- วิชาประวัติศาสตร์ (history) ไม่เท่ากับ อดีต (the past) แต่เป็นคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต นักประวัติศาสตร์แต่ละคนจะอธิบายจากมุมมองที่ต่างกันไปของแต่ละคน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเวลาที่เขาเขียนมันต่างกัน
- หัวใจสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ คือ ได้ทักษะฝึกคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารออกมาให้คนเข้าใจ เป็นทักษะที่คนจ้างงานต้องการ ซึ่งคนที่จบสายประวัติศาสตร์ไปในระดับปริญญาตรี ออกไปทำงานหลากหลายมาก โดยเฉพาะสายงานที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์
- บทสนทนาต่อไปนี้เป้าหมายหลัก คือ พาทุกคนไปซึมซับบรรยากาศการเรียนประวัติศาสตร์ฉบับต่างแดนของ ลิลลี่ – พัชรวิรัล เจริญพัชรพร ว่าจะเป็นอย่างไร พร้อมกับของแถมเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์อินเดียช่วงสงครามเย็น
สาเหตุที่เลือกเรียนประวัติศาสตร์ของแต่ละคนนั้นคงจะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับ ลิลลี่ – พัชรวิรัล เจริญพัชรพร แล้วเธอเริ่มสนใจมันจากวันเกิดของเธอ
“ที่ชอบประวัติศาสตร์เป็นเพราะวันเกิดเรา คือ วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 หลังเกิดพฤษภาทมิฬ พอทุกคนรู้วันเกิดเราก็จะพูดถึงพฤษภาทมิฬเสมอ แต่พวกเขาไม่อธิบายให้เราฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราก็สงสัยมาตลอด เพราะมันถึงขั้นที่แม่เล่าว่าพยาบาลทำคลอดบอกถ้าเกิดเด็กเป็นผู้ชายจะตั้งชื่อว่าสันติภาพ” จุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้ลิลลี่สนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์’
จากการหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์นั้น กลายมาเป็นความหลงใหลในโลกประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งเหตุผลให้ลิลลี่ตัดสินใจลาออกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังสอบชิงทุนของสกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) สาขามนุษยศาสตร์ และลัดฟ้าไปเรียนประวัติศาสตร์อินเดียที่ประเทศอังกฤษ
ปัจจุบันลิลลี่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาเอก Department of History ที่ University College London ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาเกือบ10 ปีที่เธอได้อยู่กับสิ่งๆ นี้ ซึ่งถ้าเปรียบดั่งความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักก็คงใกล้ถึงฤกษ์แต่งงาน
บทสนทนาต่อไปนี้เป้าหมายหลัก คือ พาทุกคนไปซึมซับบรรยากาศการเรียนประวัติศาสตร์ฉบับต่างแดนว่าจะเป็นอย่างไร พร้อมกับของแถมเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์อินเดียช่วงสงครามเย็น
ปริญญาตรี
“เราสนใจอินเดียเพราะเหตุผลสองอย่าง หนึ่ง – เราชอบอินเดียยุคโมกุล (Mughal Empire) (เป็นจักรวรรดิที่ปกครองอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 16 – 18) ช่วงก่อนอังกฤษจะเข้ามาปกครองอินเดีย มันเป็นยุคที่ตรงกับจินตนาการของเราตอนเด็กๆ เวลาพูดถึงอินเดีย ภาพที่ป็อปขึ้นมาในหัวเป็นภาพการ์ตูนเรื่องอาละดิน ส่วนอีกเหตุผล คือ มันมีจุดที่คนเรียกอินเดียว่า เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าจะวัดจากจำนวนประชากรและความหลากหลายที่ประเทศนี้มี สิ่งนี้ทำให้เราสงสัยว่าทำไมประชาธิปไตยถึงเวิร์กในอินเดีย”
