- การรับข้อมูลของมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัส (Sensing) ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการรับสาร และชอบ ‘ความเป็นจริง’ ที่จับต้องได้ หรือรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ (Intuition) สนุกกับการเดินทางในความคิด ชอบตั้งคำถาม และศึกษาทฤษฎี
- ในขณะที่ลูกแต่งตัวออกจากบ้าน ถ้าคุณแม่ถนัดรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัส ก็อาจดูว่ามีด้ายโผล่ออกจากเสื้อไหม ดูเนี้ยบ หรือเหมาะสมกับกาละเทศะไหม ส่วนลูกที่ชอบรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้อาจสนใจมากกว่าว่า กลุ่มคนที่เขากำลังไปเจอทำให้การมีชีวิตของเขามีความหมายอย่างไร รูปแบบเสื้อผ้าที่สวมให้ความหมายอย่างไร เช่น วันนั้นเขาใส่สีเแดงเลือดนก มองในเชิงสัญลักษณ์ได้ว่าสะท้อนความเข้มข้นทางอารมณ์และความมุ่งมั่น
- มาสำรวจกันเถอะว่าตัวคุณเอง สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนรอบตัวคุณ ชอบใช้วิธีรับข้อมูลแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่างชอบรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ หรือชอบรับข้อมูลเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าทางร่างกาย
ในปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมืองเคสวิล บุตรของนักบวชคริสตจักรปฏิรูปสวิสได้ถือกำเนิดขึ้น เด็กชายคาร์ล กุสตาฟ ยุง ที่เป็นลูกคนเดียวจนถึงอายุ 9 ขวบ ชอบนั่งเล่นอยู่คนเดียว บางทีเขานั่งอยู่บนก้อนหินและถามคำถามเชิงปรัชญากับตัวเอง เขาชอบรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ (Intuition) ชอบประวัติศาสตร์ศาสนาและปรัชญา ต่อมาเขาลงเรียนแพทย์ศาสตร์ แล้วเลือกเรียนเฉพาะทางด้านจิตเวช และภายหลังก็กลายเป็นแพทย์ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์ ในวัยชราเขาได้รับการจดจำในภาพของเฒ่าผู้ทรงปัญญา ผู้คนมากมายได้เยียวยาบาดแผลและได้เรียนรู้ขุมทรัพย์ทางปัญญามากมายผ่านความหยั่งรู้ของเขา
ลูกของคุณดูเหมือนจะเป็นเด็กที่ชอบจินตนาการเหมือนกับเด็กชายคาร์ล ยุง หรือเปล่า? ใช่หรือไม่ว่าลูกของคุณก็สนุกกับการเดินทางในความคิด ฝันเรื่องนามธรรม ชอบอธิบายอะไรด้วยการอุปมา หรือสนุกกับทฤษฎี ชอบอ่านระหว่างบรรทัด และเพิ่ม ‘ความหมาย’ เข้าไปในข้อเท็จจริง และบางทีคุณก็มองว่าลูกเป็นคนอุดมคตินิยมหรือเพ้อฝันมากไปหน่อย (แต่ใครจะไปรู้ บางทีลูกอาจเติบโตไปเป็นคนทรงปัญญาที่สามารถช่วยเหลือผู้คนมากมายเหมือนอย่างคาร์ล ยุงก็ได้)
หรือว่าคุณเองนั่นแหละที่ชอบโลกแห่งนามธรรมอันลึกซึ้ง แต่ว่าสมาชิกหลายคนในครอบครัวคุณอาจแตกต่างจากคุณมากเหลือเกิน พวกเขาถนัดการรับข้อมูลผ่าน ประสาทสัมผัส (Sensing) กล่าวคือผ่านตา หู จมูก ลิ้นกาย และดูจะชอบ ‘ความเป็นจริง’ ที่จับต้องได้มากกว่า ซึ่งคนที่ชอบเรื่องนามธรรมอาจมองว่าอยู่กับวัตถุมากไป หรือดูเหมือนไร้จินตนาการไปบ้าง
