทบก็ยิ่งหนักขึ้น
- บทความชิ้นนี้ ภัทรารัตน์ ชวนเข้าใจความฝันและการทำงานกับความฝัน ผ่านตัวละครโกลด์มุนด์ จากเรื่อง นาร์ซิสซัสและโกลด์มุนด์
“คุณคอยสังเกตนะ ผมเหนือกว่าคุณเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือผมตื่นแล้ว ส่วนคุณยังครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ หรือบางทีคุณอาจหลับสนิทเลยทีเดียว” – นาร์ซิสซัส กล่าวกับโกลด์มุนด์
ณ มาเรียบรอนน์ (Mariabronn) อารามยุคกลางแห่งหนึ่งในชนบทของเยอรมัน โกลด์มุนด์ (Goldmund) หนุ่มน้อยหน้าตาหล่อเหลาผมสีบลอนด์ ผู้มีจิตวิญญาณแบบศิลปินนักฝัน อีกทั้งมีความเป็นกวีและนักรัก จำต้องมาเป็นนักเรียนในอารามเพื่อในอนาคตจักได้บวชเพื่อพระผู้เป็นเจ้าตามความประสงค์ของพ่อผู้เย็นชา เนื่องเพราะพ่อเห็นว่าแม่ของเด็กหนุ่มมีความผิดบาปซึ่งโกลด์มุนด์ต้องช่วยไถ่ให้
ทว่า โกลด์มุนด์แทบไม่มีความทรงจำใดเกี่ยวกับแม่เลย เขารู้เพียงว่าตนสูญเสียแม่ไปตั้งแต่อายุยังน้อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพ่อของโกลด์มุนด์อับอายที่ภรรยาของตนหนีไป เขาจึงต้องกดความทรงจำเกี่ยวกับภรรยาในตัวโกลด์มุนด์อย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้โกลด์มุนด์สืบสันดาน ‘ชั่วร้าย’ ของแม่ ลักษณะต่างๆ ของเธอจะไม่มีโอกาสเบ่งบานในตัวโกลด์มุนด์
ในอารามที่พ่อนำตัวโกลด์มุนด์มาฝากไว้นั้น มีบุคคลผู้น่าเลื่อมใสอยู่สองท่าน หนึ่งในนั้นคือนาร์ซิสซัส (Narcissus) ครูหนุ่มผู้มีอายุมากกว่าโกลด์มุนด์เพียงนิดหน่อย นาร์ซิสซัสมีลักษณะของนักคิดผู้เปี่ยมปัญญาและสงวนท่าที อีกทั้งสามารถสัมผัสถึงบุคลิกภาพของคนอื่นได้ด้วยความหยั่งรู้ แม้นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์จะมีความแตกต่างกันมากมายเพียงไร แต่พวกเขาก็ได้สานสายใยมิตรภาพอันลึกซึ้งต่อกัน
นาร์ซิสซัสมองเห็นว่าวิญญาณของโกลด์มุนด์ป่วยไข้มาเนิ่นนาน วันหนึ่งจึงบอกแก่โกลด์มุนด์ว่า “คุณลืมวัยเด็กของตัวเอง” เขารู้ว่าอดีตกำลังเพรียกหาโกลด์มุนด์จากเบื้องลึกแห่งวิญญาณและโกลด์มุนด์จะเป็นทุกข์จนกว่าจะหวนกลับไปดูอดีตซึ่งมีมารดาอยู่ในนั้น ถ้อยคำต่างๆ ของนาร์ซิสซัสทำให้โกลด์มุนด์เจ็บปวดมาก แต่กระนั้นก็รู้สึกว่า ‘ได้ปลดปล่อยตัวเองจากบางอย่าง’ ในส่วนลึก โกลด์มุนด์วิ่งหนีไปสลบอยู่ใต้หลังคาหินเชื่อมทางเดินกับสวนในอาราม
ในขณะกึ่งหลับกึ่งตื่นจากโลกของความฝัน โกลด์มุนด์เห็นภาพแม่ของเขา สตรีใบหน้าเปล่งปลั่ง ร่างสูง เรือนผมส่องประกายจับตา ‘ผู้หญิงผู้เป็นที่รักเกินกว่าจะพร่ำพรรณนา นัยน์ตาสีฟ้าอ่อนงามสง่าดุจเนตรพระราชินีของเธอจ้องมองมาที่เขาอีกครั้ง’