แรงบันดาลใจที่ทำให้ลิลลี่ตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ มาจากรุ่นพี่คนหนึ่งในคณะอักษรศาสตร์ (คุณกิตติพัฒน์ มณีใหญ่) ที่สอบได้ทุนก่อนหน้า พอเห็นแบบนั้นแล้วก็เกิดกระตุ้นบางสิ่งในตัวลิลลี่ที่ทำให้เธอตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อประวัติศาสตร์ที่ต่างประเทศ
เมื่อได้ทุนมาแล้วจะต้องเลือกว่าจะเรียนต่อประวัติศาสตร์ด้านไหนดี ซึ่งตัวเลือกในตอนนั้นมีทั้งประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง อินเดีย ยุโรป ฯลฯ ลิลลี่ก็ได้ตัดสินใจเลือกประวัติศาสตร์อินเดีย และสอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ
ก่อนจะเข้าเรื่องเรียนประวัติศาสตร์ เราขอพาแวะมาข้างนอกนิดหนึ่ง ในการเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่อังกฤษนั้น ทุกคนจะต้องได้วุฒิ A – Levels (หรือ Advanced Level General Certificate of Secondary Education วุฒิที่ใช้สำหรับศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ)
ลิลลี่ใช้เวลาเรียน 2 ปีเพื่อให้ได้วุฒิดังกล่าว ก่อนจะสมัครเข้าเรียน History Department ที่ University of Exeter เพราะชื่อเสียงด้านวิชาประวัติศาสตร์ที่ติดท็อปเท็นในประเทศอังกฤษ บวกกับเมือง Exeter เป็นเมืองเล็กๆ เงียบสงบ ติดทะเล ในอดีตเคยเป็นเมืองโรมันเก่า ปัจจุบันจะยังคงเห็นกำแพงโรมันอยู่รอบเมือง รวมถึงสะพาน – ท่าน้ำที่สมัยยุคกลางใช้เป็นจุดลงสินค้า (ฟังแล้วดูเป็นบรรยากาศที่กระตุ้นให้เรียนประวัติศาสตร์)
สำหรับบรรยากาศการเรียนการสอน ในระดับปริญญาตรีเสมือนเป็นการเตรียมตัวปูพื้นฐานให้คนเรียนเข้าใจโลกประวัติศาสตร์ ซึ่งรายชื่อวิชาที่ลิลลี่เรียนตลอด 3 ปี ได้แก่ Introduction to Modern World, Introduction to Early Modern and Medieval World, Making History, Writing History เป็นต้น
ถ้าจะให้เล่าทุกวิชาที่ลิลลี่เรียน คาดว่าบทความนี้คงมีความยาวกลายเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม ฉะนั้น เราขอดึงวิชาที่น่าสนใจมาเล่าให้ผู้อ่านฟัง พอจะเห็นบรรยากาศการเรียนคร่าวๆ วิชาแรก คือ Making History เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องกระบวนการทำหนังสือประวัติศาสตร์ ลิลลี่อธิบายว่า ประวัติศาสตร์ที่พวกเรารับรู้กัน เกิดจากวิธีทางวิชาการที่เราเขียนเรื่องราวในอดีตจากหลักฐานที่มีอยู่
“วิชาประวัติศาสตร์ (history) ไม่เท่ากับ ‘อดีต (the past)’ แต่เป็นคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต นักประวัติศาสตร์แต่ละคนจะอธิบายจากมุมมองที่ต่างกันไปของแต่ละคน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเวลาที่เขาเขียนมันต่างกัน