บางครอบครัว ในขณะที่ลูกแต่งตัวออกจากบ้าน คุณแม่ที่ถนัดรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัส ก็อาจเน้นการรับรู้ว่ามีด้ายโผล่ออกจากเสื้อไหม ดูเนี้ยบหรือเหมาะสมกับกาละเทศะไหม ลูกจะไปเจอใคร ที่ไหน แต่คุณลูกที่ชอบรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ อาจสนใจมากกว่าว่า กลุ่มคนที่เขากำลังจะออกไปเจอทำให้การมีชีวิตของเขามีความหมายอย่างไร แล้วสีสันและรูปแบบของอาภรณ์เล่ามันความหมายอย่างไร เช่น วันนั้น เขาใส่สีเแดงเลือดนก ซึ่งมองในเชิงสัญลักษณ์ได้ว่าสะท้อนความเข้มข้นทางอารมณ์และความมุ่งมั่น เขาใส่กางเกงเลย์สีน้ำตาล เมื่อออกไปประชุมกับกลุ่มเพื่อนเกษตรกรที่ไม่แสวงหากำไรและกลุ่มนักบวช สำหรับเขาสีน้ำตาลให้ความหมายระหว่างบรรทัดที่มีความสมถะและเชื่อมโยงกับผืนดิน เป็นต้น
ที่กล่าวไปเป็นเพียงหนึ่งในโฉมหน้าความรับรู้และนึกคิดต่างๆ ที่มีอีกมากมายกว่านี้ ของประชากรที่ชอบรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ (Intuition) และแบบที่ชอบรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัส (Sensing) และเนื่องจากตามสถิติแล้ว ประชากรแบบแรกจะมีน้อยกว่าประชากรแบบที่สอง ในสัดส่วนประมาณ 1 ต่อ 4 ดังนั้น ถ้าคุณมีความโน้มเอียงในแบบแรก คุณก็อาจมีวัยเด็กที่รู้สึกเดียวดายอยู่บ้าง ยิ่งถ้าเกิดมากับคนในครอบครัวที่ไม่มีใครเป็นเช่นนั้นเลยและมีวัยเด็กที่เต็มไปด้วยเพื่อนผองและคุณครูที่ชอบสิ่งที่จับต้องได้มากกว่า คุณก็อาจเคยรู้สึกแปลกแยกและมีคนเข้าใจน้อย ซึ่งบางครั้งมันก็นำพาไปสู่การปลีกวิเวกที่เอื้อแก่การดำดิ่งสู่ความซึมเศร้าหรือบ้างก็กลับกลายเป็นพื้นที่สำหรับสร้างผลงานอันล้ำเลิศ
มนุษย์แค่แตกต่างกัน และเมื่อเราโตขึ้น เส้นทางของแต่ละคนก็มักจะค่อยๆ มีจุดที่มาบรรจบกันมากขึ้น อีกทั้ง เรายังสามารถเรียนรู้จากความแตกต่างของกันและกันได้มากขึ้นด้วย
มาถึงจุดนี้ มาสำรวจกันเถอะว่าตัวคุณเอง สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนรอบตัวคุณ ชอบใช้วิธีรับข้อมูลแบบไหนมากกว่ากันระหว่าง 1.ชอบรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ (ผ่าน Intuitive function) มากกว่า หรือ 2.ชอบรับข้อมูลเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าทางร่างกาย (ถนัดรับข้อมูลผ่าน Sensing function) โดยที่เราจะมีแบบสอบถามมาให้ทำนะ วงข้อที่ค่อนข้างสอดคล้องกับคุณไว้ และจดเพิ่มว่าเป็นแบบนี้มากน้อยเท่าไหร่ พร้อมทั้งอาจบันทึกรายละเอียดอย่างอื่นไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แบบทดสอบที่นำมาให้ลองทำดู เป็นแค่แบบคร่าวๆ เราจึงไม่จำเป็นต้องยึดติดลักษณะของตัวเองที่ได้จากมันมากเกินไปนัก นอกจากนั้น ความชอบทั้งสองอย่างนี้ก็ต้องไปผสมกับลักษณะอย่างอื่นอยู่ดี เช่น ใส่ใจโลกภายในหรือภายนอกมากกว่ากัน หรือเราชอบวางแผนหรือด้นส้นมากกว่า ฯลฯ ดังนั้น มันไม่มีใครเป็นตามแบบพิมพ์ไปทั้งหมด คนที่ถนัดรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้เหมือนกันก็มีลักษณะอื่นๆ แตกต่างกันได้ เช่นอีกคนอาจจะชอบใช้ชีวิตแบบด้นสดมากกว่าอีกคนที่ชอบวางและทำตามแผน นอกจากนี้ แต่ละคนก็มีระดับของตัวเองว่ามีแนวโน้มไปทางนั้นๆ กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้โน้มเอียงไปในทางเดียวกัน แต่ก็อาจเข้มข้นคนละระดับกัน
เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ก็ลุยเลย!