นาร์ซิสซัสกระตุ้นให้โกลด์มุนด์ระลึกถึงมารดาที่เขาลืมเลือนไป และหลังจากเขาตื่นขึ้นจากการหมดสติ ก็ดูเหมือนว่าโกลด์มุนด์ได้รับการเยียวยาไปส่วนหนึ่งแล้ว เขาได้สัมผัสรสชาติของมารดาที่มีทั้งความสง่างาม อบอุ่นละมุนละไม ฯลฯ ที่มีความหมายมากกว่าเรื่องอื้อฉาวที่เคยได้ยินจากปากคนอื่น และเขายังได้สัมผัสกับคุณลักษณะต่างๆ มากมายของตัวเองอันเหมือนกับของมารดา ซึ่งถูกกดไว้ในจิตไร้สำนึกด้วย
ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ และต้นแบบของความเป็นแม่ (Mother Archetype) เผยตัวขึ้นในความฝันและฝันกลางวันอันกึ่งหลับกึ่งตื่นของโกลด์มุนด์ เขาได้เห็นคุณลักษณะต่างๆ ของตัวเองที่ไม่สอดคล้องกับการเป็นเพศบรรพชิต และตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตอิสระอันเปิดกว้างต่อความรักใคร่และผัสสาการที่น่าตื่นเต้นในโลก ซึ่งรวมเอาสองขั้วตรงข้ามของโลกไว้ รอยยิ้มแห่งสุข การปลอมประโลม ความน่ากลัว ความเย้ายวน ความมืดมิด ความตะกละตะกลาม มลทินมัวหมองและความโศกาอาดูร ฯลฯ โลกที่สรรพสิ่งได้ถือกำเนิดขึ้นและถูกพรากชีวิตให้ดับสูญไป
การสัมผัสกับคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ค่อยๆ ขยายขอบเขตของโกลด์มุนด์ให้ไพศาลบริบูรณ์ขึ้นในแนวทางของตัวเขาเอง
บางด้านที่เราได้ทอดทิ้งไป
ในครอบครัวและสังคมของพวกเราแต่ละคนก็เหมือนกับของโกลด์มุนด์ ที่ผู้ปกครองและผู้คนย่อมจะมีแนวคิดว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และอะไรเป็นคุณลักษณะที่อยากบ่มเพาะขัดเกลาให้เรามีและไม่มี อย่างในเนื้อเรื่องนี้พ่อของโกลด์มุนด์คิดว่าลักษณะแห่งกามสุขต่างๆ และความรุ่มรวยแบบศิลปิน นักรักนอกรีต ฯลฯ ของภรรยา เป็นความชั่วร้ายและน่าอาย เขาจึงฝังกลบลักษณะเหล่านั้นในตัวลูกไว้ร่วมกับความทรงจำของลูกเกี่ยวกับมารดา
แต่ไม่ว่าลักษณะไม่พึงประสงค์สำหรับครอบครัวและสังคมที่เราอยู่ จะเหมือนกับของโกลด์มุนด์หรือไม่ สิ่งที่ถูกปฏิเสธในตัวเราทุกคน โดยเฉพาะนับแต่วัยเด็กไม่ได้หายไป มันเพียงแต่ถูกกักไว้ในจิตไร้สำนึก หรือบางทีเราก็เติบโตมาโดยรู้สึกถึงมันอย่างครึ่งๆ กลางๆ ราวกับอยู่ในภวังค์ และบ้างก็ปฏิเสธมันอย่างรุนแรงเมื่อเริ่มรู้จักมันอีกครั้ง
มันแค่รอวันแสดงตัวออกมาในกระแสสำนึก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็มักมีอานุภาพรุนแรงเกินจะควบคุม กระนั้น วิธีที่เราจะสามารถรับรู้มันอย่างเป็นมิตร (รับรู้ในจิตใจ ไม่ได้แปลว่าต้องทำพฤติกรรมตามสิ่งต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาทั้งหมด เพราะเรายังต้องอยู่ในสังคม) ก่อนให้มันมาควบคุมเรา ก็คือการทำงานกับภาพสัญลักษณ์ในตำนานและเรื่องราวต่างๆ อีกทั้งทำงานกับภาพที่ปรากฏในความฝัน ความกึ่งฝันกึ่งตื่น รวมไปถึงสัญญาณต่างๆ ที่รับรู้ได้ในยามตื่น เช่น ความป่วยไข้ ด้วย