ตัวอย่างเช่น การเขียนประวัติศาสตร์สงครามเย็นเกี่ยวกับสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ในปี 1980 กับเขียนในปี 2010 จะต่างกัน เพราะข้อมูลหรือหลักฐานที่มีให้ไม่เหมือนกัน เพราะในปี 1990 หอจดหมายเหตุที่รัสเซียเพิ่งค้นพบเอกสารเพิ่มเติม ทำให้มีหลักฐานมากขึ้น มีอะไรให้นักประวัติศาสตร์ประมวลมากขึ้น แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์สมัย 1980 ที่ต้องหลักฐานน้อยกว่า อาศัยการคาดเดามากกว่า”
นั่นเป็นเหตุว่าประวัติศาสตร์ควรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ยิ่งคุยยิ่งได้ข้อสรุปใหม่ๆ ที่ช่วยเรื่องการรับรู้
“การเรียนประวัติศาสตร์ในไทยระดับโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเรียนแค่ระดับ Fact ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้คนมีพื้นฐานความรู้ก่อน นั่นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะเวลาเราจะถกอะไรสักอย่าง ต้องมีความรู้ Fact เบื้องต้น”
ส่วนอีกหนึ่งวิชาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องโสเภณียุควิกตอเรีย (Victorian era) เหตุผลที่ลิลลี่สนใจวิชานี้เป็นเพราะอาจารย์ที่สอนมีชื่อเสียงเรื่องเพศศึกษาและความน่าสนใจว่าเพศเกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไร
“เขาจะสอนให้เราเข้าใจมุมมองที่สังคมยุคนั้นมีต่อโสเภณี เช่น มุมมองด้านการเมือง ทำไมในยุคนั้นประเด็นเรื่องโสเภณีถึงกลายมาเป็นดีเบตระดับชาติ เราก็มาพิจารณาดูว่า ในสมัยนั้นเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases : STD) สูงขึ้นตามเมืองท่า นั่นเป็นเพราะกะลาสีเรือมีแต่ผู้ชาย ฉะนั้น พอเทียบท่าก็จะไปซ่องโสเภณี ทีนี้นักการเมืองยุคนั้นรู้สึกว่าในกลุ่มประชากรที่อายุน้อยและเป็นกำลังสำคัญ ถ้าเกิดเป็นโรคนี้กันหมดจะแก้ไขยังไง ก็กลายเป็นดีเบตระดับชาติ นำไปสู่การออกกฏหมายควบคุมโสเภณี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการตรวจควบคุมโรคต่อต่อไปในตัว
“แล้ววิชานี้ยังได้ให้พิจารณาดูด้านศิลปะด้วย ไปดูรูปภาพที่เขาวาดผู้หญิงกลุ่มนี้ว่าภาพนี้สื่อความว่าอย่างไร มีสัญลักษณ์อะไรอยู่ในภาพวาดสีน้ำมันนี้บ้าง นอกจากนี้ยังมีให้อ่านนิยาย และบันทึกประจำวันของคนที่ไปเกี่ยวข้องกับซ่องโสเภณีในสมัยนั้นอีกด้วย”
เมื่อติดตั้งเครื่องมือประวัติศาสตร์เสร็จ ก็ถึงเวลาลองเขียนประวัติศาสตร์หนึ่งเรื่อง เป็นโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Doing History’ หาข้อมูลและเขียนออกมาเป็นงาน 1 ชิ้น 5000 คำ ซึ่งหัวข้อที่ลิลลี่เลือก คือ การออกกฎหมายห้ามพิธีกรรมสตี (Sati) ในอินเดีย
สตี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ภรรยาผู้ซื่อสัตย์ พิธีกรรมดังกล่าว คือ การที่ภรรยาหม้ายต้องกระโดดเข้ากองไฟไปพร้อมกับศพสามี เป็นพิธีกรรมที่มีรากฐานมาจากความคิดของศาสนาฮินดูที่นับถือผู้หญิงในความแข็งแกร่งด้านจิตใจและมีความบริสุทธิ์พอที่จะเผชิญกับกองไฟนี้ได้
“พิธีกรรมนี้มีทั้งคนที่สมัครใจและคนที่ถูกบังคับ ทีนี้พออังกฤษเข้ามีอำนาจในอินเดีย เขาก็รู้สึกว่าพิธีกรรมนี้มันค่อนข้างป่าเถื่อน เลยอยากจะยกเลิก แต่อังกฤษเองก็กังวลว่าถ้ายกเลิกแล้วจะมีผลต่อการปกครองหรือไม่ จะเป็นการแทรกแซงทางวัฒนธรรมหรือเปล่า