1) ฉันมักจะมองสิ่งต่างๆ เท่าที่เห็น และไม่ค่อยตีความเกินจากนั้น ฉันไม่สนใจคำพูดนามธรรมอย่างเช่น “เราเชื่อว่าเวลาเป็นเส้นตรง ว่ามันดำเนินไปในรูปแบบเดียวกันชั่วนิรันดร์ ไปสู่ความไม่สิ้นสุด แต่ความแตกต่างระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคต เป็นเพียงสิ่งลวง” ฟังดูเพ้อๆ เนอะ | 2) ฉันมักจะให้น้ำหนักกับสัญลักษณ์ การอุปมาอุปไมย และชอบใช้การอธิบายแบบนี้ ฉันมักจะสนใจวงสนทนาที่มีความเป็นปรัชญา หรือการวิเคราะห์ที่ฟังดูเป็นนามธรรม |
3) ฉันมักให้ความสำคัญกับสิ่งที่จับต้องได้ตรงหน้า มากกว่าการวิเคราะห์แนวคิดและภาพความเชื่อมโยงต่างๆฉันไม่ค่อยชอบการถกเถียงที่ฟังดูวิชาการ หรือฟังดูไม่อยู่กับความเป็นจริง | 4) ฉันสนุกกับจินตนาการและเรื่องราวที่มีความหมายในเชิงนามธรรม ฉันรู้สึกว่าการสนทนาที่คุยกันเฉพาะเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น กินอะไร ไปไหนมา เขาเงินเดือนเท่าไหร่ ลูกเขาอายุเท่าไหร่แล้ว เขาไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลอะไร ฯลฯ ไม่ค่อยทำให้อิ่มใจ |
5) บทสนทนาของฉันและเพื่อนมักเป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่จับต้องได้ ฉันไม่สนใจ หรือบางครั้งฉันถึงขนาดรำคาญเพื่อนที่ชอบพูดอะไรฟังดูซับซ้อนเข้าถึงยาก | 6) ฉันมักรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ โดยมีการอ่านเรื่องราว “ระหว่างบรรทัด” เช่น พยายามอ่าน “ความหมายและแรงจูงใจที่ซ่อนเร้น” ของประโยค อันลึกกว่าพฤติกรรมภายนอก |
7) ฉันให้น้ำหนักกับประสบการณ์ตรงของตัวเองและคนอื่นมากกว่าทฤษฎี | 8) ฉันเห็นรูปแบบ ความเชื่อมโยง และเห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละเหตุการณ์ ฉันไม่ได้พยายามจะซับซ้อนหรือเข้าใจยากแบบที่เพื่อนๆ บอก |
ข้อเลขคี่แสดงแนวโน้มที่ชอบรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าทางร่างกาย (Sensing) ส่วนข้อเลขคู่นั้นแสดงแนวโน้มในการรับข้อมูลเข้ามาผ่านความหยั่งรู้ (ผ่าน Intuitive function)
มีคนมากมายที่ดูจะสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ก็สร้างคุณูปการให้แก่โลกอย่างยิ่ง พอล แอดิช นักคณิตศาสตร์ชาวยิวผู้เกิดในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะสุดไปทางการรับข้อมูลผ่านความหยั่งรู้ (Intuition) และไม่ค่อยสนใจข้อมูลที่ผ่านประสาทสัมผัส รวมไปถึงการจัดการวัตถุต่างๆ เขาคิดเลขสามหลักได้ตั้งแต่สามขวบ แต่กลับผูกเชือกรองเท้าได้เอาตอนอายุ 11 แล้ว เขาไม่ค่อยแคร์เรื่องทรัพย์สิน เสื้อผ้า อาหาร ทว่าเพื่อนๆ นักคณิตศาสตร์ก็มักจะช่วยกันดูแลความต้องการทางร่างกายของเขา แอร์ดิชชอบร่อนเร่พเนจรไปเคาะบ้านเพื่อนนักคณิตศาสตร์ทั่วโลก และอยู่บ้านเพื่อนกระทั่งมีงานวิจัยตีพิมพ์ด้วยกัน เขาสามารถจะโผล่ไปบ้านเพื่อนกลางดึกเพราะอยากคิดเลข และถ้าคุณเปิดบ้านให้เขา เขาจะไม่ซักผ้ารีดผ้าในระหว่างที่อยู่กับคุณและเขาก็ไม่สามารถปิดหน้าต่างได้ด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่ง เจ้าบ้านถึงกับจงใจเปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อให้เขาปีนเข้ามาในบ้านได้ตอนหลังเที่ยงคืน กระนั้น ไม่ว่าจะมีพฤติกรรมพิลึกพิลั่นอย่างไร เพื่อนๆ ก็ชอบเขา เขาคืออัจฉริยะผู้เป็นศูนย์กลางของโลกคณิตศาสตร์ และทำงานร่วมกับคนในสายคณิตศาสตร์มากมายมหาศาลมากกว่าใครๆ
ไม่ว่าเราจะมีแนวโน้มรับรู้ข้อมูลลักษณะไหนมากกว่ากัน คนมักจะบอกกันว่าสมดุลนั้นแหละดีที่สุด มันคือการพาตัวเองไปเข้าใกล้ความบริบูรณ์ในบุคลิกภาพ แต่จากตัวอย่างชีวิตสุดโต่งของคนมากมายที่ทิ้งผลงานไว้แก่โลก เราก็อาจตั้งคำถามได้เช่นกันว่า คนบางคนก็อาจจะไม่จำเป็นต้อง ‘สมดุล’ ขนาดนั้นหรือเปล่า?