ความฝัน กับความสัมพันธ์และบางด้านที่เราได้ทอดทิ้งไป
มนุษย์สามารถใช้ความฝันช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตและเยียวยาอาการป่วยไข้มานับแต่อดีตกาล Sheila McNellis Asato อาจารย์ผู้ทำงานกับความฝัน ณ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เล่าว่า ในโลกโบราณมีวิหารซึ่งอุทิศแด่เทพอัสเคลเพียส (Asclepius) อันเป็นเทวสถานที่ผู้คนเข้าไปเอนกายลงนอนบนม้านั่งยาว (ภาษากรีกเรียกว่าคลิเน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าคลินิก) เพื่อจะฝันและเยียวยา
ความเป็นจริงในตอนตื่นมิได้จริงไปกว่าตอนที่หลับฝัน และความฝันสามารถนำพาเราก้าวข้ามรูปแบบจิตสำนึกในตอนตื่นที่เราติดเป็นนิสัย ออกไปสู่ความสำนึกรู้ที่ไพศาลกว่าเดิมได้ ในขนบการเยียวยาของคาร์ล ยุง (1875-1961) จิตแพทย์ชาวสวิส ซึ่งร่วมยุคกับ เฮอร์มาน เฮสเส (1877-1962) ผู้เขียนเรื่อง นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ Narcissus and Goldmund) ที่เล่ามานี้ ข้อมูลจากความฝันเป็นสิ่งสลักสำคัญมากพอจะใส่ใจ
ยกตัวอย่าง สตรีผู้หนึ่งฝันถึงดาบที่ประดับประดาอย่างวิจิตร และเมื่อยกขึ้นพูดคุยกับคาร์ล ยุง ก็พบว่า ดาบนี้สะท้อนลักษณะที่วู่วามแต่เด็ดเดี่ยวของพ่อ รวมถึงเป็นลักษณะดังกล่าวแบบพ่อในตัวเธอเองที่เธอลืมเลือนฝังกลบไปด้วย เธอได้ก้าวข้ามขอบของตัวเองหลังจากความตระหนักรู้นั้น เฉกเช่นเดียวกันกับการปลดปล่อยข้อมูลบางอย่างซึ่งถูกฝังกลบไว้ในจิตไร้สำนึกของโกลด์มุนด์ ข้อมูลนี้คือคุณลักษณะของแม่ของโกลด์มุนด์ และอันที่จริงก็เป็นลักษณะของโกลด์มุนด์เองด้วย
ความฝัน กับสัญญาณเตือนสู่การเปลี่ยนผ่านแห่งชีวิต
นอกจากการทำงานกับความฝันเพื่อสัมผัสถึงลักษณะของตัวเองที่เราได้ละเลยไปแล้ว ก็ยังมีการทำงานกับความฝันในฐานะที่มันเป็นสัญญาณเตือนถึงการใช้ชีวิต เทนซิน วังเกล รินโปเช (Tenzin Wangyal Rinpoche) ภาวนาจารย์สายพุทธเพิน กล่าวว่า
หากเรา ฝันเป็นแนวเรื่องซ้ำๆ มันแปลว่า เรามิได้เป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยเพราะความฝันจะไม่ต้องเดินทางมาพร่ำบอกเราในเรื่องเดิมอย่างซ้ำซาก หากเราตั้งใจฟังและทำงานกับมันกระทั่งสารนั้นได้รับการคลี่คลาย ถ้าเราไม่ฟังความฝันบ้าง ก็อาจต้องเจอฝันร้ายในชีวิตตอนตื่น