“ในขณะเดียวกันคนอินเดียด้วยกันเองก็แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่เรียกว่าเป็น Progressive คือ อยากจะยกเลิกพิธีกรรมนี้ โดยอ้างว่าประเพณีนี้มันไม่มีตัวบทรองรับในคัมภีร์ศาสนาของเขา กับอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการรักษาไว้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าอังกฤษต้องการยกเลิก เพราะว่าต้องการเข้ามาแทรกแซงประเพณีของคนท้องถิ่น ทีนี้เราก็หาหลักฐานมาแล้วก็ดูว่าแต่ละกลุ่มถกเถียงว่าอย่างไร ทำไม วิเคราะห์เขียนออกมาเป็นงานหนึ่งชิ้น”
นอกจากลงมือสืบค้นศึกษาประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันก็ต้องมีการวิเคราะห์ว่า การดึงเอาหลักฐานหรือประวัติศาสตร์มาใช้ในบางช่วงเวลา มาจากสาเหตุอะไร เป็นการฝึกทักษะวิเคราะห์ โดยดูว่าคนใช้ ‘ประวัติศาสตร์’ อย่างไรในสังคม ทำไมช่วงเวลาหนึ่งสังคมถึงหยิบเอาประวัติศาสตร์นี้มาเล่า มันตอบโจทย์อะไรสังคมในตอนนั้น
“เช่น ตอนนี้มีประวัติศาสตร์ในไทยที่กำลังเป็นประเด็น คือ ช่วงสงครามเย็น เราก็มาดูว่าทำไมอยู่ๆ คนถึงมาพูดเรื่องประวัติศาสตร์สงครามเย็น หรือจากเคสที่เราเคยศึกษาตอนเรียน คือ ที่รัสเซียหลังยุคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลมีการกวาดเอารูปปั้นทุกอย่างมาไว้ในสวนๆ หนึ่ง ตั้งในกรุงมอสโก ก็กลับมาที่โจทย์ว่าทำไมเขาถึงเอารูปปั้นทั้งหมดมาไว้ที่นี่ มันแสดงถึงอะไร ทำไมสังคมหนึ่งตัดสินใจที่จะจำเรื่องหนึ่งและตั้งใจที่จะลืมอีกเรื่องหนึ่ง เป็นต้น”
ปริญญาโท
เนื่องจากทุนสกอ. เป็นทุนของรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนให้กลับมาพัฒนามหาวิทยาลัยต่อ ฉะนั้น การใช้ทุนคือต้องกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัย สำหรับลิลลี่เธอเลือกที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ แล้วการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทยต้องได้วุฒิปริญญาโทขั้นต่ำ นั่นเป็นเหตุผลที่เธอต้องลงเรียนปริญญาโทต่อ
ในการเรียนระดับนี้ ลิลลี่เลือกศึกษาต่อ Modern South Asian Studies ที่ University of Oxford เป็นการลงลึกกับประวัติศาสตร์อินเดียโดยเฉพาะ บรรยากาศการเรียนการสอนด้วยความที่มีจำนวนคนสอบเข้ามาเรียนได้น้อย มีจำนวน 6 คน พอถึงคาบเรียนพวกเขาจะไปเรียนที่ห้องทำงานของอาจารย์ ซึ่งมีโซฟา 1 ตัวและเก้าอี้อีก 4 ตัว พร้อมกับคลังข้อมูลที่ได้จากการอ่านหนังสือ เตรียมถกคำถามที่เป็นหัวข้อในสัปดาห์นั้นๆ
วิชาที่เรียนมีทั้งหมด 4 วิชา คือ หนึ่ง – ภาษาฮินดี (Hindi ภาษาหลักที่ใช้ในอินเดีย) สอง – ประวัติศาสตร์อินเดียตั้งแต่ปี 1500 จนถึงปี 1947 ที่อินเดียได้รับเอกราช สาม – เรียนเรื่องการเมืองภายในอินเดียและได้รับเอกราช และสุดท้าย คือ การทำธีสิส (thesis)
ไฮไลท์ของการเรียนช่วงนี้คงอยู่ที่ธีสิส เป็นตัววัดว่าความรู้ที่เราสะสมมาเป็นอย่างไร ลิลลี่เลือกหัวข้อศึกษานโยบายต่างประเทศของอินเดียในสมัย ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังอินเดียได้รับเอกราช
“เนห์รูเป็นคนที่ค่อนข้าง Idealistic เป็นนักอุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อสันติภาพโลก สภาพอินเดียในยุคนั้น คือ โอเค เราต่อสู้ได้เอกราชจากอังกฤษมาแล้ว เป้าหมายถัดไปของเรา คือ การขยายความสำเร็จของเราไปยังประเทศอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้เพื่อเอกราชตัวเองจากประเทศเจ้าอาณานิคมด้วย เนห์รูจะรับบทผู้นำของประเทศกลุ่มที่กำลังต่อสู้เพื่อเอกราชตัวเองอยู่”
“ส่วนหนึ่งของธีสิส จะดูบทบาทของเนห์รูในองค์การสหประชาชาติเป็นหลัก อย่างเช่น ปี 1956 เนห์รูถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนสองมาตรฐาน เพราะในปีนั้น เมื่อวิกฤตคลองสุเอช (Suez Crisis) ซึ่งกองกำลังร่วมระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล เข้าไปบุกอียิปต์ได้เกิดขึ้น ตัวเนห์รูลุกขึ้นมาวิจารณ์ทันที ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่ว่าไม่เกินสองอาทิตย์ถัดมา เกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายๆ กัน ที่รัสเซียส่งรถถังเข้าไปแทรกแซงเหตุการณ์ในฮังการี เนห์รูใช้เวลาหลายวันกว่าจะขึ้นมาแสดงความคิดเห็น นักวิเคราะห์ นักวิจารณ์การเมืองในสมัยนั้น ก็เลยมองว่าเนห์รูสองมาตรฐาน นั่นคือ ถ้าเกิดเป็นเรื่องของประเทศทางตะวันตกก็จะออกมาวิจารณ์ทันที แต่ว่าทำไมพอเป็นรัสเซียถึงอ้ำอึ้ง”
พักเบรกเป็นอาจารย์
ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แต่ระยะเวลา 10 ปีมันจะทำให้เป้าหมายไขว้เขวหรือไม่?
การวางแผนของลิลลี่ถือเป็นแผนระยะยาว (ถ้าให้เรียกภาษาชาวบ้านก็กู้เงินซื้อบ้านได้เลยล่ะ) แต่นี่คือการเดิมพันอนาคตสายงานตัวเอง ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาลิลลี่เคยเกิดอาการไขว้เขวหรือไม่
“ถ้าตอบตามความจริง ก็ต้องมีโมเมนต์ที่เราสนใจอย่างอื่นบ้าง เราเห็นคนที่มาทุนเขาไปเป็นนักการฑูตหรือทำธุรกิจ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ แต่พอเวลาผ่านไป เราค้นพบว่า ตัวเราชอบงาน สังคม สภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยมากกว่า
ส่วนคำถามที่ว่าตัวเราอยากเป็นอาจารย์จริงๆ ไหม เราตอบตัวเองได้จริงๆ ในช่วงปีระหว่างที่เรียนจบป.โท และกำลังทำเรื่องสมัครปริญญาเอก ตอนนั้นเราได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นวิทยากรรับเชิญที่จุฬาฯ เป็นเวลาประมาณครึ่งเทอม และต่อมาก็ได้ไปเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย สิ่งนี้เป็นจุดแรกที่ให้เราได้ลองสวมบทเป็นอาจารย์ มันทำให้เรารู้สึกว่าการส่งต่อความรู้ การกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดได้เป็นอะไรที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก และในทางกลับกัน การที่เราได้รับฟังความเห็นของพวกเขาว่าเขาคิดยังไงกับโลกที่เขาอยู่ในปัจจุบันก็นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับเรา โอกาสที่เราได้ในครั้งนั้น ทำให้เราเห็นคุณค่าในงานด้านนี้”
ลิลลี่ยิ้มพร้อมกับเล่าย้อนช่วงเวลาที่ได้ลองไปเทคคอร์สเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย “สอนวิชาอินเดียนี่แหละ พวกเรื่องวรรณะในสังคมอินเดีย กับประวัติศาสตร์อินเดียหลังจากที่ได้รับเอกราช และในสงครามเย็น”
“ตอนแรกๆ เราก็รู้สึกตื่นเต้น กลัวนะ กลัวว่าเราจะไม่มีอะไรไปสอน (หัวเราะ) เราใช้เวลาเตรียมสอนนานมาก สมมติสอน 3 ชั่วโมง ใช้เวลาเตรียมตัว 7 ชั่วโมง จำได้ว่าพอสอนคาบแรกเสร็จไข้ขึ้นเลย”