เช่น มีชายคนหนึ่งมาปรึกษาคาร์ล ยุง เรื่องที่ชายคนนั้นรู้สึกไม่มั่นคงและวิตกกังวล อีกทั้งยังรู้สึกคลื่นเหียนเวียนหัวคลับคล้ายความรู้สึกป่วยเมื่อเดินทางขึ้นภูเขาสูง ชายผู้นี้ผงาดขึ้นพ้นจากภูมิหลังอันยากจนและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยความทะยานอยาก แต่แล้วอาการทางประสาทก็มาสกัดเขาไว้เสียก่อน เขามาเล่าความฝันให้คาร์ล ยุง ฟัง โดยความฝันแรก เขากลับไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตนเองเกิดมา มีชาวนาที่ร่ำเรียนมากับเขายืนอยู่แต่เขาทำเป็นไม่รู้จัก ทว่าหนึ่งในคนเหล่านั้นชี้มาที่เขาแล้วบอกว่า เขาไม่ค่อยกลับมาที่หมู่บ้าน
ส่วนอีกฝันหนึ่ง เขากำลังรีบจะเดินทาง แต่กลับลืมกระเป๋าเก็บเอกสารสำคัญทิ้งไว้จึงต้องกลับไปเอา ทว่าพอวกกลับไปที่สถานีรถไฟ รถไฟก็เพิ่งวิ่งออกไปเป็นรูปตัว S ซึ่งถ้าคนขับเร่งเครื่องตอนวิ่งตรงไป ตู้รถไฟจะตกราง แล้วรถไฟก็ถูกเหวี่ยงออกจากรางจริงๆ
การถีบตัวอย่างอุตสาหะจากจุดต่ำเตี้ยขึ้นสู่สถานะการงานอันสูงส่งที่ผ่านมาทำให้ชายผู้นี้เหนื่อยล้า และเขาก็ได้รับสัญญาณเตือนเป็นอาการป่วยเหมือนคนปีนขึ้นที่สูงและความฝันอันสอดรับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการไม่สามารถถีบตัวต่อไปได้อีก แต่ทว่าเขากลับไม่ฟังและไม่หยุดพักเสียบ้าง จนในที่สุดชีวิตตอนตื่นของเขาก็พังทลายดุจรถไฟในความฝัน เห็นได้ว่าความฝันสามารถปรากฏขึ้นอย่างสอดคล้องกับปัญหาในชีวิตที่ตื่นอยู่ มันชัดเจนสำหรับคนช่างสังเกตและสามารถสดับตรับฟัง
ร่างฝัน
แล้วถ้าเราอยากทำงานกับความฝัน มีอะไรที่ควรสังเกตบ้าง?
ความฝันไม่เพียงสามารถปรากฏร่างเป็นอาการเจ็บป่วย บางกรณีร่างฝันก็แสดงตัวเป็นการเสพติดความสัมพันธ์ให้โทษที่ไม่เข้าท่า หรือเสพติดความรู้สึกว่าต้อง nice ตลอดเวลา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาบอกว่าเรามีตำหนิ แต่เป็นดังเสียงกระซิบซาบแห่งกระบวนการเติบโตเปลี่ยนผ่านทางจิตใจ มันคือเสียงเพรียกหา (Calling) คล้ายในไพ่ The Judgement ให้ต้องใคร่ครวญตัวเองเพื่อจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่ามี แนวเรื่องซ้ำรอยเดิมบางอย่าง อยู่ตลอดเส้นทางชีวิตของเรา และเรามีศักยภาพที่จะก้าวพ้นขอบไปจากร่องเดิมถ้ามันเริ่มเป็นโทษ แต่บางครั้ง เราไม่เปิดรับเสียงเพรียกนี้เพราะยังไม่พร้อมเสียสละบางอย่างที่ดูเหมือนปลอดภัยกว่า เฉกเช่นโกลด์มุนด์ในตอนแรกที่ไม่รับรู้คุณลักษณะรุ่มรวยหลายอย่างในตนเองเพราะติดกรอบของพ่อซึ่งต้องการให้เขามีชีวิตแบบนักบวช
บางทีเราจึงหลับใหลเมื่อพยายามตอบสนองเสียงจากข้างนอก แต่กลับตื่นขึ้นกว่าเดิมเมื่อใส่ใจความฝันแห่งโลกภายใน อีกทั้งข้อมูลในภาวะกึ่งหลับใหลและแม้แต่สัญญาณในยามตื่นด้วยเช่นกัน