ปริญญาเอก
ย้อนเวลากันนานก็ขอกลับเข้าสู่ช่วงเวลาปัจจุบันที่ลิลลี่กำลังเรียนปริญญาเอก ที่ Department of History ของ University College London (UCL) กิจกรรมของเธอตอนนี้ คือ การทำวิจัย ซึ่งแน่นอนว่าหัวข้อต้องเกี่ยวข้องกับอินเดีย แต่ว่าคราวนี้ลิลลี่ได้ขยับมาศึกษาสิ่งใกล้ตัว นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับงานธีสิสเดิมของเธอ คือช่วงเวลาต้นสงครามเย็น ต้นสายปลายเหตุของงานวิจัยนี้เกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยปริญญาโทได้ถามลิลลี่ว่า ไม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียเหรอ? ทำให้เธอสนใจไปไล่หาว่ามีใครนำเสนอเรื่องอะไรบ้าง จนเจอว่าช่วงจอมพลป.พิบูลสงครามไทยกับอินเดียมีความสัมพันธ์บางอย่าง ตัวอย่างเช่น
“ถ้าดูจากข้อมูลช่วงสงครามเย็นไทยจะอยู่ฝั่งอเมริกา ส่วนอินเดียเป็นผู้นำกลุ่มไม่ฝักฝ่ายใด แต่ว่าจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ถ้าเกิดขึ้นจริงถือเป็นจุดเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศไทยเลย คือ สมัยปลายจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไทยได้เริ่มส่งสัญญานว่าจะไปเข้าร่วมฝ่ายเดียวกับเนห์รู โดยมีหลักฐานการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงทางการเมือง เช่น งานเฉลิมฉลองพุทธศักราชครบรอบ 2500 ปี ซึ่งเป็นการครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อินเดียเรียกงานนี้ว่า ‘พุทธชยันตี’ ที่ไทยเองก็จัดงานนี้เช่นกัน โดยเรียกงานนี้ว่า ‘งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ’ หรือแม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนเองที่เป็นคอมมิวนิสต์ในตอนนั้นก็ยังร่วมจัดงานฉลองพุทธศาสนานี้ เราก็หาข้อมูลต่อว่าเหตุการณ์นี้มีความสำคัญยังไง
“ในเวลานั้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลป. ก็ได้สั่งทำหนังฉลองพุทธศาสนาที่อินเดีย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นวงการภาพยนตร์ไทยกำลังเฟื่องฟู มีหนังได้รางวัลต่างชาติ เช่น ภาพยนตร์เรื่องสันติ-วีณา เป็นต้น ตัวรัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนกับวงการภาพยนตร์ไทย มีโครงการจะร่วมรวมทุนไปเปิดสตูดิโออย่างยิ่งใหญ่แถวศรีราชา ในสภาพการณ์เช่นนี้ แล้วทำไมหนังฉลองพุทธศาสนานี้เรื่องนี้ต้องไปสร้างที่อินเดีย ไปให้ผู้สร้างภาพยนตร์อินเดียทำออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง องคุลีมาล ซึ่งเมื่อได้ออกฉายในที่ไทยในปี พ.ศ. 2504 ก็ได้กลายเป็นหนังดังด้วย เราก็เอาหลักฐานพวกนี้มาตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบต่อ”
ตอนแรกที่ลิลลี่บอกเราว่า เหตุผลที่เธอสนใจประวัติศาสตร์อินเดียมี 2 ข้อ คือ ยุคโมกุลและประชาธิปไตยในอินเดียทำไมถึงเวิร์ก เราถามลิลลี่ว่า ณ วันนี้เธอได้คำตอบหรือยัง
“ก็ยังเป็นโจทย์ที่เรายังต้องหาคำตอบอยู่ แต่ตอนนี้ก็ได้มาส่วนหนึ่ง คือ ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยของคนอินเดีย มีส่วนทำให้ระบอบการปกครองนี้ทำงานได้
“อินเดียที่เรามองว่าเป็นประเทศหนึ่ง จริงๆ มีขนาดพอๆ กับทวีปยุโรปเลยนะ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีในพื้นที่นี้ก็ไม่น้อยไปกว่ายุโรปเลย เช่น ภาษาที่รัฐธรรมนูญอินเดียรองรับก็มีมากกว่า 20 ภาษา ในความเห็นของเรา ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่สามารถรองรับความหลากหลายของอินเดียได้
“ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่อินเดียได้รับมรดกทางวัฒนธรรมการเมืองจากอังกฤษ สมัยที่อินเดียอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ เช่น เราจะเห็นได้จากที่อินเดียใช้ระบอบการนับคะแนนเลือกตั้งระบบเดียวกับอังกฤษ ที่เรียกว่า First Past the Post (ระบบแบ่งคะแนนสูงสุด) นับเอาผู้ที่มีคะแนนชนะขาดจากแต่ละเขตการเลือกตั้งต่างๆ”
ประวัติศาสตร์
เวลาเราได้ยินคนพูดว่าเรียนประวัติศาสตร์ มักมีคำตอบประเภทหนึ่งที่ตามมาทุกครั้ง คือ ‘เรียนจบไปขุดฟอสซิลเหรอ?’ ทำให้ภาพจำของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อคนสายวิชานี้ คือ ต้องทำงานสำรวจโบราณสถาน ขุดซากฟอสซิล ลิลลี่บอกว่าคนมักเข้าใจผิดระหว่างนักโบราณคดีกับนักประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ไม่ได้มีความสามารถที่จะไปขุดสำรวจสิ่งของเหมือนนักโบราณคดี แต่ใช้ของหรือหลักฐานที่นักโบราณคดีได้มาทำงานต่อ หัวใจสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ คือ ได้ทักษะฝึกคิดวิเคราะห์
ที่อังกฤษ ประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่เป็นที่ต้องการมาก (ลิลลี่เน้นเสียงว่ามาก) คนแย่งกันเข้า เรียกว่าเป็นวิชาขั้นสูง เพราะว่าการเรียนประวัติศาสตร์ต้องใช้การคิดวิเคราะห์สื่อความขั้นสุด
“มันเป็นการฝึกคิดวิเคราะห์จากสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้า จะสื่อความออกมายังไงให้คนเข้าใจ เป็นทักษะที่คนจ้างงานจะชอบมาก ซึ่งคนที่จบสายประวัติศาสตร์ไปในระดับปริญญาตรี ออกไปทำงานหลากหลายมาก โดยเฉพาะสายงานที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์
คนจบประวัติศาสตร์สามารถทำได้หมด เช่น ทำงานธนาคาร ไปเรียนต่อด้านกฎหมาย หรือวงการสื่อ เป็นสายงานที่เราจะได้เปรียบมาก เราคุ้นชินกับการมีข้อมูลอยู่ตรงหน้าให้เรากลั่นกรองออกมา ตีความว่าสิ่งนี้มีความหมายว่าอะไร นำเสนอออกไป
เราคิดว่าคนที่เรียนก็ต้องเปิดใจกว้างด้วย ว่าฉันอาจไม่ได้ทำงานในสายประวัติศาสตร์ ต้องเปิดใจ แทนที่จะให้วิชาที่เรียนบล็อกตัวเองไว้ว่าเดินไปทางนี้เท่านั้น”
ก่อนที่บทสนทนาจะจบลง คำถามสุดท้ายที่เราถามลิลลี่ คือ ระยะเวลา 10 ปีที่เรียนมา นิยามคำว่าประวัติศาสตร์สำหรับเธอคืออะไร?
“การตั้งโจทย์ เป็นการที่เรามองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อที่จะหาคำตอบให้สิ่งที่เราต้องการอยากจะรู้ สิ่งที่เราสงสัยในปัจจุบัน และส่วนบทบาทของนักประวัติศาสตร์ในคำนิยามส่วนตัวของเราเอง เราชอบคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนนักสืบไปในอดีต เป็น Detective of the Past ดูว่าพอเรามองย้อนกลับไปแล้ว มันมีหลักฐานอยู่ที่ไหนบ้าง มีหลักฐานอะไรบ้าง 1..2..3.. เราจะตีความเป็นอะไรได้บ้าง”